www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ต้นน้ำลำธาร
และแหล่งน้ำสำคัญ
ต้นน้ำลำธาร
หมายถึงพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีการพังทลายของดินง่าย
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้มีการให้ความหมายคำนี้ว่า เป็นบริเวณป่าเขาในปริมณฑลของลุ่มน้ำที่มีป่าปกคลุมหนาแน่นหรือในปริมณฑลของลุ่มน้ำ
โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดชั้นของพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร จำแนกเป็นสามชั้นคือ
ชั้นที่ ๑
หมายยถึง ป่าต้นน้ำลำธาร ที่มีสภาพเป็๋นป่าดงดิบสมบูรณ์ ยังไม่เคยแผ้วถางให้เป็นบริเวณกว้าง
พื้นที่โดยทั่วไปเป็นแหล่งซับน้ำอยู่บนภูเขาสูงชัน ที่สลับซับซ้อน มีความลาดชันมาก
ชั้นที่ ๒
หมายถึง พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สภาพเป็นป่าดงดิบที่แผ้วถางแล้ว หรือป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณผสมผลัดใบ
และป่าเต็งรัง ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาที่มีความลาดชัน และความสูงต่ำกว่าชั้นที่
๑ พื้นที่ทั่วไปเป็นแหล่งซับน้ำ
ชั้นที่ ๓
หมายถึง ป่าต้นน้ำลำธารที่สภาพป่าได้มีผู้บุกรุกแผ้วถางให้เป็นที่ทำมาหากินเป็นส่วนมาก
หรือบางส่วนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ลักษณะพื้นที่ทั่วไปเป็นที่เขา มีพื้นที่ราบเป็นบางแห่ง
ชนิดป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณผสมผลัดใบ
ลุ่มน้ำ
หมายถึงปริมณฑลของสัมปันน้ำที่รับน้ำฝนแล้วระบายลงสู่แม่น้ำ หรือหมายถึงบริเวณเหนือจุดใดจุดหนึ่งของแม่น้ำลำธาร
อันเป็นพื้นที่ที่น้ำฝนระบายไหลมารวมกันในแม่น้ำลำธาร สำหรับความหมายในปัจจุบันหมายถึง
พื้นที่ซึ่งล้อมรอบด้วยสันปันน้ำ เป็นพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดของแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง
หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนด ชั้นคุณภาพของลุ่มน้ำตามปัจจัยด้านกายภาพ มีผลต่อกระบวนการทางอุทกวิทยา
และมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งมีอยู่หกประการคือ สภาพภูมิประเทศ ระดับความลาดชัน
ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา และสภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
พื้นที่ทั้งหมดของลุ่มน้ำ อาจแบ่งระดับคุณภาพความสำคัญในการควบคุมระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำได้ห้าระดับ
ดังนี้
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑
หมายถึง พื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรสงวนรักษาไว้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะแบ่งเป็นชั้นย่อยสองระดับคือ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ
หมายยถึง พื้นที่ลุ่มน้ำที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ปรากฎอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
จำเป็นต้องสวงนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร และเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ บี
หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำที่มีพื้นที่สภาพป่าส่วนใหญ่ถูกทำลาย ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงไป
เพื่อพัฒนาการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๕
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๒
คือ พื้นที่ในลุ่มน้ำ ซึ่งลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะสม เป็นต้นน้ำลำธารในระดับรองลงมา
และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อกิจกรรมที่สำคัญได้เช่น การทำเหมืองแร่ เป็นต้น
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๓
คือ พื้นที่ในลุ่มน้ำทั่วไปที่ใช้ประโยชน์ทั้งกิจกรรมทำไม้ เหมืองแร่ และปลูกพืชกสิกรรมประเภทไม้ยืนต้น
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๔
คือ พื้นที่ลุ่มน้ำซึ่งสภาพป่ามีผู้รุกแผ้วถางให้เป็นประโยชน์เพื่อกิจการพืชไร่เป็นส่วนมาก
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๕
คือ พื้วนที่ลุ่มน้ำซึ่งมีลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงเล็กน้อย
พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่มีผู้บุกรุกแผ้วถาง เพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา
และกิจการอื่น ๆ
คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ กำหนดให้พื้นที่ลุ่มน้ำลำธารชั้น ๒ และชั้น
๒ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
แหล่งน้ำสำคัญ
ในเขตจังหวัดนครนายกมีเขตลุ่มน้ำสำคัญอยู่สามแห่งคือ
ลุ่มน้ำนครนายก
ต้นกำเนิดจากห้วยต่าง ๆ เช่น คลองท่าด่าน ห้วยนางรอง ห้วยสมพุง คลองมะเดื่อ
ห้วยสาริกา ห้วยน้ำริน ห้วยแม่ป่าน เป็นต้น ซึ่งต้นน้ำอยู่ในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่
ลำน้ำช่วงบนถึงน้ำตกเหวนรกเรียกว่า คลองสมอปูน
ลงมาถึงบริเวณบ้านท่าด่านเรียกว่า คลองท่าด่าน
แล้วไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ อำเภอปากพลีตอนบนและอำเภอองครักษ์เรียกว่า แม่น้ำนครนายก
แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำบางปะกง ที่ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
เรียกว่า ปากน้ำโยทะกา
มีความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ไหลจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือน้ำตกเหวนรกประมาณ
๑๕๐ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในบริเวณลำคลองสมอปูน เหนือน้ำตกเหวนรกประมาณ
๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จะเกิดในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ส่วนใหญ่ไหลลงทะเลหรือก่อให้เกิดอุทกภัย
ลุ่มน้ำนครนายกมีโครงการนำน้ำมาใช้ประโยชน์อยู่สามโครงการคือ
โครงการท่าด่าน
เป็นการนำน้ำในคลองท่าด่านมาใช้ประโยชน์โดยสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง
๑๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ปิดกั้นคลองด่านที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง
ฯ เพื่อให้เป็นอาคารทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำของโครงการท่าด่าน ส่งเข้าหล่อเลี้ยงพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูฝนประมาณ
๘,๐๐๐ ไร่ ส่วนในฤดูแล้งปริมาณน้ำมีน้อยมากไม่เพียงพอที่จะปลูกพืช นอกจากให้ราษฎรใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคเท่านั้น
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพระราชดำริ
เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ งบประมาณ ๘๑ ล้านบาท
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายก
เป็นโครงการพระราชดำริ
ที่สร้างทำนบดินปิดกั้นลำน้ำสาขา แม่น้ำนครนายก จำนวนสามสายคือ คลองทรายทอง
คลองห้วยปรือ และคลองโบด
ในตำบลเขาพระ และตำบลพราหมณี อำเภอเมือง ฯ เพื่อเป็นอ่างกักเก็บน้ำสามแห่งคือ
อ่างเก็บน้ำทรายทอง มีความจุ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ
มีความจุ ๘๓ ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองโบด
มีความจุ ๔.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งเลี้ยงพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำ
ทั้งสามแห่ง จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่ออุปโภคและบริโภคของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และกันไว้ให้การประปานครนายก เพื่อเป็นน้ำดิบ จำนวน ๒ ล้านลูกบาศ์กเมตร สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๕ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ใช้งบประมาณ ๒๔๖ ล้าบาท
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก
เป็นโครงการชลประทานที่นำน้ำในแม่น้ำนครนายกมาใช้ประโยชน์ โดยสร้างเขื่อนนายก
ปิดกั้นแม่น้ำนครนายกที่บ้านท่าหุบ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง ฯ เพื่อเป็นอาคารทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำของโครงการ
ฯ หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนประมาณ ๓๖๘,๐๐๐ ไร่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
ลุ่มน้ำคลองบ้านนา
ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่ ในเขตอำเภอแก่งคอย และอำเภอมวกเหล็ก
จังหวัดสระบุรี มีลำน้ำสาขาไหลมารวมกันคือ ห้วยเจ็ดคด ห้วยใหญ่ ห้วยน้ำเค็ม
และห้วยข่าย ลำน้ำไหลจากทิศเหนือไปบรรจบกับคลองส่งน้ำฝั่งขวาของโครงการส่งน้ำ
ฯ นครนายก (คลอง ๒๙) และแม่น้ำนครนายกในตำบลทองหลาง และตำบลบางอ้อ อำเภอบ้านนา
ความยาวของลำน้ำจากต้นน้ำถึงจุดที่ไหลลงแม่น้ำนครนายก ประมาณ ๕๗ กิโลเมตร
ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี แต่มีน้ำน้อยมากในฤดูแล้ง มีพื้นที่ลุ่มน้ำเหนือประตูระบายน้ำบ้านนา
ประมาณ ๒๐๖ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำบ้านนา เฉลี่ยทั้งปีประมาณ
๑๒๐ ล้านลูกบาศ์กเมตร
มีการพัฒนาโครงการน้ำในลุ่มน้ำไปใช้ประโยชน์ คือ โครงการคลองบ้านนา
เพื่อสร้างประตูระบายน้ำ ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร สูง ๖.๐๐ เมตร จำนวนสามช่อง
ปิดกั้นคลองบ้านนาในตำบลพิกุลออก อำเภอบ้านนา เพื่อเป็นอาคารทดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำของโครงการบ้านนา
หล่อเลี้ยงพื้นที่ชลประทานในช่วงฤดูฝนประมาณ ๒๐,๐๐๐ ไร่ เริ่มสร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๐ เสร็จปี พ.ศ.๒๕๓๔ ใช้งบประมาณ ๑๔ ล้านบาท
ลุ่มน้ำคลองยาง
ต้นน้ำมาจากเทือกเขาสมอปูน ซึ่งเป็นลำน้ำช่วงบนอยู่ในเขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่
เรียกว่า คลองบางบอน ไหลมาทางใต้ถึงตำบลปากพลี เรียกว่า คลองยาง
เมื่อเข้าเขตตำบลปากพลีเรียกว่า คลองปากพลี
จากสุดเขตตำบลปากพลีไปบรรจบแม่น้ำปราจีนบุรีเรียกว่า คลองสารภี
มีความยาวรวมตลอดลำน้ำประมาณ ๓๖ กิโลเมตร เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก
จังหวัดนครนายกกับอำเภอเมืองปราจีนบุรี มีพื้นที่ลุ่มน้ำจากด้านเหนือประตูระบายน้ำคลองยางขึ้นไปประมาณ
๑๑๐ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำคลองยาวเฉลี่ยปีละ ๙.๒ ล้านลูกบาศ์กเมตร
มีโครงการนำน้ำมาใช้ประโยชน์สามโครงการคือ
โครงการฝายน้ำล้นในคลองยาง
อยู่ในตำบลหินลาด อำเภอปากพลี เป็นฝายหินก่อสูง ๓.๐๐ เมตร สันฝายยาว สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๕ ใช้งบประมาณ ๕.๓๖ ล้านบาท กักเก็บน้ำไว้ในคลองเพื่ออุปโภคและบริโภคในช่วงฤดูแล้งประมาณ
๓,๐๐๐ ลูกบาศ์กเมตร
โครงการคลองบางยาง
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ เพื่อทดน้ำและผันน้ำจากคลองบางยางเข้าสู่ระบบส่งน้ำของโครงการ
ซึ่งมีพื้นที่ชลประทาน ในเขตอำเภอปากพลี และอำเภอเมืองปราจีนบุรี ประมาณ ๑๒,๘๐๐
ไร่
โครงการสารภี
เป็นโครงการสร้างประตูระบายน้ำคลองสารภี ปิดกั้นคลองสารภี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี
ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
ลำคลองที่สำคัญ
มีอยู่หลายสายด้วยกันได้แก่ คลองท่าด่าน คลองมะเดื่อ คลองพรหมณี คลองวังไทร
ห้วยนางรอง ห้วยสมพุงใหญ่ ห้วยสาริกา และคลองท่าแดง
การพัฒนาแหล่งน้ำ
ได้มีการพัฒนานำน้ำจากลุ่มน้ำมาใช้ประโยชน์ดังนี้
โครงการเขื่อนคลองท่าด่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เขื่อนคลองท่าด่านเป็นเขื่อนประเภทคอนกรีตบดอัด ประเภท high paste แห่งแรกในประเทศไทย
เขื่อนประเภทนี้ใช้วัสดุในการก่อสร้างต่ำสุด ใช้เวลาก่อสร้างน้อยไม่ต้องการรากฐานที่ค่อนข้างมั่นคง
ความสูงของเขื่อนสูงสุด ๙๕ เมตร ยาว ๒,๖๐๐ เมตร สันเขื่อนสูง ๑๑๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล
กว้าง ๖.๐ เมตร ระดับใช้การ ๑๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำฝน ๑๘๔ ตารางกิโลเมตร
เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต
โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ
ตั้งอยู่ที่บ้านคลองมะเดื่อ ตำบลสาริกา อำเภอเมือง ฯ เป็นเขื่อนประเภทคอนกรีตบดอัด
ความสูง ๙๑ เมตร ยาว ๗๓๖ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ
๖๒ ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเฉลี่ย ๑๐๘ ล้านลูกบาศก์เมตรความจุอ่างที่ระดับกักเก็บน้ำปกติ
๙๔ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่าง ๑,๖๐๐ ไร่ ในระยะยาวมีน้ำต้นทุนช่วยเหลือราษฎรในการเกษตรพื้นที่ชลประทานได้
๖๘,๐๐๐ ไร่
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำช่วยเลือพื้นที่ราบเชิงเขา
เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางแถบที่ราบเชิงเขา ประกอบด้วยงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
๕ แห่งคือ
- อ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด อยู่ในตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี เป็นเขื่อนดินสูง
๒๓ เมตร ยาว ๑๔๕ เมตร ความจุ ๑.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ ใช้งบประมาณ ๑๗ ล้านบาท ส่งน้ำพื้นที่การเกษตร
๓,๐๐๐ ไร่
- อ่างเก็บน้ำคลองวังบอน (คลองยาว) อยู่ในตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี
เป็นเขื่อนดินสูง ๑๙ เมตร ยาว ๔๕๐ เมตร มีความจุ ๖.๙ ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างเสร็จปี
พ.ศ.๒๕๔๒ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ประมาณ ๙,๐๐๐ ไร่ ใช้งบประมาณ ๑๕๘ ล้านบาท
- อ่างเก็บน้ำบ้านวังม่วง อยู่ในตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี เป็นเขื่อนดินสูง
๒๔.๕๐ เมตรยาว ๒๔๕ เมตร มีความจุ ๐.๘ ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ ๔๖ ล้านบาท
สร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๔๓
- อ่างเก็บน้ำคลองห้วยกระบอก อยู่ในตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี เป็นเขื่อนดิน
สูง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๕๐ เมตร มีความจุ ๐.๕๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ
๗๘ ล้านบาท สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
- อ่างเก็บน้ำคลองกลาง อยู่ในตำบลหินลาด อำเภอปากพลี เป็นเขื่อนดิน
สูง ๓๖.๑๐ เมตร ยาว ๓๘๐ เมตร มีความจุ ๓.๑ ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณ ๒๓๒
ล้านบาท สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ได้ประมาณ ๓,๒๐๐ ไร่
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เป็นอุทยาน ฯ ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในด้านการท่องเที่ยวและความหลากหลายทางชีวภาพ
เป็นแหล่งสังคมพืชที่หายากและพืชเฉพาะถิ่น เป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญของโลก
มีความหลากหลายพันธุ์ทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์วิทยา
น้ำตกเหวนรก
เป็นน้ำตกที่มีความงดงามมากของอุทยาน ฯ เขาใหญ่ ในเขตจังหวัดนครนายก เกิดจากคลองท่าด่านอันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำนครนายก
น้ำไหลเทลงมาจากหน้าผาที่หักฉากและสูงมาก ความสูงของหน้าผาแห่งแรกประมาณ ๕๐
เมตร เมื่อไหลผ่านหน้าผาแรกไปแล้ว ยังมีหน้าผาที่สองและที่สามต่อลงไปอีก รวมความสูงของน้ำตกทั้งสามชั้นจะสูงมากกว่า
๑๕๐ เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าผาชันที่สองมีความสูงมากที่สุด ปริมาณน้ำมีมากในฤดูฝน
ระหว่างเดือนกันยายน - พฤศจิกายน
น้ำตกนางรอง
เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากของนครนายก เกิดจากต้นน้ำของห้วยระย้าและห้วยน้ำซับ
ลักษณะของน้ำตกเป็นทางน้ำไหลลงมาเป็นชั้น ๆ คล้ายขั้นบันได น้ำตกที่ไหลลงมาแต่ละชั้นจะไหลลงสู่แอ่งน้ำใหญ่แล้วล้นไหลลงสู่แอ่งน้ำในชั้นอื่น
ๆ ต่อไปตามลำดับ
น้ำตกสาริกา
เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงคู่เคียงกันมากับน้ำตกนางรองมาแต่เดิม ก่อนที่จะมีน้ำตกเหวนรกเข้ามาร่วมด้วย
หลังเกิดมีอุทยาน ฯ เขาใหญ่ เกิดจากห้วยสาริกา ซึ่งไหลมาจากเขาสาริกา เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูง
มีสายน้ำแตกเป็นฟองกระจายขาวน่าชมมาก บริเวณแอ่งน้ำของน้ำตกเป็นแอ่งใหญ่ มีน้ำขังอยู่มาก
และลึกพอที่จะลงเล่นน้ำได้คราวละหลาย ๆ คน
|