www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
เมืองกำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุม อยู่ในเขตตำบลในเมือง
อำเภอเมือง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู วางแนวยาวตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้
ขนานไปกับแม่น้ำปิง ความยาวของกำแพงด้านเหนือประมาณ ๒,๒๐๐ เมตร ความยาวด้านใต้ประมาณ
๒,๐๐๐ เมตร ความกว้างด้านสกัดทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร และด้านที่สำคัญทางทิศตะวันตกประมาณ
๒๕๐ เมตร แนวกำแพงด้านใต้ถูกรื้อทำลายไปประมาณ ๔๗๕ เมตร
กำแพงเมืองกำแพงเพชร เดิมมีลักษณะเป็นกำแพงแบบมีคูน้ำคันดินสามชั้น
ต่อมาได้มีการพัฒนากำแพงเมืองชั้นในเป็นกำแพงศิลาแลง มีการสร้างเชิงเทิน ใบเสมา
และป้อมประตูรอบ กำแพงเมือง ที่เป็นคันดินชั้นกลางและชั้นนอก ยังคงเห็นร่องรอยอยู่บ้างบริเวณด้านทิศเหนือ
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ได้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการรอบเมืองสำคัญหลายแห่ง
รวมทั้งเมืองกำแพงเพชร
ลักษณะการก่อสร้างกำแพงเมืองด้วยศิลาแลง แกนในเป็นดินที่ขุดจากคูเมืองขึ้นมาถมเป็นคันดิน
จากนั้นจึงก่อศิลาแลงหุ้มแกนดินขึ้นไปจนถึงชั้นเชิงเทินและใบเสมา กำแพงเมืองโดยรอบมีป้อมประตูเข้าออกรวม
๑๐ ประตู ได้แก่ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น ประตูเจ้าอินทร์ ประตูหัวเมือง
ประตูผี หรือประตูผีออก ประตูสุพานโคม ประตูวัดช้าง ประตูเตาอิฐ และประตูท้ายเมือง
นอกจากประตูเข้า - ออก ทุกด้านของกำแพงเมืองแล้ว ยังมีป้อมปราการทั้งในแนวกำแพงเมือง
และป้อมหน้าประตูเมือง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง ๙ ป้อม ได้แก่ ป้อมมุมเมือง
๓ ป้อม ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมเจ้าอินทร ป้อมเพชร ป้อมประตูวัดช้าง ป้อมประตูเผาอิฐ
และป้อมประตูบ้านโนน
ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร พบหลักฐานว่ามีระบบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาหล่อเลี้ยงคูเมืองทั้งสามชั้น
โดยการสร้างคลองไขน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
เมื่อน้ำเข้าสู่คูเมืองเต็มที่เแล้ว
ก็จะมีการระบายน้ำออกทางมุมเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
น้ำที่ระบายออกจะไหลไปรวมกับคลองแม่น้ำเก่าที่ไหลไปยังหมู่บ้านลำมะโกรก
บริเวณเกือบกลางเมืองกำแพงเพชรมีวัดพระแก้วและวัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสร้างยาวขนานกับแนวกำแพงเมืองด้านทิศใต้
วัดพระแก้ว
เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีสิ่งก่อสร้างในวัดที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติมหลายสมัย
ส่วนวัดพระธาตุ
อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว เป็นบริเวณที่เรียกว่า สระมน
ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเขตวัด ส่วนโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ ศาลพระอิศวร
ซึ่งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในเขตเมืองกำแพงเพชร
นอกจากนั้นยังมีวัดเล็ก ๆ อีกประมาณ ๑๐ แห่ง รวมทั้งสระน้ำขนาดเล็กและคูน้ำ
นอกเมืองทางด้านทิศเหนือหรือบริเวณอรัญญิก อยู่ห่างจากกำแพงเมืองด้านทิศเหนือออกไปประมาณ
๕๐๐ เมตร มีกลุ่มวัดในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อมมากกว่า
๔๐ แห่ง นับเป็นเขตโบราณสถานที่สำคัญ วัดที่สำคัญประกอบด้วย วัดพระนอน วัดป่ามืด
วัดพระสี่อิริยาบท วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดช้างรอบ วัดนาคเจ็ดเศียร
วัดเตาหม้อ วัดอาวาสใหญ่ วัดอาวาสน้อย ฯลฯ
นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีโบราณสถานกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มหนาแน่นในเขตอรัญญิก
มีซากโบราณสถานอยู่ประมาณ ๑๕ แห่ง มีวัดกะโลทัย วัดตะแบกลาย วัดโพธิสามขา
วัดช้าง วัดดงหวาย เป็นต้น
รูปทรงและโครงสร้างของเมืองกำแพงเพชร จะเห็นได้ว่าเป็นเมืองที่ได้รับอิทธิพลรูปแบบวัฒนธรรมสุโขทัย
โดยสืบเนื่องมาจากเมืองนครชุม และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยา
มีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่อยู่กลางเมืองเรียกว่า วัดหลวง
และในบริเวณเดียวกันนั้นเป็นเขตวังเจ้าเมืองหรือวังหลวง จากนั้นมีการสร้างวัดอยู่นอกเมืองเรียกว่า
เขตอรัญญิก ซึ่งแบบแผนการสร้างวัดเช่นนี้มีมาแล้วในสมัยสุโขทัย
รูปแบบทางสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมใในเมืองกำแพงเพชรเกือบทั้งหมดเป็นศาสนาในพระพุทธศาสนาฝ่าเถรวาท
และลังกาวงศ์ มีอายุอยู่ประมาณพทุธศตวรรษที่ ๑๙ หรือในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่
๑ (ลิไท) เช่นเดียวกับโบราณสถานเมืองนครชุม ช่างเมืองกำแพงเพชร ได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบมีการผสมผสานอิทธิพลล้านนาและอยุธยา
ในที่สุดเกิดสกุลช่างเฉพาะเมืองกำแพงเพชรขึ้น
โบราณสถานทั้งภายใน และภายนอกเมืองกำแพงเพชร ใช้วัสดุก่อสร้างแตกต่างจากโบราณสถานฝั่งเมืองนครชุม
วัดโบราณทางนครชุมสร้างด้วยอิฐ แต่ฝั่งเมืองกำแพงเพชรส่วนมากสร้างด้วยศิลาแลง
แผนผัง
โบราณสกถานที่เมืองกำพงเพชรแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ โบราณสถานหรือวัดที่อยู่ในกำแพงเมือง
หรือวัดคามวาสี และกลุ่มวัดที่อยู่นอกเมือง หรือวัดอรัญวาสี
- วัดที่อยู่ในเมือง
คงเหลือเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้น การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ไม่ตรงกับแนวตะวันออก
- ตะวันตกนัก เนื่องจากลักษณะผังเมืองเป็นตัวบังคับ โดยเฉพาะวัดพระแก้วและวัดพระธาตุซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางเมืองนั้นวางผังอาคารให้ขนานไปกับกำแพงเมืองด้านใต้
สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ทรงระฆัง
- วัดที่อยู่นอกเมือง
โดยเฉพาะในเขตอรัญญิก การวางผังอาคารใช้แนวตะวันออก-ตะวันตกทั้งหมด บริเวณผังวัดมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีกำแพงศิลาแลงแสดงขอบเขตของวัดไว้อย่างชัดเจน กำแพงวัดส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมปักเป็นแนวตั้งเรียงต่อกันไป
ด้านบนมีศิลาแลงรูปหกเหลี่ยม วางพาดเป็นทับหลังอีกชั้นหนึ่ง หน้าวัดส่วนมากมีศาลา
บ่อน้ำและห้องน้ำ ภายในวัดแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส
เขตพุทธาวาสประกอบด้วยวิหารใหญ่อยู่ด้านหน้า เจดีย์หรือมณฑปอยู่ด้านหลัง ส่วนโบสถ์มีขนาดเล็กและส่วนมากสร้างแยกออกไปจากแนวแกนหลักของวัด
วัดบางแห่งสร้างกำแพงแก้วต่อจากฐานวิหารล้อมรอบเจดีย์ประธาน และบางแห่งสร้างล้อมรอบเขตพุทธาวาสทั้งหมด
ลักษณะของกำแพงแก้วเหมือนกำแพงวัด แต่มีขนาดย่อมกว่า อีกส่วนหนึ่งของวัดคือเขตสังฆาวาส
ส่วนมากอยู่ถัดจากเขตพุทธาวาสไปทางด้านหลังวัด หรืออาจจะเป็นด้านข้างวัด ประกอบด้วยกุฎิสงฆ์
ศาลา บ่อน้ำ และเวจกุฎี
หน้าที่และรูปทรงอาคาร
แบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
- อาคารที่ใช้ประกอบพิธีพรรมทางศาสนา
ได้แก่ โบสถ์ วิหาร และระเบียงคด วิหารจะมีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของวัด
รูปแบบเฉพาะของฐานวิหารคือ การสร้างฐานย่อมุมหรือทำเป็นมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
สองฟากเข้าของมุขทั้งหน้าและหลังเป็นบันไดขึ้น - ลง ฐานเป็นแบบบัวลูกแก้วอกไก่
(ฐานบัวคว่ำและบัวหงายที่มีแถบปูนเป็นเส้นคาดประดับท้องไม้) นิยมทำฐานสูงบางแห่งยืดฐานเขียง
หรือฐานหน้ากระดานล่างที่รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ให้สูงมากจนมีลักษณะเป็นผนังสูง
เช่นวิหารวัดฆ้องชัย นอกจากนั้นยังนิยมสร้างฐานขนาดใหญ่รองรับฐานวิหารอีกชั้นหนึ่ง
เรียกว่า ฐานทักษิณ (ฐานที่มีพื้นที่เป็นลานสำหรับเดินเวียนประทักษิณ) วัดพระสี่อิริยาบท
วัดอาวาสใหญ่ หรืออาจสร้างฐานไพทีขนาดใหญ่รองรับสิ่งก่อสร้างหลายชนิด รวมทั้งวิหารด้วย
เช่น ฐานไพทีที่อยู่ตอนหน้าสุดของวัดพระแก้ว และยังมีฐานวิหารที่ทำเป็นแบบฐานหน้ากระดานเตี้ย
ๆ เช่นวิหารที่อยู่ด้านหน้าเจดีย์ทรงระฆังสิงห์ล้อมรอบที่วัดพระแก้ว ฐานทักษิณที่รองรับฐานวิหารทั้งที่วัดพระสี่อิริยาบท
และวัดสิงห์เป็นต้น ชานชาลาด้านหน้าของฐานทักษิณประดับสิงห์ปูนปั้นและทวารบาล
มีแกนเป็นศิลาแลง ลักษณะของสิงห์ที่วัดสิงห์แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรที่อาจแพร่เข้ามาในต้นสมัยอยุธยาคือ
สิงห์ยกบั้นท้ายขึ้นมาลอยตัวเหมือนสิงห์ในศิลปะบายน
วิหารมีตั้งแต่ ๕ - ๙ ห้อง ด้านกว้างหรือด้านสกัดมีช่วงเสากลางและช่วงเสาเล็กที่รับชายคาปีกนก
ลักษณะวิหารมีทั้งแบบก่อผนังด้านข้างสูง ไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะผนังเป็นช่องแสงหรือช่องลม
เช่น ที่วิหารวัดพระนอน อีกแบบหนึ่งเป็นอาคารโถงไม่มีฝาผนัง แต่ใช้ชายคาหรือปีกนกแผ่ออกไปในระดับต่ำเพื่อใชักันแดดกันฝน
วิหารโถงพบได้ทั่วไป นิยมสร้างแพร่หลายในสมัยสุโขทัย เสาวิหารส่วนมากเป็นเสาสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม
โดยใช้เขียงศิลาแลงเรียงซ้อนกันขึ้นไป เสาสี่เหลี่ยมบางแห่งใช้ศิลาแลงแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อเรียงสลับโดยหันหน้ากว้างหนึ่งแถวสลับกันขึ้นไป
วัสดุที่ใช้ก่อสร้างส่วนมากเป็นศิลาแลงและใช้ปูนฉาบผิว
ด้านนอก
ภายในวิหารมีอาสนะสงฆ์ซึ่งก่อเป็นแท่นสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ยาวไปตามฐานหรือผนัง
วิหารด้านทิศใต้เครื่องบนวิหารเป็นไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอมุงหลังคา
วิหารวัดพระนอนมีลักษณะแตกต่างจากวิหารแห่งอื่นคือ ฐานวิหารทำเป็นแบบบัวคว่ำอย่างเดียว
หลังคาชั้นเดียว และมีปีกนกคลุมสามชั้น ปีกนกชั้นสุดท้ายมีทวยรองรับ เรียกอาคารแบบนี้ว่า
อาคารทรงโรง วิหารวัดสิงห์ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ
เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้เดิมเป็นวิหาร ระยะหลังได้เปลี่ยนเป็นพระอุโบสถ โดยปักใบเสมารอบอาคาร
อาคารอุโบสถมักจะสร้างขนาดเล็ก เนื่องจากพระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมโดยเฉพาะ มีใบเสมาสลักจากหินชนวนปักโดยรอบ
ส่วนมากตั้งอยู่โดดเดี่ยวนอกแกนหลักของวัด วัดกำแพงงามตั้งอยู่นอกกำแพงวัด
วัดพระนอนตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารและมีขนาดใหญ่
อาคารที่เรียกว่า ระเบียงคดพบเพียงสองแห่งคือ ที่วัดพระแก้วกับวัดพระธาตุ
เป็นระเบียงสี่เหลี่ยมล้อมรอบเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ เหมือนศาลาเล็ก ๆ
ด้านในโล่ง มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป
- เจดีย์
เจดีย์ที่สร้างเป็นประธานของวัดในเมืองกำแพงเพชรมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ เจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
เป็นแบบเฉพาะของสถาปัตยกรรมสุโขทัย รูปทรงของเจดีย์ประกอบด้วยฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น
ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ จากนั้นเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบสองชั้น
เรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ แล้วจึงเป็นส่วนที่เรียกว่า ดอกบัวตูมและส่วนยอดถัดขึ้นไป
เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง เป็นเจดีย์แบบสุโขทัย นอกจากให้เป็นเจดีย์ประธานของวัดแล้ว
ยังสร้างเป็นเจดีย์ประจำมุม เจดีย์ทิศ หรือเจดีย์ราย เจดีย์รูปแบบนี้มีการพัฒนารูปแบบจนเป็นลักษณะเฉพาะของกำแพงเพชรคือ
เจดีย์มีรูปทรงเพรียว และชะลูดมากกว่าที่เมืองสุโขทัย องค์ระฆังเล็กและอยู่ในตำแหน่งสูง
ปากระฆังไม่บานหรือผายออกมาก นิยมทำฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม และฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมรองรับส่วนยอดเจดีย์
ฐานล่างสุดมักเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมหรือฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม
และฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป จากนั้นเป็นมาลัยเถาที่ทำเป็นชุดบัวถลา
๓ ชั้น เรียงลดหลั่นกันรองรับองค์ระฆัง ส่วนล่างที่เรียกว่า ปากระฆัง ประดับรูปกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย
ที่เรียกว่า
บัวปากระฆัง
ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ทำเป็นแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยม
รูปแบบเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เฉพาะที่วัดพระแก้ว บัลลังก์มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน
ถัดจากบัลลังก์เป็นแกนปล้องไฉนประดับด้วยแถบบัวลูกแก้วอกไก่แถบเดียว หรือสองแถบขึ้นไป
เป็นส่วนที่เรียกว่า บัวฝาละมี ปล้องไฉนและปลียอด นอกจากเจดีย์ประธานวัดแล้วยังมีเจดีย์รายที่มีรูปแบบแตกต่างออกไป
เช่น เจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ของมณฑปวัดพระสี่อิริยาบถ เป็นลักษณะที่เรียกว่า
เจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง
ตรงเรือนธาตุทำเป็นห้องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง และมีบัวประดับที่ปากระฆัง
ในเมืองกำแพงเพชรยังมีเจดีย์แบบพิเศษอีกรูปแบบหนึ่งคือ เจดีย์ทรงปราสาทยอดกลีบมะเฟือง
ที่วัดช้างรอบและวัดพระนอน ที่วัดช้างรอบสร้างเป็นเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่มุม
บนฐานทักษิณของเจดีย์ประธาน
- มณฑป ที่ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานอยู่หลังวิหารมีเพียงแห่งเดียวที่วัดสี่อิริยาบถ
เป็นมณฑปแบบจตุรมุข ตรงกลางก่อเป็นแท่งทึบเพื่อรับส่วนยอดของหลังคา
ผนังแต่ละด้าน พระพุทธรูปแสดงอิริยาบถแตกต่างกันออกไป จึงมักเรียกมณฑปแบบนี้ว่า
มณฑปพระสี่อิริยาบถ
ประติมากรรมส่วนใหญ่ เนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงค์ เป็นประติมากรรมหมวดกำแพงเพชรในศิลปะสุโขทัย
มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- ประติมากรรมสำริด
ส่วนใหญ่เป้นพระพุทธรูปปางมารวิชัยและอีกชิ้นหนึ่งคือ เทวรูปพระอิศวร
จารึกที่ฐานระบุว่า หล่อเมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๓ ในสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะแบบบายน
เช่น พระพักตร์เป็นรูปเหลี่ยมกรองศอ และสายรัดพระองค์มีอุบะสั้น ๆ ห้อยอยู่ข้างหน้า
นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระนารายณ์ และอีกองค์หนึ่งน่าจะเป็นเทวรูปพระอุมาหรือพระลักษมี
- ประติมากรรมรูปปั้น
มีทั้งแบบลอยองค์และประดับอาคาร พระพุทธรูปปูนปั้นส่วนมากแกนในเป็นศิลาแลง
แล้วใช้ปูนตกแต่งผิวด้านนอก พระพักตร์ค่อนข้างเสี้ยม
พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่สามองค์ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเดียวกันของวัดพระแก้ว
ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยสององค์ และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ มีลักษณะพิเศษคือ
พระพักตร์ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม พระเนตรเรียวเล็ก ปลายพระเนตรแหลมขึ้นและเรียวออกไปมาก
เป็นแบบประติมากรรมศิลปะอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น ที่ฐานวิหารเดิมประดับรูปปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์
ยังพบงานปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ประดับโบราณสถานเช่น ปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัว
ประดับเจดีย์ที่วัดช้างรนอบ วัดพระแก้ว และวัดช้าง งานปูนปั้นรูปสิงห์ และทวารบาลพบที่วัดช้างรอบ
วัดสิงห์ วัดพระสี่อริยาบถ วัดพระนอนและวัดพระแก้ว
ที่วัดช้างรอบ พบประติมากรรมนูนสูงรูปต้นไม้และสัตว์เล็ก ๆ ประดับหน้ากระดานห้องไม้ฐานทักษิณระหว่างช้างแตะละเชีอก
และตรงส่วนฐานหน้ากระดานกลม ถัดจากฐานแปดเหลี่ยมบนลานประทักษิณ พบร่องรอยปูนปั้นนูนสูงและเรื่องพุทธประวัติประดับโดยรอบ
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมดินเผา ที่ใช้ประดับโบราณสถาน เช่น รูปนางรำ รูปหัวยักษ์
รูปกินนร กินนรีและรูปหงส์ งานดินเผารูปหงส์แสดงลวดลายกนกวงโค้ง ที่งดงามมาก
|