ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > เมืองเก่าของไทย

เมืองเก่าของไทย
ภาคกลาง
กรุงเทพฯ
กาญจนบุรี
จันทบุรี
ฉะเชิงเทรา
ชลบุรี
ชัยนาท
ตราด
นครนายก
นครปฐม
นนทบุรี
ปทุมธานี
ประจวบฯ
ปราจีนบุรี
เพชรบุรี
ระยอง
ราชบุรี
ลพบุรี
สมุทรปราการ
สมุทรสงคราม
สมุทรสาคร
สระแก้ว
สระบุรี
สิงห์บุรี
สุพรรณบุรี
อยุธยา
อ่างทอง
อุทัยธานี
ภาคเหนือ
กำแพงเพชร
เชียงราย
เชียงใหม่
ตาก
นครสวรรค์
น่าน
พะเยา
พิจิตร
พิษณุโลก
เพชรบูรณ์
แพร่
แม่ฮ่องสอน
ลำปาง
ลำพูน
สุโขทัย
อุตรดิตถ์
ภาคอีสาน
กาฬสินธุ์
ขอนแก่น
ชัยภูมิ
นครพนม
นครราชสีมา
บุรีรัมย์
มหาสารคาม
มุกดาหาร
ยโสธร
ร้อยเอ็ด
เลย
สกลนคร
สุรินทร์
ศรีสะเกษ
หนองคาย
หนองบัวลำภู
อุดรธานี
อุบลราชธานี
อำนาจเจริญ
ภาคใต้
กระบี่
ชุมพร
ตรัง
นครศรีธรรมราช
นราธิวาส
ปัตตานี
พัทลุง
พังงา
ยะลา
ระนอง
สงขลา
สตูล
สุราษฎร์ธานี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน
           ที่มาของชื่อบ้านแม่กลอง  จังหวัดสมุทรสงครามเแต่เดิมเรียกเมืองแม่กลอง การตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำแห่งนี้ สันนิษฐานว่าคนกลุ่มแรกเป็นชาวแม่กลอง (เดิม)  จากจังหวัดอุทัยธานี อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในถิ่นนี้ ชาวแม่กลอง (เดิม) ในจังหวัดอุทัยธานีเป็นชาวแม่น้ำ เคยอยู่ริมแม่น้ำกำแพงเพชรมาก่อน เรียกหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ว่าบ้านแม่กลอง ตามชื่อบ้านเดิมของตน
           ที่มาของชื่อบ้านแม่กลอง ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าด้วยเรื่องกลองใหญ่ ที่วัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง ฯ โดยมีนัยอยู่สองทางคือ
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงศรีสวัสดิ์ (ชื่น เทพสุวรรณ) นายอำเภอเมืองศรีสุวรรณ  จังหวัดกาญจนบุรี ย้ายมาเป็นนายอำเภอแม่กลอง ได้นำซุงต้นใหญ่ที่ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรี มาขุดทำกลองใบใหญ่ขึ้นใบหนึ่งขึงด้วยหนังวัว ครั้นสร้างเสร็จแล้วได้นำมาถวายที่วัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ทางราชการจึงทำตราจังหวัดเป็นรูปกลองลอยน้ำ สองฟากฝั่งเป็นต้นมะพร้าวอันเป็นสัญลักษณ์อาชีพหลักของจังหวัด
           เรื่องกลองใหญ่นี้ยังมีอีกนัยหนึ่งเป็นนิยายชาวบ้านเล่าขานต่อ ๆ กันมาว่า มีกลองใบใหญ่ลอยมาติดหน้าวัดใหญ่ ชาวบ้านช่วยกันเก็บไว้ที่วัด กลองดังกล่าวยังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากกลองใบนี้เป็นกลองขนาดใหญ่มากจึงเรียกว่า แม่กลอง
           ท้องถิ่นสมุทรสงคราม  ชื่อเดิมของจังหวัดนอกจากชื่อแม่กลองแล้ว ยังมีชื่ออื่นอีกคือ ในสมัยก่อนคนทั่วไปรู้จักอัมพวาในชื่อของ บางช้าง ควบคู่กันมากับ บางกอก ดังเช่นมีคำกล่าวที่ว่า บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน ที่มาของคำกล่าวนี้อาจเป็นไปได้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของทั้งบางกอก และบางช้างคล้ายคลึงกัน คือต่างอยู่ในที่ดอนอันเกิดจากการทับถมของตะกอนของลำน้ำที่คดเคี้ยวออกสู่ทะเล เหมาะแก่การทำเรือกสวน และอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา เกิดชุมชนขึ้นที่อัมพวา
           เส้นทางคมนาคมทางน้ำ ก่อนออกทะเลที่สำคัญคือ ลำน้ำอ้อม ซึ่งเป็นลำน้ำแม่กลองเก่า ถ้าเริ่มจากปากน้ำแม่กลอง ผ่านอำเภอเมือง ฯ ขึ้นไปตามลำน้ำ จากบ้านคลองผีหลอก เข้าเขตอำเภออัมพวาซึ่งมีลำน้ำสองสายมาบรรจบกัน ทางฝั่งเหนือเป็นลำน้ำธรรมชาติ ทางใต้เป็นคลองขุด เหนือขึ้นไปตามลำน้ำแม่น้ำแม่กลอง แยกออกเป็นสองสาย สายแรกขึ้นไปทางเหนือไปยังอำเภอบางคนที เป็นลำน้ำสายใหญ่ของแม่น้ำแม่กลอง อีกสายหนึ่งเรียกแม่น้ำอ้อม แยกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปยังอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
           บริเวณชุมชนเก่า จากร่องรอยความเป็นมา ทำให้สามารถกำหนดแหล่งการตั้งถิ่นฐานตามแนวแม่น้ำลำคลองในเขตอำเภออัมพวา ได้ดังนี้
               - ชุมชนบริเวณแม่น้ำอ้อม  ชุมชนเก่าแก่คือ บริเวณแม่น้ำอ้อม ตั้งแต่แยกแม่น้ำแม่กลอง บ้านลัดเกาะ บ้านบางกุ้ง ไปจนเข้าเขตอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี พบร่องรอยวัดเก่าตั้งเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งลำน้ำ มีการขุดคลองซอยใหญ่น้อยแยกจากแม่น้ำออกไปทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งใต้เกือบกล่าวได้ว่า มีคลองซอยทุกระยะสิบเส้น (๔๐๐ เมตร)

               - ชุมชนบริเวณฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ บริเวณตั้งแต่อำเภออัมพวาขึ้นไปจรดคลองบางน้อย ในเขตอำเภอบางคนที เป็นบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวสวนที่หนาแน่น ส่วนมากอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ซึ่งนอกจากมีชุมชนเรียงรายตามริมฝั่งแล้ว ยังขยายตัวไปตามลำคลองอัมพวา และคลองซอย ซึ่งมีเครือข่ายขยายตัวไปทางเหนือ และทางตะวันออกจนถึงเขตติดต่อกับคลองบางน้อย แถวบ้านบางกระบือ
           ทั้งสองบริเเวณดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวสวนที่เรียกว่า สวนนอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานานและยังคงสภาพอยู่ ทำให้เห็นชุมชนลักษณะเรือกสวน และวิถีชีวิต รวมทั้งวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ในระดับหนึ่ง
               - ชุมชนบริเวณเขายี่สาร  เป็นบริเวณที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภออัมพวา เป็นบริเวณที่ไม่มีการทำเรือกสวน เพราะเป็นเขตน้ำกร่อยและป่าชายเลน เป็นบริเวณจากฝั่งใต้ของทางหลวงสายปากท่อ - แม่กลอง ลงไปจนจดเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กับอำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พันธุ์ไม้ที่ปลูกได้ดีพอสมควรคือมะพร้าว มีการตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหย่อม ๆ มีการขุดคลองอย่างสลับซับซ้อนเพื่อการคมนาคมและทำนากุ้ง
               - ชุมชนเขายี่สาร  เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นแหล่งที่ผู้เดินทางทางทะเลสามารถเข้ามาจอดเรือพักสินค้า เป็นบริเวณที่มีดอนและเขาเตี้ย ๆ มีเส้นทางน้ำใหญ่ไปออกทะเลได้สะดวก สามารถติดต่อกับชุมชนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล มีลำคลองธรรมชาติที่เรียกว่า คลองยี่สารเก่า มีต้นน้ำจากบ้านบางเค็มทางตะวันตก ผ่านเข้าพื้นที่ป่าชายเลนมายังเขายี่สาร ไปออกทะเลที่บ้านคลองช่อง
           ในสมัยทวาราวดีบริเวณชายหาดเก่า คือแนวที่เดิน เป็นที่ตั้งของชุมชนตั้งแต่ราชบุรีถึงเพชรบุรี การคมนาคมทางบก จากราชบุรีไปยังเพชรบุรีได้อาศัยแนวชายหาดเก่านี้ ในตำนานเรียกชายหาดนี้ว่า ถนนท้าวอู่ทอง กล่าวถึงการเดินทางของท้าวอู่ทองผ่านตำบลต่าง ๆ ไปยังเมืองราชบุรี
           หลักฐานทางโบราณคดีคือ บรรดาวัดเก่าต่าง ๆ ที่เรียงรายกันอยู่ พบพระสถูปเจดีย์ เสมาหินทรายสีแดง และพระพุทธรูปหินทรายที่มีอายุสมัยอยุธยาตอนต้น
           ที่เขายี่สารพบเนินดินที่มีการอยู่อาศัย และเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเผาแกร่ง และเคลือบชนิดเผาแกร่งเป็นพวกไห โอ่ง ชาม ที่เป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้นลงมา ส่วนเครื่องภาชนะเคลือบมีทั้งของญวน และจีน มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นขึ้นไป
           เอกสารโบราณที่กล่าวถึงเขายี่สารมีหลายเรื่องเช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ แต่งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๘๘ - ๒๓๙๒  ได้ใช้เส้นทางคลองลัดทางอ่าวบางตะบูน แทนการเดินทางเข้าปากแม่น้ำเพชรบุรี ที่อ่าวบ้านแหลม เพราะระยะทางใกล้กว่า และปลอดภัยกว่า เส้นทางนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
           นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่องบ้านเขายี่สาร ซึ่งสอดคล้องกับสถานที่บริเวณที่เรียกว่า อู่ตะเภา และมีตำนานกล่าวถึงเรื่องราวของ ปู่ศรีราชา ปู่หัวละมาน จีนสองพี่น้องที่สำเภาล่มและมีศาลที่เคารพของชาวบ้าน เขายี่สารตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
           จากหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของชุมชนแห่งนี้ว่า มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย
               - ชุมชนบริเวณบ้านแหลม  มีหลักฐานปรากฎในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีได้เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรีแล้ว ราษฎรที่มีภูมิลำเนาอยู่ปากน้ำบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี ได้อพยพครอบครัวลงเรือหนีพม่ามาขึ้นบกที่แม่กลอง อันเป็นที่มาของ หมู่บ้านแหลม ในปัจจุบัน
ลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
           สมัยอยุธยา ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสงคราม มีปรากฎหลักฐานเก่าที่สุดในกฎหมายตราสามดวง พระอัยการนาหัวเมืองซึ่งตราไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ว่า "พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทรสงคราม เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ พระชนบุรี เมืองชน" แสดงว่าเมืองแม่กลองเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ผู้ปกครองมีราชทินนาม พระสมุทรสงคราม
           ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) เมื่อราชฑูตฝรั่งเศสมายังกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวว่ามีป้อมอยู่ที่เมืองแม่กลองแล้ว
           ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เซเบเรต์ ในคณะฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ - ๒๒๓๑ ตอนขากลับ ม.เซเบเรต์ ได้แยกคณะเดินทางกลับโดยไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่เมืองตะนาวศรี ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญของไทย ระหว่างเดินทางเมื่อผ่านเมืองแม่กลอง ได้บันทึกไว้มีความตอนหนึ่งว่า "ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้ออกจากเมืองท่าจีน เพื่อไปเมืองแม่กลอง... เวลาเย็นไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจากเมืองท่าจีนประมาณ ๑๐ ไมล์ครึ่ง เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าเมืองท่าจีน และตั้งอยู่ริมน้ำที่เรียกว่า แม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างทะเลประมาณ ๑ ไมล์... เมืองแม่กลองไม่มีกำแพงเมือง มีป้อมเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมอยู่ ๑ ป้อม มุมป้อมมีหอรบอยู่  ๔ แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐไม่มีคู แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพงหรือรั้วระหว่างหอรบทำด้วยเสาใหญ่ ๆ ปักลงในดินมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะ ๆ"
           ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙) เมืองแม่กลองจัดเป็นหัวเมืองตรี ขึ้นกับเมืองราชบุรี เจ้าเมืองมีราชทินนาม พระแม่กลองบุรี
           เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ได้กล่าวถึงเมืองแม่กลองโดยใช้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม สันนิษฐานว่า การเปลี่ยนชื่อเมืองคงมีมาแล้วก่อนหน้านี้ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๖๕ - ๒๒๙๙
           ในสมัยโบราณเมืองแม่กลองได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามน้อยมาก เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะผ่านเข้ามีตีกรุงศรีอยุธยา แต่การเกณฑ์คนไปร่วมรบกับกองทัพในกรุงนั้น ชาวเแม่กลองต้องร่วมอยู่ด้วยทุกสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพม่ายกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด่านสิงขร และจากทางปักษ์ใต้
           ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ให้วัดอยู่กลางค่าย
           สมัยกรุงธนบุรี  หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ค่ายบางกุ้งไม่มีทหารอยู่รักษาจนมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จีนจากชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี และราชบุรี รวบรวมพลพรรคมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ค่ายจีนบางกุ้ง ค่ายนี้จึงเป็นค่ายบนเส้นทางยุทธศาสตร์ ใช้รับศึกในพื้นที่ห่างไกลพระนคร ค่ายบางกุ้งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ข้าศึกจะเข้าถึงกรุงธนบุรี
           ค่ายบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนมี จังหวัดสมุทรสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ
           ในสงครามค่ายบางกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๑ กองทัพพม่าโดยเจ้าเมืองทวายเดินทัพเข้ามาทางไทรโยค เข้าล้อมค่ายบางกุ้งไว้ ด้วยกำลังพลสองหมื่นเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหามนตรี (บุญมา) จัดกองเรือ ๒๐ ลำ พระองค์เสด็จมาเองโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา เรือยาว ๑๘ วา ปากเรือกว้างสามศอกเศษ พลกรรเชียง ๒๘ คน มายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน ผ่านคลองสุนัขหอน มาออกแม่น้ำแม่กลอง
           การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น ทหารในค่ายจุดประทัด ตีฆ้อง เปิดประตูค่ายส่งกำลังตีกระทุ้งออกมา ทำให้ทหารพม่าอยู่ในศึกกระหนาบ และแตกหนีไป กองทัพไทยได้เรือรบศัตรูทั้งหมด ได้ศาตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก
           บริเวณค่ายบางกุ้ง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่งด้วยกันคือ
               - วัดบางกุ้ง  เป็นวัดเก่าแก่สร้างสมัยอยุธยา เดิมมีสองวัดคือ วัดบางกุ้งใหญ่ และวัดบางกุ้งน้อย วัดบางกุ้งใหญ่คงยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนวัดบางกุ้งน้อยกลายเป็นวัดร้าง คงเหลือแต่โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินดินกลางค่ายบางกุ้ง ภายในโบสถ์มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อย และมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปลายสมัยอยุธยาเป็นภาพพุทธประวัติ ประตูหน้าต่างโบสถ์เป็นแบบอยุธยาตอนต้น เสมาเป็นหินทรายแดงมีขนาดเล็ก เรียกว่า เสมาในตระกูลอัมพวา
               - วัดโบสถ์  สร้างสมัยอยุธยา มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า เดิมกำแพงโบสถ์เป็นกำแพงสองชั้น ต่อมาถูกพม่าทำลายแล้วเอาอิฐไปสร้างค่ายคราวศึกบางกุ้ง อิฐที่เหลือทางวัดรื้อมาสร้างเป็นกำแพงชั้นเดียว ยังอยู่ถึงปัจจุบัน บริเวณโบสถ์หลังเก่าพบอิฐฝังอยู่ใต้ดินเป็นแนวกำแพง ชาวบ้านได้ขุดเอาไปสร้างวัดแต่บางส่วนยังฝังอยู่ใต้ดิน นอกจากนี้ยังพบเสากลมอยู่ใต้ดินปักเป็นแนวเข้าใจว่า เป็นแนวค่าย
           โบสถ์มีลักษณะโค้งคล้ายลำสำเภา เป็นเอกลักษณ์สมัยอยุธยา หัวเสาโบสถ์เป็นแบบบัวกลีบหลายชั้น ลายปั้นปูนตำทุกเสาสวยงามมาก บริเวณหลังโบสถ์มีสุวรรณเจดีย์ และพระปรางค์รวมสามองค์ มีรูปแบบสมัยอยุธยา ใบเสมาคู่มีสังวาลล้อมใบเสมา รูปลักษณะสมัยลพบุรี
               - วัดบางพลับ  สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา บริเวณวัดส่วนหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง อยู่ตรงข้ามค่ายบางกุ้ง เดิมเรียกว่า บ้านพักทัพ ต่อมากลายเป็น บางพลับ
           บริเวณนี้นอกจากเป็นที่พักทัพแล้ว น่าจะเป็นสมรภูมิด้วยคือ เดิมเป็นที่ว่างเปล่าและอยู่ตรงข้ามคลองบ้านค่าย ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของค่ายบางกุ้ง สันนิษฐานว่าพม่าตั้งทัพอยู่บริเวณวัดกลางใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีคลองวัดจินดาวัฒนารามกับคลองบ้านค่ายคั่นอยู่ บริเวณบางพลับซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามน่าจะเป็นที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน เพราะมีการขุดพบโครงกระดูกเป็นจำนวนมากในบริเวณบ้านพักทัพ
           โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่เหลืออยู่คือ โบสถ์ พระพุทธรูป และตู้พระธรรม
           โบสถ์มีฐานโค้งคล้ายสำเภา ลวดลายหน้าบัน บานประตูโบสถ์ขนาดเล็ก แสดงลักษณะว่าเป็นสมัยอยุธยา
           พระประธานปางมารวิชัย สมัยอยุธยา
           พระแก้วผลึก หน้าตักกว้าง ๕นิ้ว และพระยอดธงทองคำ พระะนาคปรกศิลาทรายแดง ล้วนเป็นของมีค่าสูง
           ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทองวิจิตรงดงาม จำนวนสี่หลัง บรรจุคัมภีร์ใบลาน สมุดไทยเป็นจำนวนมาก เป็นเอกสารที่มีค่ายิ่งทางวิชาการ
               - คลองบ้านค่าย  เป็นคลองขุดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อให้ทหารใช้น้ำ และเป็นคูป้องกันข้าศึก อยู่ทางเหนือของค่ายบางกุ้ง ปัจจุบันเป็นคลองเล็ก ๆ อยู่ระหว่างวัดจินดาวัฒนารามกับวัดบางกุ้ง คลองนี้โอบล้อมค่ายไปจนจดเขตตำบลบางสะแก
               - ป้อมที่เป็นเชิงเทินหอรบ  ตั้งอยู่บนปากคลองบ้านค่าย ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที เป็นป้อมที่ก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว คนสมัยก่อนเคยเห็นตัวป้อมอยู่ที่ปากคลองบ้านค่าย แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมผุพัง ปัจจุบันน้ำเซาะอิฐทำให้ป้อมส่วนใหญ่ที่เหลือจมอยู่ใต้ผิวน้ำ เห็นได้เมื่อน้ำลดลงมาก ๆ อิฐที่พบมีขนาดใหญ่กว่าอิฐธรรมดาและแข็งแกร่งมาก
               - ศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกง  เป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนพร้อมใจกันสร้างขึ้นที่บริเวณคลองแควอ้อม ทางด้านใต้วัดอมรเทพ จากตราสารขออนุญาตตั้งศาลเจ้าแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นประวัติการสร้างศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกง กล่าวถึงค่ายบางกุ้ง และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความว่า ทหารพม่าล้อมค่ายจีนบางกุ้งอยู่นาน ๔๑ วัน เมื่อเดือนยี่ แรมหกค่ำ ชาวบ้านและทหารไทย - จีน ที่อยู่ในค่ายได้รับความลำบากมาก เสบียงอาหารขาดแคลนชาวบ้านที่เป็นคนชรายอมอดอาหารเพื่อเอาอาหารให้ทหารกิน ฝ่ายไต้กงเจียบ (ออกหลวงเสนาสมุทร) ซึ่งเป็นผู้ดูแลเมืองแม่กลองได้แจ้งไปยังกรุงธนบุรี ขอกำลังมาช่วยรบกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ และนายบุญมา ยกทัพเรือผ่านคลองบางบอน ไปออกคลองแม่กลองถึงค่ายจีนบางกุ้งในเวลากลางคืน จึงมีบัญชาให้จอดเรือพักอยู่ฝั่งตรงข้ามกับค่าย (ที่บ้านพักทัพ ต่อมาเปลี่ยนเป็นบางพลับ) ครั้นถึงยามสามจึงยกทัพข้ามฝั่งมาขึ้นตรงค่ายบริเวณศาลเจ้าแห่งนี้ ทหารในค่ายรู้ว่ากองทัพกรุงยกมาช่วยก็มีใจฮึกเหิม เปิดประตูค่ายบุกเข้าโจมตีกองทัพพม่าแตกกลับไป
           ต่อมาพสกนิกรชาวจีน จึงพร้อมใจกันสร้างศาลบูชาขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จลงจากเรือ ณ ท้ายค่ายจีนบางกุ้ง บริเวณแหลมเตยมีชื่อเป็นภาษาจีนว่า ไท้เพ่ง อ๊วงกง แปลว่า เทพเจ้าแห่งสันติ ตรงเหนือบานประตูด้านในศาลเจ้า มีง้าวแขวนอยู่หนึ่งเล่ม ภายในศาลมีพระประธานพร้อมทั้งพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร และมีรูปปั้นพระจีน และเซียนอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บนที่บูชา
           ณ ศาลเจ้าแห่งนี้มีพิธีถวายสักการะเป็นประจำทุกปี ในเดือนสิบสอง ขึ้นสิบสี่ค่ำ ของจีน คือก่อนตรุษจีนหนึ่งสัปดาห์ มีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
     สมัยรัตนโกสินทร์
           รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  พระองค์ทรงตั้งผู้มีความชอบให้ออกไปเป็น พระยา พระ หลวง ครองหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ทั้งปวงทุกเมือง สำหรับเมืองสมุทรสงครามทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ นายแสง เป็นที่พระยาสมุทรสงคราม
           การจัดหัวเมือง ทรงพระราชดำริว่าเมื่อครั้งกรุงเก่า เมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้พระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม มีความชอบมาก จึงพระราชทานแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกรวม ๒๐ หัวเมือง มาขึ้นกับกรมพระกลาโหม ส่วนเมืองสมุทรสงครามขณะนั้นขึ้นกรมมหาดไทย ให้มาขึ้นกรมท่า
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  พระองค์ทรงทีความเกี่ยวข้องกับเมืองสมุทรสงครามมาตั้งแต่ต้นคือ สมเด็จพระบรมราชชนก เคยประทับอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ก่อนมาเป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และกรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ ทรงเป็นชาวเมืองสมุทรสงครามโดยกำเนิด พระองค์ได้เป็นอัครมเหสี หรือพระบรมราชินีองค์แรกในราชวงศ์จักรี
           พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพที่เมืองสมุทรสงคราม นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์มีเชื้อสายชาวเมืองสมุทรสงคราม เนื่องจากพระะราชมารดาเป็นชาวเมืองนี้
           ราชินิกูลบางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลชูโต ตระกูลสวัสิดิชูโต ตระกูลแสงชูโต ตระกูลวงศาโรจน์ ตระกูล ณ บางช้าง ตระกูลภมรบุตร ล้วนแต่เป็นตระกูลที่สืบเนื่องจากชาวบางช้าง ทั้งสิ้น
            รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทร์ การสงครามในครั้งนั้นใช้ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ เมื่อมีข่าวว่าญวนได้ขุดคลองลัดจากทะเลสาบมาออกอ่าวไทย และมีท่าทีว่าจะยกกำลังทางเรือมารุกรานไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นตามปากแม่น้ำสำคัญ เริ่มแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเป็นปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำบางปะกง และปากแม่น้ำจันทบุรี
           สำหรับป้อมที่ปากแม่น้ำแม่กลองนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างขึ้น ที่ฝั่งตะวันออกของปากคลองแม่กลอง ต่อจากวัดบ้านแหลม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า ป้อมพิฆาตข้าศึก เจ้ากรมป้อม เป็นที่ หลวงละม้าย แม้นมือฝรั่ง ปลัดป้อมเป็นที่ ขุนฉมังแม่นปืน ส่วนป้อมเก่าที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยานั้น อาจถูกรื้อออกก่อนสร้างแห่งใหม่
           ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้ขุดลอกคลองสุนัขหอน เพราะตื้นเขินมาก ชื่อคลองสุนัขหอนนี้มีปรากฎอยู่ในหนังสือเก่า ๆ หลายเรื่องด้วยกัน เช่น นิราศท่าดินแดง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเมืองเพชร และนิราศเกาะจาน เป็นต้น การขุดลอกคลองสุนัขหอนนี้ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จ้างจีนขุดสิ้นเงิน ๘,๑๗๖ บาท (๑๐๒ ชั่ง ๔ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง) โดยพิจารณาเห็นว่าน้ำชนกันที่ตรงนั้นคงตื้นทุกแห่ง ถ้าขุดคลองแยกเข้าไปที่น้ำชนให้สายน้ำไหลเลยเข้าไปที่ตรงน้ำชนนั้นก็จะไม่ตื้น จึงขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปทุ่งริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎรชาวบ้าน ลงลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ไม่ตื้นจนทุกวันนี้
           รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในสมัยนั้นทางราชการเห็นว่าป้อมมีความสำคัญน้อยมาก ไม่เหมาะสมกับความก้าวหน้า ทางอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ จึงได้รื้อป้อมพิฆาตข้าศึก และกำแพงลง แล้วตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่ ๑ ขึ้นแทน โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลเรือเอกพระยามหาโยธา (ฉ่าง  แสงชูโต) มาอำนวยการสร้างโรงเรียนดังกล่าว สำหรับฝึกอบรมทหารใหม่ที่เกณฑ์จากชายฉกรรจ์ในจังหวัดสมุทรสงครามจำนวนสองกองร้อย ฝึกหัดหนึ่งปีแล้วส่งผลัดเปลี่ยนทหารเก่าในกรุงเทพ ฯ  ตั้งมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยุบกองโรงเรียนพลทหารเรือ โดยกระทรวงทหารเรือได้ยกอาคาร และที่ดินให้กระทรวงมหาดไทย ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๖๘ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้ทำการปลูกสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่บริเวณที่อยู่ปัจจุบัน แล้วโอนศาลากลางเดิมให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ในกิจการโรงพยาบาลจังหวัด
           ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ปราณบุรี ประจวบ ฯ และเมืองสมุทรสงครามเข้าเป็นมณฑลราชบุรี
           ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ยกแขวงบางช้างขึ้นเป็นอำเภอชื่ออำเภออัมพวา ตามชื่อของบ้านอัมพวา ส่วนบ้านบางช้างเป็นตำบลหนึ่งในเขตปกครองของอำเภออัมพวา
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดสมุทรสงครามได้รับการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่หลายประการ ได้แก่ การขุดคลองดำเนินสะดวก จากแม่น้ำท่าจีนไปสู่แม่น้ำแม่กลอง โดยเริ่มต้นที่ประตูน้ำบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และต่อไปถึงอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านประตูน้ำบางนกแขวกไปสู่แม่น้ำแม่กลอง ระยะทางยาว ๓.๕ กิโลเมตร  ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้สร้างประตูน้ำบางยางที่อำเภอบ้านแพ้ว และประตูน้ำบางนกแขวกที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที  ประตูน้ำสองแห่งนี้กั้นคลองดำเนินสะดวก สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๔๙,๐๐๐ บาท เพื่ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมและการเกษตร ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงคลองดำเนินสะดวกตลอดปี เรือสัญจรไปมาได้ทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ชาวนาชาวสวนได้ตลอดปีเช่นกัน
           นอกจากนั้น การสร้างทางรถไฟสายมหาชัย - ท่าจีน - แม่กลอง ใช้หัวรถจักรไอน้ำแล่นจากสถานีแม่กลอง ไปสุดทางที่สถานีบ้านแหลม และลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่ท่ามหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขึ้นรถไฟที่สถานีมหาชัย ไปสิ้นสุดที่สถานีปากคลองสาน กรุงเทพ ฯ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์