www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
กลุ่มบ้านกุนุงจนอง
คำว่ากุนุงจนองแปลว่าภูเขาเอียง อยู่ที่บ้านกุนุงจนอง ในตำบลเบตง อำเภอเบตง
มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ทิศเหนือติดต่อกับคลองเบตง ทิศตะวันออกติดต่อกับหมู่บ้านตักโกร
ทิศตะวันตกติดต่อสวนแปะหลิม ซึ่งติดกับเขตแดนมาเลเซีย ทิศใต้ติดต่อกับสวนยาง
กลุ่มบ้านนี้ สร้างอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ที่ดินเป็นของต้นตระกูล มีประมาณ
๑๕๐ หลังคาเรือน บ้านแต่ละหลังจะมีร่องน้ำจากชายคาตัดเป็นแนวเขตของบ้าน เป็นกลุ่มบ้านที่พึ่งพาอาศัยแบบเครือญาติ
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน บริเวณบ้านสะอาดสะอ้านมีระเบียบวินัย ยึดมั่นในคุณธรรมของศาสนาและรักสันติสุข
กลุ่มบ้านนี้มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี สร้างแบบรูปทรงพื้นบ้าน ผู้ดำเนินการก่อสร้างได้แก่คนในตระกูลยามา
บ้านหลังนี้เก่าแก่ที่สุด ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะเป็นฝาบ้าน หลังคามุงจาก การสร้างบ้านในสมัยหลัง
ๆ จะมีการแกะสลักเป็นลวดลายสวยงาม ประดับตามช่องลม เหนือประตูหน้าต่าง
สิ่งที่น่าศึกษาของคนในกลุ่มบ้านนี้คือ เรื่องบทบาทของสถาบันในสังคม ซึ่งจะมีผู้นำของกลุ่มบ้านเป็นผู้ปกครองได้แก่
โต๊ะอิหม่าน
ซึ่งมีประมาณ ๑๕ คน เขาเหล่านี้นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนา และให้คำปรึกษาหารือต่าง
ๆ แก่ผู้ตนในกลุ่มบ้านแล้ว ยังคอยสอดส่องดูแลความประพฤติของเยาวชนในกลุ่มด้วย
มีมัสยิด มีโรงเรียนสอนศาสนา
โรงเรียนเทศบาล เด็ก ๆ จะเรียนศาสนาที่มัสยิดในวันเสาร์ อาทิตย์
การประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้านคือทำสวนยางและสวนผลไม้ รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลประมาณเดือนละ
๒,๐๐๐ บาท มีการประกอบกิจกรรม ที่กระทำร่วมกันของคนในกลุ่มบ้านเช่น การกวนข้าว
อาซูรอ การเล่นกีฬาที่ใช้นาเป็นสนามฟุตบอลและสนามตะกร้อ เป็นต้น
แหล่งอุตสาหกรรม
เหมืองแร่ดีบุก
จังหวัดยะลามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ในการทำเหมืองแร่ดีบุก เพราะเป็นจังหวัดเดียวที่เป็นแหล่งแร่สำคัญ ในบริเวณสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การทำเหมืองแร่เริ่มจากเหมืองหาบ มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมาได้วหันไปทำเหมืองแร่ชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่น เหมืองสูบ เหมืองแล่นและเหมืองฉีด
โดยมีที่ตั้งกระจายตัวอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต และอำเภอเบตง
สิ่งสำคัญคู่เมืองยะลา
วัดคูหาภิมุข
เดิมชื่อวัดถ้ำ อยู่ในเขตตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ฯ มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ศิลปะสมัยศรีวิชัยอยู่ในถ้ำบริเวณวัดแห่งนี้
เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๔๙ พระพิพิธภักดี (เพิ่ม เตชะคุปต์) เจ้าเมืองยะลาเห็นว่าบริเวณวัดเดิมคับแคบ
ควรขยับขยายออกไปจากที่เดิมที่ชายเขา ให้ไปอยู่ริมฝั่งสระด้านนอกชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาคที่ดินประมาณ
๒๐ ไร่ แล้วสร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และเสนาสนะเพิ่มเติม ต่อมาอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม
ทางวัดจึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ เป็นแบบจตุรมุขมีรูปทรงคล้ายรูปแบบเดิม วางศิลาฤกษ์เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๙
หลักเมืองยะลา
ด้วยเหตุที่เมืองยะลาได้แยกออกจากเมืองปัตตานีที่แยกออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ที่ตั้งตัวเมืองยะลาเดิมมิได้อยู่ในที่ปัจจุบัน
แต่ได้มีการโยกย้ายมาแล้วถึงสี่ครั้ง
ดังนั้นจึงได้มีการวางศิลาฤกษ์สร้างหลักเมืองขึ้น ที่บริเวณศูนย์วงเวียนหน้าศาลากลางจังหวัด
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดคือ พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ
เป็นผู้ริเริ่ม
- เสาหลักเมือง
ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ออกแบบแกะสลักเป็นแท่งกลม ต้นเสาวัดโดยรอบได้ ๑๐๕ เซนติเมตร
ปลายเสาวัดโดยรอบได้ ๔๘ เซนติเมตร สูง ๑.๒๕ เซนติเมตร วางอยู่บนฐานลักษณะกลมแกะสลักลวดลายแบบไทยลงรักปิดทองรอบฐาน
ชั้นบนและชั้นกลางแกะสลักเป็นรูปนักรบโบราณถือโล่และดาบ ยอดเสาแกะเป็นรูปพระพรหมสี่หน้า
อันแสดงถึงความเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ซึ่งเป็นหลักการปกครองของผู้เป็นใหญ่ที่ปกครองบ้านเมือง
- อาคารศาลหลักเมือง
สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศทั้งสี่ มีบันไดขึ้นทั้งสี่ทิศ
อาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาด ๖ x ๖ เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง สูง ๖.๕๐ เมตร
หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี หลังจากประกอบพิธีกรรมในการฝังเสาหลักเมืองเสร็จ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองสมโภช และได้ยึดถือเป็นงานสมโภชประจำปีทุกปี
ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
มัสยิดกลางจังหวัดยะลา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ได้มีผู้อุทิศที่ดินให้สร้างมัสยิดขึ้นที่บ้านตลาดเก่า อำเภอเมือง
ฯ ตั้งชื่อว่ามัสยิดเราฏอตุลยันนะห์ เป็นอาคารชั้นเดียว สามารถทำละหมาดได้ครั้งละ
๕๐ คน ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนร่วมกับ เงินบริจาคของประชาชน
ได้ขยายมัสยิดออกไปจนจุคนได้ประมาณ ๓๐๐ คน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๒ รัฐบาลได้ให้งบประมาณแผ่นดินซื้อที่ดินเพิ่มอีก
๓๐๐ ตารางวา และให้สร้างอาคารใหม่ทดแทนด้วยงบประมาณ ๒๘.๒ ล้านบาท
ตัวอาคารมี ๓ ชั้น กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๗๐ เมตร หออาซานสูง
๓๘ เมตร โดยหลังคาแทนที่จะเป็นบัวตูมแบบโดมอื่น ๆ กลับเป็นบัวแย้ม มีกระจกใสติดที่ยอดดอกบัวเพื่อให้แสงลอดเข้าไปได้
มัสยิดแห่งนี้ใช้เวลาสร้างอยู่ ๔ ปี เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ กล่าวกันว่าเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ศิลปะ
หัตถกรรมและงานช่าง
ประติมากรรม
ยักษ์วัดถ้ำ
อยู่ที่วัดคูหาภิมุข ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ฯ เป็นยักษ์ปูนปั้นในกลุ่มจตุโลกบาล
ยืนเฝ้าปากถ้ำพระนอน (ถ้ำแจ้ง) มีตะบองพันเป็นเกลียววางดิ่งอยู่ตรงหน้า หัวตะบองเป็นหัวกะโหลก
ตัวยักษ์ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าถุงหยักรั้งยาวเหนือเข่าเล็กน้อย รูปร่างหน้าตาคล้ายคนป่าแยกเขี้ยวยิงฟัน
ตาโตแดงเป็นประกาย ศีรษะไม่ประดับเครื่องทรงใด ๆ มีงูพันรอบคอ หัวงูตั้งอยู่บนหัวกะโหลกของตะบอง
แขนสองข้างสวมกำไลแขน มีหัวกะโหลกประดับอยู่บนกำไลแขนทั้งสองข้าง
จิตรกรรม
จิตรกรรมฝาผนังถ้ำศิลป
ถ้ำศิลปอยู่ในภูเขาวัดถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากถ้ำพระนอนไปทางหัวเขาทิศใต้ ประมาณ
๑.๕ กิโลเมตร ปากถ้ำอยู่สูงกว่าเชิงเขาประมาณ ๒๘ เมตร ถ้ำนี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองตอน
ตอนที่เป็นทางเข้ามีภาพเขียนที่ผนังซ้ายมือด้านเดียว อยู่ทางทิศใต้
ทางด้านทิศเหนือมีภาพเขียนสีอยู่ที่ผนังถ้ำทั้งสองด้าน ภาพที่เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย
ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่ง เป็นแถวเบื้องซ้ายและขวา มีพระสาวกหรืออาจเป็นอุบาสกอุบาสิกานั่งประนมมืออยู่
ภาพพระพุทธเจ้าปางลีลา และมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน สีที่เขียนเป็นสีดินเหลือง
เป็นหลักประกอบด้วยสีน้ำตาลและสีแดง เพื่อแยกน้ำหนักอ่อนแก่ตัดด้วยสีดำ ส่วนสีเขียวเป็นสีที่เกิดขึ้นภายหลัง เนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีของสารที่ผสมอยู่ในสี
ภาพเขียนสีเล่านี้สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบของภาพโดยตรงจากอินเดีย
และน่าจะเป็น
ภาพเขียนสมัยศรีวิชัยตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
ภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลป ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
สถาปัตยกรรม
มัสยิดและปอเนาะ ปะแดรู
ตั้งอยู่ที่บ้านปะแดรู ตำบลเขาตอง อำเภอยะหา ในพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ ประกอบด้วยอาคารเรียนหลังเก่า
อาคารที่พักของโต๊ะครู หลังเก่า บ้านพักครู หอพักนักเรียนชาย - หญิง ซึ่งแบ่งพื้นที่กันอยู่
ตัวอาคารนับว่ามีคุณค่าทางศิลปกรรมคือ อาคารเรียนชั้นเดียวเป็นอาคารไม้พื้นซีเมนต์
หลังคาทรงลีมะ มีลวดลายประดับหน้าจั่วและบริเวณเชิงชายตลอดจนช่องลมต่าง ๆ
และตัวอาคารที่เป็นที่พักของโต๊ะครู ก็มีรูปทรงที่สวยงาม อาคารสองหลังนี้มีอายุประมาณ
๘๐ ปี อาคารทุกหลังจะรักษารูปทรงพื้นเมืองไว้เป็นอย่างดี
มัสยิดปะแดรู (ตัฒวา) สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ สร้างโดยเงินส่วนตัวของปอเนาะ
รวมกับเงินบริจาคของชาวบ้านปะแดรู รูปทรงเป็นแบบมัสยิดสากล ที่สมส่วนสวยงาม
ซุ้มประตูสร้างขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่สร้างมัสยิด เป็นรูปโดมมีลวดลายสวยงาม
มัสยิดกลาง อำเภอเบตง
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล อำเภอเบตง เดิมสร้างด้วยเสาไม้กลม ๖ ต้น ใบจาก ๖ ลายา
(ตับ) ชาวไทยอิสลามเบตง ได้ร่วมทุนกันสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ ทางราชการได้ให้งบประมาณสมทบ
ทำให้ได้มัสยิดที่สวยงามแห่งหนึ่ง
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ยะลา
อยู่ในเขตตำบลสะเตง อำเภอเมือง ฯ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคารูปทรงจีน ลดหลั่นกัน
มุงด้วยกระเบื้อง บนสุดของหลังคา แกะสลักเป็นรูปมังกรสองตัว กำลังคาบแก้ว
ศาลเจ้าแห่งนี้ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ จากเงินที่ได้รับบริจาค
ต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม อาคารที่เป็นโรงครัว ที่พักสำหรับผู้มาพักแรม
และในสวนที่เป็นศาลาไว้ศพ อีกหลังหนึ่ง
อาคารมูลนิธิอำเภอเบตง
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านถนนรัตนกิจ อำเภอเบตง ในพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ตัวอาคารมีสองหลัง
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังแรกมีโครงสร้างแบบศาลเจ้าของจีน หลังคารูปทรงจีน
ภายในอาคารเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ห้องโถงส่วนกลางเป็นสถานที่ตั้งพระบูชาของจีน
สำหรับให้ศาสนิกชนเข้าไปกราบไหว้บูชา ด้านหน้าอาคารเป็นสวนไม้ประดับ มีพันธุ์ไม้มงคลหลายชนิดปลูกไว้อย่างสวยงาม
อาคารหลังที่สองเป็นห้องโถงใหญ่ ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ฝาผนังด้านในของอาคาร จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องนรกและสวรรค์
อาคารมูลนิธิสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ มีการตกแต่งศิลปภายในตัวอาคารด้วยความรู้ทางปรัชญา และวรรณกรรมจีนที่ใส่ลงไปในภาพ
ศิลปะการแกะสลักไม้ที่บานประตู การแกะสลักภาพบนหลังคา การตกแต่งเรื่องราวเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ล้วนมีคุณค่าทางศิลปะและวิชาการที่ควรแก่การศึกษา
|