www.dooasia.com >
เมืองไทยของเรา >
เมืองเก่าของไทย
เมืองเก่าของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถาน
วัดใหญ่จอมปราสาท
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าจีน ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา
เดิมอยู่บริเวณที่ตั้งวัดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีฐานะเป็นเมืองท่าตลาดริมแม่น้ำท่าจีน
มีพ่อค้าจากมะละกา ชาวจีน และชาวยุโรป เข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างเนืองแน่น
วัดนี้ชาวบ้านเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น วัดใหญ่และวัดจอมปราสาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดใหญ่สาครบุรี
โบราณสถานที่สำคัญของวัด ประกอบด้วยอาคารสามหลัง หันหน้าออกสู่แม่น้ำท่าจีนในแนวระนาบเดียวกัน
ได้แก่ วิหารเก่า อุโบสถซึ่งอยู่ในเขตกำแพงแก้วเดียวกัน และมีศาลาการเปรียญอยู่นอกกำแพงแก้ว
- วิหารเก่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ฐานโค้งแอ่นคล้ายเรือสำเภา มีสภาพปรักหักพัง ผนังด้านทิศใต้และหลังคาพัวงทลายลงหมด
ผนังก่ออิฐถือปูนสอบเข้าด้านบน ด้านหน้ามีซุ้มประตูทรงมณฑปประดับลวดลายปูนปั้นหนึ่งช่อง
ด้านหลังปิดทึบ ผนังด้านทิศเหนือมีเสาประดับผนังแบ่งออกเป็นห้าช่อง ช่องแรกและช่องสุดท้ายย่อมุมเข้าไป
ส่วนอีกสองช่องเป็นผนังเรียบ ผนังกลางมีช่องหน้าต่างสองบาน ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มหน้านางประดับลวดลายปูนปั้น
ที่หัวเสาของผนังแต่ละช่องประดับปูนปั้นเป็นลายกรวยเชิง สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย
- อุโบสถ
ตั้งอยู่ด้านซ้ายของวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง
ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน เป็นรูปปั้นประดับกระจก ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาหนึ่งห้อง
มีประตูสองบาน ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นประดับกระจก บานประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายงดงาม
แต่ละบานมีลวดลายไม่เหมือนกัน การแกะสลักแกะเข้าไปในเนื้อไม้ ลึกสี่ชั้น ทำให้เป็นภาพซ้อน
บานประตูสองบานแรกแกะสลักเป็นลวดลายเครือเถา ใบไม้มีสัตว์หลายชนิดอยู่โคนไม้เช่น
สมัน เก้ง เสือและสัตว์อื่น ๆ ส่วนอีกสองบานเป็นการแกะสลักลวดลายต้นสน มีนกกระเรียนเกาะอยู่ตามกิ่งไม้
บานประตูนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕
- เจดีย์ทรงมณฑป
ตั้งอยู่หลังวิหารเก่า ก่ออิฐถือปูน เรือนธาตุมีซุ้มทั้งสี่ด้าน ส่วนยอดเป็นปรางค์
อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก
- ศาลาการเปรียญ
ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูง ฐานโค้งแอ่นเหมือนเรือสำเภา
หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ช่องหน้าต่างมีรูปทรงแปลกตาเช่น เป็นรูปใบโพธิ์
รูปไข่ รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม หน้าบันมีลวดลายจำหลักด้วยไม้อย่างดงาม ภายในพื้นปูด้วยไม้แผ่นขนาดใหญ่
เครื่องไม้ส่วนบนเป็นไม้สี่เหลี่ยมรองรับอย่างแข็งแรง เพดานมีลวดลายเขียนอย่างงดงาม
ศาลาการเปรียญหลังนี้ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
ศาลพันท้ายนรสิงห์
มีอยู่สองแห่งด้วยกัน ศาลแรกตั้งอยู่ที่บ้านพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์
อำเภอเมือง ฯ อยู่บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน ริมคลองโคกขาม
สถานที่นี้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
เรื่องพันท้ายนรสิงห์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จทางชลมารคโดยเรือเอกชัยไปยังปากน้ำเมืองสาครบุรี
เมื่อถึงตำบลโคกขาม คลองคดเคี้ยว กระแสน้ำแรงไหลเชี่ยว พันท้ายนรสิงห์นายท้ายเรือพระที่นั่ง
คัดท้ายเรือไม่ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกิ่งไม้หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์กราบทูลขอให้ลงพระอาญาตามพระราชกำหนดด้วยการประหารชีวิต
หลังจากนั้นได้มีการสร้างศาลเพียงตาขึ้นไว้
ปัจจุบันศาลเก่าชำรุดเหลือแต่เสา จึงได้สร้างขึ้นใหม่เป็นศาลก่ออิฐถือปูน
ภายในมีรูปพันท้ายนรสิงห์ แต่งกายในเครื่องแบบทหารโบราณ สวมหมวกถือพาย และมีศาลเล็กอีกศาลหนึ่งคือศาลเจ้าแม่ศรีนวล
(ศาลเจ้าแม่หัวนาเกลือ)
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
ศาลแห่งที่สอง
ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกขาม อำเภอเมือง ฯ บริเวณปากคลองโคกขาม พื้นเป็นไม้สองชั้น
มีเสารองรับหกเสา ฝาไม้ลูกประกนขนาดเล็ก บริเวณนี้เดิมสร้างเป็นที่บวงสรวงในการทำภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์
ต่อมาประชาชนมีความเลื่อมใส จึงร่วมใจกันสร้างเป็นศาลถาวร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘
ป้อมวิเชียรโชฎก
ตั้งอยู่บนที่ราบริมปากคลองมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาโชฎึก ราชเศราษฐี
(ทองจีน) เป็นแม่กองสร้างขึ้น เนื่องจากไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน เรื่องเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์
ป้อมวิเชียรโชฎก ก่อด้วยอิฐถือปูน สูงประมาณหกศอก มีหอรบ ไม่มีป้อมยาม
ตามช่องกำแพงป้อมมีปืนใหญ่ประจำการไว้สำหรับป้องกันข้าศึกที่จะยกกำลังเข้ามาทางปากน้ำ
ปัจจุบันตัวป้อมเหลือเพียงสามด้านคือ ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ซึ่งติดกับแม่น้ำท่าจีน
กำแพงป้อมบางส่วน ถูกตัดออกเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจร ภายในบริเวณป้อมเป็นที่ตั้งศาลหลักเมือง
ปืนใหญ่ที่บรรจุอยู่ตามช่องของป้อมหล่อด้วยเหล็ก ปากกระบอกด้านบนมีรูปมงกุฎ
และตัวอักษรอังกฤษ GR อยู่ใต้มงกุฎ และสลักคำว่า BACON ไว้ทุกกระบอก
ปล่องเหลี่ยม
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ที่บ้านปล่องเหลี่ยม ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน
เดิมเป็นปล่องไฟของโรงงานหีบอ้อย ทำน้ำตาลทรายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยชาวโปรตุเกสชื่อ กัปตันฮิด หลังจากทำสนธิสัญญาทางการค้ากับอังกฤษคือ สนธิสัญญาเบอร์นี
น้ำตาลจัดเป็นสินค้าออกสำคัญจึงมีโรงงานจำนวนมาก มาตั้งเพื่อหีบอ้อยทำน้ำตาลทราย
ส่วนมากตั้งอยู่ริมแม่น้ำต่อมาความต้องการน้ำตาลจากประเทสสยามลดน้อยลง มีความต้องการข้าวมากขึ้น
โรงงานน้ำตาลในแถบนี้จึงลดการผลิตและล้มเลิกไปในที่สุด
ลักษณะของปล่องไฟเป็นปล่องแปดเหลี่ยมก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม
กว้างด้านละ ๔ เมตร สูง ๔ เมตร ตัวปล่องสูงประมาณ ๓๐ เมตร ปลายสอบเข้าหากันเล็กน้อย
ด้านที่ติดกับแม่น้ำท่าจีน มีซากอาคารรูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันอาคารดังกล่าวจมอยู่ใต้น้ำ
แหล่งโบราณคดี
ทุ่งเศรษฐี เป็นเนินดินมีพื้นที่ประมาณ
๑๐ ไร่ ติดกับคลองสหกรณ์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง ฯ พบเสาไม้ขนาดใหญ่และเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก
โบราณวัตถุที่พบได้แก่
- ขวดหรือแจกันสองหู
เป็นดินเผาเคลือบสีน้ำตาล เนื้อแกร่ง เคลือบสีน้ำตาลแกมเหลืองด้านบน ด้านล่างสีขาวนวลไม่เคลือบ
เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๓ เซนติเมตร ปากตรง คอแคบสั้น
ฐานมีเชิงเตี้ย มีหูปั้นติดไว้ระหว่างส่วนไหล่และปาก สันนิษฐานว่า เป็นผลผลิตจากเตาเมืองศรีสัชนาลัย
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
- กุณฑี
ทำด้วยดินเผาเนื้อค่อนข้างหยาบ สีขาวนวล ลักษณะกลมแป้น ส่วนคอคอด พวยเป็นกะเปาะคล้ายเต้านม
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙.๕ เซนติเมตร
- ขวดหรือแจกัน
เนื้อดินเผาค่อนข้างหยาบ สีน้ำตาลดำ ทรงกลม คอแคบสูง ปากผายก้นกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๑๐ เซนติเมตร
- กระปุกขนาดเล็ก
เนื้อดินเผาค่อนข้างแกร่ง มีทั้งไม่เคลือบ สีขาวนวล และแบบเคลือบสีน้ำตาล
เป็นลายจุดและแถบโดยรอบ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๗ - ๔.๘ เซนติเมตร สูง ๘.๔ เซนติเมตร
- หม้อทะนน
เนื้อดินค่อนข้างหยาบ สีน้ำตาลแดง ลักษณะทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๗ เซนติเมตร
ปากผาย ตกแต่งผิวด้วยลายกดประทับ และลายเชือกทาบ จากแหล่งเตาขนาดกลาง มีอายุประมาณพุทธศตวรราที่
๒๐
- ไห เนื้อดินแกร่งสีขาวนวล
ลักษณะกลมแป้น ปากตรง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๑ เซนติเมตร
- ฝาตลับขนาดเล็ก
เนื้อดินแกร่งสีขาวนวล เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๓ เซนติเมตร เป็นฝาคล้ายทรงมังคุด
มีลวดลายใบไม้ด้านบนและลายคล้ายกลีบบัว ด้านข้างเป็นร่องลึก ผลิตจากเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย
มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒
แหล่งเรือจมบ้านขอม
ลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง อยู่ในเขตตำบลโคกขาม อำเภอเมือง ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑
ชาวบ้านพบซากเรือไม้ฝังจมดินอยู่ หัวเรือจมลึกจากผิวดินประมาณ ๓ เมตร ท้ายเรือจมลึกจากผิวดินประมาณ
๑.๕ เมตร เรือกว้าง ๑.๙๐ เมตร ยาว ๒๑.๖๕ เมตร หนาประมาณ ๑๐ - ๑๔ เซนติเมตร
เป็นเรือขุดและขยายความกว้างของเรือโดยใช่ไฟลน มีการต่อกราบเรือสูงขึ้น เทคนิคการต่อเรือเป็นเทคนิคของเรือชาวอาหรับโบราณ
พบบริเวณแถบเกาะสุมาตรา
อินโดนิเซีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ บนเรือพบภาชนะดินเผาจำนวนหนึ่ง เช่น หม้อมีสีสัน
กันกลม ปากหม้อผายออก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๖,๒๗ และ ๒๙ เซนติเมตร หนา ๐.๖ เซนติเมตร
เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาจนแกร่ง เนื้อดินมีส่วนผสมของทรายละเอียด มีจุดสีขาวจากซิลิก้าอยู่ประปราย
วิธีการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน สีผิวหม้อไม่สม่ำเสมอ ด้านนอกเป็นสีเทา น้ำตาลและดำ
ด้านในสีเทาอ่อน และเทาแก่ เป็นเพราะขั้นตอนการเผาจะใช้เตาเผากลางแจ้ง ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ภาชนะจึงสุกไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ยังมีการขัดมันที่ผิว ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลและดำแบ่งออกเป็นขัดมันในทั้งใบ
ขัดมันเฉพาะช่วงคอและบ่า กับขัดมันเฉพาะส่วนลำตัว
การตกแต่งหม้อมีสันนี้ ทำเป็นสันนูนสองเส้น บริเวณบ่า สันหม้อแบ่งเป็นสองแบบคือ
แบบที่ยื่นออกมาเป็นจงอย และแบบที่มีการตกแต่งที่สันบนสุด ด้วยการใช้เครื่องมือปลายแหลม
กดสำหรับขึ้นรูปตั้งแต่ส่วนไหล่ลงไปถึงก้น ตกแต่งด้วยลายเครื่องจักรสาน บางใบตกแต่งด้วยลายนิ้วมือเป็นแถวคล้ายลูกคลื่น
- หม้อก้นกลม
เป็นแบบภาชนะที่ใช้เทคนิคโบราณ เพื่อใช้หุงหาอาหาร พบตั้งแต่สมัยมนุษย์เริ่มทำภาชนะสมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบมากสมัยทวารวดีต่อเนื่องถึงสมัยอยุธยา โดยพัฒนาเทคนิคและวิธีการมากขึ้น
- หม้อน้ำมีพวยหรือหม้อกุณฑี
เป็นหม้อทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๒.๕ เซนติเมตร ก้นแบนมีเชิงเตี้ย
ๆ คอสูงปากผายคล้ายปากแจกัน มีพวยขนาดเล็กติดอยู่ที่บ่าภาชนะ เนื้อดินค่อนข้างละเอียดที่บ่าเซาะเป็นร่อง
ขนานกันสามเส้น ตัวภาชนะผิวเรียบ รูปแบบคงได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
- ไห ทำจากเนื่อดินหยาบ
เส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากประมาณ ๑๓ เซนติเมตร หนา ๑.๔ เซนติเมตร ปากบานออก ผิวด้านนอกสีส้ม
ที่บ่าตกแต่งด้วยลายเส้นและลายลูกคลื่นโดยรอบ เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ
- หม้อมีเชิงเตี้ย
เป็นหม้อทรงกลม ปากบานเล็กน้อย มีเชิงเตี้ย เนื้อดินหยาบ สีน้ำตาลดำ เส้นผ่าสูนย์กลางประมาณ
๓๓ เซนติเมตร หนา ๑ - ๑.๕ เซนติเมตร ผิวตกแต่งด้วยลายขูดขีด หรือลายเชือกทาบ
จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ภาชนะดินเผาที่พบมีรูปแบบคล้ายภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี
เหมือนที่พบที่บ้านคูบัว
ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี บ้านคูเมือง
อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เมืองจันเจน
จังหวัดนครสวรรค์
บริเวณที่พบเรือปัจจุบันอยู่ห่างจากฝั่งทะเลประมาณ ๘ กิโลเมตร เดิมบริเวณนี้คงเป็นทะเลมาก่อน
แหล่งประวัติศาตร์
คลองมหาชัย
เป็นส่วนหนึ่งของคลองด่านที่ขุดขึ้น เพื่อเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ช่วงแรกเชื่อมคลองบางหลวง เรียกว่า คลองด่าน
ช่วงกลางเรียกว่า คลองสนามไชย
ช่วงสุดท้ายเรียกว่า คลองมหาชัย
สมัยอยุธยาเรียกรวมว่า คลองด่าน มีความสำคัญตั้งแต่สมัยอยุธยา ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมจากกรุงศรีอยุธยาไปออกทะเลสู่หัวเมืองปักษ์ใต้
และใช้เป็นเส้นทางเดินทัพเช่น คราวสงครามบางกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระคลังสินค้าถูกยกเลิกเนื่องจากสนธิสัญญาเบาริง
เปิดให้มีการค้าเสรีทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายมาก ทำให้การคมนาคมทางน้ำมีความสำคัญมากขึ้น
ต่อมาได้เปิดเส้นทางรถไฟสายคลองสาน-แม่กลอง แล้ว เส้นทางคลองด่านจึงเริ่มลดความสำคัญลง
เส้นทางรถไฟคลองสาน - ท่าจีน
เป็นการเดินทางรถของเอกชนที่ได้รับสัมปทานของบริษัทท่าจีนเรลเวกำปนีทุนจำกัด
ได้รับสัมปทานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ มีระยะทาง ๓๓.๓ กิโลเมตร ผู้ถือหุ้นบริษัทนี้มี
๑๑ คน เป็นชาวยุโรป ๑๐ คน เป็นขุนนางไทยหนึ่งคนคือ พระยาพิพัฒน์โกษา ต่อมาได้ตัดเส้นทางลงเหลือเส้นทาง
วงเวียนใหญ่ - มหาชัย
|