|
|
|
|
|
|
|
|
อุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ผมได้รับคำสั่งจากกองทัพบกให้เป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๒ กองพลทหารอาสาสมัครไปรบเวียดนาม หรือที่เรียกว่า "พล.อสส."
หรือ รุ่นเสือดำ
ซึ่งทหารไทยรุ่นแรกเลยทีเดียวที่ส่งไปรบเวียดนามนั้น ส่งไปเพียง ๑ กรมผสม
คือ กรมทหารราบ แต่มีพร้อมทั้งทหารม้า (ม้ารถถัง ไม่ใช่ม้าเนื้อ) ทหารปืนใหญ่
ฯ โดยมีทหารราบเป็นกำลังรบหลัก เรียกว่า รุ่นจงอางศึก
ท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการไปรบครั้งนั้น ล้วนแต่เป็นบิ๊ก ๆ ในโอกาสต่อมา
เช่น บิ๊กจิ๋ว บิ๊กเสือ บิ๊กกรต เป็นต้น ดังนั้นเมื่อจงอางศึกรบอยู่ ๑ ปี
ขอให้ส่งกำลังไปรบทีละกองพลเลยทีเดียว ซึ่งจะมีหน่วยทหารราบ ๒ กรม ทหารปืนใหญ่
๑ กรม ทหารม้า ทหารช่าง ทหารสื่อสาร ทหารเสนารักษ์ เหล่าละ ๑ กองพัน และยังมีหน่วยสนับสนุนอื่น
ๆ อีกหลายหน่วย ซึ่งหน่วยสนับสนุนด้านการส่งกำลังเหล่านี้รวมกันเรียกว่า กรมสนับสนุน
(กองพลทหารราบที่ ๙ จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบันยังมีการจัดแบบเดียวกับกองพลที่ไปรบในเวียดนาม)
โดยการส่งกำลังพล อสส.ไปรบนั้นไม่ได้ส่งไปทีเดียวทั้งกองพล แบ่งส่งไปทีละครึ่ง
ครึ่งกองพลแรกเรียกว่า ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ มีผู้บัญชาการกองพลนำหน่วยไป พอส่วนที่
๑ ไป ก็เรียกกำลังพลส่วนที่ ๒ เข้ารับการฝึกและพออีก ๖ เดือน ก็ยกตามไป นำโดยรองผู้บัญชาการกองพล
ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๑ กับ ส่วนที่ ๒ นั้นก็จะรบร่วมกันอยู่ ๖ เดือน จากนั้นผลัดที่
๑ ส่วนที่ ๑ ก็เดินทางกลับประเทศไทย ผลัดที่ ๒ ส่วนที่ ๑ ก็ไปผลัดเปลี่ยน
พออีก ๖ เดือน ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ก็เดินทางกลับประเทศไทย โดยมีผลัดที่ ๒
ส่วนที่ ๒ ไปผลัดเปลี่ยน ผมไปปฏิบัติการรบในเวียดนามในฐานะกำลังพลของ ผลัดที่
๑ ส่วนที่ ๒ กำลังที่นำไปจึงเป็นพวกรุ่นแรกเช่นกัน ซึ่งพวกรุ่นแรกนี้จะเริ่มด้วยการจัดกำลังกองพันที่นำไปเป็นหน่วยใหม่ทั้งหมด
เริ่มต้นที่ออกคำสั่งบรรจุมามีแต่ ผู้บังคับกองพัน เช่นทหารปืนใหญ่ก็มี ๕๕๖
คน เต็มอัตรากองพันที่ไปรบเวียดนาม เมื่อบรรจุกำลังพร้อมแล้ว ก็ไปรับอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มอัตราของกองพันที่ค่ายฝึก
ลาดหญ้า กาญจนบุรี ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้ตั้งเป็นค่ายทหารถาวร เช่นค่ายสุรสีห์ในปัจจุบัน
รับยุทโธปกรณ์ใหม่เอี่ยมจากสหรัฐ ฯ เต็มอัตราศึก เรียกว่ารับแล้วหน่วยรบในที่ตั้งปกติของกองทัพอิจฉาก็แล้วกัน
เพราะยุทโธปกรณ์พร้อมรบจริง ๆ จากนั้นก็อยู่ในโรงเรือนที่พักชั่วคราวในค่ายฝึก
ฝึกกันอย่างหนัก หามรุ่งหามค่ำ หาเวลาพักไมได้เลย เอากันให้แข็งแกร่งจริง
ๆ ใครทนไม่ได้ก็ต้องออกไป เรียกกำลังพลมาทดแทนใหม่ ฝึกอยู่ ๖ เดือน ก็บรรลุเป้าหมายคือความพร้อมรบของกำลังพล
หน่วยของผมโดนย้ายที่อยู่คือพอฝึกได้สัก ๒ - ๓ เดือน จัดที่พักเข้าระเบียบดี
โดนย้ายที่พักระหว่างการฝึก และผมเป็นคนสติเสียเรื่องต้นไม้ อยู่ที่ไหนปลูกที่นั่น
ก่อนมาเป็นผู้บังคับกองพันไปรบเวียดนาม ผมกำลังทำหน้าที่ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่อยู่ถึง
๒ กองพันในเวลาเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่มียศเพียงพันตรีคือ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยในที่ตั้งปกติ และได้รับคำสั่งให้นำกำลังออกไปตั้งหน่วยในสนามเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
เป็นทหารปืนใหญ่หน่วยแรกที่ อำเภอเชียงคำ อำเภอเทิง อำเภอเชียงของ ของจังหวัดเชียงราย
(ยังไม่ได้ตั้ง จังหวัดพะเยา) ผมจึงต้องวิ่งรอกระหว่างเชียงใหม่กับ เชียงราย
ต่อมาก็ได้รับคำสั่งให้มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่กองพลอาสาสมัครที่กาญจนบุรีอีก
ทีนี้สนุกพิลึกเพราะวิ่งรอก ๓ จังหวัดเลย วิ่งรอกอยู่พักหนึ่งจึงมีการตั้งผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๗ มาแทนผม ซึ่งจะต้องเป็นผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ ส่วนหน้าในการรบที่เชียงรายด้วย
ผมจึงพ้นหน้าที่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกลูกน้องในค่ายทหารกาญจนบุรีเพียงประการเดียว
ที่ว่าอยู่ที่ไหนปลูกต้นไม้ที่นั่น เช่นที่กองพันที่เชียงใหม่ ปลูกจนไม่มีที่จะปลูก
เดี๋ยวนี้ก็ยังเหลืออยู่แยะ แต่ที่ปลูกไว้ด้านหลังโดนการสร้างอ่างเก็บน้ำ
และสนามกีฬา ๗๐๐ ปี เอาพื้นที่ไป จึงเสียต้นไม้ไปแยะ แต่ที่เหลืออยู่ก็โตมาก
ส่วนที่กาญจนบุรีนั้นหากไปดูให้ทั่วจะเห็นมี ๒ พื้นที่ที่ต้นไม้โตใหญ่กว่าที่อื่น
เพราะกองพันของผมปลูกเอาไว้นั่นเอง นาน ๆ ผมก็ไปชมของผมเสียทีหนึ่ง ด้วยความภาคภูมิใจชี้ให้ลูกหลานดูนี่คือต้นไม้ที่พ่อ
(ปู่) ปลูกไว้เมื่อ ๓๔ ปีผ่านมาแล้ว
เมื่อฝึกครบ ๖ เดือนแล้ว ก็นำอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งสิ้น ขนลงเรือที่มารับที่ท่าเรือกรุงเทพ
ฯ ออกเดินทางไปเวียดนามค้างคืนในเรือ ๒ คืน ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองไซ่ง่อน
หรือโฮจิมินท์ในปัจจุบันนี้ ส่วนทหารผลัดที่ ๒ ที่มารับหน้าที่จากพวกผลดที่
๑ นั้น ไปสบายกว่า อยู่ก็สบายกว่าเพราะพวกผมไปถึงก็รบทันที และต้องสร้างที่พักก็คือบังเกอร์นั่นเองไปด้วย
รบไป สร้างไป พอผลัดที่ ๒ เข้ามารับ เข้าแบกถุงทะเลตัวเปล่าขึ้นเครื่องบินมารับหน้าที่จากพวกผลัดที่ผม
รวมทั้งรับบังเกอร์ต่าง ๆ ที่พัก ที่อาศัยอย่างดีไปด้วย ใครมารับหน่วยของผมก็รับ
ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา ฯ ที่ผมขนพันธุ์จากเมืองไทยไปปลูกเอาไว้ด้วย สารพัดผักที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารของทหาร
เพราะอาหารที่เขาแจกให้นั้นเป็นอาหารสูตรเดียวกันหมด ทั้งฝรั่ง ไทย เกาหลี
ต้องมาดัดแปลงเอา มันฝรั่ง ฝรั่งกินมากเขาก็แจกมาก แต่ไทยกินน้อยเราก็ต้องเอามาทำมันเชื่อม
มันแกงบวด แกงมัสหมั่น เอามาฝานบาง ๆ ตากแดดแล้วทอดให้กรอบกลายเป็นกับแกล้มยังได้
เพราะไม่ได้รบกัน ๒๔ ชั่วโมง จึงมีเวลาพอพักกันได้บ้าง หนึ่งปีนั้นหากอยู่บ้านก็ไม่มากนัก
แต่ ๑ ปีในสนามรบที่ตายกันแทบทุกวันไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เมื่อเป็นทหารก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง
ที่ผมเอามาเล่านอกเรื่องนอกราวเพราะผมไปกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันหน่วยทหารคือ
กองพลทหารราบที่ ๙ ซึ่งกองพลนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อเราเลิกส่งกำลังไปรบที่เวียดนาม
สหรัฐ ฯ จึงยกอาวุธยุทโธปรณ์ที่ใช้ในการฝึกและการรบทั้งหมดให้กองทัพไทย เราก็เอามาตั้งเป็นกองพลทหารราบได้
๑ กองพล โดยคงรูปการจัดเอาไว้เช่นเดียวกับการจัดกำลังรบในเวียดนาม กองพันทหารปืนใหญ่ที่ผมจัดตั้งและเป็นผู้บังคับกองพันคนแรกก็แปรสภาพจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่
๒ กองพลอาสาสมัคร มาเป็นกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๙ กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๙ กองพลทหารราบที่
๙
ผมไปกาญจนบุรีคราวนี้ไปเพื่อตรวจการฝึกผู้นำเยาวชนชายแดน
ซึ่งกาญจนบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่นำยุวชนที่อายุระหว่าง ๑๒ - ๑๖ ปี จากหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดนมาทำการฝึกให้เป็นผู้นำ
เพื่อมุ่งหวังให้ยุวชนเหล่านี้เลี่ยงจากภัยยาเสพติด และในเวลาเดียวกันที่จังหวัดตราด
ก็ฝึกเช่นเดียวกัน ทางกาญจนบุรีทางกองพล ฯ มอบหมายให้กองพันทหารม้าที่ ๑๙
รับผิดชอบในการฝึกซึ่งทำการฝึกได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อฝึก ๓ คืน ๔ วันแล้ว
ก็นำยุวชนทั้งหมดไปทำการฝึกที่โรงเรียนนายร้อย จปร. อีก ๒ คืน ๓ วัน โดยทางตราดก็มาฝึกร่วมกัน
จบการฝึกแล้วได้ผลอย่างดียิ่ง และยุวชนเกิดความกระตือรือร้น เกิดความภาคภูมิใจที่เขาได้กินในโรงเลี้ยงเดียวกันกับนักเรียนนายร้อย
ได้นอนบนที่นอนของนักเรียนนายร้อย หากการฝึกนี้มีต่อไปก็อาจจะไปกิน ไปนอน
ไปฝึกร่วมที่โรงเรียนนายเรือ หรือนายร้อยตำรวจ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในกรุงเทพ
ฯ จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่จะมาจากการสนับสนุน เวลานี้พวกผมพ้นหน้าที่ของที่ปรึกษารัฐมนตรีกลาโหม
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พ้นตามท่านไปแล้ว แต่รัฐมนตรีท่านปัจจุบัน ยังอนุมัติให้ทำการฝึกได้ตามงบประมาณที่มีหรือหาได้
ซึ่งหากกองสลากกินแบ่งยังคงสนับสนุนงบประมาณให้การฝึกผู้นำยุวชนชายแดนก็ยังคงมีต่อไป
การเตรียมการในเวลานี้คือการฝึกร่วมของจังหวัดตราด (ที่เต็มใจขอฝึกอีก) จังหวัดตาก
และ จำหวัดสุรินทร์ รวมพร้อมกันทีเดียว ๓ จังหวัด ก็ฝากความหวังไว้กับพ่อเมืองทั้ง
๓ และกองสลาก ฯ ด้วย เสียงบประมาณไม่มากเท่าไร แต่ผลที่ตามมานั้นมากและหากภาครัฐ
ฯ เห็นดีเห็นงามก็ฝึกยุวชนทั้งประเทศได้เลย ไม่ต้องไปทำการฝึกเฉพาะชายแดน
ซึ่งนโยบายเดิมของ พล.อ.ชวลิต ฯ นั้นจะตั้งหน่วยบัญชาการยุวชนทหาร
เป็นหน่วยปกติขึ้นรองรับการฝึกนี้จากพวกผม และดำเนินการตลอดไปแต่ยังเป็นนโยบาย
ยังไม่ได้จัดตั้ง
เมื่อตรวจการฝึกแล้ว ผมก็มีเวลาได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเวียดนาม
ซึ่งมีอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนามตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์
ขอฝ่ายทหารเข้าชมได้ พิพิธภัณฑ์ผ่านศึก ฯ แห่งนี้มีนายตลอดกาลของผมคือ ฯพณฯ
องคมนตรี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นประธานในการก่อสร้าง และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์เมื่อ
๑๙ กันยายน ๒๕๓๙ ส่วนพิพิธภัณฑ์นั้นกำลังพัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ที่ผมภาคภูมิใจไปจนถึงขั้นลูกหลานเหลนของผมก็คือ
มีชื่อของผมปรากฏอยู่ในฐานะ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ กองพลอาสาสมัคร
ผลัดที่ ๑ ส่วนที่ ๒ เห็นข้อความแค่นี้ก็อ่านเสียหลายเที่ยวด้วยความครึ้มใจ
จากพิพิธภัณฑ์ผ่านศึกเวียดนาม ทีนี้ก็ออกนอกค่าย ฯ ท่านที่มาเที่ยวเมืองกาญจนบุรี
หากท่านไม่ได้วางแผนมาก่อนโดยละเอียดแล้ว ขอให้แวะที่การท่องเที่ยว เมื่อเวลามาจากกรุงเทพ
ฯ หากไม่ได้มาทางเลี่ยงเมือง ก่อนถึงสี่แยกที่เลี้ยวขวาไปพนมทวนจะมีที่ทำการการท่องเที่ยวอยู่ทางขวามือ
ให้แวะขอคำแนะนำ และเอกสารการท่องเที่ยวเสียก่อน เพื่อหาแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากที่ผมแนะนำในวันนี้
เพราะกาญจนบุรีนั้นสถานที่ท่องเที่ยวมากเหลือเกิน หากให้ผมแนะนำทั้งหมดเท่าที่ทราบก็คงได้แต่แค่เอามาเขียนเข้าแถวให้ดู
เพราะเมื่อตอนผมมาฝึกอยู่ ๖ เดือนนั้น กาญจนบุรีคือ "ป่าไผ่" เขาตัดไม้ไผ่เอาไปทำกระดาษ
ไม่มีรีสอร์ทสักแห่งเดียว โรงแรมเล็ก ๆ มี ๒ - ๓ โรงแรม ยังไม่มีเขื่อน น้ำตกรู้จักกันแต่ไทรโยค
และไปด้วยความยากลำบาก ปราสาทเมืองสิงห์ยังล้มยังพังอยู่ เข้าไปอาจจะโดนเสือกัดเอาก็ได้
เพราะยังเป็นป่าทึบ นี่คือสภาพของกาญจนบุรีเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว ไม่ใช่วันนี้ที่ขยายออกไปกว้างขวาง
สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เขียนกัน ๓ วันไม่จบ จึงได้แต่เขียนแนะนำเจาะเป็นจุด
ๆ ทำได้แค่นั้น
จากในเมืองกาญจนบุรี หากวิ่งตรงไปก็จะไปผ่านสถานีรถไฟกาญจนบุรี ซึ่งในวันหยุดมีรถไฟนำเที่ยวไปน้ำตกเขาพังหรือไทรโยคน้อย
ติดต่อรถไฟดูค่าบริการไม่แพง จากสถานีรถไฟทางขวา ทางซ้ายก็เป็นสุสานของทหารพันธมิตร
ที่มาตายเมื่อตอนญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายมรณะนับจำนวนมากถึง
หกพันกว่าคน ต่อจากนั้นก็จะข้ามทางรถไฟ (ซึ่งร้านอาหารที่จะชิมวันนี้จะเลี้ยวซ้ายตรงนี้)
ต่อไปอีกก็จะเจอสี่แยกเลี้ยวซ้ายจะไปยัง อำเภอไทรโยค ทองผาภูมิ สังขะบุรี
และด่านเจดีย์สามองค์
หากตรงไปก็จะไปผ่านค่ายสุรสีห์ของกองพลทหารราบที่
๙ ตรงต่อไปอีกก็จะผ่านวัดลาดหญ้าของหลวงพ่อลำใย ตรงต่อไปอีก หลักกิโลเมตรที่
๓ (หลัก ๑ มาเริ่มที่ลาดหญ้า) ก็คือ อุทยานเมืองเก่ากาญจนบุรี
ซึ่งหลวงพ่อลำใยเกจิอาจารย์องค์สำคัญ ได้มาริเริ่มบูรณะขึ้น ที่อุทยานเมืองเก่านี้ยังมี
วัดขุนแผน วัดนางพิม วัดป่าเลไลยก์ วัดแม่หม้าย
ซึ่งแต่ละวัดอายุเกินกว่า ๒๐๐ ปี ความแก่การชม
เลยต่อไปอีก คือ ศาลเจ้าพ่อเขาชนไก่ ทางขวามือ และสถานฝึกเยาวชนหรือรักษาดินแดนของกรมการรักษาดิน
ซึ่งมีที่พักของเยาวชนที่มารับการฝึก เลยต่อไปอีกจนถึง กิโลเมตร ๒๔ ทางซ้ายมือคือที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์เก้าทัพ
ซึ่งเวลานี้หน่วยจังหวัดทหารบกกาญจนบุรีรับผิดชอบอยู่ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน
มีเจ้าหน้าที่คอยต้อนรับและนำชม หากจะมากันเป็นหมู่เป็นคณะให้ทำหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี
อุทยานประวัติศาสตร์ ๙ ทัพนี้ สร้างขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา
ฯ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จมาเปิดเมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ ทบทวนอีกที
จากในเมือง ๓๓ กิโลเมตร แต่ที่ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๒๔ เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามป้าย
๒.๖๙๔ กิโลเมตร เมื่อเข้าไปแล้วในโดมทางขวามือจะมีโต๊ะทรายจำลองภูมิประเทศ
และมีผู้บรรยายให้ทราบเป็นอย่างดียิ่ง
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
๓ ปี พม่าเกรงไทยจะเติบใหญ่ จนยากต่อการปราบปรามจึงยกทัพใหญ่มาหวังตีไทยให้ได้เหมือนตีกรุงศรีอยุธยา
โดยพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่านำทัพมาเอง และจัดทัพมาเป็น ๙ ทัพ เข้ามาเมื่อเดือนพฤศจิกายน
๒๓๒๘
กองทัพที่ ๑ - ๒ ให้เข้าตีทางภาคใต้เป็นทัพเรือ
กองทัพที่ ๓ กำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาทางเชียงใหม่ ตีล่องลงมา
กองทัพที่ ๙ เข้ามาทาง จังหวัดตาก ด่านแม่ละเมา
กองทัพที่ ๔,๕,๖,๗ และ ๘ กำลังพล ๘๙,๐๐๐ คน พระเจ้าปดุงนำทัพมาเอง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์
๓ องค์ เขตอำเภอสังขะบุรีในปัจจุบัน กองทัพที่ ๘ คือทัพหลวง ทุกทัพที่พระเจ้าปดุงคุมมานี้มุ่งตีกรุงเทพ
ฯ
กำลังฝ่ายไทยน้อยกว่ากำลังฝ่ายพม่าครึ่งหนึ่ง ของพม่ามีกำลัง ๑๔๐,๐๐๐ คน ฝ่ายไทยมี
๗๐,๐๐๐ คน
ฝ่ายไทยจัดทัพเป็น ๔ ทัพ คือ
กองทัพที่ ๑ มีกำลังพล ๑๕,๐๐๐ คน ขึ้นไปรับศึกทางนครสวรรค์ ทัพพม่าจะเข้ามาจากทางเชียงใหม่
และตาก
กองทัพที่ ๒ มีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน ไปรับทัพพม่าที่กาญจนบุรี ทัพพม่าเข้ามาด้านนี้
๘๙,๐๐๐ คน
กองทัพที่ ๓ มีกำลังพล ๕,๐๐๐ คนไปรับศึกทางราชบุรี
กองทัพที่ ๔ มีกำลังพล ๒๐,๐๐๐ คน เป็นทัพหนุน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
นำทัพเป็นทัพหนุน ส่วนทัพที่ไปรับศึกทางกาญจนบุรีนั้น กรมพระราชวังบวรสุรมหาสิงหนาท
เป็นจอมทัพ นำกำลัง ๓๐,๐๐๐ คน ไปรับศึก นำทัพมาทางเรือเป็นส่วนใหญ่ จึงเดินทัพได้เร็วและมาตั้งรับก่อนทัพพม่าจะมาถึง
๑๕ วัน จึงยันกองทัพพม่าไว้ในช่องเขา ทำให้กำลังพม่ามีมากกว่าแต่ก็เหมือนมีน้อย
เพราะแผ่ขยายกำลังไม่ได้ ติดกันอยู่ในแนวยาวและทรงใช้ยุทธวิธีคนน้อยลวงให้เห็นว่าคนมาก
เช่นกลางวันให้กองทหารเดินเข้ามาในค่าย กลางคืนหลบออกไปจากค่าย กลางวันเข้ามาใหม่เหมือนมีการเสริมกำลังทุกวัน
และพม่าเองเมื่อติดล้อมในช่องเขา ในที่แคบเช่นนี้ถือว่าเป็นการอำนวยประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตั้งรับ
เสบียงอาหารก็จะอัตคัต ต้องส่งกำลังมาจากพม่าทางเดียวเท่านั้น และประการสำคัญที่สุดศึกนี้ชนะด้วยปืนใหญ่
กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงใช้ต้นไม้ในป่ามาตัดเป็นท่อน ๆ ซึ่งไม้เนื้อแข็งแต่ละท่อนก็หนักเอาเรื่องอยู่
เอามาทำเป็นกระสุนปืนใหญ่ บางลูกจะทำเป็นกระสุนเพลิงคือ เอาผ้าชุบน้ำมันมัดไม้กระสุน
เมื่อยิงไฟก็จะติดไปเผาค่ายพม่าได้ อีกประเภทก็เอาลูกกระสุนไม้หนัก ๆ นั่นแหละยิงไปกระสุนปืนใหญ่สมัยนั้น
เมื่อตกลงดินแล้วไม่ระเบิดต่อแม้จะเป็นลูกเหล็กก็ตาม กลิ้งไปโดนใครเท่าไรก็เจ็บล้มตายกันแค่นั้น
ลูกไม้ก็เหมือนลูกเหล็กเพราะหนัก ตกแล้วก็ยังกลิ้งต่อไปได้ ลงไปกลางทัพก็ตายกันทีละหลายคน
กรมพระราชวังบวร ฯ ถึงกับทรงประกาศว่า "ตราบใดป่าไม้เมืองกาญจนบุรียังไม่สิ้นกองทัพไทยก็ยังมีกระสุนปืนใหญ่"
ไทยจึงไม่ต้องไปลำเลียงลูกกระสุนปืนใหญ่มาจากกรุงเทพ ฯ ส่วนพม่านั้นย่อมใช้ปืนใหญ่ไม่เต็มที่เพราะปืนที่เอามาไกลเป็นร้อย
ๆ กิโล ลากด้วยช้าง ด้วยม้า แค่นั้นยังขึ้นเขามาอีกไม่รู้ว่ากี่ลูกย่อมเอามาได้แต่ขนาดปืนไม่โตนัก
ผิดกับกองทัพไทยที่ลำเลียงมาได้สะดวกกว่า โดยเฉพาะยังมาทางเรือได้อีกด้วย
อำนาจการยิงจึงสูงกว่า ผลสุดท้ายพม่าก็อ่อนระโหยโรยแรงลงไปทุกวันจนต้องถอยทัพกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
๒๓๒๘ นั่นเอง และจากนั้นทัพไทยก็ใช้ยุทธวิธีเดินเส้นในเข้าตีโต้ทัพพม่าทางทิศอื่น
จนแตกพ่ายถอยไปหมด
ไปชิมอาหารอร่อยที่ริมแม่น้ำแคว ซึ่งร้านนี้หากเป็นปลายเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม
ซึ่งมีสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว จะนั่งชมแสงและเสียงที่จัดแสดงที่สะพานข้ามแม่น้ำแควได้สบาย
"คือร้านโสฬส"
จากในเมืองกาญจนบุรี ผ่านสุสาน ผ่านสถานีรถไฟกาญจนบุรี ตรงเรื่อยมาจะมาข้ามทางรถไฟ
พอข้ามทางรถไฟให้เลี้ยวซ้าย วิ่งตรงเรื่อยไปจนชนสามแยกเลี้ยวขวามานิดเดียว
ร้านโสฬส ติดกับร้านไทรโยค มองเห็นป้ายชัดเจน อยู่ริมแม่น้ำแคว ร้านโอ่โถงนั่งรับลมแม่น้ำเย็นสบายนัก
และหากมื้อค่ำยังมีเพลงไพเราะ ๆ ให้ฟังอีกด้วย โทร ๐๓๔ ๕๑๓๗๒๖,๕๑๑๓๑๓
ปลาเค้าทอดน้ำปลา จัดเคียงมาด้วยผักสลัด กะหล่ำ มะเขือเทศ ค่อยแกะเนื้อปลามาจิ้มน้ำจิ้มรสแซ่บ
ต้มยำเห็ดโคน อย่าโดดข้ามไป เขามีเห็ดโคนทั้งปี เป็นเห็ดโคนธรรมชาติดอกโต
เห็ดโคนต้มยำ ใส่มาในหม้อไฟร้อนโฉ่ ควันฉุย มีรสเผ็ดนิด ๆ ชวดซดรสกลมกล่อม
กุ้งทอดสามรส ใช้กุ้งใหญ่ชุบแป้งทอด ราดด้วยน้ำที่ปรุงแต่งรสได้สามรส ออกหวานนำ
มีน้ำขลุกขลิก เนื้อกุ้งแน่นเหนียวหนับ เคี้ยวสนุกนักเพราะเป็นกุ้งแม่น้ำ
น้ำผัดขลุกขลิกจะคลุกข้าวก็ได้
ทางร้านเขาแนะนำว่าข้างร้านเขามี ไก่ต้มยำอร่อยนัก หากจะชิมเขาจะสั่งให้ ลองสั่งมาดู
เป็น "ตีนไก่" (ขออภัย) ต้มยำ ต้มจนเปื่อยไม่ยุ่ย ได้เคี้ยว ทุบพริกสดใส่มาด้วย
ทำให้หอมเลยเกิดการซดกันเป็นการใหญ่ ทั้งต้มยำเห็ดโคน และต้มยำไก่รสเลิศทั้งสองต้มนั่นแหละ
ปิดท้ายด้วยบัวลอยไข่หวาน
.................................................
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|