ไหว้พระดีภาคอีสาน(๑) ภาคอีสานของประเทศไทยหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีรวมทั้งสิ้น ๑๙ จังหวัดและหากจะแบ่งต่อไปอีกก็จะแบ่งได้ ๓ ภาค คือ อีสานเหนือ ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธ์ รวม ๖ จังหวัด อีสานกลาง ได้แก่ นครพนม ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร สกลนครรวม ๘ จังหวัด อีสานใต้ ได้แก่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี รวม ๕ จังหวัด เวลานี้ ผมเดินทาง "ตะลุย" ภาคอีสานรวดเดียว ๑๙ จัวหวัด ใช้เวลาหลายวันเพื่อทบทวนข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่และหาเพิ่มเติม ซึ่งขอเล่าเรื่องส่วนตัวเสริมไว้สักเล็กน้อย หวังว่าท่านผู้อ่านคงอภัยและให้การสนับสนุนคือทางบริษัทน้ำมัน ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มาเชิญผมไปเขียนสารคดีท่องเที่ยวทั่วเมืองไทยโดยตั้งชื่อว่า อร่อยทั่วไทย กับปตท. ทำนองนี้ เล่มแรกก็ภาคเหนือวางแผงก่อนสงกรานต์ในต้นเดือนเมษายน ๒๕๔๖ซึ่งคงวางเรียบร้อยไปแล้ว เล่ม ๒ ตอนจะเข้าพรรษาภาคอีสาน และต่อไปก็จะเป็นภาคใต้ภาคกลาง ภาคตะวันออกและกรุงเทพ ฯ ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เรียกว่าเป็นงานที่หนักมากสำหรับคนอายุปูนใกล้ร้อยอย่างผมต้องเดินทางทางรถยนต์กับผู้ที่เป็นเลขาตลอดกาลของผม (ภริยาผมเอง) และไปกัน ๒ คน ผมทำหน้าที่ทุกอย่างหมดตั้งแต่วางแผนเดินทางหาเอกสาร (เลขา ฯ ช่วยด้วย) ขับรถ ตระเวนหาร้านอาหาร ซึ่งข้อนี้ผมไม่ทราบว่าจะอธิบายได้อย่างไร นายแพทย์ท่านหนึ่งเป็นแฟนหนังสือของผมมานานเต็มที ท่านถามว่า "พี่" รู้ได้อย่างไรว่าร้านนี้อาหารอร่อยผมก็เลยย้อนถามไปบ้างว่า "หมอ" มองออกได้อย่างไรว่าคนนี้ป่วย ซึ่งเป็นเช่นนี้จริงๆ ผมจึงอธิบายไม่ถูก แค่ขับรถผ่านผมมองออกว่าอาหารร้านนี้น่าจะเป็นอย่างไรนาน ๆ ก็จะผิดหวังสักทีหนึ่ง ดังนั้นการทำหนังสือให้ ปตท.จะยากตรงที่บางวันผมต้องชิมทีเดียวตั้ง๕ - ๖ ร้าน คือมื้อเช้า กลางวัน เย็น กลางคืน และหากไปเจอเอาร้านไม่อร่อยเข้าสักมื้อก็ต้องหากันใหม่และกินแบบที่เรียกว่า กินทิ้งกินขว้าง คือ "ชิม" ไม่ใช่กิน พอรู้รสก็ต้องอิ่ม เก็บท้องไว้รับอาหารมื้อต่อไป ได้ไปติดต่อกัน ๓ ครั้ง ครั้งแรก ๕ วัน ครั้งที่๒ ใช้เวลา ๑๕ วัน ครั้งที่ ๓ อีก ๗ วัน หากหาข้อมูลมาเขียนในศักดิ์สิทธิ์ผมไม่จำเป็นต้องไปชิมทุกมื้อ ชิมมื้อใด เมืองใด ที่เราผ่านไปก็ได้แล้วกลับมาบ้านก็นำมาเขียนเล่าให้ฟัง แต่การเขียนรวมเล่มของ ปตท. ต้องเขียนกันทั้งคืนนั้นและจังหวัดนั้นต้องจบภายใน๒ - ๓ วัน เพราะไม่มีเวลาที่จะย้อนมาทบทวนอีกแล้ว เอากลับมาเขียนต่อที่บ้านก็ไม่ได้ต้องเขียนแล้วส่งต้นฉบับกันทางไปรษณีย์มาให้อดีตเสมียนที่พิมพ์หนังสือให้ผมมากว่า๒๕ ปี พิมพ์เตรียมไว้ และการเดินทางมาทำงานครั้งนี้ผมจึงถือโอกาสรวบรวมวัดสำคัญเพื่อพาไหว้พระทุกภาคสำหรับภาคอีสานนั้นหากจะไหว้กันให้ครบทุกวัดท่านจะต้องไหว้ถึง "๑๐๘"วัด ผมอาจจะนำมาเล่าให้ฟังไม่หมด ภาคอื่นก็เช่นกัน เวลานี้ผมเดินทางไปหาข้อมูลของภาคใต้ภาคเหนือมาเกือบหมดแล้ว กำลังตะลุยภาคอีสาน ไม่ได้นอนบ้านมานานแล้ว นอนตามโรงแรมและเขียนหนังสือตามโรงแรมที่ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเขียนแต่ท่านก็จะได้บรรยากาศ และข้อมูลในการท่องเที่ยวในรูปแบบของ "เที่ยวไปกินไป"พร้อมกับผม อีสานได้เริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ผมกลับจะเขียนถึงจังหวัดนี้หลังสุดเพราะผมเอานครราชสีมาประตูสู่อีสานเป็นจังหวัดสุดท้ายที่ผมจะหาข้อมูลแต่จะเดินทางผ่านหลายครั้ง และการไปลุยภาคอีสานในเวลานี้นั้น เนื่องจากถนนสะดวกมากเหลือเกินอีสานน่าจะเป็นภาคที่มีถนนราดยางมากที่สุด ดีที่สุดก็เป็นได้ เว้นถนนสี่เลนกำลังเริ่มขยายยังไม่พร้อมเหมือนภาคเหนือที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่าแต่ถนนเข้าสู่หมู่บ้านนั้นภาคอีสานสมบูรณ์กว่าทุกภาค รวมทั้งการเดินทางไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งสำคัญๆ ต่าง ๆ เช่น บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ทำถนนราดยางอย่างดีไปจนถึงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ระยะทางถึง ๓ กิโลเมตร แต่พอถึงบ่อน้ำแล้วมีแต่ป้ายบอกว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่ประวัติความเป็นมาหรือศัดิ์สิทธิ์อย่างไร ไม่มีใครบอกว่าน่าจะเป็นจังหวัดอำเภอ และการท่องเที่ยวต้องทำป้ายบอกไว้ หรือที่วัดมหาชัยในอำเภอเมืองมหาสารคามมีพิพิธภัณฑ์เชิดหน้าชูตาของเมืองมหาสารคาม เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของภาคอีสานแต่ไปถึงปรากฎว่าเข้าชมไม่ได้ บอกว่าต้องทำหนังสือขอมาและติดต่อล่วงหน้าจึงจะเปิดให้ชมมีของดีแล้วเก็บเอาไว้ทำไม ไม่ให้ความรู้แก่ประชาชนและอยากให้โรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดที่มีของดีเหล่านี้รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงพาเยาวชนมาชมเอาอย่างต่างประเทศ (ฝรั่ง) ที่เขาจะพาเด็กชมพิพิธภัณฑ์กันเป็นหมู่เหล่า คนของเขาจึงฉลาด ดังนั้นการลุยอีสานของผมจึงขอผ่านนครราชสีมาไปก่อน และขอเริ่มต้นที่บุรีรัมย์ผมจะเขียนเมืองใดก็ไปไหว้พระเมืองนั้น ผมจะเริ่มต้นด้วยประวัติของเมืองนั้นการเดินทางไป และจะบอกโรงแรมที่พักให้ด้วย จะได้สะดวกต่อท่านที่ติดตามไปไหว้พระภาควอีสานกับผมแม้ว่าที่จะไปไหว้ทีเดียว ๑๙ จังหวัดไม่ได้ อาจจะติดตามไป แต่ไหว้และเที่ยวทีละภาคของอีสานเช่นเริ่มจากอีสานตอนล่างก่อน เป็นต้น บุรีรัมย์เคยเป็นที่อยู่ของคนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนขอมเรืองอำนาจ เดิมทีบุรีรัมย์อยู่ที่เมืองนางรอง(ปัจจุบันคืออำเภอนางรอง) ชื่อว่า "เมืองแป๊ะ"พึ่งมาเปลี่ยนเป็น บุรีรัมย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ในตอนที่กลับมาตั้งเมืองใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งไปราชการทัพตามพระบัญชาของพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อเสร็จการทัพที่ประเทศลาวแล้ว กลับมาถึงบุรีรัมย์เห็นมีราษฎรรวมกลุ่มกันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นอันมากจึงได้ให้ตั้งเป็นเมือง บุรีรัมย์จึงมีราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่วงเวียนก่อนเข้าตัวเมืองที่สง่างาม การเดินทาง.- ไปบุรีรัมย์ไปได้หลายทาง.- ทางอากาศ ต้องไปลงเครื่องบินที่นครราชสีมาและต่อรถยนต์ไปอีกทีหนึ่ง ทางรถไฟ มีรถไฟเดินผ่านสถานีรถไฟบุรีรัมย์วันละหลายขบวน ทางรถยนต์ประจำทาง มีรถออกจากสถานีขนส่งตลาดหมอชิต ทางรถยนต์ (ส่วนตัว) มีหลายเส้นทาง.- เส้นทางที่ ๑ กรุงเทพ ฯ นครราชสีมา อำเภอลำปลายมาศ บุรีรัมย์ เส้นทางที่ ๒ จะเรียกว่าเป็นเส้นทางใหม่ก็ได้ แต่ใช้เส้นทางนี้ได้หลายปีมาแล้วคือจากกรุงเทพฯ สระบุรี ไปตามถนนมิตรภาพ สีคิ้ว แล้วเลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนไป)เข้าถนนสาย ๒๔ ไปผ่าน อำเภอโชคชัย นางรอง (หรือจะไปผ่าน อำเภอประโคนชัย) แล้วเลี้ยวซ้ายไปบุรีรัมย์อีกประมาณ๕๓ กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่นิยมไปกันมากที่สุด เส้นทางที่ ๓ เส้นทางของนักเดินทางอุตริอย่างผม ที่เสาะหาเส้นทางแปลกใหม่ แม้จะไกลก็ยอมเพื่อหาความรู้ความแปลกใหม่หรือทดสอบการขับรถของผมเอง ซึ่งผมมีเวลาเหลือสำหรับขับรถน้อยเต็มทีแล้วเพราะสังขารของคนใกล้ร้อยนั้นไม่อำนวยให้ขับรถทางไกล หรือยิ่งในกรุงเทพ ฯหรือในเวลากลางคืนยิ่งแย่ ทุกวันนี้ขับทางไกลหากเกิดง่วงนอนจะต้องจอดนอนทันทีหากสมาธิเราดีใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ - ๑๕ นาที ก็จะหลับอิ่มแล้ว ง่วงอีกทำอย่างไรก็ตอบว่านอนอีก เพราะขับทางไกลต้องขับเร็ว เร็วให้สม่ำเสมอ จอดพักน้อยที่สุดกินอาหารต้องไม่โอ้เอ้ จึงจะทำเวลาได้ดังที่วางแผนไว้ ไปบุรีรัมย์ครั้งสุดท้ายตอนตะลุยอีสาน ผมก็เลือกไปเส้นทางที่จะเผื่อแผ่ไปถึงตอนที่ผมจะเขียนข้อมูลการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกคือจังหวัดสระแก้วไว้ด้วย ผมเดินทางไปดังนี้.- จากบ้านพักที่ลาดพร้าว ไปทางมีนบุรีเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสุวินทวงค์ไปออกแปดริ้วผ่านเมืองแล้วไปข้ามแม้น้ำบางปะกง ไปออกถนนที่จะไปยังพนมสารคามไปตามเส้นนี้จนใกล้จะถึงกบินทร์บุรีจะมองเห็นป้ายข้างทางป้ายโตเห็นได้ชัดเจนชี้ให้เลี้ยวขวาไป "สระแก้ว"เลี้ยวขวาไปตามถนนสายใหม่เอี่ยมนี้ ถนนจะราดยางอย่างดี กว้าง รถวิ่งน้อยมาก(ผมเคยไปตั้งแต่เขาเริ่มทำถนนใหม่ ๆ) ถนนจะไปสุดทางที่วัฒนานครแต่เวลานี้ยังทำไปไม่ถึงจึงไปได้แค่สี่แยกที่เลี้ยวซ้ายจะไปยังจังหวัดสระแก้วให้เลี้ยวซ้ายไปอีก ๖ กิโลเมตร แล้วจะบรรจบกับถนนสายจากหินกอง อรัญประเทศวิ่งไปตามถนนสายนี้จนถึงอำเภอวัฒนานคร ก็เลี้ยวซ้ายไปตามถนนที่บอกว่าไป อำเภอตาพญาแต่พอไปแล้วจะถึงทางแยกขวาเข้าอำเภอตาพญา เราก็ไม่เลี้ยวเข้าไปคงเลี้ยวตามป้ายที่บอกว่าไปอำเภอละหานทรายหรือป้ายใหญ่ที่มีมากที่สุดคือ ป้ายที่ยกไว้บอกว่าไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งปราสาทเมืองต่ำ และวนอุทยานเขากระโดงป้ายแบบนี้จะมีมากที่สุด แต่ไม่บอกระยะทาง และทำป้ายแปลกเพราะพอถึงอำเภอนางรองป้ายก็จะหายไปเลยไม่รู้ว่าถึงอำเภอนางรองแล้วจะเลี้ยวไปทางไหน หรือเลี้ยวก่อนได้ไหมแต่พอเลี้ยวได้ เพราะชำนาญเส้นทางเหล่านี้มาตั้งแต่ยังรับราชการแล้วมาทำงานยุทธศาสตร์พัฒนาแนวชายแดนจึงจำได้แม่นยำทุกเส้นทางระยะทางจะใกล้เคียงกันคือประมาณ ๓๙๐ กิโลเมตร เส้นทางที่ผมมานี้จะใกล้ที่สุด แต่จะเสียเวลามากที่สุด และหากไม่สังเกตให้ดี เตรียมการมาไม่ดี เช่น ไม่อ่านแผนที่มาก่อนอาจจะหลงเข้าตาพญาหรือหลุดไปยังปราสาทตาล็อกก็อกธมไปเลยก็เป็นไปได้ เมื่อถึงอำเภอนางรองแล้วก็แวะชิมขาหมูนางรองเสียก่อน เพราะนางรองนั้นเวลานี้ตั้งศาลจังหวัดแล้วสิ่งบอกเหตุว่าไม่นานจนเกินรอ ก็คงจะแยกตัวอำเภอนางรอง ออกมาตั้งเป็นจังหวัดนางรองเหมือนเมืองนางรองในอดีตก็เป็นได้ ร้านขาหมูนารองอยู่เยื้องธนาคารออมสิน ส่วนร้านขาหมูที่ติดกับธนาคารออมสินชื่อร้านลักษณาเชลล์ชวนชิม ร้านที่ผมชิมมากว่า ๒๕ ปี ชื่อร้านขาหมูนางรองและมีชื่อเดิมว่า "จิ้งนำ" กินกันมาตั้งแต่ผมยังมียศพันเอก จนเป็นพลเอก ปลดเกษียณอายุราชการแล้ว เขาก็ยังไม่รู้จักผมและผมเองไปชิมทีไรก็สั่งอาหารเป็นอยู่๓ อย่าง เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง เวลานี้ร้านลักษณาแยกไปเปิดสาขาเลยโรงพยาบาลออกไปอีกร้านหนึ่งส่วนหน้าโรงพยาบาลแขวนป้ายไว้ว่า เป็นย่างพิมาย แต่ไปกินแล้วไม่มีกลายเป็นเป็นพะโล้แต่ก็อร่อยดี ร้านจิ้งนำเดี๋ยวนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑) มีใครต่อใครไปชิม ที.วี.ไปออกรายการยกป้ายไว้หลายเจ้าด้วยกันแต่ป้ายของผมไม่มี กินทีไรก็จ่ายสตางค์กันทุกทีไปอาหารที่ผมบอกว่าสั่งเป็นกับเขาอยู่๓ อย่างคือ ยำกุนเชียง เพราะกุนเชียงของบุรีรัมย์นับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีกุนเชียงอร่อยราคากุนเชียงแตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัด มีตั้งแต่ ๙๐ บาท ไปจนถึง ๑๘๐ บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้อยู่ที่ความแน่นของเนื้อหมู กุนเชียงบุรีรัมย์รสดีมากเนื้อแน่น ยำยิ่งอร่อย และรายการที่ต้องสั่งก็คือขาหมู เมื่อก่อนวนี้สั่งขาหมูไม่ว่าไม่ว่าไปกี่คนเขายกมาให้ทั้งขาสีเหลืองอ่อน น่ากินเหลือประมาณ แต่หากไป ๒ คน ก็อาการหนักหน่อย เพราะขามันโตขนาดเขาบอกว่าเล็กแล้วก็ยังโตอยู่นั่นเอง ตอนนี้เห็นเขาเปลี่ยนวิธีใหม่เป็นจานใหญ่จานเล็กตามจำนวนคน จึงทำให้ได้ขาหมูนางรองจานเล็กสำหรับ ๒ คน มีผักกาดดองโรยหน้ามาน่ากินนักหากเขาลืมก็อย่าลืมไปขอเขาคือวกระเทียมโทน กับพริกขี้หนูสดจึงบจะอร่อยถึงใจตักขาหมูวางข้างบนข้าวลาดด้วยน้ำพะโล้ ส่งเข้าปากแล้วกัดพริกขี้หนูตาม ตามด้วยกระเทียมโทนและผักกาดดองแล้วซดต้มยำ อาหารรายการที่ ๓ ที่ผมสั่งประจำคือต้มยำปลา ปลาอะไรก็อร่อยทั้งนั้นไปหลายคนให้เขาใส่หม้อไฟมาให้จะได้ร้อนโฉ่ถูกใจปลามีปลาเนื้ออ่อน ปลากด และปลาบึกผมชอบปลาเนื้ออ่อนมากกว่าเพื่อน เพราะปลาบึกนั้นหาบึกแม่โขงยากแล้ว จะเป็นบึกเลี้ยงกันเสียมากกว่าประมงไทยเพาะบึกสำเร็จ และเลี้ยงกันหลายแห่งแล้ว เช่น ที่กว๊านพะเยา เป็นต้น หากไปหลายคน ผมก็สั่งแค่ ๓ อย่าง แบบนี้ แต่เพิ่มปริมาณเอา เช่น ขาหมูจานใหญ่อร่อยล้น เล่าเส้นทางเดินทางแบบอุตริของผมแล้วก็เลยเถิดไปเล่าเรื่องกินเสียเลย ก็คงไม่ต้องหาร้านที่ไหนมาเล่ากันอีกไปเที่ยวตรงไหนก็หาอาหารอร่อยที่สุด แถวนั้นกินได้ก็แจ่มแจ๋วต่อการไปเที่ยวแล้ว จากนางรองหรือร้านขาหมูนางรองก็เลี้ยวซ้ายมาทางอำเภอประโคนชัยออกมาได้หน่อยจะเห็นป้ายให้เลี้ยวซ้ายไปบุรีรัมย์เรายังไม่ไป คงตรงต่อไปประโคนชัยเพื่อจะไปปราสาทเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำแต่พอถึงกิโลเมตร ๘๐ - ๘๑ ก็แยกไปวัดเขาอังคารเสียก่อน(แต่ขอเล่าทีหลัง เพื่อไหว้พระภาคอีสานของบุรีรัมย์ จากวัดเขาอังคารจึงออกมาถนนสาย๒๔ ใหม่ แล้วไปทางประโคนชัยต่อ พอถึงกิโลเมตร ๘๒ - ๘๓ ก็เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย๒๑๑๗ ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร จะไปถึงยังอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้งและจากอุทยานประวัติศาสตร์เขาพนมรุ้งไปอีก ๘ กิโลเมตร ก็จะไปถึงยังปราสาทหินเมืองต่ำ อุทยานประวัจติศาสตร์พนมรุ้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินเมืองต่ำอยู่ในเขตอำเภอประโคนชัย และการไปจากพนมรุ้งก็จะได้ผ่านปรางค์หินกุฎิฤาษีซึ่งปรางค์หินกุฎิฤาษีนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มาสร้างไว้เพื่อประโยชน์ที่คล้ายคลึงกันคือเป็นอโรคยาหรืออนามัยหรือสาธารณสุขนั่นเอง สร้างไว้ร่วม ๑๐๐ แห่ง ในเมืองไทยมีสัก๑๗ แห่ง นับว่าทันสมัยมากที่สร้างสุขศาลา เมื่อ ๙๐๐ ปีที่แล้ว ผมไม่ได้พาไปเที่ยวปราสาทเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ จึงไม่ขอเล่าถึงรายละเอียดแนะแต่เส้นทางให้ แต่ขอบอกว่าต้องไปให้ได้ ผมไปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ มีแต่กองหินวางระเกะระกะแต่ไป พ.ศ.๒๕๔๖ คือปราสาทหินพนมรุ้งที่สมบูรณ์เหมือนคืนชีพฟื้นขึ้นมาให้ชมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกมีพร้อม ผมจะเล่าถึงการไปเขาพระอังคาร ไปไหว้พระพุทธไสยาสน์และเทวรูปโบราณที่ยากจะมีคนทราบและไปนมัสการกัน จากอำเภอนางรอง มาทางประโคนชัย มาถึง กิโลเมตร ๘๐ - ๘๑ จะต้องเลี้ยวขวาเข้าไปอีก๑๔ กิโลเมตร ถนนเดิมราดยางอย่างดี ตอนนี้ถูกรถบรรทุกหินจากโรงโม่หินถล่มเสีพังไปมากแล้ว ไปตามเส้นทางนี้จนผ่านหมู่บ้านและขึ้นสู่ยอดเขา จำเส้นทางให้ดีไม่งั้นจะงงตอนเที่ยวกลับวัดเขาอังคารอยู่บนยอดเขาอังคาร ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมานานนับหมื่นปีวัดตั้งอยู่ปากปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว และเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่สร้างไว้จนวัดเจริญท่านก็ลาสิกขาบทไปแล้ว เห็นอุโบสถของวัดนี้แล้วจะตกใจเพราะมองเผิน ๆ ไม่มีใครบอกมาก่อนจะนึกว่ามาพบปราสาทขอมบนยอดเขาสร้างเป็นปราสาทขอมหลังโต สวยมาก แต่เสมาที่ปักอยู่รอบอุโบสถนั้นเป็นเสมาโบราณอายุนับพีนปีมาแล้วในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนัง แต่ "บรรยาย" เป็นภาษาอังกฤษ พาฝรั่งมาดูไม่ต้องอธิบายอะไรอีกอ่านรู้เรื่องหมด ด้านหน้าของอุโบสถ มีวิหารเรียกว่า ตำหนักเสด็จปู่วิริยะเมฆ ในตำหนักนี้แหละที่ผมให้มาไหว้ เพราะมีพระพุทธรูปและเสด็จปู่องค์นี้คือเทวรูปเก่าแก่เป็นเทพโบราณอายุนับพันปีมีอิทธิฤทธิ์ และอีกองค์คือพระนอนที่อยู่ด้านหน้าของวัดวัดนี้หากไม่แน่จริงพระอดตาย เพราะห่างจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตรอแต่ปรากฎว่าชาวบ้านเอารถมารับพระไปบิณฑบาตรบ้างเอาอาหารมาถวายบ้าง ไม่อด สมบูรณ์ด้วยซ้ำไป มีพระสงฆ์หลายองค์น่าเลื่อมใสศรัทธา พระอีกองค์หนึ่งของบุรีรัมย์ที่ควรจะไปนมัสการอยู่บนยอดเขา วัดอยู่เชิงเขาแต่พระพุทธรูปอยู่บนยอดเขาปากปล่องภูเขาไฟขึ้นไปคือ พระสุภัทรบพิตร ในวนอุทยานเขากระโดง ...........................................................
|