วัดบางพลีใหญ่กลาง
สัปดาห์ที่แล้ว ผมพาไปเที่ยวตลาดบางพลีใหญ่ ไปไหว้หลวงพ่อโต ที่วัดบางพลีใหญ่ใน
ตอนกลับแวะวัดบางพลีใหญ่กลาง แต่บ่ายมากแล้วเลยไม่ได้สำรวจให้ทั่วว่า วัดนี้นอกจากพระพุทธไสยาสน์ที่มีหัวใจแล้ว
ยังมีอะไรที่สำคัญอีก ตอนกลับออกมาจากวัดกลาง พบเส้นทางกลับมาถนนบางนา - ตราด
อีกเส้นหนึ่ง คนละเส้นกับตอนมา เมื่อออกถนนบางนา - ตราด แล้ว ก็ขึ้นทางด่วนลอยฟ้า
กลับบ้านที่ลาดพร้าวได้ภายในเวลาไม่ถึง ๓๐ นาที ส่วนตอนไปนั้น ขึ้นทางด่วนสองเด้ง
จากทางด่วนรามอินทราไปต่อเส้นทางด่วนลอยฟ้า บางนา - ชลบุรี เสียเงินค่าผ่านทางตอนลงอีก
๒๐ บาท พอลงแล้วก็ขึ้นสะพานกลับรถ ย้อนไปทางบางนาใหม่ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกิ่งแก้ว
- ลาดกระบัง เลี้ยวข้างโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ถนนกำลังก่อสร้างขยายถนน
แต่การก่อสร้างหยุดชงักหมด ไม่มีเครื่องจักรแม้แต่ชิ้นเดียว มีแต่ป้ายยกเอาไว้ให้ดูเป็นระยะ
ๆ อ่านได้ใจความว่า ยังดำเนินการก่อสร้างต่อไม่ได้ เพราะต้องรอไฟฟ้ามาย้ายเสา
รอประปามาย้ายท่อน้ำประปาออกไปเสียก่อน ถนนสายนี้ระยะทางไม่กี่ กม. ใช้เวลาวิ่งร่วมชั่วโมง
พอบรรจบกับถนนเทพารักษ์ ก็ยิ่งติดหนักเข้าไปอีก เพราะถนนหยุดการก่อสร้างเพราะสาเหตุเดียวกัน
ถนนเทพารักษ์นี้ปลายทางจะไปถึง อำเภอบางบ่อ ต้นทางมาจาก อ.สำโรง เมื่อเลี้ยวเข้ามายังถนนเทพารักษ์แล้ว
ตรงมาอีกสัก ๓๐๐ เมตร จะผ่านบิ๊กซี ทางซ้ายมือแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขาภิบาล
๖ ไปอีกสัก ๒๐๐ เมตร วัดบางพลีใหญ่ในอยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งวัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญคือ
หลวงพ่อโต ผมได้เล่าไปแล้วว่า
ท่านให้ลาภ และผู้คนที่ไปบนบานหลวงพ่อ เมื่อประสบความสำเร็จจะแก้บนด้วยไข่ต้ม
ใส่ถาดมา ไข่หวานยกมาเป็นหม้อ ยกเข้ามาตั้งถวายแก้บนกันกลางโบสถ์เลยทีเดียว
มีแต่ถาดไข่ต้มกับหม้อไข่หวาน สัปดาห์หลังผมไปวันเสาร์อีก โบสถ์ก็แน่นด้วยไข่ต้มและไข่หวานเหมือนเดิม
วันอาทิตย์คนคงจะแน่นยิ่งกว่านี้ วันหลังผมจะลองไปวันราชการ รอให้ถูกล็อตเตอรี่
อีกงวดหนึ่งก่อน
เมื่อไปไหว้หลวงพ่อแล้ว ก็เดินออกไปจากหน้าประตูทางเข้าโบสถ์ ไปยังตลาดบางพลีใหญ่
ซึ่งหากเป็นวันหยุดของขายจะมากมาย โดยเฉพาะวันอาทิตย์ประเภทรถเข็น แผงลอยขายอาหารจะมีมากยิ่งกว่าวันเสาร์
หรือวันหยุดอื่น ๆ ตลาดบางพลีใหญ่เป็นตลาดโบราณ ตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๔ พ.ศ.๒๔๐๐ รวมถึงวันนี้ก็ ๑๕๐ ปี พอดี อยู่ริมคลองสำโรงที่ขุดกันมาตั้งแต่สมัยขอมมีอำนาจ
คลองมีอายุกว่า ๘๐๐ ปี ริมคลองเหลือตลาดโบราณแบบนี้เพียงตลาดเดียว และเป็นตลาดเดียวน่าจะในประเทศไทย
ที่ทางเดินเท้าภายในตัวตลาดปูด้วยไม้แข็ง เขาบอกว่าเป็นไม้สัก (น่ากลัว โจรยุคใหม่
จะมาแบกเอาไป) ปูยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร และได้ซื้อยาดีไปอีก กินมา ๗ วันแล้วได้ผลดี
เขาว่าเป็นยาล้างพิษประเภททำดีท็อก แต่ขนานนี้ให้ผสมน้ำดื่มแทนน้ำดื่มได้ทั้งวัน
วันละขวดยิ่งดี ระบบขับถ่ายดีเยี่ยม และล้างพิษในร่างกาย ผมไม่รู้จักมาก่อน
ความจริงที่อื่นก็มีขยายจะผลิตโดยบริษัทใดเท่านั้นคือ "ผงคลอโรฟิลด์ - / -
วิตามินซี" ใครกลัวมีพิษในร่างกาย ในกระเพาะซื้อมาลองดื่มดู ไม่มีอันตรายอะไร
ห่อละ ๑๐๐ บาท ผสมน้ำได้สัก ๒๐ ขวด (ขวดขนาด ๗๕๐ ซีซี) ร้านขายอยู่ในตลาดริมทางซ้าย
ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ตลาดนี้นอกจากมีร้านโชห่วยมาก ยังมีหมอดู
และนวดแผนไทยมากอีกด้วย ไปวันนี้ไม่ได้แวะเข้าตลาดเพราะ จะไปชิมเป็ดพะโล้บางพลี
ที่อร่อยลือชื่อ แต่เจ้าอร่อยได้ย้ายออกจากตลาดบางพลีไปนานหลายสิบปีแล้ว แต่ผมก็ตามไปชิม
และเอามาเขียนเล่าไว้นานแล้วเช่นกัน วันนี้เลยไม่เข้าตลาด และได้ความรู้เพิ่มมาอีกว่า
หากจะไปเที่ยวฟาร์มเสือบางโฉลง
๐๒ ๓๑๒ ๒๒๘๕ ต้องซื้อแพคเก็จ ทัวร์ ของฟาร์มแล้ว มาลงเรือที่ท่าน้ำวัดบางพลีใหญ่ใน
ไปตามคลองสำโรงตัดเข้าคลองบางโฉลง มีทั้งเสือและงู ซื้อทัวร์ที่ไหนลองโทรถามดู
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมา พระราชทานผ้าพระกฐิน ที่วัดบางพลีใหญ่ใน
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔
ออกจากประตูทางเข้าโบสถ์แล้ว เลี้ยวขวา ขับรถไปตามป้ายที่บอกว่า ทางออก เส้นทางจะบังคับ
ให้เลี้ยวไปข้ามสะพานข้ามคลอง ข้ามแล้วไปอีกสัก ๕๐ เมตร เลี้ยวขวาไปอีกสัก
๕๐๐ เมตร วัดบางพลีใหญ่กลางจะอยู่ทางซ้ายมือ
เมื่อเลี้ยวเข้าประตูวัดไป ทางขวามือจะมีรูปปั้นของพระพุทธเจ้าเสด็จนำสาวกออกบิณฑบาตร์
ด้านข้างมีสระใหญ่ มีปลา มีเต่า มีอาหารปลาขาย จะปล่อยปลา ปล่อยเต่า ก็ซื้อจากแม่ค้าขายข้างสระได้
ในสระมีศาลากลางน้ำ สร้างไว้สวย
พระพุทธไสยาสน์ ที่สร้างกันมานานกว่า ๖๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยคือ พระพุทธไสยาสน์
วัดขุนอินทประมูล ที่พระเจ้าเลอไทย กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย มาสร้างไว้ที่
อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ยาว ๒๐ วา หรือ ๔๐ เมตร ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขุนอินทประมูล นายอากร ได้ซ่อมสร้างจนองค์พระพุทธไสยาสน์
ยาว ๒๕ วา หรือ ๕๐ เมตร ครองความยาวขององค์พระมาร่วม ๓๐๐ ปี จน พ.ศ.๒๕๑๐ พระใบฎีกา
จำนงค์ สุเมโธ มีความคิดที่จะพัฒนาวัดด้วยการสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นเครื่องจูงใจบุคคลทั่วไป
ให้หันหน้าเข้าหาวัด และเป็นที่ปฎิบัติธรรม และเห็นว่าไม่มีการสร้างพระพุทธไสยาสน์
องค์โต ๆ มานานแล้ว จึงคิดสร้างและคงกะสร้างให้ยาวที่สุด ให้ยาวกว่าพระนอนวัดขุนอินทประมูล
ซึ่งองค์โตมาก ท่านจึงหาทุนในการสร้างด้วยการให้สร้างพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
จารึกชื่อ พระอรหันต์ จารึกชื่อผู้บริจาคสร้างพระอรหันต์ เป็นผลให้ท่านหาเงินทุนได้จำนวนมาก
และภายในวัดจึงเต็มไปด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เต็มไปทั่ววัด ปัจจุบันยังมีการก่อสร้างต่าง
ๆ ไม่ได้หยุดการพัฒนา จนเต็มพื้นที่
เข้าวัดไปแล้ว จะผ่านศาลาพระพุทธรูป จุดธูป บูชาพระกันที่ศาลานี้ และมีรูปเหมือนของหลวงปู่นิ่ม
อดีตเจ้าอาวาส วัดบางพลีใหญ่กลาง เดินผ่านศาลาเข้าไปตามทางแคบ ๆ จะถึงมหาวิหารพระพุทธไสยาสน์
ที่องค์พระนอนอยู่ในวิหารนี้ การก่อสร้างเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ เมื่อเข้าไปในมหาวิหารแล้ว
ร่มเย็น องค์พระแทบจะเต็มพื้นที่วิหาร ให้ไปทางด้านหลังขององค์พระ จะมีทางเข้าขึ้นไปชั้นบนขององค์พระ
มีแม่ชีอยู่หน้าทางเข้า มีวัตถุมงคลและดอกไม้ ค่าเข้าองค์พระหยอดตู้คนละ ๕
บาท
ภายในองค์พระพุทธไสยาสน์ สร้างไว้เป็น ๔ ชั้น แต่ละชั้นเดินได้สบาย
ชั้นแรก มีห้องปฎิบัติธรรมกัมมัฎฐาน ๒๘ ห้อง มีรูปหลวงปู่กิ่ม และพระอริยสงฆ์
ชั้นสอง เป็นห้องโถงกว้าง ใช้ฝึกกัมมัฎฐาน
ชั้นสาม มีภาพเขียนแสดงเรื่องราวพุทธประวัติ ประเภทชาดกฝีมือวาด อ.วัจฉละ
สาเงิน
ชั้นสี่ เป็นชั้นสูงสุด มีการบรรจุพระหทัย (หัวใจ) สีทองเหลืองอร่าม
ให้ปิดทองได้
ที่แปลก ก็ตรงที่พระพุทธรูปก็มีหัวใจนี่แหละ ถือว่าเสมือนพระพุทธคุณขนานแท้
ด้านหลังของพระมหาวิหาร เป็นอุโบสถ บอกว่าให้ไปเดินลอดใต้อุโบสถ จะได้หมดเวร
หมดกรรม มีโชค ผมก็จะไปลอดใต้อุโบสถที่สร้างยกสูง ยังสร้างไม่เรียบร้อย ปรากฎว่าใต้อุโบสถมีน้ำเจิ่งนอง
หากจะลอดคงจะต้องว่ายน้ำลอดมากกว่าเดิน
ด้านหน้าของอุโบสถ มีทางเดินไปยังถนนอีกด้านหนึ่ง และกำลังมีการสร้างพระแก้วมรกต
ยังไม่แล้วเสร็จ ใครจะทำบุญ ทำได้ที่ด้านข้างของอุโบสถ
กลับจากวัด ออกทางหน้าวัดแล้ว เลี้ยวขวาย้อนกลับมาทางเดิม กลับมาผ่านหลังวัดใน
ผ่านเมรุวัดใน ออกถนนสายเชื่อมระหว่างถนนบางนา - ตราด กับถนนเทพารักษ์
ทีนี้ถนนโล่งวิ่งสบาย ไม่ติดเหมือนถนนตอนขามา แต่หากจะมาวัด ฯ ผมไม่ทราบว่าจะเข้าตรงไหน
เพราะถนนบางนาตราด เดี๋ยวนี้ถนนเต็มไปหมด ยกลอยฟ้าก็มี วงแหวนก็มี เลยต้องไปใหม่
สำรวจเส้นทางกันอีกที
ไปครั้งที่สอง ไปทางด่วนถึงบางนาแล้ว เข้าทางด่วนลอยฟ้า (หรือจะลงจากทางด่วนที่บางนาก็ได้)
ผ่านทางลงช่องแรก พอถึงทางลงช่องที่สอง มีป้ายบอกบางพลี ลงช่องนี้จ่าย ๒๐
บาท พอลงแล้วไม่กลับรถวิ่งต่อไปอีกประมาณ ๔ กม. ถึงทางแยกซ้ายเข้าสุวรรณภูมิ
เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๒ กม. กลับรถใต้สะพาน วิ่งมาออกถนนบางนาใหม่ วิ่งย้อนกลับมาจนถึงทางแยกซ้ายเข้าไปวัด
มีป้ายยกไว้ว่า วัดบางพลีใหญ่ใน รถจะไม่ติดเลย แต่ต้องวิ่งย้อนไปหลาย กม.
วันนี้ผมไปตามเส้นนี้ จากบ้านผมไม่ถึง ๔๕ นาที
ร้านเป็ดพะโล้บางพลี ดั้งเดิมย้ายออกมาอยู่ตรงนี้ มีอีกร้านทางถนนศรีนครินทร์
ไปชิมแล้วชื่อเดียวกัน แต่รสสู้กันไม่ได้ เส้นทาง หากไม่ไปเที่ยววัด เที่ยวตลาด
แล้ว มาตามทางด่วนลอยฟ้า พอถึงแยกแรกก็ลงจากทางด่วนแล้วกลับรถเลย ร้านจะอยู่หัวมุมถนนบางแก้ว
แต่หากไปเที่ยววัดก่อน ก็กลับมาตามทางที่ผมบอกตอนต้น ออกปากทางแล้วเลี้ยวซ้าย
มาผ่านทางแยกเข้าถนนรถติด ที่ไปเทพารักษ์มาผ่านแยกวงแหวน ผ่านปั๊มเอสโซ่ เห็นป้ายสนามกอล์ฟเมืองแก้ว
เลี้ยวซ้ายหาที่จอดรถ (ถนนสายนี้ ไปโรงเรียนราชวินิตบางแก้ว) ร้านอยู่ตรงหัวมุม
เมื่อก่อนอยู่ฝั่งซ้าย ผมเคยมาชิม แล้วขยายมายังฝั่งขวาอีกด้านหนึ่งของถนน
แต่วันนี้ความเจริญมาไล่ที่เหลือฝั่งขวาเพียงฝั่งเดียว ร้านเป็นศาลา ๒ หลัง
อยู่ริมสระ นั่งสบาย
คำแรก ไม่ต้องดูเมนู เป็ดพะโล้จานโต ๆ เดี๋ยวเดียว เป็ดพะโล้จานโต พอสู้กับ
๔ คนได้ ไปมากคนกว่านี้ สั่งทั้งตัวเลย มีเครื่องใน และเลือดเป็ด แนมมาด้วยกับขิงดอง
เนื้อเป็ดจะนุ่ม น้ำพะโล้จะซึมเข้าเนื้อ ยากจะหาเป็ดพะโล้ที่ไหนเทียม เนื้อนุ่ม
แต่ไม่ยุ่ย เคี้ยวสนุก เอาน้ำพะโล้ราดข้าว เหยาะเสียด้วยพริกน้ำส้ม ข้าวหมดจานไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
สระริมศาลา มีปลาชะโดตัวโตมาก ว่ายวน โชว์ตัว
ลูกชิ้นปลากรายผัดเขียวหวานแห้ง ลูกชิ้นเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับ ผัดมากับเม็งมะพร้าว
มะเขือพวง น้ำขลุกขลิก เผ็ดอร่อยอย่าเติมน้ำปลาพริก อร่อยสุด ๆ
หัวปลาต้มเผือก ซดร้อน ๆ ชื่นใจ เสริฟมาในหม้อไฟ เนื้อปลาจิ้มน้ำเต้าเจี้ยว
เชิงปลากรายทอดกระเทียมพริกไทย หอมกระเทียมเจียว ที่โรยหน้ามา
ของหวาน สั่งบัวลอยเผือก สละลอยแก้ว ไอศกรีมกะทิ วุ้นกะทิมะพร้าวอ่อน
..............................................
|