www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ประติมากรรม
ส่วนใหญ่ในจังหวัดเลยเป็นพระพุทธรูปงานปูนปั้น และศิลปกรรมที่ทำขึ้นเป็นพุทธบูชาด้วยไม้สลักลาย
หรือเขียนลายลดน้ำปิดทอง เขียนลายกำมะลอ บางแห่งมีการตกแต่งให้วิจิตรบรรจงมากขึ้น
ด้วยการปั้นลวดลายปูนน้ำมัน ประดับกระจกสีตามวัดต่าง ๆ
งานปูนปั้นลวดลายเป็นลายเครือเถาหรือลายพรรณพฤกษา กนกผักกูด ลายดอกบัวและธรรมจักร
ลักษณะแบบนูนต่ำและนูนสูง ทำด้วยปูนผสมกาวหนัง ยางไม้ งานปูนปั้นที่สวยงามเช่น
ลายปูนปั้นประดิษฐ์เจดีย์ห้วยหาง เป็นต้น
ประติมากรรมอื่น ๆ ได้แก่ เทวดาสลักด้วยไม้ที่เรียกว่านางค้ำแป เป็นประติมากรรมแต่งส่วนหัวแป
คอสอง ของอาคารแบบล้านช้าง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และคันทวยที่เรียกว่า
นาคสะดัน มักทำเป็นรูปสัตว์เช่น นาค ครุฑ ลิง หรือลายเครือเถา พบอยู่ในวิหารเก่าแก่
จิตรกรรม
มีทั้งที่เป็นจิตรกรรมฝาผนังตามศาสนสถาน จิตรกรรมในสมุดไทย หีบพระธรรม ตลอดจนภาพพระบฎ
เรื่องที่เขียนมีทั้งพระพุทธประวัติ และชาดก เช่น เรื่องค่ำกาดำ สังขศิลป์ชัย
ไกรสร จำปาสี่ต้น เป็นต้น รายละเอียดของภาพนอกจากจะเล่าเรื่องนิทานชาดกแล้ว
ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านชาวเมือง ก่อนพุทธศตวรรษที่
๒๕ ได้เป็นอย่างดี
จิตรกรรมดังกล่าวเหล่านี้ เขียนลงบนพื้นวัสดุต่าง ๆ เช่น ปูน ไม้ ผ้า และกระดาษสา
จิตรกรรมที่สำคัญของจังหวัดเลย มีดังนี้
จิตรกรรมฝาหนัง ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดระบายสี
เกี่ยวกับชาดก หรือพระพุทธประวัติ จิตรกรรมฝาหนังที่เก่าแก่ และสำคัญของจังหวัดเลย
เป็นจิตรกรรมฝาผนัง ในอุโบสถวัดโพธิชัย อำเภอด่านซ้าย เขียน เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๓๙๕ เป็นเรื่องวัฒนธรรมการค้าขาย
นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนัง ในอุโบสถวัดมหาธาตุ เป็นเรื่อง พระพุทธประวัติ
มหาเวสสันดรชาดก และปัญญาสชาดก เขียนเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๗ จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดศรีคุณเมือง
เป็นภาพพระพุทธประวัติ และทศชาติชาดก เขียนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐
จิตรกรรมบนผ้า
มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ภาพพระบฎ
ใช้ประดับตกแต่งในการเทศน์มหาชาต มักเป็นเรี่องเกี่ยวกับชาดก และพุทธประวัติ
ภาพพระบฎพบทั่วไป ในจังหวัดเลย เช่น วัดศรีจันทร์ วัดศรีสัตตนาค อำเภอเมือง
ฯ วัดโพธิชัย อำเภอด่านซ้าย เป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
จิตรกรรมสมุดข่อย
เป็นภาพวาดลายเส้นเขียนด้วยหมึกดำ บางเล่มระบายสีสวยงาม พบที่วัดศรีภูมิ บ้านนาหอ
อำเภอด่านซ้าย และบ้านนายสัมฤทธิ์ สภามา อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นตำราดูโชคชะตาราศี
วันและเดือน ที่เป็นมงคลสำหรับประกอบพิธีกรรม ภาพสัตว์หิมพานต์ และมงคล ๑๐๘
เป็นต้น
สถาปัตยกรรม
ปัจจุบันหลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ในเขตจังหวัดเลย เหลือน้อยมาก เนื่องจากมีการซ่อมแซมบูรณะ
ดัดแปลงรูปแบบอยู่เสมอ ส่วนที่เป็นอาคารเครื่องไม้ เช่น โบสถ์ วิหาร และหอไตร
เมื่อชำรุดทรุดโทรม ก็มักมีการรื้อถอนของเดิม แล้วสร้างใหม่ สถาปัตยกรรมที่สำคัญ
มีดังนี้
อุโบสถ
มีลักษณะเช่นเดียวกับวิหาร แต่มีขนาดเล็กกว่า เนื่องจากใช้เฉพาะการทำสังฆกรรมเท่านั้น
อุโบสถที่สำคัญได้แก่ อุโบสถวัดมหาธาตุ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๗ และอุโบสถวัดศรีสัตตนาค
อุโบสถและวิหาร ที่สร้างขึ้นในระยะนี้ได้รับอิทธิพลรูปแบบจากสถาปัตยกรรมศิลปล้านช้าง
อยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ ปรากฎลักษณะการผสมผสานอยู่ทั่วไปบนตัวอาคาร
ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยของตัวอาคาร
ในเมืองเลย โดยวัดต่าง ๆ มักนิยมผูกพัทธสีมาวิหาร ที่มีอยู่เดิมมาใช้เป็นอุโบสถ
เพื่อเป็นการประหยัดในการสร้างอาคาร แต่กลับเป็นการทำลายคติ และความมุ่งหมายของการสร้างอาคารเหล่านี้
มาแต่เดิม
วิหาร
เป็นอาคารหลักของวัดที่ใช้ประกอบศาสนพิธี ตามวาระต่าง ๆ โดยทั่วไปมักมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้ หลังคาจั่วชั้นลดหลั่นกัน
บางหลังมีมุขยื่นคลุมบันไดด้านหน้า เช่น วิหารวัดโพธิชัย และวิหารวัดศรีภูมิ
อำเภอด่านซ้าย
นอกจากนี้ยังมีวิหารที่มีลักษณะเด่นคือ วิหารวัดมหาธาตุ อำเภอเชียงคาน เดิมเป็นอาคารที่ว่าการเมืองเก่า
มีผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่องประตูด้านหน้า มีสามช่อง หน้าต่างทำเป็นช่องแสง
ถัดขึ้นไปเป็นช่องตีนกา คันทวยเรียวเล็ก เป็นรูปแบบในสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนเชิงชายของหลังคาจะแอ่นโค้ง
ผนังด้านนอก ด้านหน้ามีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พระเวสสันดรชาดก หน้าบันเป็นไม้
เขียนลวดลายสีทองบนพื้นสีแดง
เจดีย์
ที่สำคัญและเก่าแก่ ได้แก่ เจดีย์ศรีสองรัก วัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
เจดีย์พระธาตุกุดเรือคำ อำเภอวังสะพุง เจดีย์พระธาตุสัจจะ เจดีย์พระธาตุอุโมงค์
และเจดีย์แม่นางเดี่ยว อำเภอท่าลี่
ซุ้มประตูโขง
ทางเข้าวัดโพธิชัย มียอดทรงปราสาท แต่เดิมยอดของประตูก่อเป็นชั้นลดหลั่น ตรงตามความหมายของปราสาท
ลวดลายปูนปั้นประดับตามส่วนต่าง ๆ ชำรุดหลุดออกไป เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
หอไตร
หรือหอพระไตรปิฎก ส่วนใหญ่สร้างไว้บนบก บางแห่งขังน้ำล้อมรอบ เพื่อป้องกันปลวก
เป็นอาคารทรงสูง ใต้ถุนโปร่ง หรือทึบ ส่วนใหญ่ทำบันไดไว้ด้านนอก แต่บางแห่งใช้บันไดพาดขึ้นทางด้านใน
รูปทรงทั่วไปคล้ายคลึงกับอุโบสถ หรือวิหาร แต่มีขนาดเล็กกว่า เช่น หอไตรวัดโพธิชัย
บ้านนาพึง และวัดศรีโพธิชัย บ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว ซึ่งมีลักษณะพิเศษ เป็นหลังคาสองชั้น
มีลวดลายฉลุโปร่ง ตกแต่งสวยงาม
ธรรมาสน์
คือ อาสนะสงฆ์ ที่ใช้ในการแสดงพระธรรมเทศนา หรือใช้ในการสวดพระปาฎิโมกข์ อยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์ในพระอุโบสถ
ธรรมาสน์แบ่งออกได้เป็นสองลักษณะคือ
ธรรมาสน์ตั่ง
เป็นตั่งไม้เตี้ย ๆ สูงจากพื้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร มีสี่ขา มีขนาดกว้างยาวพอที่พระสงฆ์
เมื่อนั่งแล้วสามารถเอนหลังพิงได้ และตีกรอบไม้ทั้งสามด้าน ส่วนด้านหน้าใช้ไม้แผ่นเดียวมีตีตั้ง
ยึดกรอบตามแนวขาตั้ง เพื่อกันอาสนะ และหมอนอิงเลื่อน
ธรรมาสน์ ตั่งตามวัดต่าง ๆ จะพบเห็นส่วนใหญ่ในวัด ในเขตอำเภอนาแห้ว
อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม ธรรมาสน์ตั่ง อาจทำขึ้นอย่างง่าย
ๆ แต่ก็มีลักษณะพิเศษ แต่บางแห่งก็มีการจัดทำขึ้นอย่างวิจิตร เช่น ที่วัดศรีคูณ
เป็นไม้แกะสลักลายประจำยาม มีอยู่ทั้งสามข้าง รวมไปถึงลายเทพพนม ที่ยกขึ้นเป็นซุ้มปราสาท
มีพญานาคโค้งขนาบเชิงลาดร่วมเสากลึง ขวั้นยอดหัวเม็ดทรงมัณฑ์
ธรรมาสน์ทรงปราสาท
อยู่ที่วัดโพธิชัย บ้านนาพึง อำเภอนาแห้ว เป็นธรรมาสน์ที่สร้างให้วิจิตรพิสดารขึ้นไป
มีทั้งในอุโบสถและศาลาการเปรียญ ส่วนที่อยู่นอกอุโบสถจะใช้เฉพาะในการเทศน์เท่านั้น
ธรรมาสน์ทรงปราสาทหลังนี้ แกะสลักไม้อ่อนช้อยสวยงาม ลงรักปิดทอง หมู่บัวขนุนที่ชานรับซุ้มยอดปราสาท
บนมุมบรรจบมีนาคแกะสลัก และลวดลายตามขอบชั้นต่าง ๆ แสดงถึงการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยกับลาว
ตู้พระะรรมและหีบพระธรรม
ตู้พระธรรม มีลักษณะเป็นตู้ทรงสูง ด้านล่างผาย ด้านบนสอบเข้าหากัน ขาตรงที่เรียกว่า
ขาหมู แบบมีลิ้นชักด้านล่างและไม่มี พื้นลงรักสีดำ เขียนลายรดน้ำปิดทอง ลายฉลุปิดทอง
และลายกำมะลอ เป็นภาพทวารบาล ภาพจับรูปลิง ยักษ์ เทพ คนธรรพ์ ลายดอกไม้ ลายเครือเถาว์
ตู้พระธรรมที่สลักลวดลาย และประดับกระจกมีอยู่น้อย
หีบพระธรรม มีลักษณะเป็นหีบทรงสูง ด้านบนผาย ด้านล่างสอบเข้า
ด้านในมักทำเป็นแบบฝาตัด ลงรักสีแดง หรือดำ เขียนลายรดน้ำปิดทอง และลายกำมะลอ
เป็นภาพเทพพนม กินรี สัตว์ และลายเครือเถาว์ดอกไม้
วิหารจำลอง
สร้างขึ้นตามคติการสร้างอาคารถวายวัด เพื่อเป็นพระพุทธบูชา แต่ผู้สร้างมีทุนทรัพย์น้อย
จึงสร้างอาคารจำลองถวายวัดแทน รูปแบบมักลอกเลียนอาคารของจริง ที่สร้างในสมัยนั้น
ตกแต่งด้วยการแกะสลักลวดลายฉลุ ปิดทองตามส่วนสำคัญได้แก่ ซุ้มประตู หน้าต่าง
คันทวย หัวเสา เช่น วิหารจำลองที่วัดศรีภูมิ และวัดศรีโพธิชัย
เครื่องสูงจำลอง
ประกอบด้วย มงกุฎ บังสูรย์ บังแทรก จามร และธารพระกร ทำจากไม้ เขียนลายรดน้ำ
บนพื้นรักสีดำ หรือแดง ปิดทอง และแกะสลักเป็นสัญญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าห้าพระองค์
มักทำเป็นสองชุด นำไปตั้งข้างฐานชุกชี ที่ตั้งพระประธานในวิหาร หรืออุโบสถ
ข้างละชุด
สถาปัตยกรรม ในเขตจังหวัดเลย ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยา ศิลปะล้านช้าง และศิลปะจีน
ภายนอกอาคาร เช่น ส่วนหน้าบัน คันทวย มักจะตกแต่งด้วยการสลักลาย เป็นลายก้านขด
กนก นาคเคล้า ภาพรามเกียรติ์ พระอินทรทรงช้างเอราวัณ เทวดาประจำปีนักษัตร
และสัตว์จำพวกสิงห์ กระรอก นกไต่ และเกาะไปตามเถาว์ลายผสม กับลายเก๋งจีน
|