www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
โบราณสถาน
มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ จนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนปราสาทหิน
ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดกำแพงใหญ่ บ้านแพง อำเภออุทุมพรพิสัย เป็นปราสาทขอมขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด
มีลักษณะเป็นปราสาทสามหลัง ก่อด้วยอิญบนฐานหินทรายเดียวกัน ในส่วนของการก่ออิฐไม่มีการสอปูน
อาจใช้ยางไม้เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างแผ่นอิฐ ปราสาททั้งสามหลังเรียงกันในแนวทิศเหนือ
- ใต้ โดยมีทางเข้าด้านทิศตะวันออก เพียงด้านเดียว
ปราสาทประธาน
มีขนาดใหญ่กว่าปราสาทอิฐอีกสองหลังที่อยู่ด้านข้าง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม
ขนาด ๖ x ๖ เมตร มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ที่บริเวณหน้าบันเหนือประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
สลักภาพศิวนาฎราช หรือพระศิวะฟ้อนรำ ทับหลังเหนือประตูมุข ตอนในสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้าง
อยู่บนแท่นเหนือหน้ากาล หน้าบันทางด้านทิศใต้สลักเป็นภาพอุมามเหศวร คือ พระศิวะและพระอุมาประทับบนโคนนทิ
ทับหลังสลักภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน ทับหลังเหนือประตูหลอกทิศตะวันตก
สันนิษฐานว่า เป็นเรื่องราวในรามเกียรติ์ ทับหลังเหนือประตูหลอกทางด้านทิศเหนือ
สลักภาพพาลีรบกับสุครีพ ที่หน้าบันสลักภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ
ปราสาทบริวารสองหลัง
ส่วนใหญ่มีรูปแบบที่เหมือน และขนาดใกล้เคียงกับปราสาทประธาน ก่อด้วยอิฐมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ขนาด ๖ x ๖ เมตร ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ไม่ก่อเป็นมุขยื่นเหมือนปราสาทประธาน
พบทับหลังตกอยู่มีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นภาพบุคคลอยู่เหนือหน้ากาล ที่คายท่อนพวงมาลัยออกมาสองข้าง
เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้เฉียงขึ้น
หลังปราสาทประธาน ในแนวที่ตรงกับปราสาทหลังทิศใต้ มีปราสาทอิฐอีกหนึ่งหลัง
มีรูปทรงและขนาดใกล้เคียงกับปราสาทอิฐบริวาร
ด้านหน้าปราสาทประธาน
มีอาคารอีกสองหลังเรียกว่า วิหาร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน
วิหารดังกล่าวก่อด้วยอิฐบนฐานศิลาแลง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าทางด้านทิศตะวันตก
โดยทำเป็นมุขที่ยื่นออกมา อาคารทั้งสองหลังนี้ตั้งหันหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน
แต่ละหลังมีขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๑ เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
หลังคาของอาคารทั้งสอง หลังนี้พังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว
เหนือประตูมุขด้านนอกของวิหารหลังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
มีทับหลังสลักภาพพระกฤษณะ ประลองกำลังกับม้าสองตัวยืนอยู่บนหน้ากาล ที่คายท่อนพวงมลัยออกมาสองข้าง
โดยมือทั้งสองจับยึดกับท่อนพวงมาลัยไว้ บริเวณมุขด้านบนทั้งสองข้าง เป็นภาพบุคคลกำลังแบกจระเข้และวัว
ส่วนทับหลังที่อยู่เหนือประตูด้านใน สลักภาพนารายณ์บรรทมสินธ์ มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี
บนดอกบัวมีพระพรหมประทับนั่งอยู่ ที่ปลายพระบาทมีสตรีห้าคนนั่งอยู่
วิหาร ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
เหนือกรอบประตูทางเข้าของมุขด้านนอก มีทับหลังแสดงภาพคชลักษมี เป็นภาพพระลักษมีประทับนั่งบนแท่นเหนือหน้ากาล
ทางด้านข้างทั้งสองด้านเป็นรูปช้างสองเชือก ชูงวงขึ้นพ่นน้ำลงมา คชลักษมีนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ส่วนทับหลัวเหนือประตูด้านใน เป็นภาพอุมามเหศวรประทับบนโคนนทิ แวดล้อมด้วยบริวารที่ถือเครื่องสูง
สิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยระเบียงคด
รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๔๙ เมตร ยาว ๖๗ เมตร ก่อด้วยศิลาแลงใช้หินทรายเป็นกรอบประตู
หรือช่องลม ทางเดินภายในกว้าง ๓ เมตร แต่ละด้านบริเวณกึ่งกลางทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า
(โคปุระ) โดยซุ้มประตูด้านทิศตะวันตก มีทางเข้าได้เพียงทางเดียว ส่วนซุ้มประตูด้านทิศเหนือ
และทิศใต้ ไม่มีบันไดทางเข้าจากภายนอก
บริเวณกรอบประตูโคปุระ ด้านทิศตะวันออก มีจารึกอักษรขอมโบราณ
ภาษาเขมร มีจำนวน ๒๔ บรรทัด กล่าวถึงว่าในปี พ.ศ.๑๕๘๕ (มหาศักราช ๙๖๔)
พระกัมรเตวอัญศิวทาส ผู้พิจารณาคุณโทษของพระสภาแห่งกัมรเตวชคตศรีพฤทเธศวร
และได้ซื่อสิ่งของให้แก่บางคนด้วย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการถวายทาส ให้ทำหน้าที่แต่ละปักษ์
กล่าวถึงทรัพย์สินที่ใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อ เช่น วัว ทองคำ และภาชนะต่าง
ๆ
จากการขุดแต่งบูรณะ ได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญหลายชิ้นเช่น ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่
รูปบุคคลประทับยืน ประติมากรรมยืนตรงมือข้างซ้ายจับอยู่ที่เอว สูง ๑๔๐ เซนติเมตร
ยืนอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมมีเดือยอยู่ใต้ฐาน ประติมากรรมนุ่งผ้าเว้าที่บั้นเอว
สั้นเหนือหัวเข่าชายผ้าเว้าลงมาก ด้านข้างของขามีเข็มขัดรัดอยู่ ที่เข็มขัดทำเป็นอุบะปลายเรียวแหลม
ห้อยติดอยู่ข้างใต้ ผ้าที่นุ่งจับเป็นริ้วยาวลงมาในแนวตั้ง สวมกรองศอ กำไล
แหวน ข้อเท้า เบ้าตาเจาะลึกลงไปเพื่อใช้ใส่หินมีค่า เชื่อว่าเป็นรูปเทพ หรือทวารบาล
ในศาสนาฮินดู
พระพุทธรูปปางนาคปรกหินทราย พบบริเวณด้านหน้าปราสาทประธาน นาคมีเจ็ดเศียร
เศียรประติมากรรม แผ่นจำหลักรูปเทพนพเคราะห์
นอกจากนี้ยังพบบันแถลง ปราสาทจำลอง ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ประดับบนชั้นหลังคาแม่พิมพ์ดินเผา
ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิสามองค์ เครื่องถ้วยเขมร (เครื่องถ้วยบุรีรัมย์) รูปทรงต่าง
ๆ เช่น ไห กระปุก แจกัน เครื่องเคลือบรูปช้าง ตาคัน แท่นหินบดยา ลูกกลิ้งหินบดยา
เหล็กรูปตัวไอ (I) สลักยึดระหว่างเหล็ก มีด ใบหอก เป็นต้น
จากจารึกและโบราณวัตถุที่พบกล่าวได้ว่า ปราสาทสระกำแพงใหญ่คงสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบปาปวน ต่อมาในพุทธศตวรรษที่
๑๘ อาจจะได้รับการเปลี่ยนแปลง ให้กลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
โบราณสถานแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ฯ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๘ มีพื้นที่ ๖ ไร่ ๓ งาน
ปราสาทปรางค์กู่
ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ มีลักษณะเป็นปรางค์สามทองค์ สร้างเป็นแนวจากเหนือไปใต้อยู่บนฐานเนินดินขนาดใหญ่
ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ และอิฐปนแลง มีทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นเสาก่อด้วยอิฐประดับติดผนัง
มีการแกะสลักลวดลายลงบนเนื้ออิฐตามส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น บริเวณซุ้มหน้าบัน
สลักเป็นรูปซุ้มโค้งหยัก มียอดแหลม ช่วงปลายสลักเป็นรูปเศียรนาค บริเวณหัวเสาประดับผนังสลักเป็นเส้นตรง
ในแนวนอนขนานกัน ปรางค์แต่ละองค์มีประตูเข้าไปเฉพาะทางทิศตะวันออก อีกสามทิศเป็นประตูหลอก
เดิมมีทับหลังบนประตูปราสาททุกหลัง
ปรางค์องค์ที่ ๑
อยู่ทางทิศใต้มีทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์สี่กรทรงครุฑ ยืนเหยียบหลังสิงห์สองตัว
ที่ปากคาบพวงมาลัยทำเป็นหน้ามกร หรือคาบนาคราช
ปรางค์องค์ที่ ๒
อยู่ตรงกลาง มีทับหลัง เป็นรูปพระอนทร์ทรงช้างเอราวัณ ยืนอยู่บนแท่น เหนือเศียรเป็นเกียรติมุข
มีรูปพวงมาลัยก้านขด และรูปเทพรำประกอบ
ปรางค์องค์ที่ ๓
อยู่ทางทิศเหนือ มีทับหลังสลักเป็นรูปพระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ
บริเวณรอบปรางค์ทั้งสามองค์ มีสระน้ำโบราณ ด้านหน้าเป็นสระขนาดใหญ่ มีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
จากการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนประกอบอาคารหลายชิ้นเช่น
ชิ้นส่วนบัวยอดปราสาท แผ่นศิลาฤกษ์ บันแถลง ชิ้นส่วนกรอบหน้าบันรูปนาคห้าเศียร
และหัวเสาประดับผนังรองรับ เป็นต้น จากลักษณะศิลปกรรม ที่ปรากฎกล่าวได้ว่าปรางค์กู่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ โดยรูปแบบของศิลปะเขมรแบบเขมรแบบนครวัด เพื่อเป็นเทวสถาน
โบราณสถานแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ฯ และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๘ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ๒ งาน
ปราสาทหินสระกำแพงน้อย
อยู่ในตำบลขะยุง อำเภออุทุมพิสัย ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตก ๘ กิโลเมตร
เป็นโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด มีองค์ประกอบดังนี้
ปราสาทประธาน
ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างประมาณ ๕ เมตร สูงประมาณ ๑๑ เมตร
มีประตูเข้าทางทิศตะวันออก ซึ่งก่อเป็นมุขยื่นออกมา ผนังด้านอื่นก่อทึบเป็นประตูหลอก
บริเวณด้านหน้าปราสาทมีกรอบประตู และเสาทำด้วยหินทราย มีทับหลังพระอิศวรทรงโคนนทิ
พระกฤษณะปราบนาคกาลียะ ด้านหน้ามีโคปุระ และบรรณาลัย ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง
มีสระน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
บรรณาลัย
ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หันหน้าเข้าสู่ปราสาทประธาน มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันตก อยู่ในสภาพหักพัง
กำแพงและซุ้มประตู
(โคปุระ) เป็นกำแพงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ก่อล้อมอาคารทั้งสอง มีซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออก
กำแพงแก้วบางส่วนยังคงสภาพเดิมอยู่ กำแพงบางส่วนหักพังไปแล้ว ซุ้มประตูอยู่ในสภาพหักพังเป็นส่วนใหญ่
ผนังด้านข้างทั้งสองของมุขที่ยื่นออกมา และผนังของปีกซุ้มประตูทำเป็นหน้าต่างทึบ
มีลูกมะหวดประดับ เหนือกรอบประตูทางเข้ายังมีทับหลังปรากฎอยู่
สระน้ำ
อยู่นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ปราสาท มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กรุขอบด้วยศิลาแลง เป็นขั้นบันไดลงไปสี่ด้าน
จากลักษณะของศิลปกรรมที่ปรากฎบนทับหลัง และลักษณะแผนผังโบราณ สันนิษฐานว่า
ปราสาทแห่งนี้อาจสร้างขึ้นมาก่อน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ต่อมาในสมัยพุทธศตวรรษที่
๑๘ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๓) อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปให้กลายเป็นโบราณสถานที่เชื่อว่า
เป็นอโรคยาศาล (โรงพยาบาล)
จากการขุดพบเทวรูปใต้แท่นศิวลึงค์ และศิลาทับหลังของปราสาท สลักเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า
ในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนิยมบูชารูปศิวลึงค์แทนพระศิวะมาก่อน และจากลักษณะของสระน้ำโบราณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาท
และบริเวณคูน้ำ ตลอดจนเนินดินที่อยู่ใกล้เคียง สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชุมชนโบราณชุมชนหนึ่งของขอม
หรือชานชาติอื่นที่ตกอยู่ในอิทธิพลของขอม เพราะมีการสร้างที่เก็บกักน้ำใช้
หรือเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน โดยมีเทวสถานคือ ปราสาทหินเป็นศูนย์กลางชุมชน
โบราณสถานแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
ปราสาทเยอ
อยู่วัดปราสาท ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง เป็นโบราณสถานในศิลปะเขมร อยู่ในสภาพหักพัง
มีลักษณะเป็นเนินโบราณมีชิ้นส่วนของหินทราย อิฐ ศิลาแลงกระจายอยู่ทั่วไป ตัวปราสาทสร้างด้วยอิฐ
หินทราย ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ ประมาณ ๓ เมตร
สูงประมาร ๔.๕๐ เมตร ชิ้นส่วนอาคารที่เหลืออยู่ได้แก่ กรอบประตูหินทราย
ด้านทิศตะวันออกสองประตู มีทับหลังตกอยู่สองชิ้น เป็นภาพบุคคลอยู่บนเกียรติมุข
กำลังคายท่อนพวงมาลัยออกมา ทั้งสองข้างมีพวงอุบะ และใบไม้ม้วน ปราสาทแห่งนี้สร้างเมื่อประมาณพุทธศวตรรษที่
๑๖ - ๑๗ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
ธาตุบ้านเมืองจันทร์
ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองจันทร์ ตำบลเมืองจันทร์ อำเภอเมืองจันทร์ อยู่ในบริเวณวัดเมืองจันทร์
ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ที่มีคูน้ำคันดินรูปวงกลมล้อมรอบ ๑ ชั้น องค์ธาตุก่อด้วยอิฐสอปูน
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม กว้างด้านละประมาณ ๓.๕๐ เมตร ส่วนฐานหักพังไปเล็กน้อย
ส่วนเรือนธาตุและส่วนยอดยังสมบูรณ์ โดยส่วนยอดเป็นการจำลองส่วนเรือนธาตุให้มีขนาดย่อลง
เรียงลดหลั่นกันขึ้นไปสามชั้น บนสุดทำเป็นยอดเรียวกลม ตัวเรือนธาตุก่ออิฐทึบ
ยังคงพบลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัว ที่ประดับอยู่บนหัวเสาติดผนังที่รองรับกรอบหน้าบัน
ใกล้กับองค์ธาตุมีสิม หรืออุโบสถเก่าอยู่หลังหนึ่ง อยู่ในสภาพทรุดโทรม ก่อด้วยอิฐฉาบปูน
มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันตก ภายในมีใบเสมาสลัก เป็นลวดลายคล้ายดอกบัวตูม ปักเรียงรายตามแนวยาวทั้งแปดทิศ
ปราสาทหินโดนตวล
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษณ์
ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐร่วมกับศิลาแลง บริเวณฐานและเรือนธาตุเกือบทั้งหมดก่อด้วยศิลาแลงและต่อก่อขึ้นไปด้วยอิฐจนถึงยอดปราสาท
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม กว้างด้านละประมาณ ๗ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
บริเวณทางเข้าทำเป็นมุขยื่นออกมา โดยมีแนวเสาหินทรายสองข้างต่อออกมา สันนิษฐานว่าเป็นเสารองรับหลังคาของส่วนที่เรียกว่ามณฑป
ด้านหน้ามณฑปมีประตูทางเข้าสามประตู ที่วงกบประตูช่องกลางทั้งสองข้างมีจารึกปรากฏอยู่
กรอบประตูส่วนที่มีจารึกชำรุดหักพังไป เป็นจารึกด้วยอักษรขอมโบราณ เป็นภาษาเขมร
สันสกฤต ที่กรอบประตูด้านเหนือมี ๑๓ บรรทัด ด้านใต้มี ๑๕ บรรทัด เนื้อความกล่าวถึงนามเจ้านาย
หรือชนชั้นปกครอง จารึกมหาศักราช ๙๒๔ (พ.ศ.๑๕๔๕)
ถัดจากยอดมณฑปออกมาปรากฏแนวเสาหินทรายสองข้าง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นซุ้มประตู
แต่ไม่พบกรอบประตู พบแต่หินทราย ที่มีลักษณะเป็นธรณีประตูตั้งไว้ระหว่างเสา
หน้าธรณีประตูมีอัฒจันทร์หินทรายขวางอยู่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของปราสาทมีหินทรายเรียงต่อกันไป
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๓ x ๕ เมตร อาจเป็นบรรณาลัย ถัดจากตัวปราสาทไปทางทิศ
ตะวันออกประมาณ ๕๐ เมตร มีสระน้ำมีลักษณะเป็นคันดินที่มีน้ำขังอยู่ พบร่องรอยการตัดหินทรายที่เชื่อว่านำไปสร้างปราสาท
ปราสาทภูฝ้าย
ตั้งอยู่ที่ยอดภูฝ้าย ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถาน ลักษณะเป็นปราสาทอิฐสามหลังตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือ
- ใต้ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ตกอยู่
ปราสาทภูฝ้ายสร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตโบราณสถานที่ภูฝ้ายทั้งลูก
มีพื้นที่ประมาณ ๔๐๕ ไร่ ๒ งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
ปราสาทตำหนักไทร
ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ เป็นปราสาทหลังเดี่ยวบนฐานหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ
๔ เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง มีทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก ผนังอีกสามด้านทึบตัน
สลักเป็นรูปบานประตูหลอก ภายในองค์ปราสาทมีแท่นฐานรูปเคารพวางอยู่ องค์ปราสาทหักพังไปบางส่วน
เหลือเพียงสองชั้น
เดิมปราสาทแห่งนี้มีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่ และมีบัวยอดปราสาทตกอยู่
มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ปราสาทแห่งนี้สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๖ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕
มีพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน
ปราสาทบ้านปราสาท
(ธาตุบ้านปราสาท) อยู่ในวัดบ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน เป็นปราสาทสามหลัง
ในศิลปะเขมร ประมาณพุทธศตวรรษ์ที่ ๑๖ - ๑๗ ได้รับการบูรณะดัดแปลงภายหลัง ตัวปราสาทก่ออิฐบนฐานศิลาแลงเดียวกัน
มีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออกเรียงกับในแนวเหนือ - ใต้
ที่ปราสาทประธาน บนกรอบประตูด้านหน้า ยังคงมีทับหลัง แสดงภาพหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย
ที่บริเวณเสี้ยวของท่อนพวงมาลัยมีภาพบุคคลยืนอยู่ในซุ้ม จากภาพแกะสลักเป็นเรื่องกวนเกษียรสมุทร
ปราสาททั้งสามหลังล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลง มีซุ้มประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้
ปราสาทตาเล็ง
อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ เป็นปราสาทขนาดเล็กหลังเดี่ยว
มีลวดลายแกะสลักและสภาพแวดล้อมสวยงามมากแห่งหนึ่ง ก่อด้วยหินทราย และอิฐบนฐานศิลาแลง
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ส่วนยอดหักพังหมดแล้ว
เหลือส่วนเรือนธาตุที่ก่อด้วยหินทรายอยู่บางส่วน เฉพาะด้านทิศตะวันออก อีกสามด้านก่อเป็นผนังทึบและที่ประตูหลอก
ที่เสาประดับผนังของประตูด้านทิศตะวันออก ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงกรอบหน้าบันมีการแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม
โดยบริเวณเสาประดับผนัง แกะสลักเป็นลายก้านขดในแต่ละโค้งตรงกลางสลักเป็นรูปหงส์
บริเวณหัวเสาแกะสลักเป็นลายกลีบบัว ลายใบไม้ ส่วนหน้าบันที่เหลืออยู่เฉพาะปลายกรอบทั้งสองข้าง
สลักเป็นรูปมกรคาบนาคห้าเศียร และมีรูปบุคคลเล็ก ๆ บนลายใบไม้ประดับอยู่บริเวณกรอบหน้าบัน
บริเวณพื้นโดยรอบตัวปราสาทมีชิ้นส่วนประกอบอาคารตกอยู่หลายชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างในซุ้มุเรือนแก้วเหนือหน้ากาล
ซึ่งคาบท่อนพวงมาลัยออกมาจากปากและยึดพวงมาลัยเป็นลายก้านขด ทับหลังชิ้นอื่น
ๆ มีลักษณะคล้ายกัน แต่ภาพบุคคลตรงกลางมักถูกกระเทาะออกไปหมด
ทางด้านทิศตะวันออก เป็นแนวศิลาแลง ซึ่งอยู่ตรงกับตัวปราสาท สันนิษฐานว่า
เป็นขอบฐานของซุ้มประตู และมีคูน้ำรูปสายยูล้อมสามด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออก
จากฐานซุ้มประตูทิศตะวันออก มีแนวคันดินคล้ายถนนเป็นแนวตรงไปสู่สระน้ำขนาดใหญ่
จากลักษณะทางศิลปกรรม ปราสาทตาเล็งได้สร้างขึ้น โดยมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสวถาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๕ และได้กำหนดขอบเขตโบราณสถาน เป็นพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่ ๒ งาน
ปราสาททามจาม
(ปราสาทบ้านสมอ) ตั้งอยู่ที่บ้านทามจาม ตำบลสมอ อำเภอปรางค์กู่ เชื่อว่าเป็นอโรคยาศาล
ที่พระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด (พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) ให้สร้างขึ้นทั่วอาณาจักรของพระองค์
ประกอบด้วย
ปราสาทประธาน
ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีมุขยื่นออกไปปทางทิศตะวันออก
ซึ่งเป็นทางเข้าเพียงด้านเดียว ผนังอีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลัง
ทำด้วยหินทราย ทับหลังบนกรอบประตูด้านใต้ยังแกะสลักลวดลายไม่เสร็จ แต่พอมองออกว่า
เป็นลักษณะพระพุทธรูปปางสมาธิ อยู่เหนือหน้ากาลที่กำลังคายท่อนพวงมาลัย โดยใช้มือยึดจับพวงมาลัย
ซึ่งสลักเป็นลายใบไม้ม้วน มีบุคคลสองคนนั่งพนมมืออยู่
บรรณาลัย
อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีทางเข้าทางด้านทิศตะวันตก
กำแพงแก้ว
ก่อด้วยศิลาแลงล้อมปราสาทประธานและบรรณาลัย โดยมีซุ้มประตูอยู่ตรงกึ่งกลาง
กำแพงด้านทิศตะวันออก
สระน้ำ โดยทั่วไปอโรคยาศาล
จะมีสระน้ำอยู่หนึ่งสระ ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน
ปราสาทแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๘ มีพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ ๑ งาน
กู่สมบูรพ์
ตั้งอยู่บริเวณข้างหนองใหญ่ บ้านหนองคู ตำบลเป๊าะ อำเภอบึงบูรพ์ เป็นปราสาทสามหลังบนฐานศิลาแลงเดียวกัน
ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลงร่วมกับอิฐ โดยก่อศิลาแลงด้านใน ก่ออิฐด้านนอก
มีทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก โดยทำเป็นมุขยื่นออกมา ส่วนยอดและมุขปราสาท หักพังลงมาหมด
ที่มุขด้านตะวันออก เสาประดับผนังมีร่องรอยแกะสลักอยู่บริเวณบัวเชิงทับหลังเหนือประตูเข้าสู่องค์ปราสาท
มีการสลักภาพเป็นสองแถว เป็นภาพบุบคคลในแถวบน และภาพสิงห์แบกใบแถวล่าง ภายในองค์ปราสาทมีฐานรูปเคารพอยู่
๑ ฐาน
ปราสาทบริวารที่ขนาบอยู่สองข้าง ก่อด้วยศิลา และมีทางเข้าด้านทิศตะวันออกด้านเดียว
ผนังที่เหลือก่อเป็นประตูหลอก ปราสาททั้งสองหลังหักพัง เหลือเพียงส่วนเรือนธาตุเพียงครึ่งเดียว
ภายในองค์ปราสาทด้านทิศใต้มีฐานรูปเคารพทำด้วยหินทรายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนึ่งฐาน
เจาะช่องสำหรับตั้งรูปเคารพไว้สองช่อง บริเวณด้านหน้าปราวสาท พบชิ้นส่วนของยอดบัวปราสาทตกอยู่
ตัวปราสาทล้อมรอบด้วยคูน้ำรูปเกือกม้า เว้นทางเข้าด้านทิศใต้ สันนิษฐานว่า
ปราสาทแห่งนี้สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ธาตุหนองจังเกา
(เจดีย์บ้านหนองจังเกา) ตั้งอยู่ที่บ้านหนองระเยียว ตำบลดินแดง อำเภอไทรบึง
ประกอบด้วยธาตุหนึ่งองค์ และวิหารหนึ่งหลัง องคต์ธาตุก่อด้วยอิฐสอดิน ส่วนยอดหักพังเหลือแต่ฐาน
และเรือนธาตุบางส่วน วิหารก่อด้วยอิฐสอดิน หลังคาพังหมดเหลือแต่เพียงส่วนฐานย่อมุม
ธาตุแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๘ มีพื้นที่ประมาณ ๒๒ ไร่
ปราสาทกุด
(ปราสาทวัดเจ๊กโพธิ์พฤกษ์) ตั้งอยู่ในวัดโพธิ์พฤกษ์ บ้านเจ๊ก ตำบลห้วยเหนือ
อำเภอขุขันธ์ ปราสาทก่อด้วยอิฐ หักพังกลายเป็นเนินโบราณสถาน มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนเนินดินใหญ่
ผนังแต่ละด้านจะก่ออิฐเป็นช่วงคล้ายประตู โดยก่ออิฐทึบทั้งหมด สูงประมาณ ๑๕
เมตร ส่วนยอดหักพังลงมาจนถึงเรือนธาตุ สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔
ปราสาทกุด ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
เป็นพื้นที่ประมาณ ๑ ไร่
ภาพสลักบนผามออีแดง
เป็นหน้าผาหินทรายบนเขาพนมดงรัก บริเวณใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ที่บ้านภูมิซรอล
ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ บริเวณหน้าผาหินทราย มีภาพสลักนูนต่ำ และภาพลายเส้น
แบ่งเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มที่ ๑
เป็นภาพสลักนูนต่ำ รูปบุคคลสามคนในท่านั่งเรียงกัน ภาพกว้าง ๙๐ เซนติเมตร
ยาว ๒.๐๐ เมตร เป็นภาพบุรุษหนึ่งขนาบด้วยสตรีสองรูป ภาพสลักรูปบุรุษตรงกลางอยู่ในท่านั่งชันเข่าขวา
พับขาซ้ายขนานกับพื้น แขนขวาพาดอยู่บนเข่าขวา แขนซ้ายยันพื้นไว้ ในมือถือรูปพู่คล้ายแส้
เกล้าผม ชฎาสวมกระบังหน้า มีดอกไม้กลมประดับเหนือหูทั้งสองข้าง มีหนวดและเคราที่คาง
ใส่ตุ้มหู นุ่งผ้าแบบกางเกงขาสั้น ชักชายออกมาเป็นวงโค้ง สวมเครื่องประดับเป็นกรองศอ
พาหุรัดและสายวัดที่ท้อง
ภาพสตรีทั้งสองข้าง นั่งหันหน้าเข้าหาบุรุษ คนนั่งทางขวานั่งชันเข่างอข้อศอกออก
ผมขมวดเป็นมวยขึ้นไปสองข้าง ใส่ตุ้มหู ในมือกำของ คนที่ทางซ้ายนั่งชันเข่า
สวมเครื่องประดับศีรษะ ใส่ตุ้มหู
บริเวณช่องเหนือศีรษะ มีภาพลายเส้นรูปสัตว์คล้ายแรดเป็นภาพด้านหลัง
กลุ่มที่ ๒
อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือประมาณ ๔.๕๐ เมตร เป็นภาพลายเส้นรูปบุคคลนั่งมีนาคห้าเศียรปกคลุม
สูงประมาณ ๐.๖๐ เมตร ขนาบข้างด้วยรูปหมูสองตัว หันหัวเข้าหากัน
จากลักษณะศิลปกรรม สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สาเหตุที่สร้างภาพนี้ขึ้น
คงเกิดจากการใช้เวลาว่างของช่าง ในระหว่างการสร้างปราสาทเขาพระวิหาร
ภาพสลักบริเวณผาจันทร์แดง
อยู่ที่บ้านภูดินพัฒนา ตำบลปักดอง อำเภอขุนหาญ เป็นภาพสลักอยู่บนผนังหินทราย
ภาพสลักบนผาจันทร์แดง เป็นผาหินทรายขนาดเล็ก ส่วนที่ผาเขียนเป็นผาขนาดใหญ่
ตั้งอยู่บนเขาแผงม้า อันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาพนมดงรัก
ภาพสลักทั้งสองแห่งมีลักษณะเป็นภาพสัญลักษณ์เป็นรูปเส้นตรงติดกันบ้าง ต่อกันบ้าง
บนพื้นที่ประมาณ ๕ ตารางเมตร การสลักคงใช้เครื่องมือโลหะที่แข็ง เช่น เหล็ก
สกัดบนหินทรายให้เป็นร่อง เกิดเป็นภาพต่าง ๆ สันนิษฐานว่า เป็นงานที่สร้างขึ้น
โดยกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว
หนองลุง
อยู่ในตำบลตาเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย เป็นหนองน้ำหรือสระโบราณ มีพื้นที่ประมาณ
๕ ไร่ มีการขุดพบโบราณวัตถุคือไม้แก่นทรงเหลี่ยม ขนาดเสาเรือน สูงประมาณหนึ่งศอก
ตั้งอยู่บนหินทราย อาจเป็นฐานรูปเคารพ หรือเสาอุโบสถที่จัดทำขึ้นในสมัยโบราณ
|