www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาของกลุ่มชนต่าง ๆ
เนื่องจากจังหวัดตาก เป็นจังหวัดชายแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของไทย
มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า ด้านอำเภอแม่สอด สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง
ประชากรประกอบด้วยชาวไทยภาคเหนือที่ใช้ภาษากลาง ภาษาถิ่น และภาษาคำเมือง วัฒนธรรมของคนจังหวัดตาก
มีความแตกต่างกันไปตามสภาพของชนกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่ม
บริเวณที่ใช้ภาษาไทยถิ่นกลาง ได้แก่ บริเวณอำเภอเมือง ฯ อำเภอแม่สอด บริเวณที่ใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ
ได้แก่ บริเวณอำเภอสามเงา อำเภอบ้าตาก อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ละมาด อำเภอแม่สอด
อำเภอพบพระ และอำเภออุ้มผาง
ภาษาไทยใหญ่ ยังใช้ระหว่างพวกไทยใหญ่ด้วยกัน เช่น ในตำบลท่าสายลวด บางส่วนของตำบลแม่สอดและตำบลแม่ยะ
ภาษาชาวไทยภูเขา เช่น ภาษากะเหรี่ยง ภาษาม้ง ภาษามูเซอ จะใช้เป็นภาษาพูดในกลุ่มชาวไทยภูเขาด้วยกัน
และใช้ภาษาไทยเหนือผสมกับภาษาไทยกลางโดยทั่วไป
ส่วนตำรับตำราต่าง ๆ จะปรากฎในสมุดข่อย ใบลาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ตัวอักษรไทยเหนือล้วน
ๆ บ้าง ใช้ตัวอักษรไทยล้วน ๆ บ้าง ใช้ภาษาขอมล้วน ๆ บ้าง
วรรณกรรมพื้นบ้าน
มีทั้งวรรณกรรมที่เป็นมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์
วรรณกรรมลายลักษณ์ ที่ปรากฎในสมุดข่อย ใบลาน ล้วนมีข้อความเกี่ยวกับตำรายาหรือเวทมนตร์คาถา
นอกจากนั้นยังมีลักษณะการบันทึก เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่ามีการสร้าง ปฏิสังขรณ์
เป็นต้น
การละเล่นพื้นบ้าน
นาฎศิลป์และดนตรี
การละเล่นของเด็ก
เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมาโดยจดจำแบบอย่างการเล่นต่อ ๆ กันมา อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม
การละเล่นมีหลายประเภท หลายรูปแบบ เช่น การเล่นของเด็กเล็ก เด็กโต การเล่นเฉพาะเด็กผู้ชาย
เฉพาะเด็กผู้หญิง และการเล่นโดยรวมทั้งเด็กชายเด็กหญิง เป็นการเล่นเฉย ๆ โดยไม่มีบทร้องประกอบ
การเล่นที่มีบทร้องประกอบ การเล่นในร่ม การเล่นกลางแจ้ง
การละเล่นของผู้ใหญ่
มักเล่นในโอกาสเทศกาลตรุษสงกรานต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในสมัยก่อนจะมีการเล่นถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน
ตลอดห้วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านจะหยุดการประกอบการงานทั้งหมด เพื่อมาร่วมกันทำบุญและเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเต็มที่
การเล่นนั้นมีทั้งการเล่นกีฬาพื้นเมือง เล่นแข่งขันต่าง ๆ ที่นิยมเล่นกันมากที่สุดคือการเล่นประเภทผีทรงและร้องรำทำเพลงกัน
การเล่นเพลงพื้นบ้าน
ลักษณะของเพลงพื้นบ้านจะเป็นเพลงที่มีทำนองง่าย ๆ เหมาะแก่สำเนียงชาวบ้าน
ไม่ต้องมีเครื่องดนตรีประกอบ ใช้การตบมือเป็นจังหวะเท่านั้น เนื้อหาในบทเพลงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซักถาม
โต้ตอบ กระทบกระเทียบเปรียบเปรย ต่อว่าต่อขาน เกี้ยวพาราณาสีกัน บางเพลงจะร้องแยกระหว่างชายหญิง
บางเพลงจะร้องรวมกันทั้งชายหญิง เป็นการร้องโดยใช้ปฏิภาณไหวพริบ อันทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่าย
หุ่นกระบอกไทย
การเล่นหุ่นกระบอกในเมืองไทยนั้น จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่
๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมืองไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระหว่างปี
พ.ศ.๒๒๒๙ - ๒๒๓๑ แล้วก็น่าจะคงมีมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปี ส่วนจะแพร่หลายในเมืองตากเมื่อไร
ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด เรื่องที่เล่นได้แก่ เรื่องพระอภัยมณี โม่งป่า จำปาทอง
ไชยเชษฐ์ แก้วหน้าม้า ลักษณะวงศ์ และสังข์ทอง
องค์ประกอบของการจัดและการแสดงหุ่นกระบอกไทย มีดังนี้
ตัวหุ่น
ทำด้วยไม้ทองหลาง ไม้กุ่มหรือไม้เนื้อละเอียด โดยแบ่งออกเป็นส่วนหน้าอก ซึ่งใช้กาบมะพร้าว
ส่วนลำตัวทำด้วยปล้องไม้ไผ่ ที่สำหรับมือจับเชิดใช้ไม้เนื้อละเอียด ไม้เชิดแขนจะใช้ปล้องไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือไม้เนื้อละเอียด
นิ้วมือของหุ่นจะมี ๙ นิ้ว โดยมือข้างหนึ่ง จะหักข้อมือปลายนิ้วแผ่ตรง และอีกข้างหนึ่งจะทำให้นิ้วหนึ่งเป็นรูกลมสำหรับใส่ขลุ่ย
ดาบหรือกระบอก หุ่นแต่ละตัวจะมีการประดับประดาด้วยลูกปัด ชฎาหรือปิ่น
การเก็บหุ่นจะมีรางไม้ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๓ เมตร เจาะรูกลมสำหรับใช้เป็นที่เสียบหุ่นในท่ายืน
โรงหุ่นกระบอกและฉาก
โรงหุ่นกระบอกที่ปลูกกลางแจ้งจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยกพื้นสูงประมาณ
๑.๕๐ - ๒.๐๐ เมตร หน้าโรงยาวประมาณ ๕ เมตร จากพื้นโรงถึงหลังคาสูงประมาณ ๓
เมตร จากหน้าโรงถึงหลังโรงลึกประมาณ ๔ เมตร หลังโรงบรรจุคนเชิด คนพากษ์ คนบอกบท
นักดนตรี เครื่องดนตรี ปี่พาทย์ สองข้างโรง รวมทั้งด้านหลังจะมีฝากั้นทึบ
บริเวณของหลังคาด้านบนอาจติดผ้าระบาย ประดับเพื่อความสวยงาม ชื่อของคณะหุ่นจะติดไว้ด้านบนนี้ด้วย
มีฉากทำด้วยมู่ลี่ไม้ไผ่ วาดเป็นรูปท้องพระโรง ด้านล่างสุดของโรงหุ่น จะมีผ้าฉากเป็นรูปมัจฉาแหวกว่าย
ผูกต่อจากด้านล่างของมู่ลี่ไม้ไผ่ ห่างจากฉากออกไปประมาณ ๑ ศอก เพื่อใช้เป็นที่สอดมืออออกมาเชิดหุ่น
ซึ่งจะออกจากโรงทางซ้ายและเข้าโรงทางขวา
ดนตรีและเพลง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงหุ่นกระบอก บางคณะใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้า
ได้แก่ ระนาด กลองทัด ฆ้องวง ปี่ ตะโพน ฉิ่ง กรับ และซออู้ ซึ่งใช้บรรเลงประกอบการขับร้อง
คนร้องคนบอกบท
ผู้เชิดอาจจะร้องเพลงหุ่นเอง โดยมีลูกคู่สตรีและผู้เชิดคนอื่น ๆ เป็นลูกคู่รับ
นอกจากนี้ยังมีคนบอกบทซึ่งนับเป็นคนสำคัญมาก เพราะจะเป็นผู้บอกคำร้องให้ผู้เล่น
และบอกเพลงบอกหน้าพากย์ด้วย
นาฏศิลป์และดนตรี
มีการแสดงละครซอของชาวไทยพื้นราบ การแสดงจิ๊กริของชาวกะเหรี่ยง การเต้นละครกะเหรี่ยง
ฟ้อนเจิง การเต้นแดบของชาวม้ง การเล่าดาว การดีดซึง การละเล่นพื้นเมือง (จ๊อย)
ฯลฯ
ศาสนา
ความเชื่อ พิธีกรรม
จากการพบซากเมืองโบราณ พบพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ซากอิฐสมัยทวารวดี ตำนานพระบรมธาตุที่บ้านตาก
ตำนานจามเทวีวงศ์ และจารึกสมัยสุโขทัย แสดงถึงร่องรอยที่มีพระพุทธศาสนาอยู่แล้วในเมืองตาก
จึงอาจกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมายังเมืองตากประมาณกว่าพันปีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะแพร่หลายไปทั่วจังหวัดตากก็ตาม แต่ประชาชนก็ยังนับถือผี
ความลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เช่นนับถือเจ้าพ่อขุนทะเล ผีต้นไม้ ผีภูเขา
ผีไร่ ผีนา ผีน้ำ ผีสุนัข ผีฟ้า ผีหลวง ฯลฯ
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดตาก
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ยังไม่ปรากฎว่ามีชาวบ้านคนใดนับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๔
ได้มีบาทหลวง ชาวฝรั่งเศส เดินทางมาจากวัดคริสต์จักร อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
และเริ่มตั้งศูนย์ประกอบพิธีมิสซาร์
พ.ศ.๒๕๐๕ หม่อมหลวงสรรคฤดี ชุมแสง ได้ซื้อที่ดินแปลงใหญ่บริเวณโรงเรียนมัธโนทัยปัจจุบัน
และได้สร้างโบสถ์น้อยใช้ประกอบพิธีทางคริสต์ศาสนา โดยมีบาทหลวงเอเทียน กรางซ
ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้เผยแพร่คริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิกในเขตจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง
พร้อมทั้งได้สร้างโรงเรียนมัชโนทัย เปิดรับสอนนักเรียนรุ่นแรกชั้นประถมปีที่หนึ่งถึงปีที่หก
นับว่าเป็นโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ในจังหวัดตากแห่งแรก
พ.ศ.๒๕๑๐ อันเป็นปีแรกของมิสซังนครสวรรค์นั้น ที่วัดคาธอลิก จังหวัดตาก ได้ดำเนินการมาครบห้าปีแล้ว
รวมทั้งเปิดโรงเรียนมัธโนทัย เป็นกิจการของวัดคู่กันมาด้วย โดยเจ้าวัดได้เปิดห้องสวดภายในอาคารที่พักเป็นวัดน้อยชื่อ
วัดพระตรีเอกภาพ
เพราะสมาชิกของวัดมีเพียงข้าราชการสอง - สามครอบครัว นอกนั้นเป็นครูในโรงเรียนซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็น
คาทอลิก
ในห้าปีแรก โรงเรียนมัธโนทัยเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่หนึ่งถึงชั้นมัธยมปีที่สอง
มีนักเรียนประมาณ ๕๐๐ คน
ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้ขยายหลักสูตรระดับก่อนประถมศึกษา เป็นหลักสูตรสามปี
ตามนโยบายจัดการศึกษาของรัฐ และได้สร้างวัดใหม่ สามารถบรรจุสัตบุรุษได้ประมาณ
๑๒๐ คน และได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดพระตรีเอกภาพ เป็นวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์
มีสมาชิก ๖๒ คน มีครอบครัวหลักในพื้นที่ ๑๓ ครอบครัว
การเผยแพร่ศาสนาอิสลามในจังหวัดตาก
ในอดีตกาลบรรพบุรุษชาวอิสลาม เป็นชนชาติอินเดีย เข้ามาในประเทศไทยโดยผ่านสิงคโปร์เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพ
ฯ แล้วมาตั้งรกรากที่จังหวัดตาก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๐ โดยกระจายกันอยู่ที่อำเภอเมือง
ฯ และอำเภอบ้านตาก การเรียน การสอนด้านศาสนาไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ที่สามารถมาเรียนรวมกันได้ที่มัสยิด
ดังนั้นพ่อแม่จึงสอนลูก ๆ ให้อ่าน เขียน กุรอานไปตามลำพังของแต่ละครอบครัว
ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้มีผู้เห็นความสำคัญของการละหมาดและการรวมตัวกันของชาวอิสลาม
จังหวัดตาก จึงได้ใช้สถานที่ทำงานของ นายมุสตาฟา มุขตารี เจ้าของและผู้จัดการบริษัทมิตรมุขตารี
จำกัด เป็นสถานที่ประกอบพิธี ต่อมาได้ซื้อที่ดินและปลูกสร้างอาคารมัสยิด อัลฟัตตะห์
ที่ถนนมหาดไทยบำรุง เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนกิจ เป็นศูนย์รวมที่พักพิงของชาวมุสลิม
ในอำเภอเมือง ฯ และอำเภอใกล้เคียง
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
ขนบธรรมเนียมประเพณีสำคัญ
ประเพณีก๋วยสลาก
กระทำกันในเขตอำเภอซีกตะวันตกของจังหวัดตาก ห้าอำเภอคือ อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ละมาด
อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง อำเภอบ้านตาก และอำเภอเมือง ฯ บางส่วนทางซีกตะวันออก
เป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยจัดของไทยทาน บรรจุในชะลอม (ก๋วย)
ใบเล็ก ๆ ของที่ใส่ในชะลอมจะเป็นพวกอาหาร ขนม ผลไม้ หรือของใช้อื่น ๆ แล้วรวบรวมนำไปถวายพระที่วัด
โดยไม่เจาะจงผู้รับ แต่จะถวายโดยการจับฉลาก
กำหนดการทำบุญตานก๋วยสลาก ในเดือนสิบ (เดือนสิบสองเหนือ) เพราะในระยะนี้พระภิกษุสามเณร
อยู่พร้อมในเทศกาลพรรษา สะดวกต่อการนิมนต์พระภิกษุสามเณรวัดอื่น ๆ ในเขตนั้นมาร่วมพิธีงานบุญ
ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพ ต้องเตรียมการจัดของไทยทานลงในชะลอม (ก๋วย) มีต้นเงิน
ดอกไม้ ธูป เทียน มัดหรือผูกมัดบนก๋วยสลากด้วย บางคนนิยมทำก๋วยใหญ่คือ กัณฑ์ใหญ่
เพียงกัณฑ์เดียว มีของอุปโภคบริโภค จตุปัจจัยครบชุด ต้องเขียนในแจ้งความประสงค์ที่จะถวายทางก๋วยสลาก
กัณฑ์นี้อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ใด ใบแจ้งความประสงค์นี้เรียกว่า เส้นสลาก
เส้นสลากหนึ่งเส้นต่อก๋วยสลากหนึ่งก๋วย ยกเว้นที่ถวายพระพุทธ
เมื่อถึงวันงาน ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร บรรดาผู้ร่วมทำบุญ
จะจัดนำก๋วยสลาก และกัณฑ์สลาก ตั้งเรียงรายบริเวณลานวัด เมื่อถึงพิธีคณะกรรมการจะเรียกรวบรวมเส้นสลากทั้งหมด
จากเจ้าภาพนับยอดรวมได้เท่าใด เพื่อเฉลี่ยถวายพระภิกษุ สามเณร ตามส่วน พิธีกรกล่าวคำถวายทานก๋วยสลาก
พระสงฆ์อุปโลกน์ รับเส้นสลากตามจำนวนเฉลี่ย
เมื่อพระภิกษุ สามเณรได้เส้นสลากตามส่วนแล้ว จะมอบให้ผู้ติดตามเดินถือประกาศอ่านใบแจ้งความประสงค์
ไปในบริเวณงาน ผู้เป็นเจ้าภาพของก๋วยสลากหรือกัณฑ์ นั้น ได้ยินและทราบว่าเส้นสลากนั้นตกอยู่กับพระภิกษุ
สามเณร รูปใด ก็ไปนิมนต์พระภิกษุ สามเณร รูปนั้นมารับตานก๋วยสลากที่ตนเป็นเจ้าภาพ
พระสงฆ์อนุโมทนาให้พร เจ้าภาพอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย
ประเพณีลอยกระทงสาย
กระทำในวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี ในเวลาดังกล่าวลำน้ำปิง จะมีน้ำเอ่อเต็มฝั่ง
การลอยกระทงสายเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน
ในอดีตกาล วัดพร้าว เป็นวัดที่มีผู้ร่วมแรงร่วมใจกันมาในเรื่องนี้ ก่อนถึงกำหนดการลอยกระทงจะจัดคนไปขอกะลามะพร้าว
จากชาวบ้านแล้วนำมารวบรวมไว้ที่วัดเป็นจำนวนนับหมื่นชิ้น จากนั้นจึงนำไต้ปั้น
เป็นก้อนใส่ไว้ที่ก้นกะลาเตรียมไว้ เมื่อถึงวันลอยกระทงก็นำมารวมไว้ที่ท่าน้ำวัดพร้าว
พอตกค่ำก็จุดไต้ในกะลามะพร้าว แล้วปล่อยให้ลอยไปตามลำน้ำดูสวยงาม ผู้คนที่มีส่วนร่วมและผู้พบเห็น
ถือว่าได้บุญกุศลตามแรงอธิษฐานทุกประการ
ในวันลอยกระทงสาย ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวเมืองตากจะนำกะลามะพร้าวที่สะสมไว้เป็นแรมปี
ออกมาขัดล้างทำความสะอาด ถ้ากะลามะพร้าวมีไม่มากพอ จะใช้ต้นกล้วยตัดเป็นทุ่นแพรองไว้เบื้องล่าง
จากนั้นก็เตรียมตัดขี้ไต้เป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ สองนิ้ว เวลาลอยจะจุดขี้ไต้
วางลงในกะลามะพร้าวที่ไม่มีรู หรือบนทุ่นแพต้นกล้วย เพื่อให้เกิดแสงระยิบระยับสวยงาม
เมื่อถึงเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะมาพร้อมกันที่วัด นำเอากะลามะพร้าวที่เตรียมไว้มารวมกัน
และช่วยกันจัดแพผ้าป่าน้ำ
ซึ่งทำจากต้นกล้วย มาตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ธงหลากสี ตัดเป็นลวดลายสวยงาม
ทำด้วยกระดาษแก้วหลายสี ใส่หมากพลู บุหรี่ หรือผลไม้ และเศษสตางค์ เพื่อเป็นทานให้แก่ผู้ที่เก็บแพผ้าป่าน้ำ
เมื่อแสงจันทร์วันเพ็ญ ส่องสว่างนวลทั่วท้องน้ำ ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านต่างก็จัดขบวนแห่กระทง
แต่งกายกันสวยงาม บ้างก็แต่งตัวเป็นตัวตลก พวกหัวโต คอยาว ตีฆ้อง กลอง ร่ายรำกันมา
เป็นขบวนนำหน้ากระทงสาย (กะลามะพร้าวพร้อมขี้ไต้) มายังท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำปิง
เมื่อชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านมาพร้อมกันแล้ว ก็ทำพิธีจุดเทียน ธูป บูชาพระแม่คงคา
ขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฎิกูลลงในแม่น้ำ รำลึกจิตอธิษฐานบูชารอยพระพุทธบาท ณ
หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมุทานที และประการสุดท้าย เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย
พ้นตัวและครอบครัว แล้วทำการปล่อยแพผ้าป่าน้ำลอยไป หลังจากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะมาจับฉลากว่า
ใครจะเป็นผู้ลอยกระทงสายก่อน จากนั้นผู้จับสลากได้ก่อนก็จะนำชาวบ้านจากหมู่บ้านของตนช่วยกันแบกเรือ
ลงไปในแม่น้ำ แล้วช่วยกันส่งกะลามะพร้าวลงไปไว้ในเรือ ซึ่งจะมีคนอยู่เพียงสอง
- สามคน พอได้รับสัญญาณก็ต้องทำงานประสานกันคือ คนหนึ่งเตรียมกะลามะพร้าว
นำขี้ไต้วางในกะลา ส่งให้ผู้จุดไฟ แล้วส่งต่อให้ผู้ลอยกะลาลงในน้ำ ในการนี้ต้องใช้ความชำนาญ
ในการปล่อยกะลา ลงไปในแม่น้ำให้เป็นระยะ ๆ ห่างกันสม่ำเสมอ กะลามะพร้าวก็จะลอยเป็นสายไปในแม่น้ำ
ส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ หากหมู่บ้านใดลอยได้ระยะสม่ำเสมอ สวยงามแสงไฟไม่ดับตลอดไป
จนถึงทุ่มน้ำหนักซึ่งอยู่ห่างออกไปสุดสายตาก็จะเป็นผู้ชนะในปีนั้น
ประเพณีขึ้นธาตุวัดพระธาตุ
เป็นประเพณีท้องถิ่น และเป็นวิถีชีวิตของชาวอำเภอบ้านตากและอำเภอใกล้เคียงที่ถือปฏิบัติกันมานาน
ในรอบปีจะมีประเพณีดังกล่าวอยู่สองครั้งคือ
ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเจ็ดทางเหนือ (สงกรานต์)
อยู่ในระหว่าง ๑๓ - ๑๗ เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำมะกรูด
น้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอม ขึ้นไปนมัสการและสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดบรมธาตุ
ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก และสรงน้ำพระพุทธรูปต่าง ๆ เช่นหลวงพ่อทันใจ และสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์
คนที่เดินทางมาไกลจะพักแรมค้างคืนที่วัดเพื่อจะร่วมกับชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงฉลองและมีมหรสพสมโภชตลอดคืน
เช้าวันรุ่งขึ้นชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวาน พร้อมทั้งปัจจัยไทยธรรมมาทำบุญตักบาตรและถวายภัคตาหารให้กับพระภิกษุสงฆ์
เพื่อความเป็นสิริมงคล และอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นจึงกลับไปเฉลิมฉลองจัดงานในครอบครัวและหมู่บ้านของตนเอง
รวมทั้งการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า
ตรงกับวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำเดือนเก้าเหนือ ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน
สถานที่จัดงานคือบริเวณวัดพระบรมธาตุ ก่อนถึงวันงานชาวบ้านจะเตรียมต้นเงิน
ต้นผ้าป่า จะทำบั้งไฟ (บ้องไฟ) จัดทำตุงไชย เตรียมขบวนกลองยาว ฉิ่ง ฉาบ สำหรับนำขบวนแห่
พอถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ชาวบ้านศรัทธาวัดต่าง ๆ จะจัดขบวนบ้องไฟ ต้นเงิน ต้นผ้าป่า
เดินทางมายังพระบรมธาตุ เพื่อมาประกอบพิธีชุมนุมเทพวิญญาณ ภูตผี โดยจะมารวมตัวกันบริเวณที่ประทับเจ้าพ่อขุนทะเล
เจ้าพ่อดงดำ โดยนำต้นเงิน ต้นผ้าป่า ปักตุงไชยหลากสีไว้ทั่วลานวัด และจัดพิธีบูชาท้าวจตุโลกบาล
ถวายเครื่องเซ่นสังเวยเพื่อขออนุญาตจัดงานชุมนุมและประกอบพิธีทรงเจ้าเข้าผี
ในตอนบ่ายร่างทรงและผู้ศรัทธาจะนำต้นเงิน ต้นผ้าป่า และตุงไชย แห่รอบองค์พระธาตุแล้วนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์
ตกกลางคืนจะมีมหรสพสมโภชตลอดคืน
รุ่งขึ้นผู้มาร่วมงานจะร่วมกันทำบุญตักบาตร แล้วมีการแข่งขันจุดบ้องไฟ เพื่อสักการะองค์พระบรมธาตุ
ประเพณีขึ้นพระธาตุดอยดินจี่ หรือพระธาตุดอยหินกิ่ว
กระทำที่ดอยดินจี่ บ้านวังตะเคียน อำเภอแม่สอด เพื่อนมัสการพระธาตุอินแขวน
ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระสถูปเจดีย์บนภูเขาสูง มีทางขึ้นเป็นบันไดปูนซีเมนต์ประมาณ
๘๐๐ ขั้น เมื่อขึ้นไปครึ่งทางจะมีทางแยกซ้ายไปประมาณ ๑๐๐ เมตร จะพบพระสถูปเจดีย์ซึ่งบรรจุพระธาตุบนชางอินผาสูง
ตั้งอยู่บนหินก้อนใหญ่ แต่มีฐานเล็กมาก จึงเรียกว่า พระธาตุดอยหินกิ่ว
มีรอยพระพุทธบาทอยู่ทางด้านซ้ายมือ เมื่อมองลงมาจากที่ประดิษฐานพระธาตุ จะเห็นทิวทัศน์ในเขตประเทศพม่าได้ชัดเจน
ดินที่อยู่บนดอยนี้จะมีลักษณะเป็นสีดำ หรือสีน้ำตาล จึงเรียกว่า พระธาตุดอยดินจี่
ซึ่งหมายถึงดินที่ไหม้ไฟ
ปกติชาวบ้านจะถือเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนเป็งหรือเดือนสามเป็นวันชุมนุมเพื่อนมัสการพระธาตุและรอยพระพุทธบาท
โดยก่อนวันงานชาวบ้านละแวกนั้น จะเตรียมจัดสถานที่บริเวณเชิงดอย เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา
และจัดงานมหรสพตอนกลางคืน
ประเพณีแหล่ส่างลอง (แห่ลูกแก้ว)
ประกอบพิธีที่วัดซอดน่าด่าน อำเภอแม่ละมาด ในกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน
แหล่เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่าแห่ ส่างลองหมายถึงลูกแก้ว
ชาวไทยใหญ่และชาวไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนาในเขตอำเภอแม่สอด มักจะทำการบวชเณรซึ่งเป็นลูกแก้วหรือหลานของตนเองในช่วงปิดเรียนประจำปี
เพื่อให้ลูกหลานได้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
การจัดงานบวชลูกแก้วนั้นถือว่า ผู้ที่บวชเณรลูกชายตนเองจะได้บุญ หรืออานิสงส์มากถึงเจ็ดกัลป์
ถ้าบวชลูกชายคนอื่นจะได้บุญสี่กัลป์ และถ้าบวชลูกชายตนเองเป็นพระภิกษุ จะได้บุญถึงสิบหกกัลป์
ถ้าบวชลูกชายคนอื่นจะได้บุญถึงแปดกัลป์ จึงมักมีผู้ที่มีฐานะดีนิยมหาเด็กผู้ชายมาบวช
จากผู้ปกครองที่ยากจน และถือเป็นการสร้างบุญกุศลร่วมกันด้วย
ในการบวชเณรของชาวแม่สอดแบบข่านหลิบ (บวชเรียบว่าย) คือผู้ที่ตกลงใจบวชพ่อแม่ผู้อุปถัมภ์จะนำผู้ที่บวชไปโกนหัว
นุ่งผ้าขาว พร้อมกับนำสำรับกับข้าวแบบข้าวหม้อแกงหม้อไปวัด ให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีบวชเณรให้ก็เป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีเพ็งเดือนยี่จี่ขาวหลาม
คือประเพณีเผาข้าวหลามในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนยี่ เพื่อนำไปทำบุญตักบาตร
ที่เหลือก็เก็บไว้กิน และแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนในท้องถิ่น
โดยเริ่มจากวันโกน (วันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนยี่) ฝ่ายชายของแต่ละหมู่บ้านจะจัดหาไม้ข้าวหลาม
(ไม้ไผ่อ่อนมีเตี้ยหรือเยื่อบาง) ติดอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่ ตัดเป็นท่อน ๆ
กะดูพองาม ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมข้าวเหนียวแช่น้ำ ถั่วดำต้มสุก น้ำตาลทราย เกลือ
จากนั้นก็ซาวข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ใส่ภาชนะผสมกับเครื่องปรุงทั้งหมด ปรุงรสตามความพอใจ
แล้วตักใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ปิดฝากระบอกด้วยใบตองพับให้แน่น จากนั้นฝ่ายชายจะนำข้าวหลามไปเผากับราวบนพื้นดินจนสุกทั่วทั้งกระบอก
ทิ้งไว้จนเย็นนำมาปอกเปลือกด้านนอกออกให้เหลือแต่เปลือกด้านใน พอรุ่งขึ้นก็นำไปทำบุญตักบาตรที่วัด
ประเพณีลอยโคม
ในดินแดนสิบสองปันนาตอนเหนือของประเทศไทย ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ผสมผสานกับการนับถือผีบรรพบุรุษ ลัทธิถือผีฟ้า ผีดิน ที่เรียกว่า ปู่แกน ย่าแกน
มีการประดิษฐโคม และพิธีลอยโคม เพื่อเป็นการบูชาตามลัทธิประเพณีนี้มีการสืบทอดกันมา
เมื่อมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
การลอยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้าของชาวไทยในแคว้นแสนหวีถือว่าเป็นการบูชาบรรพบุรุษแสดงความกตัญญู
กตเวที ได้สืบทอดมาเป็นประเพณีของชาวล้านนา รวมถึงชาวแม่สอด
รูปร่างลักษณะของโคมที่นิยมประดิษฐกันมากที่สุดคือ โคมลอยรูปทรงผลมะละกอ เพราะเป็นรูปทรงที่สวยงาม
ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เร็ว และสูงกว่าโคมลอยรูปทรงอื่น
โคมลอยที่นิยมทำในอำเภอแม่สอด มีรูปทรงสามแบบคือ โคมลอยรูปทรงกลมได้แก่ รูปทรงมะละกอ
และรูปทรงฟักทอง โคมลอยรูปทรงสี่เหลี่ยม และโคมลอยรูปทรงกระบอก
การประดิษฐโคมลอยมีอยู่สามขั้นตอนด้วยกันคือขั้นที่หนึ่ง การติดกระดาษสี สำหรับตัวโคมลอย
ขั้นที่สอง การประดิษฐส่วนหัวของโคม และขั้นที่สาม การประดิษฐปากของโคมลอย
การบรรจุควัน เมื่อแขวนโคมไว้แล้ว จะใช้พัดหรือพัดลมเป่าลมให้ตัวโคมพองขึ้น
แล้วจึงจุดคบไฟ ซึ่งชุ่มด้วยนำมันยาง หรือน้ำมันสน (ซึ่งมีคุณสมบัติที่ติดไฟได้นานและมีควันมาก
ช่วยให้โคมพองตัวลอยได้สูง และไปได้ไกล) ใส่เข้าไปในปิ๊บที่มีท่อต่อเข้าไปในตัวโคม
เมื่อโคมบรรจุควันเต็มที่แล้ว ก็จะลอยหลุดจากไม้ซ่าว ที่เกี่ยวไว้
|