www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ยุคแห่งเมือง
แว่นแคว้นหรือนครรัฐ
หลักฐานทางเอกสาร
จากพระราชพงศาวดารถังฉบับใหม่ หัวข้อพัน - พัน มีความตอนหนึ่งว่า
"รัฐพัน - พัน ตั้งอยู่ที่อ่าวทะเลตอนใต้ ทางเหนือติดต่อกับหวงอ๋วง (จาม)
จดทะเลอยู่บ้าง อาณาเขตติดต่อ หลัง - ยา - ชิง เดินทางทางทะเลจากเมืองเจียวโจ
ใช้เวลา ๔๐ วันก็ถึง กษัตริย์มีพระนามว่า เอี้ยงสู้ซื่อ ประชาชนอาศัยตามริมน้ำกั้นรั้วบ้านด้วยไม้
ใช้หินติดปลายแหลมของธนู กษัตริย์ประทับบนพระแท่นขนาดใหญ่จินหลง (มังกรทอง)
บรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ต้องประสานมือจับไหล่และคุกเข่าลง มีวัดทางพระพุทธศาสนาและอาศรมของนักพรต
เมื่อครั้งรัชสมัยเจ่งกวน (รัชกาลที่ ๑ ของราชวงศ์ถัง พ.ศ.๑๑๒๐ - ๑๑๙๒) ได้ส่งทูตมาเฝ้า"
บันทึกของมา - ตวน - หลิน นักเดินเรือชาวจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้เขียนเรื่องของรัฐพัน
- พัน ไว้ตอนหนึ่งว่า
"รัฐพัน - พัน ได้ติดต่อกับจีนในสมัยราชวงศ์เหลียง รัฐนี้ตั้งอยู่ที่เกาะใหญ่
มีทะเลน้อย (อ่าวไทย) คั่นระหว่างหลินยี่ (จามปา) เรือสำเภาแล่นจากเมืองเกียวเจา
(ตังเกี๋ย) มาถึงได้ใน ๔๐ วัน กษัตริย์มีพระนามว่า หยาง - หลี่ - จี่ พลเมืองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามริมลำน้ำ
กำแพงล้อมราบด้วยไม้ พระเจ้าแผ่นดินประทับเอนพระวรกายบนบัลลังก์จำหลักรูปมังกร
(นาค) มีวัดใหญ่สิบวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ และนางชีเล่าเรียนพระธรรมเป็นจำนวนมาก
ราชทูตพัน - พัน มาถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำในสมัยราชวงศ์เหลียง (พระเจ้าเหลียงบู๊เต้
พ.ศ.๑๐๗๐ - ๑๐๗๓)"
หลักฐานทางโบราณคดี
ในช่วงเวลาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๘ ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายซับซ้อนของชุมชน
รอบอ่าวบ้านดอนเพิ่มขึ้นจากยุคที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก ปรากฏชุมชนหมู่บ้านเมืองเล็กเมืองใหญ่
กระจัดกระจายอยู่บนพื้นราบตามแนวสันทราย ที่ราบเชิงเขา และที่ราบริมลำน้ำ
ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมืองท่าและที่อยู่อาศัย
- เมืองท่าริมฝั่งทะเล
แหล่งใหญ่อยู่ที่แหลมโพธิ์ พุมเรียง อำเภอไชยา พบโบราณวัตถุที่เป็นสินค้าจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก
เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ -
๑๕ ได้แก่ ไหเคลือบสีเขียวมะกอก เหยือกมีพวยหกเหลี่ยมเคลือบสีเขียวมะกอก และถ้วยชามเคลือบสามสีมีลายขูดภายใน
สินค้าที่ผลิตเองในท้องถิ่นได้แก่ลูกปัดแก้ว พบเศษแก้วที่เป็นวัสดุดิบ ในการผลิตเป็นภาชนะแตกหัก
ที่นำเข้ามาจากตะวันออกกลาง
แหล่งเมืองท่าริมชายทะเลอื่น ๆ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านท่าม่วง ใกล้วัดอัมพาวาส แหล่งโบราณคดีเชิงเขาประสงค์
ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน วัตถุทำด้วยหินหยก หินวัตถุดิบจำพวกแร่ควอร์ทสำหรับผลิตลูกปัดหิน
เศษแก้ววัตถุดิบสำหรับผลิตลูกปัดแก้ว ต่างหูโลหะ แหล่งโบราณคดีวัดพิฆเนศวร์
(ร้าง) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาพราหมณ์ พบเอกมุขลึงค์เศียรพระวิษณุ
เศษชิ้นส่วนศิวลึงค์ ชิ้นส่วนพระพิฆเนศวร์และซากโบราณสถานก่ออิฐ
- เมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำ
ได้แก่แหล่งโบราณคดีควนพุนพินหรือควนท่าข้าม กับแหล่งโบราณคดีวัดเขาศรีวิชัย
อำเภอพุนพิน พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ลูกปัดทองคำรูปผลฟักทอง เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซัว
เงินเหรียญอาหรับ พระพิมพ์ดินเผา พบศาสนสถานบนควนพุนพินที่น่าจะเป็นฐานพระสถูป
พบประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ พบพระประติมากรรมรูปพระวิษณุ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ พบรากฐานเทวาลัยก่อด้วยอิฐ
แหล่งโบราณคดีบ้านกะแดะและวัดถ้ำคูหา ตำบลช้างขวา ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์
เป็นแหล่งชุมชนเมืองท่า และย่านที่อยู่อาศัยอีกจุดหนึ่ง ตามริมแม่น้ำท่าทองที่วัดถ้ำคูหาพบว่า
ชุมชนชาวพุทธฝ่ายมหายานใช้ถ้ำคูหา เป็นพุทธสถานมีประติมากรรมนูนสูงและนูนต่ำ
ทำจากดินเหนียวปั้นประดับไว้บนเพดานถ้ำเล่าเรื่องตามคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร
ตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ และโพธิ์สัตว์ ๘๐,๐๐๐
องค์ บนยอดเขาคิชกูฎใกล้กรุงราชคฤห์ ประติมากรรมแสดงอิทธิพลศิลปะทวารวดี และศิลปะจาม
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ บางภาพคล้ายเป็นรูปอาคารศาสนสถาน คล้ายปราสาทอิฐที่วัดแก้ว
อำเภอไชยา
- เมืองโบราณ
ได้แก่เมืองเวียงสระ อำเภอเวียงสระ ผังเมืองเป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัส
ใช้แม่น้ำตาปีสายเก่าและคลองตาลเป็นคูเมือง มีการขุดชักน้ำเข้ามาในคู ขุดโอบรอบเป็นอาณาเขตเมืองโบราณ
วัตถุที่พบในเมืองมีอยู่ค่อนข้างหลากกลาย มีประติมากรรมเป็นภาพสลักนูนสูงรูปพระศากยมุนีพุทธเจ้า
อิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ สกุลช่างสารนาถ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ โบราณวัตถุในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายได้แก่ เทวรูปพระวิษณุศิลาสกุลช่างปัลลวะ
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เทวรูปพระวิศณุศิลาสกุลช่างโจฬะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๖ และเทวรูปพระศิวะไพรวะ (ปางดุร้าย) สกุลช่างโจฬะ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๖
- เมืองโบราณไชยา
ชุมชนโบราณที่อำเภอไชยา ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีหลักฐานว่า เป็นชุมชนที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ประติมากรรมรูปเคารพ ในศาสนามีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปกรรมสมัยทวารวดี ที่พบในแหล่งโบราณคดีแถบภาคกลางของประเทศไทย
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเมืองโบราณรอบอ่าว บ้านดอนกับเมืองโบราณสมัยทวารวดี
ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแหล่งสำคัญได้แก่ วัดเววน ตำบลป่าเว พบพระพุทธรูปศิลา
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แหล่งโบราณคดีที่ตำบลทุ่ง พบชิ้นส่วนธรรมจักรศิลา
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓
ที่วัดเวียงและวัดแก้ว พบพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓ ที่วัดพระบรมธาตุไชยา พบพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิประทับบนปัทมะ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าที่สุดองค์หนึ่งที่พบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ และพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓
ส่วนพระพุทธรูปปางแสดงธรรม พบที่ห้องโถงกลางของพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัย
แสดงถึงพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ได้เผยแพร่เข้ามายังเมืองไชยาก่อนพุทธศานาฝ่ายมหายาน
ซึ่งเจริญอย่างสูงสุดในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๕
หลักฐานรูปเคารพในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เก่าที่สุดในเมืองไชยา ได้แก่ ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
ที่วัดศาลาทึง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนโบราณสถาน และโบราณวัตถุ
ศิลปะศรีวิชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ พบอยู่มากในเมืองโบราณไชยา ซึ่งอยู่บนแนวสันทรายที่เรียกว่า
สันทรายไชยามีขอบเขตตั้งแต่บ้านเวียง
จนถึงบ้านวัดแก้วเกือบจดเขาน้ำร้อน ยาวตามแนวเหนือใต้เกือบสามสิบกิโลเมตร
กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร พบโบราณสถานก่ออิฐขนาดใหญ่ที่วัดแก้ว และวัดหลงถ้ำ อยู่ในสภาพสมบูรณ์
จะมีขนาดใหญ่กว่าพระบรมธาตุไชยา ประมาณ ๑ เท่า ศาสนสถานเป็นพุทธสถานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
รูปแบบคล้ายสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า จันทิ ในชวากลาง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔ - ๑๕ เชื่อกันว่า เรือนอิฐ (ปราสาท) ที่วัดแก้วและวัดหลง เป็นปราสาทอิฐสองหลัง
ในจำนวนสามหลังที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ ซึ่งได้กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัย
จึงให้สร้างปราสาทอิฐสามหลัง เพื่อเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ผู้ถือดอกบัว พระผู้ผจญมาร
และพระโพธิสัตว์ผู้ถือวัชระ จารึกเมื่อปีมหาศักราช ๖๙๗ ตรงกับปี พ.ศ.๑๓๑๘
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งคือพระพุทธรูปปางนาคปรกสำริด พบที่วัดเวียง จัดเป็นศิลปะศรีวิชัยตอนปลาย
ที่ฐานนาคมีจารึกอักษรขอมเป็นภาษาเขมร กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้เมื่อปี
พ.ศ.๑๗๒๖
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หลัง พ.ศ.๑๗๗๓ หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีทิ้งช่วงขาดหายไป มาปรากฎอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ยุคร่วมสมัยกับที่ภาคกลาง
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ เข้าใจว่าเมืองไชยาน่าจะขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช
ที่มีกษัตริย์พระนามพระเจ้าจันทรภาณุ มีศักดิ์เทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
จากจารึกหลักที่ ๒๔ พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา กล่าวถึงพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นใหญ่แห่งตามพรลิงค์
ทรงปลดปล่อยประชาชนของพระองค์ ที่ถูกชนชาติต่ำปกครองมาแล้วให้สว่างรุ่งเรือง
และเมื่อปี พ.ศ.๑๕๖๘ ตามพรลิงค์ในชื่อมัทธมาลิงคัม ถูกกองทัพพรพเจ้าราเชนทร์โจฬะที่
๑ ตีแตก จารึกหลักนี้สลักไว้ที่เมืองตันชอร์ ประเทศอินเดีย
สภาพเศรษฐกิจ
สังคม และวัฒนธรรม
แว่งแคว้นที่เติบโตขึ้นรอบอ่าาวบ้านดอนเป็นผลการค้ามากับชุมชนภายนอกและมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับหัวเมืองภายใน
โดยมีการเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน การปรากฎนครรัฐที่ไชยาในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มีแหลมโพธิเป็นตลาดการค้าและอุตสาหกรรม
(ผลิตลูกปัดแก้วเป็นสินค้าส่งออก) ผู้ปกครองมีฐานะเป็นพระราชาตามแบบวัฒนธรรมอินเดีย
มีพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นศาสนาประจำรัฐ
ยุครวมสมัยสุโขทัย
(พุทธศตวรรษที่ ๑๙)
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ของสุราษฎร์ธานีค่อนข้างขาดแคลน ต้องอาศัยหลักฐานจากภายนอกมาเป็นตัวประกอบ
หลักฐานเอกสารต่างประเทศได้แก่ หนังสือมหาวงศ์ หนังสือจุลวงศ์ พงศาวดารลังกา และจารึกของบัณฑยะในอินเดียใต้
ได้กล่าวว่าพระเจ้าจันทรภาณุได้ยกกองทัพไปโจมตีลังกาสองครั้ง ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าปรากรมพาหุที่
๒ แห่งลังกา การรบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ และครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๑๓
ต้องพ่ายแพ้แก่กองทัพลังกาทั้งสองครั้ง ในห้วงเวลานี้นครรัฐตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช
จะต้องยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง จึงเชื่อว่าเมืองไชยาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่
๑๘ น่าจะอยู่ในอาณาจักรของนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่
๑๙ อาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้แผ่อำนาจลงมายังดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด
ยุคร่วมสมัยอยุธยา
(พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓)
จากพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายของราชอาณาจักรสยาม สมัยอยุธยา
ประกาศไว้ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ กล่าวถึงเมืองขึ้นของอยุธยา บริเวณคาบสมุทรไว้สี่หัวเมืองคือ
เมื่อนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้เป็นหัวเมืองตรี
เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระ มีราชทินนามว่า ออกพระวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม
ถือศักดินา ๕,๐๐๐
ในพื้นที่เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีปรากฎชื่อเมืองสำคัญสี่เมืองที่ให้สร้างป่าเป็นนาคือเมืองไชยา
เมืองท่าทอง เมืองไชยสงครามและเมืองเวียงสระ ทางอยุธยาได้ส่งข้าราชการสามคนมาสร้างเมืองใหม่
เข้าใจว่าในสมัยตั้งแต่รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา ได้มีการฟื้นฟูบูรณะวัดต่างๆ ในเมืองไชยาที่สำคัญคือ วัดพระบรมธาตุ ให้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองไชยา
บทบาทของเมืองในสุราษฎร์ธานีในสมัยอยุธยา ค่อนข้างราบเรียบ คงจะเป็นเพราะศูนย์กลางการค้าทางทะเล
ได้เปลี่ยนสถานที่ไปทำให้บทบาทของเมืองต่าง ๆ น่าจะเป็นเมืองกสิกรรมไม่โดดเด่นเช่นเมืองปัตตานี
สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช
ยุคร่วมสมัยธนบุรี
(ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔)
ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้
เมืองไชยา และเมืองท่าทอง ได้รับความเสียหายมาก ผู้คนอพยพออกไปจากตัวเมือง
เข้าใจว่าน่าจะย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่พุมเรียง พุมเรียงได้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองไชยา
จนกระทั่งมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ ผ่านเมืองไชยา ทำให้ศูนย์กลางเมืองไชยาได้ย้ายกลับมาอยู่ใกล้สถานีรถไฟ
การที่เมืองไชยาเก่าบริเวณที่ตั้งวัดเรียง ย้ายไปอยู่ที่พุมเรียงเป็นเวลาประมาณศตวรรษเศษ
เป็นเหตุให้วัดต่าง ๆ ในเมืองไชยาที่เคยเจริญมาตั้งแต่ครั้งอยุธยากลายสภาพเป็นวัดร้าง
เช่นวัดพระบรมธาตุไชยา วัดแก้วกาหลง เป็นต้น
ในปี พ.ศ.๒๓๗๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) มาตั้งอู่เรือที่บ้านดอนและเมืองท่าทอง
ตั้งเป็นโรงอู่ต่อเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว ๑๑ วา ทั้งเรือพระที่นั่ง และเรือรบ
สำหรับทะเลเพื่อใช้ในราชการจำนวน ๓๑ ลำ ด้วยทรงเห็นว่าชาวเมืองมีความรู้ความชำนาญในการต่อเรือมาแต่เดิม
และมีไม้ตะเคียนทองที่มีคุณภาพดี หาได้ง่าย จากพื้นที่บริเวณคลองพุมดวง คลองยัน
และคลองท่าทอง
ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ - ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า
ฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน เพราะมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น
นับตั้งแต่เจ้าพระยานคร (น้อย) เข้ามาตั้งกองต่อเรือ พระราชทานนามเมืองใหม่ว่า
เมืองกาญจนดิษฐ์ ยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายพุ่ม
บุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นพระยากาญจนดิษฐ์บดี ครองเมืองกาญจนดิษฐ์
ยุคปัจจุบัน
(ตันพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ถึงปัจจุบัน)
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกระบบกินเมือง
มาเป็นระบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ฉบับแรกในภาคใต้
แบ่งเขตการปกครองเป็นสายมณฑลได้แก่ มณฑลภูเก็ต มณฑลชุมพร และมณฑลนครศรีธรรมราช
มณฑลชุมพรได้รวมเมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ์ (บ้านดอน) เมืองหลังสวน และเมืองชุมพร
โปรดให้รวมเมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ เข้าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา
(เป็นไชยาที่บ้านดอน) ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเป็นไชยาเก่าคือ ไชยาที่พุมเรียง
และไชยาใหม่คือ ไชยาที่บ้านดอน
ต่อมาทางกรุงเทพ ฯ ได้ย้ายศูนย์กลางของมณฑลจากชุมพรมาอยู่ที่ไชยา (บ้านดอน)
ผู้ที่มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคือ พระยามหิบาลบริรักษ์ คนต่อมาคือ พระยาคงคาวราธิบดี
ครองตำแหน่งมาถึงปี พ.ศ.๒๔๖๘
ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้
ได้ประทับแรมที่ตำหนัก ณ ควนพุนพิน หรือควนท่าข้าม ทรงทอดพระเนตรเห็นประชาชนพลเมือง
มีกิริยามารยาทเรียบร้อยและทรงทราบจากเจ้าเมืองว่า ประชาชนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเคารพหนักแน่นในพระพุทธศาสนา
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา (บ้านดอน) เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี
ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี ตามชื่อแม่น้ำตาปติในอินเดีย
ซึ่งที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมีเมืองชื่อ สุรัฎฐ (สุราษฎร์) จึงทรงพระราชทานนามอันเป็นมงคลไว้
แกละโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายศาลาว่าการมณฑลมาตั้งที่บ้านดอน บริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา
ให้ยกฐานะเมืองท่าทองเป็นอำเภอ และเชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นชื่ออำเภอ เมืองไชยาเก่าให้เปลี่ยนเรียกว่าอำเภอพุมเรียง
(ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองไชยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ และได้ตัดคำว่าเมืองออกเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๑) ทรงเปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎรธานี
ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบมณฑลสุราษฎร์มาขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารราชอาณาจักรสยาม
พ.ศ.๒๔๗๖ ทำให้ระบบเทศาภิบาลถูกยกเลิกไป จังหวัดสุราษฎรธานีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรสยาม
ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
สภาพเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ตั้งแต่ปลายพุทธศตววรษที่
๑๘ เป็นต้นมา ได้เกิดรัฐใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดรัฐใหม่ตามเขตลุ่มน้ำ
และเมืองท่าที่สำคัญได้แก่
- การเสื่อมอำนาจของราชอาณาจักรเขมร หลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ มหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชา
- ความอ่อนแอของอาณาจักรศรีวิชัย ที่ไม่สามารถคุมเมืองท่าชายทะเลที่เคยอยู่ในอาณัติได้อีกต่อไป
- จีนในสมัยปลายราชวงศ์ซุ้ง ได้เปลี่ยนนโยบายการค้าจากเดิมที่มีศรีวิชียเป็นพ่อค้าคนกลาง มาเป็นเปิดให้มีเสรีทางการค้า
ทำให้พ่อค้าชาวจีนเดินทางมาค้าขายกับเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง
คาบสมุทรมลายูในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงมีรัฐนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่แทนที่ศรีวิชัย
มีพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ เข้ามาแทนที่พุทธศาสนามหายาน พระบรมธาตุที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ จึงเชื่อว่าบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูรวมทั้งเมืองต่าง
ๆ ในเขตจังหวัดสุราษฎรธานีน่าจะอยู่ใต้เขตการปกครองดูแลของนครศรีธรรมราช ในชื่อรัฐตามพรลิงค์
เมื่อรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี
พ.ศ.๑๘๙๓ และในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้รวบรวมอาณาจักรสุโขทัยไว้ได้ทั้งหมด
และควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้มาไว้ทั้งหมด
|