เขื่อนคลองท่าด่าน
ก่อนอื่นสมควรได้ทราบถึงความเป็นมาที่ก่อให้เกิดการสร้าง "เขื่อนคลองท่าด่าน"
หรือ ต่อไปคงจะมีชื่อเป็นทางการ (น่าจะขอพระราชทานนามเขื่อน) ว่า "เขื่อนขุนด่านปราการชล"
เขื่อนนี้เกิดจากพระราชดำริที่พระราชทานให้กรมชลประทาน พิจารณาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
บริเวณบ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ให้พิจาณา "โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน"
เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่ในลุ่มแม่น้ำนครนายก ช่วยให้ราษฎรมีน้ำใช้ตลอดปี
เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการเขื่อนคลองท่าด่าน
ฯ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ ไว้ดังนี้
"โครงการนี้คือ สร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งคือ แม่น้ำป่าสัก (เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
อำเภอพัมนานิคม จ.ลพบุรี) แห่งหนึ่งที่แม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะกักเก็บน้ำเหมาะสม
พอเพียงสำหรับบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพ ฯ และเขตใกล้เคียง ที่ราบลุ่มของประเทศนี้
คนจะต้องเริ่มเอะอะเมื่อได้ยินชื่อ แม่น้ำนครนายก เอะอะเพราะว่าเดี๋ยวนี้จะได้สร้างที่
ที่ต้องบุกป่า ต้องบุกรุกอุทยานแห่งชาติ อะไรอย่างนั้น ไม่ใช่โครงการนี้จะสร้างใกล้บ้านท่าด่าน
บ้านท่าด่าน จะมีคนคัดค้านว่า มีโครงการพระราชดำริอยู่ มีฝายท่าด่านที่สร้างมาเป็นเวลาเกิน
๑๐ ปีแล้ว บริการเกษตรกรในเขตของนครนายก ทำให้ได้น้ำสำหรับการเกษตรกรรม ประมาณหมื่นไร่
ฝายลูกนั้นเป็นฝายที่ใหญ่ ฝายลูกนั้นจะต้องถูกอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างใหม่ครอบ
แล้วน้ำจะท่วมฝายลูกนั้น " ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปอีกว่า "มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้
ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้
เมืองไทยไม่เจริญ พระราชดำรินั้นก็เป็นความคิดของพระราชา แก้ไขไม่ได้ก็หมายความว่า
เมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้ ฝายตามพระราชดำริลูกนั้น ได้บริการประชาชนเป็นเวลานานแล้ว
และก็ได้ผลคุ้มค่ามาแล้ว ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะสร้างโครงการใหม่แทน โครงการพระราชดำริเดิมนี้
สร้างเขื่อนอันใหญ่โตสูง และจุน้ำ ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนนี้จะช่วยให้สามารถทำการเพาะปลูก
เป็นจำนวนแสนไร่ และไม่ต้องสร้างระบบส่งน้ำ เพราะระบบมีอยู่แล้ว ฉะนั้นการสร้างเขื่อนเฉพาะตัวเขื่อน
และอาคารประกอบจะทำให้แก้ปัญหาไปได้มาก และจะไม่ท่วมที่ของประชาชนมากนัก มีที่ตรงนั้นประมาณ
๕๐๐ ไร่ ที่เป็นของกรมชลประทานอยู่แล้ว ไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเดือดร้อนและก็ยังเหลือที่ทำมาหากินเล็กน้อยของประชาชน
ในหมู่บ้านท่าด่านนั้น หมู่บ้านเองก็จะไม่ถูกแตะต้อง"
มีพระราชดำรัสต่อไปอีกว่า "ฉะนั้นถ้าหากว่าทำโครงการนี้ จะเป็นการช่วยขจัดภัยแล้งได้
สำหรับเฉพาะเขื่อนนี้ ถ้าหากเร่งด่วนจริง ๆ เข้าใจว่า ๔ ปีก็ทำเสร็จ แล้วก็ต้องยอมลงทุน
เพราะว่าเขื่อนนี้สูง ๗๐ เมตร ซึ่งไม่ใช่น้อยเพื่อให้บรรจุเต็มที่ ในลุ่มน้ำนั้นมีน้ำลงมาโดยเฉลี่ย
๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ฉะนั้นก็รู้ว่าจะแน่นอนพอสมควรว่า อ่างเก็บน้ำอันนี้มีประสิทธิภาพ
เขื่อนอันนี้จะช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้ มีน้ำ น้ำมาก หรือน้อยก็สามารถที่จะบริการประชาชนให้ได้น้ำสม่ำเสมอทุกปี
เขื่อนนั้นจะเป็นเครื่องมือสำหรับเฉลี่ย ปีไหนมีน้ำมาก ก็เก็บเอาไว้ไม่ต้องใช้
เพราะว่าน้ำฝนที่ลงมาพอใช้แล้ว ก็เก็บเอาไว้ ปีไหนที่น้ำน้อยก็เอาออกมาใช้
ทำให้ภัยแล้งบรรเทาลง ภัยของอุทกภัยก็บรรเทาด้วย ข้อนี้พูดมาหลายปีแล้ว แล้วก็ในที่ประชุมเช่นนี้เหมือนกัน
ฉะนั้นการที่มาเล่าให้ฟังว่า คิดจะสร้างเขื่อนนครนายกนี้ ก็เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต
เพื่อที่จะไม่ต้องเสียใจว่า ทำไม เมื่อ ๖ ปีก่อนไม่ได้ทำ"
กรมชลประทานน้อมรับพระราชดำริ โดยว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาความเหมาะสม
และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการสำรวจ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๑๓ ก.พ.๒๕๓๙
เห็นชอบให้ก่อสร้างโครงการเขื่อนท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บรรจุไว้ในปีงบประมาณ
๒๕๔๐ - ๒๕๔๖ เป็นวงเงินจำนวน ๑๐,๑๙๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และยังอนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกัน
แก้ไขติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ - ๒๕๕๑ ในวงเงินงบประมาณอีก
๙๙๐ ล้านบาท
เหตุใดจึงมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนคลองท่าด่าน เพราะแม่น้ำนครนายกเป็นลุ่มน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง
ต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วไหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี
เกิดเป็นแม่น้ำบางปะกงที่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วไหลไปลงทะเลที่ปากอ่าวจังหวัดชลบุรี
ในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ปริมาณน้ำส่วนใหญ่จะไหลลงทะเล หากไหลลงไม่ทันจะเกิดน้ำท่วม
แต่พอถึงฤดูแล้ง ไม่ได้กักเก็บน้ำเอาไว้ ก็จะขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค
และการเกษตร พื้นที่บางส่วนเกิดปัญหาดินเปรี้ยว ยากต่อการเพาะปลูก ทำให้ราษฎรเกิดความเดือดร้อนอย่างหนัก
จากความทุกข์ร้อนที่เกิดกับราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย
ทรงหาแนวทางเพื่อพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ จึงได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณา
"โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน" ดังกระแสร์พระราชดำรัส
เส้นทาง ไปเขื่อนคลองท่าด่าน ไปจากกรุงเทพ ฯ ไปได้ ๒ เส้นทางคือ
เส้นทางที่ ๑
เส้นทางดั้งเดิม ซึ่งสมัยที่ผมรับราชการอยู่ในค่ายจักรพงษ์ปราจีนบุรีนั้น
จะต้องวิ่งกลับบ้านที่กรุงเทพ ฯ ตามเส้นทางนี้ ถนนเกือบไม่ราดยางเลย รถเก๋งก็ไม่มีจะขับ
นายทหารสมัยนั้น ยศนายร้อยมีอย่างเก่งก็คือ มีจักรยานถีบก็โก้แล้ว ส่วนผมโก้หน่อยที่มีรถจิ๊บใช้ได้
๑ คัน เพราะทำหน้าที่นายทหารยุทธการของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒ วันศุกร์ก็จะควบรถจิ๊บกลับบ้าน
เว้นศุกร์ไหนติดการฝึกภาคสนามก็ไม่กลับ และยังหนุ่มโสด สนุกอย่าบอกใครทีเดียว
ถนนสายที่ว่านี้คือ หากไปจากกรุงเทพ ฯ ไปตามถนนพหลโยธิน (ถนนวิภาวดี ยังไม่เกิด)
ผ่านรังสิต วังน้อย พอถึงแยกหินกอง ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสุวรรณศร หรือทางหลวงแผ่นดินสาย
๓๓ ไปถึงนครนายก (ไปปราจีนบุรีก็วิ่งต่อไปตามถนนสายนี้ ไปได้ถึงอรัญประเทศ)
วิ่งเข้าเมืองถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณก็เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงสามแยกบัวแก้ว
(ถ้าเลี้ยวขวาไปปราจีนบุรี) ให้ตรงไปตามป้ายที่บอกว่าไปน้ำตกสาริกา และน้ำตกนางรอง
หากวิ่งตรงไป ๑๔ กม.จะถึงน้ำตกสาริกา
จากสามแยกบัวแก้ว ตรงไปตามป้ายไปน้ำตกประมาณ ๕๐๐ เมตร ตรงหลัก กม.๑ พอดี ทางขวามือคือร้านอาหารที่จะมาชิมในมื้อกลางวันนี้
ผ่านร้านไปสัก ๒๐๐ เมตร มีทางแยกขวาไปทางวัดใหญ่ทักขิณาราม
วิ่งตรงต่อไปถึง กม.๔.๕ จะมีทางแยกขวาไปยังวัดพราหมณี
ตรงต่อไปจนถึง กม.๑๑.๒๐๐ เลี้ยวขวา (ไปตามถนน ที่จะไปน้ำตกนางรอง) ผ่านวังตะไคร้
ผ่านวัดนางรองจนถึง
กม.๑๗.๒๐๐ ให้เลี้ยวขวา (ตรงยต่อไปจะไปน้ำตกนางรอง) เห็นป้ายไปเขื่อน เลี้ยวขวามานิดเดียว
ก็เลี้ยวซ้ายอีกที เพื่อขึ้นไปชมบนสันเขื่อน มองเห็นแต่ไกลเหมือนน้ำพุคือ
น้ำที่เขื่อนกักเก็บไว้จนเต็มอ่างแล้วปล่อยลงมาตามท่อเพื่อไหลไปตามคลองท่าด่าน
และตามระบบส่งน้ำ
เส้นทางที่ ๒
ไปเส้นนี้ใกล้กว่าเส้นทางที่ ๑ ร่วมสามสิบ กม.คือถนนสายเลียบคลองรังสิต ข้ามสะพานรังสิตแล้วเลี้ยวขวาวิ่งเลียบริมคลองไปตามถนนสาย
๓๐๕ ผ่านหน้าทางแยกเข้าอำเภอธัญญบุรี ผ่านอุทยานไม้ใหญ่ (ขายต้นไม้ใหญ่) กม.๓๔.๙๐๐
ผ่านคลอง ๑๕ แหล่งขายต้นไม้ทั้งส่งและปลีกที่ใหญ่ที่สุด ในราคาที่ถูกที่สุด
อยู่ตรง กม. ๓๗.๖๐๐ เดี๋ยวนี้ตลาดต้นไม้ตรงนี้ยาวนับสิบ กม.และข้ามคลองรังสิตไปขายอีกฝั่งหนึ่งแล้วและจะเริ่มมีขายมากตั้งแต่คลอง
๑๔ วิ่งต่อไปจนถึงอำเภอองครักษ์ อยากกินก๋วยเตี๋ยวอร่อยก็เลี้ยวเข้าอำเภอไปใกล้
ๆ สถานีตำรวจ ก๋วยเตี๋ยวผู้กำกับให้ลูกน้องขายจะได้ปลอดส่วย เลยองครักษ์ไปก็ย่านขายไก่ย่างและหมูหัน
ต่อไปก็ย่านขายผลไม้ ไปต่ออีกจวนจะถึงนครนายกแล้วก่อนถึงสี่แยกสามสาว
ทางขวามือจะมีศูนย์ขายสินค้าโอท๊อป
พึ่งเปิดจำหน่ายชื่อตลาดกลางสินค้าพื้นเมือง
ของ อบจ.นครนายก ผมผ่านไปวันที่เขากำลังมีงานเปิดตลาดพอดี เป็นเทศกาลส้มโอนครนายก
(ยังมีเทศกาลมะปรางอีกในเดือนกุมภาพันธ์) สร้างสุขาอย่างดีเป็นแบบผสม แต่ห้องที่เป็นส้วมโถนั้นไม่ว่าของชายหรือหญิง
ติดป้ายไว้ว่าห้ามเข้าได้ความว่าราคาไม่ลง เสียดายอุตสาห์ทำอย่างดีแต่ห้ามเข้า
ป่านนี้คงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว พอถึงสามแยกสามสาว หากตรงไปจะไปบ้านสร้าง ไปพุทธสถานจีเต็กลิ้ม
ไปเมืองโบราณดงละคร
ให้เลี้ยวซ้ายเข้าเมืองนครนายกไปบรรจบกับเส้นทางที่ ๑ ไปยังเขื่อนคลองท่าด่าน
แวะเที่ยวตามทางเอาแต่ในเขตอำเภอเมืองในเส้นทางที่จะไปยังเขื่อนคลองท่าด่าน
รร.นายร้อย จปร.
จะมาตามเส้นทางที่ ๑ หรือ ๒ ก็จะต้องผ่านทางแยกซ้ายมีป้ายบอกไป รร.นายร้อย
จปร. หากมาตามเส้นทางที่ ๒ พอเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานมัฆวาน (จำลองแบบมา) แล้วก็จะผ่านร้านปลาเผาอร่อยคือ
ครัวริมคลอง ตรงไปอีก ๙ กม.ก็จะถึง รร.นายร้อย จปร. ไป รร.จปร.เข้าไปเที่ยวอะไร
นักกอล์ฟก็ไปตีกอล์ฟ ไปไหว้เจ้าพ่อขุนด่าน
ซึ่งประวัติของท่านมีดังนี้ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งกำลังของทัพไทยกำลังสร้างกองทัพ
เพราะพึ่งหลุดพ้นมาจากการปกครองของพม่า ยังมีกำลังน้อย เวลาทัพพม่ายกมาติดไทย
เขมรจะฉวยโอกาสส่งทัพเข้ามาตีเอาปราจีนบุรี และนครนายก ขุนด่านท่านเป็นนายด่านของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ได้รวบรวมไพร่พลตั้งทัพอยู่ที่เชิงเขาชะโงก
พอจัดทัพเสร็จแล้วก็ยกกำลังไปขับไล่ทัพเขมรออกจากนครนายก จนทัพเขมรแตกพ่ายไป
ต่อมาจึงมีการสร้างศาลเจ้าพ่อขุนด่านไว้ และในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นนำกำลังพลมาตั้งทัพที่เขาชะโงกได้รื้อศาลเจ้าพ่อขุนด่าน
ท่านจึงแสดงอภินิหารทำให้ทหารญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก เที่ยวใน รร.จปร.ต่อ
มีพระพุทธฉาย
เป็นภาพเขียนติดอยู่กับชะโงกผา มีเรือแคนนูให้เช่าพาย ขี่จักรยานท่องเที่ยว
เดินป่า ไต่หน้าผาจริง/จำลอง มีสนามยิงปืน อาคารพิพิธภัณฑ์
รร.จปร.๑๐๐ ปี มีศาลาวงกลมประดิษฐานพระบรมรูปครึ่งพระองค์ของรัชกาลที่
๕ ซึ่งจำลองศาลานี้มาจาก ศาลาวงกลมที่สร้างไว้ที่ รร.จปร.เดิม ที่ตรงข้ามสนามมวยราชดำเนิน
ซึ่งสมัยผมเป็นนักเรียน จปร. นอนกันที่นี่ พอเช้าก็เดินไปเรียนที่โรงเรียนฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ
ในสมัยนั้นเดินผ่านศาลาวงกลม นนร.จปร.จะต้องหยุดถวายความเคารพทุกครั้งไปและใน
รร.จปร.ยังมีสวถานที่พักอย่างดี ราคาไม่แพง ติดต่อศูนย์ท่องเที่ยวขอรายละเอียดได้ที่อาคารศูนย์
ฯ เข้าประตู รร.บจปร.มาแล้วอยู่ทางขวามือ โทร ๐๓๗ ๓๙๓ ๐๑๐ ต่อ ๖๒๙ ๖๐ - ๓
เมื่อผ่านเข้าเมืองเลี้ยวมาตามถนนสาย ๓๐๔๙ สายไปนางรองแล้ว กม.๑ แวะชิมอาหารเสียเลย
ร้านนี้ปรับปรุงร้านใหม่ เพราะถนนหน้าร้านเขาขยายและยกระดับสูงขึ้น หากไม่ปรับปรุงร้าน
ร้านจะลงไปอยู่ต่ำกว่าถนน เขาเลยต้องสร้างร้านกันใหม่ แต่ทำ ๒ ชั้น อีกชั้นเป็นชั้นใต้ดิน
มีทั้งห้องพัดลมและห้องแอร์ ผมชิมเขามาตั้งแต่ยังไม่ได้ขยายร้าน อาหารอร่อยประจำร้านดั้งเดิมของเขาคือ
ไก่ย่างหนังกรอบ ต้องบอกว่ากรอบจริง ๆ หมูสะเต๊ะ และผลไม้ดองแช่อิ่ม เป็นอาหารมีชื่อของเขา
เกิดทีวีจำไม่ได้ว่าช่องไหนไปออกข่าวว่าสุกี้อร่อย เลยต้องชิม
สุกี้ยากี้ รวมมิตรมาเร็วเพราะใครตามทีวี มาต้องสั่งสุกี้กันทุกโต๊ะ มีปลาหมึกลวกเก่งสุกแล้วยังกรอบ
มีลูกชิ้นปลาเหนียวใช้ได้ กุ้ง ปูอัด และแมงกระพรุน น้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้มคล้ายน้ำพริกเผา
สุกี้ไม่ต้องปรุง ไม่ต้องเติม หากจะเติมให้เติมความร้อน เส้นร้อนน้อยไปนิด
ไก่ย่างหนังกรอบ สั่งเต็มตัว ครึ่งตัวก็ได้ จานนี้ต้องสั่งจานเด่นเก่าแก่ของร้าน
ครึ่งตัว ๖๐ บาท มีน้ำจิ้ม ๒ ถ้วย ถ้วยหนึ่งหวาน อีกถ้วยแบบแจ่ว หนังไก่ต้องบอกว่าย่างเก่งกรอบจริง
ๆ
ปลากะพงผัดฉ่า คล้ายปลาผัดพริกแกง จานนี้กินกับข้าวสวยร้อน ๆ เด็ดนัก แล้วซดสุกี้ตาม
กุ้งแม่น้ำผัดพริกไทยดำ จานนี้ราคาย่อมเยามาทีไรสั่งทุกที กุ้งแม่น้ำตัวไม่โตนัก
แต่แม่น้ำแน่ เนื้อแน่น ในจานมีหลายตัว ราคาจานละ ๑๘๐ บาท ต้องถือว่าถูกสำหรับกุ้งแม่น้ำ
หัวกุ้งมีมันให้บีบเอามาคลุกข้าวได้ ผัดกับหอมใหญ่ พริกยักษ์สีสวย ต้นหอม
พริกไทยดำ รสเข้ม
หมูสะเต๊ะ เป็นอีกจานหนึ่งที่ต้องสั่ง มีขายทั้งวัน ไม้โต น้ำจิ้มอร่อยมาก
อาหารจานเดียวของเขาก็มี ผัดพริก ผัดหมูราดข้าว ฯ ยิ่งอาหารกุ้งมีหลายอย่างเปิดเมนูดู
อาหารร้านนี้อร่อย ราคาไม่แพง บริการดี บนโต๊ะหน้าร้านวางหนังสือที่ผมเขียนถึงร้านของเขาเอาไว้ด้วย
"อร่อยทั่วไทย ไปกับ ปตท."
จบแล้วก่อนกลับแวะซื้อสารพัดของฝาก ส่วนของร้านได้แก่พวกผลไม้แช่อิ่มและที่แปลก
หากกลับบ้านเลยซื้อมาด้วยคือ "น้ำแกงส้ม"
ไปเที่ยวต่อ เลยร้านมาสัก ๒๐๐ เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนแคบ ๆ มาสัก ๓๐๐ เมตร
แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยเฉลิมพระเกียรติ ซอย ๒ เข้าไปจนถึงแม่น้ำนครนายก "วัดใหญ่ทักขิณาราม"
อยู่ริมแม่น้ำ วัดนี้ชาวเวียงจันทน์สร้างไว้ ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
โปรด ฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพขึ้นไปตีล้านช้าง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๑ เมื่อตีได้ก็กวาดต้อนผู้คน
และนำพระแก้วมรกตกลับคืนมาสู่แผ่นดินไทย กลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพระกรมดินมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านใหญ่
แล้วสร้างวัดใหญ่ลาว
ขึ้นที่ริมแม่น้ำนครนายก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๓ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ บ้านใหญ่ลาวยกฐานะเป็นตำบลบ้านใหญ่
อำเภอเมือง จึงเปลี่ยนนามวัดเป็นวัดใหญ่ทักขิณาราม ภายในวัดมีอุโบสถหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
แต่อุโบสถหลังเก่าซึ่งเวลานี้เป็นวิหาร สร้างโดยฝีมือช่างชาวเวียงจันทน์ มีขนาดกว้าง
๖ ม. ยาว ๑๐.๑๕ ม. สูง ๑๐ ม. สร้างกระทัดรัด งดงามมาก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ
ลักษณะของอุโบสถแบบไม้มุงกระเบื้อง ก่ออิฐถือปูน บานประตูเป็นไม้แกะสลัก กรอบด้านขวาเป็นรูปยักษ์ถือกระบองชูขึ้นและเท้าบั้นเอว
หน้าบันเป็นไม้แกะสลักรูปเทพพนม กำแพงแก้วมีซุ้มประตูโค้งเลียนแบบศิลปะตะวันออก
มีปูนปั้นเป็นรูปทหารสวมหมวกแต่ถือกระบอง แต่งกายแบบยุโรป เป็นนายทวาร ประตูละ
๒ คน ด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวัน มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบทรงเครื่องลักษณะเจดีย์ย่อมุม
หน้าทางเข้าวิหารทางซ้ายมีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ประทับยืน
ด้านซ้ายติดกับวิหารและติดแม่น้ำ เป็นอาคารทรงฝรั่งรูปร่างแปลกดี เขียนไว้ว่าอนุสาวรีย์ง่วนเฮง
พ.ศ.๒๔๙๑ วัดนี้ตัววิหารขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙
พระพุทธรูปในอุโบสถปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านไปไหว้ขอรับพร
และมีเซียมซีให้เสี่ยงถามโชคชะตาด้วย
วัดพราหมณี
ไปไหว้หลวงพ่อปากแดง และชมอนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่
๓๗ วัดนี้แยกขวาเข้าถนนเข้าวัดโดยแยกจากถนนสาย
๓๐๔๙ เลยทางแยกเข้าวัดใหญ่ทักขิณารามไปแล้ว แยกที่ ๔.๕ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ที่ร่มรื่น มีประติมากรรมรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง
ม้า ฯ ประดับทั่วบริเวณวัด นัยว่าสร้างเพื่ออุทิศให้แก่ม้าสงครามของทหารญี่ปุ่นที่มาตั้งฐานทัพบริเวณวัดนี้
และล้มตายในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
๕ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี
เมื่อถึงบริเวณวัดมีช้างทรงเชือกหนึ่งล้มลง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์
และวัดนี้เคยร้างไประยะหนึ่งในสมัยสงคราม กองทัพญี่ปุ่น กองพลที่ ๓๗ ได้รับคำสั่งให้มาตั้งฐานเตรียมเสริมกำลังไปทำการรบด้านพม่า
และมาเลย์เซีย และได้ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดนี้จนสิ้นสุดสงคราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘
วัดพราหมณีในปัจจุบันไม่มีสิ่งก่อสร้างเก่าแก่เหลืออยู่แล้ว ได้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อ
พ.ศ.๒๕๒๖ สมาคมสหายสงครามกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗ ได้ร่วมกันบริจาคเงินมาสร้าง
"อนุสรณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ ๓๗" สร้างลักษณะเป็นแท่งหินสี่เหลี่ยมสูง
๑.๕ เมตร มีจารึกเป็นภาษาญี่ปุ่น สร้างเพื่อระลึกถึงดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นกองพลนี้ที่ตายระหว่างสงครามใน
พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘ มีจำนวนมากถึง ๗,๙๒๙ นาย และม้าสงครามตายอีก ๔,๓๗๕ ตัว
หลวงพ่อปากแดง
พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ ชาวลาวนำมาเมื่อถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เป็นพระสำริดปางสมาธิ
หน้าตักกว้าง ๑ เมตร จีวรเป็นลายดอกพิกุล ที่เรียกว่าหลวงพ่อปากแดง เพราะพระโอษฐ์ดุจแย้มยิ้มและแต้มด้วยสีแดงชัดเจน
อุทยานวังตะไคร้
ตั้งอยู่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง นครนายก อยู่ก่อนถึงน้ำตกนางรองเส้นทางเดียวกัน
หากผ่านทางแยกเข้าวัดพราหมณีไปจนถึง กม.๑๑.๒๐๐ ก็เลี้ยวขวา (หากตรงไปจะผ่านวัดถ้ำสาริกาที่หลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต เคยมานั่งวิปัสสนาและเลยต่อไปคือน้ำตกสาริกา) จะไปผ่านรีสอร์ทที่ผมมาพัก
ซึ่งภายในรีสอร์ทแห่งนี้งดงามด้วยต้นไม้ และสร้างบ้านพักได้เก๋มาก แต่ราคาก็พอสมควรเหมือนกันคืนละ
๑,๗๕๐ บาท เสียดายที่ห้องอาหารไม่ชวนชิม ชื่อห้องอาหารเป็นอาหารฝรั่งคือภูเขางามสเต็ก
แต่ปรากฎว่าอาหารไม่เป็นฝรั่งและแพงมาก ซุปหัวหอมที่ไม่ใช่แบบฝรั่งเศสถ้วยละ
๘๐ บาท เสริฟด้วยช้อนตักแกง ไม่ใช่ช้อนซุป
เลยรีสอร์ทแห่งนี้ไป ก่อนข้ามสะพานข้ามลำธารคลองมะเดื่อหรือคลองวังตะไคร้
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าประตู ซึ่งจ่ายค่าผ่านประตูเข้าชมอุทยานแห่งนี้คนละ ๑๐ บาท
รถยนต์นั่งพร้อมคนโดยสารอีก ๔ คน คันละ ๑๐๐ บาท มีที่พักอย่างดีติดต่อ ๐๒
๒๔๕ ๔๙๓๔ , ๐๓๗ ๓๑๒ ๒๗๕ มีพื้นที่มากถึง ๑,๕๐๐ ไร่ มีถนนให้รถยนต์วิ่งชมบริเวณโดยรอบได้
งามด้วยพันธ์ไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธ์ ไปวังตะไคร้นอกจากชมสวนแล้วเล่นน้ำ
ล่องห่วงยางในคลองวังตะไคร้ และกินอาหาร
ข้ามสะพานคลองวังตะไคร้ไปแล้ว ทางซ้ายมีทางเดินขึ้นไปยังยอดเนินที่ตั้งของวัดนางรอง
แต่หากไม่อยากเดินก็เอารถขึ้นไปสัก ๕๐ เมตร รถขึ้นได้สะดวก วัดนี้สมเด็จย่าสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่
๘ ถวายวัดไว้ แท่นที่ประทับวัดสร้างไม่ค่อยสวยผมเลยเอามาเขียนเล่าไว้ และมีศรัทธาไปช่วยวัดสร้างใหม่เป็นศาลาจตุรมุข
สวยสมพระเกียรติประดิษฐานพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ (สร้างขึ้นใหม่) และรัชกาลที่
๘ ประทับยืนคู่กัน ติดกับศาลาจตุรมุข แต่ต่ำกว่ามีศาลเจ้าพ่อปลัดจ่าง และมีวิหารหลวงพ่อพระสังกัจายจ์อยู่ใกล้
ๆ กัน ทางวัดก็ไม่ทราบเหตุผลว่าเหตุใดสมเด็จย่าจึงมาสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่
๘ ถวายไว้ที่วัดนางรอง วันนี้ผมยังพาไปไม่ถึงเขื่อนคลองท่าด่าน คงต้องขอต่ออีกสักตอนแล้ว
จะเลยพาไปอุทยานปางสีดา ไปละลุ ไปปราสาทสต๊อกก็อกธม ที่จังหวัดสระแก้ว แล้วไปกินอาหารเวียดนามเจ้าแรกของอรัญประเทศ
......................................................
|