www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
แหล่งอุตสาหกรรม
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย
ตั้งอยู่ที่วัดพระปรางค์ พบร่องรอยเตาเผา ตั้งแต่บริเวณที่อยู่ห่างจากวัดพระปรางค์ไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ
๕๐๐ เมตร และต่อไปตามริมฝั่งแม่น้ำน้อยในระยะห่างจากริมฝั่งแม่น้ำประมาณ ๑๕๐
- ๒๐๐ เมตร จนถึงบริเวณที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดเกือบ ๒
กิโลเมตร
เตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นเตาผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่มีอายุอยู่ระหว่าง พุทธศตวรรษที่
๒๐ - ๒๔ ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่สามเนิน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเตาเผาแห่งนี้
มีอยู่ ๒ ประเภทคือ เครื่องใช้สอย และเครื่องประกอบสถาปัตยกรรม
จากการขุดค้นพอสรุปได้ว่า เทคโนโลยีเตาเผาแห่งนี้ได้มาจากกลุ่มเตาเผาเมืองสุโขทัย
มีบทบาทสำคัญในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา เพื่อการบรรจุสินค้าส่งขายแก่ต่างประเทศ
นอกเหนือไปจากการผลิตใช้ในท้องถิ่น ของที่ผลิตได้แก่ ไหสี่หูขนาดใหญ่ ทั้งเคลือบและไม่เคลือบ
อ่าง ครก กระปุก ขวด เครื่องประดับอาคาร เช่น ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องมุงหลังคา
รูปปั้นสิงห์ ตุ๊กตา ตลอดจนกระสุนปืนใหญ่และท่อน้ำประปา
จากการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ถึง พ.ศ.๒๕๓๖ พบเตาแปดเตา เป็นการสร้างซ้อนกันหลายครั้ง
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
สภาพทั่วไปเนินดินเตาเผามีพื้นที่ประมาณ ๒ ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีอยู่ห้ากลุ่มคือ
- กลุ่มที่ ๑
กลุ่มเนินดินหน้าโบสถ์หลังเก่า มีสี่เนินด้วยกัน
- กลุ่มที่ ๒
เนินดินริมแม่น้ำน้อยตรงข้ามวัดชัณสูตร
- กลุ่มที่ ๓
เนินดินบริเวณโรงเรียนวัดพระปรางค์
- กลุ่มที่ ๔
เนินดินที่เมรุเผาศพวัดพระปรางค์
- กลุ่มที่ ๕
เนินดินบริเวณโรงพยาบาลบางระจัน
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดตั้งแต่สมัยอยุธยา
ตัวเตาที่ขุดค้นแล้ว มีรูปร่างส่วนลำตัวเหมือนเรือประทุน จึงเรียกว่า
เตาประทุน
ก่อด้วยอิฐ ใช้ระบบความร้อนเฉียงขึ้น ยาว ๑๔ เมตร กว้าง ๕.๖๐ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องไฟ
๒.๑๕ เมตร นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบในประเทศไทย
โบราณวัตถุที่พบส่วนมากเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ชำรุดแตกหัก และบิดเบี้ยวเสียหาย
และเศษเครื่องเคลือบจากแหล่งเตาอื่น ๆ ปะปนกันอยู่ ได้แก่เศษเครื่องเคลือบสีน้ำตาล
เศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบและเนื้ออ่อนไม่เคลือบ ที่รองภาชนะ
เศษเครื่องเคลือบสังคโลก เศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง
ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ได้แก่ เครื่องประดับสถาปัตยกรรม
ลูกกระสุนปืนใหญ่ และลูกกระสุนดินเผา และประติมากรรมลอยตัวในรูปแบบต่าง ๆ
แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย น่าจะเริ่มทำมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
ศิลปกรรมและงานช่าง
ประติมากรรม
งานปั้นสมัยสุโขทัย
เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสององค์คือ หลวงพ่อสินและหลวงพ่อทรัพย์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดประโชติการาม
อำเภอเมือง ฯ
งานปั้นสมัยอยุธยา
ได้แก่ พระนอนจักรสีห์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร บ้านพระนอน
ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ เป็นศิลปกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
งานปั้นสมัยปัจจุบัน
ส่วนใหญ่จะปั้นพระพุทธรูป
งานแกะสลักสมัยอยุธยา
ได้แก่ งานแกะสลักลวดลายหน้าบันวิหารวัดดอกไม้เป็นรูปดอกไม้ เทพนมสามองค์
ผ้าทิพย์สามชายและมีมังกรขนาบข้าง ลวดลายสวยงามมาก วัดดอกไม้ตั้งอยู่ในเขตตำบลประศุก
อำเภออินทร์บุรี นอกจากนั้นยังมีงานแกะสลักบานประตูโบสถ์วัดกระดังงา
เป็นงานแกะสลักที่สวยงามมาก
งานแกะสลักสมัยรัตนโกสินทร์
ได้แก่ งานแกะสลักหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง ฯ
งานหล่อโลหะ
ได้แก่ งานหล่อหลวงพ่อเพชร วัดพงษ์สุวรรณวราราม (วัดสำโรง) ตำบลอินทร์บุรี
จิตรกรรม
เป็นศิลปะการวาดรูประบายสีซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังตามศาสนสถานที่สำคัญ และจิตรกรรมในสมุดไทย เช่น ภาพวาดพระมาลัย
ตู้ลายทอง และหีบพระธรรม เป็นต้น
จิตรกรรมฝาผนังวัดม่วง
วัดม่วงตั้งอยู่ในเขตตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทบุรี อยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา
ลักษณะของจิตรกรรมเป็นภาพเขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ
จิตรกรรมฝาผนังวัดสุทธาวาส
วัดสุทธาวาสตั้งอยู่ในเขตตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี ลักษณะของจิตรกรรมเขียนโดยช่างท้องถิ่น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อยู่ในวิหารครอบรอบพระพุทธบาท เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ
พระจุฬามณี
จิตรกรรมฝาผนังวัดพระปรางค์มุนี
วัดพระปรางค์มุนีตั้งอยู่ในเขตตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง ฯ ภาพจิตรกรรมเป็นภาพที่เขียนขึ้นในระยะเวลาที่สร้างวัดนี้ขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติชาดกที่งดงาม
จิตรกรรมฝาผนังวัดจักรสีห์
วัดจักรสีห์ตั้งอยู่ที่บ้านจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ ภาพจิตรกรรมอยู่ในอุโบสถหลังเก่า
เป็นภาพจิตรกรรม ที่แตกต่างไปจากสามวัดที่กล่าวแล้ว คือ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในปางสมาธิเกือบทั้งหมด
เบื้องหลังมีหมู่ไม้ บางภาพเป็นภาพพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวก และมีภาพหนึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จปรินิพพาน
จิตรกรรมฝาผนังวัดสิงห์
วัดสิงห์ตั้งอยู่ในเขตตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี สร้างสมัยอยุธยาเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๒๕๐ ภาพจิตรกรรมอยู่ในอุโบสถ วาดไว้ที่เสาและฝาผนังของซุ้มหลวงพ่อเนตร
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่หลังพระประธาน ติดกับผนังด้านหลังโบสถ์
เป็นภาพพระพุทธเจ้าปางสมาธิ และประทับยืนในซุ้มดอกไม้ ภาพส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้
บางแห่งมียักษ์แทรกอยู่
จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองปลาไหล
วัดหนองปลาไหลตั้งอยู่ที่บ้านปลาไหล ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี สร้างเมื่อปี
พ.ศ. ๒๑๒๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ ในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีค่าหลายอย่าง
ภาพจิตรกรรมอยู่ในวิหารเก่า ภาพเขียนคล้ายกับที่วัดจักรสีห์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาท
ไสยาสน์ และภาพนรกภูมิ
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกหลายแห่ง แต่เป็นภาพสมัยใหม่ ซึ่งมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์
เช่น ที่วัดตึกราชา อำเภอเมือง ฯ วัดสาลโคดม และวัดพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมของจังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะคล้ายคลึงกับจังหวัดในแถบภาคกลาง
ส่วนมากปลูกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น บ้านทรงไทย บ้านทรงปั้นหยา บ้านทรงมะนิลา
เป็นบ้านใต้ถุนสูง ชั้นเดียว
บ้านทรงไทย
โครงเรือนเป็นลักษณะโครงเสากับคาน แบ่งผังเสาและสัดส่วนของบ้านไทยภาคกลางคือ
แบ่งเป็นสามช่วงกว้าง ๓ เมตร ส่วนพาไลอยู่หัวเรือนกว้าง ๓ เมตร ความยาวสามช่วงเสา
โดยทำช่วงเสาละ ๓.๐๐ เมตร มีบานเฟี้ยม ใต้ถุนสูง
โครงหลัง
ขื่อกว้างห้าส่วน ใบดั้งสูงสี่ส่วน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตัวเรือนไม่มีฝ้าเพดาน
ขื่อวางนอนเจาะเข้าเดือย หัวเทียบ เสากลม ปั้นลมวางบนปลาย แปหัวเสา แปลาม
ยอดแหลม หน้าจั่วเป็นแบบลูกฟัก เสาดั้งตั้งคร่อมอยู่บนรอดไปรับอกไก่
หน้าต่างด้านข้างมีสองบาน ฝังเดือยบนล่าง เปิดเข้าด้านใน เป็นบานคู่ ไม้แผ่นเดียว
ตั้งบนธรณี มีลูกกรงกับคนเข้า
บ้านทรงปั้นหยา
คือทรงเรือนมีหลังคาเอียงลาดลงรอบตัวเรือนหรือเรียกว่า ทรงจั่วล้ม
คือไม่มีจั่วให้เห็น โครงหลังคาจะคลุมตัวเรือนได้มากกว่าทรงมะนิลา
ลักษณะโดยทั่วไปมีส่วนผสมผสานของแบบไทยเดิมอยู่ เช่น มีเสาค้ำยันชายคาหรือทวยค้ำ
แต่ไม่มีลวดลาย การปูพื้นเรียบมีตงรองรับ และวางคานคู่ไปตามแนวยาว มีทั้งเรือนสองชั้นและชั้นเดียว
บ้านทรงมะนิลา
หลังคาเป็นทรงจั่ว เอียงลาดด้านหน้าเท่านั้น ด้านข้างทำอุดจั่วเหมือนทรงไทยเดิม
แต่จะทำกันสาดใต้หลังคารอบด้าน ตัวเรือนยังคงสัดส่วนเหมือนเรือนทรงไทยอยู่
พื้นภายในเสมอกันตลอดทั้งตัวเรือน มีชานออกด้านหลัง คู่ชายคาชนกับกลางเรือน
ความสูงของโครงหลังคา และทรงตัวเรือนจะได้สัดส่วนกันพอดี โครงสร้างยึดด้วยเดือยไม้และลิ่ม
|