www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
พระบรมธาตุเจดีย์
ตามตำนานกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาสู่หาดทรายแก้ว โดยนางเหมชาลาฒ และพระธนกุมาร
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๘๓๔ จึงได้สร้างพระบรมธาตุ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราช จะก่อสร้างตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อสร้างสมความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเช่น
สมัยศรีวิชัยได้สร้างเป็นเจดีย์ทรงศรีวิชัย ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๐ ได้ทรงสร้างเป็นเจดีย์ทรงลังกาครอบองค์เจดีย์เดิมแบบศรีวิชัยไว้ภายใน
พระบรมธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครศรีธรรมราช
และชาวใต้ทั้งปวง ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประวัติการสร้างตามตำนานกล่าวว่า
พระเจดีย์องค์เดิมสร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๑๓๐๐ สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย ต่อมาเมื่อได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับพระภิกษุลังกา
โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้นิมนต์พระภิกษุลังกามาตั้งคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นการสถาปนาพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์
ในระยะนั้นพระบรมธาตุองค์เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุลังกาจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบลังกา
โดยสร้างพระสถูปแบบลังกาครอบองค์พระเจดีย์เดิม เป็นพระสถูปทรงโอคว่ำปากระฆังติดกับพื้นกำแพงแก้ว
ที่มุมกำแพงแก้วมีพระบรมธาตุจำลองประดิษฐานอยู่ทั้งสี่มุม
พระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองนครศรีธรรมราช ตามประวัติกล่าวว่า
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๓ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพเรือไปตีเมืองลังกาครั้งที่
๑ ได้พระพุทธสิหิงค์มา จึงได้ฉลองสมโภชรวมกับพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๓
โดยมีนางพญาเลือดขาวนำเสด็จแทนพระเจ้าจันทรภาณุจากลังกา
พระพุทธสิหิงค์ มีลักษณะทางศิลปกรรมอยู่ในตระกูลช่างแบบนครศรีธรรมราชที่เรียกกันว่า
แบบขนมต้ม ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ในบริเวณวังเจ้านครเก่า ปัจจุบันเป็นศาลากลางจังหวัด
เปิดให้ประชาชนได้เข้าไปสักการะบูชาในเวลาราชการทุกวัน
ในวันสงกรานต์ ชาวนครศรีธรรมราชจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ไปยังสนามหน้าเมือง
เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี
วัดเขาขุนพนม
วัดเขาขุนพนม ตั้งอยู่ที่เชิงเขาขุนพนม ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี เป็นวัดที่มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก
เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
กล่าวกันว่าเดิมขื่อวัดเขาน้อย ตามตำนานสร้างพระธาตุกล่าวว่า เดิมชื่อวัดเขาคุมพนม
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัดเขาขุนพนมตามชื่อ ขุนพนมวัง กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชราชบุตรเขยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งได้เป็นผู้สร้างไว้เป็นที่หลบภัย เมื่อมีข้าศึกมาประชิด
จาการศึกษารูปแบบของสถาปัตยกรรมของอุโบสถ ใบเสมา และศิลปวัตถุโบราณของสิ่งก่อสร้างบนเขาขุนพนม
สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์
โบสถ์มหาอุด
เป็นกอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีขนาดเล็กกว่าอุโบสถทั่วไป
ส่วนฐานโบสถ์กว้าง ๕.๗๐ เมตร ยาว ๑๑.๒๐ เมตร ยกพื้นสูง ๑.๗๕ เมตร ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง
และลดระดับชั้นเป็นฐานสิงห์ และบัวคว่ำตามลำดับ มีความสูงจากระดับพื้นภายนอกถึงระดับหลังขื่อ
๔.๑๐ เมตร มีบันไดทางขึ้นและประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ผนังด้านตะวันออกมีช่องแสงสองลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมตอนบนเป็นลักษณะรูปห้าเหลี่ยม
ส่วนระดับเหนือช่องแสงทำเป็นช่องลมระบายอากาศในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง
ผนังด้านทิศใต้เป็นผนังทึบ ภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ประดิษฐานบนฐานบัว
มีพระสาวกซ้ายขวา ทางทิศตะวันตกของพระประธานมีบัวปูนปั้นบรรจุอัฐ
บริเวณภายนอกพระอุโบสถ มีใบเสมาล้อมรอบอยู่แปดใบ วางอยู่บนฐานย่อมุมไม้สิบสอง
รูปแบบของใบเสมาเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลในสมัยอยุธยาตอนกลาง ถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓
ศาลาการเปรียญ
เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย หลังคาแหลม มีช่อฟ้า ใบระกา และคันทวยรับหัวคาน เช่นเดียวกับวัดทั่ว
ๆ ไป ภายในศาลาการเปรียญมีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่และพระสาวกซ้ายขวา
ศาลพระเจ้าตาก
ตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้ลานวัด ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ ไว้เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป
สระน้ำจืดขุนพนม
อยู่บริเวณใกล้วัดเขาขุนพนม เป็นสระกว้าง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่ามีร่องรอยการขุดดินทำอิฐดินเผา
เพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ กุฏิและปูชนียสถาน มีอยู่สามแห่งด้วยกันคือ
- ในบริเวณวัด ใกล้ประตูทางเข้า เป็นสระลึก กว้างประมาณ ๓๐ เมตร มีเรื่องเล่าว่าแต่ก่อนมีหินอยู่ก้อนหนึ่ง
แผ่นใหญ่มาก
อยู่ในสระนี้ เป็นที่ยืนอาบน้ำของพระนางเลือดขาว
- สระอีกสองแห่งอยู่ไกลออกไปจากวัด ปัจจุบันหาร่องรอยไม่พบ
ปัจจุบันยังมีเตาเผาอิฐอยู่ห่างจากเขาขุนพนมไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๐ เมตร
แผ่นอิฐที่วัดเขาขุนพนมเป็นอิฐแผ่นโตที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ณ บริเวณโบราณสถานของจังหวัดนครศรีธรรมราช
โบราณวัตถุเขาขุนพนม บนภูเขาขุนพนมมีเพิงผาและถ้ำ
บริเวณดังกล่าวมีการก่อสร้างมีลักษณะเป็นกำแพงเมืองย่อส่วนก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ
๒ เมตร มีซุ้มประตู ใบเสมา และทวารบาล ผนังกำแพงด้านนอกประดับด้วยถ้วยชาม
หลังกำแพงทางด้านทิศใต้ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอยู่สององค์ และที่เพิงผาทางขึ้นถ้ำด้านซ้ายมือหลังกำแพง
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ บริเวณหลังเพิงด้านขวามือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น
และเนินสูงทางด้านซ้ายมือของกำแพงเดิม เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
ประเพณีในทางพระพุทธศาสนา
ประเพณีทำบุญเดือนสิบ
ประเพณีทำบุญเดือนสิบหรือประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีทำบุญกลางเดือนสิบ
เพื่อนำเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งขนมห้าอย่างไปถวายพระภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของตน
ประเพณีนี้มีที่มาจากประเพณีเปตพลีของพราหมณ์ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
ต่อมาเมื่อพวกพราหมณ์ส่วนหนึ่ง ได้มานับถือพระพุทธศาสนา ก็ยังถือปฏิบัติตามประเพณีนี้อยู่
พระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นประเพณีที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
จึงทรงอนุญาตให้อุบาสกอุบาสิกา ประกอบพิธีนี้ต่อไปได้ ดังนั้นประเพณีทำบุญเดือนสิบ จึงมีมาแต่ครั้งพุทธกาล
และเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาในนครศรีธรรมราช จึงได้รับเอาประเพณีมาด้วย
ความเชื่อในเรื่องนี้มีอยู่ว่าบรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้ก็จะไปเกิดในสวรรค์
แต่ถ้าหากทำความชั่ว
ไว้ก็จะไปตกนรกกลายเป็นเปรต
ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้มายังชีพตน ในวันแรมค่ำ เดือนสิบ
บรรดาเปรตจะได้รับ
การปล่อยตัวมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอส่วนบุญและกลับไปนรกในวันแรมสิบห้าค่ำเดือนสิบ
ดังนั้นระยะเวลาการประกอบพิธีสารท
เดือนสิบจะมีในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญกันคือในวันแรม ๑๓ - ๑๕ ค่ำ
ประเพณีกวนข้าวยาคู
ข้าวยาคู มีชื่อเต็มว่า ข้าวมธุปายาสยาคู ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเป็นข้าวที่นางสุชาดานำไปถวายพระสิทธัตถะขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลังจากที่พระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาสยาคู ของนางสุชาดา แล้วก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในคืนนั้น
พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชเชื่อว่า ข้าวยาคูเป็นอาหารทิพย์ที่ช่วยให้สมองดี
เกิดปัญญาแก่ผู้บริโภค ทำให้มีอายุยืนยาว มีผิวพรรณผ่องใส มีพลานามัยสมบูรณ์
และยังเป็นโอสถขนานเอกที่สามารถขจัดโรคได้ทุกชนิด นอกจากนี้ยังบันดาลความสำเร็จให้ผู้บริโภคสมปรารถนา
ในสิ่งที่ปรารถนาได้อีกด้วย
เดือนสามเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนาออกรวง เมล็ดข้าวกำลังเป็นน้ำนม เหมาะสำหรับนำมากวนเป็นข้าวยาคู
ชาวบ้านจึงนิยมกวน
ข้าวยาคูในวันขึ้น
๑๓ - ๑๔ ค่ำ เดือนสาม โดยใช้วัดเป็นสถานที่กวนข้าวยาคู
เครื่องปรุงข้าวยาคูมีมากกว่าห้าสิบชนิด มีทั้งพวกพืชผลและพืชสมุนไพร และผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นตามฤดูกาล
จัดเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
- น้ำนมข้าว เป็นเครื่องปรุงที่สำคัญที่สุด ได้จากเมล็ดข้าวที่กำลังมีน้ำนม
จะใช้กะลามะพร้าวรูดเมล็ดข้าวจากรวง นำเมล็ดข้าว
ไปตำให้แหลกแล้วนำมาคั้นเอาน้ำนมข้าวแบบเดียวกับการคั้นกะทิ
- ผลไม้ เช่น ขนุน มังคุด ละมุด อินทผาลัม กล้วย เงาะ มะละกอ ทุเรียน มะตูม
พุทรา และผลไม้อื่น ๆที่มีตามฤดูกาลนำผลไม้ดังกล่าวปอกเปลือก แกะเมล็ดออกหั่น
ต้อ เตรียมไว้
- พืชผัก ได้แก่ ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า ข้าวตอก ฟักทอง ถั่วลิสงคั่ว เมล็ดผักชี
หอม กระเทียม หั่น ซอย และทำให้ละเอียด
- พืชมีหัว ได้แก่ มันเทศ เผือก มันหอม มันล่า ปอกเปลือก แล้วนำไปต้มในน้ำกะทิ
- น้ำตาล น้ำผึ้งและนม ได้แก่ น้ำผึ้งรวง น้ำตาลปีบ น้ำตาลกรวด น้ำตายทราย
น้ำอ้อย นมสด น้ำลำไย น้ำใบบัวบก
- พืชสมุนไพร ได้แก่ พริกไทย กระราน กานพลู งาแดง งาขาว ชะเอม ดีปลี
ลูกจันทน์ รกจันทน์ ดอกจันทน์ นำมาคั่วให้มีกลิ่นหอม แล้วนำไปตำ ร่อนเอาแต่ส่วนละเอียด
ส่วนขิงปห้ง หัวเปราะ หัวกระชาย หัวข่า อบเชย นำไปต้มแล้วกรองเอาแต่น้ำ
- แป้ง ได้แก่ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เวลาจะกวนจึงละลายในน้ำนมข้าว
- มะพร้าว นำไปขูดแล้วคั้นเป็นน้ำกะทิ จากนั้นนำไปเคี่ยวให้แตกมันจนเป็นน้ำมันมะพร้าว
นำเครื่องปรุงทั้งหมดมาผสมเข้าด้วยกัน โดยแบ่งเครื่องปรุงทุกชนิดออกเป็นส่วน
ๆ เท่า ๆ กัน ใส่ภาชนะโอ่งดินพักไว้
การกวนข้าวยาคู ต้องใช้ความร้อนสูง เตาที่ใช้นิยมขุดลงไปในดิน ให้ความร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา
การกวนข้าวยาคูต้องใช้สาวพรหมจารี เป็นผู้เริ่มต้นกวนจนเสร็จพิธีสงฆ์ สาวพรหมจารีดังกล่าวต้องสมาทานเบญจศีลก่อนเข้าพิธีกวน
โดยมีด้ายสายสิญจน์โยงจากพระสงฆ์มาผูกไว้ที่ไม้พายที่ใช้เป็นไม้กวน
เริ่มพิธีกวน สาวพรหมจารีจับไม้กวน มีการลั่นฆ้องชัย ตั้งโห่สามลา พระสงฆ์สวดชยันโต
ตั้งแต่เริ่มกวน เมื่อสวดจบถือว่าเสร็จพิธี ต่อไปใครมากวนก็ได้
การกวนข้าวยาคูต้องกวนอยู่ตลอดเวลา เมื่อข้าวยาคูเริ่มเหนียวจะใช้น้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวไว้เติมลงในกะทะไม่ให้ข้าวยาคูติดไม้พาย
ข้าวยาคูจะเปลี่ยนสีคล้ำเมื่อกวนเสร็จและมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศ ระยะเวลาที่ใช้ในการกวนประมาณแปดถึงเก้าชั่วโมง
ส่วนมากเริ่มกวนเวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา จนถึงประมาณ ๐๓.๐๐ นาฬิกา จึงแล้วเสร็จ
ประเพณีลากพระ
การลากพระ ชักพระหรือแห่พระเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา โดยอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในนมพระ
แล้วแห่โดยการลากไปชุมนุมกัน ในบริเวณหมู่บ้าน ในวันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด
ประเพณีการชักพระ ในนครศรีธรรมราชได้ทำกันมานานกว่าพันปี พระภิกษุจีนชื่ออี้จิง
ผู้จาริกแสวงบุญ ได้ผ่านมายังอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้พบเห็นชาวเมืองทำพิธีชักลากพระ
จึงได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุตอนหนึ่งว่า
"พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีคนแห่แหนนำมาจากวัด โดยประดิษฐานบนรถหรือบนแคร่ มีพระสงฆ์และฆราวาสหมู่ใหญ่ห้อมล้อมมา
มีการตีกลองและบรรเลงดนตรีต่าง ๆ มีการถวายของหอมและดอกไม้และถือธงชนิดต่าง
ๆ ที่ทอแสงในกลางแดด พระพุทธรูปเสด็จไปสู่หมู่บ้านด้วยวิธีดังกล่าว"
ที่มาของประเพณีนี้มีมาแต่พระพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปจำพรรษาที่นั้นเพื่อโปรดพระพุทธมารดา ได้เสด็จถึงนครสังกัสสะในเวลาเช้าตรู่ของวันแรมค่ำ
เดือนสิบเอ็ด
พุทธศาสนิกชนได้พากันไปรับเสด็จอย่างเนืองแน่น เตรียมภัตตาหารไปถวายและได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษษก
แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับเนื่องจากผู้คนมีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน
ผู้ที่ไปไม่ถึงจึงได้นำใบไม้มาห่อภัตตาหาร แล้วยื่นต่อ ๆ กัน เพื่อส่งไปยังบุษบกที่ประทับอยู่
บางคนก็โยนข้าว ปาบ้าง ด้วยอำนาจอธิษฐานของผู้มีจิตศรัทธาและพระอภินิหารของพระพุทธเจ้า
ทำให้ภัตตาหารเหล่านั้นตกไปในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น
วันชักลากพระจะทำในวันออกพรรษา คือวันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ดของทุกปี พุทธศาสนิกชนแต่ละวัดจะตกลงนัดหมายชักลากพระไปยังจุดศูนย์รวม
ณ ที่นั้มีการแข่งขันตีโพน การประกวดนบพระ กลางคืนมีการเล่นมหรสพต่าง ๆ วันรุ่งขึ้นคือ
วันแรมสองค่ำ เดือนสิบเอ็ด จึงพากันลากพระกลับวัด
การเตรียมการเพื่อประกอบพิธีกรรมมีดังนี้
การแต่งนมพระ
นมพระหรือพนมพระหมายถึง ยานพาหนะที่ใช้ประดิษฐานพระพุมธรูปปางอุ้มบาตรนิยมทำกันสองแบบ
แบบที่ใช้ลากทางบกเรียกว่า นมพระ
อีกแบบหนึ่งใช้ลากทางน้ำเรียกว่า เรือพระ
การสร้างนมพระนิยมสร้างบนร้านม้า มีไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนรองรับข้างล่าง
ไม้สองท่อนนี้สมมุติเป็นพญานาค ทางด้านหัวทำเป็นหงอน ทางด้านท้ายทำเป็นรูปหางพญานาค
นิยมทำล้อเลื่อนด้วยไม้สี่ล้อไว้ในตัวพญานาคทั้งสองข้าง ด้านหน้าพญานาคทั้งสองมีเชือกขนาดใหญ่พอกำมือ
ยาวประมาณ ๒๐ - ๓๐ เมตร ผูกอยู่ข้างละเส้นใช้สำหรับชักลากพระ ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง
มีลวดลาย และระบายสีสวยงาม ข้างนมพระมีโพนสองลูก กลอง ฆ้อง หรือระฆังอย่างละลูก
บุษบกเป็นส่วนสำคัญที่สุด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ที่เรียกว่า
พระลาก
นมพระ
จะได้รับการตกแต่งงดงาม รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว และธงสามชายด้านละผืน
มีธงราว ธงยืนห้อยระยาว ตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ใบ และทางมะพร้าว กิ่งไม้และใบไม้ที่มีสีสันงดงามประดับด้วยดอกไม้สด
อุบะดอกไม้สดห้อยระย้า ตัวพญานาคตกแต่งประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ กลางลำตัวสร้างเป็นร้านสูง
๑.๕๐ เมตร สำหรับตั้งบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหลังนมพระมีม้านั่งหรือธรรมาสน์สำหรับหมู่พระสงฆ์
ด้านหน้าพระพุทธรูปเป็นที่วางบาตร สำหรับรับต้มจากผู้ที่มาทำบุญ
การหุ้มโพน
โพนเป็นเครื่องตี ใช้ประโคมพระลาก การหุ้มโพนใช้เวลานานนับเดือน มีกรรมวิธีที่ซับซ้อน
แต่ละวัดต้องมีโพนสองใบ เสียงทุ้มหนึ่งใบ และเสียงแหลมหนึ่งใบ เสียงโพนเป็นจังหวะให้ความเร้าใจในขณะลากพระ
การคุมพระ
เป็นวิธีการที่พุทธบริษัทของวัดตีโคม เป็นการประโคมก่อนถึงวันลากพระ โดยจะตีโพนเป็นระยะก่อนถึงวันรับลากพระประมาณหนึ่งถึงสองสัปดาห์
การคุมพระมักทำตอนกลางคืน เสียงโพนจะดังกังวานชัดเจนไปไกล
การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
เมื่อถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด พุทธบริษัทจะอัญเชิญพระลากออกจากวิหารหรืออุโบสถ
ทำความสะอาด สรงน้ำพระ ชะโลมเครื่องหอมต่าง ๆ แล้วเปลี่ยนจีวรให้สวยงาม มีพิธีสงฆ์สวดสมโภช
มีการเทศนาในเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า จนถึงเสด็จกลับมายังมนุษยโลก
การตักบาตรหน้าล้อ
ตอนเช้าตรู่ของแรมค่ำขึ้น เดือนสิบเอ็ด พุทธศาสนิกชนจะนำภัตตาหารมาตักบาตร
ทางวัดจะตั้งโต๊ะบาตรเรียงอยู่หน้าพระลาก การตักบาตรหน้านมพระเรียกว่า บาตรหน้าล้อ
แล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในนมพระ หลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าแล้ว
พุทธบริษัทจะนำต้มซึ่งเป็นขนมชนิดหนึ่งทำจากข้าวเหนียว ห่อด้วยใบพ้อแล้วต้มให้สุก
นำมาใส่บาตรและจัดแขวนต้มหน้าพระ เมื่อนมพระผ่านหน้าบ้านใคร คนในบ้านนั้นก็จะนำต้มออกมาทำบุญตลอดเส้นทาง
การลากพระบก
เป็นการลากนมพระซึ่งต้อง ใช้คนลากเป็นจำนวนมาก สมัยโบราณใช้ล้อไม้เลื่อนนมพระ
ต้องมีเชือกสองสายแบ่งเป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย เมื่อผ่านหน้าบ้านใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยกันลากพระไปจนไกลพอสมควร
แล้วจึงมีคนลากจากบ้านถัดไปมารับทอดต่ออย่างไม่ขาดสาย คนลากจะประสานเสียงร้องบทลากพระ
เพื่อเป็นการเสริมสร้างและผ่อนแรงไปในตัว
วันรุ่งขึ้นเมื่อลากพระกลับวัด พุทธบริษัทจะช่วยกันทำความสะอาด เป็บพระลาก
และเข้าของเครื่องใช้ให้เรียบร้อยเหมือนเดิม แล้วจึงแยกย้ายกันกลับ
การลากพระน้ำ
เป็นการลากเรือพระ นิยมทำกันในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นที่ลุ่มมีลำคลองมากได้แก่
พื้นที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียงใหญ่ อำเภอชะอวด อำเภอฉวาง การเตรียมการก็เช่นเดียวกันกับการลากพระบก
แต่เปลี่ยนจากนมพระบนล้อเลื่อนมาเป็นนมพระบนเรือ เรียกว่า เรือพระ โดยการนำเรือสองหรือสามลำมายึดโยงกัน
เรียกว่า การคาดเรือพระ แล้วสร้างนมพระบนเรืออัญเชิญพระลากมาประดิษฐานบนเรือพระ
การลากเรือพระใช้เรือพายเรือแจวหลายลำช่วยกันลาก พิธีกรรมต่าง ๆ และบทร้องที่ใช้ลากพระก็ปฎิบัติเช่นเดียวกัน
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
การแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นการแห่ผ้าผืนยาวไปบูชาพระธาตุ โดยการนำขึ้นโอบล้อมพระบรมธาตุเจดีย์
ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชและพุทธศาสนิกชนในจังหวัดต่าง
ๆ ปฎิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน
ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์อยู่นั้น ได้มีการบูรณะปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่แล้วเสร็จเมื่อปี
พ.ศ.๑๗๗๓ ในขณะที่เตรียมการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น ได้มีชาวปากพนังมากราบทูลว่า
คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่ง มีภาพเขียนเรื่องพระพุทธประวัติที่เรียกว่า
ผ้าพระบฎ
พระองค์จึงให้ประกาศหาเจ้าของได้ความว่ามีชาวพุทธจากเมืองหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฎไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา
แต่ถูกพายุพัดมาขึ้นที่ชายฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีพระราชดำริว่าควรนำผ้าพระบฎไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์
เนื่อในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของผ้าบฎก็ยินดี กาแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีมาตั้งแต่นั้น
และดำเนินการสืบต่อมา จนเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราชจนถึงปัจจุบัน
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนิยมจัดทำปีละสองครั้งคือ ในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม
ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา และในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา โดยนำผ้าไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์
ณ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร แต่ปัจจุบันนิยมทำปีละครั้งเดียวคือ ในวันมาฆบูชา
วันเพ็ญเดือนสาม
การเตรียมผ้าพระบฎ
ผ้าที่จะนำขึ้นห่มพระธาตุมักนิยมใช้ผ้าสีขาว เหลือง และแดง พุทธศาสนิกชนผู้ใดต้องการห่มผ้าพระธาตุ
ก็จะเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความศรัทธาของตน เมื่อไปถึงวัดก็จะนำผ้ามาผูกต่อกันให้ได้ความยาวพอที่จะห่มรอบองค์พระธาตุเจดีย์ได้
ผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์ผืนพิเศษจะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนโดยช่างผู้ชำนาญการเขียนภาพแต่เดิม
การจัดขบวนแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ
เมื่อถึงวันแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ จะเริ่มด้วยการจัดอาหารหวานคาว เครื่องอุปโภคและบริโภค
ที่จำเป็นไปถวายพระสงฆ์ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยการหาบคอนกันไปเป็นขบวนแห่ที่สวยงาม
พร้อมกับนำผ้าพระบฎ และผ้าสีเหลือง แดงหรือขาวไปวัด การแห่ผ้าขึ้นธาตุจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่
แต่ปัจจุบันเนื่องจากมีผู้คนมาจากทั่งสารทิศ ขบวนแห่ขึ้นธาตุจึงมีตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย
เดิมขบวนแห่ขึ้นธาตุทุกขบวนนิยมใช้ดนตรีพื้นบ้านนำขบวนได้แก่ ดนตรีโนรา แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นกลองยาว
ซึ่งบรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินเรียงแถวเป็ฯริ้วยาวไปตามความยาวของผืนผ้า
ทุกคน (เทิน) ผ้าพระบฎไว้เหนือศีรษะ เพราะถือว่าผ้าพระบฎเป็นเครื่องสักการบูชาพระพุทธเจ้า
จึงควรถือไว้ในระดับสูงกว่าศีรษะ
การกราบผ้าพระบฎ
เมื่อขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุถึงวัดพระมหาธาตุ ฯ แล้ว ก็จะมีการทำพิธีกราบผ้าพระบฎ
โดยมีหัวหน้าคณะกล่าวนำด้วยภาษาบาลี แล้วตามด้วยคำแปลมีความว่า
"ข้าแต่พระผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าห่มพระธาตุนี้แก่พระพุทธเจ้า
เพื่อเป็นพุทธบูชา ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอกราบไหว้ซึ่งพระเจดีย์ทั้งหลาย ในสถานที่นี้
ขออานิสงส์แห่งบุญกุศลของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายและญาติมิตรทั้งหลาย
เพื่อความสุขความเจริญตลอดกาลนานเทอญ"
การนำผ้าขึ้นห่มธาตุ เมื่อกล่าวคำถวายผ้าพระบฎเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็จะแห่ทักษิณาวัตรรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์สามรอบแล้ว นำผ้าเข้าสู่วิหารพระทรงผ้า
(พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์) ผู้ร่วมในขบวนแห่จะส่งผู้แทนเพียงสามหรือสี่คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของวัดนำผ้าพระบฎขึ้นโอบล้อมพระบรมธาตุเจดีย์
|