www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางธรรมชาติ
ป่าน้ำหนาว
ป่าน้ำหนาวเป็นชื่อเรียกเดิมของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
ซึ่งในอดีตเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยไข้ป่า และสัตว์ป่านานาชนิด กล่าวกันว่าป่าแห่งนี้มี
เพียงสองฤดูกาลเท่านั้นคือ ฤดูหนาวและฤดูฝน เป็นดินแดนแห่งความหนาวเย็นตลอดปี
ในฤดูหนาว น้ำค้างที่จับอยู่บนยอดหญ้าจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงติดต่อกับจังหวัดเลย ด้านบนติดต่อกับแม่น้ำโขง
ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับไอเย็นจากร่องอากาศจากเทือกเขาหิมาลัย เคลื่อนที่เข้ามาตามลำน้ำโขง
ทำให้อากาศหนาวเย็นตลอดปี ในอดีต ลำห้วยน้ำหนาว ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของป่า
ลำธารสายนี้เคยกลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว
ในปี พ.ศ๒๕๑๕ กรมป่าไม้ได้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ห้าของประเทศ
ครอบคลุมพื้นที่สองจังหวัดคือ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า และอำเภอน้ำหนาว ในจังหวัดเพชรบูรณ์
อุทยาน ฯ น้ำหนาวมีพื้นที่ประมาณ ๙๖๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๖๐๔,๐๐๐ ไร่
ทางทิศใต้ติดต่อเป็นป่าผืนเดียวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ป่าน้ำหนาวมีเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ทางทิศเหนือเป็นเทือกเขาสูง
และภูผาหินปูนเป็นจำนวนมาก มีความสวยงามที่โดดเด่นไม่ซ้ำแบบกัน ทางด้านทิศตะวันตก
จนถึงทางด้านทิศใต้เป็นแนวเทือกเขาสูงติดต่อกัน สลับซับซ้อนเป็นปราการกั้นเขตป่ากับเขตเมือง
มียอดเขาสูง เช่น เขาดงสวนเมี่ยง เขาแปปันน้ำ และเขายอดพรม เป็นต้น ทางทิศตะวันออกมีเทือกเขาที่วางตัวในแนวตะวันออก
- ตะวันตก ยาวประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เรียกว่าภูหลังกงเกวียน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
จะเห็นเทือกเขาสูงตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่เหนือที่ราบโดยรอบ มีลักษณะพิเศษคือ
เป็นยอดเขาตัดคล้ายยอดภูเขาไฟเรียกกันว่า ภูด่านอีป้อง หรือภูผาจิต เป็นยอดเขาที่สูงสุดของป่าน้ำหนาว
คือ สูง ๑,๒๗๑ เมตร จากระดับน้ำทะเล
พรรณไม้
ผืนป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบประมาณร้อยละ ๖๐ นอกจากนั้นเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่
ป่าเต็งรังและป่าสนเขา กระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ทั่วไป ป่าน้ำหนาวมีทั้งป่าดงดิบที่ไม่ผลัดใบตลอดปี
ส่วนป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง จะเปลี่ยนสีผลัดใบในฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
โดยเฉพาะบริเวณภูหลังกงเกวียน เทือกเขาหลังโค้งทางทิศตะวันออกของเขตอุทยาน
ฯ ต้นไม้ในบริเวณนี้จะผลัดใบ แลดูละลานตาสดใสด้วยสีใบไม้ที่ออกสีเหลือง ส้มและแดง
นอกจากนั้นป่าสนเขา ณ ป่าแห่งนี้ก็นับว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
บริเวณห้วยจังหันทางตอนใต้ของเขตอุทยาน ฯ เป็นดงไม้สนล้วน ๆ ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี
ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๑๐ ตารางกิโลเมตร ไม้สนเขาแต่ละต้นตั้งตรงสูงเสียดฟ้า
และมีขนาดใหญ่ยืนเรียงรายกันนับพันต้น
ในฤดูแล้ง ทุ่งหญ้าจะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นน้ำตาลแก่และจะกลับเป็นสีเขียวอีกครั้งในฤดูฝน
ดอกไม้ป่า กล้วยไม้ดิน และกล้วยไม้นานาชนิด จะออกดอกเบ่งบานแต่งแต้มทุ่งหญ้าด้วยสีม่วงแดง
และเหลือง ภูมิประเทศบริเวณห้วยจังหันเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆมีเนินสูงสุดแห่งหนึ่งเรียกว่า
ภูกุ่มข้าว
สามารถมองเห็นแนวยอดสน โอบล้อมเป็นบริเวณกว้าง จึงมักเรียกห้วยจังหันนี้ว่า
สวนสนภูกุ่มข้าว
ไม้สนเขา
ต่างจากพันธุ์ไม้ในป่าอื่น ๆ เพราะไม่ใช่พันธุ์ไม้ในเขตร้อน แต่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีวิวัฒนาการมาจากเขตอบอุ่นทางซีกโลกเหนือ
ที่พบในประเทศไทยมีเพียงสองชนิดคือ สนสามใบ
และสนสองใบ
โดยทั่วไป ไม้สนเขาในเขตร้อนมักขึ้นปะปนกับป่าอื่น ๆ เช่น สนสามใบมักขึ้นปะปนกับป่าดิบเขา
สนสองใบมักขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง สวนสนภูกุ่มข้าวนับเป็นป่าสนที่พิเศษคือ
มีสนสามใบขึ้นอยู่ล้วน ๆ เป็นป่าสนสามใบที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
ของประเทศไทย
ในป่าดงดิบตอนกลางของอุทยาน ฯ มีป่าสนเขาสองใบขึ้นครอบคลุมพื้นที่เป็นกลุ่มใหญ่ชาวบ้านเรียกว่า
สวนสนบ้านแปก
(แปกหมายถึงต้นสน) เป็นสนสองใบขนาดใหญ่มาก แต่ละต้นสูงกว่า ๓๐ เมตร จากการสำรวจพบว่า
แต่ละต้นมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี
พันธุ์สัตว์
ป่าน้ำหนาวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด มีทั้งสัตว์บกขนาดใหญ่ สัตว์ปีก
สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ ที่มีสายพันธุ์พิเศษหลายชนิด ในอดีตเคยมีช้างชุกชุม
นอกจากนั้นก็มี กระทิง วัวแดง เป็นต้น
ทางตอนเหนือของอุทยาน ฯ น้ำหนาว มีถ้ำขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่งเรียกกันว่า ถ้ำใหญ่น้ำหนาว
มีความลึกหลายร้อยเมตร เพิ่งมีการสำรวจพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลกคือ ค้างคาวชนิดหนึ่ง
ส่วนบริเวณป่าดงดิบนอกถ้ำก็พบตุ๊กแกป่าชนิดใหม่ของโลกอีกด้วย
ต้นน้ำลำธาร
ในถ้ำใหญ่น้ำหนาว มีลำธารสองสายไหลคดเคี้ยวเป็นทางลึกเข้าไป ซึ่งยังไม่มีผู้ใดรู้ว่าไปสิ้นสุดที่ใด
ชาวบ้านบางคนเล่าว่ามีปลาตาบอดในลำธาร ทุกปีที่น้ำหลากหรือฝนตกหนัก จะมีน้ำไหลออกมาจากปากถ้ำ
จึงมักเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า ถ้ำน้ำริน หรือภูน้ำริน
น้ำที่ไหลออกจากถ้ำคือ ต้นกำเนิดของห้วยขอนแก่น
ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น่ำป่าสัก
เทือกเขาและป่าดงพงไพรในป่าน้ำหนาว เป็นต้นน้ำลำธารแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำชีเป็นต้น
แม่น้ำป่าสัก
เปรียบเสมือนสายเลือดและชีวิตจิตใจของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ มีความยาวกว่า ๓๕๐
กิโลเมตร ไหลไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห้วยลำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักคือ
ห้วยขอนแก่น และห้วยน้ำดก ห้วยดังกล่าวมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูง ทางตอนเหนือและตะวันตกของพื้นที่
เช่น เขาถ้ำใหญ่ เขาวังภูตูบด่าน เขาดงสวนเมี่ยง เป็นต้น
ป่าภูกุบข้าว
เป็นต้นน้ำของห้วยจังหัน ห้วยพรม แล้วไหลลงแม่น้ำพรม และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนน้ำพรม
หรือเขื่อนจุฬาภรณ์ ในจังหวัดชัยภูมิ
ภูผาจิตหรือภูด่านอีป้อง
เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในป่าน้ำหนาว สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าชุกชุม
เป็นต้นน้ำสำคัญของห้วยสนามทราย ห้วยด่านอีป้อง ไหลลงสู่ลำน้ำเซิน ทั้งลำน้ำเซินและลำน้ำพรม
เป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำชี อันเป็นแม่น้ำสายหลักของชาววอีสาน
อุทยาน
ฯ ตาดหมอกและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าตะเบาะ - ห้วยใหญ่
ได้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าตะเบาะ - ห้วยใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
พื้นที่ประมาณ ๖๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๐๙,๐๐๐ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าในเทือกเขาเพชรบูรณ์
ติดต่อเป็นป่าผืนเดียวกับเขตอุทยาน ฯ ตาดหมอก
สภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชัน สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น และป่าดิบแร้งผสมเต็งรังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
นกป่ากว่า ๒๐๐ ชนิด โดยเฉพาะนกเงือก
เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีภูเขาสูงสลับซับซ้อน จึงมีน้ำหินปูนและน้ำตกอยู่เป็นจำนวนมาก
เช่น น้ำตกเก้าหลั่น น้ำตกตาดหมอก เป็นต้น
สวนสัตว์เปิดเขาค้อ
เมื่อปี พ.ศ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้
และสัตว์ป่า เพื่อพัฒนาบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเขาค้อ (เขาปางก่อ - วังชมพู)
โดยจัดเป็นสวนสัตว์เปิด มีพื้นที่ประมาณ ๑๔ ตารางกิโลเมตร กรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจ
และจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาค้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗
เป็นต้นมา
สวนสัตว์เปิดเขาค้อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีธรรมชาติของป่า และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ
และสัตว์ป่าที่เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น เลียงผา
ละอง ละมั่ง เป็ดก่า สัตว์ป่าที่มีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมและต่อเศรษฐกิจเช่น
กวางป่า เนื้อทราย เก้ง วัวแดง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหลังเทา รวมทั้งนกต่าง
ๆ รวมแล้วมีสัตว์ป่ามากกว่า ๖๐ ชนิด
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
เขาค้อ
เป็นชื่อของทิวเขากลุ่มหนึ่งในจำนวนกลุ่มภูเขา ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ประกอบกันเข้าเป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์
เช่น เขาค้อ เขาย่า เขาใหญ่ เขาตะเคียนโงะ เขาหินตั้งบาท เขาห้วยทราย เขาอุ้มแพ
เขาผาซ่อนแก้ว เขาปู่ เขาโปกโหล่น เขาหลังค้ำ เป็นต้น
ชื่อเขาค้อมาจากต้นค้อ
ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และมีอยู่มากในบริเวณนั้น ต้นค้อเป็นไม้ตระกูลปาล์ม
ลำต้นและใบคล้ายต้นตาล มีผลออกเป็นทะลาย ลักษณะเหมือนผลหมาก กินได้ แต่ต้องนำมาต้ม
หรือลวกน้ำร้อนก่อน ถ้ากินดิบ ๆ จะมีรสฝาด
ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งกิ่งอำเภอโดยรวม เขตพื้นที่จากสามตำบลเข้าด้วยกันคือ
ตำบลแคมป์สน ๑๒ หมู่บ้าน ตำบลทุ่งสมอ ๘ หมู่บ้าน และตำบลนางั่ว ๓ หมู่บ้าน
แล้วให้ชื่อว่ากิ่งอำเภอเขาค้อ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอเขาค้อ มี ๗ ตำบล ๖๕
หมู่บ้าน
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่จึงได้ดึงดูดเกษตรกรจากท้องที่อื่น ๆ ให้อพยพเข้าไปประกอบอาชีพทำไร่
ตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐ รวมทั้งชาวเขามาตั้งถิ่นฐานทำการเกษตรด้วย
อำเภอเขาค้อมีลำน้ำธรรมชาติหลายสายได้แก่ ลำน้ำเข็ก ลำน้ำเสลียงแห้ง ลำน้ำสะเดาะพง
และลำน้ำค้อ มีน้ำตกที่สวยงามได้แก่น้ำตกศรีดิษฐ์ น้ำตกสามสิบคด น้ำตกเข็กน้อย
น้ำตกสันติสุข นอกจากนี้ยังมีแก่งที่สวยงามคือ แก่งบางระจัน
สภาพพื้นที่ของอำเภอเขาค้อเป็นป่า และเนินเขาใหญ่น้อย มีความสูง ๕๐๐ - ๑,๔๐๐
เมตร จากระดับน้ำทะเล ทำให้อากาศไม่ร้อนจัด แม้ในฤดูร้อน แต่จะหนาวจัดในฤดูหนาว
มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดประมาณ ๓ องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนชุก
จากการปราบปราม ผกค.ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๑ - ๒๕๒๕ ได้มีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานและรวบรวมหลักฐานต่าง
ๆ ไว้เป็นเครื่องเตือนใจอนุชนรุ่นหลัง คือ
อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ
ตั้งอยู่บนยอดเขาค้อ ฝาผนังภายในอนุสรณ์สถานจารึกชื่อผู้เสียชีวิตจากการสู้รบที่เขาค้อ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาทรงทำพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗
พิพิธภัณฑ์อาวุธ อยู่ในตำบลทุ่งสมอ
อำเภอเขาค้อ เดิมเคยเป็นฐานปืนใหญ่ สำหรับยิงสนับสนุนการสู้รบ ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง
โดยได้สะสมอาวุธ ยุทโธปกรณ์ที่เคยใช้ในการสู้รบครั้งนั้น เช่น ซากเครื่องบินขับไล่
เอฟ - ๕ รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
สถานที่อื่น
เช่น ศาลเจริญ ทองนิ่ม ศาลสินารักษ์ ค่ายฝึกบุญญานุสนธิ์ อนุสาวรีย์จีนฮ่อ
หอสมุด ฯลฯ
เขาค้อเป็นอำเภอที่มีธรรมชาติสวยงาม อากาศเย็นสบาย มีกระแสลมพัดผ่านตลอดเวลา
ผสมผสานกับการเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ของการสู้รบที่รุนแรง ทำให้เขาค้อมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
มะขามหวานเพชรบูรณ์
มะขามเป็นพืชสัญญลักษณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์มานาน จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
เมืองมะขามหวาน อีกชื่อหนึ่ง มะขามหวานพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงได้แก่
พันธุ์หมื่นจง อยู่ในตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า ส่วนมะขามหวานพันธุ์ที่มีชื่อเสียงต่อมาได้แก่
พันธุ์สีทอง พันธุ์สีชมพู พันธุ์ขันตี พันธุ์น้ำผึ้ง พันธุ์ประกายทอง ฯลฯ
สะเดาหวานเพชรป่าสัก
เป็นพืชยืนต้นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังไม่ปรากฎหลักฐานว่า
พบในจังหวัดอื่น สะเดาหวานมีมานานนับร้อยปี ส่วนที่กินได้คือ ใบ ยอด และดอก
บริเวณที่ปลูกกันมากคือ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก ปัจจุบันได้มีการปลูกกันแพร่หลายในทุกอำเภอ
ต้นสะเดาหวาน มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากต้นสะเดาทั่วไปคือ ส่วนยอดจะมีสีเขียวอ่อน
และบางพื้นที่จะมียอดสีเขียว เส้นใบและขอบจะมีสีแดงอ่อน
|