www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งภิ่นฐาน
ในเขตจังหวัดสระบุรี เคยพบเครื่องมือหินกะเทาะสมัยหินกลางที่ถ้ำพระงาม
พบภาชนะดินเผา ลูกปัด หอยเบี้ยม้วนทอง เครื่องประดับ และเครื่องใช้ ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ที่ถ้ำเทพนิมิต ธารทองแดง ตำบลพุคำจาน อำเภอพระพุทธบาท พบภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาลม พระพุทธฉาย อำเภอเมือง ฯ หลักฐานต่าง ๆ แสดงว่าในเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้มีคนมาอยู่แล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างน้อยสมัยหินกลาง
ความเป็นอยู่ของคนในสมัยหินกลาง จะอาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผาใกล้แหล่งน้ำที่เป็นห้วยลำธารหรือแม่น้ำ
และไม่ไกลจากบริเวณที่มีหินกรวด ดำรงชีพอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บผลไม้มาบริโภคเช่นเดียวกับคนสมัยหินเก่า
แต่หาปลาได้เก่งกว่าคนสมัยหินเก่ามีเรือขุดใช้ เมื่อตายมักเอาศพฝังไว้ใต้ที่อยู่
ศพมักจะอยู่ในลักษณะนอนงอเข่าขึ้นมาถึงคาง โดยมากมักฝังทั้งตัว แต่มีบางครั้งที่พบกระดูกส่วนต่าง
ๆ ฝังรวมกันอยู่เป็นกอง
ลำดับพัฒนาการทางประวัติสาสตร์
นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖) เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้
พื้นที่ในเขตจังหวัดสระบุรี มีหลักฐานว่าอยู่ในยุคทวารวดี เช่น ที่บ้านอู่ตะเภา
ตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง สันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองเก่าสมัยทวารวดี
ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย พบภาพสลักนูนต่ำที่ผนังถ้ำ เป็นลักษณะศิลปกรรมสมัยทวาราวดี
ที่ถ้ำเขาวง (ถ้ำนารายณ์) ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท มีจารึกที่ผนังถ้ำด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษามอญโบราณ จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อปิแอร์ ดูปองท์ สันนิษฐานว่า ผู้คนในสมัยทวาราวดีเป็นคนมอญที่อพยพมาอยู่ในถิ่นนี้ เมื่อพุทธศตวรรษที่
๑๕ เพราะภาษาที่จารึกในสมัยนี้เป็นภาษามอญทุกแห่ง
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ อาณาจักรทวาราวดีได้เสื่อมลง เนื่องจากขอมเข้ามาแผ่อิทธิพลปกครองในดินแดนแถบนี้
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องตำนานเมืองสระบุรีตอนหนึ่งว่า
"ท้องถิ่นอันเป็นเขตจังหวัดสระบุรีนี้ แต่โบราณครั้งเมื่อขอมยังเป็นใหญ่ในประเทศนี้อยู่
ในทางหลวงสายหนึ่งซึ่งขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่านครธม)
ยังมีเทวสถานที่พวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมืองปรากฏเป็นระยะคือ
ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี ที่อำเภอวัฒนานครแห่งหนึ่ง ที่ดงมหาโพธิ์แห่งหนึ่ง
ต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายกมีที่ดงนคร แห่งหนึ่ง แล้วมามีที่บางโขมด
ทางขึ้นพระพุทธบาท
อีกแห่งหนึ่ง ต่อไปก็ถึงเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลละโว้ที่พวกขอมปกครอง
แต่ในที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งเมืองสระบุรี หาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่
เพราะฉะนั้น เมืองสระบุรีจะเป็นเมืองต่อเมื่อเมืองไทยได้ประเทศนี้จากพวกขอมแล้ว"
เมืองสระบุรีเริ่มปรากฏชื่อในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีคำว่าเมืองสระบุรีปรากฏในพงศาวดารครั้งแรก
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช คราวที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระมหินทร์ ฯ ทรงมีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์
ให้นำทัพมาช่วยไทย แต่ทัพลาวถูกทัพพม่าซุ่มโจมตีที่เมืองสระบุรี ทัพลาวแตกกลับไปเวียงจันทน์
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๑๒ แต่จะตั้งเมื่อใดไม่มีหลักฐาน
สระบุรีสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยา เมืองสระบุรีมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสงคราม และการพระศาสนาเป็นสำคัญเช่นใน
ปี พ.ศ.๒๑๒๕ พระเจ้าแปรยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงมีรับสั่งให้พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี พระวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา และพระสระบุรี
รวมสี่หัวเมืองให้พระยานครนายก เป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล ๑๐,๐๐๐ คน ออกไปตั้งค่าย
ขุดคู ปลูกยุ้งฉาง ถ่ายลำเลียงไว้ตำบลทำนบรักษาไว้ให้มั่นคง
ปี พ.ศ.๒๑๒๖ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพไปตีเมืองเขมร มีรับสั่งให้พระสระบุรี
คุมพล ๑,๐๐๐ คน อยู่รักษาฉางหลวง แล้วให้แต่งกองทัพออกไปลาดตระเวณฟังราชการให้ถึงทัพหลวง
ปี พ.ศ.๒๒๐๓ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงยกพัพไปช่วยเชียงใหม่ปราบฮ่อ
ได้ให้พระสระบุรีเป็นยกกระบัตรไปร่วมรบด้วย
ปี พ.ศ.๒๒๒๗ เกิดกบฎอ้ายธรรมเถียร คนนครนายกปลอมตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ
ลวงผู้คนให้หลงเชื่อมาถึงสระบุรี และลพบุรี แล้วบุกเข้าไปถึงกรุงศรีอยุธยา
แต่พ่ายแพ้ถูกปประหารชีวิต
ปี พ.ศ.๒๒๓๕ เกิดกบฎบุญกว้าง ทำเป็นมีวิชาอาคมดี นำพวก ๒๘ คน เข้ายึดเมืองนครราชสีมาได้
เจ้าเมืองนครราชสีมาลวงว่าควรนำกำลังไปตีกรุงศรีอยุธยา บุญกว้างเชื่อจึงนำกำลังผู้คนยกผ่านมาถึงลพบุรี
กรมการเมืองสระบุรีได้มีหนังสือแจ้งมายังเมืองหลวง ให้นำกำลังไปกำจัดพวกบุญกว้างได้หมด
ปี พ.ศ.๒๑๔๙ ได้พบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
หลังจากนั้นมาก็ถือเป็นราชประเพณีนิยมที่พระมหากษัตริย์ จะเสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาท
และทรงทำนุบำรุงรอยพระพุทธบาท รวมทั้งเสด็จไปนมัสการพระพุทธฉายที่สระบุรี
สมัยธนบุรีถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ จีนค่ายคลองสวนพลู ๔๐๐
คน ได้พากันไปลอกเอาเงินดาดพื้น และลอกทองหุ้มพระมณฑปน้อยเอาไป
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ซ่อมพระมณฑปพระพุทธบาท แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
ในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำมณฑปน้อยกั้นรอยพระพทุธบาทภายในพระมณฑปใหญ่
เสาทั้งสี่รวมทั้งเครื่องบน และยอดล้วนหุ้มแผ่นทองทั้งสิ้น
พ.ศ.๒๔๐๐ พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะมณฑปพระพุทธบาท
และสร้างที่ประทับใหม่หลายหลัง ในพระราชวังท้ายพิกุล ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ พระองค์ได้เสด็จ
ฯ ไปนมัสการพระพุทธบาททรงยกพระมณฑป และทรงบรรจุพระบรมธาตุแล้ว เสด็จประทับแรมที่เขาแก้ว
ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้
พ.ศ.๒๔๐๒ - ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างที่ประทับขึ้นที่ตำบลสีเทา
อำเภอแก่งคอย และจัดให้เขาคอกเป็นที่ฝึกทหาร
พ.ศ.๒๓๑๔ พระเจ้าสุริยวงศ์ แห่งนครหลวงพระบาง มีเรื่องวิวาทกับเจ้าสิรบุญสาร
แห่งนครเวียงจันทน์ พระเจ้าสุริยวงศ์ยกทัพไปล้อมนครเวียงจันทน์ พระเจ้าสิริบุญสารได้ส่งสาส์นไปยังพม่าที่นครเชียงใหม่ให้ยกทัพมาช่วย
ชาวเวียงจันทน์เกรงว่าจะเกิดศึกใหญ่จึงพากันอพยพมายังเมืองนครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชาวลาวเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี
พระวอกับพระตาเกิดผิดใจกันกับพระเจ้าสิริบุญสาร จึงพาไพร่พลหนีมาตามลำดับ
พระเจ้าสิริบุญสารก็ตามมาตีจนพระตาตาย พระวอพาไพร่พลหนีมายังบ้านดอนมดแดง
เมืองอุบล ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ พระเจ้าสิริบุญสารให้พระยาสุโพยกทัพมาตีและฆ่าพระวอตาย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นว่าพระเจ้าสิริบุญสารฆ่าพระวอผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
จึงได้ทรงมอบให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ฯ นำทัพไปตีนครเวียงจันทน์
และยึดนครเวียงจันทน์ได้ และได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์มาเป็นจำนวนมาก ได้ให้ชาวเวียงจันทน์ดังกล่าวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๒ เรียกว่า ลาวเวียง
พ.ศ.๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราช
นำทัพไปขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสน เมื่อได้เมืองเชียงแสนแล้วก็ได้รวบรวมชาวเชียงแสนได้
๒๓,๐๐๐ ครอบครัว แบ่งออกเป็นห้าส่วน ให้ไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง
เมืองน่าน เมืองเวียงจันทน์ และส่วนหนึ่งลงมากรุงเทพ ฯ และได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี กับเมืองราชบุรี
พ.ศ.๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์ ราชบุตรพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้เคยมาอยู่กรุงเทพ
ฯ ตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้กลับไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้กราบทูลขอชาวลาวที่อยู่ในเมืองไทยกลับไปยังเวียงจันทน์
แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงอนุญาติ เมื่อเจ้าอนุวงศ์กลับไปนครเวียงจันทน์แล้ว
ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้นำทัพลงกรุงเทพ ฯ มาโดยได้ลวงเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ
ที่ผ่านมาว่า ทางกรุงเทพ ฯ สั่งให้นำทัพมาช่วยรบกับอังกฤษ แล้วได้ลงมาตั้งอยู่
ณ ตำบลขอนขว้าง
ใกล้กับเมืองสระบุรี ได้เกลี่ยกล่อมพระสระบุรี ซึ่งเป็นลาวพุงดำ และนายครัวลาวพุงขาวเข้าด้วย
ได้กวาดต้อนครอบครัวอพยพไทยจีนลาว ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสระบุรีได้เป็นอันมาก
พ.ศ.๒๔๗๐ ทัพไทยไปตีนครเวียงจันทน์ ได้นำครอบครัวลาวเวียงจันทน์ ลาวพวน
(เมืองเชียงขวาง) ลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ลพบุรี และสระบุรี
จากเหตุการณ์สงครามทั้งสี่ครั้งดังกล่าว ทำให้เมืองสระบุรีมีคนลาว และชาวเชียงแสนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทำให้สระบุรีมีประชาการเพิ่มมากขึ้น ชาวลาวที่มาตั้งถิ่นฐานเรียกชื่อตามสำเนียงภาษาพูดต่างกันเป็น ๔ กลุ่มคือ
ลาวเวียง
คือชาวลาวจากเวียงจันทน์ ปัจจุบันมีอยู่มากที่อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอหนองแซง
อำเภอวิหารแดง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ
ลาวพวน
คือชาวลาวที่มาจากเมืองพวนในแขวงเชียงขวาง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอหนองโดน
และอำเภอดอนพุด
ลาวแง้ว
คือชาวลาวที่มาจากชนบทชานเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันอยู่ที่บ้านตาลเสี้ยน บ้านหนองระกำ
อำเภอพระพุทธบาท และบางหมู่บ้านในอำเภอหนองโดน
ลาวญ้อ
คือชาวลาวที่มาจากเมืองคำเกิด มีอยู่บางหมู่บ้านในอำเภอแก่งคอย
ส่วนชาวเชียงแสนที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสระบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗
คือ ในเขตอำเภอเสาไห้ เรียกตนเองว่า คนยวน (มาจากโยนก) ปัจจุบันมีอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดสระบุรี
ยกเว้นอำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด ได้นำภาษาและวัฒนธรรมประเพณี ของชาวล้านนาไทยมาใช้สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
ผ่านมาทางจังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีจึงได้ย้ายศาลากลางจังหวัด
จากเขตอำเภอเสาไห้มาตั้งที่ตำบลปากเพรียว เพื่อให้สะดวกต่อการาคมนาคม
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานเมืองสระบุรี มีความตอนหนึ่งว่า
"ในสมัยเมื่อยังไม่ได้สร้างทางรถไฟหลวง บรรดาสินค้ากรุงเทพ ฯ ซึ่งจะส่งขึ้นไปมณฑลนครราชสีมาต้องบรรทุกเรือไปหยุดที่ท้ายแก่งเพรียวนี้ แล้วขนบรรทุกโคตั่งเดินทางไป สินค้ามณฑลนครราชสีมาที่จะส่งลงมาทางกรุงเทพ
ฯ ก็ต้องบรรทุกโคตั่งข้ามเทือกเขามาจนถึงที่ตำบลปากเพรียว แล้วพวกพ่อค้ากรุงเทพ
ฯ รับบรรทุกเรือลงมาที่ปากเพรียว เป็นที่รับส่งสินค้าดังกล่าวมา จึงเป็นท้องตลาดที่ประชุมชนแห่งหนึ่งมาช้านาน"
เมื่อทางรถไฟเสร็จแล้ว ภายในจังหวัดสระบุรีก็มีถนนเกิดขึ้นหลายสาย นับแต่สมัยโบราณก็มี
ถนนฝรั่งส่องกล้อง
จากท่าเรือถึงพระพุทธบาท เป็นถนนสายแรกที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้า
ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๙ ถนนสายต่อมาคือ ถนนสายหนองโดน - พระพุทธบาท
และถนนพิชัยรณรงค์สงคราม จากตัวเมืองสระบุรีถึงอำเภอเสาไห้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑
- ๒๔๗๖
สำหรับถนนสายอื่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๒ มีการสร้างถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพ
ฯ ถึงสระบุรี ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ - ๒๕๐๑ มีการสร้างถนนมิตรภาพ จากสระบุรีถึงหนองคาย
ที่มาชื่ออำเภอต่าง
ๆ ในจังหวัดสระบุรี
อำเภอแก่งคอย
แก่งคอยมาจากคำว่าแก่งทับคอย แก่งคอยจึงหมายถึงโขดหินกลางน้ำที่มักมาคอยพาหนะขึ้นล่องที่นี่
หรือเรือที่ขึ้นล่องมาคอยกันตรงนี้
อำเภอมวกเหล็ก
มีความหมายอยู่สองนัย นัยหนึ่งว่ามวกเหล็กเป็นชื่อของเถาไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ทั่วไป
ตามริมห้วยแห่งนี้ อีกนัยหนึ่งมีเรื่องเล่าว่าเคยพบหมวกเหล็กของนักรบโบราณที่ห้วยแห่งนี้
จึงเรียกว่า บ้านหมวกเหล็ก ต่อมาเพี้ยนเป็น มวกเหล็ก
อำเภอวังม่วง
เดิมถิ่นนี้มีต้นมะม่วงป่าอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า บ้านวังม่วง
อำเภอวิหารแดง
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หนานแดงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนบริเวณลำห้วย ซึ่งปัจจุบันคือห้วยลำ
และได้สร้างสำนักสงฆ์ใกล้กับลำห้วยนี้ด้วยอิฐสีแดง ชาวบ้านเรียก วิหารแดง
และเรียกลำห้วยนี้ว่า คลองวิหารแดง อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า บริเวณนี้มีเถาหนามหันแดงมาก
จึงเรียกว่า บ้านหันแดง ต่อมาเพี้ยนไปเป็นวิหารแดง
อำเภอเมือง ฯ
แต่เดิมมีอำเภอตั้งอยู่ที่ตำบลปากเพรียว เรียกว่าอำเภอปากเพรียว ที่ริมแม่น้ำป่าสักมีคลองเพรียวไหลมาบรรจบ
จึงเรียกว่า ตำบลปากคลองเพรียว ต่อมาคำว่าคลองหายไปเหลืออยู่เพียงปากเพรียว
อำเภอเสาไห้
หมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งตัวอำเภอในปัจจุบัน เดิมชื่อว่า บ้านไผ่ล้อมน้อย ต่อมาเมื่อคราวตั้งกรุงเทพ
ฯ เป็นราชธานี ได้มีการประกาศมายังหัวเมืองต่าง ๆ ให้ส่งไม้ที่มีลักษณะดีเข้าไปยังเมืองหลวง
เพื่อคัดเลือกให้เป็นเสาหลักเมือง ชาวบ้านสระบุรีได้ตัดไม้ต้นหนึ่งส่งล่องแม่น้ำป่าสักไปยังกรุงเทพ
ฯ แต่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเสาหลักเมือง เนื่องจากถูกตำหนิว่าเป็นไม้ที่มีลำต้นคด
นางไม้ที่สิงสถิตอยู่ในไม้ต้นนั้นเกิดเสียใจอย่างมาก ไม้ท่อนนั้นได้ลอยทวนน้ำกลับมาตามแม่น้ำป่าสัก แล้วหยุดลอยอยู่เยื้องหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ในปัจจุบัน จากนั้นก็มีเสียงร้องไห้คร่ำครวญให้ชาวบ้านได้ยิน แล้วค่อย ๆ จมลงไปใต้น้ำ
วันดีคืนดีชาวบ้านจะได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ดังขึ้นมาจากบริเวณนี้เสมอ จึงพากันเรียกหมู่บ้านนี้ว่า
บ้านเสาไห้
อำเภอหนองแซง
เดิมมีหนองน้ำอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ
๓๐๐ เมตร มีต้นแซง (คล้ายต้นปรือ) ขึ้นอยู่บริเวณหนองน้ำเป็ฯจำนวนมาก
ชาวบ้านจึงเรียกท้องถิ่นนี้ว่า หนองแซง
อำเภอบ้านหมอ
ในสมัยที่พบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีนั้น มีขบวนเสด็จโดยขบวนช้างจากท่าเรือไปยังพระพุทธบาท
เมื่อช้างเจ็บป่วยก็นำไปรักษาที่วัดโคก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของหมอช้าง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกวัดโคกว่า
วัดโคกบ้านหมอ ต่อมาคำว่าโคกหายไปกลายเป็นวัดบ้านหมอ แล้วเลยเรียกหมู่บ้านบริเวณนี้ว่าบ้านหมอไปด้วย
อำเภอพระพุทธบาท
เรียกชื่อตามรอยพระพุทธบาทอันเป็นเจดียสถานสำคัญของท้องที่นี้
อำเภอหนองโดน
เดิมมีหนองน้ำอยู่ระหว่างหนองแคกับบ้านหนองควาย (คลองหมู) มีต้นกระโดนใหญ่อยู่ที่ริมหนองน้ำนี้จึงเรียกถิ่นนี้ว่า
บ้านหนองกระโดน ต่อมาคำว่า กระ หายไปเป็นบ้านหนองโดน
อำเภอดอนพุด
สมัยก่อนพื้นที่ดอนพุดเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีต้นพุดเกิดขึ้นอยู่มาก จึงเรียกท้องถิ่นนี้ว่าดอนพุด
ชาวดอนพุดมีเชื้อสายลาวพวน อพยพมาครั้งแรกได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบาลกลุ่ม
และบ้านเล่อในเขตอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองมน
ตำบลบ้านหลวง ต่อมาเกิดไฟไหม้ใหญ่ที่บ้านหนองมน ราษฎรส่วนหนึ่งของบ้านหนองมนได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองกะทะ
ตำบลดอนพุดในปัจจุบัน
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
เป็นอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงครองราชสมบัติมาครบ ๕๐ พรรษา
|