|
ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด
(พระธาตุมหาชัย)
การเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ซึ่งรวมกันอยู่ในจังหวัดนครพนมแห่งเดียวทั้ง
๗ วัน ขอทบทวนเอาไว้อีกครั้ง เพื่อสะดวกกับท่านที่มาอ่านตอนนี้ ไม่ได้อ่านตอนที่ผมเขียนเอาไว้อีก
๖ วัน ที่ผ่านมา จะไม่ต้องไปค้นคว้า และจะได้กล่าวถึงพระพุทธรูปบูชาประจำวันเกิดไว้ด้วย
พระธาตุที่ไปไหว้มาแล้วคือ
พระธาตุศรีคุณ
หรือศรีคูณ พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคาร อยู่ที่อำเภอนาแก
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคารคือ พระพุทธปางไสยาสน์
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด "ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง" ให้สวดบูชาวันละ
๘ จบ
พระธาตุพนม
พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ อยู่ที่อำเภอธาตุพนม
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันอาทิตย์ คือ พระพุทธรูปปางถวายเนตร
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด "อะ วิส สุ นุต สา นุส ติ " ให้สวดบูชาวันละ
๖ จบ
พระธาตูเรณู
พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์ อยู่ที่อำเภอเรณูนคร
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์คือ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด " อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา " ให้สวดบูชาวันละ
๑๕ จบ
พระธาตุนคร
พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ อยู่ที่อำเภอเมืองนครพนม
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์คือ พระพุทธรูปปางนาคปรก
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด " โส มา นะ กะ ริ กาโธ " ให้สวดบูชาวันละ
๑๐ จบ
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันศุกร์คือ พระพุทธรูปปางรำพึง
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด " วา โธ โน อะ มะ มะ วา " ให้สวดบูชาวันละ
๒๑ จบ
พระธาตุประสิทธิ์
พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัสบดี อยู่ที่อำเภอนาหว้า
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัสบดีคือ พระพุทธรูปปางสมาธิ
คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด " ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ " ให้สวดบูชาวันละ
๑๙ จบ
พระธาตุมหาชัย
พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธ อยู่ที่อำเภอปลาปาก
พระพุทธรูปประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธจะต้องบ่งว่าเกิดกลางวัน หรือกลางคืน
ตามหลักโหราศาสตร์ไทย ได้จัดแบ่งคนเกิดวันพุธ ออกเป็น วันพุธกลางวัน และวันพุธกลางคืน
คนเกิดวันพุธกลางวัน หมายถึง เกิดตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๑ - ๑๘๐๐ น. ให้สร้างพระปางอุ้มบาตรเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด
พุธกลางวัน มีคาถาสวดบูชาคือ " ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท " ให้สวดบูชาวันละ
๑๗ จบ
คนเกิดวันพุธกลางคืน หมายถึง ผู้ที่เกิดตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๑ - ๐๖.๐๐ น. ให้สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์
เป็นพระประจำวันเกิด
มีคาถาบูชาคือ " คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ " ให้สวดบูชาวันละ ๑๒ จบ
การถือว่าเราจะเกิดวันไหน หากจะถือตามหลักโหราศาสตร์ไทย ต้องดูเวลาเกิดด้วย
หากเกิดตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๑ ไปจนถึง ๐๖.๐๐ ของอีกวันหนึ่งถือเป็นวันเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น คนเกิดในคืนวันพฤหัสบดี เวลา ๐๕.๑๕ น. ก็ยังถือว่าเป็นวันพฤหัส
แต่หากนับอย่างสากลถือว่า ๒๔.๐๑ น. เป็นวันใหม่ คือต้องนับว่าเกิดวันศุกร์
แต่หากจะเอาวันไปผูกดวงชะตากันละก็ ต้องถือว่าเกิดวันพฤหัส เวลา ๐๕.๑๕ น.
คือ เกิด "วันพฤหัส"
ที่ผมนำเอาพระธาตุประจำวันเกิดมาทบทวนให้ทราบซ้ำ ๆ กัน เพราะจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ท่าน
ที่อยากไปกราบไหว้นมัสการ และพอไปอ่านของวันศุกร์ แต่ตัวเองเกิดวันจันทร์
ก็ต้องไปค้นย้อนหลังอีก ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผมเขียน พระธาตุประจำปีเกิด
ซึ่งจะถูกสอบถามกลับมาตลอดเวลา เลยขอลงซ้ำเอาไว้ สะดวกต่อการค้นหา
ได้พากันไปนมัสการพระธาตุไปแล้ว ๖ วัน คงเหลือวันพุธ อีกวันเดียว คือ พระธาตุมหาชัย
ซึ่งเป็นพระธาตุของคนเกิดวันพุธ จะกลางวันหรือกลางคืน ก็พระธาตุองค์เดียวกัน
แต่คาถาบูชาต่างกัน
คาถาบูชาพระธาตุมหาชัย ของคนเกิดวันพุธกลางวัน คือ "ปิ สัม ระโล ปุ สัต พุท"
ให้สวดบูชา ๑๗ จบ ชื่อคาถาพระนารายณ์เลื่อนสมุทร ใช้เสกปูนสูญผี
คาถาบูชาพระธาตุมหาชัย ของคนเกิดวันพุธกลางคืน คือ "คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ
คะ" ให้สวดบูชาวันละ ๑๒ จบ ชื่อคาถาพระนารายณ์พลิกแผ่นดิน ใช้ทางแก้ความผิด
ใครจะเกิดวันไหนก็ตาม หากได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุมหาชัย และจะได้อานิสงฆ์ประสบชัยชนะในชีวิต
สิ่งของบูชาพระธาตุ มีข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกบัว ธูป ๑๗ ดอก หรือ
๑๒ ดอก สุดแล้วแต่จะเกิดเวลากลางวัน หรือกลางคืน เทียนขาว ๒ เล่ม
เส้นทางไปได้หลายวิธี ท่านต้องตัดสินใจเลือกเอาเอง เพราะผมไปแบบอ้อมโลก
เส้นทางที่ ๑
เป็นเส้นทางที่ผมเดินทางไป คือ ไปจากพระธาตุศรีคูณ
มาธาตุพนม แล้วไปธาตุเรณูต่อไป
ก็ผ่านอำเภอปลาปาก เลยอำเภอไปอีกคงจะร่วมหลายสิบกิโลเมตร จนวิ่งไปออกถนนสาย
๒๒ สกลนคร - นครพนม แล้วเลี้ยวซ้ายไปจนถึงหลักกิโลเมตร ๒๐๕ หรือ ๓๗ กิโลเมตร จากตัวเมืองนครพนม
จึงเลี้ยวซ้ายไปอีก ๒ กิโลเมตร จะถึงวัดพระธาตุมหาชัย
ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก ซึ่งเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างจะอ้อม และถนนสายจากปลาปาก
ไปออกถนนสาย ๒๒ ถนนไม่สู้จะดี ทางแคบ และค่อนข้างเปลี่ยว หากรถเสียกลางทาง
หรือน้ำมันหมดคงลำบาก หาปั๊มไม่ได้เลย
เส้นทางที่ ๒
เป็นเส้นทางไปที่ผมผ่านมาในวันหลัง วันที่ไปยังพระธาตุประสิทธิ์ ที่อำเภอนาหว้า
คือ ไปจากตัวเมืองนครพนม ไปยังพระธาตุท่าอุเทน
แล้วเลยไปกินอาหารกลางวันที่ปากน้ำสงคราม ย้อนกลับมาอีก ๖ กม . ก็เลี้ยวขวาไปยังอำเภอศรีสงคราม
ต่อไปยังอำเภอนาหว้า ไหว้พระธาตุประสิทธิ์
จากนั้นไม่ย้อนกลับมาตามเส้นทางไป คงไปต่อจนไปบรรจบถนนสาย ๒๒ ที่ดอนเชียงบาน
แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านตำบลท่าแร่ จนถึงหลัก กิโลเมตร ๒๐๕ ก็เลี้ยวขวาเข้าไปยังประตู
วัดพระธาตุประสิทธิ์ ไปวันเดียวได้ ๓ พระธาตุ
เส้นทางที่ ๓
เหมาะสำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปพระธาตุองค์อื่นที่ไม่ใช่วันเกิดของตน มุ่งไปไหว้พระธาตุของคนเกิดวันพุธอย่างเดียว
ก็ไปจากตัวอำเภอเมืองนครพนม หากไปแล้วจะกลับมานอนนครพนมต่อ (หรือจะกลับทางสกลนคร)
ขอแนะว่าควรไปเช้า ๆ เช่น สักแปดโมงเช้า วิ่งผ่านค่ายทหารชื่อ ค่ายพระยอดเมืองขวาง
ซึ่งเป็นค่ายของจังหวัดทหารบกนครพนม เอาไว้โอกาสหลังผมจะเล่าเรื่องพระยอดเมืองขวางให้ท่านทราบ
ต้องถือว่าท่านเป็นวีระบุรุษคนหนึ่ง ที่ป้องกันเมืองที่ท่านเป็นเจ้าเมือง
ด้วยการสู้รบกับฝรั่งเศส แต่เมื่อพ่ายแพ้ และฝรั่งเศสถือเป็นสาเหตุเรียกร้องดินแดน
และเงินชดใช้ไปจากประเทศไทย สมัย ร.ศ.๑๑๒ โดยหาว่าไปฆ่าคนฝรั่งเศส และคนในบังคับของฝรั่งเศส
(ทหารญวน) ตาย ขึ้นศาลไทยครั้งแรกพระยอดเมืองขวางพ้นความผิด เพราะรบป้องกันประเทศจะผิดได้อย่างไร
แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมฟังคำตัดสิน ให้ตัดสินใหม่ โดยขอให้ฝรั่งเศสตั้งผู้พิพากษา
๓ คน ให้ฝ่ายไทยตั้งได้เพียง ๒ คน คณะผู้พิพากษามี ๕ คน เรียกว่าแพ้คดีกันตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล
ตัดสินครั้งนี้ พระยอดเมืองขวาง ถูกตัดสินให้จำคุก (ฟรี ๆ ) ถึง ๒๐ ปี ค่ายทหารแห่งนี้จึงมีอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง
ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ของคุณความดีของทหารกล้าผู้หนึ่ง ที่รบชนะ ป้องกันบ้านเมืองของตัวเองได้
แต่ต้อง "ติดคุก" แปลกดี
ดังนั้นหากไปจากตัวเมืองนครพนมก็จะไปผ่านค่ายพระยอดเมืองขวาง ขอทหารยามเข้าไปเคารพสักการะท่านได้
อนุสาวรีย์ของท่านอยู่หน้าทางเข้า เข้าประตูไปสัก ๓๐ เมตร ก็จะพบอนุสาวรีย์ของท่าน
จากค่ายทหารวิ่งต่อไปจนถึงหลักกิโลเมตร ๒๐๕ ก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังวัดพระธาตุมหาชัย
รวมระยะทางห่างจากตัวเมือง ๓๙ กิโลเมตร
ประวัติค่อนข้างจะสับสนคือ ทางวัดพิมพ์แจกเอาไว้อย่างหนึ่ง แต่ของการท่องเที่ยวว่าไว้อีกอย่างหนึ่ง
ผมเลยไม่ทราบว่าของใครถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้ท่านผู้อ่านช่วยผมวินิจฉัยความถูกต้องด้วย
ในหนังสือคู่มือไหว้พระธาตุประจำวันเกิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เขต ๔ กล่าวไว้ว่า พระธาตุมหาชัย อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนม ๓๙ กิโลเมตร สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๕ มีลักษณะเป็นองค์พระธาตุเป็นรูปแปดเหลี่ยม สูง ๔๐ เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และพระอรหันต์ธาตุของพระอัญญาโกณฑัญญะ พระสารีบุตร และพระอนุรุทธ บริเวณใกล้เคียงกัน
มีพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้สะเดาหวานใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ
มีลวดลายศิลปะที่งดงามหาชมได้ยากยิ่งในภาคอีสาน
ส่วนในประวัติการสร้างที่ทางวัดพระธาตุมหาชัยพิมพ์เอาไว้แจกนั้น ได้บันทึกไว้ว่า
พระธาตุมหาชัยองค์เดิม ได้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยดำริของหลวงปู่คำพันธ์
โฆสปัญโญ โดยที่สร้างแล้วองค์พระธาตุมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ฐานพระกว้าง ๓๒ เมตร
ยาว ๓๒ เมตร มี ๒ ชั้น ชั้นล่างสูง ๒.๕๐ เมตร ชั้นบนสูง ๒ เมตร องค์พระธาตุสูง
๑๐.๕๐ เมตร รวมทั้งฐานด้วยสูง ๑๕ เมตร หากนับจนถึงฉัตรด้วยจะสูง ๑๖ เมตร
พ.ศ.๒๕๑๒ ศิษย์ของหลวงปู่คือ พระมหาเฉวต จำพรรษาอยู่ที่นครเวียงจันทร์ ได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่
และได้นำเอาพระอรหันต์สารีริกธาตุของพระอัญญาโกญฑัญญะ ปฐมสาวกถวายแก่หลวงปู่
เพราะเห็นว่าหลวงปู่กำลังจะสร้างพระธาตุอยู่
พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระธาตุ
พ.ศ.๒๕๑๗ พล.ตำบลท.วศิษฐ์ เดชกุญชร (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมชุดคุ้มครองตำบล
(ช.ค.ตำบล) และชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ได้มาเห็นองค์พระธาตุเกิดความเลื่อมใส
และขอทราบประวัติความเป็นมาขององค์พระธาตุตลอดจนการก่อสร้าง ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายตำรวจประจำราชสำนัก)
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุมหาชัย
และทรงเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร และพสกนิกร
พระธาตุองค์ปัจจุบันเป็นพระธาตุที่หลวงปู่คำพันธ์ ดำริที่จะสร้างองค์พระธาตุรอบองค์เดิม
ให้มีระยะห่างจากองค์เดิม ๑ เมตร และจะมีความสูงรวมทั้งฐานด้วยจะสูง ๓๗ เมตร
มีความหมายเป็นปริศนาธรรมมคือ แปดเหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์แปด และที่สูง
๓๗ เมตร หมายถึงธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ ๓๗ ประการ
มรรคแปดได้แก่สัมมาทิฎิฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ, สัมมาวาจา
เจรจาชอบ, สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ, สัมมาวายามะ
ความเพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ส่วนโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการคือ ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้ได้แก่ สติปัฏฐาน
๔ สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๘ และมรรค ๘
ซึ่งการสร้างครอบครั้งนี้ทางวัดต้องทำหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เพื่อขออนุญาตฺสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิม
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ
๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ภายในวัดยังมีกุฎฺหลวงปู่คำพันธ์ หอระฆัง โรงเรียนพระปริยัติธรรม
ศาลาการเปรียญ ในศาลามีรูปเหมือนของหลวงปู่ ภายในศาลาการเปรียญมีพระพุทธชินราชจำลอง
ตามฝาผนังจะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง เขียนภาพในพุทธประวัติ ในอุโบสถมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มหาชัยจำลองมาจากองค์จริงที่อยู่บนกุฎิหลวงปู่
เป็นพระประธาน มีพระพุทธรูปยืนที่แกะสลักจากไม้สะเดา ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และในอุโบสถยังมีภาพพุทธประวัติ ภาพการอพยพมาสร้างหมู่บ้าน การสร้าพระธาตุ และการเสด็จมาบรรจุพระบรมธาตุของพระเจ้าอยู่หัว
วัดพระธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ๔๘๑๖๐ โทร. ๐๙ ๙๔๑๒๓๙๖
กลับจากวัดธาตุมหาชัย พอเหลือระยะทางอีก ๔ กิโลเมตร จะถึงตัวจังหวัดนครพนม ทางขวามือคือ
ทางเข้าบ้านนาจอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนคอนกรีต จนสุดทางจะพบป้ายชี้ให้เลี้ยวไปทางซ้าย
"แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์บ้านนาจอก
๔๕๐ เมตร" เลี้ยวซ้ายตามป้ายไป จะผ่านศาลเจ้าพ่อต่ายเงือง เลยไปอีกนิดคือ
จุดท่องเที่ยว บ้านโฮจิมินต์
เป็นบ้านที่สร้างขึ้นใหม่ แทนหลังเก่าที่เก่าแก่กว่า ๘๐ ปี แล้ว แต่สร้างใหม่แต่ก็ดูเก่าแก่ราวกับอายุ
๘๐ ปี จริง ๆ สร้างตามแบบเดิมทุกประการ รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ ก็ตกแต่งเอาไว้แบบเดิม
เพิ่มขึ้นมาคือ มีประวัติของท่าน และภาพต่าง ๆ ที่ประดับเอาไว้ข้างฝาเท่านั้น
ท่านโฮมาพักอาศัยเพื่อเคลื่อนไหวในการต่อสู้ เพื่อกอบกู้เอกราช ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๖
- ๒๔๗๒ ต้นมะพร้าว ต้นมะเฟือง ที่ท่านโฮ ปลูกเอาไว้ยังอยู่ดี ทางด้านหลังบ้านมีเรือนครัว
และยุ้งข้าว เป็นบ้านสวนแบบโบราณร่มรื่น ท่านนำประเพณีของชาวเวียดนามมาเผยแพร่
นำพืชจากเวียดนามมาปลูก เช่น มะเฟือง และชา ภายในบ้านมีห้อง โต๊ะ เก้าอี้ยาว
ตรงมุมห้องมีชั้นวางของ และมีรูปปั้นครึ่งตัว
ก่อนถึงบ้านท่านโฮ มีโครงการหมู่บ้านมิตรภาพไทย - เวียดนาม ซึ่งมีพิธีเปิดเมื่อ
๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ โดยนายกรัฐมนตรีสังคมนิยมเวียดนาม นาย วันทาย กับ พ.ตท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย
จากโครงการหมู่บ้าน ฯ ผมกลับเข้าเมืองนครพนม นอนพักเสียอีกหนึ่งคืน
อาหารค่ำคืนนี้ไม่ได้ออกไปหาชิมข้างนอก คงชิมในห้องอาหารของโรงแรม ชวนชิมอาหาร
โดยเชลล์ชวนชิม คุณภาพจึงเชื่อถือได้แน่ ผมสั่งอาหารมาชิมดังนี้
แหนมเนือง จัดใส่จานมาสวย ใช้แป้งห่อผักกาดหอมมาเป็นคำ ห่อสวย น่ากิน และในจานมีหมูปิ้ง
หรือแหนมเนือง ที่เหนียวหนับวางมาที่ขอบจาน มีกระเทียมโทน พริกขี้หนู กล้วยดิบ
มะเฟือง มีถ้วยน้ำจิ้มที่เด็ดมาก เพราะกินแหนมเนืองต้องจัดผัก วางเรียบร้อยแล้งราดด้วยน้ำจิ้ม
ใครจะเก่งกว่าใครก็ตรงปิ้งหมูปิ้ง กับน้ำจิ้ม
หมูย่างใบชะพลู หรือ "แฮว ล้าโลด"
กุ้งพันอ้อย หรือ "จ๋าวตม"
ปอเปี๊ยะสอดไส้หมู หรือ "บี๋ก๋วน" กินอาหารเวียดนาม ใครชอบผัก กินสนุก
เพราะมีผักมาให้
ส่วนมื้อเช้า ผมกินอาหารเช้าของโรงแรม ที่นอกจากจะเหมือนอาหารเช้าของโรงแรมชั้นดี
ทั่ว ๆ ไป แล้วยังมี ไข่กะทะ และข้าวต้มเส้น เลยไม่ออกไปหากินข้างนอก
และขอแนะนำเผื่อเอาไว้ ที่อร่อย บะหมี่หมูแดง มุมซ้ายของตลาดอินโดจีน
และก่อนกลับอย่าลืมไปแวะตลาดสดเทศบาล ของกินแยะ เช่น ปอเปี๊ยะทอด ปอเปี๊ยะสด
"หมูยอ" หมูยอทอดก็มี หมูย่างแถวที่อยู่ก่อนถึงตลาด หน้าตลาดจะมีดอกไม้
และเครื่องบูชาพระธาตุ ซื้อเตรียมไปก่อนไหว้พระธาตุก็ดี
วันกลับจากนครพนม ผมกลับอีกเส้นทาง และวิ่งอ้อมโลกกลับมา คือ ตรงมาสกลนคร แแล้วเลี้ยวไปกาฬสินธ์
จากกาฬสินธ์ไปมหาสารคาม พอถึงมหาสารคามควรจะตรงไปบ้านไผ่ แต่ผมอุตริขับชมวิว
จึงไปทางร้อยเอ็ด จากร้อยเอ็ด ไป อำเภอวาปีปทุม ก่อนเข้าตัวอำเภอเจอร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อย
ร้านขนาดสองห้อง ริมถนนที่ผ่านไป "ก๋วยเตี๋ยวปลาสด หมู่ตุ๋นยาจีน" ตรงป้ายสีน้ำเงิน
ที่แนะสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอ เรียกว่า เจอของดีในป่าอีกแห่งเลยทีเดียว
อร่อยมาก ราคาถูก หากมาจากร้อยเอ็ด จะอยู่ก่อนถึงตัวอำเภอวาปีปทุมสัก ๑๐๐
เมตร
ก๋วยเตี๋ยวปลาสด ซดชื่นใจ ก๋วยเตี๋ยวซี่โครงหมูตุ๋นน้ำเด็ด "ปลาลวกจิ้ม" ที่แปลกอร่อยคือ
น้ำจิ้มเเต้าเจี้ยว ใส่ข่าเข้มข้น หอม จิ้มปลาลวกเข้าเนื้อชุ่ม
...........................................
|
|