www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
การทำมาหากิน
จากข้อสรุปของคณะสำรวจทางโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้ความว่าบรรพบุรุษของคนไทย
กินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักมาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว และคนไทยในภาคอื่นของประเทศที่รู้จักทำไร่ทำนา
ปลูกข้าวมาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว
ข้าวเหนียวเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณสองฟากแม่น้ำโขงตอนบน แล้วแพร่กระจายออกไปทุกทิศทุกทาง
รวมทั้งบริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
การปลูกข้าวในยุคแรกทำกันอย่างง่าย ๆ ด้วยการใช้ไม้แหลมแทงดินให้เป็นรูแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป
ข้าวจะงอกและเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยอาศัยน้ำฝนและน้ำค้างหล่อเลี้ยงจนข้าวออกรวง
ให้เมล็ด
เครื่องมือในการทำนา
แบบดั้งเดิมที่คนไทยคิดประดิษฐ์ขึ้นนั้นคือเครื่องมือที่เป็นพื้นฐานในการทำนาคือไถและคันไถ
มนุษย์ประดิษฐ์เครื่องมือชนิดนี้มาเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังปรากฎในภาพเขียนของชาวอียิปต์
ซึ่งเป็นไถที่ลากด้วยวัวสองตัว รูปร่างและส่วนประกอบของไถแทบทุกภาคในโลกจะคล้ายคลึงกันแทบทั้งสิ้น
ซึ่งบจะต้องประกอบด้วย หางยาม คันชัก และหัวหมู เป็นหลัก
ไถที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือไถ ที่มีส่วนประกอบง่าย ๆ มีน้ำหนักไม่มากนัก
ชาวนาสามารถทำใช้ได้เอง
ไถโดยทั่วไปมีสองประเภทคือไถเดี่ยวและไถคู่ ไถเดี่ยวใช้กับวัวและควาย
ถ้าเป็นไถวัว จะต้องใช้วัวสองตัว ถ้าเป็นควายจะใช้ควายตัวเดียว รูปร่างและขนาดของไถวัว
และไถควาย จะแตกต่างวกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น
ไถพื้นบ้านของไทย เป็นเครื่องมือทำนาที่สำคัญยิ่งในอดีต ใช้เวลาในการพัฒนาและขัดเกลา
สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน
เครื่องมือทำนาพื้นบ้านที่สำคัญถัดจากไถคือ คราด
ซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ปรับดินและครูดเอาหญ้ากับวัชพืชต่าง ๆ ออกจาก
แปลงนาก่อนหว่านข้าวหรือตกกล้าหรือปักดำกล้า
ส่วนประกอบของคราดทำด้วยไม้ทั้งสิ้น แม่คราดอันหนึ่งจะใส่ลูกไม่เกิน ๑๔ -
๑๕ ลูก โดยเจาะให้ระยะถี่ห่างเท่า ๆ กัน
การใช้คราดนั้นจะใช้เมื่อพื้นนาได้ถูกไถไปแล้ว หลังจากนั้นชาวนาจะใช้ควายเทียมลากคราดไปในท้องนาทำการคราดฃ
ยานพาหนะ
เกวียนและวัวเทียมเป็นพาหนะที่สำคัญของท้องถิ่นที่เป็นสังคมเกษตรในอดีตมาแต่สมัยพุทธกาล
เกวียนที่ใช้มีอยู่สองประเภทคือ เกวียนเทียมวัว และเกวียนเทียมควาย ในท้องถิ่นหนองบัวลำภูเป็นเกวียนเทียมวัวเท่านั้น
ส่วนประกอบของเกวียนมีดังนี้
ทวกเกวียน
มีทั้งหมดสองตัว มีความยาวทั้งหมดประมาณ ๓.๕๐ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ประดู่ ไม้พยุง
หนาประมาณ ๔ นิ้วฟุต มีลักษณะเล็กไปทางด้านหัวไปประกบกันที่หัวมีไม้เป็นสลักคัดให้ติดกันสองอัน
ส่วนด้านหลัง และตัวเรือนเกวียนทำเป็นขั้น เหมือนกับขั้นของเรือพายสำหรับใส่พื้น
คานเกวียน
มีสองตัว ทั้งคานหน้าและคานหลัง เพื่อรองรับทวก คานหลังยาวประมาณ ๒
เมตร คานหน้ายาวประมาณ ๑.๙๐
เมตร หนาประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ดุมสองตัวยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ
๑๖ เซนติเมตร สำหรับตอกกำเพื่อทำตีนเกวียนทั้งสองข้าง ข้างละอัน โดยตอกกำเกวียนรอบจำนวนตีนละ
๑๖ ตัว
กำเกวียน
มีข้างละ ๑๖ ตัว ยาวประมาณ ๘๕ เซนติเมตร ทำด้วยไม้ประดู่หรือไม้พยุง รวมทั้งสองข้างสองตีน
๓๒ ตัว โดยใช้ขนาดหนาบางพอสมควร ตอนหนึ่งตอกรอบดุมให้ครบ ๑๒ อัน ส่วนตอนปลายทำเป็นเดือยสำหรับใส่ตีนทั้งสองข้าง
ตีนเกวียน
เป็นรูปโค้งสำหรับสวมเดือย ตีนเกวียนแต่ละข้างจะมีสี่ชิ้นทำเป็นรูปโค้งตามลักษณะของล้อ
ใช้ไม้ประดู่อย่างเดียว กว้างประมาณไม่เกิน ๑๕ เซนติเมตร หนาประมาณ ๕ เซนติเมตร
ทำเป็นปากสวมกันไปตลอดวงล้อ เส้นผ่าศูนย์กลางตีนเกวียนไม่เกิน ๑๖๐ เซนติเมตร
กล้องเพลาเกวียน
หรือเพลากลาง มีความสำคัญมาก สำหรับยึดตัวเกวียนให้ติดกันกับทวกหรือตัวเกวียน
ทำด้วยไม้ประดู่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
ตรงหัวทั้งสองด้านเจาะเป็นรูสำหรับใส่เพลาที่ผ่านจากดุมตีนเกวียนแต่ละข้างทั้งสองข้าง
ตรงกลางทำเป็นเกลียว สำหรับมีชัดหวายติดกับทวก หรือตัวถังดึงยึดทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง ซึ่งใช้หวายขนาดใหญ่และมีจำนวนพอสมควรแก่การยึด
แพด มีสองตัว
ยาวประมาณ ๒ เมตร ทำด้วยไม้ประดู่หรือไม้พยุง ขนาดความหนาไม่เกิน ๖ เซนติเมตร
มีลักษณะงอนขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตอนติดกับคานทั้งสอง ส่วนตรงกลางกว้างประมาณ
๑๒ เซนติเมตร
หัวเต่า
มีสองตัว ยาวประมาณไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๗ เซนติเมตร มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เพื่อยึดคานทั้งสองของเกวียนให้ทรงตัว ปลายคานทั้งสองด้านหน้าหลังจะติดกับแพดทั้งสี่ด้าน
ปลายคานจะทำเป็นเดือยสวมใส่รูของแพดทั้งสี่มุม ส่วนตรงกลางของแพด จะเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยม
เพื่อสอดเข้าไปหาเพลากลาง หรือกล้องเพลา เพื่อให้ล้อหรือตีนเกวียนหมุนไปเวลาถูกลาก
เพลาเกวียน
ทำด้วยไม้เต็งอย่างเดียว ยาวประมาณไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน
๔ เซนติเมตร เวลาใช้เพลาให้กลบพอดีกับช่องของดุม หรือรูของเพลา ส่วนที่ติดกับแพดทั้งสองข้างทำเป็นเดือยสี่เหลี่ยมตามรูที่เจาะ
แอก สำหรับใช้ให้วัวลากเกวียน
มีสลักแอกอยู่ข้างละหนึ่งอัน เพื่อสอดรับเชือกที่ใช้ ผ่านคอวัวขึ้นมาไม่ให้หลุด
นิยมใช้ไม้มะยมป่าทำแอกเ พราะมีน้ำหนักเบาเกลี้ยงทนดี และไม่แพ้คอวัวอีกด้วย
เมื่อนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบกันเป็นเกวียน เรียกว่า การชูเกวียน
หากทำไม่ถูกจะขับขี่ได้ไม่ดี
เครื่องส่งสัญญาณชาวบ้าน
ได้แก่ โปงและกลอง เป็นเครื่องส่งสัญญาณโดยใช้เสียง
โปง
เป็นเครื่องตีส่งสัญญาณต่าง ๆ นิยมใช้กันมากในภาคอีสาน มีอยู่หลายชนิด เช่น
โปงขนาดใหญ่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณสี่ศอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งศอก
เจาะให้เป็นโพรงหรือกลองตลอด มีรูกาแฟทั้งสองข้าง ด้านบนทำเป็นหูสำหรับสอดไม้แขวนกับเสาไม้
ปกติจะแขวนไว้ที่ใต้ถุนกุฎิ หรือสถานที่แขวนโปงลางของวัดโดยเฉพาะ เพื่อตีเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านรับรู้กิจกรรมต่าง
ๆ เช่น ตีก่อนที่พระภิกษุสงฆ์สามเณรจะออกบิณฑบาตในตอนเช้า หรือที่ชาวบ้านในท้องถิ่นตีบอกเป็นสัญญาณ
ในวันที่เอาไทยธรรมไปบังสุกุลในเวลากลางคืนของวันพระ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
เป็นต้น
โปงที่ทำด้วยไม้ยังมีอีกหลายอย่าง โปงขนาดเล็กทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้กลึงให้มีรูปร่างคล้ายกระดิ่ง
มีรูแพอยู่สองข้าง มีลูกอยู่สองลูกขนาบข้าง ใช้แขวนคอวัวหรือคอควายเช่นเดียวกับกระดิ่ง
เป็นเครื่องส่งสัญญาณในเวลาที่ปล่อยวัวควายไปหากิน เพื่อให้ตามหาได้ง่าย
กลอง
มีหลายชนิด ทำจากท่อนไม้ซึ่งขูดให้กลวง ใช้หนังสัตว์ขึงปิดหน้าเดียวหรือสองหน้า
มีทั้งตรึงด้วยหมุดหรือโยงเคร่งด้วยหนังและหวาย ใช้ไม้ตีหรือมือตีให้เกิดเสียงดัง
กลองมีรูปร่างต่างกันและมีชื่อเรียกต่างกันเช่น กลองเพล กลองยาว กลองเถิดเถิง
กลองบูชา กลองรำมะนา กลองแขก กลองชนะ เป็นต้น
คนไทยตีกลองเพื่อเป็นเครื่องบอกสญญาณและตีบอกเวลามาช้านาน การตีกลองของชาวบ้านในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู
มีชื่อเรียกในเวลาตี หกชื่อคือ
ตีกลองเพล ทุกวัน
เวลาห้าโมงเช้า จะมีการตีกลองเพล เพื่อเตือนให้ญาติโยม นำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์
ตีกลองแลง ในวันขึ้น
๘, ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน เมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมงจะมีการตีกลองแลง วันดังกล่าวเป็นวันพระ
พระภิกษุสามเณรจะหยุดการศึกษาเล่าเรียน จะซักสบง จีวร ปัดกวาดบริเวณวัดให้สะอาด
ลงฟังเทศน์ในวันพระ สำหรับญาติโยมจะหยุดพักงานมาทำบุญรักษาศีลฟังเทศน์ การตีกลองแลงจะมีเฉพาะในพรรษาเท่านั้น
ตีกลองงัน
ในวันขึ้น ๘ และ ๑๕ ค่ำ ตอนกลางคืนประมาณสองทุ่ม ในสมัยก่อนจะมีการตีกลองงัน
บรรดาชายหนุ่มหญิงสาว จะนำเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู บุหรี่
ไปถวายวัด แล้วพากันทำวัตรค่ำ รับศีลฟังเทศน์ หากมีเวลาก็จะหันสรภัญญ์ หรืออบรมศีลธรรมพอสมควร
ตีกลองค่ำ หรือดึก
ในตอนเช้าของวัน ๗ - ๘, ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ระหว่างเวลาประมาณตีสี่ จะมีการตีกลองเป็นสัญญาณ
เพื่อเตือนพระภิกษุสงฆ์ และญาติโยมว่า เป็นวันพระที่จะต้องทำกิจทางพระพุทธศาสนา
ตีกลองโฮม
ในเวลาประมาณสองทุ่มเศษ จะเป็นวันไหนก็ได้ หากทางบ้าน และทางวัด มีเรื่องราวที่จะต้องหารือกัน
ก็จะมีการตีกลองเป็นสัญญาณนัดหมายประชุมกัน
ตีกลองสัญญาณ
จะตีเมื่อมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ โจรปล้น พระภิกษุมรณภาพ หรือต้องอาบัติหนักถึงขั้นปราชิก
การตีกลองประเภทนี้ต้องตีถี่ และยาวนานพอสมควร เมื่อชาวบ้านได้ยินก็จะรีบออกไปที่วัดทันที
|