|
|
|
|
|
|
|
|
www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ขนบธรรมเนียมประเพณี
การแต่งกาย
แต่งกายตามลัทธิศาสนาที่ตนนับถือ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแต่งกายแบบที่นิยมของชาวอิสลามโดยทั่วไป
ชาวพุทธในชนบทแต่งกายแบบไทย ตามสบายเพาะภาคใต้มีเพียงฤดูร้อนกับฤดูฝน ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ผู้ชายจึงไม่นิยมสวมเสื้อ นุ่งโสร่งหรือกางเกงขาสั้น โพกหัวหรือคลุมหัว ถ้าเข้าเมืองหรือเข้าสังคมก็แต่งกายเรียบร้อยตามความนิยมของสังคมในท้องถิ่นนั้น
ๆ
สำหรับชาวอิสลามผู้คงแก่เรียนในทางศาสนามักนิยมแบบอาหรับก็มีอยู่มาก ปัจจุบันการแต่งกายของคนรุ่นใหม่
มักเป็นไปตามรูปแบบของชาวยุโรป
อาหารการกิน
วัฒนธรรมการกินของชาวใต้ มีทั้งส่วนที่พ้องกันทั่วทั้งภาค และส่วนที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
บางอย่างเกิดจากคติทางศาสนา
ชาวใต้กินข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่วนข้าวเหนียวใช้ประกอบเป็นของหวาน เช่นเดียวกับภาคกลาง
ชาวบ้านส่วนมากกินอาหารหนักสองมื้อคือ มื้อเช้าและมื้อเย็น อาหารมื้อหนึ่ง
ๆ จะมีกับข้าวเพียงเล็กน้อย ถ้ามื้อใดมีกับข้าวถึงสองสามอย่าง ถือว่าค่อนข้างอุดมสมบูรณ์พิเศษ
แต่ในกรณีที่มีแขกเหรื่อมาพักอาศัยอยู่ นิยมจัดกับข้าวให้ได้ไม่น้อยกว่าสองอย่าง
หรือมากกว่านั้น
ถ้ามีเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาในเวลาที่กำลังกินอาหารกันอยู่ ขอร่วมรับประทานอาหารด้วย
หรือเพียงเอ่ยปากชวนก็จะร่วมวงด้วยทันที เจ้าของบ้านถือว่าเป็นการให้เกียรติ
และให้ความเป็นกันเองเสมอด้วยญาติที่ใกล้ชิด
ชาวใต้ส่วนใหญ่ชองอาหารรสจัด ถ้าเป็นแกงก็มีรสกะปิเข้ม และมักมีรสฉุนของขมิ้นค่อนข้างแรง
กับข้าวแต่ละมื้อส่วนมากจะไม่ขาดประเภทที่มีรสเผ็ด และประเภทที่มีน้ำแกง เช่น
แกงส้ม (แกงเหลือง) แกงไตปลา (แกงพุงปลา) แกงกะทิซึ่งเป็นอาหารที่แต่ละบ้านทำหมุนเวียนอยู่เป็นประจำทุกวัน
นอกจากแกงดังกล่าวแล้ว ก็มักมีน้ำพริกกะปิ
ชาวใต้สมัยก่อนนิยมกินข้าวด้วยมือ การใช้ช้อนเริ่มใช้กันในครอบครัวที่มีฐานะดี
สำหรับชาวไทยอิสลามนิยมกินอาหารด้วยมือเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจากภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชนานาชนิด ผักสดจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารทุกมื้อ
ผักสดจะมีหลายชนิด ไม่นิยมกินผักลวก ผักสดดังกล่าวได้แก่ กระถิน กระเฉด ผักบุ้ง
แตงกวา ถั่งฝักยาว ลูกเนียง ฯลฯ
ชาวใต้มีวัฒนธรรมการกินอาหารที่ดีหลายประการ เช่นเดียวกับชาวไทยภาคอื่น ๆ
เช่น ขณะนั่งกินอาหารทุกคนสำรวม แต่ไม่ให้เคร่งเครียด ไม่เคี้ยวให้เสียงดังจับ
ๆ ไม่กินมูมมาม ลุกลนไม่ซดน้ำแกงให้มีเสียงดังผิดปกติ ไม่พูดคุยกันมากเกินควร
ห้ามนำเรื่องเศร้าหรืออัปมงคลมาพูด ห้ามพูดเรื่องที่ชวนให้สะอิดสะเอียน เมื่อแต่ละคนกินอิ่มแล้ว
(ยกเว้นแขก) จะต้องล้างชามข้าวของตนทันที เว้นแต่เด็กที่ยังช่วยตนเองไม่ได้และคนชรา
ถือกันว่าการให้ผู้อื่นล้างชามข้าวให้โดยไม่จำเป็น ไม่เป็นมงคลแก่ตน ส่วนจานชามอื่น
ๆ โดยปกติเป็นหน้าที่ของคนที่อิ่มสุดท้าย และจะต้องเก็บล้างทันที
โดยปกติขณะกินข้าวอาหารจะไม่ดื่มน้ำ เว้นแต่จะเผ็ดหรือข้าวติดคอ ภาชนะที่ใส่น้ำดื่มมักจะใช้ร่วมกัน
หรือไม่ก็แยกฉพาะผู้ใหญ่กับเด็ก โดยมารยาทจึงต้องรอให้ผู้ใหญ่กินเสร็จก่อนและดื่มน้ำก่อน
การทำขนมหวานกินเองมักทำในโอกาสพิเศษ เช่น ทำบุญเลี้ยงพระมีงานมงคล เมื่อทำแต่ละครั้งมักแจกจ่ายให้แก่บ้านใกล้เรือนเคียงด้วย
ขนมที่นิยมทำกันมากมีส่วนประกอบหลักอยุ่สามอย่างคือ แป้ง น้ำตาล กะทิ หรือมะพร้าวขูด
อาจใช้พืชอื่นแทนแป้ง เช่น เผือก มัน ฟักทอง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ฯลฯ น้ำตาลใช้น้ำตาลจากตาลโตนด
น้ำตาลจากมะพร้าว
อาหารที่นิยมกันอย่างกว้างขวางได้แก่ ข้าวยำ แกงพุงปลา บูดู จิ้งจัง แป้งแดง
หนาง ขนมหวานได้แก่ ขนมโค ลอดช่องน้ำกะทิ ขนมปลากิม กะละแม และทุเรียนกวนเป็นต้น
อาหารที่ชาวไทยอิสลามนิยมกันในภาคใต้คือ บูดู ไก่กอและ ข้าวเหนียว แกงไก่
ข้าวยำ ขนมหวาน กะละแม ไม่นิยมใช้ผักผสม ไม่นิยมกินผักดิบ ๆ นิยมเผาหรือต้มก่อน
น้ำแกงนิยมยกถ้วยรินราดข้าว การจัดกับข้าวเป็นชุดนิยมตักใส่ถ้วยจัดวางในถาด
หรือพานทองเหลือง แล้วใช้ฝาชีครอบ
ภาชนะที่ใช้ปรุงอมหารเดิมนิยมใช้หม้อดินและกระทะเหล็ก ต่อมานิยมใช้หม้อทองเหลือง
ขันน้ำ และจาน นิยมใช้จานสังกะสีเคลือบและจานดินเผา ช้อนนิยมใช้ช้อนเคลือบ
และช้อยหอย (ช้อนกระเบื้อง) เครื่องตักข้าวหรือตักแกงจากหม้อนิยมใช้จวัก
- แกงไตปลา (แกงพุงปลา)
เป็นแกงที่ชาวไทยพุทธนิยมกินกันทั่วไป เป็นแกงเผ็ดมีน้ำมากกว่าเนื้อ รสค่อนข้างเค็ม
สีน้ำแกงคล้ำอมเหลือง ส่วนประกอบสำคัญคือ ไตปลา หรือพุงปลา ปลาย่าง ผัก เช่น
หน่อไม้ มันเทศ หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์
- แกงเหลือง (แกงส้ม)
เป็นแกงพื้นเมืองที่นิยมแพร่หลายมากในภาคใต้ มีรสเปรี้ยว ส่วนประกอบมีเนื้อปลาบางชนิดที่มีกลิ่นคาวจัดมีมันมาก
เฃ่น ปลาแขยง ปลาดุก ปลาหมด ปลาเนื้ออ่อน ปลาสาด ปลากระบอก ฯลฯ จะเป็นปลาสด
ปลาย่าง หรือกุ้งย่างก็ได้ ส่วนกุ้งสดที่จะใช้กับแกงส้มบางชนิดเท่านั้น ผัก
ผลไม้ ที่นิยมใส่แกงส้มมี หยวกกล้วย แตงส้ม แตงไทย เปลือกแตงโม แตงกวา ถั่วฝักยาว
มะเขือ ผักกาดขาว ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ฟักเขียว ดอกแค ผักกระเฉด มันแกว สายบัว
ผักสมรม ฯลฯ
- ต้มส้มปลา (ปลาต้มส้ม)
ใช้ปลาสด ๆ มาขอดเกล็ด เอาแก้ม เหงือก หัว และไส้ออก ตัดเป็นชิ้น ๆ โตพอสมควร
ล้างปลาให้สะอาด และวางไว้ให้สะเด็ดน้ำ
นำขมิ้นชันยาวประมาณ ๑ นิ้ว หัวหอม ๒ - ๓ กลีบ หัวกระเทียม ๔ - ๕ กลีบ เกลือประมาณ
๑ ช้อนโต๊ะ นำมาตำรวมกันให้ละเอียด นำเนื้อปลา ที่เตรียมไว้มาคลุกกับเครื่องนี้
เอาใส่หม้อตั้งให้เดือดใส่น้ำส้มสายชูลงไปประมาณ ๑ ใน ๔ ถ้วย นำกะปิพอประมาณ
ตะไคร้ ๒ - ๓ ท่อน ทุบให้แตกและตัดเป็นท่อน ๆ ใส่ลงไปพร้อมปลาที่คลุกเครื่องไว้แล้ว
ตั้งไฟพอต่อไป พอน้ำเดือดปลาสุกก็ใช้การได้
- นาซิตาแก
เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่งของชาวไทยอิสลามคล้ายข้าวมันไทย ส่วนประกอบมีข้าวเจ้า
ข้าวเหนียว ผสมกันตามสัดส่วน หุงข้าวสุกแล้วตักใส่จาน ราดด้วยแกงไก่หรือแกงปลา
หรือแกงไข่ พร้อมเครื่องปรุงอีกบางอย่าง นิยมกินกันในวันสำคัญ ๆ เช่น วันตรุษ
มักจะกินกันตอนเช้า
- ข้าวหมกแพะ
เป็นอาหารที่นิยมปรุงเพื่อใช้กินกันในงานใหญ่ ๆ ของชาวไทยอิสลามเช่น งานรับแขกผุ้ใหญ่
งานแต่งงาน และงานประเพณีต่าง ๆ ลักษณะเป็นข้าวมันสีเหลืองที่มีเครื่องปรุงผสม
มีเครื่องเทศ เนย ขมิ้น และมีเนื้อแพะชิ้นโต ๆ ผสมอยู่ด้วย โดยหุงข้าวพร้อมเครื่องปรุงให้สุกก็เป็นอันเสร็จ
แล้วกินกับชามาลเดอ และผักกาดหอมหรือผักอื่น ๆ ตามต้องการ
- ไก่กอและ
คือแกงไก่แบบพื้นบ้านของชาวไทยอิสลาม เป็นอาหารที่แพร่หลายในจังหวัดนราธิวาส
การปรุงจะเคี่ยวกะทิจนแตกมัน เอาเครื่องแกงที่ประกอบด้วย พริกแห้ง หอม กระเทียม
ข่า ตะไคร้ เมล็ดผักชี ยี่หร่า ลูกจันทน์ และกานพลู ตำให้ละเอียดใส่ลงไป ผัดให้เข้ากันจนมีกลิ่นหอมใส่ไก่ที่สับเป็นชิ้นใหญ่
ๆ เคี่ยวจนเนื้อเปื่อยนุ่มแล้วใส่กะปิเผา น้ำปลา มะขามเปียก และลูกกระวาน
เคี่ยวและคั่วให้เข้ากัน ชาวไทยอิสลามถือว่าไก่กอและเป็นแกงชั้นดีจึงนิยมเลี้ยงในงานที่มีเกียรติ
บางท้องถิ่นจะใช้ปลาแทนไก่ เรียกว่า ปลากอและ
- ข้าวยำ
ชาวไทยอิสลาม เรียกว่า นาซิกราบู ประกอบด้วยข้าวสุก ราดด้วยน้ำบูดู มะพร้าวคั่ว
กุ้งแห้งป่น และผักสดหลายชนิด หั่นปนลงไป แล้วคลุกให้เข้ากัน
การปรุงข้าวยำ ข้าวสุกที่หุงต้องไม่แฉะ บางทีใช้ข้าวหุงด้วยใบยอ ผักที่นิยมใช้ในการปรุงข้าวยำ
ได้แก่ เมล็ดกระถิน สะตอหั่นฝอย ถั่วงอกเด็ดราก ถั่วฝักยาวหั่นฝอย แตงกวา
ตะไคร้หั่นฝอย ส้มโอ หรือมะขามดิบ หรือมะม่วง หรือมะนาวหั่นฝอย
- รอเยาะ
เป็นอาหารพื้นเมืองที่ปรุงจากผักและผลไม้สด มีน้ำแกงราด เป็นที่นิยมของชาวไทยอิสลาม
กินเป็นอาหารว่าง หรือบางแห่งกินกับข้าว
เครื่องปรุงสำคัญคือ สัปรด แตงกวา มันแกว และน้ำแกง โดยนำผักและผลไม้ดังกล่าว
ที่ยังสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมเข้าด้วยกัน ส่วนน้ำแกงนั้นปรุงโดยใช้น้ำมันใส่กะทิตั้งไฟให้พอร้อน
นำพริกแห้งที่ผ่าเอาเม็ดออกบดให้ละเอียดลงไปเจียวในน้ำมัน แล้วใส่น้ำส้ม (น้ำส้มสายชูหรือส้มมะขาม)
ใส่ถั่วลิสงที่ตำหยาบ ๆ ใส่หอม กระเทียม ที่ซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำตาลและเกลือปรุงรสให้พอหวานมันเค็มตามต้องการ
แล้วใช้น้ำแกงที่ปรุงดังกล่าว ราดผักและผลไม้ที่เตรียมไว้
- มะแซ
เป็นอาหารคาวซึ่งมีเส้นแบนยาวเป็นแถบ ๆ กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยวราดด้วยน้ำแกงที่ปรุงเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ผสมผัก ใช้กินเหมือนขนมจีน น้ำแกงเป็นน้ำข้น ๆ สีขาวนวลมีส่วนผสมคือปลาย่างหรือปลานึ่ง
น้ำกะทิ หัวหอม หัวกระเทียม ขิง ส้มแขก น้ำตาลทราย ผักที่ใช้กินกับละแซคือหัวปลี
ถั่วงอก ดอกกาหลา ใบจันทน์หอม ถั่วฝักยาว แตงกวา ยอดมะม่วงหิมพานต์ หรือผักอื่น
ๆ นำมาหั่นให้ละเอียดแล้วผสมกับละแกซึ่งราดน้ำแกงแล้ว นอกจากนี้นิยมใส่พริกกับเกลือ
ซึ่งตำให้ละเอียดผสมเป็นเครื่องชูรส
- บูดู เป็นอาหารคาวมีสองชนิดคือบูดูแบบเค็ม
ใช้ผักสดจิ้มกินกับข้าวสวย และบูดูแบบหวานที่เรียกว่า น้ำเคย
ใช้สำหรับคลุกกับข้าวยำ
บูดูทั้งสองชนิดได้จากการหมักปลา ปลาที่ใช้เป็นปลาทะเลสดนำมาล้างให้สะอาดแล้วผสมกับเกลือเม็ด
เสร็จแล้วนำมาบรรจุไหปิดฝาให้มิดชิด ผนึกด้วยปูนขาวตั้งไว้ในที่ถูกแดดในที่โล่งประมาณ
๒ - ๓ เดือน จนเนื้อปลาเหลว เมื่อหมักได้ที่แล้วจะมีกลิ่นหอม เรียกผลได้ในระยะนี้ว่า
น้ำเคย
แล้วนำน้ำเคยมาหมักไว้กลางแดดต่อไปอีกประมาณหนึ่งปี เนื้อปลาจะเปื่อยและหลุดออกจากก้าง
นำไปกรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวเนื้อหยาบเพื่อแยกก้างออกทิ้งไป นำเอาน้ำที่มีเนื้อปลาละลายปนอยู่มาบรรจุขวด
จะได้น้ำบูดูอย่างเค็มเพื่อใช้ปรุงเป็นอาหารต่อไป
การปรุงน้ำบูดู นำน้ำบูดูอย่างเค็มใส่ภาชนะตั้งใจแล้วยกลงปล่อยให้เย็น ปรุงรสด้วยมะนาว
น้ำตาลปี๊บ กุ้งแห้ง ใบมะกรูดหั่นฝอย หอมหัวเล็กซอย พริกขี้หนูหั่นหรือทุบพอแตก
ปรุงรสตามที่ต้องการ
บูดูที่ปรุงแบบนี้ใช้ผักสดกินกับข้าวสวย ถ้าจะปรุงเป็นบูดูข้าวยำใช้น้ำบูดูอย่างเค็มที่ยังดิบไปผสมกับน้ำตาลปี๊บที่เคี่ยวจนเป็นสีน้ำตาลไหม้
คนให้เข้ากัน ใช้ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียมที่ตำหรือทุบพอแตก ปรุงรสเคี่ยวรวมกันพอออกรสหอม
จึงเติมน้ำปลาพอประมาณ ต้มจนเดือด ชิมให้ได้รสเค็มหวานตามที่ต้องการ ก็จะได้น้ำบูดูชนิดหวาน
นำไปคลุกกับข้าวยำคู่กับเครื่องปรุงข้าวยำอื่น ๆ
- ขนมซูราหรือซูรอ
เป็นขนมที่นิยมทำกันในหมู่ชาวไทยอิสลาม มักทำกันในวันที่สิบของเดือนมาฮารัมเดือนที่หนึ่งของอิสลาม
เป็นวันสำคัญของศาสนาอิสลามวันหนึ่ง พิธีที่ทำในวันอาซูราคือทำขนมซูราหรือซูรอ
เริ่มแต่วันดังกล่าวแล้วทำได้ตลอดเดือนมีทำที่บ้านและที่มัสยิด
ซูรอเป็นขนมที่ทำด้วยของผสมหลายอย่าง มีข้าวเจ้า มันเทศ น้ำกะทิ ใส่เนื้อ
(เนื้อไก่หรือนก) ข้าวโพด ถั่ว ฟักทอง กล้วย กุ้งป่น ผักโรยหน้า ทอดให้เป็นแผ่นแล้วหั่นบาง
ๆ รวมทุกอย่างเข้าด้วยกันในกะทะแล้วกวน เมื่อสุกแล้วมีลักษณะเหลวเหมือนข้าวต้มแห้ง
นำมาเทลงในถาด ปล่อยไว้ให้เย็นจึงแข็งตัวเป็นแผ่น แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่จานโรยสมั่นและไข่ทอดที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก
ๆ
กิริยามารยาทของท้องถิ่น
เมื่อพบกันชาวพุทธจะยกมือไหว้
พร้อมกับกล่าวคำว่า
สวัสดี
ถ้าเป็นชาวอิสลามจะใช้วิธีสลาม
พร้อมกับกล่าวว่า อัสสะลามอะลัยกุม เป็นการทักทายกันตามฐานะของบุคคลและอาวุโส
- มารยาทในการเดิน
นิยมเดินเอาปลายเท้าลงก่อน ไม่เดินลงซ่น เวลาเดินผ่านผู้ใหญ่จะก้มตัวลง เมื่อเข้าไปในสถานที่เคารพบูชาจะถอดรองเท้า
ไม่เดินเสียดสีหรือชนผู้อื่น นิยมนั่งกับพื้นเวลาเข้าร่วมสังสรรค์
- มารยาทในการยืน
ไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ ไม่ยืนเมื่อผู้ใหญ่นั่งอยู่ ไม่ยืนบังหน้าผู้อื่นที่เขากำลังมองหรือชมสิ่งใดอยู่
- มารยาทในการนอน
นิยมนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้เพราะโบราณถือว่าเป็นทิศหัวนอน ก่อนนอนจะบูชาพระก่อน
ไม่นอนหันเท้าไปทางผู้อื่น ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่นเวลานอน
- มารยาทในสังคม
นิยมพูดจากันในภาษาท้องถิ่น แสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่และผู้ที่ควรเคารพนับถือ
แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย นิยมแสดงความเคารพด้วยการไหว้ สมัยก่อนนิยมกินอาหารด้วยมือและนั่งกับพื้น
ไม่เดินกินหรือนอนกิน
ประเพณีชาวไทยอิสลาม
จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้แก่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพูดภาษามลายูถิ่น มีสภาพความเป็นอยู่
วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลักศาสนาอิสลาม มีลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น
- ประเพณีการเกิด
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หญิงผู้มีครรภ์จะไปฝากท้องกับหมอตำแย (โต๊ะบีแด) โดยจัดเครื่องบูชาหมอ
ประกอบด้วย หมาก พลู ยาเส้น และเงินตามสมควร
การคลอด เมื่อถึงกำหนดคลอด ญาติหรือสามีของหญิงผู้จะคลอด จะไปตามหมอตำแยมาช่วยทำคลอดให้ที่บ้าน
ก่อนคลอดต้องเตรียมของต่าง ๆ ประกอบด้วยด้ายดิบหนึ่งขด ข้าวสารจำนวนเล็กน้อย
หมาก พลูและเงินตามสมควร เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว หมอตำแยจะชำระล้างทำความสะอาดตัวเด็ก
ตัดและผูกสายสะดือ แล้วนำเด็กไปไว้ในถาดใบใหญ่มีผ้าปูรองรับอยู่หลายชั้น แล้วหมอตำแยจะต้มน้ำชำระร่างกายให้แก่ผู้เป็นแม่
แล้วนวดฟั้นทุกส่วนของร่างกาย เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก
หลังจากต้มน้ำทำความสะอาดตัวเด็กแล้ว บิดาหรือผู้มีความรู้ทางศาสนาทำพิธีอาซานหรือบัง
(พูดกรอกที่หูขวา)
และกอมัต (พูดกรอกที่หูซ้าย) แก่เด็กเป็นภาษาอาหรับมีความหมายดังนี้
๑. อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่
๒. ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
๓. ข้าขอปฏิญาณว่านบีมูฮัมมัดเป็นทูตของท่าน
๔. จงละหมาดเถิด จงมาในทางมีชัยเถิด แท้จริงข้าได้ยืนละหมาดแล้ว อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
- พิธีเลี้ยงรับขวัญบุตร
(อาแกเกาะห์ อากีกะฮ์หรือพิธีเชือดสัตว์) ตามหลักศาสนาอิสลาม การเชือดสัตว์เพื่อให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นไปเป็นพาหนะในโลกหน้า
โดยบัญญัติให้ชาวอิสลามต้องกระทำด้วยการเชือดแพะหรือแกะที่มีอายุครบสองปี
ไม่พิการ โดยกำหนดว่าถ้าได้ลูกสาว ต้องเชือดแพะหนึ่งตัว ถ้าได้ลูกชาย
ต้องเชือดแพะสองตัว เนื้อแพะหรือแกะที่ถูกเชือดนั้นห้ามขายหรือให้แก่คนต่างศาสนากิน
ให้จะจัดและมีขบวนแห่ใหญ่โตเชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกบูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพเช่น
มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย
- ประเพณีแต่งงาน
ภาษาอาหรับเรียกว่า นิกะอ
เป็นการทำพิธีแต่งงานตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับของศาสนาอิสลาม มีอยู่ห้าประการคือ
๑. เป็นมุสลิม
๒. มีของหมั้น
๓. ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
๔. มีพยานผู้ชายอย่างน้อยสองคน
๕. ควรทำพิธีอย่างเปิดเผย
การสู่ขอ เมื่อชายหญิงชอบพอกัน และผู้ปกครองเห็นสมควร ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง
เรียกว่า มาโซะมีเดาะ
มีการตกลงระหว่าง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นและกำหนดวันหมั้น
พิธีหมั้น
เมื่อถึงกำหนดฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมาก หรือพานหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง
โดยผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย พานหมากมีสามพานคือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง
และพานขนม ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงานและการจัดงานเลี้ยง ก่อนเถ้าแก่จะเดินทางกลับฝ่ายหญิงจะมอบผ้าโสร่งชาย
(กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงมาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง
และขนมของฝ่ายหญิงให้กลับเป็นการตอบแทนให้แก่ฝ่ายชาย
พิธีแต่งงาน
วันแต่งงาน ขบวนเงินหัวขันหมากประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่
จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะเชิญอิหม่าม คอเต็บ ทำพิธีแต่งงาน
พร้อมสักขีพยานและผู้ทรงคุณธรรม (คุณวุฒิ) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว
เจ้าบ่าว จะมอบเงินหัวขันหมากให้แก่โต๊ะอิหม่าม ตรวจความถูกต้อง บิดาของเจ้าสาวจะไปขอความยินยอมจากเจ้าสาว
(ขณะนั้นเจ้าสาวอยู่ในห้อง) โดยบิดาจะถามว่า พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับ ....(ชื่อเจ้าบ่าว)
ลูกจะยินยอมหรือไม่ เจ้าสาวก็จะให้คำตอบยินยอมหรือไม่ยินยอม ถ้าไม่ยินยอมพิธีจะดำเนินต่อไปไม่ได้
ถือว่าผิดหลักศาสนา การถามตอบระหว่างพ่อ-ลูก จะต้องมีพยานสองคนคือ คอเต็บ
หรือผู้ทรงคุณธรรมฟังอยู่ด้วย เมื่อเจ้าสาวตอบยินยอมก็จะดำเนินพิธีขั้นต่อไป
จากนั้นบิดาเจ้าสาวก็วอเรา
คือการกล่าวมอบหมายให้โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงาน โดยการ บาจอกุฎตีเบาะ
คืออ่าน กุฎยะฮ คืออ่านศาสนบัญญัติ เพื่ออบรมเกี่ยวกับการครองเรือน
เสร็จแล้วจึงทำการ นิกะฮ คือการรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม และพยาน
โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายมือของเจ้าบ่าว แล้วประกอบพิธีนิกะฮ โดยกล่าวชื่อ เจ้าบ่าว
แล้วกล่าวว่า ฉันได้รับมอบหมายจาก ...(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ให้ฉันจัดการแต่งงานเธอกับ...(ชื่อเจ้าสาว)
ซึ่งเป็นบุตรของ...(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ด้วยเงินหัวขันหมากจำนวน .....บาท
เจ้าบ่าวจะต้องตอบรับทันทีว่า ฉันยอมรับการแต่งงานตามจำนวนเงินหัวขันหมากแล้ว
สักขีพยานกับผู้ทรงคุณธรรมกล่าวต่อบรรดาผู้มาร่วมงานในห้องนั้นว่า คำกล่าวของเจ้าบ่าวใช้ได้ไหม
ถ้าผู้ร่วมงานตอบว่าใช้ได้ เป็นอันว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องแล้ว
โต๊ะอิหม่าม จะบาจออา หรือบาจอดอออ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้อัลเลาะห์ให้พรแก่คู่บ่าวสาว
จบแล้วอิหม่ามจะบอกหลักของการเป็นสามีภรรยา
แก่เจ้าบ่าวว่า ตามหลักศาสนานั้น ผู้เป็นสามีต้องเลี้ยงดูภรรยาและอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ของสามีภรรยา
จากนั้นมีการลงชื่อ โต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสำคัญเป็นหลักฐาน
เป็นอันเสร็จพิธี
- ประเพณีมาแกบูโละ
แปลว่า กินเหนียว หมายถึงการกินเลี้ยงในวันแต่งงาน งานเข้าสุหนัด งานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ
มีการเชิญแขกด้วยวาจา หรือโดยบัตรเชิญ มีการจัดสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงอาหาร
ที่จัดเลี้ยงเป็นอาหารธรรมดา เช่น มัสหมั่นเนื้อ ไก่กอและ ซุปเนื้อ ผัดวุ้นเส้น
ผักสด น้ำบูดู เป็นต้น
- ประเพณีมาแกแต
(กินน้ำชา) หมายถึงการกินเลี้ยงในงานหาเงินสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียนสอนศาสนา
หาเงินเพื่อขอความช่วยเหลือจากการประสบอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและไม่มีเงินจ่าย
อาหารที่เลี้ยงได้แก่ ข้าวยำ น้ำชา หรือ ปูโละซามา (ข้าวหนียวหน้ากุ้ง)
- ประเพณีมาแกสมางัด
คือกินเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จูงเมือเจ้าบ่าวเข้าไปในห้องของเจ้าสาว
จัดให้นั่งเคียงคู่กับเจ้าบ่าว ปัจจุบันนิยมจัดให้นั่งบนเก้าอี้บนแท่นหรือบัลลังก์ที่เรียกว่า
ปงายางัน
อาหารที่ใช้ป้อนเจ้าบ่าว เจ้าสาว มีข้าวเหนียวเหลือง - แดง - ขาว มีสามส่วน
ลักษณะเหมือนกลีบสามกลีบประกบกันเป็นพุ่ม เหมือนพุ่มดอกไม้ที่ประดับในพานพุ่มข้าวเหนียวนี้เป็นพุ่มใหญ่
สูงประมาณ ๑ ศอก บนยอดพุ่มมีไข่ต้มแกะเปลือกออกแล้ววางอยู่ ๑ ฟอง ไก่ย่าง
๑ ตัว ขนมกะละแม ขนมก้อ และข้าวพอง
หญิงที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวจะหยิบข้าวเหนียวไข่ต้ม เนื้อไก่ย่าง และขนมป้อนให้เจ้าบ่าว
เจ้าสาวกินคนละคำสลับกันเป็นการกินเพื่อเป็นสิริมงคล
- การเข้าสุหนัด
(มาโซะยาวี) คำว่า สุหนัด ภาษาอาหรับว่า สุนนะฮ แปลว่า แบบอย่างหรือแนวทาง
หมายความว่า เป็นการปฎิบัติตาม นบีที่ได้เคยทำมา
คำว่า มาโซะยาวี เป็นภาษามลายู (มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวี เป็นคำที่ใช้เรียก
ชาวอิสลามที่อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวม) หมายถึงเข้าอิสลาม
หรือพิธีขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย
การเข้าสุหนัดชายมักจะทำการเข้าสุหนัดในระหว่างอายุ ๑ ขวบ ถึงอายุ ๑๕ ขวบ
หญิงจะเข้าสุหนัดตั้งแต่คลอดใหม่ ๆจนอายุไม่เกิน ๒ ขวบ
พิธีเข้าสุหนัดหญิงนั้น หมอตำแยจะเอาสตางค์แดงมีรู วางรูสตางค์ตรงปลายกลีบเนื้อซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะเพศของทารกหญิงแล้วใช้มีดคม
ๆ หรือปลายเข็มสะกิดปลายเนื้อส่วนนั้น ให้เลือดออกมาขนาดแมลงวันตัวหนึ่งกินอิ่ม
เป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนการเข้าสุหนัดชายหนั้น ผู้ทำพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเรียกว่า โต๊มูเด็ง
บางราย จะจัดงานและมีขบวนแห่ใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกปูโละ)
หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพ เช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย
- ประเพณีฮารีรายอ
เทศกาล ฮารีรายอมีอยู่สองวันคือ
๑. วันฮารีรายอ หรือวันอิฎิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริง เนื่องจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ
การปฎิบัติของชาวอิสลามในวันรายอจะบริจาคทานเรียกว่า ซากัดฟิตเราะห์ (การบริจาคข้าวสาร)
มีการบริจาคทานแก่คนแก่หรือคนยากจน บางทีจึงเรียกว่า วันรายอฟิตเราะห์ หลังจากนั้นจะไปละมาดที่มัสยิด
จากนั้นจะมีการขอขมาจากเพื่อน มีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้และไกลออกไป
มีการเลี้ยงอาหารด้วย
๒. วันฮารีรายอหัวญี หรือวันรายออิฎิลอัฎฮา คำว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี
เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน อิดัลอัดฮา จึงหมายถึงวันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลี
ตรงกับวันที่สิบของเดือนซุลฮจญะ เป็นเวลาเดียวกับการประกอบพิธีหัจญ์ ที่เมืองเมกกะของชาวอิสลามทั่วโลก
ชาวไทยอิสลามจึงนิยมเรียกวันตรุษนี้ว่า วันอีดใหญ่
การปฎิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน
การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า กรุบาน
การปฎิบัติตนในวันนี้ คือ
๑. อาบน้ำสุหนัด ทั้งชายและหญิง และเด็กที่สามารถไปละหมาดได้ เวลาดีที่สุดคือหลังจากแสงอรุณขึ้นของวัน
ฮารีรายอ
๒. แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงาม
๓. บริจาคซะกาดฟิตเราะห์ก่อนละหมาด อิฎิลฟิตรี
๔. ให้ทุกคนไปละหมาดรวมกันกลางแจ้งหรือที่มัสยิด และฟังการบรรยายธรรมหลังละหมาด
๕. การกล่าวสรรเสริญ อัลเลาะห์
๖. ทำกรุบาน ถ้ามีความสามารถด้านการเงิน
๗. เยี่ยมเยียน พ่อแม่ ญาติ และครูอาจารย์ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับขออภัยซึ่งกันและกันในความผิดพลาด
ที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
- วันเมาลิด
เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของนบีมูฮัมมัด
ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือนรอบีอุลอาวาล หรือเดือนที่ ๓ ตามปฎิทินอาหรับ
วันเมาลิดยังเป็นวันรำลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์
และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย
กิจกรรมต่าง ๆ ในวันเมาลิดได้แก่ การเชิญคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การแสดงปาฐกถาธรรม
การแสดงนิทรรศการ ฯลฯ และการเลี้ยงอาหาร
- วันอาซูรอ
อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่สิบของเดือนมุฮัวรอม ซึ่งเป็นเดือนทางศักราชอิสลาม
ในสมัยนบีนุฮ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ยังเป็นความเสียหายแก่ทรัพย์สินไร่นาของประชาชนทั่วไป
ทำให้เกิดขาดอาหาร นบีนุฮ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของที่เหลือพอจะกินได้ให้เอามากองรวมกัน
นบีนุฮ ให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน สาวกของท่านก็ได้กินอาหารโดยทั่วกันและเหมือนกัน
ในสมัยนบีมูฮัมมัด (ศ็อล) เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้น ขณะที่กองทหารของท่านกลับจากการรบที่บาดัง
ปรากฎว่าทหารมีอหารไม่พอกิน ท่านจึงใช้วิธีการของนบีนุฮ โดยให้ทุกคนเอาข้าวของที่กินได้มากวนเข้าด้วยกัน
แล้วแบ่งกันกินในหมู่ทหาร
เครื่องปรุงสำคัญประกอบด้วย เครื่องแกงมี ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า
ข้าวสาร เกลือ น้ำตาล กะทิ กล้วย หรือผลไม้อื่น ๆ เนื้อ ไข่
วิธีกวน ตำหรือบดเครื่องแกงแย่างหยาบ ๆ เทส่วนผสมต่าง ๆ ลงในกระทะใบใหญ่
เมื่ออาหารสุกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวบาง ๆ
หรืออาจเป็นหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่น พอเย็นแล้วก็ตัดเป็นชิ้น
ๆ คล้ายขนมเปียกปูน
- การพูด จา ชาวไทยมุสลิมโดยทั่ไปจะกล่าวคำ
บิสุมิลลาฮ
ฮิรเราะหมานิรเรวะฮีม มีความหมายว่า ด้วยนามของอัลเลาะห์ผู้กรุณาปราณี
ผู้เมตตาเสมอ เมื่อเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิน นั่ง นอน อาบน้ำ สวมเสื้อผ้า
ฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เขียน อ่านหนังสือ ฯลฯ ทำให้มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับท่าน
ทำให้ทุกกิจกรรมของชาวอิสลามทำไปด้วยนามของท่าน และเมื่อบรรลุหรือเสร็จกิจกรรมต่าง
ๆ เช่น กินอาหารเสร็จ เดินทางไปถึงที่หมาย ทำงานบรรลุเป้าหมาย ก็จะกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮ
มีความหมายว่าการสรรเสริญเป็นสิทธิขออัลเลาะห์แต่ผู้เดียว
- การแสดงความเคารพ
ชาวไทยอิสลามเมื่อพบปะหรือกันจะกล่าว สะลาม หรือทักทายกันด้วยคำว่า อัสสะลามอะลัยกุม
มีความมายว่า ขอความสันติสุขจงมีแต่ท่าน ผู้รับจะรับว่า วะอะลัยกุมุสสะลาม
หมายความว่า ขอความสันติสุขจงมีแก่ท่านเช่นกัน
- การปฎิบัติเกี่ยวกับการกล่าว สะลาม มีหลายประการ คือ
๑. การสะลามและการจับมือด้วย ซึ่งกระทำได้ระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิง
สำหรับชายกับหญิงทำได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะที่แต่งงานกันไม่ได้เท่านั้น เช่น
พ่อกับลูก พี่กับน้อง หากชายหญิงนั้นอยู่ในฐานะที่จะแต่งงานกันได้เป็นสิ่งต้องห้าม
๒. ผู้ที่อายุน้อยกว่าควรให้สะลามผู้ที่อายุมากกว่า
๓. เมื่อจะเข้าบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านของตนเองหรือผู้อื่น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ
การกล่าวสะลาม ให้แก่ผู้ที่อยู่ในบ้านทราบก่อน หากกล่าวครั้งแรกยังไม่มีผู้รับสะลาม
ก็ให้กล่าวอีกสองครั้ง ถ้ายังไม่มีผู้กล่าวรับก็ให้เข้าใจว่า เจ้าของบ้านไม่อยู่หรือไม่พร้อมที่จะรับแขกก็ให้กลับไปก่อน
แล้วค่อยมาใหม่
๔. จะต้องมีการกล่าวสะลามก่อนที่จะมีการสนทนาปราศรัย
๕. เมื่อมีผู้ให้สะลาม ผู้ฟังหรือผู้ที่ได้ยินต้อง (บังคับ) กล่าวรับสะลาม
ถ้าอยู่หลายคนก็ให้คนใดคนหนึ่งกล่าวรับถือเป็นการใช้ได้ ถ้าไม่มีผู้ใดรับสะลามเลยจะเป็นบาปแก่ผู้นั้น
- การกินอาหาร
มีบัญญัติเรื่องอาหารในอัลกุรอาน โดยให้บริโภคจากสิ่งที่อนุมัติและสิ่งที่ดี
ไม่บริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่าย และสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย สติปัญญา อาหารที่ไม่อนุมัติเช่นเนื้อหมู
เลือดสัตว์ที่ตายแล้ว สัตว์ที่เชือดโดยเปล่งนามอื่นนอกจากอัลเลาห์ สัตว์ที่เชือดเพื่อบูชายัญ
ส่วนสัตว์ที่ตายเองต้องมีสาเหตุดังนี้ คือสัตว์ที่ถูกรัด สัตว์ที่ถูกตี สัตว์ที่ตกจากที่สูง
และสัตว์ที่ถูกสัตว์ป่ากิน
สัตว์ที่ตายเองในห้าลักษณะดังกล่าวหากเชือดทันก็สามารถบริโภคได้ อาหารที่จัดอยู่ในพวกเครื่องดื่มมึนเมา
และสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่อยู่ในข่ายก่อให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์ ก็ไม่เป็นที่อนุมัติเช่นกัน
เช่นเหล้า ยาเสพติดทุกประภท ฯลฯ
รูปแบบสังคม
ชุมชนที่พูดภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลาม มักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มไม่ปะปนกับชุมชนที่นับถือศานาอื่น
อยู่กันเป็นหมู่บ้านประกอบอาชีพด้วยกันในชุมชนเดียวกัน มีส่วนน้อยที่อยู่ปะปนกันแต่ต่างคนต่างอยู่
ถ้าจำเป็นต้องอยู่ปะปนกันบ้าง การนับถือศาสนาต่างคนต่างก็ปฏิบัติศาสนกิจของตนไป
ไม่เบียดเบียนกัน มีอยู่บ้างที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องศาสนาแต่เป็นเรื่องเล็กน้อย
ปัจจุบันผู้ที่พูดภาษามลายูก็สามารถพูดไทยได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีการศึกษาสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นและความจำเป็นที่ต้องประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กัน
สำหรับชาวพุทธที่พูดภาษาไทยก็สามารถพูดภาษามลายูได้ นับว่าเป็นวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรมในปัจจุบัน
รูปแบบของชุมชนมักถือศาสนสถานเป็นจุดศูนย์กลางเช่น วัด มัสยิด หรือสุเหร่า
| | |