พระบรมมหาราชวัง (๑)
ผมจะเล่าถึงพระบรมมหาราชวัง กรุงรัตนโกสินทร์ เล่าพอเป็นความรู้ เท่าที่ผมจะมีความรู้เล่าให้ฟัง
เพราะผมเองก็ไม่เคยเข้าไป ในพระบรมมหาราชวังทั่วทุกพื้นที่ ครั้งที่เข้าไปครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมก็คือครั้งที่เข้าไปรับพระราชทานสายสะพายชั้นสูงสุดของข้าราชการที่พึงจะได้รับคือ
มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย และเคยเข้าไปเที่ยวอีกหลายครั้งในเขตที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปได้
โดยเฉพาะก็คือวัดพระแก้ว คงจะไปบ่อยกว่าเพื่อน อีกครั้งที่ได้เข้าไปเที่ยวหลายแห่งคือ
การจัดนำเที่ยวของสมาคมศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ฯ ต้องใช้คำว่าติดตามเลขา
ฯ ของผมที่เขาเป็นอดีตอักษรศาสตร์จุฬา ฯ ซึ่งได้มีการขออนุญาตสำนักพระราชวังล่วงหน้า
และมีอาจารย์จากศิลปากรกรุณามาทำหน้าที่เป็นไกด์พาชม เป็นการได้ชมพระราชวังมากกว่าทุกครั้ง
ได้เห็นส่วนที่อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์กล่าวถึงไว้ในเรื่องสี่แผ่นดิน ที่เมื่อตอนอ่านต้องหลับตานึกเอาว่าน่าจะเป็นอย่างไร
ไปเห็นแล้ว ภาพที่อาจารย์เขียนไว้ ก็เด่นออกมาเลยทีเดียว
ก่อนเล่าเรื่องพระบรมมหาราชวัง ขอเล่าย้อนไปถึงแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียก่อน
เพราะเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งกรุงธนบุรี เป็นเมืองหลวงแทนกรุงศรีอยุธยานั้น
เพราะมีกำลังน้อย เป็นเหตุผมข้อหนึ่งในการพิจารณา และทรงเลือกพื้นที่ของ "เมืองธนบุรี"
เป็นที่ตั้งเมือง เพราะชัยภูมิด้านฝั่งธนนั้น เป็นเสมือนเกาะ เพราะก่อน พ.ศ.๒๐๘๕
นั้น แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลผ่านเข้าคลองบางกอกน้อย แล้วโอบล้อมแผ่นดินส่วนหนึ่งเอาไว้
จนมาออกแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่เห็นในปัจจุบัน) ที่ปากคลองบางกอกใหญ่
หรือคลองบางหลวง
จนแผ่นดินพระชัยราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเห็นว่าแม่น้ำไหลอ้อมไปไกล
ควรจะได้ขุด "ลัด" เสีย จึงโปรดให้ขุดคลองเชื่อมระหว่างปากคลองบางกอกน้อย
กับปากคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง เป็นผลให้กระแสน้ำพุ่งตรง ไหลแรง เลยขยายสองฝั่งของคลองที่ขุดนี้กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ดังที่เราเห็นในทุกวันนี้
(วิธีขุดคลองลัดแบบนี้น่าจะนำไปใช้กับแม่น้ำปิงบ้าง น้ำจะได้ไม่ท่วมเมืองเชียงใหม่
เพราะน้ำจะไหลผ่านไปเร็ว) แผ่นดินส่วนที่คลองบางกอก ฯ โอบล้อมไว้จึงกลายเป็นเกาะไป
เป็นคูเมืองดูแล้วก็คล้ายเกาะกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้เอาแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ขุดเป็นคลองมาเป็นคูเมือง
ไปขุดคูเมืองใหม่คือจากบริเวณป้อมปากคลองตลาด
(รื้อไปหมดแล้ว) ไปจนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า หน้าโรงละครแห่งชาติทุกวันนี้
หรือที่เรียกกันว่า "คลองหลอด"
ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี ก็ไม่ได้ใช้คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่
เป็นคูเมือง คงจะเห็นว่าเขตตัวเมืองจะขยายมากไป ไม่มีกำลังรักษา จึงขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองบางกอกน้อย
กับคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันเรียกว่า คลองวัดวิเศษการ
ขนานกับแนวถนนอรุณอัมรินทร์ในปัจจุบัน กรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ จึงมีดินแดนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ชื่อเรียกเป็นทางการคือ เมืองธนบุรี แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกคือ บางกอก
ซึ่งหมายความรวมถึงดินแดนที่เป็นฝั่งกรุงเทพ ฯ และฝั่งธนบุรี คำว่าบางกอกจึงน่าจะมาจากชื่อของคลอง
๒ คลอง หรือแม่น้ำเจ้าพระยาดั้งเดิม คือคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ และพอถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จึงขุดคูเมืองทางฝั่งตะวันตกขึ้นใหม่คือ ขุดคลองตั้งแต่ปากคลองบางลำพู
มาออกแม่น้ำเจ้าพระยาด้านใต้ เหนือวัดสามปลื้ม ชื่อคลองรอบกรุง
ดังนั้น กรุงธนบุรีจึงเป็นเมืองอกแตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ครั้งที่เป็นแม่ทัพป้องกันเมืองพิษณุโลกจากการเข้าตีของพม่า ที่มีอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพนั้น
ทรงทราบดีว่า เมืองที่มีแม่น้ำผ่ากลางเมืองนั้นป้องกันยากเพียงใด เมืองอกแตกที่มีแม่น้ำผ่ากลางเมืองได้แก่
เมืองสุพรรณบุรี มีแม่น้ำสุพรรณ (หรือท่าจีน) เมืองนครชัยศรี มีแม่น้ำนครชัยศรี
(หรือท่าจีน) เมืองแพรกศรีราชามีแม่น้ำน้อยผ่ากลางเมือง สาเหตุสำคัญของการย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเดียว
เพราะพิจารณาได้ว่า ทัพพม่าต้องยกมาตีไทยอีก หากเป็นเมืองอกแตกจะยากต่อการป้องกัน
จึงย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกเพียงด้านเดียว แล้วขุดคูเมืองด้านตะวันออกขึ้นใหม่
ส่วนด้านตะวันตกก็มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมือง
การสร้างพระบรมมหาราชวังนั้นปรากฏในพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น
(รัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชดำริว่า
"เมืองธนบุรีฝั่งฟากตะวันออกเป็นชัยภูมิดีกว่าฟากตะวันตก ฝั่งตะวันออกนั้นเสียแต่เป็นที่ลุ่ม
เจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่ดอนแต่เป็นที่ท้องคุ้งน้ำ
เซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร"
"พระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานเล่า ก็ตั้งอยู่ในอุปาจารระหว่างวัดแจ้ง และวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
ควรเป็นที่รังเกียจ"
เมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง ได้ให้ชุมชนชาวจีนที่ปลูกผักอยู่นั้นคือ พระยาโชฎึกราชาเศรษฐี
และพวกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม
(วัดจักรวรรดิ์) ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง
(วัดปทุมคงคา) เพื่อใช้พื้นที่สวนผักเดิมนั้นสร้างพระราชนิเวศน์มณเฑียร
พระบรมมหาราชวัง ฯ ที่ผมกำลังเล่าอยู่นี้อยู่ตรงข้ามกับกระทรวงกลาโหม ติดกับสนามหลวง
ไม่ใช่พระตำหนักจิตรลดาระโหฐาน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ประทับ
ซึ่งด้านหนึ่งจะติดกับสนามหลวง ด้านตะวันตกติดราชนาวีสโมสรและแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้านตะวันออกติดกับกระทรวงกลาโหม ด้านทิศใต้ติดกับวัดพระเชตุพน ขออธิบายแบบชาวบ้าน
ประตูกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีประตูรอบกำแพง และยังมีประตูในเขตพระราชฐานชั้นนอกรวมแล้วมี
๓๐ ประตู กำแพงรอบพระบรมมหาราชวังมี ๑๓ ประตูคือ
ด้านทิศเหนือ ประตูพิมานเทเวศร์
วิเศษไชยศรี มณีนพรัตน์
ด้านทิศตะวันออก หรือด้านข้างประตูสวัสดิโสภา เทวาพิทักษ์ ศักดิ์ไชยสิทธิ์
ด้านทิศใต้หรือด้านหลัง ประตูวิจิตรบรรจง อนงคารักษ์ พิทักษ์บวร
ด้านทิศตะวันตกหรือด้านข้างประตูสุนทรทิศา เทวภิรมย์ อุดมสุดารักษ์
และมีประตูพิเศษไม่มีชื่อ แต่เข้าออกได้เรียกว่า ประตูช่องกุด
สำหรับข้าราชการสำนัก นางกำนัล ที่จะออกจากประตูเขตพระราชฐานชั้นในคือ ประตูศรีสุดาวงศ์
ออกไปทางตลาดท่าเตียน
พระบรมมหาราชวัง มีพื้นที่ ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน มีกำแพงใบเสมาก่ออิฐ และป้อมปราการรายล้อมอยู่ทั้ง
๔ ด้าน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างกรุงเทพ ฯ มหานคร เมื่อพุทธศักราช
๒๓๒๕ เป็นการสร้างพระราชมณเฑียรสถานชั่วคราว สร้างด้วยเครื่องไม้และรายล้อมอาณาบริเวณด้วยปราการระเนียดไว้เป็นการชั่วคราว
สร้างเพื่อพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป ซึ่งได้กระทำพิธีสวดพระปริตรพุทธมนต์
ณ พระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่นี้เป็นเวลา ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๑๐
มิถุนายน - วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อได้เวลาอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์คือเวลา
๐๖.๒๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราชลมารคข้ามฟากจากพระราชวังธนบุรีมา
ณ ฝั่งฟากตะวันออก เสด็จขึ้นฉนวนหน้าพระบรมมหาราชวัง ประทับพระราชยาน มีพระตำรวจหลวงแห่นำ
ตามเสด็จเข้าสู่พระราชมณเฑียรสถาน ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ
เป็นพระปฐมกษัตริย์ในพระบรมมหาราชวังจักรี
ต่อมาเมื่อได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองร่มเย็นเป็นปรกติสุขขึ้นบ้างแล้ว จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้เริ่มการก่อสร้างพระราชนิเวศมณเฑียรสถานให้เป็นการถาวรสืบไป มีลำดับขั้นดังนี้คือ
พ.ศ.๒๓๒๖ โปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มการก่อกำแพง สร้างป้อม สร้างประตู สร้างพระราชมณเฑียรสถานทั้งข้างหน้าและข้างใน
ตลดจนสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาราย
และหอไตร
พ.ศ.๒๓๒๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มการก่อสร้างพระมหาปราสาทขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อการก่อสร้างพระราชนิเวศมณเฑียรสำเร็จเรียบร้อยดังพระราชประสงค์แล้ว จึงทรงพระกรุณา
โปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนและขบวนประเพณี
ที่มีมาตั้งแต่โบราณอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๓๒๘
การย้ายเมืองข้ามฟากมาอยู่ฝั่งเดียว ไม่ให้เป็นเมืองอกแตกนี้ สันนิษฐานได้ว่าเมื่อเจ้าพระยาจักรี
(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ) เสด็จกลับจากศึกป้องกันเมืองพิษณุโลกแล้ว น่าจะเอาข้อบกพร่องของการป้องกันเมืองที่อยู่ในสภาพเมือง
"อกแตก" คือแม่น้ำผ่ากลางเมืองเป็นสองซีก ยากต่อการป้องกัน คงนำความมากราบบังคมทูล
ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้ก่อนแล้ว แต่กรุงธนบุรีนั้นมีสงครามยืดเยื้อ รบติดต่อมาตลลอดเวลา
๑๕ ปี ซึ่งพระจ้าตากสินมหาราช อาจจะทรงเห็นด้วยกับแผนการย้ายเมืองข้ามฟาก
มาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงฝั่งเดียว และอาจจะให้เตรียมแผนการย้ายหรือการปลูกสร้างเอาไว้ด้วยก็ได้
แต่ยังทำไม่ได้เพราะความยากจนของประเทศ และติดศึกสงคราม จึงอาจให้ระงับแผนการย้ายไว้ก่อน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ จึงทรงสามารถย้ายเมืองข้ามฟากมาได้ทันที
แสดงว่ามีแผนการย้ายอยู่ดั้งเดิม จึงทำได้รวดเร็วและปราสาทราชมณเฑียร ตลอดจนการสร้างวัดพระแก้ว
ล้วนแต่พยายามสร้างตามแผนแบบของพระราชวังในกรุงศรีอยุธยา เป็นการถ่ายแบบมาอย่างใกล้เคียงที่สุดเช่น
หันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ มีแม่น้ำอยู่ริมพระราชวังทางซ้าย ให้กำแพงเมืองด้านริมแม่น้ำ
เป็นกำแพงพระราชวังไปในตัว
หมู่พระที่นั่งที่เป็นพระราชมณเฑียรสถาน
ตรงกับพระวิหารสมเด็จ ส่วนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตรงกับพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ซึ่งอยู่ชิดแนวลำน้ำ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕) ตรงกับพระที่นั่งสรรเพชรปราสาท
ส่วนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรงกับวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งสร้างเป็นวัดอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นวัดในวัง
ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำวัด ผู้คนในต้นรัชกาลที่ทันเห็นสองแผ่นดิน จะเรียกกันติดปากว่าวัดพระศรีสรรเพชญ
ทำให้เห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริในทางอนุรักษ์
แบบแผนสถาปัตย์กรรมของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ตามกำลังของบ้านเมืองในขณะนั้น
พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งหมายถึงพระที่นั่งน้อยใหญ่ และรวมทั้งหอประดิษฐานปูชนียวัตถุ ซึ่งก่อสร้างต่อเนื่องจากองค์พระที่นั่งที่มีอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
ในปัจจุบันนี้มีอยู่รวม ๒๕ องค์ คือ
๑. พระที่นั่งและหอในหมู่พระมหามณเฑียร ๗ องค์
๒. พระที่นั่งและหอในกำแพงแก้วพระมหามณเฑียร ๔ องค์
๓. พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท ๒ องค์
๔. พระที่นั่งในกำแพงแก้วพระมหาปราสาท ๒ องค์
๕. พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ๓ องค์
๖. พระที่นั่งและหอในบริเวณสวนศิวาลัย ๕ องค์
๗. พระที่นั่งบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ๒ องค์
ซึ่งจะกล่าวถึงความสำคัญขององค์ที่สำคัญเท่านั้นเอาไว้ให้ทราบต่อไป
การลำดับพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นออกจะยุ่งยากสำหรับผมที่ไม่เคยไปตระเวนชมพระบรมมหาราชวังโดยละเอียด
ได้แต่รวบรวมจากเอกสารต่าง ๆ คงจะมากกว่า ๑๐ เล่ม เพื่อนำเอามาเล่าให้ทราบพอเป็นความรู้
ส่วนองค์ไหนที่เคยเข้าไปเห็นมากับตาก็จะเล่าละเอียดได้ จึงขอสรุปว่า รัชกาลใดสร้างพระมหาปราสาท
และพระราชมณเฑียรสถานใดไว้บ้างดังนี้คือ
สร้างในรัชกาลที่ ๑
๑. พระราชมณเฑียรสถานชั่วคราว (รื้อสร้างใหม่ภายหลังพระราชพิธี ฯ)
๒. พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท (ไฟไหม้)
๓. พระมหามณเฑียร เป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่ ประกอบด้วยพระที่นั่งและหอต่าง ๆ
คือ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน พระที่นั่งเทพสถานพิลาส
พระที่นั่งเทพอาศนพิไล หอพระสุราลัยพิมาน และ หอพระธาตุมณเฑียร
๔. พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์
๕. พระที่นั่งเย็นมุมพระที่นั่งอมรินทร์ (รื้อสร้างเป็นหอศาสตราคมในรัชกาลที่
๔)
๖. พระมหาปราสาท ประกอบด้วย พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, พระที่นั่งพิมานรัตยา
๗. พระที่นั่งพลับพลาสูง (ดัดแปลงในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรยปราสาท)
๘. พระที่นั่งทองในสวนชวา (รื้อแล้ว)
สร้างในรัชกาลที่ ๒
มีพระราชมณเฑียรในสวนขวา (รัชกาลที่ ๔ สถาปนาเป็นพระพุทธมณเฑียร) พระที่นั่งสนามจันทร
และเก๋งโรงละครหรือเก๋งโรงมหาสภา (รัชกาลที่ ๔ สถาปนาเป็นพระที่นั่งทรงธรรม
แต่มารื้อออกในรัชกาลที่ ๕)
สร้างในรัชกาลที่ ๓
พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
สร้างในรัชกาลที่ ๔
มีมากมายหลายพระที่นั่งคือ พระที่นั่งมหิศรปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท
พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย (รื้อแล้ว) พระอภิเนาวนิเวศน์ เป็นพระที่นั่งหมู่ใหญ่
ประกอบด้วยพระที่นั่งและหอถึงสิบองค์ ที่สำคัญและได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม
(เป็นท้องพระโรงเสด็จออกฝ่ายหน้า) พระที่นั่งบรมพิมาน
พระที่นั่งนงคราญสโมสร ฯ และยังมีอีก ๒ องค์ แต่มารื้อออกในรัชกาลที่ ๕ คือพระที่นั่งราชฤดีและพระที่นั่งสีตลาภิรมย์
(รื้อสมัย ร.๕) และมีพระที่นั่งรอบสกุณวันคือ กรงเลี้ยงนกใหญ่ รื้อออกในสมัยรัชกาลที่
๕ ยังมีอีกคือหอแก้ว (รื้อสร้างใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน) และหอศาสตราคม
สร้างในรัชกาลที่ ๕
ที่สำคัญที่สุดคือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
เข้าประตูพระมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี แล้วจะมองเห็นพระที่นั่งองค์นี้
และมีพระราชมณเฑียรที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรีมหารปราสาทอีก ๑๐ องค์
รื้อสร้างใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน ๒ องค์คือ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
พระที่นั่งที่สร้างแล้วยังอยู่อย่างงดงามคือ พระที่นั่งราชกรัณยสถา พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท
พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (เปลี่ยนนามเป็นพระที่นั่งบรมพิมาน ในรัชกาลที่ ๖)
และพระที่นั่งทรงผนวช (สร้างในสวนศิวาลัยแล้วรื้อไปสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตร
ในรัชกาลที่ ๕)
สร้างในรัชกาลที่ ๖
มีพระที่นั่งราชฤดี และพระที่นั่งสีตลาภิรมย์
สร้างในรัชกาลที่ ๙
พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติและหอแก้ว
และขอให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจด้วย พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรที่แต่ละรัชกาลสร้างขึ้นรวม
๒๕ องค์นี้ ล้วนอยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น ที่สร้างนอกเขตพระบรมมหาราชวังไม่ได้นำเอามากล่าวไว้
เช่น พระราชวังไกลกังวล สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ โดยสร้างไว้ที่อำเภอหัวหิน
เป็นต้น รายละเอียดของพระที่นั่งองค์สำคัญ เห็นจะต้องขอเล่าต่ออีกสักตอน
ไปเที่ยวพระบรมมหาราชวัง หรือไปวัดพระแก้ว ก็หาอาหารกินกันย่านนี้ มีมากมายวันนี้
ผมจะพาไปยังร้านอาหารประเภทกุ๊กช๊อพ อาหารคล้ายฝรั่ง ทำโดยกุ๊กจีนในกรุงเทพ
เท่าที่ตามชิมมามีอยู่ไม่เกิน ๕ ร้าน ร้านที่ผมชิมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘
ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ ๔ ซึ่งผมกับเพื่อนบางคนในรุ่นเดียวกัน
มีเงินเดือนในตำแหน่งหัวหน้าหมู่เดือนละ ๑๑๔ บาท สมัยนั้นถือว่ารวยทีเดียว
และเขาคัดเอานักเรียนที่เรียนดี ความประพฤติเยี่ยมมาทำหน้าที่นักเรียนฝ่ายปกครอง
รุ่นผมทั้งรุ่นตอนอยู่ชั้น ๔ ได้เป็นหัวหน้าหมู่ ๑๒ คน พอเงินเดือนออกก็ไปฉลองกันที่ร้านดังกล่าว
สมัยนั้นอาหารจานละไม่เกิน ๕ บาท อร่อยและถูกมาก ทุกวันนี้จานละไม่เกิน ๕๐
บาท สูงสุดคือ ปลาจารเม็ดเปรี้ยวหวานตัวละ ๖๐ บาท
ร้านดังกล่าว ทุกวันนี้เปิดเฉพาะวันราชการและวันหยุดนักขัตตฤกษ์ "เสาร์ -
อาทิตย์" ไม่เปิด เวลาเปิดก็ต้องเที่ยงตรง "๑๒.๐๐" จึงเปิดประตู และขายแค่
๒๐.๐๐ ก็ปิดร้านแล้ว คนขายคนเสริฟ ยังชุดเดิมกับที่เคยเสริฟผมเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว
คนกิน (ตัวผม) กับคนขายอายุ อานามคงจะพอ ๆ กัน เส้นทาง หากไปตามถนนราชดำเนิน
พอถึงหลักเมืองก็เลี้ยวขวา ผ่านประตูพระราชวังไปจนถึงประตูพิมานเทเวศรทางฝั่งซ้าย
และประตูมหาวิทยาลัยศิลปากรทางฝั่งขวา ร้านอยู่ทางขวามือ ติดกับประตูมหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่จอดรถออกจะหายาก ต้องเข้าไปจอดในวัดพระมหาธาตุ แถว ๆ ท่าพระจันทร์ ไปแท็กซี่สะดวกที่สุด
เข้าไปในร้านยังบรรยากาศเดิม ๆ จัดร้านด้วยโต๊ะเก้าอี้ น่าจะชุดเมื่อ ๕๐ ปี
เว้นภาพที่ฝาผนังเคยเป็นกองเรือของเจียงไคเชค หายไป อีกด้านเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์แทน
นอกจากนั้นร้านจัดเหมือนเดิม ในห้องขนาด ๒ ห้อง ไป ๒ คน สั่งอาหารสัก ๔ -
๕ อย่าง ก็กินหมด เพราะจานไม่โต มื้อเย็นคนจะยิ่งแน่น เมื่อก่อนกินเหล้าไม่หมดฝากเอาไว้มากินวันหลังได้
อาหารที่สั่งวันนี้ อาหารเก่าแก่ รสดั้งเดิม อร่อยเหมือนเดิมคือ ปลาจารเม็ด
ทอดกระเทียมพริกไทย หรือเปรี้ยวหวาน จานนี้แพงที่สุด ๖๐ บาท อิ่มแล้วจานนี้ไม่มีอะไรเหลือในจาน
เพราะทอดปลากรอบกินได้ตั้งตัว น้ำเปรี้ยวหวาน รสหวานอมเปรี้ยว
เนื้อสันในสลัดผัก เนื้อนุ่ม เปื่อย มีมะเขือเทศ ผักสลัดหอมใหญ่ สลัดน้ำใส
สตูลิ้นวัว ลิ้นวัว นุ่มเปื่อย แต่ได้เคี้ยว น้ำสตูราดข้าวเหยาะด้วยนำปลาพริกสักนิด
ลิ้นวัวทอดกรอบ หากินยากนัก ๑ จาน มี ๓ ชิ้น ชุปแป้งทอดกรอบนุ่มใน จิ้มซ๊อสพริก
สันในหมูอบ คล้ายสตู
อาหารน้ำเลือกสั่งเอา ต้มข่าไก่, ปลากะพงต้มยำ
ของหวานไม่มี เดินไปนิดเดียวก็ถึงท่าช้าง วังหลวง ซื้อขนมไปกินต่อตอนขับรถ
...................................................
|