www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
จากหลักฐานที่พบภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ และพบแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่ง
แสดงให้เห็นว่า ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ได้มีผู้คนอาศัยนานมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
นักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีลงความเห็นว่าบริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำมูลด้านตะวันออก
และชุมชนทุ่งสำริดในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และลุ่มแม่น้ำชีตอนล่าง
ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธรและอุบล ฯ คือ แหล่งอารยธรรมโบราณ บรรพชนของชุมชนเหล่านี้
ได้ประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบหนา ในยุคแรก ๆ ไม่มีลวดลายเขียนสีในยุคต่อมาได้พัฒนาเป็นการเขียนสี
และชุบน้ำโคลนสีแดง นอกจากนี้ยังได้ค้นพบหลักฐานแสดงการเปลี่ยนแปลงทางคติชนวิทยาที่สำคัญของมนุษยชาติคือ
ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง โดยการบรรจุกระดูกของผู้ตาย ลงในภาชนะก่อนนำไปฝัง
การฝังครั้งแรกจะนำร่างผู้ตาย ไปฝังในหลุมระยะหนึ่งแล้วจึงขุดขึ้นเพื่อทำพิธีฝังครั้งที่สอง
ลักษณะสำคัญของชุมชนเหล่านี้อีกอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างของชุมชนมักแบ่งออกเป็นสี่ส่วนคือ
ส่วนที่อยู่อาศัยมักอยู่บนเนินดินที่ดอน พื้นที่โดยรอบเป็นที่ลุ่มสำหรับเป็นแหล่งทำกิน
ด้านตะวันออกส่วนใหญ่เป็นศาสนสถาน ด้านตะวันตกเป็นป่าช้า การขยายตัวของชุมชนมักขยายไปทางทิศตะวันตก
ชุมชนเหล่านี้มีการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง จัดตั้งขยายเป็นชุมชนเมือง
เป็นรัฐยุคต้นประวัติศาสตร์ได้หลอมรวมกันเป็นอาณาจักรเจนละ หรืออีสานปุระ
มีหลักฐานแสดงความเจริญหลายอย่างเช่น การถลุงเหล็ก การทำเกลือ ปลูกข้าว การขุดคู
กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการป้องกันตัว
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เมืองสุรินทร์เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมานาน มีหลักฐานได้แก่ คูเมืองสามชั้นมีเนินดินเป็นกำแพง
สันนิษฐานว่าเป็นเมืองหน้าด่านของขอม
ก่อนสมัยอยุธยา
เขมรเป็นชนพื้นเมืองที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่สมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๖ - ๑๘ เป็นต้นมา ภายหลังได้ผสมกลมกลืนกับชาวส่วย ที่เป็นคนพื้นเมืองเดิม
และได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าพวกเขมรป่าดง (ข่า - เขมร) ส่วนลาวนั้นอพยพเข้ามาอยู่ในภาคอีสานของไทย
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๕๗ - ๒๒๖๑
สมัยอยุธยา
กัมพูชาได้ตกอยู่ในฐานะประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา ในระหว่างปี พ.ศ.๒๑๐๓ ส่วนอาณาจักรลาวมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์
พระเจ้าไชยเชษฐา ฯ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) กษัตริย์ลาวได้สร้างนครเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงของล้านช้าง
ในปี พ.ศ.๒๒๕๗ อาณาจักรลาวแยกออกเป็นสามรัฐอิสระคือหลวงพระบาง เวียงจันทน์
และจำปาศักดิ์ เมืองจำปาศักดิ์ได้บังคับให้อัตบือ แสนปาง ส่งช้างป้อนกองทัพให้แก่จำปาศักดิ์
ทำให้ส่วยอัตบือ แสนปาง ทนไม่ได้จึงหนีข้ามลำน้ำโขง มาอาศัยกับพวกส่วยดั้งเดิมบริเวณป่าดงดิบแถบอีสานล่างคือ
อุบล ฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และบางส่วนของนครราชสีมา มหาสารคาม
ชาวส่วยหลายกลุ่มพากันอพยพหนีสงคราม ข้ามมาตั้งหลักแหล่งทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๐ แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานและมีหัวหน้าปกครองตามที่ต่าง ๆ
ที่เป็นจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันคือ
กลุ่มที่ ๑
มาอยู่ที่บ้านเมืองที
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีหัวหน้าชื่อเชียงปุม
กลุ่มที่ ๒
มาอยู่ที่บ้านคดหวาย หรือเมืองเตา
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนบุรี มีหัวหน้าชื่อเชียงสี
กลุ่มที่ ๓
มาอยู่ที่บ้านเมืองลึง
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมพระ มีหัวหน้าชื่อเชียงวา
กลุ่มที่ ๔
มาอยู่ที่บ้านปราขาสี่เหลี่ยมโคกลำดวน
ปัจจุบันคือ บ้านดอนใหญ่ อำเภอวังหิน มีหัวหน้าชื่อตกจะกะและเชียงขัน
กลุ่มที่ ๕
มาอยู่ที่บ้านอัจจะปะนึง
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขะ มีหัวหน้าชื่อเชียงฆะ
กลุ่มที่ ๖
มาอยู่ที่บ้านกุดปะไท
ปัจจุบันคือบ้านขบพัด อำเภอศรีขรภูมิ มีหัวหน้าชื่อเชียงไชย
ชาวส่วยเหล่านี้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ทำการเกษตร หาของป่า แต่ละชุมชนมีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริยาอมรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกในเขตกรุงหนีออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตพิมาย
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุนนางสองพี่น้องกับไพร่พล ๓๐ คนออกติดตามช้างมาทางแขวงเมืองพิมาย
ได้รับคำแนะนำให้ไปสืบถามพวกส่วย มอญ แซก โพนช้างอยู่ริมเขาดงใหญ่ เชิงเทือกเขาพนมดงรัก
เมื่อติดตามมาตามลำน้ำมูลได้พบเชียงสีหัวหน้าบ้านกุดหวาย เชียงสีได้พาไปพบหัวหน้าหมู่บ้านอื่น
ๆ เพื่อจะได้ช่วยกันติดตามช้างเผือกต่อไป และได้ทราบจากเวียงฆะว่าได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งา
พาบริวารที่เป็นช้างป่ามาเล่นน้ำที่หนองโซกหรือหนองบัวในเวลาบ่ายทุกวัน เมื่อพากันไปยังหนองโชกก็พบช้างเผือกเชือกนั้นและจับมาได้
บรรดาหัวหน้าหมู่บ้านช่วยควบคุมช้างเผือกมาส่งยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้งบรรดาหัวหน้าชาวส่วยให้มีฐานันดรศักดิ์คือ ตากะจะเป็นหลวงปราบแก้วสุวรรณ
เชียงขันเป็นหลวงปราบ เชียงฆะเป็นหลวงเพชร เชียงปุมเป็นหลวงสุรินทรภักดี เชียงลีเป็นหลวงศรีนครเตา
เชียงไชยเป็นขุนไชยสุริยางค์ แล้วกลับไปปกครองคนในหมู่บ้านของตน โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา
ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
พ.ศ.๒๓๐๖ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายหมู่บ้านจากเมืองทีที่คับแคบไปตั้งที่บ้านคูประทายคือที่ตั้งเมืองสุรินทร์ปัจจุบัน
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่ มีกำแพงค่ายคูล้อมถึงสองชั้นเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม
ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ได้สร้างเจดีย์สามยอด
สูง ๑๘ ศอก สร้างโบสถ์พร้อมพระปฎิมา หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ยังปรากฎอยู่ที่วัดเมืองทีมาถึงปัจจุบัน
ต่อมาหัวหน้าหมู่บ้านทั้งห้าได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา
ได้นำสิ่งของไปถวายคือ ช้าง ม้า แกนสม ยางสน นอระมาด งาช้าง ปีกนก ขี้ผึ้ง
เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ จึงได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้นคือ
หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางราว ยกบ้านคูประทายเป็นเมืองประทายสมันต์
ให้พระสุรินทร ฯ เป็นเจ้าเมือง
หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยางเป็นเมืองสังฆะ
ให้พระสังฆะ ฯ เป็นเจ้าเมือง
หลวงศรีนครเตา (เชียงวสี) เป็นพระนครเตา ยกบ้านกุดหวายเป็นเมืองรัตนบุรี
ให้พระศรี ฯ เป็นเจ้าเมือง
หลวงแก้วสุวรรณ
(ตาจะกะ) เป็นไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดาลำดวนเป็นเมืองขุขันธ์
ให้พระไกรภักดี ฯ เป็นเจ้าเมือง
สมัยธนบุรี
ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ พญาโพธิสาร จากนครจำปาศักดิ์ได้ยกทัพมากวาดต้อนครัวบ้านครัวเมือง
เมืองสุวรรณภูมิ เมืองตักศิลา (อำเภอราษีไศล) และเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษ)
ทิ้งให้เป็นเมืองร้าง
พ.ศ.๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ โปปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพไปสมทบกำลังเกณฑ์เมืองขุขันธ์
เมืองสังขะบุรี และกองทัพชาวคูประทายสมันต์ ขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองนครพนม
บ้านหนองคาย และเวียงจันทน์
พ.ศ.๒๓๒๔ ทางเขมรเกิดจลาจล มีผู้ฝักไฝ่ไปทางญวน ทางกรุงธนบุรีจึงยกทัพไปปราบปราม
โดยเกณฑ์กำลังทางเมืองขุขันธ์ เมืองประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) และเมืองสังขะไปช่วยปราบปราม
เมืองประทายเพชร เมืองประทายมาศ เมืองรูวดำแรย์ เมืองกำปงสวาย และเมืองเสียมราฐ
การปราบปรามยังไม่ราบคาบ เกิดความไม่สงบขึ้นในกรุงธนบุรี ต้องยกทัพกลับ
ในสงครามครั้งนี้ได้มีพวกเขมรหลบหนีสงครามจากเมืองเสียมราฐ เมืองกำปงสวาย
เมืองประทายเพชรและเมืองอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในเมืองประทายสมันต์ และเมืองสังขะเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นชาวเมืองคูประทาย ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมร ทำให้วัฒนธรรมเขมรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อเสร็จศึกเมืองเวียงจันทน์ และเมืองเขมรแล้ว เจ้าเมืองประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์
และเมืองสังฆะ ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาทั้งสามเมือง
สมัยรัตนโกสินทร์
ได้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
พ.ศ.๒๓๒๙ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์ เป็นเมืองสุรินทร์
พ.ศ.๒๓๓๗ พระยาสุรินทรภักดีศรีจางวาง (เชียงปุม) เจ้าเมืองถึงแก่กรรม
นายตี บุตรชายคนโตได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระสุรินทรณรงค์ภักดีศรีณรงค์จางวาง
เจ้าเมือง
พ.ศ.๒๓๔๗ มีตราโปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์
เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ เข้ากองทัพยกไปตีกองทัพพม่า ซึ่งยกมาอยู่ในเขตเมืองนครเชียงใหม่
เมื่อยกกองทัพกลับก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนาม พระสุรินทร ฯ (ตี)
เป็น พระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์
พ.ศ.๒๓๕๐ ทรงพระราชดำริว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองขุขันธ์
มีความชอบมาก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทั้งสามเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ มีอำนาจชำระคดีได้เอง
ไม่ต้องขึ้นกับเมืองพิมาย เหมือนแต่ก่อน
พ.ศ.๒๓๕๑ พระสุรินทรภักดี ฯ (ตี) เจ้าเมืองสุรินทรถึงแก่กรรม
หลวงวิเศษราชา (มี) ผู้เป็นน้องชายได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระสุรินทรภักดี
ฯ เจ้าเมือง
พ.ศ.๒๓๕๔ พระสุรินทรภักดี ฯ เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม นายสุ่น บุตรพระสุรินทรภักดี
ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระสุรินทรภักดี เจ้าเมือง
ต่อมาเมืองขุขันธ์ ขออนุญาตยกบ้านลังเสน เป็นเมืองกันทรลักษ์
แล้วย้ายมาอยู่ที่บ้านลาวเดิม และยกบ้านแบบ เป็นเมืองอุทุมพรพิสัย
แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านปรือ
พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ แต่งตั้งให้เจ้าอุปราช (สีถาน)
กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ยกกองทัพเข้าตีหัวเมืองรายทางเข้ามาจนถึงเมืองนครราชสีมา
ทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ (โย่) ก็เกณฑ์กำลังยกมาตีเมืองขุขันธ์แตก
ส่วนเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ ได้ป้องกันเมืองไว้ได้ และได้เกณฑ์กำลังไปสมทบกับกองทัพหลวงจนเสร็จสงคราม
พ.ศ.๒๓๗๑ พระยาสุรินทรภักดี ฯ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เลื่อนเป็น เจ้าพระยา ส่วนเมืองสังขะ พระยาสังขะได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน
เจ้าเมือง และบุตรพระยาสังขะ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระยาสังขะบุรีนครอัจจะปะนึง
พ.ศ.๒๓๘๕ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ได้เกณฑ์คนหัวเมืองเขมรป่าดง
หัวเมืองขุขันธ์ ๒,๐๐๐ คน เมืองสุรินทร์ ๑,๐๐๐ คน เมืองสังขะ ๓๐๐ คน
เมืองศรีสะเกษ ๒,๐๐๐ คน เมืองเดชอุดม ๔๐๐ คน รวม ๖,๒๐๐ คน เกณฑ์กำลังขึ้นไปสมทบทัพกรุงเทพ
ฯ ที่เมืองอุดรมีชัย ไปรบในกัมพูชา
พ.ศ.๒๓๙๔ เจ้าพระยาสุรินทรภักดี ฯ (สุ่น) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่อนิจกรรม
พระยาพิชัยราชวงศ์ (ม่วง) ผู้ช่วยเจ้าเมืองผู้เป็นบุตร เจ้าพระยาสุรินทรภักดี
ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระยาสุรินทรภักดี ฯ ผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์
พ.ศ.๒๔๑๒ พระยาสังขะบุรี ฯ ขอตั้งบ้านกุดไผท เป็นเมือง
ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเมืองศีขรภูมิพิไสย
ขึ้นกับเมืองสังขะ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านลำดอนขึ้นไปเป็นเมืองสุรพินทนิคม
ขึ้นกับเมืองสุรินทร์
พ.ศ.๒๔๑๕ พระยาสังขะได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำพุกเป็นเมือง และได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นเมืองกันทรารมย์
ขึ้นกับเมืองสังขะ
พ.ศ.๒๔๒๕ พระยาสุรินทร์ ฯ ได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง และได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นเมืองชุมพลบุรี
พ.ศ.๒๔๒๙ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ข้าหลวงใหญ่เมืองจำปาศักดิ์ ได้สั่งให้พระยาสุรินทร์ภักดี
ฯ ไปช่วยราชการที่เมืองอุบล อยู่ ๒ ปี เพราะเจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ต้องไปราชการทัพที่เมืองหนองคาย
พ.ศ.๒๔๓๒ ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้แต่งตั้งใบประทวนให้นายเยียบ บุตรชายพระยาสุรินทร์ภักดี
(ม่วง) เป็นพระยาสุรินทร์ภักดี ฯ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ แต่อยู่ได้เพียง
๒ ปีก็ถึงแก่กรรม
พ.ศ.๒๔๓๕ พระไชยณรงค์ภักดี (บุนมาก) น้องชายพระยาสุรินทร์ภักดี (ม่วง) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์
พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสได้ยกทัพขึ้นมาทางเมืองเชียงของ เมืองสีทันดรและเมืองสมโบก
ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในราชอาณาจักรไทย ผู้สำเร็จราชการข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานได้เกณฑ์กำลังหัวเมืองสุรินทร์
เมืองศรีสะเกษ เมืองขุขันธ์ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด เมืองละ ๘๐๐
เมืองสุวรรณภูมิและเมืองยโสธร เมืองละ ๕๐๐ เข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศสทุกจุด
ในปีเดียวกันนี้ พระไชยณรงค์ภักดี (บุนมาก) ถึงแก่กรรม ผู้สำเร็จราชการมณฑลอีสานได้แต่งตั้งหลวงสิทธิเดชสมุทรขันธ์(ล้อม)
มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองสุรินทร์แทน
ต่อมาพระยาพิชัยนครบวรวุฒิ (จรัญ) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาสุรินทรภักดี
ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๓๘
พ.ศ.๒๔๕๑ พระกรุงศรีบุรีรักษ์ (สุม สุมานนท์) ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสุรินทร์คนแรก
เหตุการณ์สำคัญ
รัฐบาลได้เปิดเดินรถไฟจากนครราชสีมาไปถึงจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗
นับแต่นั้นมา สองข้างทางรถไฟได้กลายเป็นแหล่งชุมชน มีการขยายตัวออกเป็นหมู่บ้าน
และเป็นเมืองในที่สุด คนในชุมชนเหล่านั้นมีความสะดวกในการเดินทาง และสามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ของตนออกไปยังชุมชนอื่น
เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนกับคนนอกชุมชน ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งยุ้งฉางรับซื้อสินค้าจากชาวพื้นเมือง เพื่อส่งไปยังนครราชสีมาทางรถไฟเป็นจำนวนมาก
สินค้าสำคัญที่ส่งจากจังหวัดสุรินทร์ที่สำคัญได้แก่ ไม้พยุง ครั่ง ข้าว ไหมและสุกร
เป็นต้น ส่วนโคกระบือนั้นไม่นิยมส่งทางรถไฟ
จากการที่มีทางรถไฟผ่าน ทำให้จังหวัดสุรินทร์ สามารถติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับจังหวัดอื่นได้สะดวก
ทำให้จังหวัดมีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประชาชนหันมาประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน
|