www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณวัตถุ
จากการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิต
วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง แบ่งออกเป็นสามสมัยคือ ยุคต้น (ประมาณ
๕,๖๐๐ - ๓,๐๐๐ ปี) ยุคกลาง (ประมาณ ๓,๐๐๐ - ๒,๓๐๐ ปี) และยุคปลาย (ประมาณ
๒,๓๐๐ - ๑,๘๐๐ ปี) แบ่งโบราณวัตถุออกเป็นสามประเภทคือ เครื่องมือเครื่องใช้
และเครื่องประดับ ซากมนุษย์และซากสัตว์ กับศาสนวัตถุ
เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ
ทำจากหิน ดินเผา โลหะ เหล็กและสำริด และพวกเส้นใย ซึ่งได้แก่ไม้ เชือก และผ้า
แบ่งกลุ่มตามวัสดุที่ใช้ดังนี้
เครื่องปั้นดินเผาพบตามแหล่งหลุมฝังศพ
ในยุคปลายพบภาชนะเต็มใบ บนลำตัวศพ ยุคกลางพบภาชนะดินเผาถูกทุบกระจายเต็มตัว
และในยุคต้นจะพบเศษภาชนะดินเผาวางอยู่ที่เท้าหรือศีรษะศพ จากการศึกษารูปแบบภาชนะดินเผา
พบในหลุมฝังศพสมัยต่าง ๆ ของบ้านเชียง สรุปได้ว่า วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง
มีภาชนะดินเผาแบบเด่นเฉพาะตัวของแต่ละสมัย แตกต่างกันไปคือ
ภาชนะดินเผาสมัยต้น
ประกอบด้วย
- ภาชนะฐานเตี้ย ๆ ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบและลายขีด
- ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่บรรจุศพเด็ก และภาชนะรูปทรงต่าง ๆ ที่ตกแต่งด้วยลายขีด
มีปริมาณหนาแน่นบริเวณไหล่ภาชนะ
- ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ก้นภาชนะกลม ตกแต่งด้วยลายขีด ผสมการเขียนสีที่บริเวณไหล่ภาชนะ
ภาชนะดินเผาสมัยกลาง
ประกอบด้วย
- ภาชนะมีสว่นไหล่หักมุมเป็นสัน ก้นภาชนะแหลม ตกแต่งด้วยลายขีด และลายเขียนสี
- ภาชนะสีขาวส่วนไหล่หักมุม ก้นภาชนะแหลม และภาชนะก้นกลมผาย ตกแต่งส่วนปากภาชนะด้วยการเคลือบน้ำโคลนสีแดง
ภาชนะดินเผาสมัยปลาย
ประกอบด้วย
- ภาชนะเขียนสีแดงบนพื้นสีแดง
- ภาชนะทาน้ำโคลนสีแดง และขัดผิวมัน
เครื่องดินเผาที่พบ นอกจากเป็นภาชนะพวกหม้อรูปทรงต่าง ๆ แล้วยังมีช้อน
ทัพพี เบ้าดินเผา (ใช้เป็นเบ้าหลอมโลหะ) และแวดินเผา ลูกปัดดินเผา ฯลฯ เครื่องประดับ
นอกจากทำจากดินเผาแล้วยังมีที่ทำจากหินและแก้วด้วย
เครื่องโลหะ
มีอยู่ประมาณ ๑,๔๐๐ รายการ จากการศึกษาพบว่าการโลหกรรมของบ้านเชียง เริ่มต้นโดยการใช้สำริด
เมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาจึงเริ่มมีการใช้เหล็ก เมื่อประมาณ
๒,๗๐๐ - ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
เครื่องสำริด
เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก ซึ่งเป็นโลหะที่ไม่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในบรนิเวณบ้านเชียง
จึงเชื่อว่ามีการนำมาจากชุมชนอื่น วัตถุโบราณ เครื่องสำริด ได้แก่หอก ขวาน
ทัพพี กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ปล้องแขน เบ็ดตกปลา ห่วงคอ ลูกกระพรวนและกระดิ่ง
วัตถุสำริดที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงคือใบหอก ที่ปลายหอกงอพับ
มีอายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
เครื่องเหล็ก
ทำจากเหล็กที่ได้จากการถลุงเหล็ก เครื่องเหล็กส่วนใหญ่จะเป็นใบหอก หัวขวานและหัวลูกศร
นอกจากนั้นก็มีเคียวและมีด
ในช่วงแรกที่มีการใช้เหล็ก พบว่ามีวัตถุหลายชิ้นทำจากทั้งเหล็กและสำริด เช่น
กำไลสำริด ที่มีเหล็กเส้นพันประดับโดยรอบตัวกำไล ใบหอกที่ปลายทำด้วยเหล็ก
และปล้องแขนทำด้วยสำริด
เส้นใย
เป็นเทคโนโลยีการทอผ้าที่พัฒนามาจากการทำเชือก เสื่อ และเครื่องจักรสาน (จากหลักฐานที่พบว่าชาวบ้านเชียงรู้จักการทำเชือกมาไม่ต่ำกว่า
๕,๖๐๐ ปีมาแล้ว) ส่วนใหญ่พบผ้า และรอบประทับของผ้าตามเครื่องโลหะและเศษดินเผา
ผ้าส่วนใหญ่ทอจากเส้นใยป่าน กัญชา เป็นผ้าเนื้อหนาและหยาบ บางส่วนทอจากใยฝ้าย
ซึ่งมีเนื้อที่ละเอียดและบางกว่า ส่วนเครื่องจักรสานนั้น มักพบตามรอยประทับบนเครื่องดินเผา
จากการพบภาชนะดินเผาที่มีการผลิตด้วยฝีมือระดับสูง และการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ
เป็นการประดิษฐคิดค้นด้วยวิธีการของวัฒนธรรมบ้านเชียงเอง โดยไม่ได้รับอิทธิพลของจีน
หรืออินเดีย รวมทั้งมีการพัฒนาการทอผ้ามาเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางเทคโนโลยีของคนในสมัยนั้น
ซากมนุษย์และสัตว์
จากการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ พบโครงกระดูกคนประมาณ ๑๓๐ โครง ผลการวิเคราะห์พบว่ามีโครงกระดูกผู้ชาย
๕๔ โครง และของผู้หญิง ๓๙ โครง พบข้อมูลการวิเคราะห์ดังนี้
ผู้ชายสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียง มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๖๕ - ๑๗๕
เซนติเมตร ผู้หญิงมีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๕๐ - ๑๕๗ เซนติเมตร มีรูปร่างล่ำสัน
แข็งแรง มีช่วงขายาว ใบหน้าค่อนข้างใหญ่ หน้าผากกว้าง สันคิ้วโปน กระบอกตาเล็ก
โหนกแก้มใหญ่ อายุไม่ยืน โดยที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ระยะสมัยต้นมีอายุเฉลี่ย
๒๗ ปี สมัยปลายมีอายุเฉลี่ย ๓๔ ปี
จากการขุดพบกระดูกสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะการขุดพบกระดูกควาย ทำให้ทราบว่า
คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง มีการทำนาในที่ลุ่ม และมีการไถนาเมื่อประมาณเกือบ
๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว รวมทั้งมีการเลี้ยงสัตว์ และการล่าสัตว์ ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์น้ำ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ขุดพบซากไดโนเสาร์และเปลือกหอย ที่เทือกเขาภูพาน
อำเภอหนองวัวซอ
ศาสนวัตถุ
ส่วนใหญ่เป็นศาสนวัตถุในพระพุทธศาสนา ได้แก่ หลวงพ่อนาค วัดมัชฌิมาวาส
หลวงพ่อนาค วัดโพธิชัยศรี หลวงพ่อตื้อ วัดโพธิชัยศรี หลวงพ่อศิลาแดง หลวงพ่อพระพุทธรัศมี
พระพุทธโพธิทอง พระพุทธรูปทองคำ วัดโพธิศรีทุ่ง พระพุทธรูปทองคำ และทองสำริด
วัดป่าแมว และธรรมาสน์ วัดพระแท่น เป็นต้น
โบราณสถาน
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
อยู่ในตำบลบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เป็นหลักฐานแสดงการตั้งถิ่นฐาน และอารยธรรมของชุมชน ก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุด
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดพัฒนาการ กระบวนการศึกษา ค้นคว้าทางโบราณคดีครั้งสำคัญที่สุดของไทย
การขุดค้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่สำคัญ
ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ในหลุมฝังศพ ภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือ เครื่องใช้
และเครื่องประดับที่ทำด้วยสำริด และเหล็ก ผลการศึกษาโดยวิธีการวิทยาศาสตร์
ทำให้ทราบว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง เป็นสังคมที่สืบเนื่องยาวนานมาเมื่อ
๕,๖๐๐ - ๑,๘๐๐ ปี มาแล้ว เป็นสังคมเกษตรกรรม มีเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า
มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และมีชีวิตที่สงบสุข
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ที่ขุดค้นที่วัดโพธิศรี ได้รับการปรับปรุงให้เป็น พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานหลุมขุดค้นโบราณคดีวัดโพธิศรีใน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ มีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ตั้งอยู่ที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ มีพื้นที่ประมาณ ๓,๔๓๐ ไร่
อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขือน้ำ ซึ่งอยู่บนเทือกเขาภูพาน (ภูพานคำ)
ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย สูงประมาณ ๓๒๐ - ๓๕๐ เมตร จากระดัวบน้ำทะเล
จากหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่า เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ภูพระบาทปกคลุมไปด้วยธารน้ำแข็ง
เมื่อธารน้ำแข็งละลาย ได้เกิดการกัดกร่อนขนาดใหญ่ บนภูพระบาท ทำให้เกิดเพิงหิน
โขดหิน รูปร่างแปลก ๆ เป็นจำนวนมาก และเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ - ๒,๕๐๐ ปี มาแล้ว
มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้มาล่าสัตว์ และเก็บของป่าบนภูแห่งนี้ และได้แต่งแต้มเพิงหินทรายต่าง
ๆ ด้วยการเขียนเป็นภาพฝ่ามือ ภาพคน และภาพสัตว์ และภาพรูปทรงเรขาคณิตด้วยสีแดง
ภาพเหล่านี้บางภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของคน และสัตว์ในสมัยนั้นด้วย
ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ ได้มีการดัดแปลงเพิงหินทราย
เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู มีการปักใบเสมาหินทรายล้อมเพิงหิน
และแกะสลักพระพุทธรูป และเทวรูปลงบนเพิงหินทรายด้วย และต่อมาเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๒ - ๒๓ ได้มีการสลักรอยพระพุทธบาท และสร้างโบราณสถานขนาดเล็ก บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนภูพระบาทด้วย
โบราณสถานในกลุ่มภูพระบาท ปัจจุบันประชาชนในท้องถิ่นเรียกชื่อสถานที่ต่าง
ๆ ไปตามเรื่องนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง นางอุสา
- ท้าวบารส เช่น หอนางอุสา วัดพ่อตา วัดลูกเขย
คอกม้าท้าวบารส ถ้ำฤาษี เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า แหล่ง ฯ ภูพระบาท เป็นกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญ
และใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของอีสานตอนบน
กรมศิลปากร ได้สำรวจแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานในแหล่ง ฯ ภูพระบาท มาตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้พบโบราณสถาน ๖๘ แห่ง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบว่ามีภาพเขียนสีตามเพิงหินต่าง ๆ ๔๕ แห่ง และสิ่งก่อสร้างที่ดัดแปลง เพิงหินธรรมชาติให้เป็นศาสนสถาน
๒๓ แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปบนภูพระบาท เป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ ๙ กลุ่ม คือ กลุ่มที่
๑ กลุ่มโนนหินเกลี้ยง และถ้ำสูง กลุ่มที่
๒ กลุ่มถ้ำเพียงดิน กลุ่มที่
๓ กลุ่มวัดพ่อตา และวัดลูกเขย กลุ่มที่
๔ กลุ่มวัดพระพุทธบาทบัวบก กลุ่มที่
๕ กลุ่มถ้ำห้วยหินลาด กลุ่มที่
๖ กลุ่มโนนสาวเอ้ กลุ่มที่
๗ กลุ่มห้วยด่านใหญ่ กลุ่มที่
๘ กลุ่มพระบาทหลังเต่า กลุ่มที่
๙ กลุ่มเจดีย์ร้าง อุโมงค์ และถ้ำพระเสี่ยง
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานบริเวณภูพระบาท เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เริ่มตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๕๓๒ ทำพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
พุทธศาสนสถาน
ได้แก่ พระพุทธบาทบัวบก พระธาตุดอนแก้ว (พระมหาธาตุเจดีย์) วัดป่าแมว
วัดมัชฌิมาวาส วัดกู่แก้วรัตนาราม วัดป่าแมว กุฎิใหญ่โบราณวัดจอมศรี มีรายละเอียดอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา
แหล่งโบราณคดีวัดพระธาตุบ้านหมาด
ตั้งอยู่ที่บ้านหมาด ตำบลนาบัว อำเภอเพ็ญ วัดบ้านหมาด เป็นวัดร้าง ปรากฎอยู่เพียงร่องรอยของซากโบราณสถานคือ
เจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐ โดยหลังหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด ส่วนด้านหน้า หรือด้านทิศตะวันออก
มีซากฐานอาคารอิฐบนฐานศิลาแลง อยู่สองหลัง โดยหลังหนึ่งพบว่า มีร่องรอยการปักใบเสมาหินทรายอยู่โดยรอบ
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้มีการตั้งวัดพระธาตุบ้านหมาด ขึ้น และได้สร้างอาคารขึ้นสองหลัง
บนซากอาคารเดิม ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของซากเจดีย์ก่ออิฐ โดยหลังหนึ่งที่อยู่ทางทิศเหนือ
ได้สร้างเป็นอุโบสถ แล้วใช้ใบเสมาหินทรายเดิมบางส่วน ที่ยังคงเหลืออยู่เป็นพัทธสีมา
ส่วนอีกหลังหนึ่งสร้างเป็นอาคารศาลาโถง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานอยู่สามองค์
โดยองค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นประธานที่มีมาแต่เดิม โบราณสถานและโบราณวัตถุ
ที่สำคัญดังนี้
ซากโบราณสถานพระเจดีย์ก่ออิฐ
สูงประมาณ ๘ - ๑๐ เมตร กว้างด้านละประมาณ ๕ - ๗ เมตร ส่วนใหญ่หักพังหมด ตั้งแต่ชั้นฐานขึ้นไป
คงเหลือแต่เพียงส่วนที่สันนิษฐานว่าเป็นองค์เรือนธาตุเดิม ซึ่งก่อด้วยอิฐไปฉาบปูน
ในลักษณะเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม สูงประมาณ ๓ เมตรเศษ
ศิลาจารึกหินทรายสีแดง
ตัวอักษรเลอะเลือนไปมาก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมหรืออักษรไทยน้อยโบราณ มีความกว้างประมาณ
๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร
พระพุทธรูปประธานองค์กลาง
มีพุทธลักษณะ มีลักษณะทางศิลปะในสกุลช่างล้านช้างหรือเวียงจันทน์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๓ - ๒๔
ใบเสมาหินทรายแดง
ยังคงเหลืออยู่บริเวณอุโบสถหลังใหม่
วัดพระธาตุบ้านหนาด ได้รับการประกาศเป็นวัด เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๒
อาคารราชินูทิศ
ตั้งอยู่ในตำบลหมากกว้าง อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๓ เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนอุปถัมภ์นารี
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยา มีมุขยื่นไปด้านหน้า
ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้งสวยงาม มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม
กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๔๑ มีพื้นที่ ๑๑ ไร่
๒ งาน และจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุดรธานี
เมืองโบราณหนองหาน
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหาน ตำบลหนองหาน อำเภอหนองหาน เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กว้าง ๑,๐๕๐ เมตร ยาว ๑,๒๕๙ เมตร พื้นที่ประมาณ ๘๓๐ ไร่ ลักษณะเมืองเป็นแบบเมืองสมัยลพบุรี
บริเวณรอบเมืองเป็นที่ราบลุ่ม หล่อเลี้ยงด้วยลำน้ำเล็ก ๆ หลายสายสลับกับที่เนินสูง
บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเหมาะแก่การเพาะปลูก ด้านตะวันออกของเมืองเป็นที่ลุ่มต่ำมาก
มีลำห้วยบ้านและห้วยนทรายไหลผ่าน ส่งน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงคูเมืองด้านทิศตะวันออก
ด้านทิศตะวันตก มีหนองน้ำใหญ่อยู่ในเขตบ้านหนองบ่อ ห่างจากตัวเมือง ๑,๕๐๐
เมตร ลำน้ำเล็ก ๆ สายต่าง ๆ จากทางใต้ไหลมาลงหนองน้ำนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำ
มีการขุดคลองตรง รับน้ำจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกและยังมีลำห้วยไหลแยกจากมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
รับน้ำเหนือจากคูเมืองออกไปทางเหนือ ลงลำน้าห้วยด่าน หลักฐานทางวัฒนธรรมมีดังนี้
เขตวัดสามัคคีบำเพ็ญผล
มีโบราณสถานค่อนมาทางกลางเมือง
ซากสถูป ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง
เดิมเป็นศิลปะแบบลพบุรี ต่อมาดัดแปลงเป็นเจดีย์
เสมาหินทรายสีแดง
ปักอยู่รอบ ๆ ฐานเจดีย์ เป็นเสมาขนาดเล็กและบางกว่าแบบทวารวดี ตรงกลางมีรอยสลักนูนออกมาเป็นเส้นตรงคล้ายรูปสถูป
คติการทำเสมาเช่นนี้สืบทอดมาจากวัฒนธรรมทวารววดี
พระพุทธรูปหินทราย
ตั้งอยู่ริมฐานเจดีย์ทางด้านเหนือ สูงประมาณ ๑.๓ เมตร เดิมเป็นพระพุทธรูปแบบลพบุรี
ต่อมาได้มีการพอกปูนทับเป็นแบบล้านช้าง
วัดธาตุดูกวัว
ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมือง มีเจดีย์ฐานรูปสี่เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐแบบล้านช้าง
วัดธาตุโข่ง
อยู่ทางด้านทิศใต้ของเมือง มีโบราณสถานในสมัยหลังแบบล้านช้าง ได้มีการสร้างเจวดีย์ครอบใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม มีพระพุทธรูปนั่งประดิษฐานอยู่ทั้งสี่ทิศ
จากหลักฐานข้างต้นแสดงว่า เมืองโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ในสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๖ - ๑๘
วัดกู่แก้วรัตนาราม
เดิมชื่อวัดกู่ ชาวบ้านเรียกวัดกู่แก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านกู่แก้ว ตำบลบ้านจืด
กิ่งอำเภอกู่แก้ว ส่วนในบริเวณกู่โบราณสมัยขอม สันนิษฐานว่าเป็นอโรคยาศาล
สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลบายน
โดยมีพระโพธิสัตว์ไภวสัชยคุร ฯ เทพแห่งการแพทย์ ซึ่งเป็นปฏิมากรรมที่สำคัญของศาสนสถานแห่งนี้
อาคารโบราณสถานสร้างด้วยศิลาแลง ประกอบด้วยปราสาทประธาน และมีวิหารตั้งอยู่ภายใน
กรอบกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทางเข้าเป็นซุ้มประตูโคปุระ ทางด้านทิศตะวันออก
ภายในวิหารมีทับหลังรูปนารายณ์ทรงครหุฑ อยู่บนฐานปัทม์ของพระประธาน ด้านหลังวิหารมีสถูป
หรือกู่ที่เป็นที่เก็บศพของนักรบโบราณ ที่ได้นำกองทัพมา แล้วทำพิธีเสี่ยงทายหาที่พัก
เสี่ยงได้บริเวณหนองน้ำ จึงได้ชื่อว่าหนองเสี่ยง (ปัจจุบีนเรียกหนองค้างคาว)
แล้วย้ายมาพักที่บริเวณวัดกู่แก้ว เมื่อเสียชีวิตจึงได้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์สถานชื่อว่ากู่แก้ว
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓
ภายในวัดประกอบด้วยอุโบสถคอนกรีตทรงไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ศาลาการเปรียญหอสวดมนต์
วิหาร ศาลาบำเพ็ญกุศล และเจดีย์เก่า ซึ่งเป็นกรุเก็บพระพุทธรูปสมัยขอมโบราณ
|