www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น
จิตรกรรมฝาผนังวัดนาทราย
วัดนาทรายปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่า วัดศรีมงคล ตั้งอยู่ที่บ้านนาทราย ตำบลวังบาล
อำเภอหล่มเก่า จากคำบอกเล่าของชาวบ้านสันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย
พระประธานในโบสถ์ เป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น
ผนังภายในโบสถ์ทั้งสี่ด้สน มีภาพเขียนสวยงามแบบโบราณ เป็นเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
สะท้อนให้เห็นชีวิตและสังคมในขณะนั้น ในแต่ละชาติ เช่น การประกอบอาชีพ หาเนื้อ
หาปลา ค้าขายทางเรือ มีภาพกลุ่มหมู่บ้านคนจีนไว้ผมเปีย ภาพนรก สวรรค์
ภาพการค้าขายทางเรือ การแต่งกายชุดสากล แสดงให้เห็นว่าสังคมสมัยอยุธยา
มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น โปร์ตุเกส และจีน
บ้านเพชรบูรณ์
มีหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก บ้านของชาวเพชรบูรณ์ดั้งเดิม มีลักษณะดังนี้คือ ใต้ถุนสูง
สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีหลังคาทรงจั่วแหลมพอดี เสาใช้เสากลม หน้าจั่วมีการสลักลวดลายหลายชนิด
เช่น เป็นรูปดวงอาทิตย์ หรือรูปสัตว์ต่าง ๆ มีห้องนอน และมีนอกชานยื่นออกมา
ภาษาและวรรณกรรม
จารึก
ที่พบในจังหวัดเพชรบูรณ์ จะเป็นจารึกลงในลานทองบ้าง ศิลาหินบ้าง และยังพบการจารึกบนวัตถุสำคัญ
เช่น ในรอยพระพุทธบาท บนองค์พระพุทธรูป เป็นต้น
จารึกลานทองคำ
พบในกรุพระเจดีย์ใหญ่ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่วัดมหาธาตุ ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นลานทองคำ ที่บรรจุอยู่ในท้องหมูสำริด ขนาดกว้าง ๔ เซนติเมตร
ยาว ๒๔ เซนติเมตร หนา ๐.๕ มิลลิเมตร และพบในไหอีกสองแผ่น แผ่นหนึ่งมีขนาดกว้าง
๒.๓ เซนติเมตร ยาว ๖ เซนติเมตร หนา ๐.๕ เซนติเมตร อีกแผ่นหนึ่ง กว้าง ๑.๕
เซนติเมตร ยาว ๗.๒ เซนติเมตร หนา ๐.๕ มิลลิเมตร จารึกด้วยอักษรไทยโบราณ
จากการอ่านของผู้เชี่ยวชาญการอ่านอักษรโบราณของกรมศิลปากร ได้คำอธิบายลานทองคำทั้งสามแผ่นดังนี้
แผ่นที่ ๑
จารึกนี้ สมเด็จพ่อพระยา ผู้มีนามว่า เพาวนาคำชี ต้องการไปสู่สิ่งที่ประเสริฐ
(ไปนิพพาน) จึงได้สร้างพระพุทธรูปเหล่านี้ไว้ เมื่อปีกุน เดือนเจ็ด วันศุกร์
ซึ่งเป็นวันพระกลางเดือน ผู้ใดได้จารึกนี้ให้ทะนุบำรุง พระพุทธศาสนาอย่าให้เสื่อมสูญไป
สำหรับปีที่สร้างที่บอกว่า เป็นปีกุนนั้น ผู้เชี่ยวชาญการอ่านอักษรโบราณ ประมาณเป็นปี
พ.ศ.๑๙๒๖ เนื่องจากว่าอักษรในลานทองนี้ ใกล้เคียงกับอักษรในลานทองของ นางหลิน
ซึ่งได้บอกจุลศักราช ๗๔๖ ตรงกับ พ.ศ.๑๙๒๖
แผ่นที่ ๒
พระเจ้าเพชรบูร ผู้เป็นลูกพ่อพระยา (ที่กล่าวนามไว้ในแผ่นที่ ๑) เป็นผู้สร้าง
(คำว่า เพชรบูร แปลว่า เมืองพืชพันธุ์ธัญญาหาร )
แผ่นที่ ๓
พ่อรพะยาลักกูร (อาจเป็นน้องหรือหลานอีกคนหนึ่ง ที่เป็นผู้สร้างลานทองคำนี้)
ศิลาจารึกด้วยอักษรโบราณ
ปัจจุบันนำไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อำเภอเมือง ฯ
จารึกพระบรมปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร.
บนธรรมาส วัดมหาธาตุ ธรรมาสโบราณนี้แกะสลักลวดลายกนก อ่อนช้อยสวยงาม สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๓ เพื่ออุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จารึกที่พบบริเวณเมืองศรีเทพ
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสฤกต จารึกเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกบนเสากลม
ทำด้วยหินทรายเนื้อละเอียด รูปร่างคล้ายดอกบัวตูม กว้าง ๓๖ เซนติเมตร สูง
๑๒๘ เซนติเมตร หนา ๕๖ เซนติเมตร จารึกเหลืออยู่หกบรรทัด เพียงด้านเดียว
ศิลาจารึกหลักนี้เป็นส่วนบนของเสากลม มีอักษรจารึกโดยรอบ แต่เนื่องจากด้านหนึ่งของเสา
เนื้อศิลาแตกหักไป ข้อความในจารึกแต่ละบรรทัด จึงมีอยู่เฉพาะตอนกลาง ขาดส่วนต้นและส่วนปลาย
ของแต่ละบรรทัด ทำให้ข้อความในจารึกขาดตอน อ่านจับใจความไม่ได้สมบูรณ์ ตัวอักษรที่จารึกมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๐ - ๑๑ แสดงว่าอาณาจักรเจนละ หรือขอมรุ่นแรก ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงลุ่มแม่น้ำป่าสักแล้ว
ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่ง เป็นภาษาขอมสั้น ๆ ใช้ตัวอักษรที่มีอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๖ กล่าวถึงชื่อบุคคลเกี่ยวกับอิทธิพลของขอม นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปศิลาแบบทวารวดี
มีจารึก เย ธมมา ฯ เป็นภาษาบาลี อยู่บนฐานด้วย
ในจารึกที่พบบริเวณเมืองศรีเทพ กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองศรีเทพ กับถ้ำเขาถมอรัตน์
กล่าวถึงพระอิศวร ฯลฯ ฤาษี ธิดาฤาษี จารึกสองหลักนี้มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๒ จารึกเป็นภาษาสันสฤกต
จารึกการสร้างพระพุทธรูปสำริดปางมาวิชัย
มีจารึกว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ อยู่ในอุโบสถ วัดศิลาโมง ตำบลวังชมภู
กิ่งอำเภอวังชมภู
จารึกพระพุทธบาทจำลอง
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีจารึกเขียนไว้ที่ขอบฐานพระพุทธบาท วัดสระเกศ
ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า
จารึกวัดศรีบุญเรือง หรือวัดนาซำ
อยู่ในตำบลนาซำ อำเภอหล่มเก่า
จารึกฐานพระพุทธรูปสำริดปางมาวิชัย
อยู่ที่วัดศรีสะอาด ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอหล่มสัก
จารึกบ้านวังไผ่
พลที่ใกล้บ้านวังไผ่ อำเภอวิเชียรบุรี เป็นจารึกบนเสาศิลารูปเหลี่ยม
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสฤกต มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จารึกไว้หนึ่งด้านมีสิบสองบรรทัด
ขนาดของศิลาจารึก กว้าง ๒๘ เซนติเมตร สูง ๑๓๒ เซนติเมตร หนา ๑๗ เซนติเมตร
เนื่องจากเนื้อศิลาส่วนหนึ่งที่มีตัวอักษรจารึกอยู่หลุดหายไป ทำให้การอ่านการแปลจารึกหลักนี้
ไม่ได้ข้อความสมบูรณ์ จากการอ่านและแปล เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ มีความดังนี้
"ในปีรัชสมัยแห่งศักราช.... อันเป็นวันขึ้น ๘ ค่ำ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด
ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปฤถวีนทรวรมันผู้เป็นใหญ่
เสมอพระเจ้าศรีภววรมัน พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เป็นผู้มีคุณธรรมแผ่ไปทุกทิศ
ผู้มีอำนาจอันเป็นที่เกรงกลัวของศัตรูเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย ได้สร้างศิลาจารึกไว้ในโอกาสที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์
"
ภาษา
มีการใช้ภาษาไทยถิ่นปะปนกับภาษาไทยกลาง ภาษาไทยอีสาน และภาษาไทยเหนือ เนื่องจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดทั้งภาคกลาง
ภาคเหนือ และภาคอีสาน
ประชากร
ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า และอำเภอน้ำหนาว
ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ส่วนประชากรในเขตอำเภอชนแดน อำเภอหนองไผ่
อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ อำเภอวังโป่ง และอำเภอเขาค้อ
จะเป็นประชากรที่อพยพมาจากท้องถิ่นเกือบทั่วทุกจังหวัดของประเทศ ชาวไทยภูเขาที่มีจำนวนมากที่สุดคือ
ม้ง หรือแม้ว อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ นอกจากชาวไทยภูเขาแล้ว
ยังมีกลุ่มชนที่พูดภาษาอื่นเช่น ชาวบน ลาวพวน และลาวครั่ง เป็นต้น ภาษาที่ใช้อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์
สรุปได้ดังนี้
บริเวณที่มีแนวโน้มใช้ศัพท์ภาษาไทยถิ่นอีสาน
ได้แก่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก และอำเภอน้ำหนาว เขตนี้เป็นถิ่นอาศัยของคนท้องถิ่นเดิม
และใช้ภาษาท้องถิ่นอย่างแท้จริง เรียกกันว่า ภาษาหล่ม
พูดภาษาไทยดั้งเดิม ครั้งอพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ และหลวงพระบาง หลายร้อยปีมาแล้ว
จะใช้ภาษาเดียวกัน คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สำเนียงจะสูงกว่า เหมือนกับทางจังหวัดเลย
บริเวณที่มีแนวโน้มใช้ศัพท์ภาษาไทยถิ่นกลาง
ได้แก่ อำเภอเขาค้อ อำเภอเมือง ฯ อำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง อำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพัน
อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ ประชากรส่วนใหญ่จะอพยพมาจากจังหวัดอื่น ๆ
ของทุกภาค มีกาใช้ภาษาถิ่นอีสานปะปนอยู่ด้วยเป็นส่วนน้อย
นิทานพื้นบ้าน
แสดงเรื่องราวในอดีต สะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกชนชั้น มีทั้งนิทานที่เกี่ยวกับสถานที่
เกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้ เรื่องตลก เกี่ยวกับวีรบุรุษ
ตำนาน
มักมีเนื่อหาเกี่ยวกับปาฎิหารย์ หรือวีรกรรมของวีรบุรุษ อาจมีข้อมูลสอดคล้องกับประวัติศาสตร์
อุ้มพระดำน้ำ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐ ปี มีชาวเพชรบูรณ์กลุ่มหนึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ
อยู่ในลำน้ำป่าสัก บริเวณวังมะขามแฟบ อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ออกหาปลาตามปกติ
แต่จับปลาไม่ได้เลย จึงพากันนั่งปรึกษากัน
ทันใดนั้น กระแสน้ำในแม่น้ำหยุดไหล แล้วมีพรายน้ำผุดขึ้นมา คล้ายน้ำเดือด
ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นวังน้ำวนใหญ่ และลึกมาก เมื่อกระแสน้ำวนเริ่มคืนสู่สภาพเดิม
และได้ดูดเอาพระพุทธรูปองค์หนึ่งขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำ ลอยขึ้นมาอยู่เหนือผิวน้ำ
มีการดำผุดดำว่ายอยู่ตลอดเวลา ชาวประมงกลุ่มนั้นจึงได้ไปอัญเชิญขึ้นมา ประดิษฐานบนบกให้ผู้คนได้สักการะบูชา
ณ วัดไตรภูมิ ในปัจจุบัน
เมื่อถึงเทศกาลสารทไทย พระพุทธรูปองค์นี้ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านพากันออกค้นหา
ในที่สุดก็ได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ ณ บริเวณที่พบครั้งแรก และกำลังดำผุดดำว่ายอยู่
จึงได้อัญเชิญขึ้นมาอีกครั้ง นับแต่นั้นมาเมื่อถึงเทศกาลสารทไทย เจ้าเมืองเพชรบูรณ์สมัยนั้นพร้อมด้วยข้าราชการ
และประชาชนในเมืองเพชรบูรณ์ ได้ร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ ไปทำพิธีสรงน้ำที่วังมะขามแก้ว
ตรงที่พบครั้งแรกเป็นประจำทุกปี หากปีไหนน้ำน้อยเข้าไปไม่ได้ ก็จะอัญเชิญไปสรงน้ำที่วัดโบสถ์ชนะมาร
ตำนานการสร้างหลักเมือง
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อจะสร้างเมืองเพชรบูรณ์นั้น เจ้าเมืองได้ประกาศป่าวร้อง
หาคนที่ชื่อมั่น กับชื่อคง เพื่อนำมาฆ่าฝังไว้ก้นหลุม ก่อนที่จะฝังหลักเมืองลงไป
เมื่อขบวนที่ป่าวประกาศได้ผ่านวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสามเณรสองรูปชื่อมั่น กับชื่อคง
กำลังฉันอาหารอยู่ เมื่อได้ยินเสียงป่าวประกาศก็ขานรับ สามเณรทั้งสองจึงถูกจับตัวไป
แต่เจ้าอาวาสขอร้องว่าให้เณรทั้งสองรูป ฉันภัตตาหารเพลให้เสร็จก่อน แต่ผู้ที่มาจับตัวไม่ยอม
สามเณรทั้งอสงจึงถูกจับตัวไปฝังทั้งเป็น ทำให้เจ้าอาวาสโกรธเจ้าเมืองมาก จึงได้เอ่ยปากสาปแช่งไว้ว่า
ใครก็ตามจะมาเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ ถ้าเกินสามปีขอให้มีอันเป็นไป เรื่องนี้เป็นที่เชื่อถือของชาวเพชรบูรณ์ตลอดมา
ตำนานเมืองศรีเทพ
ตำนานเรื่องที่เล่ากันเป็นสองนัย นัยแรกเล่าว่า ที่บนเขาใกล้เมืองศรีเทพ มีฤาษีสองตนมาสร้างกุฎิอยู่ใกล้
ๆ กัน ตนหนึ่งชื่อ ฤาษีตาวัว
อีกตนหนึ่งชื่อ ฤาษีตาไฟ
มีลูกศิษย์เป็นท้าวพระยา ผู้ครองเมืองศรีเทพ วันหนึ่งฤาษีตาไฟบอกผู้เป็นศิษย์ว่า
น้ำในบ่อสองบ่อที่อยู่ใกล้กันนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใครได้อาบน้ำในบ่อหนึ่งจะตาย
แต่ถ้าอาบน้ำอีกบ่อหนึ่งก็จะฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ แต่ลูกท้าวพระยานั้นไม่เชื่อ
ฤาษีตาไฟจึงจะทดลองให้ดู แต่ขอคำสัญญาว่า เมื่อฤาษีตาไฟตายไปแล้ว ลูกท้าวพระยาจะต้องเอาน้ำในบ่อที่สองมารดให้คืนชีวิตใหม่
ลูกท้าวพระยาก็ให้สัญญา แต่เมื่อฤาษีตาไฟลงไปในบ่อที่หนึ่ง และถึงแก่ความตาย
เพราะลูกศิษย์ไม่ทำตามสัญญา กลับหนีเข้าเมืองไปเสีย
ฝ่ายฤาษีตาวัว ไม่เห็นฤาษีตาไฟมาเยี่ยมเยียน ก็ออกตามหาเห็นน้ำในบ่อที่หนึ่งเดือนพล่าน
ก็ทราบว่าได้เกิดเภทภัยขึ้น และค้นพบร่างของฤาษีตาไฟในบ่อน้ำนั้น จึงได้ไปตักน้ำในบ่อที่สองมารดที่ร่างนั้น
ฤาษีตาไฟจึงได้ฟื้นคืนชีวิต แล้วเล่าเรื่องให้ฤาษีตาวัวฟัง แล้วว่าจะต้องแก้แค้นลงโทษลูกท้าวพระยา
ตลอดจนประชาชนที่อยู่ใกล้เมืองอีกด้วย จึงได้นิมิตเป็นวัวตัวหนึ่งขึ้นมาเอาพิษบรรจุไว้ในท้องวัว
แล้วปล่อยวัวกายสิทธิ์ไปเดินรอบเมือง ส่งเสียงคำรามกึกก้องตลอดเวลา วัวดังกล่าวเดินวนเวียนอยู่รอบเมืองอยู่เจ็ดวัน
พบครบเจ็ดวันท้าวพระยาผู้ครองเมืองสั่งให้เปิดประตูเมือง วัวดังกล่าวจึงเข้าเมืองได้
พอถึงกลางใจเมืองท้องวัวก็ระเบิดออก พิษร้ายที่อยู่ในท้องวัว ก็ไหลออกมาทำลายผู้คนในเมืองศรีเทพ
ตำนานวัดช้างเผือก
มีเรื่องเล่าว่า มีเจ้าเมือง เมืองหนึ่งครองเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์
เข้าใจว่าอยู่ใกล้กับเมืองราด หรืออาจอยู่ใกล้เมืองนครเติด (สันนิษฐานว่า
อยู่ที่บ้านน้ำดุก อำเภอหล่มสัก) เจ้าเมืองมีธิดาชื่อ นางผมหอม มีความงามมากแต่ยังไม่มีคู่ครอง
จึงได้ประกาศหาคู่ครองให้ธิดา โดยประกาศว่า หากใครหาขอนดอกมาให้ได้ก็จะยกธิดาให้
ต่อมามีชายหนุ่มชาวบ้านป่าคนหนึ่งอยู่บ้านชาวบน (บ้านน้ำเสาปัจจุบัน) หาขอนดอกมาถวายเจ้าเมืองได้
เจ้าเมืองก็ยกธิดาให้ นางผมหอมมีความเสียใจมากเลยหนีไปกระโดดน้ำในลำน้ำป่าสัก
เจ้าเมืองได้ยกไพร่พล ติดตามลงมาตามลำน้ำถึงที่แห่งหนึ่งก็หยุดพักขบวน ที่นั้นเลยเรียกว่า
พระยาพักช้าง
แต่ก่อนมีคลองผ่านสายหนึ่งเรียกว่า สองพระยาโศก ต่อมาเพี้ยนเป็นคลองแสนพระยาโศก
แล้วให้ไพร่พลไปทำลี่ (ทำนบที่ทำด้วยไม้ไผ่รวกเหมือนเผือก) กั้นแม่น้ำป่าสักข้าง
ๆ วัดโพธิเย็น และให้คนเลี้ยงช้างเผือกไปเลี้ยงที่ชายป่าบริเวณวัดช้างเผือกปัจจุบัน
เจ้าเมืองมารอจนศพธิดาลอยมาติดที่ลี่ แล้วเจ้าเมืองจึงได้สร้างเจดีย์บรรจุศพธิดาไว้หนึ่งองค์
ชาวบ้านเรียก พระใจรายี และได้สร้างเจดีย์บรรจุกระดูกช้างเผือกอีกหนึ่งองค์
เนื่องจากช้างเผือกที่เอาไปเลี้ยงไว้ชายป่าล้มในครั้งนั้น
ตำนานเมืองเล็ง
เมืองเล็งเป็นเมืองเก่า มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าเมืองศรีเทพ ต่างแข่งกันสร้างความเจริญรุ่งเรือง
ทางเมืองเล็งมีธิดาสวย ทางเมืองศรีเทพมีโอรส และได้มาขอธิดาของเจ้าเมืองเล็งอภิเษกสมรส
แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าเมืองศรีเทพต้องสร้างทางจากเมืองศรีเทพมาเมืองเล็งให้เสร็จภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน
การเดินทางและสร้างทางทำพร้อมกัน จนเกือบถึงเมืองเล็งตอนค่อนรุ่ง เจ้าเมืองเล็งจึงได้สร้างโคมไฟเป็นสัญญาณ
ทางเจ้าเมืองศรีเทพเห็นแสงไฟจากโคม คิดว่าสว่างแล้วจึงสั่งให้เทขันหมากทิ้ง
ณ ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า สระสาดขนมจีน หมู่บ้านสาดขันหมาก
ตำนานเมืองล่ม
เรื่องมีอยู่ว่ามีลูกชายและลูกสาวของผู้ที่อยู่ต่างเมืองจะแต่งงานกัน ฝ่ายหญิงชื่อเจ้าห้วยเล็ง
อยู่เมืองวิเชียรบุรี ฝ่ายชายอยู่เมืองศรีเทพ เมื่อฝ่ายชายยกขบวนขันหมากไป
ก็พูนดินทำถนนไปด้วย เมื่อหยุดพักผ่อนระหว่างทาง และได้เกณฑ์คนมาลองจอบกันขึ้น
โดยให้คนละหนึ่งจอบได้สระใหญ่ขึ้นหนึ่งสระ ชื่อสระลองจอบ
ต่อจากนั้นพูนดินทำถนนพร้อมกับเดินทางต่อไป เมื่อไปถึงดงมหาสาดและหนองไม้สอ
ทางฝ่ายหญิงยังมาไม่ถึง จึงใช้วิธีชักโคมไว้บนยอดเขา ต่อมาจึงเรียกว่า เขาโยงโคม
ซึ่งตามสัญญามีไว้ว่า ถ้าหากสว่างแล้วจะไม่ได้แต่งงานกัน ดังนั้น เมื่อฝ่ายชายที่นัดหมายก็เห็นดาวรุ่งขึ้นสว่างบนยอดเขา
คิดว่าตนมาไม่ทันตามสัญญา จึงได้สาดขนมทิ้งตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า
ดงมหาสาด
แล้วยกขบวนขันหมากกลับ เมื่อมาถึงเมืองได้ผูกวัวธนูขึ้น เอายาพิษโปะที่วัว
แล้วให้วัววิ่งรอบเมือง ยามประตูเมืองเห็นผิดสังเกตจึงปิดประตูเมือง วัวธนูเดินวนรอบกำแพงเมืองอยู่นานจนยามเปิดประตูเมือง
วัวธนูก็เข้าไปในเมืองและล้มลงตายในที่สุด โรคระบาดที่แพร่ออกจากวัวนั้น ผู้คนล้มตายกันมาก
ฤาษีตนหนึ่งทราบเรื่องจึงเดินทางมาคิดจะช่วย แต่พอมาถึงก็เห็นวัวตายแล้ว เลยสาดยาที่เตรียมมาทิ้งไปในวังน้ำ
วัวในวังก็เดือนพล่านแล้วไหลซ่าเข้าท่วมเมือง จึงได้ชื่อว่า เมืองล่ม
ตำนานบ้านนางั่วและบ้านท่าพล
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อะแซหวุ่นกี้
แม่ทัพพม่ายกกองทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าเมืองพิษณุโลกพร้อมกับเจ้าพระยาจักรีได้รบกับพม่าอย่างแข็งขัน
ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ พม่าล้อมอยู่สี่เดือน ในเมืองพิษณุโลกขาดแคลนอาหาร เจ้าพระยาทั้งสองท่านจึงต้องทิ้งเมืองตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาได้
แล้วยกกำลังไปเมืองเพชรบูรณ์ และได้มาชุมนุมกำลังกันอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง
ต่อมาได้ชื่อว่า ท่าพล
ส่วนกองทหารและไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ได้นำวัวควายไปเลี้ยง ณ ที่อีกแห่งหนึ่งไม่ไกลกันนัก
สถานที่นั้นจึงมีชื่อว่า นางัว
ต่อมาได้เพี้ยนเป็นนางั่ว
ตำนานเสาตะเคียน
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ต้องการไม้ตะเคียนไปตอกเสาเอกในการสร้างพระบรมมหาราชวัง
จึงได้สั่งให้หัวเมืองต่าง ๆ ส่งเสาไม้ตะเคียนไปให้ หัวเมืองเพชรบูรณ์ส่งไปสองต้น
โดยล่องไปตามลำน้ำป่าสักไปจนถึงเมืองสระบุรี ก็ได้ทราบว่า เสาตะเคียนจากเมืองอื่นไปถึงกรุงเทพ
ฯ ก่อนและได้ใช้ตอกเสาเอกไปแล้วนางตะเคียนที่สิงอยู่ในต้นตะเคียนก็เสียใจและเสาตะเคียนต้นหนึ่งก็จมลง
ณ ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า เสาไห้ ปัจจุบันเป็นอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ส่วนเสาตะเคียนอีกต้นหนึ่งได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปถึงเมืองวิเชียรบุรีและจมลงหน้าที่ว่าการอำเภอวิเชียรบุรี
ตำนานคลองน้ำบัง
เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีเศษมาแล้ว น้ำในคลองภายในหมู่บ้านใสมาก และคลองนี้ยังมีจระเข้ชุกชุม
วันหนึ่งมีข่าวแพร่ไปทั่วหมู่บ้านว่า มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพบฆ้องทองขนาดใหญ่
พร้อมทั้งสายสร้อยและแหวนทองคำเป็นจำนวนมากจมอยู่ในคลองนั้น แต่ไม่สามารถนำของดังกล่าวขึ้นมาได้
เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูพวกกุลาซึ่งเป็นชาวบ้านที่มาจากภาคอิสาน มาช่วยกันงมของมีค่าในคลองนั้น
ขณะที่งมได้พบจูมฆ้องทองคำ (จูม เป็นภาษาถิ่นแปลว่า ยอด) ทันใดนั้นก็เกิดน้ำไหลบ่ามาอย่างรวดเร็วพัดพาพวกกุลาจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก
เหลืออยู่เพียงคนเดียวที่กลับไปบอกให้ญาติรู้ข่าว ปัจจุบันชาวบ้านไม่เคยได้พบเห็นของมีค่าเหล่านั้นอีกเลย
จระเข้ที่เคยมีอยู่ชุกชุมก็ถูกชาวบ้านฆ่าตายหมด และน้ำในคลองก็ไม่ใสเหมือนเดิมอีก
ตำนานถ้ำน้ำบัง
เดิมถ้ำน้ำบังมีสัตว์ป่าชุกชุม พรานป่ามักจะมาคล้องช้างที่บริเวณนี้เสมอ มีเรื่องเล่าว่า
ถ้ำน้ำบังมีอาถรรพ์มาก ทางออกของถ้ำด้านหลังเป็นบึงใหญ่
มีน้ำเต็มจึงได้ชื่อว่า ถ้ำน้ำบัง ภายในถ้ำจะมีถ้ำเล็ก ๆ อยู่หลายถ้ำคือ ถ้ำจระเข้ถ้ำงู
ถ้ำปลา ถ้ำระฆัง ถ้ำพระ ถ้ำค้างคาว ในแต่ละถ้ำจะมีสิ่งต่าง ๆ ตามชื่อถ้ำ
และจะปรากฏให้เห็น เฉพาะผู้ที่ปรารถนาจะเห็น ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานที่หน้าถ้ำ
อยู่มาไม่นานชาวจังหวัดพิจิตร ได้อพยพครอบครัวมา หาแหล่งทำมาหากิน เมื่อมาพบพระธุดงค์ปักกลดอยู่
เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงพากันมาตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ ถ้ำแห่งนั้น และพระธุดงค์ก็ได้ชักชวนให้ชาวบ้านดัดแปลงถ้ำ
ให้เป็นศูนย์กลางของวัด
ตำนานศาลเจ้าพ่อน้ำร้อน
มีเรื่องเล่าว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีฆ้องทองคำฝังอยู่ใต้จอมปลวก ซึ่งอยู่ห่างจากบ่อน้ำร้อนไปทางทิศเหนือประมาณ
๕ เมตร มีพวกกุลากลุ่มหนึ่งเก่งทางเวทย์มนต์คาถารู้ข่าวนี้ จึงได้เดินทางมาขุดหาฆ้องทองคำ
เมื่อขุดจนพบยอดฆ้องทองคำจึงคิดจะนำไปทำเป็นเครื่องประดับ ให้ลูกเมีย เมื่อช่วยกันขุดลงไปอีก
ฆ้องทองคำได้หมุนอย่างรวดเร็ว พวกกุลาถูกเหวี่ยงไปตามแรงหมุนของฆ้อง ได้รับบาดเจ็บจึงได้เดินทางกลับท้องถิ่นของตนโดยไม่ได้ฆ้องไป
แล้วเกิดอาการเพ้อคลั่ง ตายไปทีละคนสองคนจนหมด ส่วนฆ้องทองคำได้หมุนลึกลงไปจมอยู่ใต้จอมปลวกแห่งนั้น
และไม่มีใครกล้าไปขุดอีก
ปัจจุบันชาวบ้านได้ตั้งศาลขึ้นเป็นที่เคารพนับถือได้ชื่อ ศาลเจ้าเจ้าพ่อน้ำร้อน
ตำนานปู่กะสาย่ากะสีผู้สร้างบ้านนางั่ว
ปู่ย่าคู่นี้เป็นบรรพบุรุษคู่แรก ของชาวบ้านนางั่ว สมัยที่ปู่และย่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาว
บริเวณโคกหลักวัว จะมีแท่นหินขนาดใหญ่ กว้างยาวสูงประมาณด้านละ ๔ เมตร มีอยู่สองก้อนสวยงามมาก
วางเรียงกันอยู่ ใกล้แท่นหินมีต้นรังขนาดใหญ่สี่คนโอบ ทุกเย็นปู่และย่าจะมานั่งบนแท่นหิน
ครั้งหนึ่งปู่ได้โยนก้อนหินขึ้นไปบนท้องฟ้า ก้อนหินที่โยนขึ้นไปเป็นก้อนหินขนาดใหญ่เท่าโอ่งน้ำสองใบรวมกัน
ไปค้างอยู่บนง่ามต้นรัง ฝ่ายย่าได้ไปถ่ายปัสสาวะ ณ ที่ลับตาแห่งหนึ่ง ทำให้บริเวณนั้นเป็นหลุมลึกกว้าง
น้ำปัสสาวะไหลเป็นทางยาวผ่านที่นาของชาวบ้าน จนกลายเป็นคลองเรียกว่า คลองย่าเยี่ยว
ต่อมาปู่ย่าคู่นี้ ได้มีลูกชายลูกสาวหลายคน และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านนางั่ว
วันหนึ่งปู่และย่าได้ชวนกันไปเก็บหอย ที่เขาค้อ ปู่ลงไปงมหอย ได้มาพอแกงได้หนึ่งหม้อ
แล้วให้ย่าเป็นผู้ตัดก้นหอย ระหว่างที่นั่งคุยกันอยู่ปู่ได้พูดถึงสาวที่หมู่บ้านขอนดอก
ย่าได้ฟังก็โกรธจึงสาดหอยที่ตัดก้นแล้วทิ้งลงห้วยไป และด่าปูเสียงดังมาก ทำให้ปู่อับอายเพื่อนบ้าง
จึงหนีออกจากบ้านนางั่วไปอยู่กับสาวที่บ้านขอนดอก ตำบลตะเบาะ ครั้นย่าหายโกรธจึงไปตามไปง้อ
แต่ปู่ไม่ยอมกลับ ย่าจึงได้ใช้วิธีการไสยศาสตร์ แต่ไม่ได้ผลจึงเทขี้ผึ้ง ทั้งสามอ่างที่ใช้ประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ลงบนพื้นดิน
บริเวณนั้นจึงกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่หลายร้อยไร่ ชาวบ้านเรียกว่า
หนองสามอ่าง
ย่าได้ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังจนตาย
จากการที่ย่าได้เทหอยลงห้วยในครั้งนั้น หอยได้แพร่พันธุ์เป็นจำนวนมากในบริเวณห้วยแห่งนั้น
หอยดังกล่าวก้นจะถูกตัดทุกตัว และมีกาบหุ้มอยู่ชาวบ้านเรียกว่า หอยย่าตูดตัด
หรือหอยย่าก้นตัด หอยชนิดนี้มีอยู่ที่ลำน้ำเข็ก เริ่มจากแก่งบางระจัน น้ำตกศรีดิษฐ์
ถึงบริเวณบ้านสระแก้ว อำเภอเขาค้อ
ตำนานเมืองนครเติด
มีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่ง มีฐานะยากจนมีบุตรชายอยู่หนึ่งคน
มีผิวหนังเหมือนผิวมะกรูด จึงได้ชื่อว่า มะกูดแสนเปา พ่อแม่ได้พาไปฝากกับหลวงตา
ที่วัดแห่งหนึ่งให้เป็นเด็กวัด ต่อมาหลวงตาให้เขาปลูกต้นมะเขือเจ็ดต้น ต้นสุดท้ายไม่ได้รดน้ำ
เพราะน้ำที่หาบมารดหมดที่ต้นที่หก จึงใช้ปัสสาวะของตนรดแทนน้ำ เมื่อต้นมะเขือเติบโตได้ออกดอกผลทุกต้น
และมีผลงามเพียงผลเดียว เขาจึงเก็บไปให้หลวงตาลงคาถาอาคมให้ และอธิษฐานว่า
ถ้าใครได้กินมะเขือลูกนั้นแล้ว ถ้าเป็นชายก็ขอให้เป็นมิตรที่ดี ถ้าเป็นหญิงสาวก็ขอให้มีลูกเป็นผู้ชายที่มีงดงามกว่า
จากนั้นก็เอามะเขือลูกนั้นลอยไปในแม่น้ำป่าสัก
กล่าวถึงเมืองพาราศรี หรือเมืองบาดาล ที่พระอิทรเนรมิตไว้ เจ้าเมืองมีธิดาสาวอยู่คนหนึ่ง
อยู่มาวันหนึ่งธิดาเจ้าเมืองไปอาบน้ำในแม่น้ำ เมื่ออาบเสร็จเห็นมะเขือของเจ้ามะกรูดแสนเปา
ลอยน้ำมาจึงนำมากิน แล้วกลับวัง ต่อมาก็ได้ตั้งท้องขึ้น เจ้าเมือง และมเหสีได้ซักถามก็ได้ความว่า
ธิดาของตนกินมะเขือเข้าไปจึงเกิดตั้งท้องขึ้นมา เมื่อครบเก้าเดือน ธิดาเจ้าเมืองก็คลอดลูกเป็นชาย
เจ้าเมืองจึงประกาศหาผู้ที่เป็นพ่อของเด็ก
ฝ่ายมะกรูดแสนเปา หลวงตาส่งให้ติดตามามะเขือลูกที่ลอยน้ำไป ตอนนั้นเขาอายุ
๒๘ ปี เมื่อเขาไปถึงเมืองพาราศรี ทราบข่าวว่าเจ้าเมืองประกาศหาพ่อของเด็ก
ที่เกิดจากการที่ธิดาของตนไปกินมะเขือแล้วตั้งท้อง เขาจึงเข้าไปในเมือง และอธิษฐานว่า
ถ้าเป็นลูกของจนก็ขอให้เด็กนั้นคลานเข้ามาหา เด็กก็คลานเข้ามาหา เจ้าเมืองเห็นแล้วไม่พอใจ
เพราะเห็นร่างกายเขาอัปลักษณ์ จึงได้เนรเทศเขา และธิดาของตนออกจากเมือง โดยทำแพให้ลอยไปตามน้ำ
โดยได้เตรียมข้าวสาร ข้าวเปลือก เผือกมัน ของพืชไร่ทุกชนิดใส่แพไปด้วย
ฝ่ายชาวเมืองมีความเวทนาสงสารธิดาเจ้าเมือง จึงพากันลัดทางแม่น้ำหวังจะช่วยเหลือ
พวกสาวสนมที่เคยอยู่ด้วยกันมา พากันไปลัดคอยช่วยเหลืออยู่ที่แห่งหนึ่งริมแม่น้ำ
และร้องไห้กันด้วย ความสงสารบ้านนี้จึงเรียกว่า บ้านเสาไห้
(ปัจจุบันคือ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี) อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าแถวนั้นน้ำเชี่ยวมาก
กลัวแพจะแตกจึงไปคอยช่วยอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง ได้ชื่อว่า แก่งคอย
(ปัจจุบันคือ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) บางกลุ่มสละบ้านของตนไม่ยอมกลับบ้าน
จนเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านสละบุรี
คือเมืองสระบุรี) ส่วนแพไม่ไหลไปตามน้ำอย่างที่คิด แต่ได้ไหลทวนน้ำขึ้นไปทางเหนือ
แล้วมาติดอยู่ที่แก่น้ำแห่งหนึ่ง เจ้ามะกรูดแสนเปา จึงขึ้นฝั่งหวังจะถางป่าเพื่อทำไร่
และได้ตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ขึ้น เรียกในครั้งนั้นว่า ศาลเจ้าพ่อแก่งเมือง
การถางป่าของเขาไม่ได้ผล เพราะวันรุ่งขึ้นต้นไม้กลับขึ้นอย่างเดิม เกิดความสงสัยจึงแอบดูตอนกลางคืน
พบว่ามีลิงตัวหนึ่งมาปลูกต้นไม้เหล่านั้น ลิงตัวนั้นมีฆ้องแขวนคอมาหนึ่งลูก
เขาจึงจับลิงจะฆ่าเสีย ฝ่ายลิงวิงวอนขอชีวิต และยกฆ้องลูกที่แขวนคือมาให้เขา
บอกว่าเมื่อตีฆ้องสามครั้งแล้วนึกปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น เขาจึงตีฆ้องครั้งแรก
แล้วขอให้ร่างกายสวยงามกว่าคนทั้งหลายก็ได้ผล แล้วจึงตีฆ้องครั้งที่สอง ขอให้บ้านเมืองเหลืองอร่าม
ก็เกิดผลตามที่ต้องการ แล้วตีฆ้องครั้งที่สามขอให้มีบ่าวไพร่ ประชาชน ช้าง
ม้า วัว ควาย ก็ได้มาสมประสงค์
การตั้งเมืองและมีผู้คน ช้าง ม้า วัวควาย มากมายดังกล่าว ทำให้น้ำในลำน้ำขุ่นจนเมืองพาราศรีเดือดร้อน
เจ้าเมืองจึงให้คนตามขึ้นไปดูหาสาเหตุ ก็พบว่าเป็นเมืองของลูกเขย เจ้าเมืองพาราศรีมีความยินดี
จึงได้ตั้งชื่อเมืองให้คือ เมืองศรีเทพ
(ปัจจุบันคือ อำเภอศรีเทพ) แต่เมืองที่ตีฆ้องเนรมิตได้นี้ได้ชื่อว่า แก่งนคร
(ปัจจุบันคือ ดงเมือง ) ศาลเจ้าพ่อ เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อแก่งเมือง
เจ้าเมืองได้ครองเมืองมาหลายชั่วอายุคน เจ้าเมืองต่อมาได้ชื่อว่า พระยาพานทอง
เพราะเวลาเกิดมาได้เอาพานทองไปรองรับไว้ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปีเศษ ได้ไปรักใคร่กับลูกสาวเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ชื่อ
นางผมหอม
แต่ทางเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ใช้วิธีเลือกผู้ที่มีความสามารถมาเป็นคู่ครองของธิดา
มีผู้ผ่านการทดสอบเอาพวงมาลัยขึ้นมาจากหลุมพราง ที่มีอาวุธตั้งไว้ได้ เป็นชาวละว้า
สาบล แต่นางผมหอมไม่พอใจ เพราะตนมีคู่รักอยู่แล้วคือ พระยาพานทอง นางจึงได้มากระโดดน้ำตายที่เมืองแก่งนคร
เจ้าเมืองได้นำศพนางผมหอม ที่วัดแห่งหนึ่งจึงได้ชื่อว่า วัดศพ
ต่อมาได้ปลูกต้นโพธิ์ ณ ที่เผาศพ เมื่อต้นโพธิ์โตขึ้นจึงได้ชื่อว่า วัดโพธิเย็น
จากการตายของนางผมหอม เจ้าเมืองจึงให้โหรมาทำนายว่า เพราะเหตุใดจึงมีคนมากระโดดน้ำตาย
โหรทำนายว่า เมืองนี้ชื่อเมืองนครโดด ต่อมามีการเรียกเพี้ยนไปเป็นนครเดิด
โหรได้แนะนำให้ทำพิธีโดยปิดประตูเมือง ในวันที่เจ็ด คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า
รอจนรุ่งเช้าของวันใหม่ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องเข้ามาในวังได้แล้ว ชาวเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุขไปอีกลายชั่วอายุคน
ถ้าทำไม่ได้บ้านเมืองจะพินาศล่มจมลงใต้พื้นดิน แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้ครบถ้วน
ตามที่โหรบอกไว้ เมืองนครเดิดจึงได้ยุบลงไปในแผ่นดิน ตั้งแต่ครั้งนั้น
|