www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
เมืองพะเยามีลักษณะเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในล้านนา คือพื้นที่ชุมชนอยู่ในหุบเขา
ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยหลายแห่ง ชุมชนบางแห่งที่มีความสำคัญ ก็จะมีการสร้างคูคันดิน
หรือกำแพงล้อมรอบเรียกว่า
เวียง
จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง
แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์
ส่วนใหญ่ได้มาจากหลักฐานในเอกสาร พงศาวดาร ตำนาน หลักฐานทางโบราณคดี และศิลาจารึก
จากสภาพภูมิประเทศซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา มีลำน้ำอิงไหลผ่าน และจากการสำรวจพบขวานหินขัดทั้งขนาดเล็ก
- ใหญ่ ทั้งแบบมีบ่า และไม่มีบ่า สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่ในเขตพะเยานี้เดิมเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จากการศึกษาทางโบราณคดี พบเวียงโบราณอยู่ในพะเยาหลายแห่ง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่มากมาย
ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ (ก่อนปี พ.ศ.๑๘๐๐) พวกที่ตั้งถิ่นฐานบนที่สูงกับพวกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ราบยังนับถือผีอยู่
ยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ หลังจากนั้นได้มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก
เชื่อมโยงหล่อหลอมให้ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นพวกเดียวกันเกิดเป็นบ้านเมืองขนาดเล็ก
ๆ ขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่ม แล้วพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่เรียกว่า พยาว
หรือ พะเยา เป็นศูนย์กลางการปกครองในภูมิภาคแถบนี้
เมืองพะเยาเป็นเมืองขนาดใหญ่มีอาณาเขตกว้างขวาง ประกอบด้วยชุมชนใหญ่น้อยจำนวนมาก
แบ่งออกเป็นพันนาต่าง ๆ ได้ ๓๖ พันนา ขอบเขตแต่ละพันนามีลักษณะคล้ายตำบลในปัจจุบัน
เมืองโบราณศูนย์กลางเมืองพะเยา
บริเวณนี้ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบอยู่ห้าเมืองคือ
เวียงพะเยา
คือตัวเมืองพะเยาปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของกว๊านพะเยา จากพงศาวดารโยนกกล่าวว่าเมืองพะเยาสร้างสมัยขุนจอมธรรม
เจ้าเมืองคนแรกของเมืองพะเยา เมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๙ ส่วนกษัตริย์ที่ครองเมืองพะเยาสมัยแรกคือ
พญางำเมือง
ภายในเมืองพะเยามี ๑๘ วัด เคยเป็นวัดร้างมาก่อน บางวัดได้มีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์
และยังเป็นวัดร้างอยู่ ๑๑ วัด
เวียงท่าทองหรือเวียงประตูชัย
ตั้งอยู่ห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันออก ที่บ้านประตูชัย ตำบลท่าวังทอง
อำเภอเมือง ฯ
ฝั่งเมืองวางตัวในแนวตะวันออก
- ตะวันตก ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ด้านตะวันออกเฉียงเหนือกว้างประมาณ
๕๐๐ เมตร ด้านตะวันตกเฉียงใต้กว้างประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร คูเมืองขุดเป็นแนวโอบล้อมเนินสูงสามแห่ง
จึงมีรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า
เวียงท่าทองสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ตรงกับสมัยพญาติโลกราชและพระเมืองแก้วครองอาณาจักรล้านนา
และพญายุทธิษฐิระครองเมืองพะเยา
เวียงปู่ล่าม
ตั้งอยู่ห่างจากเมืองเวียงท่าทองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่บ้านศาลา
ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง
ผังเมืองเป็นรูปวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๘๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินเขาไม่สูงนัก
เดิมภายในเวียงปู่ล่ามมีซากโบราณสถานอยู่มากมาย พบศิลาจารึกที่วัดอารามป่าน้อย
กล่าวว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๗ พบภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาในล้านนา
และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
เวียงหนองหวี หรือเวียงแก้ว หรือเวียงบ้านศาลา
ตั้งอยู่ห่างจากเวียงปู่ล่าม มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่บ้านหนองหวี ตำบลท่าวังทอง
อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณประเภทคูเมืองชั้นเดียว มีคันดินขนาบสองข้าง
รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวคูน้ำคันดินด้านทิศเหนือยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร
ด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ
๕๐๐ เมตร
ภายในเวียงหนองหวีไม่เหลือซากโบราณสถาน พบเพียงเศษภาชนะดินเผามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๐ - ๒๑ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองแฝดกับเวียงปู่ล่าม
เวียงพระธาตุจอมทอง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ทางทิศเหนือของเวียงพะเยา ตั้งอยู่ที่บ้านแท่นดอกไม้
ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ มีคูเมืองหนึ่งชั้นขนาบด้วยคันดินสองข้าง คูเมืองล้อมรอบเนินเขาลูกเตี้ย
ๆ รูปวงรี ยาวประมาณ ๘๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร
ภายในเวียงมีพระธาตุจอมทอง
ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเวียง เป็นเวียงพระธาตุประจำพะเยาเช่นเดียวกับเมืองต่าง
ๆ หลายเมืองในล้านนาที่มีเวียงพระธาตุอยู่ด้วย การขุดคูคันดินล้อมรอบพระธาตุ
คงเนื่องมาจากคตินทีสีมาที่แพร่หลายทั่วไปในล้านนา
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
เมืองโบราณตามพันนาต่าง ๆ
ชุมชนตามพันนา มีลักษณะเป็นเพียงหมู่บ้าน จึงไม่จำเป็นต้องขุดคูคันดินล้อมเป็นเวียง
แต่บางแห่งก็มีคล้ายเวียง
เวียงต๋อมคง
อยู่ที่บ้านต๋อมคง ตำบลต๋อมคง อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา
ห่างจากเวียงพระธาตุจอมทองมาทางตะวันตกประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นเมืองโบราณ ประเภทคูสองชั้น
คันดินสามชั้น วางตัวตามแนวเหนือ - ใต้ แบ่งเป็นสองเวียง มีลักษณะเป็นเนินเขาลูกเล็ก
ๆ มีการขุดคูคันดินล้อมรอบเป็นสองส่วน อยู่ติดกันเรียกว่า เวียงหนึ่ง และเวียงสอง
เวียงเป็นรูปไม่สม่ำเสมอเพราะขาดคูน้ำคันดินล้อมไปตามรูปร่างของเนินเขา เวียงหนึ่งยาวประมาณ
๖๘๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเวียงสอง เวียงสองยาวประมาณ
๓๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๒๐๐ เมตร
ภายในเวียงต๋อมไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา
และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง พบแนวคันดินโบราณคล้ายถนนเชื่อมกับเวียงพระธาตุจอมมทอง
เวียงโบราณบนดอยม่อนแจ๊ะ
ตั้งอยู่บนยอดดอยม่อนแจ๊ะใกล้กับดอยบุษราคัม (วัดอนาลโย) ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง
ฯ ห่างจากเวียงต๋อม ลงมาทางใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา
มีคูน้ำคันดินหลายชั้น ในคูไม่มีร่องรอยการเก็บน้ำ กว้างประมาณ ๕ เมตร ไม่พบซากโบราณสถานใด
ๆ และไม่มีร่องรอยการอยู่อาศัยในสมัยโบราณ
ลักษณะของเวียง แสดงว่าใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัวในยามศึกสงคราม
เวียงโบราณที่บ้านเหยี่ยน
ตั้งอยู่ที่บ้านเหยี่ยน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง อยู่ห่างจากเวียงพะเยา มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ
๑๕ กิโลเมตร ตัวเวียงตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ มีคูน้ำคันดินค่อนข้างซับซ้อน
คูกว้างประมาณ ๑๐ เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ภายในตัวเวียงมีวัดร้างอยู่แห่งหนึ่ง
พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่บาง บริเวณด้านนอกเวียง มีวัดร้างอยู่หลายแห่ง
พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายและเศษภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบของเตาในล้านนาได้แก่
แหล่งเตาพาน เตาเวียงกาหลง และเตาพะเยา เวียงนี้คงมีการอยู่อาศัยทั้งในเวียงและนอกเวียง
พบศิลาจารึกบริเวณเวียงนี้สามแผ่น ปรากฎคำว่าเวียงปู่พระ อาจเป็นชื่อของเวียงนี้ก็ได้
เวียงโบราณที่บ้านห้วยหม้อ
ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยหม้อ ตำบลตุ่ม อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา
ห่างจากเวียงต๋อมดงลงมาทางใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร และห่างจากเวียงพะเยาไปทางทิศตะวันตกประมาณ
๖ กิโลเมตร ตัวเวียงเป็นเนินเขาลูกเล็ก ๆ มีคูน้ำชั้นเดียว กว้างประมาณ ๖
เมตร มีคันดินขนาบทั้งสองข้าง พื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ ภายในเวียงมีเจดีย์ร้างอยู่หนึ่งแห่ง
พบพระพุทธรูปหินทรายทรงเครื่องสององค์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ พบเศษภาชนะดินเผาผลิตจากแหล่งเตาเวียงกาหลง
เตาพาน และเตาสันกำแพง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
เวียงบัวหรือเวียงก๋า
ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ตำบลแม่กา อำเภอเมือง ฯ อยู่ทางทิศใต้ของพะเยา ห่างจากเวียงพะเยาประมาณ
๑๔ กิโลเมตร อยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ มีคูคันดินล้อมรอบ แบ่งออกเป็นสองเวียงอยู่ใกล้กันคือ
เวียงบัวหนึ่ง
รูปร่างคล้ายรูปใบโพธิ์ ตัวเวียงกว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร
คูเวียงด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือมีชั้นเดียว กว้างประมาณ ๑๐
เมตร มีคันดินขนาบสองข้าง ประมาณ ๖ เมตร ด้านนอกกว้างประมาณ ๕ เมตร คูเวียงด้านทิศใต้มีคูสองชั้น
มีคันดินอยู่ตรงกลาง เวียงบัวสอง
รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแนวเหนือ - ใต้ กว้างประมาณ ๔๐๐ เมตร
ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร มีคูสองชั้น คันดินสามชั้น คูด้านในกว้างประมาณ ๑๑ เมตร
คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร คูชั้นนอกกว้างประมาณ ๗ เมตร คันดินกว้างประมาณ
๔ เมตร ระหว่างคูมีคันดินคั่น
ในเขตเวียงไม่พบซากโบราณสถานใด ๆ พบเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาพะเยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๐ ห่างจากเวียงบัวไปทางใต้ ประมาณ ๒ กิโลเมตร พบแหล่งเตาเผา ภาชนะดินเผา
เขาม่อนออม แต่ไม่พบเตาเผา
เวียงฮางหรือเวียงพระธาตุแจ้โว้
ตั้งอยู่ที่บ้านปาง ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงบัว
ห่างออกไปประมาณ ๗ กิโลเมตร และห่างจากเวียงท่าวังทองมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ
๑๗ กิโลเมตร ที่ตั้งเป็นเนินเขาโดด ๆ ค่อนข้างสูง เป็นที่ตั้งของพระธาตุแจ้โว
คูคันดินขุดตามภูมิประะทศ ผังเมืองวางในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก กว้างประมาณ
๙๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร มีคูชั้นเดียว คันดินขนาบสองข้าง คูกว้างประมาณ
๑๙ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๕ เมตร ตอนกลางเวียงมีคูน้ำคันดินผ่ากลาง เชื่อมต่อระหว่างคูเวียงด้านเหนือกับด้านใต้
กว้างประมาณ ๑๖ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๘ เมตร มีห้วยร่องขุยไหลผ่านทางทิศตะวันออก
ภายในเวียงมีโบราณสถานสองแห่งคือวัดพระธาตุแจ้โว้ ตั้งอยู่บนยอดเนิน มีเจดีย์ทรงล้านนาหนึ่งองค์คือพระธาตุแจ้โว้
พระพุทธรูปหินทรายที่พบ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้คูคันดินด้านเหนือ เป็นซากวัดร้างขนาดใหญ่
ประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร พบเครื่องใช้แกะสลักจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเผาล้านนาและเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑
เวียงโบราณพระธาตุภูขวาง
ตั้งอยู่ที่บ้านพระธาตุภูขวาง ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง ฯ ยังไม่มีการสำรวจ
เวียงโบราณที่บ้านดงอินตา
ตั้งอยู่ที่บ้านดงอินตา ตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ มีคูคันดินล้อมรอบ พื้นที่เป็นรูปวงกลม
มีประตูทั้งสี่ด้าน
เวียงลอ
ตั้งอยู่ที่บ้านลอ ตำบลหงส์หิน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบมีผังเป็นรูปสี่หลี่ยมผืนผ้า
กว้างประมาณ ๕๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๗๐ เมตร พบซากโบราณสถานประมาณ ๗๐ แห่ง
บริเวณเวียง ปรากฎหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์คือ
เครื่องมือหินกะเทาะ ตุ้มถ่วงแห แวดินเผา ภาชนะเนื้อดินธรรมดา ส่วนโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์
ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาแหล่งเตาพะเยา เครื่องถ้วยจีน และพระพุทธรูป
เวียงโบราณที่บ้านฝั่งหมิน
ตั้งอยู่ที่บ้านฝั่งหมิน ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณบ้านจุนหลวง
ตั้งอยู่ที่บ้านจุนหลวง ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปวงกลม
ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณบ้านร่องคู
ตั้งอยู่ที่บ้านร่องคู ตำบลจุน อำเภอจุน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ อยู่ใกล้เวียงโบราณ
บ้านจุนหลวง ยังไม่มีการสำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณบ้านร่องอ้อย
ตั้งอยู่ที่บ้านร่องอ้อย ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณบ้านดง
ตั้งอยู่ที่บ้านดง ตำบลงิม อำเภอปง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณวัดนั่งดิน
ตั้งอยู่ที่บ้านพระนั่งดิน ตำบลเวียง อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงวุ่น
ตั้งอยู่ที่บ้านวุ่น ตำบลทุ่งกล้วย กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
วางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก คูน้ำสองชั้น คันดินสามชั้น ล้อมเนินเขา สามเนิน
พื้นที่เมืองแคบและยาว
เวียงโบราณบ้านร้องเชียงแร้ง (๒)
ตั้งอยู่ที่บ้านร้องเชียง ตำบลเชียงแร้ง กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ
ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงโบราณบ้านปางงัว
ตั้งอยู่ที่บ้านปางงัว ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ยังไม่ได้สำรวจศึกษาอย่างละเอียด
เวียงแก
ตั้งอยู่ที่บ้านแกใหม่ ตำบลภูซาง กิ่งอำเภอภูซาง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบน
ด้านไม่เท่า คูน้ำคันดินด้านทิศเหนือ ยาวประมาณ ๕๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันออกยาวประมาณ
๔๐๐ เมตร ด้านทิศใต้ยาวประมาณ ๔๕๐ เมตร ด้านทิศตะวันตกติดกับเวียงแก ๒
ยาวประมาณ ๓๗๕ เมตร
-
เวียงแก ๑
อยู่ทางทิศตะวันออกของเวียงแก ๒ มีคูเมืองด้านทิศตะวันตกของเวียงแก
๑ และคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเวียงแก ๒ ติดต่อกัน แต่แยกออกจากกันไม่ได้ใช้คูเมืองร่วมกัน
เวียงแก ๑ และเวียงแก ๒ มีลักษณะเป็นเมืองแฝด เวียงแก
๑ ตั้งอยู่บนเนินค่อนข้างสูง มีขนาดเล็ก ไม่พบซากโบราณสถาน พบโบราณวัตถุน้อยมาก
มีเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พุทธศตวรรษที่
๒๑
- เวียงแก ๒
มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ กว้างประมาณ ๖๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ด้านทิศเหนือมีลำน้ำเปือยไหลผ่าน
และใช้เป็นส่วนหนึ่งของคูน้ำคันดิน พบซากโบราณสถานสองแห่งทางทิศเหนือ มีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป
พบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากจากแหล่งเตาในล้านนา และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง
เวียงแจ๊ะ
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าตาด ตำบลศรีถ้วย อำเภอแม่ใจ เป็นเวียงที่พบใหม่ มีคูคันดิน
มีซากเจดีย์ที่สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่
|