www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีเขาด้วน
เขาด้วนอยู่ในตำบลย่านรี อำเภอกบินทร์บุรี เป็นภูเขาหินทรายขนาดย่อม พื้นที่โดยรอบเป็นที่ลุ่ม
พื้นที่ผิวเต็มไปด้วยเศษหินทรายขนาดต่าง ๆ ทั่วไป สันนิษฐานว่า คงเป็นแหล่งหินทรายที่สำคัญ
ที่ชุมชนโบราณในแถบนี้ นำเอาไปใช้ในการสร้างรูปเคารพ เช่น เทวรูป พระพุทธรูป
และเครื่องใช้ประจำวัน เช่น หินบด เป็นต้น
เขาด้วนตั้งอยู่บนส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินทางบกในสมัยโบราณ ที่เชื่อว่าเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองโบราณภาคกลาง
และภาคตะวันออกของประเทศไทย กับแหล่งโบราณคดีในเขตที่ราบต่ำของกัมพูชา ในเขตไทยมีแหล่งโบราณคดีตั้งเรียงรายเป็นระยะ
จากแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กับทิศตะวันออกเฉียงใต้ บางช่วงยังปรากฏรอยคันดินที่น่าจะเป็นถนนโบราณ
แหล่งโบราณคดีบ้านดอยลำภู
บ้านดอยลำภูอยู่ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี ห่างจากเขาด้วนประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
มีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ
๓๔ เมตร พบเศษสะเก็ดหินทราย และโกลนหินบด เป็นหินทรายชนิดเดียวกับหินสีเขียวที่ที่เขาด้วน
จึงมีความเป็นไปได้มากที่หินดังกล่าวเหล่านี้ได้ถูกลำเลียงมาจากเขาด้วน เพื่อทำการผลิตเครื่องมือ
เครื่องใช้ และรูปเคารพ ยังมีหลักฐานชิ้นสมบูรณ์หลายชิ้น ที่เก็บรักษาไว้ที่วัดเขาด้วนได้แก่
หินบดพร้อมเครื่องมือบด ชิ้นส่วนพระหัตถ์ พระพุทธรูป แสดงวิตรรกมุทรา โกลนของฐานที่ตั้งรูปเคารพ
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานบนพื้นดินที่สำคัญในบิเวณใกล้เคียงคือ แนวคันดินซึ่งน่าจะเป็นถนนโบราณ
มีขนาดกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๒๐๐
เมตร วางตัวตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณปลายเนินด้านตะวันตกของแหล่งโบราณคดี
อันแสดงถึงความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ
จากการประมวลที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ๆ บรรดาสถานที่ดังกล่าว จะอยู่ในลักษณะที่เรียงตัวตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
- ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากเริ่มจากเมืองโบราณมโหสถ อำเภอโคกปีบ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่ใหญ่ที่สุด
แล้วก็จะเรียงลำดับได้ดังนี้ คือ โบราณสถานบ้านปราสาท อำเภอกบินทร์บุรี
แหล่งโบราณคดีเขาด้วน อำเภอกบินทร์บุรี แหล่งโบราณคดีเขาฉกรรจ์ อำเภอเมืองสระแก้ว
และกลุ่มแหล่งโบราณในเขตอำเภออรัญประเทศ
เมืองประวัติศาสตร์
เมืองศรีมโหสถ
เมืองศรีมโหสถ ตั้งอยู่ในเขตสามหมู่บ้าน คือ บ้านสระมะเขือ บ้านโคกวัด
และบ้านหนองสะแก ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ
สภาพภูมิประเทศเป็นที่ดอน สูงประมาณ ๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะเป็นที่ราบขั้นบันได
เป็นบริเวณขอบตะวันออกของพื้นที่ราบภาคกลาง มนที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง
เมืองศรีมโหสถ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน กว้างประมาณ
๗๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑,๕๕๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ๗๔๓ ไร่ ตัวเมืองวางตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ และคันดินล้อมรอบ คูน้ำส่วนใหญ่ขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ
ตอนกลางของเมืองมีคูน้ำที่ขุดไปเชื่อมกับคูเมือง ด้านทิศเหนือ และทิศใต้เข้าด้วยกัน
ทำให้ตัวเมืองดูเสมือนแบ่งออกเป็นสองส่วน ชาวบ้านเรียกคูน้ำแห่งนี้ว่า คูลูกศร
เมืองศรีมโหสถ แต่เดิมเรียกกันว่า เมืองพระรถ
อันเป็นชื่อของเจ้าชายที่ปรากฏอยู่ในปัญญาสชาดก หรือที่รูปจักกันในนิทานพื้นบ้านเรื่อง
นางสิบสอง
หรือเรื่อง
พระรถ - เมรี
ส่วนชื่อเมืองศรีมโหสถ เป็นการเรียกชื่อตามชาดกเรื่อง พระมโหสถ
ทั้งภายในและภายนอกเมืองศรีมโหสถ เต็มไปด้วยโบราณสถาน เนินดิน และสระน้ำต่าง
ๆ เป็นจำนวนมาก สระน้ำและคูเมือง บางส่วนได้ขุดลึกลงไปถึงศิลาแลง ซึ่งเป็นชั้นดาน
บรรดาโบราณสถานถึงประมาณร้อยละ ๙๐ สร้างด้วยศิลาแลง
โบราณสถานหมายเลข ๒๒
เป็นกลุ่มโบราณสถานกลางเมือง ที่ประกอบด้วย อาคารสิบหลัง สร้างด้วยศิลาแลง
บางหลังมีอิฐปนอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งมีทั้งอิฐสมัยทวารวดี และอิฐสมัยลพบุรี
สันนิษฐานว่า อาคารทุกหลังไม่ได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน แต่สร้างเพิ่มและต่อเติมมาโดยตลอด
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๙ และน่าจะเป็นศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมมากกว่าเป็นเทวาลัย
โบราณสถานหมายเลข ๒๕
ตั้งอยู่ใกล้คูเมืองด้านทิศใต้ เป็นเทวาลัยขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานสี่เหลี่ยม
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขหรือบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้า บนฐานรอบ ๆ ตัวอาคาร
เว้นว่างเป็นลานประทักษิณ มีศิลาแลงเรียงเป็นกรอบ และใช้ดินลูกรังอัด ตัวอาคารมีผนังล้อมรอบ
มุมอาคารทั้งสี่มีเสาศิลาแลงกลมทั้งสี่มุม เพื่อรองรับเครื่องหลังคา กลางอาคารมีแท่นฐานเทวารูป
ได้พบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวก ทำจากหินทรายสีเขียว เป็นประติมากรรมลอยตัว
ประทับยืนหันหน้าตรง พระหัตถ์หักหายไปสองข้าง ส่วนที่เหลืออีกสองข้างนั้น
ข้างขวาถือวัตถุรูปทรงกลม ซึ่งหมายถึงก้อนดิน (ภู) อันเป็นสัญญาลักษณ์ของแผ่นดิน
ข้างซ้ายถือคทาหรือกระบอง เป็นเทวรูปเก่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
- ๑๓
โบราณสถานหมายเลข ๑๒
(สระแก้ว) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกเมืองศรีมโหสถ ห่างจากคูเมืองประมาณ
๑๐๐ เมตร
โบารณสถานหมายเลข ๑๑
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ นอกเมืองศรีมโหสถ ห่างจกคูเมืองประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๕ เมตร พบฐานรูปเคารพหินทรายขนาดกว้าง ๘๖ เซนติเมตร
ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร สูง ๕๕ เซนติเมตร สันนิษฐานว่า ใช้ประดิษฐานพระโพธสัตว์อวโลกิเตศวร
พระพุทธรูป และรูปนางปรัชญาปารมิดา ตามลำดับจากซ้ายมาขวา อันเป็นความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ที่แพร่หลายในดินแดนแถบนี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ได้มีการขุดพบคันฉองสำริด ภายในเมืองศรีมโหสถ จารึกระบุชื่อเมืองอวัธยปุระ
และที่เชิงดทียนและขันสำริด พบจารึกกล่าวถึงสถานที่ชื่อสังโวก เป็นจารึกในช่วงปี
พ.ศ.๑๗๓๐ - ๑๗๓๖
เมืองปราจีนบุรีเก่า
เมืองปราจีนบุรีเก่าตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี ในเขตตำบลหน้าเมือง
อำเภอเมือง ฯ จากหลักฐานที่เหลืออยู่พบว่าแนวกำแงเมืองเป็นรูปสี่เหลรี่ยม
มีคูน้ำล้อมรอบ แนวกำแพงกว้างประมาณ ๑๗๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๒๕ เมตร คูเมืองกว้าง
๒๘ เมตร ยาว ๒๒๐ เมตร คูน้ำกว้าง ๕๓ เมตร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้เริ่มสร้างกำแพงป้อมเมืองปราจีน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๓ โดยเกณฑ์มอญ บ้านสามโคก ปทุมธานี ให้เผาอิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง
สร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จตรวจกำแพงเมืองในปีเดียวกัน ได้มีพระราชดำรัสให้ปลูกศาลาชุมพลกลางกำแพงเมืองตึกดิน
และตึกปืน อย่างละหนึ่งหลัง
โบราณวัตถุ
โบราณวัตถุที่สำคัญส่วนใหญ่ได้มาจากบริเวณเมืองโบราณศรีมโหสถ หรือเมืองพระรถ
ในเขตอำเภอศรีมโหสถ โบราณวัตถุดังกล่าว จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
บางรายการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นอกจากนี้ยังอยู่ที่วัดต้นโพธิ
ศรีมหาโพธิ และวัดสระมรกต ในอำเภอศรีมโหสถ
จาการศึกษาข้อมูลในด้านต่าง ๆ ทางศิลปกรรม ที่ปรากฏในบริเวณเมืองศรีมโหสถ
และบริเวณใกล้เคียง พบว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๐ ชุมชนกลุ่มต่าง ๆ ในบริเวฯดังกล่าว
มีการติดต่อสัมพันธุ์กับอินเดีย และได้เจริญขึ้นเป็นเมืองท่าชายฝั่งร่วมสมัยกับอาณาจักรฟูนัน
พร้อม ๆ กับความเจริญของเมืองอู่ทอง ความสัมพันธุ์นี้มีอายุประมาณ ๙ - ๑๐
คือ ภาพสลักนูนต่ำบนขอบสระแก้ว ที่เมืองศรีมโหสถ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบอมราวดีและคุปตะ
ต่อมาในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ได้มีพัฒนาการทางวัฒนธรรม ซึ่งมีรูปแบบร่วมสมัยกับศิลปทวารวดี
ในกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เมื่อวัฒนธรรมเขมรได้แพร่เข้ามา
วัฒนธรรมทวารวดีจึงค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยมีวัฒนธรรมเขมรเข้ามาแทนที่
สมัยวัฒนธรรมทวารวดี
เป็นช่วงระยะเวลาที่รับเอาอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะเข้ามาผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น
จนได้ศิลปะรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง โดยมีวัฒนธรรมอินเดียเป็นแม่แบบ
การนับถือศาสนา มีการนับถือทั้งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู
ลัทธิไศวนิกาย และลัทธิคาณปัตยะไปพร้อม ๆ กัน
ประติมากรรมในศาสนาพราหมณ์
- ลัทธิไวษณพนิกาย ที่เชื่อว่าพระวิษณุ เป็นเทพสูงสุด พระประติมากรรมรูปพระวิษณุจตุรภุชหลายองค์
และแผ่นพิมพ์ดินเผา ที่ใช้ประดับเทวสถานรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ
- ลัทธิไศวนิกาย พบประติมากรรมรูปสัญลักษณ์แทนองค์พระอิศวร ได้แก่ ศิวลึงค์
ที่ทำติดกับฐานโยนิ ถือว่าเป็นแบบรุ่นเก่าร่วมสมัยกับศิลปะเขมร ก่อนเมืองพระนคร
มีอายุประมาณพุทศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ส่วนศิวลึงค์ที่พบเป็นแบบประเพณีนิยม เช่น
ศิวลึงค์ตรีมูรติ ทำเป็นสามส่วน คือ ส่วนรุทรภาคที่เป็นส่วนยอด เป็นรูปทรงกระบอก
ส่วนวิษณุภาคเป็นรูปแปดเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง ส่วนพรหมภาคเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ตอนล่าง
และศิวลิงค์ที่มีเพียงสองภาค คือ รุทรภาค และวิษณุภาค พบที่วัดสระมรกต และวัดใหม่กรงทอง
ศิวลึงค์ดังกล่าวเหล่านี้มีขนาดใหญ่ และมีสัดส่วนแต่ละส่วนไล่เลี่ยกัน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๓
- ลัทธิคาณปัตยะ การบูชาพระคเณศ พบประติมากรรมรูปพระคะเณศขนาดใหญ่
ที่โบราณสถานหมายเลข ๒๒ พระคเณศมีเศียร ใกล้เคียงกับตามธรรมชาติ และไม่ได้ทรงเครื่องประดับมากนัก
เป็นศิลปกรรมในกลุ่มเดียวกับเทวรูปพระวิษณุจตุรภุช มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๒
|