www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
วัดพระศรีมหาโพธิ (วัดโพธิศรี)
อยู่ที่บ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ เดิมชื่อวัดโพธิศรี
ภายในบริเวณวัดมีสถาปัตยกรรมที่งดงามคือ สิมเก่า
สร้างเมื่อปี พงศ.๒๔๕๙ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตัวสิมตั้งอยู่บนฐานเตี้ย
มีระเบียงยื่นออกมาด้านหน้า ที่บันไดขึ้นทางด้านหน้าด้านเดียว หลังคาลดชั้น
เดิมเป็นหลังคาไม้มุงกระเบื้อง ผนังด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างแบ่งเป็นสองช่วง
ช่วงหน้าก่อทึบเฉพาะด้านล่าง มีหน้าต่างไม้อยู่ด้านบนสองบาน ช่วงหลังมีหน้าต่างซึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม
ใส่ลูกมะหวดด้านละ ๑ ช่อง อาจจะทำไว้เพื่อให้แสงสว่างเพิ่มมากขึ้น ช่องเล็กนี้ที่ผนังด้านนอกมีปูนปั้น
ด้านทิศเหนือทำเป็นรูปราหูอมจันทร์ ซึ่งพระจันทร์คือ ช่องเล็กที่เจาะเป็นรูวงกลม
ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นรูปไก่ อยู่เหนือซุ้ม ซึ่งเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม คันทวยเป็นรูปนาค
หน้าบันและคานเป็นไม้สลักลายดอกไม้ ประดับประจก คานไม้สลักลายดาว เดิมประดับกระจกเช่นกัน
ภายในสิม มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดก มีอักษรลาวเขียนไว้ ที่ภาพผนังด้านทิศเหนือ
มีภาพชูชกอยู่บนต้นไม้ ผนังด้านทิศใต้แบ่งเป็นสองตอน ตอนบนแสดงภาพตอนรับพระเวสสันดร
พระนางมัทรี กัณหา และชาลีกลับเข้าสู่กรุงสญชัย
วัดมโนภิรมย์
อยู่ที่บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ เดิมเรียกว่า วัดบ้านชะโนด
ตามหลักฐานจารึกบอกว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ พร้อมกับการตั้งบ้านชะโนด
และเมืองมุกดาหาร ท้าวคำสิงห์ และญาติพี่น้องได้สร้างวัดแห่งนี้ ณ บริเวณปากห้วยชะโนด
ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง
วิหาร มีลักษณะเป็นอาคารใหญ่ก่ออิฐถือปูน
มีหลังคาชั้นเดียว เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีหน้าจั่วแหลมชัน และงอนขึ้น
มีซุ้มประตูด้านหน้าหนึ่งซุ้ม ประดับด้วยลายปูนปั้นอันวิจิตรตระการตา เป็นรูปหน้ากาล
นาคหลายเศียร และนกในเทพนิยาย มีความอ่อนช้อยงดงามวิจิตรพิสดาร
หน้าบัน เป็นไม้สลักลายต่าง ๆ ระบายสีที่เสา และผนัง ด้านข้างวิหารมีคันทวยไม้สลักลายดอกไม้
ลายเมฆ ระบายสีสวยงาม มีบันไดทางขึ้นวิหาร ห้าทางคือ ทางด้านหน้า หนึ่งทาง
เป็นประตูสำคัญ บานประตูเป็นไม้หนามีขนาดใหญ่มาก เหนือประตูเป็นหน้าบันอยู่ใต้ซุ้มปูนปั้นขนาดใหญ่
มีทางขึ้นวิหารด้านละสองทาง ราวบันไดทางขึ้นวิหารทั้งด้านซ้ายและขวา เป็นปูนปั้นรูปสัตว์ผสม
ระหว่างมังกร ปลา สิงห์ และยักษ์ มีเศษแก้วประดับ
หน้าต่างมีเฉพาะที่ผนังด้านข้าง โดยเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมใส่ลูกกรงกลึง ที่เรียกว่า
ลูกมะหวด ข้างละสามช่อง ผนังภายนอกด้านหน้าวิหารมีภาพจิตรกรรมเก่า แต่ภาพเลือนไปมากแล้ว
ภายในวิหารประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับวิหาร
วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
อยู่บนภูมโนรมย์ ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ติดกับอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร
เป็นวัดเก่าแก่ เป็นโบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร
วัดศรีมณฑา
อยู่ที่บ้านคำฮี ตำบลโพนทราย อำเภอเมือง ฯ มีหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ที่งดงามมาก
สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคาสี่เหลี่ยมย่อมุม มุงกระเบื้องตกแต่งครอบหลังคา
ลวดลายพญานาค เสาทำด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ มี ๕๒ ต้น หน้าบัน และแป้นซ้ายเป็นไม้แกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษา
หัวเสาแต่งด้วยลายบัวคว่ำบัวหงาย สร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)
อยู่ที่บ้านดอนตาล ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ได้รับการฟื้นฟูบูรณะ
สมัยพระอาจารย์เถื่อน เป็นเจ้าอาวาส ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๘ - ๒๔๘๒
วัดนี้มีสิมอันงดงามเป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นของจังหวัด และบนศาลาการเปรียญ
มีธรรมาสน์ไม้หลังหนึ่งเป็นหอไม้สองชั้น นอกจากนี้บนหอกลางของวัด ยังเก็บรักษากลองมโหระทึกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไว้ด้วย
สิม สร้างตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๖๕ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตก
หลังมุงสังกะสี รอบ ๆ สิมมีเสาเสมาหินสมัยทรวรวดีปกอยู่ เป็นหลักฐานแสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชนละแวกนี้
สอดคล้องกับที่พบโบราณวัตถุ จำนวนมากที่แหล่งนายกองคูณ
วัดนรวราราม
อยู่ที่บ้านหนองโอ ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง ในวัดมีสิมก่อผนังดินจี่ (ก่ออิฐ)
ฉาบปูนขาวประดับตกแต่งเครื่องบนหลังคาด้วยไม้แกะสลัก ฝีมือช่างวิจิตรงดงามแพรวพราว
ทั้งตัวช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และยอดฟ้า (ปราสาท ที่อยู่ตอนกลางบนสันหลังคา)
รวมทั้งมีการเขียนลายไม้บนชายคาด้วย
สิมหลังเดิมของวัด เป็นสิมไม้ขนาดเล็ก มุงด้วยหญ้าคา แล้วเปลี่ยนเป็นมุงด้วยกระเบื้องไม้
ฝาผนังไม้ โครงสร้างของสิมผูกมัดด้วยหวายทั้งหมด มีพระประธานปูนปั้นฝีมือช่างพื้นบ้าน
ต่อมาสมัยพระครูสมนา ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ข้ามมาจากเมืองท่าแขก ประเทศลาว ได้มาเป็นเจ้าอาวาสจึงได้เริ่มชักชวนชาวบ้าน
สร้างสิมใหม่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ก่ออิฐถือปูนขาว คือ สิมหลังปัจจุบัน
วัดพิจิตรสังฆาราม
อยู่ที่บ้านโนนยาง ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นวัดที่มีของเก่าที่น่าสะสมไว้คือ
ธรรมาสน์เสาเดียว ซึ่งตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ
ธรรมาสน์เสาเดียว เท่าที่พบแล้วมีเฉพาะวัดในชุมชนหมู่บ้านของชาวผู้ไทย เพียงสองแห่งคือ
วัดบ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และที่วัดพิจิตรสังฆาราม
ธรรมาสน์เสาเดียว
เป็นธรรมาสน์ที่สร้างขึ้นให้ตั้งอยู่บนเสาไม้หนึ่งต้น ไม้ที่นำมาใช้ทำเสา
และส่วนประกอบอื่น ๆ เป็นไม้เนื้อแข็ง แบ่งความสูงของธรรมาสน์ออกเป็นสามส่วน
ส่วนที่หนึ่งเป็นฐาน มีคันทวยแกะสลักเป็นรูปพญานาคสี่ตัว วางไว้สี่ทิศ เป็นแขนนาง
ทำหน้าที่รับน้ำหนักของธรรมาสน์ ส่วนที่สอง เป็นชั้นธรรมาสน์ห้องสี่เหลี่ยมจตุรัส
มีหน้าต่างสามบาน บานประตูหนึ่งบาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายหน้าต่าง ส่วนที่สามเป็นหลังคาธรรมาสน์
สร้างเป็นเก๋งห้าชั้น ลดหลั่นขึ้นไปถึงยอดสูงสุด
การตกแต่งเสาธรรมาสน์ แขนนาง ผนังภายนอก ภายใน และหลังคาเก๋งห้าชั้น แกะสลักลายกนก
แล้วลงรัก ตกแต่งด้วยกระจกสี
วัดถ้ำพระภูผาปอง
อยู่ที่บ้านขัวสูง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง เดิมเป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่แต่โบราณ
ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมามีว่า ถ้ำแห่งนี้มีพระพุทธรูปอยู่ห้าองค์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านเป็นอย่างมาก
และเคยมีผู้มาสำรวจพบว่า มีตัวอักษรขอมอยู่ภายใต้ฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่
แปลได้ความว่า "หมื่นชัยสุทธิสาร"
ในเขตวัด มีเจดีย์ อุทัยรัตนเจดีย์ ตั้งอยู่บนยอดเขา
|