www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
พระราชวังท้ายพิกุล
ตั้งอยู่ในบริเวณพระพุทธบาท ทางด้านทิศตะวันตกของพระมณฑปพระพุทธบาท สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับมาแต่แรกพบพระพุทธบาท ต่อมาพระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์ธารเกษมขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ปล่อยให้พระราชวังท้ายพิกุลทรุดโทรมไป
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑) พระองค์ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธบาท
ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้
พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาท
จะประทับที่พระราชวังท้ายพิกุล เมื่อของเดิมชำรุดทรุดโทรมไป ก็ทรงให้สร้างขึ้นใหม่
เช่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาท
ก็ได้โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้น ในบริเวณที่ว่างอยู่ของพระราชวังท้ายพิกุล
ประกอบด้วยเรือนฝ่ายใน และฝ่ายหน้าหลายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จ ฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักและเรือนในบริเวณวังที่พระพุทธบาทสองครั้ง
ต่อมาเมื่อชำรุดหักพังจะปลูกพลับพลาใหม่จึงรื้อออกหมดไม่มีอะไรเหลืออยู่ ปัจจุบันจึงมีเพียงฐานรากพระที่นั่ง
กำแพงวังและเคยที่ประทับช้างอยู่เท่านั้น
พระตำหนักธารเกษม เมื่อปี
พ.ศ.๒๑๗๖ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงเตรียมการที่จะเสด็จนมัสการพระพุทธบาท
ได้โปรดให้ช่างกองใหญ่ยกขึ้น ไปทำตำหนักริมธารท้ายธารทองแดง คิดทดบ่อน้ำเปิดปิดให้ไหลเชี่ยวมาแต่ธารทองแดง
ให้นามชื่อพระราชนิเวศน์ธารเกษม
การระบายน้ำและทดน้ำดังกล่าวใช้ศิลาก่อเป็นทำนบกั้นขวางลำธาร ทำประตูระบายน้ำแล้วฝังท่อดินเผา
ไขน้ำให้ไหลตามท่อไปสู่ที่ต่าง ๆ ที่ต้องการน้ำ
พระตำหนักธารเกษม อยู่ห่างจากพระพุทธบาทขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันชำรุดหักพังลงมาหมดแล้ว
คงเหลือแต่ร่องรอยฐานรากอาคารเป็นอิฐ และปูนปรากฏอยู่เท่านั้น
พระตำหนักสระยอ
อยู่ห่างจากพระราชวังท้ายพิกุลลงมาทางใต้ตามถนนพระพุทธบาท - ท่าเรือ ประมาณ
๘๐๐ เมตร พระตำหนักสระยออยู่ทางด้านทิศตะวันออกของถนน
ลักษณะฐานรากของพระตำหนักเป็นก้อนหินนำมาก่อสอปูนคล้ายกับพระตำหนักต่าง ๆ
ในบริเวณอำเภอพระพุทธบาท ที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระตำหนักนี้มีชื่อเรียกอยู่ในคำให้การขุนโขลนว่าตำหนักพระนารายณ์เป็นท้ายสระยอ เชื่อกันว่า สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับในรัชสมัยของพระองค์
พระตำหนักสระยอในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงฐานรากของพระตำหนักเหลืออยู่เท่านั้น
วังน้ำบ้านท่าราบ
วังน้ำท่าราบอยู่กึ่งกลางแม่น้ำป่าสักระหว่างบ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล และบ้านไผ่ล้อม
ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ เดิมริมแม่น้ำป่าสักตอนนี้เป็นหาดทรายราบเรียบ
ลดหลั่นเป็นแนวยาวประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ในฤดูแล้งน้ำจะตื้นเขิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งเสด็จ ฯ ทางชลมารคผ่านจุดนี้ทรงหยุดขบวนเสด็จขึ้น เพื่อทรงเหยียบท่าราบ และสรงน้ำที่หาดท่าราบนี้
เนื่องจากพื้นน้ำบริเวณนี้เป็นวังน้ำคือ น้ำนิ่ง และลึกใสเย็นกว่าแห่งอื่น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก
นับแต่นั้นมาถือว่าน้ำท่าราบเป็นน้ำอภิเษก จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้นำน้ำแห่งนี้ไปทำเป็นน้ำอภิเษกในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สิบมาจนถึงปัจจุบัน
จุดประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำคือ ที่บ้านท่าราบ ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้
พระบวรราชวังสีทา (ตำหนักบ้านสีทา) ตั้งอยู่ที่บ้านสีทา ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย พระตำหนักแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างขึ้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ฝั่งตะวันตก ณ ตำบลบ้านสีทา คราวเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสร้างพระราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี เพราะมูลเหตุเกิดแต่คราวที่สร้างราชธานีสำหรับสงคราม
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร
สำรวจเมืองนครราชสีมา ทรงเห็นภูมิลำเนากันดารไม่เหมาะสม มาโปรดที่เขาคอกในเขตจังหวัดสระบุรี
ว่ามีลักษณะพื้นที่เหมือนเป็นป้อมธรรมชาติ จึงทรงสร้างที่ประทับขึ้นที่ตำบลสีทา
(พ.ศ.๒๔๐๒ - ๒๔๐๘) สามารถเดินทางไปมาได้สะดวกทั้งทางน้ำและทางบก ระยะทางจากบ้านสีทาไปเขาคอกทางบกประมาณ
๙ กิโลเมตร ทางแม่น้ำป่าสักประมาณ ๑๔ กิโลเมตร พระบามสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จมาประทับ ณ วังสีทา เพื่อตกแต่งเขาคอกไว้เป็นป้อมปราการต่อสู้ข้าศึก
และทรงโปรดวังแห่งนี้มาก ได้เสด็จมาประทับอยู่เนือง ๆ ตลอดพระชนมายุ แต่เนื่องจากพระราชวังแห่งนี้สร้างด้วยเครื่องไม้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงโปรด ฯ ให้รื้อพระตำหนักลงมา สร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
เขาคอก
อยู่ที่บ้านท่าคล้อ ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย ลักษณะพิเศษของเขาคอกคือ มีภูเขาล้อมรอบเหมือนป้อมปราการ
มีช่องทางเข้าออกแคบ ๆ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นช่องทางบกแห่งหนึ่ง
และถัดไปทางซ้ายประมาณ ๘๐ เมตร เป็นช่องทางน้ำอีกแห่งหนึ่ง ภายในหุบเขาเป็นที่กว้าง
มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ มีเนินดิน กำแพงหิน และร่องรอยของสิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก
กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้เขาคอกเป็นที่ฝึกพล
เพื่อเตรียมไว้ป้องกันอริราชศัตรูอยู่นานพอสมควร
เขาแดง
อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ ในสงครามมหาเอเซียบูรพา
ที่กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบก ที่บริเวณฝั่งทะเลของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
ระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ เช้ามืดวันหนึ่งชาวบ้านแถบเขาแดงพบเห็นทหารญี่ปุ่นจำนวนมาก เข้ามาขอซื้อไม้รวก
ชาวบ้านเห็นว่าได้ราคาดี จึงช่วยกันตัดไม้รวกขายญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นได้ให้เชลยศึกที่เป็นทหารชาวตะวันตก
จำนวน ๒,๐๐๐ คน ช่วยกันทำทางจากหน้าโรงเรียนวัดพระพุทธฉายไปยังเขาแดง ให้สร้างรั้วด้วยไม้ไผ่กว้าง
๕๐๐ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร ทำป้อมยามสี่แห่งภายในรรั้ว ซึ่งใช้เป็นสถานที่กักกันเชลยศึก
จากนั้นได้ให้เชลยศึกสร้างที่เก็บอาวุธ เสบียงและของใช้ที่จำเป็นขุดหลุมหลบภัยไว้หลายแห่ง ขุดจากภูเขาให้เชื่อมต่อกัน เพื่อประโยชน์ในการสงคราม ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๘๘ สงครามยุติลง ทหารญี่ปุ่นก็ช่วยกันนำอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง
ๆ มาเผาทำลายหมดสิ้น ใช้รถเกรดดินถมทับอุโมงค์และแหล่งเก็บอาวุธ
โบราณวัตถุ
เกียรติมุข
เกียรติมุขหรือหน้าสิงห์ ทำด้วยหินทรายสมัยลพบุรี สูง ๔๕ เซนติเมตร อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อน้อยใกล้วัดสูง
ริมถนนเสาไห้ - สระบุรี อำเภอเสาไห้ กรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นโบราณวัตถุสำหรับชาติ
เกียรติมุข คือรูปหน้าขบหรือยักษ์ราหู มีแต่หัวไม่มีแขนไม่มีขา ตามคติพราหมณ์เชื่อว่า
พระอิศวร ได้พิโรธอย่างรุนแรง ทำให้เกิดตัวเกียรติมุมข ตรงระหว่างคิ้วที่ขมวดนั้น
กระโดดออกมาจากพระพักตร์ เมื่อมันหิวมันก็กินทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรกิน
มันก็เริ่มกินตัวมันเอง เช่น แขน ขา ลำตัว จนเหลือแต่หัว พระอิศวรได้ทอดพระเนตรดูอยู่ตลอดเวลา
แล้วทรงเห็นโทษของความโกรธ อันทำให้เกิดตัวเกียรติมุขนั้น พระองค์จึงได้ตรัสว่า
"ลูกเอ๋ยพ่อเห็นแล้วว่าความโกรธนั้นมันเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ตัวเอง
เจ้าจงไปประดิษฐานอยู่ตรงหน้าบันหรือส่วนมุขของเทวาลัย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติมนุษญ์ทั่วไปให้รู้จักยับยั้งความโกรธเสีย"
ตัวเกียรติมุข จึงมีปรากฎอยู่ตามเทวสถานทั่วไป ตัวเกียรติมุขนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
หน้ากาละ
หมายถึงกาลเวลาย่อมกินตัวเองและทำลายทุกสิ่งให้หมดไป
เมื่อชาตินี้มาถึงชาวพุทธจึงได้ดัดแปลงเป็นตัวราหู
บางครั้งทำลักษณะอมดวงจันทร์เรียกว่า
ราหูอมจันทร์
เทวรูป
ที่วัดพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท มีศาลพระกาฬอยู่แห่งหนึ่ง มีเป็นศาลเล็ก
ๆ ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ในศาลมีเทวรูปยืนอยู่สี่องค์ นั่งสององค์ สันนิษบานว่า
เป็นศิลปะขอมในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ รุ่นราวคราวเดียวกับพระปรางค์สามยอดลพบุรี
ทำด้วยหินทรายสีเทา เดิมพบเทวรูปนี้ที่บ้านคูเมือง (เมืองขีดขิน) อำเภอบ้านหมอ
ซึ่งเป็นเมืองที่ขอมสร้างไว้ ในสมัยที่ขอมมีอำนาจอยู่ในถิ่นนี้ ต่อมาได้มีการนำเทวรรูปดังกล่าวไปไว้ที่ศาลพระกาฬ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เทวรูปเจ้าพ่อเขาตก
ตั้งอยู่ในศาลเจ้าพ่อเขาตก ที่เขาตก ห่างจากพระพุทธบาทไปทางทิศใต้ประมาณ ๓
กิโลเมตร ศาลเจ้าพ่อเขาตกสร้างมาแต่ครั้งอยุธยา ของเดิมเครื่องบนทำด้วยไม้
มีช่อฟ้าใบระกา แต่ถูกไฟป่าไหม้เสมอ จึงสร้างใหม่เรื่อยมา ต่อมาพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ทำเป็นรูปเก๋งจีน เครื่องบนใช้อิฐปูนทั้งสิ้น และโปรดให้พระยาเพชรรัตน์สงคราม
นำศิลาจากเขาตกมาให้ช่างจำหลักเป็นรูปเทวรูปนั่งชันเข่า สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร
เพื่อนำไปตั้งไว้แทนเทวรูแเทพารักษ์ของเดิม เมื่อสมโภชน์แล้วโปรด ฯ ให้แห่ลงเรือที่ท่าพระนำไปตั้งไว้ที่ศาลนี้ตั้งแต่
ปี พ.ศ.๒๔๐๔ มีประกาศและคำจารึกที่ฐานเทวรูปเขาตกนี้ด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวศาลถูกไฟป่าไหม้อีกครั้งพระองค์จึงโปรด
ฯ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนี ผู้รักษาพระพุทธบาทในครั้งนั้นสร้างศาลขึ้นใหม่และหล่อเทวรูปทรงเครื่อง
สูงประมาณหนึ่งเมตร ชาวบ้านเรียกเทวรูปนี้ว่า เจ้าตาก ตั้งอยู่หน้าเทวรูปเจ้าพ่อเขาตก
ศาลหลักเมือง
ประเพณีการสร้างหลักเมืองของไทย สันนิษฐานว่ามาจากศาสนาฮินดูไศวนิกาย ที่ถือว่าหลักเมืองคือ
ศูนย์กลางบริเวณอันจะกำหนดให้เป็นเมือง บางทีก็เรียกว่า ใจกลางเมือง โดยกำหนดเอาภูเขาไว้กลางเมือง
สมติว่าภูเขานั้นเป็นเขาไกรลาสเป็นที่สถิตย์ของพระอิศวร บนยอดเขาจะสร้างปราสาทเพื่อตั้งศิวลึงค์
อันเปฌนสัญลักษณ์แห่งอำนาจของผู้ครองเมือง ต่อมาประเพณีการสร้างศาสนสถานบนยอดเขากลางเมืองได้ลดรูปลง
เพราะหาสถานที่เหมาะสมไม่ได้ จึงได้สร้างแต่เพียงปราสาทให้เป็นเหมือนเขาไกรลาศ
หรือเขาพระสุเมรุ ในที่สุดก็เหลือเพียงหลักเมือง เพื่อเป็นที่สิงสถิตย์ของเพทพารักษ์ประจำเมือง
เมืองสระบุรีเก่า อยู่ในเขตอำเภอเสาไห้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ย้ายที่ทำการเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลปากเพรียว
ศาลหลักเมืองเดิมไม่มีผู้ทราบที่ตั้งแน่นอน ทราบแต่เพียงว่าอยู่ข้างวัดปากเพรียว
(วัดบุรีรัตนาราม) ริมบ้านหมอช้าง เสาหลักเมืองเดิมเป็นเสาไม้ตะเคียน
ต่อมาเมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่เสร็จ จึงได้สร้างศาลหลักเมืองใหม่
บริเวณใกล้เคียงกับศาลากลางจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นวิหารหลังคาทรงปรางค์
|