ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์
จ.สมุทรปราการ เส้นทาง หากไปทางด่วนข้ามสะพานพระราม ๙ แล้ว ชิดซ้ายลงตามป้ายที่บอกว่า
"สุขสวัสดิ์" ลงสู่ถนนสุขสวัสดิ์ แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งไปอีกประมาณ ๑๙ กม. จะถึงประตูทางเข้าเขตทหารเรือ
การผ่านเข้าเขตทหารไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ทหารยามจะขอแลกบัตรประชาชน หรืออาจจะขอเปิดท้ายรถเก๋งตรวจเพื่อความปลอดภัย
จากนั้นก็วิ่งตรงไปสุดทางแล้ว เลี้ยวซ้ายวิ่งตรงต่อไปเรื่อย ๆ จนพบกรมอีเลคทรอนิค
ก็เลี้ยวขวาตรงสี่แยกกรมนี้ จะมองเห็นพระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่
๕
ขอทบทวนเส้นทางไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สู่ป้อมพระจุล ฯ ไว้ด้วย เมื่อลงจากทางด่วน
เข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ก็จะวิ่งลอดใต้สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม ผ่านสามแยกพระประแดง
(ไปตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง)
ไปพระสมุทรเจดีย์
(ก่อนถึง ๑ กม. มีหอนาฬิกา) หรือ หากเลี้ยวขวาที่หอนาฬิกาก็จะไปยังตัวอำเภอพระสมุทรเจดีย์
หากไม่เลี้ยวไปอำเภอ (ซึ่งจะเลยไปยังบ้านสาขลา) ตรงต่อไปรวมแล้วตั้งแต่ลงจากสะพานพระราม
๙ ประมาณ ๑๙ กม. ก็จะเข้าสู่เขตทหารเรือ เมื่อเข้าไปถึงยังราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว
ก็จะมีสถานที่สำคัญดังนี้
จอดรถที่ริมถนนหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ มีศาลพระนเรศ
- นารายณ์
พระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ ฉลองพระองค์จอมพลเรือ ประทับยืน
ห้องแสดงนิทรรศการอยู่ใต้พระบรมราชานุสาวรีย์
ฯ เป็นนิทรรศการประวัติ และการพัฒนาการของกองทัพเรือ และเหตุการณ์สำคัญต่าง
ๆ เช่น รัชกาลที่ ๕ เสด็จเปิดป้อมพระจุล ฯ และทรงยิงปืนเสือหมอบ
ผังแสดงที่ตั้งป้อมปืนต่าง ๆ ในลำน้ำเจ้าพระยา เรือประเภทต่าง ๆ ของกองทัพเรือ
แผนที่และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของทหารเรือ
ป้อมพระจุลจอมเกล้า อยู่ด้านหลังของพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ เดินไปสัก
๓๐ เมตร ก็จะเข้าประตูทางเข้าสู่ป้อมปืน ซึ่งทางเดินเหมือนเดินในอุโมงค์ เพดานสูงประมาณ
๒ เมตร เรียกว่าผมเดินศีรษะหวิดถึงเพดาน (เพราะผมสูง ๑๘๐ ซม.) ภายในอุโมงค์จะแบ่งออกเป็นห้องพักของพลประจำปืน
ห้องคลังดินปืน (กระสุนแบบแยกบรรจุ) ห้องคลังลูกปืน ภายในห้องอากาศเย็น ไม่ร้อน
ส่วนตัวปืนนั้นอยู่ ณ ที่ตั้งยิงที่อยู่สูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย มีด้วยกันทั้งหมด
๗ กระบอก
แต่ละป้อมที่อยู่ติดต่อกันไปนี้ จะเดินถึงกันหมด มีปืนเสือหมอบเป็นปืนใหญ่
ขนาดกว้างปากลำกล้อง ๑๕๒ มิลลิเมตร (ปัจจุบัน ปืนใหญ่ไทยมีขนาดกว้างปากลำกล้อง
๑๕๕ และ ๑๐๕ มม.) ระยะยิงไกลสุด ๘,๐๔๖ เมตร พลประจำปืนมี ๗ คน พลกระสุนอีก
๓ คน ที่เรียกว่าเสือหมอบ เพราะปกติปืนจะอยู่ต่ำกว่าขอบที่ตั้งยิง เมื่อทำการยิงปืนจะยกตัวสูงขึ้น
ด้วยการใช้อากาศและน้ำมันอัด เมื่อยิงแล้วก็จะลดลำกล้องต่ำลงมา สร้างโดยบริษัทอารม์สตรอง
ประเทศอังกฤษ ต้องถือว่าเป็นปืนที่ทันสมัยอย่างยิ่ง เพราะระบบทางเทคนิคของปืนใหญ่นั้น
เจริญสูงสุดมาตั้ง ๕๐ ปีแล้ว ปัจจุบันปืนใหญ่วันนี้ยิงไกลกว่าปืนใหญ่ สมัยที่อเมริกันให้เราเมื่อ
พ.ศ.๒๔๙๕ ก็เพราะการพัฒนาตัวกระสุน ไม่ใช่ตัวปืนที่พัฒนาไปบ้างแต่ไม่มากนัก
กับพัฒนาวิธีการคำนวณการยิง เอาคอมพิวเตอร์มาช่วยให้เร็วขึ้น ผิดกับสมัยที่ผมทำหน้าที่
นายทหารอำนวยการยิง เมื่อสัก ๔๕ ปีมาแล้ว คำนวณโดยใช้บรรทัดตารางยิง และความรวดเร็วจะอยู่ที่สมองของผู้ใช้บรรทัดตารางยิงด้วย
นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จแล้ว อยากจะเลือกไปรับราชการในเหล่าทหารปืนใหญ่ ต้องคำนวณดี
และเรียนในเกณฑ์ดี จึงจะมีสิทธิ์เลือกไปเป็นทหารปืนใหญ่ได้ แต่สมัยนี้ใช้คอมพิวเตอร์
เป็นก็คงจะเป็นได้แล้ว ผมไม่ทราบรายละเอียดวิธีการคำนวณการยิงของปืนเสือหมอบ
ที่จะต้องคำนวณมุมทางสูงคือ
ระยะยิง และคำนวณมุมทางทิศ
กับคำนวณมุมพื้นที่ยิง
ซึ่งต้องยอมรับว่าทันสมัยมาก สำหรับการยิง เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ กองทัพบกมีปืนใหญ่ที่บรรจุลูกกระสุน
ทางท้ายปืนเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ และต่อมาซื้อเพิ่มเติมอีกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐
เป็นปืนที่ผลิตโดย บ.โบฟอรส์ ของสวีเดน เป็นกว้างปากลำกล้อง ๗๕ มม. และ ๑๐๕
มม. ล้าหลังปืนป้อมพระจุล ถึง ๔๒ ปี
ป้อมพระจุลจอมเกล้า เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ สร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมยิงเมื่อ
พ.ศ.๒๔๓๖ และ "เปิดฉากการรบ ด้วยยิงกระสุนจริง ต่อเรือรบฝรั่งเศส ที่บุกรุกเข้ามาในน่านน้ำไทย"
หลังจากพิธีเปิดป้อมได้ผ่านไปเพียง ๔ เดือน
การสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๗ แล้วเสร็จเมื่อ ๑๗
มิ.ย. ปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) หลังจากมีพิธีเปิดได้เพียง ๔ เดือน ก็ได้เปิดฉากการยิงกับเรือรบของฝรั่งเศส
ที่บุกรุกเข้ามาในน่านน้ำไทย เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ผลการสู้รบในครั้งนี้
ทหารประจำเรือรบหลวงที่เข้าร่วมรบด้วย ต้องพลีชีพเพื่อชาติไป ๘ คน ฝ่ายฝรั่งเศสตายไป
๓ คน และถือโอกาสเรียกร้องเป็นการใหญ่ จนผลที่สุดฝ่ายไทยต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
เป็นการเสียแขนเพื่อรักษาร่างกายเอาไว้
เมื่อชมป้อมพระจุลจอมเกล้าแล้ว ให้เดินต่อไปทางด้านตะวันออกของพระบรมราชานุสาวรีย์
เพื่อไปชม "เรือหลวงแม่กลอง"
ซึ่งจัดเป็นเรือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งลำแรก
เรือลำนี้นักเรียนนายเรือถือเป็นเรือครู เพราะพานักเรียนนายเรือออกไปฝึกภาคทางทะเลมาหลายสิบรุ่น
เรือเข้าประจำการ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ และปลดประจำการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ อนุญาตให้ประชาชนขึ้นไปชมบนเรือหลวงแม่กลองได้
เรืออยู่ในสภาพที่ดีเลิศ
ติดกับเรือหลวงแม่กลอง กำลังสร้างสะพานยื่นออกไปในทะเล เพื่อชมวิวและให้เรือนักท่องเที่ยว
นำเรือเข้ามาเทียบท่าได้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๕๐ นี้
ด้านหน้าตรงข้ามกับสโมสรคือ อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ
จัดตั้งอาวุธของกองทัพเรือเอาไว้ให้ชมที่กลางแจ้ง พร้อมทั้งคำบรรยาย และยังมีศาลานิทรรศการแสดงอาวุธในสมัย
ร.๕ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
อาวุธสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น แต่บริเวณค่อนข้างร้อน เพราะต้นไม้ใหญ่ยังมีน้อย
หากคิดไปกินอาหารมื้อเย็นละก็ได้เวลาเหมาะเลยทีเดียวคือ ได้เดินชมอุทยานประวัติศาสตร์กลางแจ้ง
ได้อย่างเต็มที่แล้วมากินอาหารเย็น ชมวิว รับลมทะเลที่พัดเข้ามาจากปากอ่าว
ที่มองเห็นได้ไม่ไกลจากสโมสร
ผมไปครั้งแรกคงประมาณสัก ๓ - ๔ ปี มาแล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างสโมสรแห่งนี้
แต่ร้านอาหารมีแล้วชื่อร้าน "ท้ายเรือ" เป็นร้านธรรมดา ๆ ไม่โอ่โถงอะไร รสอาหารอยู่ในเกณฑ์ดี
ตอนนี้ร้านเก่าได้รื้อออกไปแล้ว เพื่อเอาสถานที่สร้างสโมสร และคงจะทำลานจอดรถต่อไปด้วย
สโมสรที่สร้างใหม่ ติดชายน้ำและป่าชายเลนนี้ สวยงามมากไม่ต้องติดแอร์ พัดลมก็ไม่ต้องใช้
เพราะลมทะเลพัดเข้ามาเย็นสบาย สถานที่กว้างขวางมาก ผมไปมื้อกลางวัน วัดหยุดด้วยคนแน่นเต็มทีเดียว
ตอนเย็นก็จะแน่นเพราะบรรยากาศดี อาหารอร่อยมาก (กุ๊ก คนละชุดกับร้านเดิม)
ราคาย่อมเยา ร้านอหารสโมสร เปิดต้อนรับทุกวันทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น เช่นเดียวกับการมาชมป้อมพระจุลจอมเกล้า
เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ เป็นต้นไป
สโมสรท้ายเรือหลวงแม่กลอง ๐๘๑ ๙๓๖ ๓๐๔๕ ๐๒ ๔๗๕ ๖๐๗๖ ร้านอาหารประจำสโมสรก็เป็นร้านดั้งเดิมคือ
ร้านท้ายเรือ ผู้จัดการเป็นทหารเรืออดีตจุมโพ่ หรือพ่อครัวประจำเรือรบมาก่อน
มีฝีมือในการทำอาหารมาก เพราะจุมโพ่ประจำเรือนั้น มีอาหารสดน้อย ต้องรู้จักพลิกแพลงทำอาหารไม่ให้ลูกเรือเบื่อ
รายการอาหารที่ขึ้นกระดานโชว์เอาไว้มี ปลากะพงท้ายเรือ ปลาเก๋า ปลากระบอกทอดขมิ้น
ปลาสำลี ปลาแรด ปลาช่อนทอดข่า ฯ
กุ้งแชบ๊วย ซ๊อสมะขาม รสออกเปรี้ยวด้วยมะขาม อมหวานนิด ๆ เคียงข้างมาด้วยมะเขือเทศสีแดงสด
และแตงกวา รสเปรี้ยว อมหวานแทรกเข้าเนื้อกุ้ง อร่อยจริงๆ
ปูผัดพริกไทยดำ มีก้ามปูใหญ่ ๆ กระเทียมสับ หมูสับราดหน้า
"ส้มตำปูม้าไข่" จานนี้อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด เป็นส้มตำธรรมดา ที่รสไม่ธรรมดา
หากเราเป็นผู้อาวุโส หรือมีความว่องไวในการตัก ให้รีบชิงตักเอากระดองปูมาเสีย
เพราะน้ำส้มตำรสเลิศจะอยู่ในกระดองปู พร้อมด้วยไข่แดงของปู รสเปรี้ยวนิด ๆ
อมหวานจะรวมกันมาอยู่ในกระดองปู และในน้ำส้มตำ มะละกอสด กรอบ มีมะม่วงหิมพานต์โรยหน้ามา
ทำให้เคี้ยวสนุก เผ็ดนิดเดียว เรียกว่าเผ็ดอร่อย ผักสดใส่จานโรยน้ำแข็ง มีถั่วฝักยาว
ผักบุ้ง กล่ำปลี ขอยกให้ทั้งมือ สำหรับส้มตำปูม้าไข่ดอง
ปลาเก๋า ๕ รส บั้งปลาออกมาเป็นชิ้นให้กินสะดวก แต่จัดให้สวยด้วยการประกอบกลับเป็นตัวปลา
ทอดปลากรอบนอกนุ่มใน หัวปลากรอบแทบจะกินได้ทั้งหัว โรยด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง
ล้วนแต่ทำให้เคี้ยวสนุกสนานทั้งนั้น เช่น พุทราจีน แป๊ะก๊วย มะม่วงหิมพานต์
ไส้กรอก เห็ดหอม น้ำผัดออกครบ ๓ รส ตักรวม ๆ กันทั้งเนื้อปลา ส่งเข้าปาก เป็นจานที่อร่อยและเคี้ยวสนุก
ต้มยำกุ้งมะพร้าวอ่อน ใส่มาในหม้อไฟร้อนโฉ่ กุ้งขนาดกลาง ผ่าซีกมาให้เสร็จ
ของหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวมี ๓ สี ม่วง เขียว ขาว มะม่วงหวาน
ฮาวายท้ายเรือ เป็นของหวานที่ไม่ควรโดดข้ามไป ผู้จัดการมาแนะนำเองว่า มีเต้นฮาวายด้วย
ฟังแล้วชักงง ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่า จะมีไอศครีมอร่อยที่เสริฟมาในลูกมะพร้าว
แต่หากให้เต้นมาเสริฟ ก็จะเต้นฮาวายมาด้วย ถามคนไหนเต้น เขาก็ชี้สาวเสริฟที่เอวบาง
ร่างน้อย บอกว่าคนนี้แหละจะเต้นมาเสริฟ ผมก็สั่งฮาวายท้ายเรือ ๒ ที่ ข้าวเหนียวมะม่วงอีก
๒ ที่ สาวน้อย (มารู้ภายหลังว่าสาวประเภทสอง ไม่บอกคงรู้ยาก) มากระซิบถามว่า
จะให้หนูเต้นออกมาหรือเปล่า เพราะเต้นเหนื่อยจะสั่งตามกันหลายโต๊ะ ผมอยากรู้ก็บอกว่า
ต้องเต้นฮาวายออกมาด้วย เขาก็หายไปสัก ๕ นาที ไปเปลียนเครื่องแต่งตัวชุดฮาวาย
เทปเพลงขึ้น สาวน้อยออกมาเต้นโชว์ไปตามโต๊ะสัก ๒ - ๓ นาที ก็กลับเข้าไป ทีนี้มือซ้ายถือลูกมะพร้าวที่ใส่ไอศคริม
และมีเยนลี่ปักมาด้วย ออกมาเต้นไปตามโต๊ะ แล้วมาหยุดที่โต๊ะผม วางลูกมะพร้าวใส่ไอศคริมลง
" ฮาวายท้ายเรือ"
...........................................................
|