www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาได้เริ่มขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๒ - ๒๔ โดยมีศูนย์กลางการปกครองหรือสถานที่ตั้งเมือง สามแห่งตามลำดับพัฒนาการคือ
เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (เมืองสิงขระหรือนครมลายูสงโฆรา) เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
และเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง (สงขลาปัจจุบัน)
สมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง
(พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓)
ชุมชนเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงน่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เนื่องจากพบสถูปอิฐขนาดใหญ่บนเขาน้อย
ที่มีอายุไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เมืองนี้ปรากฏชื่อในเอกสารพ่อค้าตะวันตกว่า
SINGORA บ้าง SINGOR บ้าง น่าจะเป็นชื่อเมืองสิงขระ
ซึ่งเป็นชื่อของเมืองที่ปรากฏในจดหมายเหตุของอาหรับ
ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เรียกว่า
สิงกูรหรือสิงขรา
ส่วนคนพื้นเมืองออกเสียงเป็นสิง - ขอน ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่าสิงขร
แปลว่าจอม ที่สูงสุดของภูเขา เป็นความหมายที่สอดคล้องกับ ที่ตั้งเมืองสงขลาบริเวณฝั่งหัวเขาแดง
ที่บางส่วนตั้งอยู่บนภูเขาได้แก่ เขาแดง เขาค่ายม่วง และเขาน้อย
นอกจากนี้ในภาษามลายูยังใช้ว่า นครีมลายูโฆรา ดังที่ปรากฏบนจารึกบนหลุมฝังศพของสุลต่านสุเลมัน
ผู้ปกครองเมืองนี้
ชื่อเมืองสงขลาที่ปรากฏในเอกสารของไทยในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
กล่าวถึงเมืองสงขลาว่า เป็นเมืองหนึ่งในเมืองพระยาประเทศราช ๑๖ เมืองที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) หรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
แต่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในสมัยนี้เลย และไม่ทราบว่าตัวเมืองตั้งอยู่ที่ไหน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๖ ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองกัมพูชา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพเรือ
ไปคุมกองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยเกณฑ์เรือรบจำนวน ๒๕๐ ลำ จากเมืองนครศรีธรรมราช
เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองสงขลา
๒๐๐ ลำ ฯลฯ
พงศาวดารเมืองสงขลาได้กล่าวถึงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงไว้ว่า "เดิมครั้งหนึ่ง
เมืองสงขลาเป็นเมืองแขก ตั้งอยู่ริมเขาแดง เจ้าเมืองชื่อสุลต่านสุเลมัน
สุลต่านสุเลมันได้สร้างป้อมคูเมือง และจัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้วยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโบราณ
ครั้นสุลต่านสุเลมัมถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรและหลานคนหนึ่งคนใดก็ไม่ได้เป็นผู้ครองเมืองสืบตระกูลต่อไป
ตั้งแต่สุลต่านสุเลมันถึงแก่อนิจกรรม แล้วเมืองก็ร้างว่างเปล่าอยู่ช้านาน"
จากเอกสารชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายในปี พ.ศ.๒๑๕๖ ออกชื่อเจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้นว่า
โมกุล แต่บันทึกของบริษัท อินเดียตะวันออกของอังกฤษ
ที่ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ.๒๑๖๕ เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า ดะโต๊ะโมกอลล์
ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาทำการค้าที่เมืองสงขลา ได้แก่ชาวดัทช์หรือฮอลันดา
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๓๕ ในระยะแรกพวกดัทช์ได้ผูกขาดการค้าที่เมืองสงขลา
แต่เมื่อเจ้าเมืองสงขลาได้ดำเนินโยบายการค้าเสรีขึ้น ทำให้พ่อค้าชาติต่าง
ๆ เข้ามาค้าขายที่เมืองสงขลามากขึ้น โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส
เมืองสงขลาได้เริ่มแข็งเมืองไม่ยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๘๕ จากบันทึกของบาทหลวง เดอชัวซี ชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงการแข็งเมืองของเมืองสงขลา
ไว้ตอนหนึ่งว่า
"เมื่อปี ค.ศ.๑๖๔๒ (พ.ศ.๒๑๘๕) มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ไปตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองสงขลาและได้ก่อกบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม
ได้ทำป้อม คู ประตู หอรบ อย่างแข็งแรงแน่นหนา ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าให้ไปทำการค้าขายในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก
ฝ่ายไทยยกกองทัพไปปราบหลายครั้ง แต่กลับมาทุกครั้ง หลังจากนั้นแขกมลายูคนนี้ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์เรียกกันว่า
พระเจ้าเมืองสงขลา ได้เป็นกษัตริย์อยู่จนสิ้นพระชนม์ โอรสจึงได้ครองเมืองสงขลาต่อไป"
ในปี พ.ศ.๒๑๙๒ เมืองสงขลาได้บุกเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชและยังรวมเมืองปัตตานีและเมืองพัทลุงไว้ในอำนาจ
เมืองสงขลาเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกองทัพเรือลงไปปราบปราม เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๓
พระเจ้าสงขลาคนต่อมาได้ต่อสู้อย่างสามารถในที่สุดฝ่ายอยุธยาจับตัวไปได้ แล้วจึงทำลายป้อมคู
ประตู หอรบ และบ้านเรือนจนหมดสิ้น เพราะเกรงว่าคนอื่นจะมาตั้งมั้นคิดกบฏอีก
แล้วกวาดต้อนชาวสงขลานำบุตรหลานของสุลต่านพร้อมข้าราชการบริพารไปไว้ที่อำเภอไชยา
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้หมู่บ้านดังกล่าวเรียกว่า บ้านสงขลา
มาจนถึงทุกวันนี้และได้นำอีกจำนวนหนึ่งไปไว้ยังกรุงศรีอยุธยา
หลังจากเมืองสงขลา ฝั่งหัวเขาแดงถูกทำลายลงแล้ว ทางกรุงศรีอยุธยามีนโยบายยกเมืองสงขลา
ให้ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ อย่างไรก็ตามหลังจากถูกทำลายแล้วได้มีการทำกำแพงหรือขอบเขตของเมืองด้วยไม้
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ได้โยกย้ายไปตั้งอยู่บริฝั่งแหลมสน ซึ่งอยู่ทางฟากเขาอีกด้านหนึ่ง
ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
สมัยเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔)
หลังจากปี พ.ศ. ๒๒๒๓ เมืองสงขลาถูกลดความสำคัญลงไปเป็นเมืองบริวารของเมืองพัทลุง
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้านครศรีธรรมราช (หนู)
ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ อิสระ เรียกว่าชุมนุมเจ้านคร ปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด
ได้ส่งญาติคนหนึ่งชื่อ วิเถียน
มาปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
ในปี พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยกทัพมาปราบชุมนุมเจ้านครได้ แล้วทรงตั้งตัวเป็นชาวเมืองสงขลาคนหนึ่งชื่อโยม
เป็นพระสงขลา
เจ้าเมืองสงขลา พระสงขลา (โยม) ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน อยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๓๑๗
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นว่าพระสงขลา (โยม) หย่อนสมรรถภาพ จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยี่ยง)
ผู้ได้รับการผูกขาดจากรังนกเกาะสี่เกาะห้า เป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ
เจ้าเมืองสงขลา ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร ปัจจุบันเรียกว่า
ที่วัง
เป็นที่ตั้งจวนของเจ้าเมืองและให้ยกเมืองสงขลาใให้ขึ้นกับเมืองนครศรธรรมราช
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ
หลวงสุวรรคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) บุตรเจ้าเมืองสงขลา ได้ตั้งค่ายเตรียมป้องกันเมืองอยู่ที่บ้านบ่อยาง
ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จ ฯ ลงมาปราบปรามพม่าทางหัวเมืองปักษ์ใต้ได้แล้ว
ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสงขลา หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) มีความชอบที่สามารีถไปตีเมืองปัตตานีได้และเมืองไทรบุรี
กลันตัน ตรังกานู ก็เข้ามาอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ
เจ้าเมืองสงขลา
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ โต๊ะสาหยิด มาจากอินเดีย ได้แสดงตนเป็นผู้วิเศษ ได้ยุยงให้พระยาปัตตานียกกองทัพมาตีเมืองสงขลา
แต่พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ได้ยกทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ก่อนที่กองทัพกรุงเทพ
ฯ จะยกมาถึง จึงมีความชอบมาก ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงคราม
ฯ เจ้าพระยาสงขลา และให้ยกเมืองสงขลาขึ้นเป็นเมืองโท
ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ และเมื่อแยกเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี
เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ
แล้วก็ให้ทั้ง ๗ หัวเมืองดังกล่าวมาอยู่ในความปกครองของเมืองสงขลา ตั้งแต่นั้นมา
ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งชาวจีนชื่อเค่ง เป็นเพื่อนกับหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ
(เหยี่ยง) ให้เป็นเจ้าเมืองจะนะ และเมื่อครั้งพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลาง เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๓๘ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) และพระจะนะ (เค่ง) ยกทัพเรือำไปสกัดกั้นทางเมืองไทรบุรีและรักษาเมืองถลาง
หลังจากทัพหลวงตีทัพพม่าแตกพ่ายไป
เมื่อเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕ ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) หรือพระยาวิเศษภักดี บุตรพระยาอนันตสมบัติ
(บุญเฮี้ยง) น้องชายเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เป็นเจ้าเมืองสงขลา
ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ พระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ พระสุนทรนุรักษ์
(เถี้ยนเส้ง) เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลา จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิเชียรคีรีศรีสมุทร ฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ตนกูเดน เป็นกบฏต่อไทย แล้วหนีไปเกาะหมาก (ปีนัง) กับเจ้าพระยาไทรบุรี
(ปะแงวัน) ผู้เป็นบิดา ได้ยุยงพรรคพวกในเมืองไทรบุรีและหัวเมืองอื่น ๆ มีเมืองปัตตานี
เมืองระแงะ เมืองสายบุรี เมืองรามัน เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง และเมืองยะลา
ให้แข็งเมือง แล้วยกกำลังเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ แล้วยกเข้าตีเมืองสงขลา ทางกรุงเทพ
ฯ ได้ยกกองทัพไปช่วยเมืองสงขลา ๔ กองทัพ ได้ยกกำลังไปปราบปรามหัวเมืองทั้ง
๗ ทั้งทางบกและทางเรือ จนสงบราบคาบ
ในปี พ.ศ.๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีตราโปรดเกล้า ฯ ถึงพระยาวิเชียรคีรี
(เถี้ยนเส้ง) ให้ก่อกำแพงเมืองสงขลา โดยได้พระราชทานเงินส่วยอากรเมืองสงขลา
แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็เกิดกบฏเมืองไทรบุรีเสียก่อนในปี พ.ศ.๒๓๘๑ ตนกูหมัดสะอัด
หลานเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้เข้ามาชักชวนชาวไทรบุรี ปัตตานี และหัวเมืองมลายูอื่น
ๆ ให้แข็งเมือง นำกำลังเข้าเผาเมืองจะนะ และเข้าตีเมืองสงขลา พระยาวิเชียรคีรี
(เถี้ยนเส้ง) ได้ทำการป้องกันเมืองไว้ได้จนกองทัพทางกรุงเทพ ฯ ลงมาช่วยปราบปรามจนสงบเรียบร้อย
ในระหว่างนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเมืองสตูลมาขึ้นกับเมืองสงขลาด้วย
สมัยเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง
(ปลายพุทธศตวรรษที่
๒๔)
เมืองสงขลา มีประชากรมากขึ้น แต่พื้นที่บริเวณแหลมสนคับแคบ เพราะมีภูเขากั้นอยู่ต่างจากบริเวณฝั่งตรงข้ามบริเวณฝั่งบ่อยาง
ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีภูเขาน้อย สามารถขยายตัวเมืองให้กว้างขวางได้
และราษฎรบางส่วนก็ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งบ่อยางมากขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ใหพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๙
พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมือง โดยได้รับพระราชทานเงินภาษีอากรเมืองสงขลา
๒๐๐ ชั่ง ได้สร้างกำแพงเมือง และประตูเมือง ๑๐ ประตู แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕
เป็นกำแพงยาว ๑,๒๐๐ เมตร กว้าง ๔๐๐ เมตร
พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา จนถึงอนิจกรรม
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระสุนทรานุรักษ์ (บุญสังข์) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา
เป็นผู้รักษาราชการเมืองสงขลา จนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๓ ซึ่งได้โปรดเกล้า ฯ
ให้เป็นพระยาวิเชียรคีรีศรีสมุทร ฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาวิเชียรคีรี
ฯ และได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ พระยาสุนทรานุรักษ์ (เม่น)
ผู้ช่วย่ราชการเมืองสงขลาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาวิเชียรคีรี ฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
และได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาวิเชียรคีรี ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๒๗ พระสมบัติภิรมย์ (ชุ่ม) ได้เป็นพระยาวิเชียรคีรี ฯ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๑
ถึงแก่อนิจกรรม หลวงวิ้ศษภักดี (ชม) ได้เป็นพระยาสุนมรานุรักษ์ ผู้รักษาราชการเมืองสงขลา
ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาวิเชียรคีรี ฯ ผู้สำเร็ดจราชการเมืองสงขลา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓
ในสมัยนี้ได้มีการปฎิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๗
และในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ประกาศตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย เมืองนครศรีธรรมราช
เมืองสงขลา เมืองพัทลุง และหัวเมืองมลายู เจ็ดหัวเมือง ที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองสงขลา
เมืองสงขลาประกอบด้วยห้าอำเภอคือ อำเภอกลางเมือง ที่ว่าการอยู่ที่เมืองสงขลา
อำเภอปลาท่า ที่ว่าการอยู่ที่บ้านจะทิ้งพระ อำเภอฝ่ายเหนือ ที่ว่าการอยู่ที่ท่าหาดใหญ่
อำเภอจะนะ ที่ว่าการอยู่ที่บ้านนาทวี อำเภอเทพา พระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา
ขึ้นตรงต่อข้าหลวงใหญ่ ประจำมณฑลนครศรีธรรมราช ถือได้ว่าเป็นเจ้าเมืองสงขลาในตระกูล
ณ สงขลา คนสุดท้าย
|