เมืองโบราณยะรัง เมืองโบราณยะรัง อยู่ในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ภาคใต้ของประเทศไทยและเป็นเมืองโบราณอายุนับพันปีมาแล้ว และยังเป็นเมืองในพระพุทธศาสนา ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแพร่เข้ามาครอบครองในดินแดนแถบนี้ซึ่งในปัจจุบันในภูมิภาคนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่แต่เมื่อนับพันปีมาแล้วนั้น ก็เคยเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก่อนเช่นกัน ผมเดินทางล่องใต้เพื่อไปหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องเที่ยวไปกินไป เพียงเรื่องเดียวการเที่ยวไปกินไปของผมนั้น เป็นงานแฝงอยู่ในงานหลักทั้งหลาย ที่ทำให้ต้องเดินทางไป จากกรุงเทพ ฯ ล่องใต้รวดเดียว ๑๑ ชั่วโมง (หากไม่เจอฝนตกหนัก ๑๐ ชั่วโมง น่าจะทำเวลาได้)ไปถึงนครศรีธรรมราช จากนครศรีธรรมราช ผมไปยังค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งนามค่ายนี้ผมเป็นผู้ตั้ง และเสนอขึ้นไปเพื่อความกราบบังคมทูล ขอรับพระราชทานนามค่ายซึ่งได้รับพระราชทานนามค่ายนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ และเมื่อผมขึ้นเป็นผู้บัญชาการในค่ายทหารแห่งนี้ก็ได้ริเริ่มสร้างอนุสาวรีย์ท่านท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทรขึ้นในค่าย ส่วนนามนั้นมักจะสะกดผิดกันเพราะเดี๋ยวนี้นิยมเขียนว่า เทพกระษัตรี ซึ่งชาวภูเก็ตเดี๋ยวนี้เขียนผิดหมดแต่ที่ผมไปตั้งนามค่ายว่า เทพสตรี เพราะหากไปดูจากตำราเรียนประวัติศาสตร์สมัยผมเรียนเมื่อเด็กๆ นั้นล้วนให้สะกดว่า เทพสตรี ทั้งสิ้น เมื่อความนิยมเป็นเช่นนี้ ค่ายทหารแห่งนี้จึงยังคงชื่อค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ตามนามพระราชทาน ส่วนอนุสาวรีย์แก้ไขเสียให้ตรงกับที่ภูเก็ต และทางกรมศิลปากรเคยตอบหนังสือชี้แจง ผมว่าจะสะกดอย่างใดก็ได้ไม่ผิดถือว่าเหมือนกัน จึงขอชี้แจงเอาไว้ตรงนี้ด้วย ไปคราวนี้เพื่อรับพระราชทานเหรียญที่ระลึก (ทองคำ) จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเสด็จไปเป็นองค์ประธานในงาน เปิดอนุสาวรีย์ท่านท้าว ผมในฐานะผู้ริเริ่มในการสร้างอนุสาวรีย์จึงได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเหรียญที่ระลึก ได้รับพระราชทานเป็นคนแรก เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ฯ จากนครศรีธรรมราชล่องใต้ต่อไปยังอำเภอหาดใหญ่ คราวนี้ไปเป็นท้าวมาลีวราชว่าความคือกลุ่มพวกโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีต ซึ่งเมื่อออกมามอบตัวแล้ว ๔ กลุ่มอยู่ในจังหวัดยะลาในหมู่บ้านปิยะมิตร ๑ - ๔ อีก ๑ กลุ่มอยู่ในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คือ บ้านปิยะมิตรที่๕ คราวนี้พวกบ้านกลุ่มที่ ๕ ทะเลาะกันด้วยการแย่งผลประโยชน์ คือเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ทางหัวหน้ากลุ่ม ๕ คือนายอีเจียง หรืออดีตผู้การอีเจียงได้ขออนุญาตต่อกองทัพภาคที่๔ ขอปรับปรุงอุโมงค์ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัย เคยใช้เป็นที่หลบภัยในการต่อสู้กับฝ่ายทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ขอซ่อมแซม พัฒนาเสียใหม่ เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางกองทัพภาคที่ ๔ ก็อนุมัติ เกิดมีพวกของเขาที่ซ่อนความคมเค็มเอาไว้ รับอาสาหาเงินทุนให้ซึ่งต้องใช้เงินเป็นล้านก็หาทุนให้ ทางกองทัพภาคที่ ๔ อนุญาตให้พัฒนาอุโมงค์ แล้วเปิดให้ชมเก็บเงินเอาไปบำรุงหมู่บ้านแต่พอสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เขาก็เชิญผมไปเปิดอุโมงค์แห่งนี้ แต่ผมไปไม่ได้ก็มอบให้ทางกองทัพภาคที่๔ ดำเนินการกันเอง ที่เขามาเชิญผมเพราะอุโมงค์แห่งนี้เมื่อยึดได้นั้น หากผมสั่งทำลายเสียก็จบสิ้นกันไปแล้วแต่ผมคนเขียนหนังสือ เที่ยวไปกินไป เมื่อยึดได้เมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๐ ผมก็ไม่สั่งทำลายให้เก็บรักษาไว้ และแนะนำให้หาทางพัฒนาเทือกเขาน้ำค้างแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปจึงมาสำรวจเอาเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และได้รายได้มากมาย แต่นายหัวแหลมที่ชื่อนายยี่ซิงพลิกพลิ้วไม่ยอมนำเงินรายได้ส่งบำรุงหมู่บ้าน คือ ให้บ้างตามแต่จะอยากให้ ไม่แน่นอนจึงเกิดปัญหาขึ้นเขาก็ฟ้องไปยังหลายแห่ง รวมทั้งส่งมาที่ผมด้วย ฟ้องกันจนถึงรัฐมนตรีกลาโหมพอดีกลุ่มบ้านปิยะมิตร ๑ - ๔ เขาจะมาเยี่ยมผม ผมก็รายงานให้ทราบ และได้รับฝากงานให้ไปไกล่เกลี่ยเรื่องรายได้ของอุโมงค์ และหาทางให้รายได้ของอุโมงค์มาอยู่ในรูปของสหกรณ์ทุกคนในหมู่บ้านถือหุ้น ผมลงไปประชุมทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายอดีต จคม. ทั้ง ๒ พวกแต่พวกนายยี่ซิงไม่ยอมท่าเดียวบอกว่าต้องจ่ายเงินให้เขา ๒๕ ล้านบาท (ลงทุนไป๑.๒ ล้านบาท) เขาจึงจะยอมยกกิจการให้ ผมเลยขอดูหลักฐานการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีรายได้ประจำปี ว่าเคยเสียไหม และเวลานี้เทือกเขาน้ำค้าง กลายเป็นอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี๒๕๓๔ แล้ว เขามาทำกิจการในนี้ก็ผิด แต่ที่ได้รับความอะลุ่มอะล่วยเพราะ ผมขอติดต่ออธิบดีกรมป่าไม้ขอให้อนุโลมไปก่อน แต่ทางป่าไม้ก็มีสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ที่จะเก็บค่ารถหรือคนผ่านเข้าอุทยานได้เมื่อเขาไม่ยอมจะเอาแผ่นดินไทยมาขาย ๒๕ ล้าน ผมก็ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบให้ดำเนินการต่อไปในฐานบุกรุกที่ดินในอุทยานแห่งชาติ ให้สรรพากรเก็บภาษี ให้ป่าไม้เข้าเก็บรักษาผลประโยชน์ไม่มีการผ่อนกันอีก พวกอดีต จคม. เองก็แตกหักกันแน่นอนเพราะเมื่อผมไกล่เกลี่ยไม่ได้ก็จบกัน ทีนี้ไม่รู้ว่าเขาจะล้างแค้นกันอย่างไร เพราะพวกมีอิทธิพลนั้นมีเพียง๘ คน พวกนายอีเจียงผู้การเก่ามีทั้งหมู่บ้าน ก็เลยเขียนเล่ามาให้ฟัง พร้อมทั้งขอไม่ให้เข้าไปเที่ยวชมอุโมงค์ที่อุทยานเทือกเขาน้ำค้าง เพราะไม่รู้ว่าเขาจะล้างแค้นกันอย่างไร พลาดพลั้งจะโดนลูกหลงเข้า ผลสุดท้ายฝ่ายทหารจึงมอบอุทยานที่ขอไว้นี้คืนให้แก่กรมป่าไม้เข้าดำเนินการเพราะมีกฎหมายอยู่ในมือ จบรายการไปหาดใหญ่ของผม ล่องใต้ต่อ ไปปัตตานีไปเพื่อพบปะอดีตกรรมการสมาคมปัญจักสิลัตที่ผมเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา และเข้าร่วมในกิจกรรมกีฬาปัญจักสิลัต มาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๐ และนำทีมเข้าสู่กีฬาซีเกมส์ ซึ่งได้รับเหรียญทองมาทุกซีเกมส์ นับตั้งแต่ปี๒๕๓๐ เป็นต้นมา มาถอนตัวออกมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ เพราะเมื่อปลดเกษียณแล้วการเดินทางไปมาก็ลำบากหน่อยจะอาศัยเวลาไปราชการไปทางเครื่องบินก็ไม่มีโอกาสแล้ว และผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะใช้สอยได้ก็มีน้อยเต็มทีเพราะเขายังทำงานของเขาอยู่แต่ผมมันนอกประจำการแล้ว ไปใช้เขา เขาก็มีนายคอยใช้อยู่แล้วสู้เราถอนตัวออกมานอกวงการเราก็ไม่ต้องไปใช้ใคร ยอมเป็นที่ปรึกษาให้อยู่อีกหลายสมัยมา ๒ ซีเกมส์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าปัญจักสิลัตในซีเกมส์ไม่ได้เหรียญทองเลย โดยเฉพาะในซีเกมส์ที่พึ่งผ่านมาในปี๒๕๔๔ นี้เอง ไม่ได้เหรียญทองเลยและทางผู้บริหารสมาคมที่เงินหนาแต่ไม่รู้เรื่องกีฬานี้คิดว่ามีเงินซื้อเหรียญทองได้ปรากฏว่านักกีฬาไม่เล่นด้วย เลยอดเหรียญทองแถมประกาศว่าหากได้เหรียญทองน้อยกว่า๔ เหรียญจะยกทีมลาออก ไม่รู้ตอนนี้ลาออกแล้วหรือยัง ผมไปปัตตานีไปคุยกัน และเสียดายสมาคมกีฬาที่พวกเราได้ตั้งขึ้นมา๒๑ เหรียญทองสำหรับปัญจักสิลัตนั้นไม่ใช่น้อย และจำเป็นสำหรับประเทศที่จะเป็นเจ้าเหรียญทอง คุยกันจบแล้ว ทางอดีตกรรมการซึ่งก็ล้วนแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีทั้งสิ้น ก็ชวนผมไปชม สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณีวัฒนา ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดียิ่ง จากท่านผู้อำนวยการสถาบัน คือ อาจารย์ ผู้อำนวยการ สมบูรณ์ ธนะสุข ได้กรุณาบรรยายให้ทราบอย่างละเอียด ซึ่งสถาบันแห่งนี้ อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัย และแบ่งออกเป็นพิพิธภัณฑ์พระเทพญานโมลี ตั้งอยู่ด้านหน้าซึ่งมีห้องพระพุทธรูปต่าง ๆ มีพระโพธิสัตย์ (อายุกว่า ๘๐๐ ปี) มีรูปนางปรัชญาปรมิตา และอีกมากมาย ชมฟรีไม่เก็บสตางค์ และด้านหน้าเยื้อง ๆ ทางซ้ายก็มีเรือนโบราณ ซึ่งเดิมเคยเป็นจวนของผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า พิพิธภัณฑ์เรือนอำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค ซึ่งเรือนหลังนี้เดิมไม่ได้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ขอซื้อแล้วรื้อมาปลูกสร้างกันใหม่ในรูปแบบเดิมคงความงดงามไว้ทั้งหมด เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ เป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมไทยและตะวันตกได้อย่างกลมกลืนกัน บ้านหลังนี้สร้างโดยช่างชาวจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ซึ่งเป็นปีที่ท่านเจ้าคุณได้ลาออกจากราชการ และสร้างไว้เยื้องกับโรงพยาบาลปัตตานีเก่าปัจจุบันใช้เพียงห้อง ๆ หนึ่งเป็นสถานที่ของสถาบัน ห้องนอกนั้นได้พยายามตกแต่งเอาไว้ให้เข้าชมได้และถือว่าเป็นการรื้อถอนมาประกอบใหม่ของอาคารหลังใหญ่ ๆ ที่สำคัญหลังหนึ่งของโลกเลยทีเดียว ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์พระเทพญานโมลี เป็นพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา น่าชมอย่างยิ่งเช่นมีเรือนไทยมุสลิมภาคใต้ เครื่องมือเครื่องใช้ การแสดงพื้นบ้าน แหล่งชุมชนเริ่มประวัติศาสตร์เมืองโบราณยะรัง เครื่องถ้วยชามที่ขุดมาได้ และที่งดงามมากคือเครื่องถ้วยชามเก่าที่ยังเหลืออยู่เป็นถ้วยชามที่สั่งทำจากฮอลแลนด์สั่งทำโดยเฉพาะมีตราพระจันทร์ครึ่งซีกติดไว้ที่ถ้วยชามเหล่านั้นเลยทีเดียวและสีสดสวยมากและยังมีอะไร ๆ อีกหลายอย่างให้ชมกัน เวลาเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ๐๙.๐๐ - ๑๑.๓๐และ ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ เชิญชมฟรี จากปัตตานีออกมายังถนนสายไปนราธิวาส ซึ่งเส้นนี้จะยาวไปจนถึงสุไหงโกลกชายแดนไทยแต่ไม่ใช่ใต้สุดของไทย ใต้สุดต้องเบตง จังหวัดยะลา จะมีถนนแยกขวาไปยังยะลาไปตามถนนสายที่ไปยะลานี้ ๑๕ กิโลเมตร จะถึงอำเภอยะรัง ของอร่อยอำเภอนี้คือลูกหยี และผลไม้กวนเช่นมังคุดกวนเป็นต้น ลูกหยีกวนเจ้าประจำของผมคือ แม่เลื่อนอยู่ฝั่งขวาตรงทางแยกซ้ายไปมายอ เมื่อถึงอำเภอยะรังแล้ว จะมีสามแยก ให้แยกซ้ายไปทางจะไปอำเภอมายอวิ่งไปนิดเดียวประมาณ ๑.๒ กิโลเมตร จะมีถนนแยกซ้าย มีป้ายบอกว่าถนนรอบเมือง เมืองโบราณเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนนี้ประมาณ๘๐๐ เมตร โบราณสถานที่ขุดค้นและบูรณะแล้วอยู่ทางซ้ายมือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสไว้ว่า "โบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรจะช่วยกันรักษาไว้" ดังนั้นโบราณสถานเหล่านี้ได้รับการบูรณะแล้วแม้จะน้อยเหลือเกิน แต่ก็มีค่าควรแก่การไปชมและยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้บูรณะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่แถบนี้ในเขตหมู่บ้านปราแวบ้านวัด บ้านจาเละ ยังปะปนอยู่ในที่ของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านแม้จะนับถือศาสนาอิสลามกันหมดแล้วก็ไม่ทำลายสิ่งซึ่งเป็นโบราณสถานของศาสนาพุทธ เมืองโบราณยะรังนี้ เดิมมีศึกษาธิการอำเภอท่านหนึ่งได้เริ่มสำรวจไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๙๖ ต้องการสำรวจเมืองโบราณนี้ว่าใช่หรือไม่ใช่ อาณาจักรลังกาสุกะซึ่งเป็นเสมือนอาณาจักรในนิยายของชาวมาเลย์ และชาวชวา ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในบริเวณจังหวัดปัตตานีหากพิสูจน์ได้ว่าใช่อาณาจักรนี้จะมีอายุถึง ๑,๕๐๐ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๕ นายสจ๊วตวาเฟล เป็นหัวหน้าทีมสำรวจทางมนุษย์วิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เข้ามาสำรวจบริเวณบ้านปราแวและยืนยันว่าเป็นอาณาจักรลังกาสุกะอย่างแน่นอน ต่อจากนั้นก็มีนักโบราณคดีจากต่างประเทศอีกหลายท่านเข้ามาสำรวจซึ่งคณะสุดท้ายคือ คณะของ สว่าง เลิศฤทธิ์ และ เดวิด เจ เวลซ์ (๒๕๒๙- ๒๕๓๐ ช่วงนี้ผมอยู่ที่ปัตตานี แต่ไม่ทราบว่ามีการสำรวจ) ซึ่งผลการศึกษาครั้งหลังสุดนี้ได้พบแหล่งโบราณคดีมากถึง๓๔ แหล่งในเขตของปัตตานี ในแหล่งที่ไม่เคยมีใครสำรวจมาก่อน และจุดที่ผมบอกว่าพัฒนาแล้วและสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาแล้วคือสถูปเจดีย์เก่าแก่นับพันปีนั่นเอง จบการชมเมืองยะรัง เมืองโบราณ เมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาที่อยู่ในปัตตานีมาแต่โบราณกาลเป็นอาณาจักรเก่าควรแก่การศึกษา ค้นคว้าต่อไป ขอให้กรมศิลปากรของบประมาณดำเนินการต่อไปโดยด่วนก่อนที่แหล่งโบราณสถานที่ปะปนอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านจะหมดไป หรือถูกทำลายไปเหมือนพวกตาลีบันในอัฟกานิสถานระเบิดทำลาย พระพุทธรูปรุ่นแรกของโลกนั่นแหละ ร้านอาหารที่จะพาไปชิมวันนี้คือร้าน "มาดีนาห์" อาหารมุสลิมชั้นยอดเรียกว่าหากเป็นอาหารไทยต้องเรียกว่า อาหารชาววังกันเลยทีเดียว หากมาจากหาดใหญ่จะมาปัตตานีซึ่งจะมาตามถนนที่งดงามทั้งสองฟากถนน พอจะเข้าตัวเมืองก็จะข้ามสะพาน ซึ่งเดี๋ยวนี้สะพานมี๔ เลนแล้ว ข้ามสะพานแล้วตรงไป (ทางซ้ายคือตลาดสด เที่ยวยามเช้าสนุก ของกินแยะ)วิ่งไปจนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณก็เลี้ยวขวาไปประมาณ ๑ กิโลเมตร จะชนสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ๕๐๐ เมตร ให้เลี้ยวซ้ายอีกที คราวนี้แค่ ๑๐๐ เมตร ร้าน มาดีนาห์ อยู่ทางซ้ายมือร้าน ๒ ชั้น ไม่มีห้องแอร์ มีแต่ห้องทำละหมาด ชั้นบนเป็นห้องโถงยาว บานหน้าต่างแบบบ้านมุสลิมเปิดเป็นประตูได้ อากาศพัดถ่ายเททำให้เย็นสบาย ไข่ยัดไส้ น้ำแดง ยัดไส้เนื้อ หอมใหญ่ ถั่วลันเตา มีน้ำขลุกขลิกกินเล่นได้เลยเป็นกับแกล้มไม่ได้ เพราะร้านนี้ไม่ขายเครื่องดองของเมาทั้งหลาย กินเล่น ๆอร่อยดี หรือจะกินกับข้าวสวยร้อน ๆ เนื้อทอดมาดีนาห์ กลิ่นหอม หั่นมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ วางมาบนกล่ำปลีหั่นฝอย โรยหน้าด้วยหอมเจียวพริกขี้หนู มัสหมั่นเนื้อ รสคล้ายภาคกลาง ออกหวานนิด ๆ เนื้อเปื่อยนุ่มแต่ไม่ยุ่ยได้เคี้ยว "บูดู" สะตอเผา น้ำบูดู ที่ลือชื่ออยู่ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี น้ำบูดูร้านนี้มาจากสายบุรีอร่อยเลิศ สะตอสดเผาเอามือแกะ น้ำบูดูราด มีกลิ่นหอมชวนกินนัก รายการนี้ห้ามโดดข้ามไปเป็นอันขาด ผัดเผ็ดปลาดุก แต่มีน้ำขลุกขลิก มีหน่อไม้ หอมใหญ่ พริกชี้ฟ้า ปลาอินทรีย์ทรงเครื่อง เอาปลาชิ้นใหญ่มาทอด มีน้ำซี่อิ้ว โรยด้วยต้นหอม ถั่วลันเตารสอร่อย อาหารทุกอย่างอร่อยตลอดเชื่อว่าราคาไม่แพงมีลูกค้ามาอุดหนุนเต็มร้านผมไม่รู้ราคาเพราะมื้อนี้ทั้งอาจารย์ที่พาไป และพวกทหารอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาเขาแย่งกันออกสตางค์ผมเลยไม่รู้ว่าเขาจ่ายไปเท่าไร ----------------------------------
|