www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
พระสมุทรเจดีย์
เริ่มสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยที่พระองค์ได้เสด็จ
ฯ มาทอดผ้าพระกฐินที่วัดพิชัยสงคราม เมื่อปี จ.ศ.๑๑๘๕ (พ.ศ.)
ได้ทอดพระเนตรเห็นเกาะหาดทรายอยู่ที่ท้ายเกาะผีเสื้อสมุทร มีความเหมาะสมที่จะสร้างพระเจดีย์
เพื่อให้ผู้ที่นั่งเรือผ่านเข้าออกได้เห็นเป็นเมืองพระพุทธ จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส) มาดำเนินการก่อสร้าง
เริ่มจากการใช้ก้อนหินมาถมที่บนเกาะ ที่อยู่เหนือเกาะผีเสื้อสมุทรให้พื้นแน่น
มีความสูงพ้นน้ำและได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพกับพระยาราชสงคราม
เขียนแบบแผนผังรูปพระมหาเจดีย์ถวายทอดพระเนตร แก้ไขจนเป็นที่พอพระทัย ทรงพระราชทานนามว่า
พระสมุทรเจดีย์
ในการถวายเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าอนุวงค์เวียงจันทน์มาช่วยงาน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวเวียงจันทน์ผลัดละ
๑,๐๐๐ คน ไปตัดต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรี และเมืองเพชรบุรี มาทำเป็นฐานรากองค์พระสมุทรเจดีย์
ในปี พ.ศ.๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมราช
(น้อย) กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่กลองสร้างพระมหาเจดีย์ ขึ้นตามแบบที่เขียน
เมื่อสร้างเสร็จเป็นพระเจดีย์ทรงย่อมุมไม้สิบสอง ฐานกว้าง ๑๐ วา สูง ๙ ศอก
ชั้นที่สอง ยาวเหลี่ยมละ ๕ วา สูง ๒ ศอกคืบ หน้ากระดานองค์พระเจดีย์สูง ๙
วา ๓ ศอก พร้อมสร้างศาลารายสี่หลังเป็นเกก๋งจีน รวมใช้พระราชทรัพย์ ๑๓๓ ชั่ง
๑๐ ตำลึง ๙ บาท ใช้เวลาสร้าง ๒๑๑ วัน เมื่อสร้างเสร็จได้ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ
ไปบรรจุที่คอระฆังขององค์พระสมุทรเจดีย์ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระสมุทรเจดีย์
ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสมุทรปราการเห็นว่าพระสมุทรเจดีย์ต่ำเตี้ยเกินไป
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสมุทรเจดีย์ใหม่ โดยให้ถ่ายแบบเจดีย์ลอมฟางมาจากกรุงศรีอยุธยา
มาสวมกับพระเจดีย์องค์เดิม จนมีความสูงเพิ่มเป็น ๑๙ วา ๒ ศอกคืบ การสร้างครั้งนี้
มีกองทหารปืนใหญ่ให้การสนับสนุนกำลังคน พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารใหญ่หันหน้าออกทะเล
สร้างพระเกี้ยวสี่องค์ พระแท่นสำหรับวางเครื่องบูชา หอระฆังและหอเทียนอย่างละหนึ่งคู่
สิ้นพระราชทรัพย์ ๕๘๘ ชั่ง
ในปีต่อมาคือปี พ.ศ.๒๔๐๔ พระองค์ได้เสด็จมาทรงยกยอดพระสนมุทรเจดีย์
ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมแซมพระวิหาร
ศาลารายสี่ทิศ และสร้างศาลาโถงห้าห้องขึ้นแทน วิหารน้อยสองหลัง กับศาลาที่พักทางเหนือซึ่งชำรุดมาก
พร้อมกันนี้ได้สร้างฐานโพธิ์ ปลูกต้นโพธิ์ด้านหลัง
พระสมุทรเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานล่างย่อมุมไม้สิบสอง ต้นแบบเป็นอย่างสุโขทัย
เพิ่มเติมอย่างรัตนโกสินทร์ รอบนอกเป็นกำแพงแก้ว มีช่องทางเดินสำหรับทำทักษิณาวัตร
ฐานล่างเจาะเป็นซุ้มช่อง ๔๐ ช่อง แต่ละช่องมีช้างเผือกยืนหันหน้าออก บันไดทางขึ้นชั้นสอง
และชั้นสามอยู่ด้านข้างทางตะวันตก และตะวันออก ส่วนมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์รูปพระเกี้ยว
ชั้นนี้มีทางเดินรอบองค์พระเจดีย์ ที่ฐานพระเจดีย์ชั้นนี้มีซุ้ม...........
ขึ้นไปเป็นฐานล่างของพระเจดีย์ทรงกลม ตั้งแต่ฐานบัวคว่ำบัวหงายขึ้นไปถึงองค์ระฆัง
เสาหาน ปล้องไฉน ส่วนยอดสุดตรงหยาดน้ำค้าง สร้างได้สัดส่วนสวยงาม ทาด้วยสีน้ำปูน
พระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่ในตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับศาลากลางจังหวัด
ชาวบ้านเรียกว่า พระเจดีย์กลางน้ำ เนื่องจากเดิมมีสภาพเป็นเกาะ
วัดกลางวรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองฯ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
สันนิษฐานว่า สร้างในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดตะโกทอง
ต่อมาภายหลังได้เรียกชื่อว่า วัดกลาง เพราะตั้งอยู่ระหว่างวัดนอก (วัดพิชัยสงคราม)
กับวัดใน (วัดในเดิมสองวิหาร)
ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ ชาวเมืองปากน้ำถูกทหารพม่าเข้ามากวาดต้อน
วัดนี้จึงถูกทิ้งร้างไป เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขับไล่พม่าไปแล้ว
วัดกลางก็ได้รับการบูรณะคืนสู่สภาพเดิม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ พระองค์ได้เสด็จ ฯ เมืองปากน้ำอยู่เนือง
ๆ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งหมด
วัดกลางวรวิหารได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
พระอุโบสถหลังเก่า
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕ รูปลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา น้ำหนักหลังคาลงที่ผนังโดยรอบ
ภายในพระอุโบสถเสริมเสาขึ้นภายหลัง เพื่อรับน้ำหนักจากโครงสร้างหลังคาให้แข็งแรงขึ้น
เสามีลักษณะเกลี้ยง ไม่แต่งเติมศิลปกรรมใด ๆ มีการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง มีลักษณะการผสมผสาน
ระหว่างศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีคันทวยรองรับปีกนกที่จัดว่าสวยงามมาก
หน้าบันไม่มีช่อฟ้าใบระกา มีแต่ปูนปั้นรูปร่างคล้ายพุ่มข้าวบิณฑ์แทนช่อฟ้า
ส่วนใบหระกาก็ปั้นลายกนกแข้งสิงห์แทน ส่วนที่แพนหางหงส์ใช้ลายกนกสาหร่าย ปูนปั้นเหล่านี้ปั้นแปะติดกับขอบหน้าบัน
จึงไม่มีนาคสะดุ้ง ช่วยให้ไม่ชำรุดง่าย
หน้าบันลายปูนปั้นเป็นลายเครือเถาแบบฝรั่ง ใบไม้ปูนปั้นประกอบช่อก้านเครือเถา
ล้อแบบลายกนก ก้านขดได้สวยงามพริ้วไหว ดอกไม้แต่ละดอกให้สีสันสวยคงทน เพราะใช้ถ้วยจานชามลายคราม
และเบญจรงค์แทนดอกไม้ แล้วปั้นปูนให้เป็นกลีบดอก วงในของดอกคือ เครื่องเบญจรงค์
ประตูหน้าต่างใช้ปูนปั้นเป็นซุ้มลอยออกมา มีบันแกลงที่เป็นลายปูนปั้นไว้ด้วยจึงกลายเป็นการผสมผสานศิลปกรรม
ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนัง ชุดปฐมสมโภธิกถาสวยงาม และคงความเป็นโบราณไว้คือ
ใช้สีแดงอย่างโบราณคือ รงคชาด แล้วใช้วิธีตัดเส้นให้คมชัด ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปอยู่เป็นจำนวนมาก
มีพระพุทธรูปศิลาแลงปางมารวิชัยเป็นต้น
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
เป็นมณฑปจตุรมุข มีมุขลดสี่ด้าน มีศิลปะลายปูนปั้นเลียนแบบอย่างพระอุโบสถหลังเก่า
ในตำแหน่งยอดสุดของแต่ละมุข ตรงตำแหน่งที่ควรเป็นที่อยู่ของช่อฟ้า มีปูนปั้นหน้าท้าวจตุโลกบาล
ประจำอยู่ทุกทิศตามเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ภายในพระมณฑปมีพระพุทธบาทสี่รอยประดิษฐานอยู่
ศาลาการเปรียญ
เป็นศาลาไม้สักทั้งหลัง ลวดลายหน้าบันเป็นลวดลายประดิษฐ์ด้วยไม้ มีความสวยงามละเอียดละออ
ปัจจุบันได้ประดับกระจกสีที่พื้นหน้าบัน และมีการปิดทองที่ดอกไม้ไหวสวยงามอร่ามตามาก
|