www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถาน
วัดศรีคูณเมือง
เดิมชื่อวัดคนชุมน้ำออกบ่อ ตั้งอยู่ที่บ้านเหนือ ถนนวรราชภักดี ตำบลลำภู อำเภอเมือง
ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ เดิมเป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยที่ดินแดนแถบบนนี้เป็นที่อยู่ของชาติขอม
ละว้า และลาว มีซากอุโบสถเก่าแก่ มีใบเสมาเป็นหินภูเขา ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปอยู่ในสถูป
หลวงพ่อพระไชยเชษฐา เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ประดิษฐานในพระธาตุที่มีศิลปะคล้ายกับพระธาตุศรีสองรัก
สันนิษฐานว่า พระเจ้าไชษฐา ฯ สร้างไว้รุ่นเดียวกับพระไชยเชษฐา วัดถ้ำสุวรรณคูหา
ปัจจุบันทางวัดได้สร้างศาลาครอบองค์พระธาตุไว้อีกชั้นหนึ่ง
สำหรับซากเทวสถานและเสมาหินของขอม หันหน้าไปทางประเทศกัมพูชา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในสมัยที่สร้าง
วัดมหาชัย
เดิมชื่อวัดมหาธาตุไตรยภูมิ องค์มหาธาตุปัจจุบันเหลือแต่เพียงกองดินขนาดใหญ่
อยู่เยื้องกับอุโบสถของวัด เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของเจ้าปางคำ เจ้าปงคำและเจ้าแท่นคำ
อดีตเจ้าเมืองเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่บ้านหัวเชียง ตำบลลำภู
อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นวัดที่พระอาจารย์แสง ธมฺมธีโร ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานรูปแรกของคณะธรรมยุติได้ชักชวนชาวบ้านสร้างขึ้น
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
หอไตร
สร้างอยู่กลางสระน้ำ เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง กั้นฝา มีระเบียงและลูกกรงโดยรอบ
พระขาววัดมหาชัย
เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ มีอยู่สององค์เป็นคู่ เป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของจังหวัดหล่อด้วยทองสีดอกบวบ
มีอักษรจารึกอยู่ที่ฐานเป็นภาษาขอม หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า อักษรธรรม
บอกชื่อผู้สร้าง เมื่อดูตามภาษาที่ใช้จารึกแล้วเป็นภาษาไทยเหนือ เพราะใช้นับศกตามอย่างข้างจีนและใช้จุลศักราชอย่างไทย
เมื่อคำนวณปีที่สร้างก็คงสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔
พระพุทธรูปสององค์นี้ ชาวบ้านหนองบัวลำภูเคารพนับถือมาก เมื่อใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ชาวเมืองจะพากันอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ ขึ้นประดิษฐานบนเกวียน แล้ววทำพิธีแห่รอบหนองบัวเพื่อขอฝน
และเป็นที่อัศจรรย์ว่า ฝนจะตกในเวลาใดเวลาหนึ่งในขณะที่กำลังแห่อยู่นั่นเอง
ปัจจุบันเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ทางราชการจะจัดรถยนต์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ขึ้นประดิษฐานบนรถยนต์
จากนั้นก็ทำพิธีแห่รอบเมืองด้านในเขตเทศบาล เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและสักการะบูชา
วัดโพธิชัยสมสะอาด
เดิมชื่อวัดพระเรืองชัยสมสะอาด เรียกตามชื่อพระประธานในอุโบสถ ตั้งอยู่ที่บ้านจิก
ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ตั้งอยู่ริมหนองบัว
วัดหายโศกบ้านลำภู
เดิมชื่อวัดพระราชศรีสมังค์หายโศก ตามชื่อพระประธานในอุโบสถชื่อ พระราชศรีสุมังค์
พระพุทธรูปองค์นี้ ถูกอัญเชิญให้เป็นพระประธานในพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
และดื่มน้ำสาบานของชาวเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานในอดีต พระศรีสุมังค์หายโศก
สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นรุ่นเดียวกับพระไชยเชษฐา วัดถ้ำสุวรรณคูหา
และวัดศรีคูณเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖
วัดธาตุหาญเทาว์
อยู่ในตำบลบ้านขาม อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ เคยเป็นวัดร้าง ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
ภายในวัดมีปูชนียสถานที่สำคัญคือพระธาตุเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม สันนิษฐานว่าข้างในบรรจุอัฐิธาตุของพระอรหันต์
ชาวจังหวัดหนองบัวลำภู เคารพนับถือมาก
วัดพระธาตุเมืองพิณ
ตั้งอยู่ที่บ้านโนนธาตุ ตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ มีพื้นที่ประมาณ ๒๘ ไร่
ภายในวัดมีเจดีย์โบราณ และซากอุโบสถโบราณ ตั้งอยู่
วัดสันติธรรมบรรพต
ตั้งอยู่ที่บ้านภูน้อย ตำบลนากลาง อำเภอนากลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ ได้มีการพัฒนาให้มีความสงบร่มเย็น
เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมจนเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัด
ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาท และกลุ่มเสมาหินสมัยขอม
วัดป่าโนนคำวิเวก
ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งสว่าง ตำบลนาด่าน อำเภอสุวรรณคูหา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
มีพื้นที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เดิมเป็นวัดโบราณ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโนนคำน้อย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือติดต่อกันมานาน
ภายในวัดมีซากวัตถุโบราณ และพระเจดีย์อีกสามองค์
วัดถ้ำสุวรรณคูหา
ตั้งอยู่ที่บ้านคูหาพัฒนา ตำบลนาสี อำเภอสุวรรณคูหา ตามหลักศิลาจารึกหน้าถ้ำกล่าวว่า
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ โดยพระไชยเชษฐาธิราช เดิมเป็นวัดร้าง ได้มีการบูรณะ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๓ ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๑
ภายในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดใหญ่ และขนาดเล็กอยู่ประมาณ ๔๐ ถ้ำ
วัดป่าสามัคคีสิริวัฒนาราม (กุดโพนทัน)
เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณกาล สันนิษฐานว่าสร้างสมัยเดียวกันกับเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
เพราะซากอิฐและโบราณวัตถุมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ
๒๐๐ ไร่ มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มาก เป็นสวนยาสมุนไพรที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดหนองบัวลำภู
เป็นสถานที่ปฏิบัติวัปัสสนากรรมฐาน เป็นศูนย์บำบนัดผู้ติดสุราและบุหรี่
ภายในเขตวัดมีซากอุโบสถ และโบราณวัตถุหลายชิ้น
วัดบ้านสมสนุก
ตั้งอยู่ที่บ้านสมสนุก ตำบลนากอก อำเภอศรีบุญเรือง ประวัติความเป็นมาไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจน
มีซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเหลืออยู่เพียงส่วนของฐานราก
ในบริเวณวัดเคยมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะขอม จึงอาจกล่าวได้ว่าในเบื้องต้นวัดแห่งนี้น่าจะเคยเป็นศานสถานมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่
๑๖ - ๑๗ ต่อมาได้มีการสร้างสิมในสมัยล้านช้างคือช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔
ปัจจุบันยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน
วัดเจริญทรงธรรม
ตั้งอยู่ที่บ้านดอนปอ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
องค์ประกอบทางโบราณคดีคือ สิม สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เป็นสิมไม้ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดหนองบัวลำภู
ศาสนบุคคล
พระอาจารย์แสง ธัมมธีโร
เป็นพระบูรพาจารย์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายรูปแรกของมณฑลอุดรธานี ที่ไปประกาศพระศาสนาที่เมืองกมุทธาสัยบริรมย์
ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๕๘ ชาวพื้นเมืองนิยมเรียกว่า ครูแสง หรือญาท่านแสง
ท่านเป็นชาวบ้านท่าช้างคล้อง เมืองกมุทธาสัยบริรมย์ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอวังสะพุง
เมื่อสมัยเด็กได้เป็นศิษย์พระในวัดแห่งหนึ่ง ในเมืองกมุทธาสัย ฯ ต่อมาได้เดินทางไปกรุงเทพ
ฯ พร้อมกับเพื่อนสหธรรมิกหลายรูป ตอนนี้ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว และได้เข้าไปพำนักอยู่ที่วัดมงกุฎกษัตริยาราม
ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทับอยู่ที่วัดมงกุฎ
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๙ เกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ที่กรุงเทพ ฯ มีคนตายกันมาก
ท่านจึงเดินทางกลับเมืองกมุทธาสัย ต่อมาเมื่อท่านทราบว่า มีพระธรรมยุตอยู่ที่เมืองอุบล
ฯ มีพระอาจารย์พนฺธุโล (ดี) ผู้เคยอยู่ร่วมสำนักในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ฯ ครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ ได้ออกไปอยู่ที่เมืองอุบล ฯ เป็นรูปแรก
และนับว่าเป็นพระเถระรูปแรกของคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ในเวลาต่อมาท่านได้พาพระอาจารย์
เทวธัมมี (ม้าว) ไปกรุงเทพ ฯ และได้นำเฝ้าถวายตัวแด่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ฯ ได้มอบตัวเป็นศิษย์ได้อยู่ศึกษาจนมีความรู้ ความสามารถที่จะปฎิบัติพระธรรมวินัย
บำเพ็ญสมณธรรมตามลำพังได้แล้ว จึงได้กลับมาอยู่ปกครองหมู่คณะ เป็นพระอุปัชฌาย์ที่เมืองอุบล
ฯ นับว่าเป็นพระเถระบูรพาจารย์ของคณะธรรมยุตรูปที่สองในภาคอีสาน
พระอาจารย์แสง ธัมมธีโร ได้พาเพื่อนสหธรรมิกหลายรูปเดินทางไปยังเมืองอุบล
ฯ ได้เข้ามอบตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์ เทวธัมมี (ม้าว) และได้ศึกษาอบรมขนบธรรมเนียมการปฎิบัติพระธรรมวินัย
อยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์ที่วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) จนมีความรู้ความสามารถที่จะปฎิบัติพระธรรมวินัย
และบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพังได้แล้ว จึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์กลับไปยังภูมิลำเนาเดิม
ที่เมืองกมุทธาสัย ฯ เพื่อประกาศพระศาสนาในถิ่นนั้นต่อไป โดยได้ไปพำนักอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งที่บ้านท่าช้างคล้อง
ต่อมาเจ้าเมืองกมุทธาสัย ฯ ได้อาราธนาท่านให้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดมหาชัย
(วัดธาตุ) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๐ วัดมหาชัยจึงเป็นวัดแรกของคณะธรรมยุต ในเขตมณฑลอุดร
ฯ
การบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตรในสมัยนั้น ต้องนำไปบวชที่เมืองอุบล ฯ การเดินทางใช้เวลาถึง
๒๐ วัน ต้องเดินทางด้วยเท้า ดังนั้น พระท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ขึ้นในถิ่นนั้น
ท่านได้ให้บรรพชาอุปสมบทเป็นจำนวนมาก จนมีสัทธิวิหาริกที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่
ได้แยกย้ายกันออกไปตั้งวัดอยู่ในเขตต่าง ๆ อันเป็นสาขาของวัดมหาชัยหลายแห่ง
เช่น ที่จังหวัดเลยมีสองวัด คือ วัดจอมมณี อำเภอวังสะพุง และวัดศรีสะอาด ตำบลกุดป่อง
จังหวัดขอนแก่น คือ วัดจันทาราม อำเภอภูเวียง และจังหวัดอุดร ฯ ที่วัดจอมศรี
อำเภอกุมภวาปี
ผลงานของท่านคือ การสร้างโบสถ์น้ำ เป็นครั้งแรกในถิ่นนั้น ได้สร้างหอไตรขึ้นในวัดนั้นด้วย
สำหรับผลงานที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของท่านคือ การวางมาตรการเก็บรักษาโบราณวัตถุ
และศิลปวัตถุที่สำคัญ ท่านมรณภาพ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๘
หลวงปู่ขาว อนาลโย
ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนพัน อำเภอเมือง ฯ ท่านมีนามเดิมว่า
ขาว โครถา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ที่บ้านช่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ
จังหวัดอุบล ฯ เมื่อครั้งเป็นฆราวาสมีอาชีพทำนา เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้แต่งงานมีบุตรธิดาเจ็ดคน
ท่านออกบวชเมื่ออายุได้ ๓๑ ปี ที่วัดโพธิศรี บ้านบ่อชะแนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ
จังหวัดอุบล ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่หกปี ต่อจากนั้นจึงได้ออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน
ไปยังพระธาตุพนม เมืองอุดร ฯ แะลเมืองหนองคาย ฯ เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์
มั่น ภูริทัตโต โดยได้ติดตามพระอาจารย์มั่น ฯ ไปจนถึงเมืองเชียงใหม่ จึงได้รับโอวาทจากพระอาจารย์มั่น
ฯ ได้จำพรรษาที่เชียงใหม่ หนึ่งพรรษา แล้วเดินทางธุดงค์กลับมาทางภาคอีสาน
ผ่านเมืองเลย หนองคาย สกลนคร และอุดร ฯ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้เดินทางธุดงค์มาในเขตอำเภอหนองบัวลำภูหลายแห่ง ได้มาพบถ้ำแห่งหนึ่ง
บนเทือกเขาภูพานคำ ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำกลองเพล
เพราะก้อนหินใหญ่ที่ถ้ำแห่งนี้มีสัณฐานเหมือนกับกลองเพล ท่านจึงได้พำนักอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมกรรมฐาน
นับแต่นั้นมา จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖
วัดถ้ำกลองเพล เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ยังไม่เป็นวัดโดยสมบูรณ์
เป็นเพียงสำนักสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ จึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีพื้นที่วัดประมาณ
๑,๑๐๐ ไร่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ
และพระเจ้าลูกเธอ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการ หลวงปู่ขาว ในโอกาสต่าง
ๆ ถึงแปดครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ถึง ปี พ.ศ.๒๕๒๖
|