www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ประติมากรรม
งานประติมากรรม เป็นงานที่เกิดจากการปั้น การแกะสลัก และงานหล่อโลหะ มีผลงานฝีมือสกุลช่างโบราณท้องถิ่น
ในจังหวัดมุกดาหาร คือ
สิมวัดมโนภิรมย์
มีหน้าบันเหนือซุ้มประตู เป็นรูปปั้นขนาดใหญ่ เป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย ราวบันไดสองข้างมีการก่ออิฐ
ฉาบปูนเป็นรูปสิงห์ผสม หัวเสาเป็นปูนปั้น ลายบัวคว่ำบัวหงาย
สิมวัดศรีมงคลใต้
ที่หน้าบันเหนือประตูทางเข้าวิหาร เป็นซุ้มประตูปูนปั้นขนาดใหญ่ รูปสัตว์ในเทพนิยาย
และมีคันทวยไม้แกะสลัก เป็นลายดอกไม้
โบสถ์วัดศรีมหาโพธิ
อยู่ในตำบลหว้านใหญ่ มีปูนปั้นเป็นรูปไก่ อยู่เหนือซุ้ม ซึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม
อยู่บนผนังด้านนอกทางทิศใต้ เป็นรูปราหูอมจันทร์ อยู่บนผนังด้านนอกทางทิศเหนือ
มีคันทวย เป็นรูปนาค
หลวงพ่อธรรมจักร
ประดิษฐานอยู่บนหลังคาอุโบสถ วัดพุทโธธัมมธโร อยู่ที่บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย
อำเภอนิคมคำสร้อย เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางปฐมเทศนา ศิลปะรัตนโกสินทรประยุกต์
องค์พระสูงใหญ่มาก หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มองเห็นได้ชัดเจนแต่ไกล หน้าหลวงพ่อธรรมจักร
มีรูปปั้นปัญจวัคคีย์ ก่ออิฐถือปูน หันหน้าเข้าหาหลวงพ่อธรรมจักร
ด้านหลังหลวงพ่อธรรมจักร เป็นธรรมจักรขนาดใหญ่สูงเท่าองค์หลวงพ่อธรรมจักร
มองเห็นเป็นภูมิทัศน์ ที่แปลกออกไปจากพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ที่เคยมีอยู่
พระพุทธไสยยาสน์วัดป่าวิเวก
ประดิษฐานอยู่ที่ป่าวิเวก บ้านหนองแสง ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ สร้างด้วยอิฐถือปูน
สร้างเมือปี พ.ศ.๒๕๐๕
จิตรกรรม
เป็นงานศิลปะการวาดรูประบายสี ในลักษณะของจิตรกรรมฝาผนัง ตามศาสนสถานและในถ้ำต่าง
ๆ สำหรับศาสนสถานนั้นมีปรากฎอยู่ที่ ฝาผนังวิหาร อุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ
ของเกือบทุกวัด
จิตรกรรมฝาผนังศาลาการเปรียญสุทธิธรรมรังสิยานุสรณ์
อยู่ที่วัดพุทโธธัมมธโร (ภู ด่านแต้ ) สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ฝาผนังด้านทิศตะวันออก
ทิศใต้และทิศเหนือ มีภาพวาดเป็นห้อง ๆ เริ่มจากฝาผนังด้านทิศเหนือ ไปตามลำดับ
แต่ละภาพวาดด้วยสีน้ำมัน เป็นภาพทศชาติ ๑๐ ภาพ ต่อจากนั้นเป็นภาพพุทธประวัติคือ
ภาพที่ ๑๑ เป็นภาพอัญเชิญจุติ ภาพที่ ๑๒ เป็นภาพประสูติ ภาพที่ ๑๓ เป็นภาพตัดเมาลี
เพื่อออกทรงผนวช ภาพที่ ๑๔ เป็นภาพทรงบำเพ็ญทุกขกิริยา ภาพที่
๑๕ เป็นภาพตรัสรู้ ภาพที่ ๑๖ เป็นภาพทรงแสดงปฐมเทศนา ทุกภาพเป็นฝีมือของช่างภูมิปัญญาท้องถิ่น
จิตรกรรม ฯ ศาลาการเปรียญวัดโพธิศรีแก้ว
อยู่ที่บ้านนาโปน้อย ในผนังด้านในเป็นภาพวาดด้วยสีน้ำ กล่าวถึงชาดกเรื่องพระเวสสันดร
ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในผนังด้านนอก เป็นเรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก เป็นภาพเขียนที่สวยงาม
จิตรกรรม ฯ สิมวัดศรีมหาโพธิ
เป็นเรื่องพระเวสสันดร มีอักษรลาวเขียนไว้ใต้ภาพ ผนังด้านทิศเหนือมีรูปชูชก
อยู่บนต้นไม้ ผนังด้านทิศใต้แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนเป็นภาพต้อนรับพระเวสสันดร
พระนางมัทรี ชาลีและกัณหา กลับเข้ากรุงสัญชัย ตอนล่างมีภาพรถม้าที่มีกลดกางอยู่ข้างบน
คนขับรถม้าสวมหมวกทรงสูงแบบชาวตะวันตก
จิตรกรรมวัดลัฎฐิกวัน เป็นเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
(ทศชาติ) อยู่ด้านหลังพระประธานในอุโบสถ มีภาพกินรี ยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณ
เป็นต้น
จิตรกรรม ฯ ศาลาวัดป่าศิลาวิเวก
เป็นภาพพุทธประวัติเป็นตอน ๆ ให้สีสดใส ตามรูปแบบจิตรกรรมสมัยใหม่
สถาปัตยกรรม
โดยส่วนรวมแล้ว สถาปัตยกรรมพื้นเมืองอีสาน มีอยู่สามประเภทใหญ่ ๆ คือ อาคารศาสนา
อาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและเรือนค้า
อาคารศาสนา
ที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นเมืองมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ได้แก่วิหารวัดศรีมงคลใต้
หอแจก (ศาลาการเปรียญ) วัดศรีมณฑา หอแจกศรีสำราญ สิมวัดโพธิ์แก้ว สิมวัดมัชฌิมาวาส
(วัดกลาง) วิหารวัดศรีสุมังค์ หอกลางวัดมัชฌิมาวาส พระธาตุวัดยอดแก้วศรีวิชัย
พระธาตุศรีสุมงคล วัดศรีมุมังค์ เขมปัตตเจดีย์ วัดบรรพตคีรี เจดีย์บู่ทองกิตติ
อาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
ส่วนใหญ่จะเป็นงานสถาปัตยกรรมพื้นเมืองในหมู่บ้านชนบท มีทั้งแบบที่เป็นเรือนเครื่องผูก
และเรือนไม้จริง
เรือนค้า
ส่วนใหญ่เป็นอาคาร ทั้งเรือนอาศัยตามชุมชน
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาถิ่น
มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากจังหวัดใกล้เคียงคือจะออกเสียงช้าเนิ่น มักจะออกเสียงสระเสียงยาว
มีการออกเสียงสระเสียงสั้นน้อยมาก
ภาษาถิ่นมุกดาหาร ทั้งภาษาไทยอีสานและผู้ไทย จะแตกต่างจากภาษาถิ่นนครพนม สกลนคร
กาฬสินธิ์ ร้อยเอ็ด แต่จะมีความใกล้เคียงกับภาษาถิ่นเมืองสุวรรณเขต ประเทศลาว
ภาษาถิ่นที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันมีมากกว่าเจ็ดภาษา กลุ่มภาษายังประกอบไปด้วยภาษาอีสาน
กะเลิง ญ้อ ผู้ไทย ข่า (บรู) โซ่ และภาษาเวียดนาม (ในกลุ่มชาวเวียดนาม)
ตำนาน
มีตำนานที่อิงอยู่ในความเป็นมาและต้นกำเนิดของจังหวัดมุกดาหารคือ ตำนานแก้วมุกดาหาร
ตามตำนานสืบเนื่องด้วยเจ้าจันทรสุริยวงษ์และพรรคพวก ได้ตั้งอยู่ที่บ้านหลวงโพนสิมใกล้พระธาตุอิงฮังทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
เมื่อถึงแก่กรรมเจ้าจันทกินรีผู้เป็นบุตร ได้เป็นหัวหน้าปกครอง ต่อมาจนถึงปี
พ.ศ.๒๓๑๐ ได้มีนายพรานคนหนึ่งข้ามโขงมาทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงปากห้วยมุกได้พบเมืองร้าง
วัดร้าง และพบต้นตาลเจ็ดยอด อยู่ริมฝั่งโขงเห็นว่าเป็นทำเลดี เจ้ากินรีจึงได้พาพรรคพวกข้ามแม่น้ำโขง
มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุก ได้พบพระพุทธรูปสององค์ จึงได้สร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณวัดร้างให้ชื่อว่า
วัดศรีมุงคุณ (สรีมงคล) แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ไปประดิษฐานไว้ในวิหารของวัด
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ชาวเมืองได้ขนานนามว่า พระเจ้าองค์หลวง
ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กได้จมดินหายไป
ต่อมาในเวลากลางคืนมีผู้พบเห็นแก้วดวงหนึ่งสีสดใส เปล่งแสงเป็นประกาย ลอยออกจากต้นตาลเจ็ดยอดไปทางเขามโนรมย์
ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองทุกคืน เมื่อใกล้รุ่งจึงลอยกลับมาที่ต้นตาลเจ็ดยอดดังเดิม
เจ้าจันทกินรีจึงได้ขนานนามแก้วศุภนิมิตรดวงนี้ว่า แก้วมุกดาหาร
และเนื่องจากได้ตั้งเมืองอยู่ริมฝั่งโขงตรงปากห้วยบังมุก อีกทั้งได้มีผู้พบเห็นไข่มุกอยู่ในหอยกาบในลำน้ำโขงอีกด้วย
เจ้าจันทกินรีจึงให้ขนานนามเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า เมืองมุกดาหาร
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๓
การละเล่นพื้นบ้านนาฎศิลป์และดนตรี
การละเล่นพื้นบ้าน
ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันกับเมืองอื่น ๆ ในเขตภาคอีสานเช่น การเล่นหัวกะโหลก
การเล่นหมากบ้า (สะบ้า) หมากชิงทง (แย่งขวา) หมากวิ่งเปรี้ยว เล็งกลอง ขาโถกเถก
ฯลฯ
นาฎศิลป์และดนตรี มุกดาหารถือว่าเป็นแหล่งที่มีความงดงามทางด้านนาฎศิลป์และดนตรี
โดยเฉพาะลำผญาถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของมุกดาหาร นอกจากนี้ยังมีฟ้อนผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีอยู่ในเขตอำเภอคำชะอี
และอำเภอหนองสูง การแสดงโซ่ทังปัง อำเภอดงหลวง
ลำผญา
คำผญาเป็นภาษาชาวไทยอีสาน และชาวลาวที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งแม่น้ำโขง มีความหมายตรงกับคำว่าปัญญาหรือปรัชญา
คำผญา มีลักษณะเป็นคำกาบ คำสุภาษิตและคำพูดที่เป็นปริศนา ผู้ฟังต้องนำมาคิด
วิเคราะห์ ค้นหาคำตอบว่าผู้พูดคำผญานั้นหมายถึงอะไร
คำผญา เป็นคำพูดที่คล้องจองกัน ไม่มีกฎเกณฑ์การสัมผัส การพูดคำผญาจะเป็นท่วงที
ลีลาการพูด ความไพเราะของการพูดคำผญาขึ้นอยู่กับจังหวะและการบังคับเสียงหนักเบาของคำผญาด้วย
คำผญาเป็นการพูดที่ใช้ไหวพริบ สติปัญญา ใช้คำคม ทำให้เกิดอารมณ์ เป็นคำพูดสั้น
ๆ ที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจ
คำผญามีมานานกว่า ๓๐๐ ปี เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตของสังคม ซึ่งเป็นสังคมที่สงบสุข
มีความอุดมสมบูรณ์ มีเอกลักษณ์วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีอัธยาศรัยไมตรีเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
เมื่อพบกันจะมีปฏิสันถารไต่ถามทุกข์สุขด้วยคำผญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนุ่มสาวนิยมใช้คำผญาปฏิสันถาร
เกี้ยวพาราสีกัน คำพญาจะใช้พูดจาได้ทุกโอกาส
คำผญา แบ่งเป็นห้าประเภทคือ คำสอน ปริศนา ภาษิต เกี้ยวพาราสีทั่วไป และเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว
การฟ้อนผู้ไทย
เป็นศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่อของชาวผู้ไทย ซึ่งจะควบคู่ไปกับการลำผู้ไทย
การฟ้อนผู้ไทย อาจใช่หญิงล้วนหรือทั้งชายและหญิง ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อหาของท่าที่ฟ้อน
และจำนวนผู้ที่ฟ้อน ซึ่งอาจมีตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนถึงจำนวนเป็นรอ้ยคน
การแต่งกาย
ฝ่ายหญิงประกอบด้วย เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าสไบ ดอกไม้ ตุ้มหู สร้อยสังวาล และเข็มขัด
เสื้อฝ่ายหญิงเป็นเสื้อแขนกระบอกยาว หรือแขนสามส่วน สีคราม หรือดำ คอรัด หรือคอธรรมดา
ตรงปลายแขนหรือปลายคอเสื้อ อาจทำเป็นแถบสีหรือแถบผ้าขิดที่สวยงาม ผู้ที่ใส่วผ้าซิ่นที่แยกกัวบเสื้อ
จำเป็นต้องใส่เข็มขัด เช่น เข็มขัดนาค หรือเข็มขัดเงิน ผ้าสไบจำเป็นสำหรับฝ่ายหญิง
อาจเป็นผ้าขิด หรือผ้าถัก ใช้พากไหล่ซ้าย หรือพันเฉียงไหล่ซ้าย หรือคล้องคอ
นอกจากนี้ยังนิยมใช้ดอกไม้สดแซมผม มีตุ้มหู และสร้อยสังวาลย์
การแต่งกายของฝ่ายชาย นิยมใส่เสื้อม่อฮ่อมสีคราม หรือสีดำแขนสั้น กางเกงขาก๊วยสีเดียวกับเสื้อ
มีผ้าขาวม้าคาดเอว มีสร้อยสังวาลย์เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง
เครื่องดนตรี
ที่สำคัญได้แก่ แคน และกลองหาง นอกจากนี้อาจมีพิณ กระจับปี่ ซอ ปี่ หมากกลิ้งกล่อม
(โปงลาง) กลองตุ้ม ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และพังฮาดู (ผ่าง) เป็นต้น
เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ
ไม่มีกำหนดแน่นอน แต่ส่วนใหญ่เป็นเพลงแคนลายผู้ไทยน้อย การบรรเลงจะมีการขับร้องหรือไม่มีก็ได้
โซ่ทั่งปั้ง
เป็นของชาวโซ่ อำเภอดงหลวง แสดงในโอกาสที่เป็นงานใหญ่ ๆ เช่น งานแต่งงาน หรืองานบุญ
การเลี้ยงผีบ้านผีเรือน
การแสดงโซ่ทั่งปั้ง (ทั่ง แปลว่า กระทุ้ง ปั้ง แปลว่า กระบอกไม้)
ถือว่าเป็นการแสดงที่สำคัญที่สุด และเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ มีวิธีการไม่ซับซ้อน
เดิมใช้ผู้ชายล้วน ๆ จำนวน ๖ - ๑๐ คน แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้เล่นดนตรี ขับร้อง
และแสดงท่าฟ้อนรำ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวโซ่โดยตรง
เครื่องดนตรี
มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด ๑.๕ เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี
กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ
และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน
เครื่องแต่งกาย
เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วน จะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ
มีอาวุธ เช่นหน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดง
และมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน
ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอก มีผ้าโผกหัว
การแสดง
เริ่มจากการมีพิธีกรรมด้วยการทำกระทงเซ่นผี ในกระทงประกอบด้วยดอกไม้ขาว เทียน
ข้าวดำ ข้าวขาว หมาก พลู บุหรี่ และที่สำคัญ จะต้องมีตุ๊กตาที่ทำจากกาบกล้วย
เหล้าไห (อุ) กระทงเครื่องบูชาผีบ้านผีเรือน จากนั้นเจ้าพิธีคือหัวหน้านางเทียมก็จะเริ่มพิธีด้วยการกล่าวสรรเสริญ
เชิญรุกขเทวดาลงมาร่วมเล่นพิธีด้วยกัน พร้อมทั้งมีการขับลำเป็นภาษาโซ่ จากนั้นก็มีการแจกจ่ายเหล้าให้กับนางเทียมทั้งสองข้างเพื่อเข้าทรง
จึงมีการฟ้อนรำท่าต่าง ๆ ของนางเทียมที่ลุกขึ้นรำเป็นวงกลมจำนวนสามรอบ และกลับมานั่งยังที่เดิม
นางรำและหนุ่มโซ จะเริ่มพิธีการส่งผีที่มาร่วมเล่นโดยการกระทงทั้งสองไปวนรอบ
ๆ ผู้เล่น เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ผู้เล่นอยู่เย็นเป็นสุขในขณะที่ผ่านไปแต่ละรอบจะมีการขว้างชันป่นใส่กระทงที่จุดไฟ
จะเกิดเป็นเปลวไฟลุกไหม้ จำนวนสามรอบถือเป็นสิ้นสุดพิธี
|