วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
วัดสำคัญในเชียงใหม่นั้น มีมากมายหลายวัด เช่น วัดเชียงมั่น
คือ วัดแรกของเชียงใหม่ และสร้างในพื้นที่ที่พระเจ้ามังรายมหาราช ประทับในตอนที่กำลังก่อสร้าง
เวียงเชียงใหม่
อายุของวัดเชียงมั่น จึงมีอายุพอ ๆ กับเชียงใหม่คือ ๗๐๐ ปีเศษแล้ว วัดสำคัญที่ผมจะเล่าให้ทราบในวันนี้คือ
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดบุพพาราม และวัดปราสาท ซึ่งสองวัดหลังนี้นนักท่องเที่ยวจากต่างเมืองมักจะไม่เคยไป
เหมือนวัดเชียงมั่นที่เมื่อก่อนมีแต่ฝรั่งไปมากกว่าคนไทย สองวัดนี้ก็เช่นเดียวกัน
และคงจะรวมถึงวัดเจดีย์หลวง เข้าไปด้วยที่นักท่องเที่ยวไปกันน้อยทั้ง ๆ ที่เป็นวัดซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกตมาก่อน
ก่อนที่จะถูกพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นำเอาไปไว้ที่ลาวเสียสองร้อยปีเศษ
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒ อำเภอเมืองเชียงใหม่
เส้นทางไปวัดพระสิงห์ ฯ หากออกมาจากสถานีรถไฟเลี้ยวซ้ายตรงเรื่อยมา
จนข้ามสะพานนวรัตน์
ตรงต่อไปตามถนนท่าแพ
จนถึงประตูเมืองท่าแพ
ตรงต่อไป (แต่ผ่านไม่ได้ต้องเลี้ยวซ้ายไปกลับรถมา) จะพุ่งเข้าสู่ประตูวัดพระสิงห์
เข้าไปจอดรถได้ในวัด
วัดพระสิงห์ มีลักษณะพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีถนนล้อมรอบทั้งสี่ด้าน
เขตพุทธาวาสอยู่ส่วนกลางของวัด มีถนนซอยภายในเขตสังฆาวาส โรงเรียนพระปริยัติธรรม
โรงเรียนธรรมราชศึกษา และศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่รอบเขตพุทธาวาส
มีพื้นที่ ๒๕ ไร่เศษ
ผู้สร้างคือ พระเจ้าผายู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่
๕ (พ.ศ.๑๘๘๘ - ๑๘๙๘) เป็นผู้สร้างเมื่อประมาณพุทธศักราช
๑๘๘๘ หรือหากจะหลังจากนี้ก็คงไม่มากนัก เดิมเรียกว่า วัดลีเชียงพระ
โดยที่หน้าวัดเป็นท้องสนาม ที่ราษฎรมาค้าขายกัน
หากเป็นสมัยนี้คงเรียกว่า ติดตลาดนัด จนกลายเป็นตลาดลีเชียงพระ
และเรียกชื่อวัดว่า วัดลีเชียงพระ
ประมาณ พ.ศ.๑๙๔๓ เจ้ามหาพรหม
ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาจากกำแพงเพชร และนำไปถวายแด่พระเจ้าแสนเมืองมา
กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ ๘ พระเจ้าแสนเมืองมา
จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระ ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงเรียกว่า
วัดพระสิงห์ และมาถึงสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓
ตั้งแต่นั้นมาจึงได้สร้อยนามว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
พระราชประวัติพระเจ้าผายู เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าคำฟู
กษัตริย์องค์ที่ ๔ ของราชวงศ์มังราย ได้ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาใน พ.ศ.๑๘๘๘
เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ในยุคนี้เชียงใหม่กลับเป็นราชธานีของล้านนา
อีกครั้งหนึ่ง เพราะสมัยพระเจ้าคำฟูนั้น โปรดไปประทับที่เชียงแสน (หลักฐานผมถือตาม
หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการทั้ง ๗๖ จังหวัด เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเดือนปี บางเรื่องจะแตกต่างกับหนังสือประวัติของวัดที่ผมเป็นผู้รวบรวมเอง
และได้พิมพ์ถวายวัดไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖) ในการสถาปนาวัดพระสิงห์ระยะแรกนั้น
พระเจ้าผายูโปรดให้ก่อสร้างปูชนียวัตถุคือ พระเจดีย์และพระพุทธรูปประจำซุ้มคูหา
๔ ทิศ เพื่อบรรจุพระอัฐิพระเจ้าคำฟู พระราชบิดา แต่เมื่อครูบาศรีวิชัยมาสร้างพระวิหารใหม่
(ตรงประตูเข้า) จึงรื้อออก และได้สร้างพระวิหารหลวง เมื่อสร้างพระอารามแล้ว
พระเจ้าผายู อาราธนาพระมหาอภัยจุลเถระ จากวัดพระธาตุหริภุญไชย และพระสงฆ์อีก
๑๐ รูป มาจำพรรษาที่พระอารามนี้
การปฎิสังขรณ์ พระแก้วเมือง
ได้บูรณะปฎิสังขรณ์ ในรัชกาลของพระองค์ (พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘)
และทรงสร้างกู่ลาย
มาถึงรัชกาลพระเมกุฎิวิสุทธิวงศ์
(พ.ศ.๒๐๙๔-๒๑๐๑) เชียงใหม่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พ่ายแพ้แก่ทัพของบุเรงนอง
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ และตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่จนถึง พ.ศ.๒๓๑๗
ช่วงนี้ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าอยู่ในสภาพวัดร้าง
จนกลับมาบูรณะกันใหม่มีพระสงฆ์จำพรรษาในแผ่นดิน ของพระเจ้าบรมราชาธิบดี
(พระเจ้ากาวิละ)
ได้ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ พระเจดีย์ติดกับพระอุโบสถ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
(พระธาตุประจำวันเกิด ของคนเกิดปีมะโรง) ในพระบรมธาตุเจดีย์
พ.ศ.๒๓๖๓ พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา
สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานในพระวิหาร
พ.ศ. ๒๓๖๙ ทรงซ่อมสร้างพระวิหารลายคำ
ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ ที่สำคัญในวัดพระสิงค์วรมหาวิหาร มีดังนี้
พระสิงห์
หรือพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อหน้าตักกว้าง ๑ เมตร สกุลช่างแบบเชียงแสน
ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลายคำ (ด้านซ้ายของพระอุโบสถ) ความเป็นมาปรากฎอยู่ในสิหิงคนิทาน
ปัจจุบันในประเทศไทยมีพระพุทธสิหิงค์ ๓ องค์คือ
ที่หอพระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช
นักโบราณคดีกล่าวว่า ฝีมือสกุลช่างนคร ฯ
ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
นักโบราณคดีกล่าวว่า สร้างในสมัยสุโขทัย ตามแบบศิลปะลังกา ประดิษฐานที่สุโขทัย
กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ กรุงศรีอยุธยา อีกครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อกรุงแตกทหารเชียงใหม่ ในกองทัพพม่าได้นำพระพุทธสิหิงค์กลับมาเชียงใหม่
และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่พระราชวังบวรสถานมงคล
ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเชียงใหม่
นักโบราณคดีกล่าวว่า เป็นศิลปะสกุลเชียงแสน
พระวิหารลายคำ
คือ พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา กว้าง
๘ เมตร ยาว ๓๐ เมตร มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา สร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย
มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยพระเจ้าธรรมลังกา
เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๒ และมีการวาดภาพจิตรกรรมลายคำ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทอง
และสุวรรณหงส์ ซึ่งเขียนโดยช่างชื่อ เจ็กเส็ง และหนานโพธา ผู้เขียนภาพเรื่องสุวรรณหงส์
ค่อนข้างจะได้รับอิทธิพลจากภาคกลางมาก ส่วนภาพสังข์ทองเป็นช่างพื้นเมือง
และสามารถสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเชียงใหม่ ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
ภาพจิตรกรรมนี้งดงามอย่างยิ่ง ไหว้พระแล้วชมภาพให้นาน ๆ ด้วย
พระอุโบสถ
ปรากฎในจารึกว่าสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๕ กล่าวว่าดั้งเดิมที่เดียวเรียกว่า
อุโบสถสองสงฆ์
คือ ทำสังฆกรรมร่วมกันระหว่างภิกษุสงฆ์ กับภิกษุณี ซึ่งยังถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่
เพราะหลักฐานกล่าวว่า พระภิกษุณีนั้นมีแต่ในสมัยพระพุทธองค์เท่านั้น กลางพระอุโบสถมีมณฑปทรงปราสาทสร้างเมื่อ
พ.ศ.๒๓๖๑ ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ผมมั่นใจว่าเดิมหันหน้ามาทางทิศเหนือของพระอุโบสถ
และหน้ามณฑปมีโต๊ะหมู่บูชา ประตูพระอุโบสถเมื่อก่อนนี้มักจะปิดประจำ
ใครมาวัดพระสิงห์คงได้แต่ไปกราบไหว้พระประธานในพระวิหารหลวงด้านหน้า และพระวิหารลายคำ
ที่หน้าพระอุโบสถจะมีป้ายบอกว่าให้ถอดรองเท้า และ "ห้ามสตรีเข้าไปในพระอุโบสถ"
แต่ปรากฎว่าผมไปคราวนี้ต้นปี ๒๕๔๙ นี้เอง ไม่ห้ามสตรีเข้าแล้ว
แหม่มทั้งหลายเข้าไปชมกัน และพระประธานในมณฑป บอกว่าคือ พระเจ้าทองทิพย์
ซึ่งงดงาม หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ส่วนทางเหนือโต๊ะหมู่บูชาหายไป
แท่นประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลองหายไป แต่สร้างแท่นที่งดงามมากต่อจากด้านหลังองค์พระประธาน
สร้างสวยมากยื่นออกมาจากมณฑปแล้ว ประดิษฐานพระแก้วมรกตจำลองไว้
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลวงพ่อองค์หนึ่งที่เรียกกันว่า หลวงพ่ออินเตอร์
(ผมจำนามท่านไม่ได้แล้ว) ซึ่งรู้จักกัน บอกว่าให้ผมเช่าบูชา พระแก้วมรกตจำลองเอาไว้สักหนึ่งองค์
เป็นพระแก้วมรกตจำลองเท่าองค์จริงคือ หน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว และสร้างไม่มากเพียง
๒๐ องค์ ราคาองค์ละ ๓๙,๙๙๐ บาท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเป็นองค์ประธาน
ในพิธีที่ท้องสนามหลวง ในวันกระทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลจำนวนมาก และพระแก้วมรกตก็สร้างหลายขนาด
แต่ที่หน้าตัก ๑๙ นิ้ว นั้นสร้างเพียง ๒๐ องค์ ให้ผมไปเช่าบูชาจากวัดเศวตรฉัตร
ที่ฝั่งธนบุรี ผมก็ไปเช่าบูชามาไว้ที่ห้องพระที่บ้าน และผมได้พระธาตุมา ๓
องค์ เมื่อตอนเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์ โดยล่ามจีนชอบใจผมก็นำมามอบให้
และพระธาตุได้ฟูขึ้นเป็นจำนวนนับร้อย แม้จะแบ่งไปบรรจุที่เจดีย์ม่วงคำ
ที่ผมสร้างไว้ที่อำเภอเวียงป่าเป้าแล้ว ก็ฟูขึ้นมาใหม่ ผมก็บรรจุพระธาตุลงในโมฬีของพระแก้วมรกต
แต่ปรากฎว่าชีวิตไม่ปกตินักเรียกว่า ร้อน ผมก็ถามไถ่บรรดาพระเกจิอาจารย์ผู้รู้ทั้งหลาย
ท่านก็แนะนำว่า "บารมี" ปุถุชนคนสามัญอย่างเรานั้น จะเช่าบูชาพระแก้วมรกตขนาดเท่าองค์จริงไปไว้ที่บ้านบุญบารมีเราไม่ถึง
ให้นำไปถวายพระอารามหลวงเสีย ผมไม่ได้นึกถึงวัดพระสิงห์เลย รู้จักสนิทกับท่านพระธรรมดิลก
(ปัจจุบันพระพุทธพจน์) วัดเจดีย์หลวง มาตั้งแต่ท่านเป็นพระวินัยโกศล
ผมเป็นร้อยเอก นึกว่าหาวัดที่ไหนไม่ได้จะมาถวายไว้ ที่วัดพระเจดีย์หลวง
ผมเริ่มไปทางตะวันออกก่อน หาพระอารามหลวงไม่ได้ ไปอีสานก็ไม่รู้จักสนิทสนมกับวัด
ที่เป็นพระอารามหลวง ลงใต้ที่อยู่มาตั้ง ๘ ปี วัดพระอารามหลวงก็มีเหตุ เช่น
เจ้าอาวาสไม่อยู่ ขึ้นเหนือมาวัดเจดีย์หลวงก็ปรากฎว่า พระธรรมดิลกท่านไปอินเดีย
พอดีพบนายทหารลูกน้องเก่า เป็นมรรคนายกวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ผมก็เล่าให้ฟัง
ลูกน้องเก่ายศพันตรี ก็พาผมไปหาท่านเจ้าคุณ พระธรรมสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่
(มหานิกาย) ยังไม่ทันถวาย ท่านพูดขึ้นมาเองว่า อยากได้พระพุทธรูปสำคัญสักองค์หนึ่ง
จะมาประดิษฐานแทนโต๊ะหมู่บูชา ที่หน้ามณฑปปราสาท ผมก็ดีใจรับเล่าให้ท่านฟัง
ท่านก็บอกว่า เอามาได้เลยทำพิธีอัญเชิญให้ดี ๆ ก็แล้วกัน ผมก็บอกท่านว่าขอสร้างแท่นถวายด้วยได้ไหม
จะจารึกชื่อไว้นิดเดียว ที่ฐานด้านหลัง ตัวเล็ก ๆ พอให้เป็นมงคลว่า มีชื่ออยู่ในพระอุโบสถ
ท่านเจ้าคุณก็ไม่ขัดข้องเมื่อสร้างแท่นประดิษฐานเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญพระแก้วมรกตจำลองจากห้องพระที่บ้าน
มายังเชียงใหม่ทางรถยนต์ มาถึงก็จัดขบวนแห่รอบเมืองเชียงใหม่ ตอนอัญเชิญลงจากรถต้องมีช่างฟ้อนระดับครู
ไม่ใช่ช่างฟ้อนสาว ๆ มาฟ้อนรับ จบการฟ้อนแล้ว ก็อัญเชิญเข้าไปประดิษฐานในพระอุโบสถ
มีพระสงฆ์สวดชยันโต วันนั้น คือ วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๖ และเกือบทุกครั้งที่ไปเชียงใหม่ก็จะไปนมัสการ
เรียกว่าไปเยี่ยมองค์พระแก้วมรกตและน่าแปลกตอนประดิษฐานอยู่ที่ห้องพระที่บ้าน
ซึ่งก็มีพระพุทธรูปมากมาย เสมือนว่าพระพักตร์ท่านจะสงบนิ่ง ถ้าเป็นมนุษย์คงว่าหน้าบึ้ง
แต่เมื่อประดิษฐานในพระอุโบสถ พระอารามหลวง พระพักตร์เหมือนยิ้มตลอดเวลา
ท่านไปนมัสการแล้วจะเห็นเอง มาเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมเข้าไปนมัสการเช่นที่เคยทำทุกครั้งที่มาเชียงใหม่
ปรากฎว่าพระแก้วมรกตหายไป พระอุโบสถกำลังบูรณะ ถามเณรบอกว่าเอาไปไว้ที่กุฎิเจ้าอาวาสแล้ว
ผมก็น้อยใจทำไมย้ายไปเสีย เจ้าอาวาสก็ยังองค์เดิมแต่อายุท่านมากแล้ว
แต่พอเมื่อตอนปีใหม่ ๒๕๔๙ ผมไปที่วัดพระสิงห์ไม่นึกไม่ฝันว่า
จะได้กราบนมัสการพระแก้วมรกตอีก กลับปรากฎว่าพระอุโบสถเปิด แหม่มก็เข้าไปในพระอุโบสถได้
เมื่อก่อนห้ามสตรีเข้า เลขา ฯ ของผมได้แต่ยืนไหว้อยู่หน้าพระอุโบสถ
แต่วันนี้เข้าได้ เข้าไปแล้วก็ต้องตลึง เพราะพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่ด้านหน้ามณฑปปราสาท
ส่วนองค์พระประธานกลับพระพักตร์ไป เรียกว่าหันหลังชนกัน แท่นที่วัดสร้างใหม่นี้สวยมาก
แท่นหินอ่อนที่ผมสร้างไว้รื้อออก จึงเด่นเป็นสง่าอย่างยิ่ง เห็นแล้วขนลุกซู่
ชื่นใจยากที่จะหาอะไรมาเปรียบได้ พระโมฬีอยู่สูงเกินกว่าจะเอื้อมถึง ไม่เช่นนั้นจะขอเปิดดูว่า
พระธาตุยังอยู่หรือไม่ ผมตายก็จะตายพร้อมด้วยความภูมิใจ วัดสร้างเพื่อประดิษฐานแบบนี้
องค์พระแก้วมรกตที่ผมและภริยานำมาถวายไว้เมื่อ ๑๓ ปีที่แล้ว ก็จะคงอยู่คู่กับพระอุโบสถวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
ตลอดไป
และอีกแห่งที่ผมสร้างไว้คือ ศาสนสถานของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๗ อำเภอแม่ริม
เชียงใหม่ สร้างในสมัยเป็นผู้บังคับกองพัน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ และในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน
อายุกว่าสี่ร้อยปี เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผมจะไปนมัสการทุกปี ไปเยี่ยมท่าน
นอกจากพระวิหารหลวง พระวิหารลายคำ พระอุโบสถ พระมหาธาตุเจดีย์ ยังมีอีกที่สำคัญคือ
"หอไตร"
เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารไม้ สร้างเสร็จเมื่อ
พ.ศ.๒๓๕๕ และมีประติมากรรมเทวดา และลวดลายปูนปั้น ในกรอบช่องกระจก
อยู่หน้าวัดด้านทางขวา
นอกจากนี้ยังมี อาคารห้องสมุด วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพระนอน อาศรมเอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ชีวกโกมารภัจจ์
หอจงกรมครูบาศรีวิชัย รูปหล่อ ครูบาศรีวิชัย กุฎิไม้สักครูบาศรีวิชัย
สมัยมาจำพรรษาที่วัดพระสิงห์ กู่ลายเป็นเจดีย์ทรงปราสาทมี ๕ ยอด
และหอไตรที่งดงามแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมชม
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ ขอจบการพาไปวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
ก่อนที่จะเล่าต่อไป ขอเล่าถึงอภินิหารของพระพุทธสิหิงค์ ที่ประสบในวันที่เขียนเรื่องของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
อยู่นี้ พอเขียนจบเรื่องของวัดพระสิงห์ ก็มีผู้มาชวนไปพุทธสถาน "จีเต็กลิ้ม"
ที่อำเภอบ้านสร้าง (มีสามแยก หากเลี้ยวซ้ายไปตัวอำเภอ ให้ตรงไป ๒ กม.)
เพื่อไปไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ผมนั่งทำงานอยู่ที่ลพบุรี ก็จัดการเก็บเครื่องคอม
ฯ ที่กำลังพิมพ์งานไปกับเขา จะได้ไม่ต้องขับรถเองด้วย ไปแล้วก็ต้องตลึงในความใหญ่โต
น่าศรัทธาของพุทธสถานที่มีเนื้อที่ถึง ๒๕๐ ไร่ แห่งนี้ (ขอเขียนเล่าโดยละเอียด
ในภายหลัง) เมื่อไหว้พระ ไหว้เทพเจ้าแล้ว มาที่ห้องวัตถุมงคลที่มีเทพต่าง
ๆ ที่เข้าพิธีมาแล้วจำหน่าย ปรากฎว่าในตู้วัตถุมงคลมี "พระพุทธสิหิงค์" รุ่นมหาจักรพรรดิ์
ซึ่งเข้าพิธีมหาจักรพรรดิ์พุทธาภิเษก ที่วัดเขาชะเมา นครศรีธรรมราช เมื่อ
๒๑ มกราคม ๒๕๔๘ ให้เช่าราคาองค์ละ ๒๐๐ บาท ผมรีบเช่าบูชามาทันที และพอกลับมาลพบุรี
ก็ทำงานต่อจึงขอเอามาเล่าให้ฟังก่อน ท่านจะไปพุทธสถานแห่งนี้ก่อนก็ไปไม่ยาก
วิ่งเลียบคลองรังสิต ไปจนถึงสี่แยกสามสาวนครนายก ตรงต่อไปอีก ๒๒ กม.
ก็จะถึงทางแยกเข้า อ.บ้านสร้าง เราไม่เข้าอำเภอตรงไปอีก ๒ กม.
ก็จะถึงพุทธสถาน จี เต็ก ลิ้ม
วัดปราสาท
หากหันหน้าเข้าวัดพระสิงห์ วัดที่ติดถนนด้านขวาคือ วัดปราสาทตั้งอยู่ถนนอินทวโรรส
ตำบลศรีภูมิ เป็นอารามในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดเก่าแก่
มีหลักฐานว่า เมื่อพระเจ้ายอดเชียงราย
(พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘) กษัตริย์ครองนครเชียงใหม่ ได้สร้างวัดตโปทาราม
เมื่อ พ.ศ.๒๐๓๕ และให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ไปครองวัด จึงสันนิษฐานว่าคือ
วัดปราสาทที่คงจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.๒๐๓๕ วัดนี้เป็นวัดที่สมบูรณ์ด้วยศิลปะล้านนา
ควรชมคือ พระเจดีย์ เป็นสถาปัตย์ชิ้นสำคัญของเชียงใหม่ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย
พระเจ้าหมื่นทองอายุกว่า ๔๑๕ ปี พระวิหารสวยมาก ศิลปกรรมล้านนา ซุ้มปราสาทหลังวิหาร
ครูบาศรีวิชัย บูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ อุโบสถแบบล้านนา เรียกว่า จะดูวัดศิลปะล้านนา
โดยสมบูรณ์ให้มาดูที่วัดปราสาท
วัดบุพพาราม
ตำบลช้างคลาน เส้นทาง ข้ามสะพานนวรัตน์แล้วตรงมาตามถนนท่าแพสัก ๕๐๐ เมตร ประตูเข้าวัดอยู่ทางซ้ายมือ
เลี้ยวเข้าไปจอดรถในวัดได้เลย เป็นวัดที่สวยมากมีประวัติว่า เมื่อ พ.ศ.๒๐๔๐
พระแก้วเมือง
โปรด ฯ ให้สร้างวัดบุพพารามขึ้น ทางด้านตะวันออกของตัวเมืองเชียงใหม่
อันเป็นภูมิสถานที่อยู่ของพระราชปัยกา (ปู่) ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๔
พบว่าวัดนี้กลายเป็นวัดชาวมอญไปแล้ว สิ่งสำคัญภายในวัดคือ
เจดีย์ทรงระฆังศิลปะมอญ - พม่า รุ่นหลัง
สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ วิหารหลังใหญ่ เป็นวิหารทรงล้านนาแต่มีลวดลายประดับที่หน้าบัน
เป็นแบบพม่ามีอายุราว ๆ ๒๐๐ ปี และยังมีพระพุทธรูปทองแดงหนัก ๑ โกฎิ
อายุ ๔๐๐ ปีเศษ ส่วนวิหารหลังเล็กเป็นวิหารไม้ทั้งหลัง ทรงพื้นเมือง
หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นประดับกระจกอายุประมาณ ๓๐๐ ปี ภายในประดิษฐานพระพุทธไชยวภาประสิทธิโชค
วิหาร อุโบสถ พระเจดีย์ล้วนเป็นศิลปะที่งดงามมาก
หอมณเฑียรธรรม
เข้าประตูวัดไปแล้วจะเห็นหอหอมณเฑียรธรรมอยู่ตรงประตูทางเข้าวัด เป็นอาคาร
๒ ชั้น สร้างด้วยไม้สัก เดิมไว้ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับล้านนาไทย แต่ในปัจจุบันเมื่อขึ้นไปชั้นบน
ก่อนขึ้นให้สังเกตที่หัวบันได ไม่ใช่นาคแต่เป็น "พญามอม"
ตัวออกจะอ้วนสักหน่อย ไปวัดบุพพารามแล้วต้องขึ้นไปบนหอมณเฑียรธรรมนี้ให้ได้
ไมเช่นนั้นจะอายฝรั่งที่ทุกคนจะขึ้นไป เมื่อเข้าไปในหอ ฯ ตรงหน้าคือ พระพุทธรูปบุพพาภิมงคล
ภปร. ส่วนทางด้านขวานั้นประดิษฐานพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้สัก "พระพุทธรูปสิงห์สาม"
แกะสลักจากไม้สักนำมาประกอบกันหลายท่อน ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานบัวคว่ำ
บัวหงาย หน้าตักกว้าง ๒ เมตร ทาสีตกแต่งแบบธรรมชาติ ฝีมือช่างหลวงล้านนา แต่ที่หอมณเฑียรธรรมได้จารึกไว้ว่า
พระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้สักองค์นี้ นามพระพุทธนเรศศักดิ์ชัยไพรีพินาศ
"เป็นพระพุทธรูปไม้สักใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในโลก" สมเด็จพระนเรศวรโปรด
ฯ ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ.๒๑๔๗ เมื่อครั้งทำศึกกับพม่า ขับไล่พม่า
(ตามที่วัดบันทึกไว้) ไปทางทิศเหนือ ทางเมืองงาย ได้โปรด ฯ สร้างพระพุทธรูปไม้สักไว้
๑ องค์ หน้าตักกว้าง ๑ วาเศษ และขับไล่พม่าไปยังเมืองต๋วน (ตัน )
เมืองแหง พระองค์สวรรคตที่เมืองต๋วน วันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ
พ.ศ.๒๑๔๘ พระเอกาทศรถอัญเชิญพระศพกลับอยุธยา พระประวัตินี้บันทึกไว้โดยวัดบุพพาราม
ในหอมณเฑียรธรรม จะผิดถูกอย่างไรผมไม่ขอวิจารณ์ แต่ไม่ใช่จากการบันทึกของผม
ใครเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่าค้านมาที่ผม ไปค้านกับทางวัดบุพพาราม เพราะวัดบันทึกไว้อย่างนี้
แต่ผมขอเชิญขึ้นไปชม ไปไหว้พระในหอพระมณเฑียรธรรมให้จงได้ แล้วจึงไปไหว้พระเจดีย์
ซึ่งไม่ทราบว่าบรรจุพระบรมธาตุเอาไว้หรือเปล่า ไปวิหาร ไปพระอุโบสถ แต่ละแห่งงามสุดจะพรรณา
ซึ้งในศิลปะของล้านนา เราไปเที่ยวเชียงใหม่มักจะไม่ค่อยสนใจไปชมวัด ในตัวเมืองเชียงใหม่
ซึ่งยังมีอีกหลายวัดที่ควรชม แล้วผมจะค่อย ๆ พาท่านไป
ไปคราวนี้พักที่โรงแรม ที่มักจะพักประจำถนนสายไปห้วยแก้ว ตอนกลับจากวัดพระสิงห์
กลับมาโรงแรมผมเลี้ยวไปทางสนามกีฬาเจ็ดร้อยปีก่อนแล้ว จึงกลับรถวิ่งเลียบคลองชลประทานมาจนถึงสี่แยก
หากตรงไปก็จะไปตลาดต้นพยอม ถ้าเลี้ยวขวาขึ้นดอยสุเทพ เลี้ยวซ้ายกลับเข้าเมือง
ปรากฎว่าตรงมุมซ้ายของสี่แยกเห็นมีป้ายร้านอาหาร และมีชื่อผมติดอยู่ที่ป้าย
สงสัยเลยต้องลงไปชิมกัน ได้ความว่า เป็นสาขาร้านแรกอยู่ที่ถนนสายแม่ริม
- สเมิง ผมเคยชิมเอาไว้เมื่อ ๙ ปีที่แล้ว และในร้านตัดหนังสือที่ผมเขียนใส่กรอบติดไว้
ชิมแล้วอร่อยเหมือนเดิม ต้องนำเอามาเล่าให้ไปชิมกัน เมื่อท่านขึ้นไปเชียงใหม่
เส้นทาง หากลงมาจากดอยสุเทพ ข้ามสะพานคลองชลประทาน ร้านอยู่มุมซ้ายมือ ร้านนี้มีป้ายคลีนฟู๊ด
กู๊ดเทสท์ จัดร้านสไตล์ร้านอาหารฝรั่ง แนะเน้นที่ไวน์ชั้นดีเอามาโชว์ไว้ สถานที่เยี่ยมน่านั่งชิม
โดยเฉพาะมื้อเย็น เขาบอกว่าจะแน่น เพราะบรรยากาศดี ส่วนผมชิมมื้อกลางวัน
สลัดขาหมูเยอรมัน (มีน้ำยำ ไม่ใช่น้ำสลัด) ผักสด หวานกรอบ
ขาหมูฉีกใส่มาในชามใหญ่ น้ำยำแยกมาให้ใส่เอง พร้อมพริกขี้หนูสับ ผักกาดแก้ว
มะเขือเทศ แตงกวา ข้าวโพดอ่อน เห็ดเข็มทอง เคี้ยวกรุบ ๆ จานนี้เรียกน้ำย่อยดีนัก
แหนมทอดโป่งแยง ปั้นมาเป็นก้อนกลม พร้อมเครื่องแหนม รสเปรี้ยวออกนิด
ๆ อร่อย
ยำหัวปลี ยำแบบโบราณมีรสหวานติด คลุกมาให้เสร็จ
แกงป่าปลาเนื้ออ่อน เอาปลามาทอดกรอบเสียก่อน จึงนำมาแกง ใส่หน่อไม้
ยอดฟักแม้ว ยกมาร้อน ๆ จะซดก็ชื่นใจ หรือราดข้าวก็อร่อย และต้องแนมเสียด้วย
ไข่เจียว หมูสับ ที่ผมยกย่องให้เป็นอาหารประจำชาติ ในยุคปัจจุบันไปแล้ว
ของหวานที่สั่งมาคือ คาราเมลคัสตารด์ หวานฉ่ำ ใครน้ำตาลสูงอย่าไปสั่งเข้า
กับสั่งไอศครีม
......................................................
|