www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
บุคคลสำคัญ
พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
พระองค์เป็นผู้สถาปนาเมืองอุดร ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๕ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ได้รับพระราชทานนามว่า พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่
ทรงเป็นต้นราชนิกูล ทองใหญ่ ทรงเริ่มการศึกษาภาษาไทย
(อักษรสมัย) และภาษาบาลี จากพระอาจารย์ชาวไทย ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จาก
นางแอนนา เลียวโนเว็น และนายแพเตอร์สัน อย่างแตกฉาน จนสามารถตรัส และเขียนได้ดี
พระองค์ได้ทรงพิธีโสกันต์ (โกนจุก) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ และได้ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้ว
เสด็จไปประทับที่วัดบวรนิเวศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ ขณะทรงผนวชได้ตามเสด็จ พระบรมราชชนกไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา
ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบ ฯ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระองค์ได้เปลี่ยนฐานันดรเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงผนวช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘
และประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ์ ฯ อยู่หนึ่งพรรษาจึงลาสิกขา เพื่อเข้ารับราชการเป็นนักเรียนศาลฎีกา
รับราชการในพระบรมมหาราชวัง จนพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐ โดยได้ทรงบังคับกรมวังนอก และเป็นผู้ช่วยราชการกรมวังในอีกตำแหน่งหนึ่ง
ทรงตั้งกรมดับเพลิงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และได้ริเริ่มกรมทหารล้อมพระราชวัง
ซึ่งต่อมาคือ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้นายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์
ศิลปาคม เป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ด้านมณฑลลาวพวน แถบเมืองหนองคาย ยกทัพขึ้นไปปราบพวกจีนฮ่อ
ที่เข้ามาปล้นสะดมราษฎรในบริเวณมณฑลลาวพวน หัวพันทั้งห้าทั้งหก
กองทัพไทยฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ประสบความยากลำบากในการปราบฮ่อ เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขา
แต่ในที่สุดก็สามารถปราบได้ จึงได้ทรงสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
ขึ้นที่เมืองหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ เพื่อบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตเพื่อชาติในครั้งนั้น
หลังจากไทยได้ปราบฮ่อเรียบร้อยแล้ว ฝรั่งเศสได้ฉวยโอกาสเข้ายึดแคว้นสิบสองจุไทย
โดยอ้างว่าจะคอยปราบพวกโจรจีนฮ่อ ทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้นเมื่อวันที่
๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสบังคับให้ไทยลงนามในสนธิสัญญายอมรับสิทธิของฝรั่งเศส
เหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และให้ไทยถอยกองกำลังทหารให้ห่างจากชายแดนแม่น้ำโขงในรัศมี
๒๕ กิโลเมตร เป็นเหตุให้นายพลตรีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ ศิลปาคม
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน ต้องย้ายที่บัญชาการมาตั้งที่บ้านเดื่อหมากแข้ง ในวันที่
๑๘ มกราคม หพ.ศ.๒๔๓๖ พระองค์ได้ทรงรับราชการต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอุดร
(ลาวพวน) และสถาปนาเมืองอุดรธานี และวางระเบียบแบบแผนการปกครองหัวเมืองชายแดนอยู่
๗ ปี เศษ จึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒
ต่อมาพระองค์ได้ประชวรด้วยโรคพระอันตะพิการและสิ้นพระชนม์ ณ วังตรอกสาเก เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๗ สิริรวมพระชันษาได้ ๖๘ ปี
มหาอำมาตย์พระยาอดุลยเดช สยาเมศรภักดี พิริยพาหะ
(อุ้ย นาครทรรพ) นามเดิมอุ้ย นาครทรรพ
เป็นบุตรคนโตของนายร้อยโทหลวงโยธีอภิบาล และนายละม่อม เกิดที่บ้านบางจากบน
จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ เริ่มรับราชการในกรมมหาดเล็กวรสิทธิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รับพระราชทานเบี้ยหวัดเดือนละ ๘ บาท
ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ ได้ตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคม ไปภาคอีสาน
รับราชการเป็นเสมียนกองข้าหลวงต่างพระองค์ มณฑลอุดร พ.ศ.๒๔๓๗ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงโยธา
มณฑลอุดร พ.ศ.๒๔๔๔ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองกุมภวาปี และนายอำเภอเมืองอุดรธานี
พ.ศ.๒๔๕๐ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองหนองคาย พ.ศ.๒๔๕๔ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ
จังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๒ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้รั้งสมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดร
พระยาอดุลยเดชา ได้รับพระราชทานความชอบตอบแทน และได้ทำความชอบพิเศษ
คือ
- ไปปราบฮ่อที่ยกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘
- เป็นนายกองในราชการทัพ ในคราวที่ฝรั่งเศสรุกรานที่แก่งเจ๊ก (แก่งเกียด)
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖
- ไปตรวจจับผู้ร้ายฆ่าคนตาย ในเขตอำเภอท่าอุเทน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓
- ไประงับเหตุที่ราษฎรแตกตื่นเรื่องผีบุญ ในเขตเมืองอุดรธานี สกลนคร และนครพนม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
- ไปตรวจจับพวกเงี้ยว ที่ทุ่งหมากเท่า เขตเมืองหนองสูง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖
- ไปตรวจสืบราชการที่มีข่าวลือว่า พวกเงี้ยวจะปล้นเมืองบ่อแตน ท่าลี่ เขตเมืองเลย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗
- ไปจับกุม องเด้ และพรรคพวกเวียดนาม ที่สงสัยว่าเป็นกบฎ ต่อรัฐบาลฝรั่งเศส
ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ใน เขตอำเภออากาศอำนวย แขวงเมืองนครพนม
- ไปประชุมราชการที่กรุงเทพ ฯ แทนสมุหเทศภิบาล มณฑลอุดร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗
- เป็นผู้ไปปักปันเขตแดนที่หาดดอนแตง พร้อมด้วย เมอซิเออร์ ดรูโอ ข้าหลวงเมืองท่าแขก
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒
- ไปรักษาราชการแทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดร อยู่ ๕ เ ดือน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
- ตามเสด็๋จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชร ฯ ที่มณฑลอุดร กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด
และได้สำรวจทางที่จำรางรถไฟ ตั้งแต่เขตจังหวัดกาฬสินธ์ ถึงจังหวัดขอนแก่น
ทำเลสร้างสะพานข้ามลำน้ำพอง
- ไปรักษาราชการแทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลอุดร อยู่ ๘ เดือน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖
- เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ในคณะฑูตพิเศษ พร้อมพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร
วรวรรณ หม่อมเจ้าอมรฑัต นายกียอง พระบวรเสน่หา และหลวงลักกวาท เพื่อทำหนังสือสนธิสัญญา
ระหว่างไทยและอินโดจีน - ฝรั่งเศส ที่เมืองฮานอย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘
พระยาอดุลยเดช ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ
หรือโพธิ โต๊ะกาทอง) เกิดเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๐๙ ได้เป็นผู้นำในการสร้างวัดโพธิสมกรณ์ ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดใหม่
พระยาศรี ฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลอุดร นั้น มณฑลอุดรแบ่งเป็น
๕ บริเวณ คือ บริเวณหมากแข้ง ปกครองเมืองอุดร ฯ บริเวณพาชี ปกครองเมืองขอนแก่น
เมืองชนบท เมืองภูเวียง บริเวณธาตุพนม ปกครองเมืองนครพนม เมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน
เมืองมุกดาหาร บริเวณสกลนคร ปกครองเมืองสกลนคร บริเวณน้ำเหือง ปกครองเมืองเลย
เมืองบ่อแตน เมืองแก่นท้าว
พระยาศรี ฯ สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลอุดร พร้อมกับกรมการเมือง ข้าราชการ
ประชาชน ได้จัดพิธีตั้งเมืองอุดรธานี ณ สนามกลางเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (สุข ดิษยบุตร)
ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุดร ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๔
เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสืบสานการสร้างบ้านแปงเมืองอุดร ฯ หลังจากที่ท่านได้ไปศึกษาดูงานที่
ประเทศฝรั่งเศสแล้ว ท่านได้นทำเอาแนวความรู้ และประสบการณ์มาพัฒนาบ้านเมือง
มีการวางผังเมืองแบบยุโรป กำหนดพื้นที่สำหรับสร้างอาคารสถานที่ ส่วนราชการต่าง
ๆ สร้างบ้านพักให้ข้าราชการที่สังกัดทุกแผนก ทุกกรมกอง วางโครงการกำหนดพื้นที่สร้างอาคาร
ร้านค้าย่านธุรกิจต่าง ๆ เป็นผู้นำข้าราชการร่วมกันตัดถนนขึ้นหลายสาย ได้วางผังเมืองอุดร
โดยสร้างถนนที่สำคัญขึ้น ๑๖ สาย คือ ถนนหมากแข้ง ถนนหลวง (ปัจจุบีนคือ ถนนโพธิศรี)
ถนนข้างจวน ถนนเทศา ถนนเสือป่า (ถนนมุขมนตรี) ถนนเจ้าเมือง (เจ้าพระยามุขมนตรี)
ถนนพานพร้าว ถนนโพนพิสัย ถนนเบญจางค์ ถนนอุดรดุษฎี ถนนอำเภอ ถนนตำรวจ ถนนวัฒนานุวงศ์
ถนนอธิบดี ถนนศรีสุข ถนนรังสรรค์ และสร้างสะพานไม้ข้ามห้วยหมากแข้งขึ้น ๖
แห่งคือ สะพานเริ่ม สะพานเสริมศิริ สะพานธิติพาน (สะพานเทศบาล ๔)
สะพานสำราญทวยราษฎร สะพานจตุรัส (สะพานเทศบาล ๑๑) สะพานจำนงค์ประชา
(สะพานเทศบาล+เผดิมชัย) ได้นำพันธุ์ไม้มะฮอกกานี จากต่างประเทศมาปลูกสองฝากถนนทุกสาย
โดยปลูกสลับกับต้นก้ามปู (จามจุรี)
|