www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
บุคคลสำคัญ
บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์
มีบุคคลหลายท่านที่ควรกล่าวยกย่องจารึกคุณงามความดีไว้ เพราะได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหาร พอประมวลได้ดังนี้
พระยาศศิวงษ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา)
เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ บรรพบุรุษของท่านเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร ถึงสามคน บิดาของท่านเป็นบุตรเจ้าเมืองในลำดับที่สาม
ท่านเริ่มเข้ารับราชการเป็นกรมการเมืองชั้นผู้น้อย ได้รับหมายตั้งเป็นท้าวสุวรรณสาร
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๒๒ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นราชบุตรเมืองมุกดาหาร เป็นผู้คุมกำลังเมืองมุกดาหารไปรักษาด่านทางป้องกันทัพญวน
ซึ่งพ่ายแพ้แก่ฝรั่งเศส และหลบเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในเขตเมืองวัง เมืองเซโปน
ชายแดนเมืองมุกดาหาร ติดต่อกับชายแดนเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๕ เคยเป็นนายกองคุมกำลังเมืองมุกดาหารไปปราบฮ่อ
ที่ทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน) จนได้รับพระราชทาน
เหรียญปราบฮ่อ เคยคุมกำลังเมืองมุกดาหาร ไปต่อสู้กับกำลังฝ่ายฝรั่งเศส
ที่ยกมายึดเอาดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาวปัจจุบัน) เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๖
ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ ว่าที่ (รักษาการ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร
ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้เดินทางมายังกรุงเทพ ฯ เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าเมืองมุกดาหาร
พร้อมทั้งได้นำส่วย และเครื่องราชบรรณาการ มีต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ไปทูลเกล้า
ฯ ถวาายด้วย เป็นการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นได้มีการยกเลิกประเพณีดังกล่าว
ในครั้งนั้นได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระจันทรเทพสุริยวงษา
เจ้าเมืองมุกดาหาร
ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ เมื่อมีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง เปลี่ยนเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง
ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น จางวาง ที่ปรึกษาราชการเมืองมุกดาหาร รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี
ๆ ละ ๕๐๐ บาท
ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอำมาตย์เอกพระยาศศิวงษ์ประวัติ
ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ไร่ ในตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดนครพนม
ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานนามสกุล จันทรสาขา
ท่านถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ รวมอายุได้ ๗๒ ปี
พระภักดีนุชิต หรือพระยากำแหงสงคราม (จันทร
อินทรกำแหง) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙
เป็นบุตรพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ เข้ารับราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวรเดช
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระภักดีนุชิตร ผู้ช่วยราชการเมืองนครราชสีมา
ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น ข้าหลวงประจำเมืองมุกดาหาร
ปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ ปลัดเมืองนครราชสีมา
จึงได้เดินทางโดยทางเรือตามลำน้ำโขง เพื่อเดินทางไปยังเมืองหนองคาย และไปยังบ้านหมากแข้ง
(อุดรธานี) ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑล แต่ถูกฝรั่งเศสจับกุมที่บ้านหนองเดิน
เขตเมืองบึงกาฬ โดยถูกกล่าวหาว่านำกองทหารไทย ล่วงล้ำเข้าไปในเขตของลาว ซึ่งเป็นการผิดสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ม่านถูกฝรั่งเศสมากักขังไว้ที่เมืองสุวรรณเขตเป็นเวลา หกเดือน ได้ลักลอบเขียนจดหมายมากราบทูล
พระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอยู่ตลอดเวลา
และในวันขึ้น สิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นวันที่ข้าราชการกรมการเมือง
ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ท่านได้ขออนุญาตต่อฝรั่งเศส
เพื่อมาเข้าพิธี แต่ฝรั่งเศสไม่ยินยอม กรมการเมืองมุกดาหารจึงได้นำน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไปให้ท่านดื่ม
ท่านได้นั่งคุกเข่า บ่ายหน้าต่อกรุงเทพ ฯ ถวายบังคม แล้วจึงดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
เมื่อฝรั่งเศสนำตัวท่านมามอบให้ ข้าหลวงต่างพระองค์ ฯ แล้ว ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพ
ฯ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานสัญญาบัตร
เป็น พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา และได้รับพระราชทานเงินบำรุงขวัญเป็นเงิน
๕๐ ชั่ง
ปี พ.ศ.๒๔๔๕ ได้รับพระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์เป็น นายพันเอก
พระยากำแหงสงคราม
ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชั้นที่ ๓ ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมา
ตำแแหน่งสุดท้ายของท่าน คือ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา และถึงแก่กรรม เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๐
นายพันตรี แย้ม ภมรมนตรี (พระชำนาญคุรุวิทย์)
เป็นบุตรพระยามณเฑียรบาล (บัว) เข้ารับราชการเป็นทหารม้า ในกรมทหารม้ามหาดเล็ก
เคยไปราชการสงครามปราบฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ (ทุ่งไหหิน) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘
กลับมาได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยโท ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปศึกษาวิชาการทหาร
ณ ประเทศเยอรมัน ได้สมรสกับสตรีเยอรมัน เมื่อจบการศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ และทหารช่างแสงแล้ว
ได้เดินทางกลับประเทศไทย พร้อมภรรยาที่เป็นแพทย์หญิง
ปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้รับพระราชทานยศเป็น นายพันตรี และได้มาประจำอยู่ที่เมืองหนองคาย
พร้อมภรรยา
ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสยกกำลังบุกรุกเข้ามาในดินแดนลาว ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
นายพันตรี แย้ม ได้ยกกำลังทหารไทยมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองมุกดาหาร บริเวณที่ตั้งจวนผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบัน
ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ในเวลาต่อมาว่า ค่ายนายพันตรีแย้ม
ท่านได้นำกำลังทหารไทย และกำลังเมืองมุกดาหาร ยกข้ามโขงออกไปต่อสู้กับฝรั่งเศส
ที่เมืองเชียงฮ่ม ผาปัง เมืองวัง เมืองเซโปน จนมีคำสั่งทางกรุงเทพ ฯ ให้ถอนกำลังกลับ
ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นทูตฝ่ายทหาร ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน และกลับมารับราชการเป็น
อาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้าย เป็น นายพันตรี
พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี)
อำมาตย์เอก พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ หรือพระยาพิลัยอุดรกิจ
(อาบ สุวรรณทัต) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔
เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียน ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายรองสุจินดา และได้เป็นข้าหลวงประจำเมืองสกลนคร
ปี พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอุดร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
ปี พ.ศ.๒๔๔๑ เป็นผู้รักษาการข้าหลวงประจำเมืองมุกดาหาร
ปี พ.ศ.๒๔๔๓ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระพิสัยอุดรกิจ และเป็นผู้รั้งตำแหน่งข้าหลวงบริเวณธาตุพนม
มีอำนาจปกครองเมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี และเมืองมุกดาหาร
ปี พ.ศ.๒๔๔๕ เกิดมีผีบุญในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ในภาคอีสานหลายเมืองและในเมืองสุวรรณเขต
ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของลาว ก็มีผีบุญเกิดขึ้น และยกกองทัพเข้ามายึดเมืองสุวรรณเขต
จนฝรั่งเศสต้องเข้ามาปราบปราม ท่านจึงต้องมาตั้งกองบัญชาการข้าหลวงประจำอยู่
ณ เมืองมุกดาหาร
ปี พ.ศ.๒๔๔๖ ท่าได้เป็นปลัดมณฑลนครราชสีมา ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น
พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์
ปี พ.ศ.๒๔๕๐ ท่านได้ปลัดมณฑลปราจีนบุรี
ปี พ.ศ.๒๔๕๑ ท่านได้เป็นปลัดมณฑลอิสานประจำจังหวัดร้อยเอ็ด
หลวงทรงสราวุธ หรือพระยาสมุทรศักดารักษ์
(เจิม วิเศษรัตน์) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔
บรรพบุรุษของท่านเป็นชาวยุโรปเชื้อชาติโปรตุเกส ที่อพยพมาตั้งรกรากในไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ท่านนับถือคริสตศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก รับราชการเป็นมหาดเล็กวรเดช ได้ออกมาประจำอยู่กับข้าหลวงต่างพระองค์
สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ ณ เมืองหนองคาย ตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๓๔
ปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงทรงสราวุธ
ปี พ.ศ.๒๔๔๔ เป็นสารวัตรไปรษณีย์ไทรเลขมณฑลอุดร
ปี พ.ศ.๒๔๕๐ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองมุกดาหารคนแรก เนื่องจากทางราชการเห็นว่า
ท่านนับถือศาสนาคริสต์ และมีความรู้ในภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี เมืองมุกดาหารกำลังมีปัญหากระทบกระทั่ง
ระหว่างบาทหลวงศาสนาคริสต์ และฝรั่งเศสในฝั่งลาวอยู่เนือง ๆ
ปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระบริหารราชอาณาเขต
ตำแหน่งนายอำเภอเมืองมุกดาหาร
ปี พ.ศ.๒๔๕๘ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
ปี พ.ศ.๒๔๖๓ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
เป็นพระยาสมุทรศักดารักษ์
ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ไร่ (จังหวัดสมุทรสงครามมีปัญหาเรื่องศาสนาคริสต์
เช่นกัน)
ปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๒ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
หลวงผดุงนิคมเขต หรือพระปทุมเทวาภิบาล (เยี่ยม
เอกสิทธิ) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓
ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนมหาดไทย มณฑลกรุงเก่า
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓
พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นปลัดอำเภอกรุงเก่า
พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นนายอำเภอเมืองมุกดาหาร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น
หลวงผดุงนิคมเขต
พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นปลัดจังหวัดหนองคาย
พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
เป็น อำมาตย์เอก พระปทุมเทวาภิบาล
พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพระนคร - ธนบุรี
พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นอธิบดีกรมมหาดไทย (กรมการปกครอง)
ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี เดิมบรรพบุรุษของท่านนับถือศาสนาคริสต์
แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น นายอำเภอมุกดาหาร
และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองชายแดน มักมีปัญหาเรื่องศาสนาและการติดต่อประสานงานกับข้าราชการฝรั่งเศส
ซึ่งปกครองเมืองลาวอยู่ในขณะนั้น
รองอำมาตย์เอก หลวงวิวิธสุรการ (ถวิล
เจียรมานพ) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘
ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนที่จังหวัดระยอง เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๔
พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นเสมียนอัยการมณฑลอุดร
พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นปลัดฝ่ายขวาอำเภอวังสะพุง
พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นนายอำเภอมุกดาหาร
พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นปลัดจังหวัดนครพนม
พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดเลย
พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดอุดรธานี
พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นรองอธิบดีกรมมหาดไทย (กรมการปกครอง)
ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
รองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์
จันทรสาขา) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖
ที่เมืองมุกดาหาร เริ่มเข้ารับราชการในสำนักงานผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ รับเงินเดือนครั้งแรก ๑๐ บาท
พ.ศ.๒๔๔๖ เคยตามเสด็จข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอุดร (อีสานเหนือ)
ไปปราบปรามพวกเงี้ยว หรือกุลา ที่ก่อการจลาจลที่ทุ่งหมากเฒ่า
เขตเมืองหนองสูง
ขึ้นเมืองมุกดาหาร
พ.ศ.๒๔๕๐ เป็นปลัดซ้าย อำเภอมุกดาหาร
เงินเดือน ๕๐ บาท
พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นปลัดขวา
อำเภอมุกดาหาร เงินเดือน ๘๐ บาท และได้รับประทวนตราพระราชสีห์ ตั้งเป็นขุนมุกดากิจโกศล
พ.ศ.๒๔๖๑ เป็นนายอำเภอธาตุพนม และได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็น รองอำมาตย์ตรี
ขุนพิทักษ์พนมเขต
พ.ศ.๒๔๘๑ ออกรับพระราชทานบำนาญ
จอมพลสฤษด์ ธนรัชต์
เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นบุตร นายพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี
ธนะรัชต์) เป็นชาวมุกดาหาร ท่านได้อยู่กับแม่ และยาย ที่มุกดาหาร จนอายุได้
๗ ขวบ บิดาของท่านได้เดินทางมาราชการที่เมืองมุกดาหารอีกครั้งหนึ่ง แลขอรับท่านไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพ
ฯ
ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม และชั้นมัธยม ตามหลักสูตรในสมัยนั้น
ซึ่งบิดาของท่านก็เป็นอาจารย์ของโรงเรียนนายร้อยทหารบกอยู่ด้วย ท่านออกรับราชการเป็นนายทหาร
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
ในชีวิตราชการของท่านเคยออกศึกสงครามในยุทธภูมิสนามรบ ป้องกันอริราชศัตรูหลายครั้งหลายหน
รักษาความสงบของบ้านเมือง เทิดทูนพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ ทำการปฏิวัติเพื่อปรับปรุง
และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ท่านได้ดำรงตำแหน่งทางทหารเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
และอธิบดีกรมตำรวจ ได้รับยศสูงสุดเป็นจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ และพลตำรวจเอก
ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ที่น้อยคนนักจะได้รับคือ เสนางคบดี
และนพรัตนราชวราภรณ์
ตำแหน่งสูงสุดสุดท้ายของท่านคือนายกรัฐมนตรี ท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
รวมอายุได้ ๕๕ ปี
|