ปราจีนบุรี
คำขวัญของเมืองปราจีนบุรี
ว่าไว้ว่า "ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่หวานคงคู่เมือง
ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวาราวดี"
ผมเคยรับราชการอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ตั้งแต่มียศร้อยตรีแต่ทำงานในตำแหน่งร้อยเอก
คือตำแหน่งผู้ช่วยนายทหารยุทธการและการฝึก กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒
แต่ต้องทำการแทนตัวนายทหารยุทธการด้วย (อัตราพันตรี) เพราะไม่มีตัวบรรจุ และรับราชการอยู่ที่หน่วยนี้เป็นเวลานานถึง
๕ ปี ซึ่งพอยศร้อยโทก็เลื่อนไปครองตำแหน่งนายทหารยุทธการและการฝึก ๕
ปี ในปราจีนบุรีในยามที่ปราจีนบุรีเงียบเหงาต้องนับว่านานพอดู เพราะในค่ายทหารสมัยนั้นที่เรียกว่าค่ายจักรพงษ์
ภายในค่ายไม่มีถนนราดยางแม้แต่เมตรเดียว ไฟฟ้าต้องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าของหน่วยทหาร
ทำให้กระแสไฟที่ผลิตได้มีไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องหมุนเวียนกันแบ่งไฟฟ้ากันใช้
มีไฟฟ้าใช้ ๑ คืน แล้วจะหยุดไป ๒ คืน จังหวัดอื่นในอำเภอเมืองเช่นนี้
เขามีไฟฟ้ากันตลอดวันตลอดคืนแล้ว แต่ปราจีนบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ยังต้องจุดตะเกียงเสีย
๒ คืน แล้วจึงมีไฟฟ้าหริบรี่อีก ๑ คืน หลอดไฟฟ้าต้องใช้หลอดที่เขาเรียกว่า
หลอดเบ่ง คือแรงเคลื่อนไฟฟ้าต่ำ เพื่อให้แสงสว่างสูงกว่าแรงเทียนของหลอด
รถเมล์ที่วิ่งจากค่ายทหารเข้าตัวเมืองที่ห่างออกไปเพียง ๒ กม. ไม่มี
พาหนะที่สะดวกที่สุดก็คือจักรยานหรือเดิน รถมอเตอร์ไซด์ก็ต้องขั้นมีสตางค์จึงจะมีเงินซื้อขึ่
ส่วนรถยนต์นั้นตัดทิ้งไปได้ นายทหารระดับยศร้อยตรี
อย่าไปหาเลยว่าจะมีรถยนต์ใช้แต่ผมมีรถ
ถ้าจะเรียกให้โก้ก็เรียกว่ารถตำแหน่งนายทหารยุทธการและการฝึกเป็นรถจิ๊บ
นำมาใช้นอกเวลาราชการก็ได้ เพราะสมัยนั้ผ่อนผันกัน ให้นายทหารที่อยู่ในตำแหน่งที่มีรถประจำ
นำรถไปใช้งานส่วนตัวได้ สมัยนี้ไม่มีแล้วที่นายทหารจะเอารถจิ๊บออกมาใช้งานนอกเวลาราชการ
ถนนในเมืองปราจีนบุรีสมัยนั้นมีไม่กี่สาย สายสำคัญคือสายเลียบริมแม่น้ำบางปะกงทั้งสองฝั่ง
แต่ไม่ได้ยาวตลอดเช่นทุกวันนี้ ส่วนสายอื่นก็มีสายเข้าเมืองกับสายคู่ขนานกับสายเลียบริมน้ำมีอยู่เท่านั้น
โรงภาพยนตร์ไม่มี แหล่งสำราญของนักท่องราตรี คือร้านข้ามต้มริมแม่น้ำ
ที่ไปนั่งดื่มเหล้าสนุกกันอยู่แค่นั้น
ปราจีนในปัจจุบัน แทบจะไม่มีภาพเก่า ๆ เหลืออยู่แล้ว ปราจีนบุรีกลายเป็นแหล่งที่สมบูรณ์ในเรื่อง
"น้ำ" เกือบจะกล่าวได้ว่ายิ่งกว่าเมืองใด ๆ เป็นชุมทางคมนาคม ที่จะแยกไปสู่ภาคตะวันออกทางจังหวัดสระแก้ว
ไปสู่ภาคอีสาน ทางจังหวัดนครราชสีมา ไปสู่ภาคกลางทางจังหวัดนครนายก
และฉะเชิงเทรา การคมนาคมสะดวก ไปได้ทั้งทางรถไฟ ทางรถยนต์ ซึ่งมี
๓ เส้นทาง หรือใครจะอุตริไปทางเรือก็ได้ เพราะมีแม่น้ำบางปะกงหรือทางอากาศก็ไปได้อีก
แต่ยังไม่มีเครื่องบินโดยสารเดินประจำ จะมีก็แต่เครื่องบินทหารซึ่งจะไปลงที่สนามบินของทหารในตัวอำเภอเมืองปราจีนบุรีได้
ปราจีนบุรีกลายเป็นเมืองผลไม้ลือเลื่อง ซึ่งสมัยที่ผมอยู่ปราจีนบุรีมีแต่สวนไผ่ตง
อุตสาหกรรมทำไผ่ตงบรรจุลงปีป เป็นสินค้าส่งออกของเมืองปราจีนบุรี มีกับเขาอยู่แค่นั้น
ถนนตัดขึ้นเขาใหญ่ด้านหลังเขาใหญ่ยังไม่เกิด
ถนนหนทางที่จะไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญไม่สะดวก และข้อสำคัญแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
ๆ ที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่แม้จะถูกค้นพบแล้วก็ตามแต่ยังไม่ดัง ไม่มีใครรู้จักเช่น
เมืองศรีมโหสถ
เป็นต้น
ประวัติย่อของเมืองปราจีนบุรี ปราจีนบุรีเคยเป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สำรวจขุดค้นได้จากเมืองศรีมโหสถ มีร่องรอยของทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณที่สันนิษฐานว่ารุ่งเรืองขึ้นมา
ร่วมสมัยกับอาณาจักรฟูนันมาตั้งแต่ในราวพุทธศตวรรษที่
๖ - ๑๐ และในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ เป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมแบบทวาราวดีในภาคตะวันออก
ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรได้เข้ามาครอบงำ
และเป็นผลให้เสื่อมสลายลงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙
เมืองโบราณ
คือ เมืองศรีมโหสถ ซึ่งยังมีซากของเมืองเหลืออยู่ และเป็นแหล่งที่ขุดค้นพบโบราณวัตถุมากกว่าแหล่งอื่น
ๆ สันนิษฐานว่า เมืองนี้มีอายุราว ๘๐๐ ปี คือรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี
เมืองศรีมโหสถ อยู่ที่ตำบลโคกปีป อำเภอศรีมโหสถ ห่างจากตัวเมืองประมาณ
๒๐ กม.เท่านั้นเอง และทางด้านทิศตะวันออกของศรีมโหสถ ก็ยังปรากฏชุมชนโบราณอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่
บ้านโคกขวาง
อำเภอศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีเขตติดต่อกันกับศรีมโหสถ และห่างจากอำเภอเมือง
ฯ ประมาณ ๒๐ กม. เช่นกัน ซึ่งชุมชนโบราณทั้ง ๒ แห่งนี้ มีซากโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม
ศาสนกิจมีโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องสำริด เครื่องมือเครื่องใช้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
ในสมัยต่อมา ศูนย์กลางความเจริญ ได้ย้ายมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง
หรือแม่น้ำปราจีนบุรีในปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเมืองปราจีนบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงเรียกว่าเมืองปราจีนบุรี จนมาเปลี่ยนแปลงรูปการจัดการปกครองในสมัยรัชกาลที่
๕ จึงเป็นมณฑลปราจีน พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ จัดระเบียบการปกครองแผ่นดินใหม่ได้ยุบมณฑล
ทำให้มณฑลปราจีนถูกยุบด้วย กลายเป็นเพียงหัวเมืองหนึ่งและต่อมาเปลี่ยนจากเมืองเป็นจังหวัด
จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่าจังหวัดปราจีนบุรี
ปัจจุบัน ปราจีนบุรีมีอำเภอ ๗ อำเภอ คือ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง
อำเภอศรีมโหสถ อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี
และอำเภอกบินทร์บุรี
การเดินทางไปปราจีนบุรี
ทางรถไฟก็ไปสาย กรุงเทพ ฯ - ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ปลายทางที่อรัญประเทศ
ทางรถยนต์ไปได้หลายเส้นทางเช่น
เส้นทางที่ใกล้ที่สุด
สะดวกที่สุด จากกรุงเทพ ฯ ไปถึงรังสิตเลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายก่อน)
เลาะเลียบริมคลองรังสิตไปถึงนครนายก ไปปราจีนบุรีแล้วเลี้ยวแยกจากถนนสาย
๓๓ หรือสุวรรณศรเข้าตัวเมืองปราจีนอีก ๙ กม.
เส้นทางที่สอง
เป็นเส้นทางดั้งเดิมตั้งแต่สมัยผมรับราชการที่ปราจีนบุรี เมื่อก่อนแคบนิดเดียว
เดี๋ยวนี้กำลังขยายเส้นทางเป็น ๔ เลน ตั้งแต่แยกหินกองไปยังนครนายก
เส้นนี้คงไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านรังสิต วังน้อย ถึงหินกองเลี้ยวขวา
(ความจริงเลี้ยวซ้ายก่อน) ไปนครนายก ไปปราจีนบุรี
เส้นที่สาม
หากจะคิดไปเที่ยวเมืองศรีมโหสถ หรือศรีมหาโพธิ์ ก่อนเข้าเมืองปราจีนบุรีก็ไปทางถนนสาย
มีนบุรี - ฉะเชิงเทรา หรือจะไปตามสายเลียบริมคลองไปอำเภอองค์รักษ์
ทั้งสองสายตัดไปออกอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ไปปราจีนบุรี เข้าทางอำเภอศรีมโหสถได้
ถนน ๒ เลน แต่รถไม่มาก หากไม่ชำนาญเส้นทางอย่ากลับเส้นนี้ในตอนกลางคืน
เพราะแยกหลายจุด จะทำให้หลงทางได้ง่าย เหมือนผมที่ประสบมาด้วยตนเอง
เพราะอุตริกลับในตอนกลางคืน ไม่ชำนาญเส้นทางพอเลยวนสนุกพิลึก
แหล่งท่องเที่ยว
คนรุ่นหนุ่ม รุ่นสาว เขาต้องไปล่องแก่งหินเพิง
แก่งหินเพิงเป็นแก่งหนึ่งในแม่น้ำใสใหญ่ ในท้องที่อำเภอนาดี (สมัยผมอยู่อำเภอนี้ยังไม่ได้ตั้ง
ไม่มีใครรู้จักเรื่องล่องแก่ง) ซึ่งคนอายุปูนผมขอไปล่องแก่งกับเขาบ้างเขาไม่รับให้ร่วมคณะด้วย
เพราะอายุเกิน ๖๐ ปีแล้ว เขากลัวจะว่ายน้ำไม่ไหว หากแพยางล่มเมื่อไป
ลงแพยางล่องแก่งกับเขาไม่ได้ก็ได้แค่ไปยืนดู ธารน้ำเชี่ยว ซึ่งจะล่องแก่งได้ในฤดูฝนน้ำจึงจะเชี่ยว
การไปล่องแก่งนั้นให้ติดต่อทัวร์ หรือไปพักที่โรงแรมในท้องที่อำเภอนาดี
ซึ่งมีหลายโรงแรมด้วยกัน เช่น วังตะพาบ ๐๓๗ ๒๘๑๓๑๕ แก่งหินเพิง แคมปปิ้ง
รีสอร์ท ๐๓๗ ๔๐๕๖๐๘ และยังมีอีกหลายแห่ง เปิดดูจากหนังสือนำเที่ยวทั้งหลาย
เช่น อสท. ทริพป. เพื่อนเดินทาง แล้วโทรศัพท์ถามดู หรือจะไปกางเต๊นท์นอนในอุทยานทับลาน
ก็ติดต่อกองอุทยาน ๕๓๙๔๘๔๒
ในอำเภอเมือง หากไปในวันที่ไม่ใช่วันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์แล้ว
ผมอยากให้ไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ซึ่งอยู่ด้านข้างของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรีเสียก่อน จะได้รับความรู้อย่างคุ้มค่า
ด้วยการเสียสละเวลาประมาณชั่วโมงเศษ ๆ แล้วค่อยออกไปเที่ยวต่อไป แต่หากเป็นวันจันทร์
อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ พิพิธภัณฑ์เปิด วันเสาร์ อาทิตย์ ไม่ปิด
ค่าผ่านเข้าชมแค่คนละ ๑๐ บาทเท่านั้น ไปดูแล้วอ่านให้มาก ๆ จะได้ความรู้ติดออกมาก่อนไปยังเมืองศรีมโหสถ
และศรีมหาโพธิ์ต่อไป
ผมขอเล่าถึงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเสียก่อน
ตั้งอยู่ด้านข้างหรือหลังของศาลากลางจังหวัด เก็บค่าเข้าชมคนละ ๑๐ บาท
รีบไปให้โดยเร็วถูกที่สุดในโลก ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น ๒ ชั้น
การจัดแสดงชั้นล่างของอาคาร (มีมุมขายหนังสือของศิลปากรด้วย) แบ่งหัวข้อการจัดแสดงเป็น
ประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองปราจีนบุรี และโบราณคดีเมืองนครนายก (ดงละคร)
ส่วนชั้นบนของอาคารนั้น แบ่งการจัดการแสดงเป็น ศิลปะโบราณคดีในประเทศไทย
แสดงถึงศิลปะในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
เริ่มต้นตั้งแต่สมัยศิลปะทวาราวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะเขมร -
ลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์
และยังจัดแสดงเครื่องถ้วยในประเทศไทยแบบต่าง ๆ เช่น เครื่องถ้วยเขมร
เครื่องถ้วยสุโขทัย และเครื่องถ้วยเบญจรงค์
โบราณคดีใต้น้ำ
แสดงการปฏิบัติงานโบราณคดีใต้น้ำ เส้นทางเดินเรือ และค้าขายสมัยโบราณ
และสุดท้ายในอาคารชั้นบนคือ จัดการแสดงโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในภาคตะวันออกเริ่มกันตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในภาคนี้ และพัฒนาการมาตามลำดับ
หาดู หาชมได้ยากยิ่ง
แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในจังหวัดปราจีนบุรี คงพอสรุปได้ดังนี้
แต่บอกกล่าวกันก่อนว่าไปวันเดียวคงจะไม่ได้มีเวลาไปชมมากนัก ควรไปค้างสัก
๒ คืนละก็ได้ดูอิ่มที่เดียว แต่หากมุ่งไปทางล่องแก่งก็ต้องไปค้างที่อำเภอนาดีเลย
จึงจะสะดวกกว่าการพักค้างคืนในเมือง ซึ่งในเมืองก็พอมีโรงแรมที่พอพักได้
แต่โรงแรมที่ยิ่งใหญ่เหลือเกินผมเองก็ยังไม่เคยพัก ได้แต่ผ่านไปก็คงต้องยกให้โรงแรมทวาราวดี
ทำอำเภอศรีมหาโพธิ์ สวยงามมาก และราคาก็งามเช่นเดียวกัน สนใจลองติดต่อ
๒๓๘ ๒๔๖๐ ต่อ ๑๔๙๘ หรือ ๐๓๗ ๒๐๘๔๔๔ โรงแรมนี้ใหญ่มากมีถึง ๑๕๘ ห้อง
ดูแล้วไม่แน่ใจว่าจะมีแขกมาพักกันเต็มหรือไม่ เอาใจช่วยขอให้อยู่ได้
จะได้เป็นศรีสง่าแก่เมืองปราจีนบุรี ทีนี้ไล่กันทีละอำเภอ เอาแบบฉบับย่อเพื่อจะได้วางแผนท่องเที่ยวได้
อำเภอเมือง
ฯ
๑. ตลาดผลไม้สามแยกหนองชอม
ก่อนถึงสี่แยกที่จเข้าเมืองปราจีนบุรี
๒. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อยู่ที่สี่แยกเนินหอม ทางแยกเข้าปราจีนบุรี และแยกไปเขาใหญ่
๓. วัดแก้วพิจิตร อยู่ในเมืองหาไม่ยาก
ชมศิลปะที่ผสมกันอยู่ในหลังเดียวกัน คือ เขมร ไทย ฝรั่ง
จีน
๔. ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
อย่าโดดข้ามไป อยู่ในโรงพยาบาลอภัยภูเบศร นอกจากอาคารพิพิธภัณฑ์เก่าแก่แห่งนี้แล้ว
ในโรงพยาบาลนี้ยังเป็นแหล่งผลิตยาจากสมุนไพร ที่ใหญ่ที่สุดและมีขายในราคาถูก
เช่น สบู่ต่าง ๆ เป็นต้น
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี
ข้างหอประชุมอำเภอเมือง ฯ ซึ่งศูนย์ข้อมูลข่าวสารการท่องเที่ยวจัดตั้ง
โดยการท่องเที่ยวก็อยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ บริการเอกสารต่าง ๆ เปิดตั้งแต่
๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ แต่วันหยุดราชการไม่เปิดเสียตรงนี้เพราะคนไปเที่ยวนั้น ไปกันในวันหยุดราชการเป็นส่วนใหญ่
หากศูนย์จะไม่เปิดควรได้ประสานกับทางพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เอาเอกสารต่าง
ๆ ให้ทางพิพิธภัณฑ์แจกให้ก็จะอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอย่างยิ่ง
๕. วัดโบสถ์
ไม่ควรข้ามไป จากถนนเทศบาลดำริถึงสี่แยกถนนสุวินทวงค์ ทางหลวง
๓๑๙ แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๑ อีก ๔ กม. วัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง
มีพระพุทธรูป ๓ องค์ ประทับยืน ประทับนั่ง และพระพุทธไสยาสน์
ภายในวัดร่มรื่นเงียบสงบ มีสะพานลวดสลิงทอดข้ามแม่น้ำยาว ๕๐ เมตร
กลางวันมีค้างคาวแม่ไก่ฝูงใหญ่หลายร้อยตัวห้อยหัวนอนให้ชม
๖. วัดแจ้ง
วัดเก่าแก่อยู่ตรงหัวโค้งก่อนถึงตัวสถานีรถไฟปราจีนบุรี สังขารของเจ้าอาวาสองค์เดิมไม่เน่าเปื่อยยังเก็บรักษาเอาไว้ให้กราบไหว้บูชากัน
๗. สวนนกวัดสันทรีย์
ไปทางเดียวกับวัดโบสถ์ เป็นที่ชุมนุมของนกนานาชนิด เช่น นกแขวก
นกกาน้ำ นกกะยาง ฯ
๘. สวนพันธุ์ไผ่
ไปจากสี่แยกเนินหอมก่อนแยกเข้าเมือง ไปทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ๑๑
กม. รวบรวมพันธุ์ไผ่ไว้
๙. น้ำตกเขาอีโต้
เลยศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปหน่อยหนึ่งแล้วแยกซ้าย สมัยผมรับราชการตอนหนุ่ม
ๆ นั้น วันหยุดเป็นพาสาวหรือพาพรรคพวกที่มาจากกรุงเทพ ฯ ไปเที่ยวน้ำตกเขาอีโต้
แหล่งบันเทิงใจตามธรรมชาติเพียงแห่งเดียวในสมัยนั้น หรือไม่งั้นก็ไปน้ำตกสาริกา
และน้ำตกนางรองที่นครนายก
อำเภอศรีมโหสถ
๑. ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์
อยู่ที่วัดศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกปีป อำเภอศรีมโหสถ เป็นหน่อโพธิ์จากอินเดีย
๒. โบราณสถานสระมรกต
ตั้งอยู่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ทางพระพุทธศาสนา
สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย ซึ่งจะเห็นอารยธรรมโบราณได้จากแห่งนี้และชมได้
ในบริเวณที่ไม่ห่างไกลกันนัก โดยมุ่งหน้าไปยังอำเภอศรีมโหสถก่อนแล้วค่อยถามหาเอา
ซึ่งวิธีการที่ไปที่ดีที่สุดแต่ยากที่จะดูได้ด้วยตาเปล่า ให้ไปดูภาพจำลองในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจะชัดเจนกว่า
ภาพเหล่านี้เก่าแก่ ระหว่าง ๑๘๐๐ - ๑๔๐๐ ปีมาแล้ว แนะนำเอาไว้ร้านด้วงไก่ย่าง
อยู่หน้าโรงพยาบาลศรีมโหสถ อาหารอร่อย
๓. อนุสาวรีย์ลายพระหัตถ์ ของรัชกาลที่ ๕
ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมโหสถ เลยที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิ์ไป ๑.๕ กม.
ทรงจารึกไว้บนแผ่นศิลาแลง เมื่อเสด็จประพาศเมืองปราจีนบุรีเมื่อ พ.ศ.
๒๔๕๑ (ก่อนสวรรคตเพียง ๒ ปี) ในอำเภอศรีมหาโพธิ์ มีเทวสถานสะพานหิน
เป็นเทวาลัยอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปี ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑
อำเภอนาดี
๑. อุทยานแห่งชาติทับลาน
อยู่ที่ตำบลบุพราหมณ์ ไปตามเส้นทาง ๓๐๔ กบินทร์บุรี - ปักธงชัย อีก
๓๒ กม.เป็นป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ "แห่งสุดท้ายของประเทศ" เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์
จะออกดอกเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีขึ้นไป ออกดอกเมื่อไรก็ตาย ฤดูออกดอกเดือน
เมษายน - มิถุนายน ดอกสีเหลืองงดงามมาก ภายในอุทยานยังมี สวนพักผ่อนหย่อนใจ
น้ำตกทับลาน แต่ต้องเดินไปอีกหลายกิโลเมตร อ่างเก็บน้ำทับลาน
และน้ำตกห้วยใหญ่
เมืองปราจีนบุรีนั้นมีงานเทศกาลคือ งานมาฆปุรมีศรีปราจีน จัดวันมาฆบูชา
ที่วัดสระมรกต ศรีมโหสถ งานแห่บ้างไฟ วัดวันวิสาขบูชา
ที่วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ งานวันเกษตรและของดีเมืองปราจีนบุรี
จัดเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน ที่หน้าศาลากลางจังหวัด มีตลาดนัดผลไม้ชนิดอิ่มละ
๓๐ บาท ให้ชิมด้วย งานแข่งเรือยาวประเพณี หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง
ฯ จัดเดือนกันยายน งานลอยกระทง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่หน้าอำเภอเมือง
ฯ
ถ้าเป็นเวลาบ่าย ๆ คงต้องสักบ่ายโมง หากมาจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศร
เลาะริมแม่น้ำเข้าเมืองมาได้สัก ๒๐๐ เมตร จะมีแผงอาหารไทย รสเยี่ยมประเภทซื้อใส่ถุงกลับบ้านอร่อยนัก
เลยไปอีกสัก ๑๐ เมตร มีร้านขายขนมหวานประเภทใส่น้ำแข็งไส ทั้งน้ำกะทิและน้ำเชื่อม
ร้านนี้ขายทั้งวัน เรียกว่าได้ซดเป็นหายเหนื่อยเลยทีเดียว
ทีนี้ไปร้านอาหาร ชื่อตะโกราย ดั้งเดิมเขาก็ขายอาหารไทย ๆ ไป
แต่อร่อยมากและราคาไม่แพง ผมเคยชิมของเขาเป็นประจำ อยู่ ๆ เจ้าของร้านสาวใหญ่บอกว่าไปติดใจอาหารเจเสียแล้ว
ดังนั้นจะเปลี่ยนไปขายอาหารมังสาวิรัต เริ่มตั้งแต่ ๕ เมษายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป
ผมก็นึกว่ามังสาวิรัตธรรมดา ๆ ก็ไม่สนใจ บ่นให้เขาฟังว่าเสียดายที่อาหารดี
ๆ ทำไมเปลี่ยนประเภทอาหารเสีย วันหลังเขาลองทำให้ชิมคือปอเปี๊ยะวงเดือน
ก็อร่อยดี และเมื่อทำแล้วไม่ดูเป็นมังสาวิรัต วันนี้เลยตั้งใจจะไปชิมของเขา
ต้มยำกุ้ง น้ำแกงที่ลอยหน้าอยู่นั้นเป็นสีแดง มันย่องว่างั้นเถอะ ใส่เห็ด
ใส่เครื่องต้มยำทั้งหลาย ในตัวที่ทำเหมือนกุ้ง ซดแล้วชื่นใจเหลือประมาณ
ไม่บอก ไม่เขี่ยตัวกุ้งขึ้นมาดูจะไม่รู้เลยว่าเป็นอาหารมังสะ ฯ
ออส่วน ผัดออกส่วนที่เป็นออส่วน ไม่มีหอยสักตัว แต่เหมือนใส่หอยนางรมมา
กินร้อน ๆ จะอร่อยเยี่ยม
ลาบเป็ด น้ำตก มองดูเหมือนเป็ดจริง ๆ แต่รสนั้นเหมือนกินลาบเป็ดเกือบทุกประการ
รสดีมากด้วยเปรี้ยวนิด ๆ
ไก่ตะกร้า จานนี้ทีเด็ดจริง ๆ เพราะต้องเอาเผือกมาสานเป็นตะกร้าเสียก่อนแล้วจึงเอาตะกร้าไปทอดให้กินได้
ต่อจากนั้นจึงผัดไก่ (เทียม) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ หอมใหญ่ มะเขือเทศ
ผัดออกหวานนิด ๆ ใส่ลงในตะกร้า เวลากิน กินของในตะกร้า เผลอ ๆ
ก็บิตะกร้าเผือกกินตามเข้าไปด้วยอร่อยนัก
นอกจากนี้ยังมี ปลาร้าคั่ว ปลาร้าหลน ปลอมทั้งนั้น
แต่ทำได้เหมือนโดยเฉพาะกลิ่นมีเสียด้วย ปอเปี๊ยะทอดกับเกี๊ยวกรอบ
สั่งมาก่อนกินเล่นแต่อร่อยแทบจะอิ่มเอา มีผักสดจานใหญ่สวยมาให้อีกจาน
จัดอาหารสวยประณีตมาก ปิดท้ายด้วยไอศครีม และปิดท้ายอีกทีก่อนจากร้านไปที่ตู้อาหารสำเร็จรูปวันนี้
นับอาหารในถาดได้ ๑๒ อย่าง สั่งอาหารใส่ถุงกลับมากินเป็นมื้อเย็นอีกหนึ่งหอบ
ถามว่าทำไมต้องซื้อมาแยะก็มันอร่อยและเอามาฝากคนที่ไม่ได้ไปด้วยน่ะซี
|