www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในเขตจังหวัดนครนายก ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว
จากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านห้วยกรวด
ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา พบโกลนขึ้นรูปขวานหินทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่า ขวานหินขัด
สะเก็ดหิน เศษภาชนะดินเผา เครื่องปั้นดินเผาขนาดเล้ก หินลับและลูกปัดที่บ้านเขาเพิ่ม
ตำบลเขาเพิ่ม อำเภอบ้านนา พบเครื่องมือหินขัด พบเครื่องมือหินขัดจำนวนมาก
กำไลหิน ขวานสำริด มี บ้อง และหินลับ
บริเวณริมคลองบ้านนา พบหลักฐานโบราณคดีในบ่อดูดทราย เป็นขวานหินขัดประมาณ
๒๐๐ ชิ้น และขวานสำริด ๒ ชิ้น เครื่องมือหินขัดมีสองแบบคือ แบบมีบ่า และแบบไม่มีบ่า
ส่วนโครงกระดูกของเจ้าของเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว พบระหว่างการดูดทรายเช่นกัน
ริมคลองบ้านนา
ตามหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่า เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนย้ายมาอาศัยอยู่ที่บริเวณริมคลองบ้านนา
ซึ่งเป็นการตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบริมน้ำ เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่คนในยุคนั้นเรียนรู้การเพาะปลูก
กลุ่มคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนบริเวณเขาเพิ่ม
และบริเวณบ้านห้วยกรวด อาจมีการติดต่อกับแหล่งโบราณคดีบึงไผ่ดำ อำเภบางน้ำเปรี้ยว
จังหวัดฉะเชิงเทรา และแหล่งโบราณคดีบ้านโคกพนบดี โคกพุทธา อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
กลุ่มชนกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่ต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
เมืองโบราณดงละคร
เมื่อประมาณพุทธสตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาสู่พื้นที่ราบลุ่มบริเวณตำบลดงละคร
อำเภอเมือง ฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เมืองลับแล
เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองนครนายกปัจจุบัน ไปทางทิศใต้ประมาณ
๓ กิโลเมตร
ลักษณะเมืองเป็นรูปกลมรี ตั้งอยู่บนเนินสูง ประมาณ ๑๐ - ๓๕ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
ขนาดประมาณ ๕๕๐ x ๖๕๐ เมตร มีประตูทั้งสี่ทิศ พื้นที่รอบ ๆ สูงประมาณ ๓ เมตรจากระดับน้ำทะเล
เป็นพื้นที่เนินใหญ่สามารถรองรับการตั้งถิ่นฐาน และการขยายตัวของชุมชน คูเมืองกว้าง
๔๐ - ๕๐ เมตร ลึก ๑๐ - ๑๕ เมตร การขุดคูเมืองแสดงถึงการรู้ระบบเก็บกักน้ำ
และชักน้ำเข้าแนวคูนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะแนวลำน้ำโบราณที่ผ่านทางตะวันออก
และตะวันตก ของดงละครนั้นให้ประโยชน์เพียงพอแก่การเกษตรกรรม และการคมนาคม
ชื่อเมืองโบราณดงละครนั้น สันนิษฐานว่ามาจาก คำว่า ดงนคร หมายถึง ป่ารกร้างที่เคยเป็นเมืองมาก่อน
มีร่องรอยสิ่งก่อสร้างคูน้ำคันดินไว้ป้องกันข้าศึก ต่อมาเมื่อมีศึกใหญ่ ผู้คนได้อพยพทิ้งเมืองไป
ทิ้งข้าวของเครื่องใช้ไว้
โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะทางทิศตะวันออก พบเศษเครื่องปั้นดินเผา
เครื่องถ้วยเปอร์เซีย ที่ชุมชนโบราณ ที่บ้านโคกกระโดน อำเภอปากพลี อยู่ห่างจากตัวเมืองนครนายกประมาณ
๘ กิโลเมตร แสดงว่าเมืองโบราณดงละครได้ติดต่อสัมพันธ์การค้ากับจีน และเปอร์เซีย
นอกจากนั้นสันนิษฐานว่า บนฝั่งตะวันตกของคลองปากพลี ก็เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยกับเมืองโบราณดงละคร
เมืองโบราณศรีมโหสถ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองโบราณพระรถ อำเภอพนัสนิคม
จังหวัดชลบุรี
ตามหลักฐานทางโบราณคดีสรุปได้ว่า เมืองดงละคร ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล
สามารถติดต่อกับชุมชนใกล้เคียงทางน้ำสายเล็ก ๆ ผ่านแม่น้ำบางปะกง แล้วออกสู่ทะเล
มีพัฒนาการและมีอายุร่วมสมัยกับเมืองโบราณอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำดังกล่าว โดยติดต่อสัมพันธ์กับเมืองเหล่านั้นมาตั้งแต่สมัยทวารวดี
หรือก่อนนั้น เช่น ชุมชนกลุ่มเครื่องเคลือบตามเตาเผาบุรีรัมย์ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๙ นำวัตถุดิบจากลพบุรีมาหลอมทำสำริดที่เมืองโบราณดงละคร และติดต่อรับเอาพุทธศาสนาจากอินเดีย
โดยได้พบพระพุทธรูปสำริดศิลปะอินเดีย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ -
๑๔ ซึ่งพ่อค้าหรือผู้เผยแผ่ศาสนาจากอินเดีย
นำเข้ามา
นอกจากนั้นยังพบเขตสังฆกรรมที่บริเวณตะวันตกนอกเมืองโบราณดงละคร โดยใช้หินทรายปักเป็นเขตแบบใบเสมา
เมืองนครนายก
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีชุมชนที่กระจายอยู่บริเวณใกล้เคียง มีการติดต่อกับเมืองโบราณดงละคร
ได้แก่ ชุมชนบริเวณแม่น้ำนครนายก บ้านพรหมณี
อำเภอเมือง ฯ ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ชุมชนบริเวณวัดท่าแดง
ริมคลองท่าแดง ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ
๘ กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำนครนายกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ กิโลเมตร
เมืองนครนายกเป็นเมืองโบราณที่มีอายุสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายก
ห่างจากเมืองดงละครมาทางเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีร่องรอยปรากฏดังนี้
กำแพงเมืองทั้งสามด้าน
คือ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตกและด้านเหนือ ไม่มีด้านใต้ อาจเป็นเพราะใช้แม่น้ำนครนายกเป็นปราการธรรมชาติ
แนวกำแพงเมืองเริ่มจากแม่น้ำนครนายก ที่วัดโพธินายก ไปจรดแม่น้ำนครนายกทางเหนือที่วัดศรีเมือง
กำแพงเมืองมีสองชั้น ชั้นนอกเป็นกำแพงดิน ชั้นในเป็นกำแพงอิฐ พื้นที่ภายในเมืองประมาณ
๒๐๐ ไร่
คูเมือง
เป็นคูที่ขุดเชื่อมต่อยาวในแนวตะวันออกถึงตะวันตก ขนานกับแม่น้ำนครนายก ปลายคูทั้งสองข้างคดเคี้ยว
เบนเข้าเชื่อมกับคุ้งน้ำนครนายก ในบริเวณที่เป็นโค้งแม่น้ำอ้อม ทำให้เมืองนครนายกโบราณมีสภาพเป็นเกาะขนาดใหญ่
ที่มีคุ้งแม่น้ำโอบล้อมทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกอาศัยคูน้ำที่ขุดขึ้น
ที่มาของชื่อเมืองนครนายก
มีที่มาแตกต่างกันคือ
การยกค่านา
มีคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ชื่อเมืองนครนายกมาจากนโยบายของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต
ที่ทรงสนับสนุนให้ราษฎรเข้ามาหักร้างถางพง บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า แล้วโปรดเกล้า
ฯ ให้ยกเว้นการเก็บอากรค่านา จึงเรียกเมืองนี้ว่า เมืองนายก
ภายหลังเปลี่ยนเป็น
นครนายก
มาจากคำว่า สมุหนายก
เนื่องจากในสมัยอยุธยา เมืองนี้อยู่ในการควบคุมของสมุหนายก
มาจากคำขอมโบราณว่า โกระยก
หมายถึง แผ่นดินที่หาเอามา เมื่อนานเข้าคำดังกล่าวได้เพี้ยนเป็นนครนายก
มาจากบ้านนา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า เป็นชื่อที่เขมรตั้งสำหรับบ้านนา
และยังมีพระราชกระแสว่า
ชื่อนครนายกเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต
นครนายกในประวัติศาสตร์
พอประมวลเรื่องราวได้ดังนี้
เมืองบนเส้นทางยุทธศาสตร์
เมืองนครนายกเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการติดต่อทางบก ระหว่างอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
กับหัวเมืองทางตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือและอาณาจักรกัมพูชา เนื่องจากนครนายกเป็นเขตที่ราบติดต่อระหว่างลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
กับแม่น้ำบางปะกง เป็นเส้นทางบกที่สะดวกกว่าทางบกสายอื่น
เขมรอาศัยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดินทัพมากรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา
หลังเสียกรุงครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๑๒
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ สันนิษฐานว่า เดินทัพผ่านไปทางนครนายก
แหล่งกำลังพลและเสบียงในการศึกสงคราม
ในปี พ.ศ.๒๑๑๖ เมื่อพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ
เจ้าเมืองนครนายก ได้ทำหน้าที่ในการรักษาพระนครร่วมกับกำลังจากหัวเมืองอื่น
ๆ
ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปตีเขมรเป็นครั้งแรก ได้ประสบปัญหาขาดแคลนเสบียงอาหาร
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๖ ทรงยกทัพไปตีเขมรอีก ครั้งนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยานครนายกเป็นแม่กองใหญ่
พร้อมด้วยพระยาปราจีน พระวิเศษ (เจ้าเมืองละแวก) และพระสระบุรี คุมพลหนึ่งหมื่นไปตั้งค่ายเตรียมเสบียงอาหาร
มีการขุดคูปลูกฉางถ่ายลำเลียงไว้ที่ค่ายพระทำนบ
(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอวัฒนานคร)
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๓ ทรงยกทัพไปช่วยเชียงใหม่
ปรากฏว่าเมืองนครนายกได้ทำหน้าที่เกียกกายในกองทัพ มีพระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาท้ายน้ำเป็นนายกอง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) เจ้าฟ้าเมืองหลวงพระบาง
ได้เข้ามารุกรานพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแห่งล้านช้าง พระยานครนายกได้รับแต่งตั้งให้เป็นเกียกกาย
มีพระยานครราชสีมาเป็นแม่ทัพไประงับศึก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีปัญหาเกี่ยวกับลาว เขมร และญวน ได้ใช้นครนายกเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงเช่นกัน
ในปี พ.ศ.๒๓๘๓ ไทยเตรียมทำศึกกับญวน ที่มีข่าวว่าจะยกมีตีพระตะบอง และเสียมราฐ
ได้เกณฑ์พลจากนครนายกเข้าร่วมในกองทัพด้วย
แหล่งช้าง
นครนายกเป็นเมืองที่มีช้างชุกชุมตั้งแต่อดีตถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เคยเป็นท่าข้ามของโขลงช้างมาแต่โบราณ
จากดงละครไปยังทุ่งอำเภอบ้านนา และในปี พ.ศ.๒๒๖๔ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ได้เสด็จไปไล่ช้างเถื่อนที่นครนายก
ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ข่าวมีช้างเผือกลูกโขลงอยู่ที่นครนายก
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา ฯ เสด็จขึ้นไปเป็นแม่กองตรวจโพน
(การไล่จับช้างทีละเชือก)
ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่ามีช้างเผือกอยู่ในโขลงหลวงเชือกหนึ่งที่นครนายก
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปก (ต้อน) ช้างโขลงนั้นเข้ามาคล้องช้างหน้าพระที่นั่งที่เพนียดอยุธยา
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเกี่ยวกับช้างที่นครนายกว่า มีช้างเถื่อนบริเวณทุ่งหลวง
ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนครนายกถึงทุ่งบางกะปิ
โดยเฉพาะเมื่อมีการขุดคลองรังสิต และคลองสายต่าง ๆ ช้างเถื่อนเหล่านั้นได้หนีไปอยู่บริเวณทุ่งหลวงแถบนครนายกเป็นจำนวนมาก
เมืองหน้าด่านและเมืองลูกหลวง
เมืองนครนายกเป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศตะวันออก มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
โดยมีเมืองพระประแดง เมืองสุพรรณบุรีและเมืองลพบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศใต้
ทิศตะวันตก และทิศเหนือตามลำดับ การปกครองเมืองดังกล่าวเป็นแบบเมืองลูกหลวง
ซึ่งได้ปฎิบัติกันมาจนยกเลิกไปในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จากนั้นได้มีการแบ่งเมืองเป็นชั้น
ๆ แทนโดยที่เมืองที่ตั้งอยู่รอบ ๆ ราชธานีจะเป็นเมืองชั้นจัตวา ขึ้นกับเจ้ากระทรวงต่าง
ๆ ในราชธานี หัวเมืองนอกจากนี้จัดเป็นเมืองพระยามหานคร เป็่นเมืองชั้นเอก
ชั้นโท ชั้นตรี ต่อมาเรียกว่าหัวเมืองชั้นนอก และต่อมาในรัชสมัยพระเพทราชา
ได้แบ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือไปขึ้นกับสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายใต้ไปขึ้นกับสมุหกลาโหม
ผลการจัดระบบดังกล่าว เมืองนครนายกถูกจัดเป็นเมืองจัตวา
ขึ้นกับราชธานี ดังที่มีระบุไว้ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง
และขึ้นสังกัดสมุหนายกหรือกรมมหาดไทย เมื่อแบ่งเขตการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้
กบฎที่เกี่ยวข้องกับเมืองนครนายก
นครนายกได้เป็นแหล่งซ่องสุมผู้คนที่ทำการกบฎ ต่อต้านฝ่ายราชธานีหลายครั้งด้วยกันคือ
กบฎธรรมเถียร
เกิดต้นรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีสาเหตุจากปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ
ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กบฎครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่เขตเมืองนครนายก
โดยธรรมเถียร ข้าหลวงเดิมของเจ้าฟ้าอภัยทศผู้ถูกสำเร็จโทษเนื่องจากการแย่งชิงราชสมบัติ
ได้อ้างตัวเองเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศโดยติดไฝที่ใบหน้าให้เหมือน แล้วซ่องสุมผู้คนถึงแขวงสระบุรี
เมืองลพบุรี และแขวงขุนนคร ได้สมัครพรรคพวกเป็นจำนวนมาก สุดท้ายถูกจับกุม
ธรรมเถียรและพรรคพวกต้นคิดถูกประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่เหลือนอกนั้นถูกจำใส่เรือนตรุ
และส่งไปตะพุ่นหญ้าช้างเป็นจำนวนมาก ที่หนีการจับกุมเข้าป่าไปก็มาก เป็นผลให้แขวงเมืองสระบุรี
เมืองลพบุรี และแขวงขุนนคร ร้างไปหลายตำบล
กบฎมอญ
เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระสุริยาศน์อมริทร์ (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐) เนื่องจากในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เมืองหงสาวดีของมอญเสียแก่พม่า พวกมอญเมืองเมาะตะมะ จำนวน ๓๐๐ คน ได้หนีไปอยู่ที่เมืองทวาย
ฝ่ายไทยจึงส่งคนไปรับครอบครัวให้เข้าไปอยู่ที่ตำบลเข้าน้ำพุ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวพระนคร
โดยการเดินทางเป็นเวลาสามวัน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๕ พวกมอญดังกล่าวโดยการนำของพระยาเกียรติ
พระยาราม หนีไปทางตะวันออก ไปชุมนุมที่เขานางบวช
ได้ก่อกบฎยกกำลังเข้าตีเมืองนครนายก ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้พระยาสีหราชเดโชชัย
เป็นแม่ทัพคุมกำลัง ๒,๐๐๐ คน ไปปราบพวกมอญเสี้ยมไม้สะแกเป็นอาวุธไล่ขว้าง
กำลังฝ่ายพระยาสีหราช ฯ แตกพ่าย ทางกรุงศรีอยุธยาต้องส่งกำลังไปใหม่ โดยให้พระยายมราช
คุมกำลัง ๒,๐๐๐ คน พระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้า คุมกำลัง ๑,๐๐๐ คน ไปปราบจนพวกมอญแตกพ่าย
จังตัวพระยาเกียรติ พระยารามกับพวกได้แล้วให้ประหารชีวิตเสียสิ้น
กบฎอ้ายบัณฑิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖ มีสองคนมาจากเมืองนครนายก
อ้างตัวว่ามีวิชาล่องหนหายตัวได้ ร่วมมือกับข้าราชการวังหลวงและวังหน้าหลายคน
เช่น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพวกหญิงวิเสทปากบาตร วังหน้า ทั้งนายและไพร่ร่วมกันกบฎ
บัณฑิตทั้งสองคนปลอมตัวเป็นผู้หญิง ซ่อนดาบไปในผ้าห่ม เข้าไปในวังหน้าคอยแอบซุ่มดักทำร้ายกรมพระราชวังบวร
ฯ ที่พระทวารราชมณเฑียร ขณะที่จะเสด็จมาทรงบาตร แต่ด้วยเหตุที่กรมพระราชวังบวร
ฯ เสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนจะทรงบาตร จึงเสด็จไปทางพระทวารอื่น
เมื่อนางพนักงานมาพบบัณฑิตทั้งสองความจึงแตก บัณฑิตทั้งสองและพรรคพวกถูกประหารชีวิต
สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
พ.ศ.๒๓๑๐ ในห้วงระยะเวลาสงครามดังกล่าวได้มีการเคลื่อนไหวทางด้าน
การทำทหารและการเมืองคือ
ชาวเมืองนครนายกเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธ
เมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๐๙ กรมหมื่นเทพพิพิธประทับอยู่ที่เมืองจันทบุรี
ได้ชักชวนชาวเมืองจันทบุรีต่อสู้พม่า มีผู้คนเข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อมาจึงได้นำคนเหล่านั้นไปอยู่ที่ปราจีนบุรี
เมื่อชาวเมืองปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และบางละมุง ทราบข่าวที่เสด็จไปรบพม่าจึงพากันเข้ามาสมทบ
แต่ยังไม่ทันที่จะยกกำลังเข้าตีพม่าก็ถูกทัพพม่ากำลัง ๓,๐๐๐ คน ยกกำลังทางเรือไปตีค่ายที่ตั้งอยู่
ณ ปากน้ำโยทะกาแตก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีไปทางด่านช่องเรือแตก
ด่านโคกพระยา แล้วขึ้นไปนครราชสีมา
นายกองช้างเมืองนครนายกเข้าสวามิภักดิ์พระยาตาก
(สิน) ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกพระยาตาก (สิน)
ได้นำกำลังจากกรุงศรีอยุธยามุ่งไปทางตะวันออก ระหว่างหยุดพักแรมที่บ้านพรานนก
มีนายกองช้างเมืองนครนายกเข้ามาสวามิภักดิ์ นำช้างพลายห้าเชือก ช้างพังหนึ่งเชือกมาให้พระยาตาก
(สิน) และขอเป็นข้า ก่อนที่จะนำกำลังเดินทางต่อไป
เจ้าเมืองนครนายก และผู้คนหนีไปเมืองนครราชสีมา
เมื่อเกิดสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองเมืองนครนายก อยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด
พระพิบูลสงครามเจ้าเมือง กับหลวงนรินทร์ได้พาผู้คน และครอบครัวประมาณสามร้อยคน
หนีพม่าไปทางเขาพนมโยง
ขึ้นไปเมืองนครราชสีมาไปตั้งที่ด่านจันทึก แต่สุดท้ายพระยานครราชสีมา ได้ใช้ทหารลวงพระพิบูลสงคราม
และหลวงนรินทร์ไปฆ่า แล้วกวาดต้อนผู้คนจากนครนายกเข้าเมืองนครราชสีมา ต่อมาภายหลังพระยานครราชสีมาถูกกรมหมื่นเทพพิพิธฆ่า
สังคมและเศรษฐกิจ
ชาวเมืองนครนายกดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นพื้นฐาน เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ เป็นบริเวณทำนาได้ผลดี
อยู่ใกล้เคียงกับเมืองหลวง บนเส้นทางเดินทัพ จึงเป็นแหล่งเสียงอาหารให้เมืองหลวงและกองทัพ
นอกจากนั้นเมืองนครนายกอยู่ใกล้ป่าเขา ของป่ามีความสำคัญในเศรษฐกิจของนครนายก
มีการเก็บส่วยในรูปของป่าในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น จันทน์ ชะมด
สีผึ้ง การดานพื้น ผลลูกคำต้น และหินสบู่ที่เขาชะโงก เพื่อใช้ปูพื้นสิ่งก่อสร้าง
มีชาวอังกฤษได้บันทึกไว้ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า นครนายกเป็นตลาด
หรือแหล่งระบายสินค้าที่สำคัญหนึ่งในสามแห่ง ของสินค้าจากโคราช และหัวเมืองทางหนือของลาว
เช่น ไหม งาช้าง และอื่น ๆ เป็นเขตที่ปลูกอ้อย มีไม้นานาชนิด โดยเฉพาะไม้ที่นิยมใช้ในการต่อเรือและอื่น
ๆ กิจการค้าไม้ฟืนรุ่งเรือง เป็นไม้ฟืนที่ส่งไปใช้ในโรงงานหีบอ้อยที่แปดริ้ว
และมีโสร่งไหมเป็นผลผลิตจำนวนไม่มาก
การตั้งถิ่นฐานของคนต่างวัฒนธรรม
ในอดีตนครนายกมีชนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมอยู่ปะปนกัน
แต่เดิมคงมีคนไทยและเขมร จนถึงสมัยกรุงธนบุรี จึงมีคนลาว คนไทยอิสลาม และคนจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานดังนี้
คนไทย
ส่วนหนึ่งเป็นไพร่หลวง สังกัดกองช้าง มีหน้าที่จับและคล้องช้าง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงเรียกไพร่ที่ขึ้นสังกัดกองช้าง เช่นเดียวกับที่สังกัดกองไร่ กองนา กองกระบือ
และกองโค ว่า คนนอก
แต่ไพร่หลวงบางส่วนยังคงสังกัดกรมล้อมพระราชวัง
คนลาว
เป็นพวกที่ถูกกวาดต้อนมาจากประเทศลาวปัจจุบัน มีสองระยะด้วยกันคือ
ระยะแรก ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๒๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีล้านช้าง ได้กวาดต้อนชาวลาวเวียงและลาวหัวเมืองฟากโขงตะวันออ
ก มาอยู่ที่นครนายก สระบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรีและจันทบุรี
ระยะที่สอง หลังกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาเป็นแม่ทัพ ยกกำลังไปขับไล่กองทัพญวนที่เข้ามาตั้งที่เมืองพานและหัวพันทั้งห้าทั้งหก
เพื่อช่วยลาวในคราวเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวพวนจากเมืองพวน
และบริเวณใกล้เคียงมาอยู่ที่บ้านหมี่ บ้านสนามแจง จังหวัดลพบุรี บ้านทับคล้อ
วังหลุม ทุ่งโพธิ์ ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ในการนี้คงจะรวมถึงนครนายกด้วย
ที่อยู่ของชาวลาวคือหมู่บ้านหัวลิง
ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นหมู่บ้านแรกที่ลาวพวนเข้าไปตั้งหลักแหล่ง ก่อนกระจายไปหมู่บ้านอื่น
อีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณวัดใหญ่ทักขินาราม
ตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมือง ฯ
คนไทยอิสลาม
ได้ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปัตตานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
หลังศึกเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ ยกทัพไปขับไล่ทัพพม่าที่เมืองถลางแล้ว
ได้ทรงจัดการเก็บหัวเมืองมลายู ที่ตั้งตัวเป็นอิสระ ทุกเมืองยอมอ่อนน้อมยกเว้นเจ้าเมืองปัตตานี
พระองค์จึงยกกำลังเข้ายึดเมืองปัตตานีไว้ได้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ แล้วกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ตามที่ต่าง
ๆ ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชานกรุงเทพ ฯ เช่น สี่แยกบ้านแขก ทุ่งครุ อำเภอพระประแดง
บางคอแหลม คลองมหานาค พระโขนง คลองตัน มีนบุรี หนองจอก สำหรับหัวเมืองอื่น
ๆ ได้แก่นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี (ท่าอิฐ)
คนจีนอพยพ
สันนิษฐานว่า มีชาวจีนเข้ามาประกอบอาชีพในนครนายกในสมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว
โดยได้ตั้งถิ่นฐานแถบอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้แก่ ตราด จันทบุรี ชลบุรี (บางปลาสร้อย)
ฉะเชิงเทรา
ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ มีการตั้งกงสุลจีนในบังคับสยามขึ้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพิจารณาคดีความของคนจีนกงสุลดังกล่าว
มีอำนาจดูแลถึงนครนายกด้วย
ขณะเดียวกัน ศาสนาคริสต์ได้แพร่เข้ามาในนครนายก สามารถตั้งวัดชาวคริสต์ขึ้น
เพราะการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ส่วนมากเน้นในกลุ่มคนจีนเป็นสำคัญ
การเมืองการปกครองก่อนการปฏิรูป
ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๒ - ๒๓๘๖ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
และต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศคือบาทหลวงปาเลอกัวซ์
และดาเวนพอร์ท
เดินทางมาถึงเมืองนครนายก และได้บันทึกว่า เมืองนครนายกมีพลเมืองประมาณ ๕,๐๐๐
คน ส่วนมากเป็นชาวลาว และมีชาวสยามอยู่ด้วย ราษฎรประกอบอาชีพในการปลูกข้าว
และหาของป่าส่งไปขายที่กรุงเทพ ฯ
ก่อนปฏิรูปการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๓๐ นครนายกมีการปกครองแบบระบบกินเมือง
เช่นเดียวกันกับเมืองอื่น ๆ ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่เรียกว่าจตุสดมภ์ พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจให้เจ้าเมืองอย่างเต็มที่ในการปกครองบ้านเมืองของตน
แต่อาจจะส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาดูแล และจำกัดอำนาจบางประการ ทางราชธานีจะมอบค่าธรรมเนียมต่าง
ๆ ที่ราษฎรเสียให้แก่ทางราชการเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าเมืองส่วนใหญ่มาจากคนในท้องถิ่น
และส่งเสริมให้ลูกหลานของตนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแทนตนต่อไป
จากกฎหมายตราสามดวง เจ้าเมืองนครนายกเป็นที่พระพิบูลสงคราม
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนเป็นที่พระยาพิบูลสงคราม
การคลัง
การเก็บค่านา จะให้ข้าหลวงออกไปประเมินนา และเก็บค่านาจากราษฎร ส่วนมากเป็นเงินระหว่าง
๒๐๐ - ๓๐๐ ชั่ง ในปี พ.ศ.๒๔๒๒ จำนวนเงินที่เก็บค่านาจำแนกเป็นนาคู่โค เก็บไร่ละสลึง
นอกนั้นเก็บไร่ละสลึงเฟื้อง ส่วนหนังสือจองค่าที่นาฉบับละหกบาทต่อนา ๒๕ ไร่
การศาล
ราชธานีให้อำนาจในการปกครองแก่เจ้าเมือง และกรมการเมืองอย่างมาก เกิดปัญหาการตัดสินของศาลหัวเมืองทำให้ราษฎรไม่พอใจ
และมีการร้องเรียนไปยังราชธานีอยู่เนือง ๆ
หัวเมืองหนึ่งในมณฑลปราจีนบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ โดยรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลขึ้น เพื่อให้ราชธานีสามารถเข้าไปปกครองหัวเมืองได้อย่างรัดกุม
ให้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมเป็นหลัก ในการกำหนดอาณาเขตมณฑล ในระยะแรกสามารถรวมได้สี่มณฑล
คือรวมหัวเมืองในเขตแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เป็นมณฑลกรุงเก่า หัวเมืองในเขตแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือเป็นมณฑลนครสวรรค์
หัวเมืองทางแม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน เป็นมณฑลพิษณุโลก และหัวเมืองในลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นมณฑลปราจีนบุรี
ในมณฑลปราจีนบุรีมีเมืองนครนายกรวมอยู่ด้วย มีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี
มีเมืองในมณฑลคือ เมืองพนมสารคาม เมืองฉะเชิงเทรา ต่อมาได้รวมเมืองพนัสนิคม
เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุงมารวมอยู่ด้วย
การคลัง
อากรค่าน้ำซึ่งเก็บจากเครื่องมือประมงของราษฎรในเมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
เก็บได้ ๘,๑๙๐ บาท มีราษฎรประมาณ ๒๘,๕๐๐ คน บ้านเรือน ๗,๐๓๕ หลัง อาชีพส่วนใหญ่ของราษฎรคือการเพาะปลูก
มีจำนวนที่ทำกินประมาณ ๑๒๓,๐๐๐ ไร่ พืชที่ปลูกกันมากคือข้าว ข้าวโพด มะม่วง
กระท้อน เผือก มัน สินค้าที่ทำรายได้จำนวนมากคือข้าวเปลือก
การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เกิดวิกฤตกาล ร.ศ.๑๑๒ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ทรงมอบให้ข้าหลวงเทศาภิบาลปราจีนบุรีเป็นฝ่ายอำนวยการในการเคลื่อนย้ายกองทัพ
และจัดหาเสบียงอาหารระหว่างที่ราบภาคกลาง และพรมแดนทางด้านตะวันออก สามารถเกณฑ์ไพร่พลในมณฑลปราจีน
พร้อมทำสงครามได้ ๖,๐๐๐ คน ขึ้นบัญชีไว้เป็นกรม กอง หมวด หมู่ มีชาวนครนายก
จำนวน ๔๐ กอง
จาการตรวจราชการเมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ พบว่า การเดินทางต้องไปทางคลองรังสฤษดิ์
ครั้งนั้น เมืองนครนายกแบ่งเป็นสี่อำเภอคือ อำเภอองครักษ์ อำเอภท่าช้าง อำเภอเมือง
ฯ และอำเภอหนองโพ การแบ่งเขตอำเภอดังกล่าวไม่เหมาะสมกับพื้นที่คือ เอาแม่น้ำเป็นเขตอำเภอ
บางกรณีไม่สะดวกแก่ราชการ จึงได้มีแนวความคิดที่จะให้มีการแบ่งเขตอำเภอเสียใหม่
การเปลี่ยนแปลงสังคมนครนายกให้ทันสมัย
วิถีชีวิตของชาวเมืองนครนายก นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พัฒนามาตามลำดับ ในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีบริการเรือยนต์รังสิตให้แก่ประชาชน
ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ มีไฟฟ้าใช้และมีภาพยนต์ให้ได้ชม ในครั้งนั้นเมืองนครนายก มีบ้านเรือนที่ปลูกอยู่สองฝั่งแม่น้ำนครนายก
เรียกฝั่งหนึ่งว่า ฝั่งวังกระโจม และเรียกอีกฝั่งหนึ่งว่า ฝั่งศาลากลาง
ฝั่งวังกระโจม
เป็นชุมชนที่เจริญมาแต่เดิม มีตลาดใหญ่ โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง ท่าเรือเมล์ขาว
มีคนจีนอาศัยปลูกผักมาก จึงมีโรงเจของคนจีนอยู่ด้วย
ฝั่งศาลากลาง
เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการและที่อยู่อาศัยของราษฎร จะตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแถบวัดโพธิ์ตลอดไปจนจรดแม่น้ำ
วัดโพธิ์
เป็นวัดสำคัญตั้งอยู่บริเวณท้ายเหมือง เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครนายก
บริเวณใกล้ ๆ วัดโพธิ์มีตลาดใหญ่ โรงภาพยนต์และโรงแรม จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญอีกแห่งหนึ่งของเมืองนครนายกในสมัยนั้น
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
การเปิดพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นโดยการขุดคลอง เพื่อระบายน้ำเข้าไปยังบริเวณที่เพาะปลูกไม่ได้นั้น
รัฐบาลได้สนับสนุนให้เอกชนขุดคลอง เพื่อเปิดพื้นที่ทำนาใหม่ โดยมีแรงจูงใจที่สำคัญคือ
การเป็นเจ้าของที่ดินสองฝั่งคลองที่เอกชนรับขุดนั้น
โครงการทุ่งหลวงรังสิต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ - ๒๔๕๗ เป็นโครงการที่สำคัญที่สุดในการเปิดที่ดินเพื่อปลูกข้าว
และการขุดคลองชลประธาน
นโยบายรัฐบาลต่อนครนายก
เมืองนครนายกเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมและผลิตข้าวเพื่อจำหน่าย เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่ได้ชื่อว่าผลิตข้าวได้มาก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทางราชการได้กำหนดการซื้อข้าวจากชาวนา
เพื่อนำข้าวเปลือกมาขึ้นฉางหลวงไว้ใช้ในหน่วยราชการต่าง
ๆ เพื่อเป็นเสบียงในเวลาเกิดมีศึกสงคราม โดยทางราชการไม่ได้บังคับซื้อในทุกหัวเมือง
แต่จะบังคับซื้อจากชาวนาที่ทำนาได้มากและจำหน่ายข้าวนั้น โดยบังคับซื้อไร่ละสองถังในราคาถังละสองไพ
เจ้าของนาจะต้องขนข้าวที่ทางราชการจัดซื้อไปส่งที่ฉางหลวงตามที่กำหนดไว้
นครนายกเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญในการทำนาผลิตข้าว ทางราชการได้กำหนดให้มีการบังคับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา
ตามนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริม และผลิตข้าวเพื่อจำหน่าย ตั้งแต่หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง
จนถึงสมัยก่อนปฏิรูปการปกครอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองถึงแปดคลองเพื่อการคมนาคม
และขยายพื้นที่การเพาะปลูก การขุดคลองในเขตเมืองนครนายกมีอยู่สองโครงการคือ
โครงการรังสิต และโครงการทุ่งนครนายก หรือทุ่งดงละคร ซึ่งบริษัทขุดคลองแลคูบาสยามเป็นผู้ดำเนินการ
โครงการรังสิตหรือทุงหลวงรังสิต
อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ ถึง๑,๕๐๐,๐๐๐
ไร่ มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับเมืองกรุงเก่าและนครนายก
ทิศตะวันออก จดแม่น้ำนครนายก
ทิศใต้ ติดกับคลองแสนแสบและคลองบางขนาก
ทิศตะวันยตก จดคอลงเปรมประชากร
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม
เริ่มดำเนินการขุดคลองตามโครงการรังสิต พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมเมืองธัญบุรี
และปทุมธานี (อำเภอหนองเสือ ธัญบุรี และลำลูกกา ในจังหวัดปทุมธานีปัจจุบัน)
และบางส่วนของเมืองนครนายกคือ บริเวณอำเภอองครักษ์ ซึ่งอยู่ติดกับหนองเสือ
และลำลูกกา ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ การก่อสร้างสิ้นสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสทางชลมารคตามคลองรังสิต
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงเปิดประตูนน้ำจุฬาลงกรณ์
และโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ทรงเปิดประตูน้ำเสาวภาผ่องศรีด้วย
โครงการทุ่งนครนายกหรือทุ่งดงละคร
เป็นโครงการต่อจากโครงการรังสิต บริเวณทุ่งดงละครอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครนายก
ด้านตะวันออกติดกับทุ่งรังสิต พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุมอำเภอบ้านนา บริษัทขุดคลองแลคูบาสยาม
ได้เสนอการขุดคลองบริเวณทุ่งดงละคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ โดยจะขุดคลองยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ
๑๐๐ กิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๕๐๐ เส้น เปิดพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐
ไร่ บริษัทประสบปัญหาในการขุดคลองหลายด้านเช่น ปัญหาในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินและเรื่องการสร้างประตูน้ำแต่ก็สามารถขุดคลองได้
๗๒ กิโลเมตรหรือประมาณ ๑,๘๒๕ เส้น ได้พื้นที่มาประมาณ ๑๓๓,๒๐๐ ไร่
ในบริเวณเมืองนครนายกมีโครงการชลประทาน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขนาดเล็กคือประตูน้ำหรือทำนบ
บริเวณองครักษ์มีทำนบขนาด ๒ - ๔ วา อยู่จำนวน ๓๖ แห่ง ขนาดกลางมี ๕
แห่ง ในเขตอำเภอวังกระโจมมี ๒ แห่ง และอำเภอบ้านนามี ๓ แห่ง
โครงการชลประทานขนาดใหญ่มีแห่งเดียวคือ โครงการนครนายก
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ใช้งบประมาณ ๘,๐๓๓,๔๙๖ บาท เพื่อทดน้ำช่วยในการเพาะปลูกของเซอร์โธมัส
วอร์ค โดยมีแผนการทดน้ำมาที่ทุ่งดงละครฝั่งซ้ายของแม่น้ำนครนายก การปิดลำน้ำนครนายกที่ตำบลองครักษ์
เพื่อให้น้ำในแม่น้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวในท้องทุ่งและนำน้ำเหลือไปเลี้ยงต้นข้าวในตอนใต้ทุ่งหลวงรังสิตจนกว่าจะมีฝนพอแก่การทำนา
นครนายกได้ขยายการปลูกข้าวเป็นหลัก มีวิธีการปลูกข้าวสองแบบคือ แบบนาหว่าน
และแบบนาดำ หรือนาปักดำ
|