www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดบุรีรัมย์ เคยเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญ มีแหล่งโบราณคดีและโบราณวัตถุสถานอยู่เป็นจำนวนมาก
เช่นชุมชนโบราณปราสาทหิน และแหล่งเตาเผา กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ โบราณวัตถุบางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่าง
ๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น
แหล่งโบราณคดี
จากการสำรวจทางโบราณคดี ได้พบแหล่งโบราณคดีมากกว่า ๒๐๐
แห่ง ที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้
แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์
ส่วนใหญ่อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจ เช่น
ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก ที่ไม่ได้ผ่านการเผา ซึ่งเป็นประเพณีการฝังศพที่พบแพร่หลายในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์เริ่มแรก
อยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี เช่น ที่ได้พบจากการขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬาสินธุ์
มีเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ แบบผิวเรียบ ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ บางครั้งมีการทาสีทับเป็นสีดำ
หรือสีน้ำตาล เช่น ที่พบในตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง ที่บ้านส้มกุบ ที่หนองโนนสรวง
บ้านม่วงใต้ และบางแห่งมีการตกแต่งผิวด้วยการเคลือบน้ำโคลนสีแดง แหล่งโบราณคดีหลายแห่ง
หลักฐานการผลิตเหล็กได้แก่ ตะกรันเหล็ก ตลอดจนชิ้นส่วนของเตาถลุงโลหะ ซึ่งบางแห่งพบในปริมาณมาก
แสดงถึงการผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อการค้าขาย เช่น ในเขตอำเภอเมือง ฯ
ที่บ้านโนนมาลัย ตำบลหินเหล็กไฟ ในเขตอำเภอสตึก
ที่บ้านดงพลอง บ้านโคกเมือง
ที่บ้านสายโท ฯ อำเภอบ้านกรวด มีร่องรอยซากเตาเผาถลุงโลหะปรากฏ มีเนินดินกระจายเป็นหย่อม
ๆ ในพื้นที่ประมาณ ๖๐ ไร่
แหล่งโบราณคดีจำนวนมาก มีลักษณะเป็นเนินดิน และมีคันดินล้อมรอบ จากการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีที่กำหนดได้ว่า
แหล่งดังกล่าวเป็นชุมชนโบราณ ที่มีอายุอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
และสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น บางแห่งมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องกัน บริเวณเนินดินน่าจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน
ส่วนคูคันดินที่ล้อมรอบนั้น อาจทำขึ้นเพื่อการใช้น้ำ และการระบายน้ำ พร้อมกันกับป้องกันตนเองจากข้าศึกศัตรู
หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นที่มีคูคันดินล้อมรอบบางแห่งได้พบโบราณวัตถุ
แสดงว่ามีการนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในวัฒนธรรมทวารวดี
เช่น ชุมชุนโบราณที่บ้านปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง เป็นเนินดินรูปกลมล้อมรอบด้วยคูน้ำ
และมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
หลักฐานที่พบได้แก่ ใบเสมาหินที่เป็นโบราณวัตถุ ที่มักจะพบเสมอในแหล่งชุมชนโบราณที่รับวัฒนธรรมทวารวดี
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในชุมชนบางแห่งก็พบแต่โบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมร เช่น
ภาชนะดินเผาเคลือบ หรือชิ้นส่วนประติมากรรมรูปเคารพ ที่มีลักษณะศิลปะเขมร
แต่บางแห่งพบทั้งหลักฐานของวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมร ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน
เช่น ชุมชนโบราณที่บ้านฝ้าย
ตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ (เดิมอยู่ในอำเภอลำปลายมาศ) ซึ่งเป็นชุมชนโบราณรูปร่างค่อนข้างกลม
มีคูน้ำล้อมรอบ ๒ ชั้น คันดิน ๓ ชั้น ได้พบพระพุทธรูปแบบศิลปะทวารวดี คือ
พระพุทธรูปปางนาคปรก (มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓) และพระพุทธรูปประทับยืน
(มีอายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓) โบราณวัตถุอื่น ๆ เช่น ใบเสมาหิน แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี
ในที่เดียวกัน ได้พบประติมากรรมสำริด รูปพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย ในรูปแบบศิลปะเขมร
สมัยก่อนเมืองพระนครมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ (ศิลปะกำพงพระ) แสดงว่าชุมชนนี้ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ที่เจริญอยู่ในอาณาจักร เจนละ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
การรับวัฒนธรรมเขมรต่อจากวัฒนธรรมทวารวดี ที่เห็นได้ชัด เช่น ภาพสลักชนใบเสมา
ที่ภูเขาอังคาร
ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อยู่ห่างจากเขาพนมรุ้งไปทางทิตะวันตกประมาณ ๑๐
กิโลเมตร ใบเสมาดังกล่าวทำด้วยหินทรายสลักภาพสถูปบ้าง ธรรมจักรบ้าง ภาพเล่าเรื่องบ้าง
จึงพบอยู่ทั่วไปในแหล่งทวารวดีในภูมิภาคนี้ ที่น่าสนใจคือ ภาพสลักบุคคลที่แม้มีลักษณะศิลปะทวารวดีปรากฏอยู่
แต่ผ้านุ่งกับมีลักษณะของปติมากรรมในศิลปะเขมร แสดงถึงการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมทวารวดี
ที่มีอิทธิพลอยู่ก่อน และวัฒนธรรมเขมรที่เริ่มเข้ามา และได้เจริญขึ้นเต็มที่ในระยะต่อมา
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ขณะที่วัฒนธรรมทวารวดีได้เสื่อมสูญไป ในพุทธศตวรรษที่
๑๖
ร่องรอยอายุธรรมเขมรที่พบในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ จารึกถ้ำเป็ดทอง
อำเภอปะคำ ซึ่งเป็นเพิงผาหินตั้งอยู่ริมฝั่งลำปลายมาศฝั่งตะวันตก มีจารึกอยู่ในถ้ำหรือเพิงผา
และที่ด้านหน้ารวมสามแห่งด้วยกัน ปัจจุบันน้ำเอ่อท่วมเพิงผาดังกล่าว เนื่องจากมีการสร้างฝายกั้นน้ำ
ยังคงเหลือจารึกที่อยู่ด้านนอกที่หน้าเพิงผาโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เห็นอยู่ประมาณ
๒ บรรทัด เป็นจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าจิตรเสน หรือ พระเจ้ามเหนทรวรมัน (ครองราชย์
พ.ศ.๑๑๕๐ - ๑๑๕๙)
สำหรับโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรได้แก่
ปราสาทอิฐ ปราสาทหินต่าง ๆ นั้น ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ มีอายุมากกว่า ๖๐
แห่ง ปราสาทที่เก่าที่สุดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ
ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ได้แก่ ซากปราสาทอิฐบนเขาพนมรุ้ง ส่วนปราสาทอื่น
ๆ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘
มีแหล่งอุตสาหกรรม ผลิตภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ และเคลือบสีต่าง ๆ
มีทั้งสีอ่อน เช่น สีขาว สีเหลือง สีเขียวมะกอก และสีเข้ม เช่น สีน้ำตาล สีดำ
ทำเป็นภาชนะรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งรูปสัตว์ที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และใช้ในพิธีกรรม
ภาชนะดินเผาเหล่านี้ได้พบตามชุมชนโบราณ และโบราณสถานต่าง ๆ เรียกกันว่า เครื่องถ้วยเขมร
พบตามเตาเผาเครื่องปั้นตั้งอยู่ตามแนวลำน้ำห้วย มีแหล่งใหญ่อยู่ที่อำเภอบ้านกรวด
พบเตาเผาโบราณเหลือเป็นเนินอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ กระจายอยู่ในเขตตำบลต่าง ๆ
หลายตำบล ได้แก่ กลุ่มเตาบ้านถนนนอย ตำบลหินลาด กลุ่มเตาบ้านโคกใหญ่ ตำบลเนินเจริญ
กลุ่มเตาบ้านหนองคูน้อย ตำบลสายตะกู กลุ่มเตาบ้านละหอกตะแบง กลุ่มเตาบ้านบ้านโตง
และกลุ่มเตาบ้านสายโท ๔ ตำบลปราสาท
การขุดค้นแหล่งเตาโบราณที่บ้านถนนน้อย
คือ เตานายเจียน และเตาสวาย ที่บ้านโคกใหญ่ พบว่าตาเผาเหล่านี้ มีการสร้างทับซ้อนกัน
เมื่อเตาเดิมชำรุดเสียหายก็จะสร้างเตาใหม่ หรือขยายเตาใหม่ในที่เดิม ลักษณะเป็นเตาดินก่อแบบระบายความร้อนในแนวเฉียง
หลังคาเตาใช้ไม้ไผ่เป็นโครง จากการสำรวจพบว่า เตามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๗
นอกจากในอำเภอบ้านกรวดแล้ว ในเขตอำเภอละหานทราย ยังเป็นแหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่ง
ของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าว ได้พบกลุ่มเตาในเขตบ้านระแนะ
ตำบลบาระแนะ จำนวน ๗ กลุ่ม บางกลุ่มมี ๑๕ เตา บางกลุ่มมีเพียง ๓ เตา กลุ่มใหญ่สุดมีถึง
๓๐ เตาด้วยกัน การที่เป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่ ทำให้มีผู้ขนานนามเครื่องปั้นดินเผาดังกล่าวอีชื่อหนึ่งว่า
เครื่องถ้วยบุรีรัมย์
การผลิตเครื่องถ้วยในบุรีรัมย์ ได้ทำกันต่อมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙
- ๒๐ เนื่องจากพลชิ้นส่วนของภาชนะที่มีลักษณะเป็นเครื่องถ้วยบุรีรัมย์ ที่ปราสาททุ่งศรีสุข
หรือโคกตาสุข บ้านโคกงิ้ว ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ เป็นภาชนะเครื่องเขียว มีอักษรขอมปรากฏอยู่
เป็นอักษรที่มีอายุประมาณเคลือบสีเขียว มีอักษรขอมปรากฏอยู่ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๙ - ๒๐ เช่นเดียวกัน
แหล่งหินตัดบ้านกรวด
อยู่ในเขตตำบลปราสาท อำเภอบ้านกรวด บริเวณที่ตัดหินมีพื้นที่ประมาณ ๔,๖๐๐
ไร่ อีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านหนองไม้งาม บริเวณเขาขนุนพินิจ
สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบเชิงเขาลงด้านทิศเหนือ และอยู่บริเวณต้นน้ำลำธาร มีห้วยมะไฟและห้วยเมฆา
ไหลไปทางทิศใต้ ไปบรรจบห้วยเสว ไปสู่ลำชี และไปสู่แม่น้ำมูล ในเขตติดต่อระหว่างอำเภอสตึก
กับอำเภอชุมพลบุรี เดิมบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบทึบ ต่อมาป่าไม้ถูกทำลายลง จากการให้สัมปทาน
และการลักลอบตัดของชาวบ้านของนิคมสร้างตนเองบ้านกรวด ต่อมาได้มีการจัดสรรให้บางส่วนเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน
และบางส่วนอยู่ในอุทานแห่งชาติพระยา
แหล่งตัดหินนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีพื้นที่
๘๑๐ ไร่ สีของหินเป็นสีชมพูประมาณร้อยละเก้าสิบ การตัดหินจะตัดใน ๓ ลักษณะคือ
- ตัดหินที่อยู่เหนือดิน
- ตัดหินที่เป็นลานอยู่ในระดับดิน
- ตัดหินที่อยู่ใต้ดิน
แต่ละลักษณะจะมีวิธีการตัดแตกต่างกันไปตามสภาพหิน หินที่มีสีสวยงามเป็นหินใต้ดิน
และตัดได้ง่ายกว่าหินบนดิน
ในพื้นที่อำเภอบ้านกรวด มีทั้งศิลาแลง และหินทราย บริเวณแหล่งหินบ้านกรวดเทือกเขาพนมดงรัก
เป็นหินทรายชุดโคราช หมวดเขาพระวิหาร เป็นหินทรายสีชมพู เม็ดทรายค่อนข้างละเอียด
ชุมชนโบราณใกล้บริเวณตัดหิน ที่น่าจะมาพักในการตัดหิน อยู่ทางด้านทิศเหนือของแหล่งตัดหินไปประมาณ
๒ ถึง ๓ กิโลเมตร มีอยู่ ๓ จุด มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ ดูจากเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
น่าจะอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘
วิธีการตัดหิน
เนื่องจากร่องรอยที่เหลืออยู่บริเวณตัดหิน ทำให้ทราบว่า ก่อนตัดหินต้องมีการสำรวจหินก่อน
เพราะมีร่องรอยการทำรอยประด้วยเหล็กเป็นจุดบาง ๆ เป็นทางไว้ให้ผู้ตัดได้ทราบว่า
ต้องตัด ณ จุดนี้ สำหรับขั้นตอนการตัด จะมีวิธีตัดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความหนา
บาง และยาวของหิน
อุปกรณ์การตัด
น่าจะใช้เหล็กหลายรูปแบบ เช่น สิ่ว ลิ่ม คานงัด เชือก โซ่ เป็นต้น ตัดหินเองต้องคำนึงถึงขนาดความหนา
และความยาว ส่วนมากจะมีขนาด ๕๕ x ๕๕ x ๑๐๐ เซนติเมตร แต่ที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นก็ยังมี
กลุ่มเสาหินที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่น
เสาหินเหล่านี้จะใช้เป็นหลักเขตที่กัลปนา เป็นเสาหินรูปสี่เหลี่ยมสูงประมาณ
๑.๒๐ - ๑.๖๐ เมตร ความกว้างประมาณ ๓๕ - ๕๕ เซนติเมตร ทำจากหินทราย ซึ่งหาได้ทั่วไปในเขตอำเภอบ้านกรวด
อำเภอละหานทราย อำเภอโนนดินแดง และอำเภอปะคำ มีทั้งแบบที่สวยงาม และแบบธรรมดา
ด้านหัวเสาและลบมุมใต้หัวเสาลงมาประมาณ ๔๐ เซนติเมตร จะทำเป็นรูป
ลายรัดประคด บางเสามีการจารึกอักษรเอาไว้ด้วย
เสาหินเหล่านี้มีอยู่แทบทุกอำเภอ เช่น อำเภอนางรอง อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอปะคำ
อำเภอละหานทราย อำเภอบ้านกรวด อำเภอประโคนชัย และอำเภอพลับพลาชัย สามารถจัดกลุ่มตามที่ได้สำรวจคือ
- กลุ่มไทรโยง
เริ่มจากบ้านไทรโยง อำเภอประโคนชัย และอำเภอพลับพลาชัยมีอยู่ประมาณ
๔ เสา
- กลุ่มศรีสุข
เริ่มจากหลักที่อยู่ทิศเหนือบ้านศรีสุข ถึงบ้านเขาดินเหนือ อำเภอบ้านกรวด
มีอยู่ประมาณ ๔ เสา
- กลุ่มทำนบพระ
เริ่มจากทุ่งนาทิศเหนือฐานราชันตรงไปทางทิศตะวันตก มีทั้งหมด ๕ หลัก อยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด
- กลุ่มบ้านละลม
เริ่มจากทุ่งนาด้านทิศตะวันออกของบ้านหนองปรือ อำเภอละหานทราย ไปยังทิศตะวันตก
มีอยู่ประมาณ ๗ หลัก
- กลุ่มบ้านสมจิต
อยู่ในเขตอำเภอโคกว่าน อำเภอละหานทราย มีอยู่ประมาณ ๕ หลัก
- กลุ่มบ้านสำราญ
อยู่ในเขตอำเภอปะคำ มีทั้งแบบเป็นแผ่น และแบบเหลี่ยม มีอยู่ประมาณ ๓ หลัก
- กลุ่มหนองไข่น้ำ
อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อำเภอประคำ มีอยู่ประมาณ ๕ หลัก
- กลุ่มวัดโพธิ์ย้อย
อยู่ในเขตอำเภอปะคำ เข้าใจว่าขนย้ายมาจากที่อื่น ฝังไว้รอบพระอุโบสถ มีทั้งแบบเป็นแผ่น
และแบบเสาเหลี่ยม แบบเป็นแผ่นเป็นในเสมาสมัยทวารวดี เป็นแบบเสาเหลี่ยม แกะเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่า
ภายในซุ้มเรือนแก้ว แบบแผ่นมีสองหลัก แบบเสาเหลี่ยมหกหลัก
- กลุ่มถนนโคกใหญ่
อยู่ในเขตอำเภอประโคนชัย เริ่มจากบ้านถนนโคกใหญ่ ตรงไปยังบ้านสี่เหลี่ยม มีอยู่ทั้งหมด
๘ หลัก ที่หลักหนึ่งมีจารึกแต่ลบเลือนไปแล้ว
เป็นที่น่าสังเกตุว่า การฝังเสาหินจะฝังเป็นเส้นตรงในแนวทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก
ทิศเหนือไปทิศใต้ และทิศตะวันออเฉียงเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนระยะห่างระหว่างเสาไม่แน่นอน
มีตั้งแต่ ๒๐๐ เมตร ถึง ๑,๕๐๐ เมตร
|