www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางธรรมชาติ
จังหวัดมุกดาหาร มีสภาพพื้นที่ที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีป่าไม้ พันธุ์ไม้หายาก
เกาะแก่งและภูเขาที่สวยงาม มีจุดเด่นเฉพาะตัว เป็นบ่อเกิดของต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงประชากรในจังหวัดได้เป็นอย่างดี
มีพืชพรรณที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น ข้าว มะขามหวาน ไม้เบญจพรรณ
และพืชล้มลุกอื่น ๆ
พื้นที่จังหวัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีพื้นที่ป่าสงวนที่สวยงาม อำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ก่อให้เกิดพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ สภาพพื้นที่ดินชุ่มชื้น
ก่อให้เกิดอาหารทางธรรมชาติแก่คน สัตว์ ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนใหญ่ที่สำคัญคือ ดงปังอี่
เป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ เป็นป่าสงวนที่ขึ้นชื่อ เมื่อเข้าเขตอำเภอนิคมคำสร้อย
อากาศจะเย็นยะเยือก แสดงให้รู้ว่าเข้าเขตดงปังอี่
ป่าสงวนแห่งชาติทางเหนือของจังหวัดคือ ป่าสงวนดงหมู
ทางราชการจะจัดเป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ในเขตอำเภอดงหลวง
มีเขตวัดถ้ำภูผาผึ้ง ได้จัดให้เป็นป่าสงวนพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมี อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
อุทยาน ฯ ห้วยหวด อุทยาน ฯ ภูผาเทิบ อุทยาน
ฯ เหล่านี้ ประกอบด้วยภูเขาสูงชัน หลายเทือกเขาติดต่อกัน มียอดเขาพื้นที่ลานเขา
ก่อให้เกิดภาวะทางธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับสังคม และยังเป็นต้นน้ำลำธารอีกด้วย
ภูสระดอกบัว
เป็นเขตป่าสงวนในตำบลบ้านไร่ อำเภอดอนตาล เป็นภูเขาที่ค้อนข้างสูง มีแอ่งน้ำคล้ายสระปลูกบัวไว้สวยงาม
ประชาชนนิยมไปชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางธรรมชาติที่มีชีวิตจิตใจ
ภูมโนรมย์
อยู่ในเขตป่าสงวนดงปังอี่ มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์หลายชนิดที่หายาก
เช่น ต้นช้างน้าว ดอกไม้ประจำจังหวัด ผักหวานที่มีรสหวาน เป็นที่ขึ้นชื่อกว่าผักหวานจากที่อื่น
ในอดีตชาวบ้านในละแวกนั้น จะขึ้นภูเก็บผักหวานทุกวัน เพื่อนำไปขายในการดำรงชีวิต
ป่าสงวนแห่งชาติภูสีฐาน
เป็นพื้นที่เกษตรกรรมบนที่ราบในภูเขา พื้นที่ลาดเอียงลงมาทางทิศเหนือด้านตัวจังหวัด
ก่อให้เกิดลำห้วยที่ใช้เป็นแหล่งน้ำในการเลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำสวน หาสัตว์น้ำ
คือ ห้วยไผ่ ห้วยยาง ห้วยกระแส ห้วยนกเต็น ห้วยตาเปอะ และห้วยเลา เป็นสาขาของห้วยทราย
ไหลผ่านอำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ ไปบรรจบแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอเมือง ฯ
ทางทิศใต้เป็นต้นกำเนิดห้วยปังอี่ ไหลผ่านอำเภอหนองสูง อำเภอนิคมคำสร้อย ไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอดอนตาล
นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งน้ำหนองกระแสนที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำประวัติศาสตร์
ที่ใช้น้ำมาเสกเป็นน้ำพระพุทธมนต์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
พืชพันธุ์ไม้
พืชพันธุ์ไม้ ที่สำคัญของจังหวัด มีทั้งที่เป็นดอกและที่เป็นเมล็ดพันธุ์ไม้
พันธุ์ไม้ที่สำคัญที่ชึ้นชื่อและทำประโยชน์ให้ประชาชน ทั้งในทางวิถีชีวิตของชาวบ้าน
และพืชเศรษฐกิจ พืชบางชนิดในท้องถิ่นอื่น มีคุณภาพและรสชาดไม่เหมือนกับที่มีอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร
เช่น ผักหวาน
ที่เกิดอยู่บนภูมโนรมย์ ซึ่งจะมีใบเล็กสีเหลืองปนเขียวอ่อน เมื่อนำมาประกอบอาหาร
จะมีรสชาดหวานกรอบไม่เหม็นเขียว นอกจากนี้ที่พิเศษคือ
ไผ่
ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ ปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์จากลำต้น เช่น ไม้ไผ่หัน (ไผ่เลี้ยง)
ไม้ไผ่ฮวก (ไผ่รวก) หน่อไม้ไร่ ไผ่สีสุก ทั้งหมดเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด
มะขามหวาน
มีมะขามหวานพันธุ์ดีจากตำบลนาโสกและบ้านส้มป่อย ตำบลนาสีนวน เป็นมะขามหวานพันธุ์พื้นบ้าน
รสหวานหอม เม็ดเล็ก มีความหวานสนิท และรสชาดแปลกไปจากมะขามหวานจากจังหวัดอื่น
นอกจากนี้ยังมีมะขามเปรี้ยวที่ขึ้นชื่อที่ชาวบ้านแกะเม็ดออก แล้วทำมะขามเปียกขาย
มะขามเปรี้ยวยังนำมาทำเป็นมะขามแช่อิ่ม น้ำมะขาม มะขามคลุก ทำรายได้ให้ชาวบ้านมาช้านาน
พรรณไม้ดอก
มีอยู่มากมายหลายพันธุ์ที่สุดสวยมีคุณค่า และผูกพันกับจังหวัดมุกดาหารที่เด่น
ๆ และรู้จักกันดีโดยทั่วไปได้แก่ ช้างน้าว จำปา (ลั่นทม) ทองกวาว (ดอกทน)
อินทนิล กระเจียว พยอม ดอกคูน (ราชพฤกษ์) กางของ อินอ้า ตีนเป็ด (สัตบรรณ)
แต่ที่ถือว่าเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดคือ ช้างน้าว
ในเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม จะมีชาวบ้านตัดกิ่ง ต้น และดอกช้างน้าวมาขายเป็นกิ่งที่ไม่มีดอก
แต่เมื่อนำไปแช่น้ำ ก็จะออกดอกเหลืองจากปุ่มดอกตามกิ่งอย่างสวยงาม
สัตว์ป่า
จังหวัดมุกดาหารมีสัตวว์ป่านานาชนิด ที่เห็นเด่นชัดคือ สัตว์จำพวกนก
มีนกคุ่ม นกเขา นกขุนทอง นกยูง และนกขาบ เป็นต้น บางชนิดนำมาเลี้ยงไว้ดูเล่นให้สวยงามตามบ้าน
บางชนิดนำมาใช้เป็นอาหาร
สัตว์เลื้อยคลานที่ชาวบ้านนำมาเป็นอาหารเช่น
งูสิง นอกจากนั้นก็มีสัตว์น้ำจากแม่น้ำโขงเช่น
ปลาแข้ ปลาพอน ปลาเติง กุ้งฝอย หอยกี้ นอกจากนั้นที่นิยมนำมาใช้ทำเป็นอาหารยังมีเขียดน้ำเต้า
ซึ่งมีมากอยู่ตามหนองน้ำ คูน้ำ และริมห้วย
สัตว์เศรษฐกิจ
ได้แก่ ไหม ชาวมุกดาหารนิยมเลี้ยงไหม เพื่อใช้ไยไหมมาทำเป็นเส้นไหม ใช้ทอผ้าไหม
ตัวอ่อนของไหมที่เรียกว่าดักแด้ ยังนำมาทำอาหารได้อีกด้วย
แหล่งน้ำ
ต้นน้ำลำธาร
มีที่มาจากป่าและภูเขา ต้นน้ำลำธารที่สำคัญคือห้วยชะโนด ห้วยปังยี่ ห้วยบางทราย
และห้วยมุก ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง
ไหลผ่านเขตจังหวัดมุกดาหาร เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านได้อาศัยน้ำเพื่อการดำรงชีวิต
ถือเป็นสายน้ำหลักของจังหวัด มีระบบการไหลของน้ำตามธรรมชาติ มีความกว้างของลำน้ำ
มีเกาะแก่งเป็นภาพรวมที่สวยงามตามธรรมชาติ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นทรายทองที่สวยงาม
มีเกร็ดสีทองระยิบระยับ ลีลานทรายยื่นออกไปกลางแม่น้ำที่บ้านชะโนด และบ้านพาลุกา
อำเภอหว้านใหญ่ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามแห่งหนึ่ง
สาขาของลำน้ำโขง
ในเขตจังหวัดมุกดาหารมีอยู่สี่สายที่สำคัญคือ
ห้วยชะโนด
อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตอำเภอดงหลวง ไหลผ่านอำเภอดงหลวงไปทางทิศตะวันออกไปบรรจบแม่น้ำโขง
ทางตอนใต้ของกิ่งอำเภอหว้านใหญ่ มีความยาวประมาณ ๕๓ กิโลเมตร
ห้วยบางทราย
อยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอดงหลวง ไหลผ่านทางตอนใต้ของอำเภอดงหลวง
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปบรรจบแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของอำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ
๑๗๐ กิโลเมตร
ห้วยมุก
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานทางทิศตะวันตกในเขตอำเภอคำชะอี แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอเมือง
ฯ ไปบรรจบแม่น้ำโขง มีความยาวประมาณ ๑๒๖ กิโลเมตร
ห้วยบังอี่
อยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่จังหวัด มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานทางทิศตะวันตกในเขตอำเภอหนองสูง
แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเขตอำเภอนิคมคำสร้อยไปทางทิศตะวันออก
ไปบรรจบแม่น้ำโขงในเขตอำเภอดอนตาล มีความยาวประมาณ ๑๔๕ กิโลเมตร
แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
ได้แก่ อ่างเก็บน้ำ มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่สามารถนำน้ำมาใช้ในการเกษตรได้อยู่สองแห่งคือ
อ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็ก ในเขตอำเภอนิคมคำสร้อย และอ่างเก็บน้ำห้วยชะโนด อยู่ในเขตอำเภอดงหลวง
นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อยู่ในเขตอำเภอดงหลวง และอ่างเก็บบน้ำห้วยมุก
อยู่ในเขตอำเภอคำชะอี
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
ภูผาเทิบ
เดิมเรียกว่า ภูนางเพิ่ง ภูหินด่าง ภูถ้ำเตี้ย เป็นการเรียกตามลักษณะของหิน
ที่มาวางซ้อนทับกันอยู่อย่างวิจิตรพิศดารของธรรมชาติในรูปทรงต่าง ๆ กัน เป็นประติมากรรมของหินทราย
เช่นมีรูปร่างเหมือนเครื่องบินไอพ่น จาบบิน ดอกบัวบาน รองเท้าบู๊ต เก๋งจีน
มงกุฎ หินสถูป เป็นต้น หินบางก้อนดูเหมือนจะหล่นลงมาเพราะวางซ้อนทับกันไว้เพียงน้อยนิดเท่านั้น
ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำ ลม แสงแดด ในการกัดกร่อนเม็ดทรายให้จับรวมกันเป็นแท่ง
เป็นหินเทิบไปทีละน้อย จนรูปทรงของหินกลายเป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ กันอยู่รอบ
ๆ บริเวณลานหินกว้าง นับเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่โดดเด่นของจังหวัด
แม่น้ำโขง
ในส่วนที่ไหลผ่านจังหวัดมุกดาหาร จะทอดยาวตามแนวพื้นที่อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอเมือง
ฯ และอำเภอดอนตาล แม่น้ำโขงช่วงที่ผ่านจังหวัดมุกดาหาร กว้างประมาณ ๑,๘๐๐
เมตร นับว่าเป็นจุดที่กว้างที่สุดของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย อยู่บริเวณอำเภอเมือง
ฯ เป็นจุดที่มีภูมิทัศน์สองฝั่งโขงที่สวยงามจุดหนึ่ง สามารถชมทัศนียภาพช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นตลอดจนดวงอาทิตย์ตก
และมองเห็นธรรมชาติของทั้งสองฝั่งคือตัวเมืองมุกดาหารและเมืองสะหวันเขตของลาวตลอดแนว
ประกอบด้วยสายน้ำสีขาวที่ทอดยาวโค้งได้กว้างไกลออกไปทั้งทางทิศเหนือและทางทิศใต้
สอดรับกับแนวเขามโนรมย์ที่ทอดยาวเขียวขจี จากตัวเมืองมุกดาหาร ลงไปทางใต้เคียงคู่กับลำน้ำโขง
|