www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
พระพุทธสิหิงค์สิ่งมงคลสิรินาถ ฯ
พระพุทธสิหิงค์ ฯ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวชลบุรี พุทธศาสนิกชนชาวชลบุรีได้รวมใจกันสร้างขึ้น
และอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่หอพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนวชิรปราการ
ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ หล่อขึ้นโดยจำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่ประดิษฐานอยู่
ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หล่อด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์
มีขนาดเท่าองค์จริงทุกประการ
เจ้าแม่สามมุข
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองชลบุรีมาแต่อดีต รูปปั้นเจ้าแม่สามมุขประดิษฐานอยู่ภายในศาล
ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสามมุขทางด้านทิศเหนือ ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง ฯ เจ้าแม่สามมุขเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวประมงและชาวเรือนับถือมาก
ก่อนออกทะเลจะอธิษฐานขอให้เจ้าแม่คุ้มครองให้ปลอดภัย ให้หาปลาได้มาก
ต่อมาได้มีการสร้างศาลเจ้าแม่สามมุขขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ทางด้านตะวันออกของเขาสามมุข
ผู้คนมักจะเรียกศาลใหม่ว่า ศาลเจ้าแม่สามมุขจีน และเรียกศาลเจ้าแม่สามมุขเดิมว่า
ศาลไทย
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
อยู่ที่วัดเขาบางทราย อำเภอเมือง ฯ อยู่ข้างพระอุโบสถวัดเขาบางทราย ชาวบ้านเรียกว่า
สระเจ้าคุณเฒ่า
ตามชื่อเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเขาบางทราย เป็นสระน้ำที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระวชิรญาณวโรรส โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ น้ำในสระนี้ถูกนำมาใช้ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาโดยตลอด
เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เกิดจากน้ำฝนที่ไหลผ่านเขาพระพุทธบาททั้งสามยอด
และได้ไหลผ่านปูชนียสถานต่าง ๆ มารวมกัน ณ สระแห่งนี้
ทุกปีจะมีการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้าที่ริมสระปีละสามครั้ง
เพื่อระลึกถึงและอุทิศส่วนกุศลแด่บูรพาจารย์ของวัดเขาบางทราย
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ประติมากรรม
งานประติมากรรมที่น่าสนใจของจังหวัดชลบุรี ได้แก่
- ไม้แกะสลักรูปพระอินทร์
อยู่ที่วัดใหญ่อินทารามวรวิหาร เป็นงานแกะสลักจากไม้ขื่ออุโบสถ ที่มาของการแกะสลักรูปพระอินทรมีอยู่ว่า
ในวันที่มีงานยกขื่ออุโบสถนั้น ได้ปรากฎแสงสีเขียวพุ่งมาจากท้องฟ้า จึงเชื่อกันว่าพระอินทรลงมาร่วมอนุโมทนาในส่วนกุศล
เจ้าอาวาสในครั้งนั้น จึงให้ช่างแกะสลักรูปพระอินทร์ จากไม้ขื่อส่วนที่เหลือ
นับจากนั้นมา ในวันเข้าพรรษาของทุกปี ชาวบ้านจะนำพระอินทรไม้แกะสลัก ออกแห่ไปตามถนนรอบ
ๆ วัด เพื่อให้ประชาชนได้บูชา จนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของวัดใหญ่อินมาราม
ฯ
- พระพุทธมงคลนิมิตต์
เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก และเสริมรูปด้วยกระเบื้องโมเสดสูงประมาณ
๓๒ เมตร นับเป็นประติมากรรมที่งดงามชิ้นหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
จิตรกรรม
เป็นจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถและวิหารของวัดต่าง ๆ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในมรดกทางพระพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรม
ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
สำหรับในส่วนของที่พักอาศัยมีอยู่เป็นส่วนน้อย สถาปัตยกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาจะได้กล่าวต่อไปในมรดกทางพระพุทธศาสนา
- ตำหนักมหาราช
และตำหนักราชินี
มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบโคโลเนียลของชาวตะวันตก
ตำหนักมหาราช
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น มีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นดินที่เอียงลาด
หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน
ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีซุ้มประตูโค้งตรงส่วนมุขชั้นล่าง โดยมีบานประตูโค้งตามกรอบส่วนบนเป็นกระจก
ส่วนล่างเป็นบานลูกฟัก หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรงและระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด
ส่วนเฉลียงระเบียงลูกกรงใช้เป็นทางสัญจร และที่รับลม
ตำหนักราชินี
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยาเอียงลาดมาด้านหน้า หน้าจั่วมุงกระเบื้อง
ไม่มีชายคายื่น จากผนัง บริเวณหน้าต่างไม่มีกันสาด ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมตรงชั้นล่าง
หน้ามุขมีบันไดทางขึ้นแยกเป็นสองทางขึ้นสู่มุขกลางอาคาร
- พระราชฐานที่เกาะสีชัง
กลุ่มอาคารที่เหลืออยู่มีตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ และเรือนไม้สีเขียวริมทะเล
(ตำหนักมรกตสุทธิ)
ตึกวัฒนา
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้ามีเฉลียงตรงกันทั้งชั้นล่างชั้นบน
ด้านในเป็นห้อง มีทางขึ้นลงด้วยบันไดไม้จากภายใน หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องเกร็ดเต่า
ระเบียงชั้นบนเป็นเสาไม้รับหลังคา ชั้นล่างเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูน หน้าต่างชั้นล่างเป็นบานไม้ลูกฟัก
ชั้นบนเป็นบานเกร็ดไม้ ประตูทางเข้าด้านหน้า เน้นด้วยช่องลมเป็นรูปโค้ง
ตึกผ่องศรี
เป็นอาคารชั้นเดียวรูปแปดเหลี่ยม ตรงกลางเป็นห้อง มีเฉลียงที่มีหลังคาคลุมโดยรอบ
หลังคาทรงสูงมุงด้วยสังกะสี ตรงกลางห้องทำเป็นช่องเพื่อรับแสงสว่างและระบายลม
มีหลังคารูปเดียวกันคลุมทับอีกชั้นหนึ่ง หน้าต่างประตูเปิดได้สองระดับ ถ้าเปิดส่วนบนจะเป็นหน้าต่าง
ถ้าเปิดส่วนล่างจะเป็นประตู บานตอนบนเป็นบาดเกร็ด บานตอนล่างเป็นไม้ทึบ โครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก
เสารับระเบียงภายนอกเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูน
ตึกอภิรมย์
เป็นอาคารชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าเป็นเฉลียงยาวตลอดความยาวของอาคาร
ด้านหลังมีเรือนเล็กคล้ายเรือนคนรับใช้ต่อเนื่องกันไป หลังคาหทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเตา
โครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก หน้าต่างเป็นบานไม้ทึบ
ตำหนักมรกตสุทธิ
เป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่มีการตกแต่งองค์ประกอบประณีต ลักษณะเป็นอาคารสองส่วน
ส่วนหนึ่งเป็นสองชั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นชั้นเดียว ส่วนเฉลียงด้านหน้ามีเสาไม้รับหลังคาจั่ว
ระหว่างเสาไม้มีการตัดไม้บรรจุลงระหว่างเสาเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม มีไม้ฉลุลายประดับอยู่รอบชายคา
เครื่องจักรสาน ผ้าทอ และงานแกะสลักหิน
เป็นงานหัตถกรรมที่นำวัสดุในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง
ๆ
- เครื่องจักรสานพนัสนิคม
ทำจากไม้ไผ่ มีทั้งรูปแบบเดิมเช่นฝาชี ตะกร้า กระจาด พัด ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบเป็นกระเป๋าถือและตะกร้าแบบต่าง
ๆ กล่องใส่กระดาษเช็ดหน้า หมวกแบบต่าง ๆ แจกันสานหุ้มแจกัน ฯลฯ นอกจากนี้ที่อำเภอพนัสนิคมยังมีศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ตามโครงการพระราชดำริ
และมีกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันสืบสานภูมิปัญญาด้านการจักสานไม้ไผ่ เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้าน
และยังเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกด้วย
- ผ้าทออ่างศิลา
เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวอ่างศิลาที่มีชื่อเสียงมาช้านานแล้ว ผ้าทรงของพระมหากษัติย์ก็ทอไปจากอ่างศิลาและจันทบุรี
แต่ชาวจันทบุรีเลิกทอไปก่อน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัว ผ้าทออ่างศิลายังเป็นของที่พระองค์พระราชทานให้แก่ข้าราชการที่กรุงเทพ
ฯ
- งานแกะสลักหินอ่างศิลา
แต่เดิมมีเพียงการทำครกหินและโม่หิน กล่าวกันว่าครกหินอ่างศิลาเกิดจากความริเริ่มของชาวจีน
ซึ่งอพยพมาทางเรือ ในช่วงหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ต่อมาได้สอนวิธีทำครกหินแก่ชาวบ้านทั่วไป
จนขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านของชาวอ่างศิลา มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาพูดในจังหวัดชลบุรีไม่มีรูปแบบเฉพาะ คำที่ใช้แตกต่างจากภาษากลางน้อยมาก
ส่วนที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดได้แก่ เสียงพูด ส่วนใหญ่จะไม่ออกเสียงควบกล้ำ
และบางส่วนจะออกเสียงควบกล้ำ ในคำที่ไม่ใช่คำควบกล้ำ โดยเฉพาะการพูดคำเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์ไปจากภาษากลาง
วรรณกรรมพื้นบ้าน
ตำนานและนิทานจัดเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่ง พอประมวลได้ดังนี้
- ตำนานเขาสามมุขและหาดบางแสน
สมัยก่อนหาดบางแสนหรือหมู่บ้านอ่างศิลาเป็นที่ตั้งหมู่บ้านที่แสนสงบ มีกำนันพ่ายปกครอง
กำนันพ่ายมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อแสน กำนันพ่ายต้องการให้แสนแต่งงานกับมะลิ สาวบ้านเดียวกัน
แต่แสนก็ผัดผ่อนเรื่อยมา
ในหมู่บ้านดังกล่าวมีหญิงชราคนหนึ่งปลูกกระท่อมอยู่ริมทะเลชื่อป้าบาน มีหลานสาวซึ่งย้ายมาจากบางปลาสร้อยชื่อสามมุข
เป็นคนสวยมาก แต่สามมุขไม่ใยดีกับหนุ่มคนใด
วันหนึ่งสามมุขไปนั่งเล่นอยู่ที่หน้าผา ขณะนั้นมีว่าวขาดลอยมา สามุขคว้าสายป่านว่าวได้และได้พบเจ้าของว่าวคือแสน
เมื่อแสนพบสามมุขก็เกิดความรัก และสัญญาว่าจะแต่งงานกัน แสนถอดแหวนให้สามมุขเพื่อเป็นพยานรัก
ต่อมาเมื่อกำนันพ่ายรู้เรื่องก็กีดกันไม่ให้ลูกชายมาพบสามมุขอีก และบังคับให้แต่งงานกับมะลิขณะที่ทำพิธีแต่งงาน
สามมุขได้เข้าไปรดน้ำ และถอดแหวนที่แสนมอบให้วางไว้ที่มือแสน พอแสนเห็นแหวนก็รู้ว่าสามมุขมา
จึงเงยหน้าขึ้นดู ก็เห็นสามมุขหนีไปแล้ว แสนจึงลุกขึ้นวิ่งตามไปจนถึงหน้าผา
สามมุขก็กระโดดจากหน้าผาลงไปเบื้องล่าง แสนเลยตัดสินใจกระโดดตามลงไปตายทั้งคู่
ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้คือเขาสามมุขและชายหาดบางแสน
- ตำนานพื้นบ้านศรีพะโล
ในสมัยโบราณเมืองศรีพะโลเป็นเมืองท่า มีเรือสำเภาของต่างชาติมาติดต่อค้าขายเป็นประจำ
แต่พวกเรือสินค้ามักถูกเศรษฐีเจ้าเมืองใช้อุบายคดโกงเอาสินค้าไป โดยให้คนของตนแอบนำของมีค่าไปซ่อนไว้ในเรือสินค้า
แล้วกล่าวหาว่าพ่อค้าขโมยของนั้นไป แล้วขอค้นเรือโดยสัญญาว่า ถ้าค้นพบพ่อค้าต้องถูกริบสินค้าในเรือทั้งหมด
วิธีการเช่นนี้ได้ผลเรื่อยมา ทำให้เขาร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี
บรรดาเกวียนที่บรรทุกทรัพย์สมบัติของเศรษฐีเดินผ่านเขาพระบาทบางทราย จนกระทั่งเขาขาด
ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่นั้นว่า คอเขาขาด
ความมีเล่ห์เหลี่ยมคดโกงของเศรษฐีดังกล่าวเป็นที่ขึ้นชื่อ จนได้รับสมญานามว่า
เศรษฐีพาลพาโล และเมื่อเอ่ยถึงเมืองนี้ก็เรียกว่า เมืองเศรษฐีพาลพาโล
ต่อมาได้เรียกให้สั้นเข้าเป็นเมืองเศรษฐีพาโล ในที่สุดเหลือเพียงเมืองศรีพะโล
- ตำนานหนองแช่แว่น
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมขนมจีนคนจีนนำมาให้คนไทยหัดทำ ระหว่างที่ทำจะใช้อุปกรณ์ไม่เหมือนกัน
จึงไปสอบถามจากคนจีน ได้ความว่า อุปกรณ์การทำประกอบด้วยครก สาก และแว่นสำหรับบีบทำเป็นเส้น
โดยที่ครกอยู่แห่งหนึ่ง แว่นอยู่แห่งหนึ่ง และสากก็อยู่อีกแห่งหนึ่ง
ครกนั้นอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง จึงให้ชื่อว่าบ้านหนองครก
ในอำเภอพนัสนิคม ส่วนสากอยู่บริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่ง จึงเรียกว่า หนองสามสาก
ต่อมาได้เพี้ยนเป็นหนองซ้ำซาก และขั้นตอนการทำขนมจีนมันต้องเอาข้าวที่แช่มาตำ
แล้วขยำให้เป็นแป้งที่คั้นแล้วมาห่อผ้า แล้วนำห่อผ้ามาใส่ในแว่นที่ทำด้วยทองเหลือง
เจาะเป็นรูเล็ก ๆ จากนั้นก็บีบห่อแป้งผ่านแว่นทองเหลืองลงในกะทะที่ต้มน้ำเดือด
แป้งจะไหลเป็นสายลงมาเป็นเส้นขนมจีน เสร็จแล้วจึงนำแว่นไปแช่ไว้ที่หนองน้ำ
แล้วให้ชื่อหนองน้ำนี้ว่า หนองแช่แว่น
เมื่อแช่เสร็จแล้วจึงเอาผ้าและแว่นไปตากแดดให้แห้ง ณ บ้านแห่งหนึ่ง จึงได้ชื่อว่า
บ้านตากแดด
- ตำนานตำบลมาบไผ่
บริเวณตำบลนี้เดิมเป็นที่ลุ่ม (มาบ) มีหนองน้ำ บริเวณโดยรอบมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นโดยเฉพาะต้นไผ่
ผู้คนที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้จึงได้ตัดไม้ไผ่มาจักสานเครื่องใช้ต่าง
ๆ จึงเรียกกันว่า บ้านมาบไผ่ ต่อมากลายเป็นตำบลก็ใช้ชื่อมาบไผ่ ตามหมู่บ้านเดิม
- ตำนานเจ้าพ่อเขาใหญ่
เจ้าพ่อเขาใหญ่เกิดจากหินธรรมชาติ จากจารจารึกภาษาจีนโบราณ ซึ่งมีผู้จารึกไว้ในไม้สักเมื่อ
๑๖๐ ปีมาแล้ว และปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ปรากฎว่าข้อความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หนึ่งในสี่ของโลก เป็นรูปเจ้าพ่อในถ้ำบนเขากลางทะเล หันหหน้าไปทิศตะวันออก
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยสุโขทัยมีพ่อค้าเรือสำเภาจากเมืองจีนมาค้าขายในแถบนี้
ขณะที่เรือแล่นผ่านเกาะ เรือเกิดรั่วและได้เห็นแสงสว่างที่ปากถ้ำเจ้าพ่อ จึงได้ขึ้นเรือไปสำรวจก็พบรูปเจ้าพ่อ
เมื่อได้บนบานศาลกล่าวและเซ่นไหว้ตามประเพณีจีนและขอให้เจ้าพ่อช่วยให้เรือหยุดรั่ว
ก็ปรากฎว่าได้ผลตามที่บนบาลทุกประการ จึงกลายเป็นสิ่งี่ชาวจีนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยเคารพนับถือกันมา
นอกจากชาวจีนในไทยแล้ว ยังมีชาวจีนในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางมากราบไหว้เพิ่มขึ้นทุกปี
ชาวเกาะสีชังได้จัดประเพณีเคารพบูชาเจ้าพ่อมาเป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว โดยมีงานเทศกาลแก้บนเจ้าพ่อในเดือนเก้า
ที่ขาดไม่ได้คือ ลิเก และการจุดประทัด
- ตำนานบ้านเหมือง
บ้านเหมืองอยู่ในตำบลเหมือง อำเภอเมือง ฯ สมัยก่อนเรียกว่า ท้องเหมือง ซึ่งหมายถึง
ท้องนา คนพื้นเมืองแบ่งบ้านเหมืองออกเป็นสามส่วนคือ บ้านนอก ตอนล่าง และตอนกลาง
บ้านนอก คือส่วนของพื้นที่ท้องนาหลังหมู่บ้าน เลยออกไปจนถึงเขาปู่เจ้า เขาพุ
และเขาแร้ง ตอนล่างคือ ส่วนของพื้นที่ที่ติดถนนสุขุมวิทด้านฝั่งตะวันออกตอนกลาง
คือพื้นที่ระหว่างบ้านนอกกับตอนล่าง
ส่วนเขาเตี้ย ๆ สามลูก หลังบ้านเหมืองนั้น มีตำนานเล่ากันมาคือ
เขาปู่เจ้า
ในสมัยก่อนวันดีคืนดี จะได้ยินเสียงดินตรีปี่พาทย์แว่วมาจากเขา ให้ชาวบ้านได้ยินกัน
เขาพุ สมัยก่อนเป็นพุ มีโคลนเดือดสีเหลือง
กินบริเวณกว้าง มีงูชุกชุมมาก หากผู้ใดเป็นแผลก็สามารถใช้โคลนเดือดนี้พอกให้แผลหายได้
ปัจจุบันบริเวณที่เป็นพุแคบลงจนแทบหาไม่พบแล้ว
เขาแร้ง มีลักษณะเป็นหินก้อนใหญ่คล้ายนกแร้ง
ยืนเกาะอยู่บนเขา ปัจจุบันส่วนที่เป็นหัวนกแร้งหักไปแล้ว
- ตำนานอำเภอสัตหีบ
มีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีกษัตรย์องค์หนึ่งชื่อ พระเจ้าอู่ทอง ได้เสด็จมาในป่าพร้อมมหาดเล็กคนหนึ่ง
ได้พบบ่อน้ำสองบ่อ บ่อหนึ่งเป็นน้ำกรด อีกบ่อหนึ่งเป็นน้ำทิพย์ ปรากฎคำอธิบายที่ปากบ่อว่า
ผู้ใดลงไปในบ่อน้ำกรด เมื่อตายจะมีฟองขึ้นมา เมื่อตักฟองนั้นมาใส่ในบ่อน้ำทิพย์
ผู้นั้นจะกลับมีชีวิตและมีรูปงามกว่าเดิม พระเจ้าอู่ทองจึงตกลงกับมหาดเล็กที่จะลงไปในบ่อน้ำกรดก่อน
แล้วให้มหาดเล็กตักฟองไปใส่ในบ่อน้ำทิพย์ ก็ฟื้นคืนชีพกลับเป็นผู้มีรูปงาม
ครั้นเมื่อมหาดเล็กลงไปในบ่อน้ำกรดบ้าง พระเจ้าอู่ทองกลับไม่ช่วยแล้วเดินทางจากไป
เมื่อครบเจ็ดวันได้มีฤาษีตนหนึ่ง มาพบและตักฟองไปใส่บ่อน้ำทิพย์ มหาดเล็กก็ฟื้นคืนชีพ
มหาดเล็กต้องการไปแก้แค้น แม้ฤาษีจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ยอม ฤาษีจึงถามว่าเขาอยากเป็นอะไร
มหาดเล็กตอบว่า อยากเป็นห่า ฤาษีจึงบอกว่าถ้าเป็นห่าแล้วจะไม่สามารถกลับเป็นคนได้อีก
จากนั้นห่าก็พยายามติดตามพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าอู่ทองทราบก็หนีมาถึงสัตหีบ
นำหีบมาด้วยเจ็ดใบ และเอาเครื่องทรงของกษัตริย์ใส่ลงในหีบหกใบ อีกใบหนึ่งใช้เป็นที่ซ่อนพระองค์
จากนั้นได้มาสร้างเมืองที่แหลมเทียนในปัจจุบัน ส่วนหีบเจ็ดใบนั้นได้บรรทุกมาทางทะเล
ห่าพยายามติดตามหาพระเจ้าอู่ทองจนถึงสัตหีบ ก็พบและกินพระเจ้าอู่ทองได้สำเร็จ
- ตำนานหนองน้ำมนต์
เมื่อประมาณร้อยปีเศษมาแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดชลบุรี ยังเป็นป่าทึบ
ชาวบ้านดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเกิดโรคระบาดร้ายแรงหลายคนเสียชีวิต
ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่ง ได้ธุดงค์ไปพบหนองน้ำแห่งหนึ่ง จึงได้ปักกลดพักอยู่ริมหนองน้ำนั้น
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้น เมื่อชาวบ้านทราบก็พากันมาขอความช่วยเหลือ
พระธุดงค์รูปนี้จึงได้เสกน้ำมนต์ให้ชาวบ้านนำไปรักษาผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยหาย
ชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่เลื่องลือ บรรดาผู้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงต่างพากันมาขอน้ำมนต์จากท่าน
จนท่านเสกน้ำมนต์ให้ไม่ทัน ชาวบ้านจึงช่วยกันขุดขยายหนองน้ำให้กว้างใหญ่ขึ้นมีน้ำใสสะอาด
แล้วให้ท่านทำน้ำมนต์ลงมนหนองน้ำ ชาวบ้านได้นำไปใช้จนในที่สุดโรคภัยไข้เจ็บก็หมดไปจากท้องถิ่นนั้น
บริเวณรอบหนองน้ำ ได้มีชาวบ้านอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า
หนองน้ำมนต์ ต่อมาได้เรียกกันสั้น ๆ ว่า หนองมน
อยู่ในเขตตำบลแสนสุข อำเภอเมือง ฯ
- ตำนานเมืองพระรถ
พระรถมาจากชื่อพระรถเสน โอรสพระเจ้ารถสิทธิ์แห่งกุตารนคร ที่เกิดจากนางเภาน้องคนสุดท้องในเรื่องนางสิบสอง
ตามตำนานเล่าว่า เดิมนางสิบสองเป็นลูกเศรษฐีแห่งบ้านสมิทธคาม ได้นำลูกสาวทั้งสิบสองคนไปทิ้งไว้ในป่า
ลูกทั้งสิบสองได้ระเหเร่ร่อนไปจนถึงเมืองนางยักษ์สันธมาร จึงได้นำนางสิบสองไปเลี้ยงดูอย่างน้องสาว
โดยปิดบังไม่ให้รู้ว่าเป็นยักษ์ ต่อมาเมื่อนางสิบสองรู้เข้าจึงหนีไปจนถึงเมืองกุตารนคร
และได้เป็นมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์ ทั้งสิบสองคน
ฝ่ายนางยักษ์โกรธนางสิบสองมาก จึงได้แปลงกายเป็นหญิงงาม จนได้เป็นมเหสีของพระเจ้ารถสิทธิ์
จากนั้นได้หาทางกำจัดนางสิบสอง โดยส่งไปขังไว้ในถ้ำกลางป่า ในขณะที่มีครรภ์แล้ว
ส่วนตนเองแกล้งทำเป็นป่วยต้องกินลูกตานางสิบสองจึงจะหาย นางสิบสองจึงถูกควักลูกตาทั้งสองข้าง
ยกเว้นนางเภาน้องคนสุดท้อง ถูกควักตาเพียงข้างเดียว ด้วยความอดอยากพี่น้องทั้งสิบเอ็ดคน
ต้องกินเนื้อลูกตนเองแต่นางเภาเก็บส่วนแบ่งของตนไว้ พอตนเองคลอดลูกก็พยายามเลี้ยงลูกจนโต
พอรถเสนโตก็ออกจากถ้ำไปหาอาหารมาเลี้ยงแม่และป้า โดยการตีไก่พนันเอาข้าวสิบสองห่อ
จนชื่อเสียงโด่งดัง
ภายหลังเมื่อพ่อลูกพบกัน นางยักษ์สันธมารจึงออกอุบายที่จะฆ่าพระรถเสน โดยแสร้งทำเป็นป่วยต้องได้กินมะม่วงไม่รู้หาว
มะนาวไม่รู้โห่ที่เมืองคชระ ให้พระรถเสนไปนำมาพร้อมกับฝากสารไปให้นางกังรี
ลูกสาวของตนสั่งให้ฆ่าพระรถเสนเสีย แต่ระหว่างเดินทางพระรถเสนได้พบฤาษีจึงได้ช่วยแปลงสาร
เป็นให้รีบแต่งงานกันเสีย พระรถเสนได้อยู่กินกับนางกังรีจนม้าต้องมาเตือนให้กลับเมือง
จึงได้ล้วงความลับจากนางกังรี แล้วนำดวงตาของนางสิบสองและยารักษาตา แล้วหนีกลับเมือง
นางกังรีตามมาแต่โดนยาวิเศษโรยสกัดไว้ นางเสียใจมากจึงกลั้นใจตาย โดยอธิษฐานว่า
ชาตินี้ตนตามสามี ชาติหน้าต้องตามตนบ้าง (นางจึงไปเกิดเป็นมโนราห์ ส่วนพระรถเสนไปเกิดเป็น
พระสุธน)
เมื่อพระรถเสนกลับเมือง นางยักษ์แค้นใจจนอกแตกตาย พระรถเสนได้รักษาแม่และป้าหายจากตาบอด
และกลับเข้าเมือง ต่อมาพระรถเสนก็ได้ครองเมืองต่อจากพระรถสิทธิ์
- ตำนานเมืองพญาเร่ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ
๒๐๒ ปี หลังพุทธกาล มีพระยาโศกราชมหันต์ปกครองอินทรปัตถ์นคร ซึ่งกล่าวกันว่าตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอาณาจักรโคตรบูรณ์
ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยอยู่ต่ำลงมาจากละโว้และพิมาย เป็นเมืองท่าติดทะเลใกล้กับปากน้ำบางปะกง
สันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองพระรถ หรือเมืองศรีพะโร
นครอินทรปัตถ์เริ่มแล้วก็มาร้าง แล้วเริ่มมาสร้างใหม่โดยพระเจ้าสุทัศน์ เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๑๓๐๐ แล้วก็ร้างอีกเพราะน้ำท่วมและถูกมอญรุกราน ซากเมืองชั่วคราวค้นพบอยู่ที่ริมหมู่บ้านคลองหลวง
ขุดพบศพอายุ ๑,๓๐๐ ปี และพบเมืองพญาเร่ซึ่งเก่าแก่กว่าเมืองพระรถ และเมืองศรีพะโรมาก
เมืองพญาเร่ มีซากเมืองอยู่ห่างจากตลาดดอนพนมประมาณ ๖ กิโลเมตร ตามข้อสันนิษฐานพญาเร่รวบรวมพลเมืองมาสร้างยังไม่ทันเสร็จ
ก็เกิดโรคระบาดบ้าง น้ำท่วมบ้าง จึงกลายเป็นเมืองร้างไป
- ตำนานผานางร้องไห้ ณ ช่องเขาขาด
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสีชัง ซึ่งชาวเรือมักจะเรียกกันว่า
หลังเกาะ มีหน้าผาสูงชัน หน้าผานี้มีเรื่องเล่ากันมาว่า กาลครั้งหนึ่งมีหนุ่มสาวชาวเกาะคู่หนึ่งรักใคร่กันเมื่อถึงเวลาข้างขึ้นเดือนหงาย
หนุ่มสาวคู่นี้จะพากันไปชมพระจันทร์ที่ชายหาดเป็นประจำ
ต่อมาฝ่ายชายหนุ่มถูกเกณฑ์ไปรับราชการเป็นทหารเรือ ได้สั่งเสียคนรักว่าหากคิดถึงก็ให้มานั่งชมจันทร์ที่ชายหาด
เมื่อชายหนุ่มจากไปแล้วฝ่ายหญิงก็ถือปฎิบัติเป็นประจำ เมื่อฝ่ายชายหนุ่มปลดประจำการแล้วก็ไม่มีวี่แววว่าจะกลับมานาง
เมื่อสอบถามเพื่อนฝูงของชายคนรักก็ได้ความว่า ชายคนรักไปหลงรักกับสาวชาวบ้านศรีราชา
แต่นางก็ยังคงซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อคนรักไม่เสื่อมคลาย
เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี ความหวังของนางก็กลายเป็นความชอกช้ำ นางจึงได้ตัดสินใจกระโดดหน้าผาตาย
ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงยามข้าขึ้นเดือนหงาย ชาวเกาะสีชังจึงมักจะได้ยินเสียงโหยไห้คร่ำครวญของหญิงสาวจากหน้าผาเขาขาด
ชาวบ้านจึงเรียกหน้าผาแห่งนี้ว่า ผานางร้องไห้
- ตำนานประเพณีวิ่งควาย
ประเพณีนี้ มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเกิดจากเปรตใหญ่ ซึ่งเป็นวิญญาณชั่วร้ายที่ชอบหลอกหลอนผู้คนให้หวาดกลัว
เพื่อจะได้ทำพิธีเซ่นไหว้ เปรตดังกล่าวชอบอาละวาดแถวตำบลบางปลาสร้อย
กล่าวกันว่าเปรตตนนี้ชอบดูควายวิ่งแข่งกัน ถ้าหากวันใดไม่ได้เห็นควายวิ่งแข่งกัน
ตกดึกก็จะออกรบกวนผู้คนให้หวาดกลัว เจ้าเปรตตนนี้ได้ออกปากขอให้ชาวบ้านจัดแข่งควายให้ดูเป็นงานประจำปี
มิฉะนั้นจะบันดาลให้เกิดอาเพทภัยต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน
- ตำนานหัวกุญแจ
เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว มีหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่บนพื้นที่ราบซึ่งยังเป็นป่า
ภายหลังการรถไฟได้เข้ามาสร้างทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นเส้นทางบรรทุกซุง และอ้อยไปยังศรีราชา
เส้นทางรถไฟนี้ได้ผ่านบริเวณป่าช้า จุดสับเปลี่ยนรางรถไฟอยู่ตรงบริเวณป่าช้า
ที่จุดสับเปลี่ยนจะมีเหล็ก ๑ อัน ลักษณะคล้ายกุญแจชาวบ้านที่เข้ามาตั้งรกรากแถบนั้น
จึงให้ชื่อว่าหมู่บ้าน หัวกุญแจ
- ตำนานอำเภอหนองใหญ่
พื้นที่ของอำเภอหนองใหญ่ แต่เดิมเป็นป่าโปร่ง มีไม้มีค่าทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางอยู่มาก
เป็นป่าสัมปทานของบริษัทศรีมหาราชา จำกัด หลังจากบริษัทใช้ไม้ใหญ่จนเกือบหมดแล้ว
ก็มีผู้คนเข้ามาจบจองที่ดิน มีการใช้อิทธิพลใช้อาวุธ เพื่อแย่งกันตัดไม้ และแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน
เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นพันไร่ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพป่าเหลืออยู่
เมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นจากเดิมที่เป็นท้องที่ในอำเภอบ้านบึง กระทรวงมหาดไทย จึงประกาศให้เป็นกิ่งอำเภอหนองใหญ่
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ เนื่องจากในเขตกิ่งอำเภอมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของตลาด
จึงให้ชื่อว่า กิ่งอำเภอหนองใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอหนองใหญ่
- ตำนานอำเภอบางละมุง
บางละมุงเดิมมีฐานะเป็นเมือง ต่อมายุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่บริเวณริมคลองนกยาง
ซึ่งเป็นท่าน้ำสำคัญในขณะนั้น ภายหลังคลองตื้นเขินจึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งริมทะเลในเขตตำบลนาเกลือ
มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อบางละมุง น่าจะมาจากภาษาเขมรว่า เขลาละมุง แปลว่า เสือดำ
- ตำนานอำเภอพานทอง
คำว่าพานทอง มาจากคำว่า พรานทอง กล่าวคือในสมัยก่อนอำเภอนี้เป็นพื้นที่ป่า
มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุม ชอบมากินดินโป่งในเวลาเช้ามืด บรรดาพรานต่าง ๆ
ก็พากันไปคอยยิงสัตว์ โดยใช้วิธีปลอมตัวให้เป็นพวกเดียวกับสัตว์ เช่น สวมหัวกระโหลกของสัตว์
เช่น หัวล่อ
ต่อมาเกิดเหตุขึ้นเพราะพรานเกิดไปยิงพรานด้วยกัน ด้วยความสำคัญผิด หัวล่อที่ใช้สวมนี้
ต่อมาคนถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีจึงได้นำไปไว้ที่วัดแห่งหนึ่ง จึงได้ชื่อต่อมาว่า
วัดดอนหัวฬ่อ และตำบลนั้นก็เรียกว่า ตำบลดอนหัวฬ่อ ต่อมาวัดดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็น
วัดดอนดำรงธรรม
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เดิมอำเภอพานทอง อยู่ที่บ้านท่าตะกูด อำเภอท่าตะกูด
ต่อมามีพรานล่าเนื้อชาวอยุธยาชื่อตาทอง อพยพมาอยู่ที่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก
ตาทองเห็นว่าหมู่บ้านนั้นยังไม่มีวัด จึงได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า
พรานทอง แต่ต่อมาได้เพี้ยนเป็นพานทอง
- ตำนานเจ้าแม่แหลมเทียน
เรื่องมีอยู่ว่า มีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทอง เป็นโอรสพระยาแกรก
ได้มาสร้างวังอยู่ที่สัตหีบ วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสนอกเมือง มียักษ์ตนหนึ่งผ่านมาพบเข้าจึงตรงเข้าจับ
พระองค์ตกใจหนีกลับเมืองแล้วเล่าเรื่องให้มเหสีฟัง (เจ้าแม่แหลมเทียน) มเหสีจึงจุดเทียนเล่มหนึ่งอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยคุ้มครอง
แล้วสร้างหับเหล็กขนาดใหญ่เจ็ดหีบ ให้พระเจ้าอู่ทองลงไปซ่อนตัวในหีบใบหนึ่ง
แล้วนำหีบทั้งเจ็ดมาผูกติดกันหย่อนลงทะเลบริเวณเกาะพระ แต่ยักษ์ได้ตามมาถึงและกัดหีบพระเจ้าอู่ทองสิ้นพระชนม์
มเหสีตรอมใจสิ้นพระชนม์ตาม คำว่าแหลมเทียนถือเอามาจากการที่มเหสีจุดเทียนบูชาเทวดา
- ตำนานพระนางจอมเทียน
มีเรื่องเล่าว่า มีนครแห่งหนึ่ง กษัตริย์ผู้ปกครองชื่อพระเจ้าเขมรินทร์ มีมเหสีชื่อ
พระนางอินทิรา มีพระธิดาผู้มีผิวพรรณงดงามเหมือนยอดของเปลวเทียน จึงให้พระนามว่า
พระนางจอมเทียน นครนี้มีปูใหญ่ศักดิ์สิทธิ์เฝ้ารักษาเมือง ที่อยู่ของพญาปู
เรียกว่า บ่อปู
ต่อมาพระนางจอมเทียน ถูกอำมาตย์ใส่ความว่า เป็นชู้ราชองครักษ์ พระนางจอมเทียนต้องการให้ราชองครักษ์หนีไป
โดยพระนางได้มอบแหวนและสายสร้อยให้ เพื่อใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินทองในระหว่างทาง
เมื่อกษัตริย์มาพบเข้าก็ให้นำราชองครักษ์ไปประหาร พระนางจอมเทียนเสียพระทัยจึงได้ประกาศต่อเทวดาอารักษ์ว่า
พระนางไม่เคยคิดเรื่องชู้สาวกับราชองครักษ์ ด้วยความสัตย์นี้พระนางขอสละชีวิตและขอให้พระนามของพระนางอยู่คู่ฟ้าดินตลอดไป
แล้วพระนางก็กลั้นพระทัยสิ้นพระชนม์ ณ ชายหาดนั้น เมื่อกษัตริย์มาพบจึงนำพระศพไปฝังไว้
พร้อมกับสร้างวัดให้ชื่อว่า วัดจอมเทียน ฯ แล้วให้เอาสมบัติของพระนางใส่ไว้ในบ่อปู
จากนั้นได้ย้ายบ้านเมืองไปอยู่ที่เขาลับแล หาดพระนางจอมเทียน
ต่อมาได้เหลือชื่อเพียง หาดจอมเทียน วัดพระนางจอมเทียน
ฯ คือวัดนาจอมเทียน ในปัจจุบัน สถานที่ฆ่าราชองครักษ์ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า
เกาะเจ้า
อยู่ท้ายวัดนาจอมเทียน ส่วนเขาลับแลเชื่อกันว่าคือ ภูเขาที่อยู่ในเขตวัดญาณสังวราราม
ฯ ส่วนบ่อปูยังคงอยู่บริเวณท้ายวัดนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ
|