บึงฉวาก
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ บึงฉวาก ได้รับการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ทั้งนี้เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบเนิเวศ ในพื้นที่ร่วม ๒,๐๐๐ ไร่ และเพื่อรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีในบึง
บึงฉวากจึงถูกจัดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์
(Ramsar Convention) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑
ลักษณะที่เรียกว่า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์คือ พื้นที่ราบลุ่ม
พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำมีน้ำท่วม น้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ
ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขัง และน้ำท่วมถาวร
ทั้งแหล่งน้ำนิ่ง น้ำไหล แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล
และทะเลใน บริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดต่ำสุด น้ำจะลึกไม่เกิน ๖ เมตร บึงฉวากตรงตามลักษณะดังกล่าว
เป็นบึงน้ำจืดที่เกิดตามธรรมชาติ มีความลึกเฉลี่ยประมาณ ๑ - ๓ เมตร
บึงฉวากนั้นเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทับถมของตะกอนดินโคลน
ทำให้ส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยกตัวออกมาเป็นบึงรูปโค้ง มีขนาดใหญ่กินพื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช
จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่านั้น นายจรินทร์ กาญจโนมัย
ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น คือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้เข้ามาบุกเบิกพัฒนาพื้นที่รอบบึงฉวาก
และเห็นว่าเป็นบึงที่มีนกน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ จึงได้ประสานงานไปยังกรมป่าไม้
ขอประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตั้งแต่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นมา
ซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่ ๓.๒ ตารางกิโลเมตร
โดยการนำของ นายบรรหาร ศิลปะอาชา ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำ โครงการพัฒนาบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาส
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จึงมีการพัฒนาขุดคลองบึงให้กักเก็บน้ำได้มากถึง
๑๐ ล้านลูกบาศ์กเมตร สามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้ ๖,๕๐๐ ไร่ และพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่าง
ๆ คือ ศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่า กรมปศุสัตว์ อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพ
และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น บึงฉวากจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ
และมีแผนรองรับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติในอนาคต โดยจะจัดพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับที่ทำการเขตห้ามล้า
ฯ ให้ประชาชนเข้าพักแรมได้ และจัดหาน้ำสะอาด ไฟฟ้า การรักษาความปลอดภัยไว้บริการ
ในบริเวณบึงฉวากเป็นที่อยู่ ที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น มี
นกอีโก้ง ซึ่งเป็นนกน้ำที่มีสีน้ำเงินอมม่วงสวยงามมาก
ตัวใหญ่ ขายาว นิ้งตีนยาว ทำให้เดินบนจอก หรือใบบัวได้
อาหารจานโปรดของนกอีโก้ง ได้แก่ หอยโข่ง หอยเชอรี่ เลยเป็นการช่วยกำจัดศัตรูในนาข้าวไปด้วย
ชายบึงมีพงอ้อ แขม ธูปฤาษี หญ้าชนิดต่าง ๆ ทำให้นกน้ำหลายชนิดมาอาศัยทำรัง
มีพืชใต้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกะรอก สาหร่ายข้าวเหนียวเป็นแหล่งวางไข่ของปลา
เป็นอาหารของพวกเต่า ปลา นกน้ำ พวกไม้ยืนต้นก็มีตามริมฝั่ง เช่น ตะขบน้ำ จิก
สะแกนา ไผ่ พุทรา มะขามเทศ เป็นพืชช่วยยึดตลิ่งไม่ให้พังทลาย เป็นที่พักอาศัย
และวางไข่ของนกเขา นกกระจาบ และยังมีนกที่อพยพหนีหนาวมาที่บึงฉวากทุกปีคือ
นกเป็ดแดง นกเป็ดแดงเข้ามาในช่วงฤดูหนาว
กลางวันหลบซ่อนตามกอบัว กอหญ้า พอตกค่ำ นกเป็ดแดงจะโผออกไปหากิน และจะทยอยบินกลับถิ่นเดิมในเดือนเมษายน
นกปากห่าง เป็นนกขนาดใหญ่
ขนสีเทา ที่สะโพก ขอบปีกและหางเป็นสีดำ ปากใหญ่ เวลาหุบปากตรงกลางปากจะไม่ติดกัน
ทำให้คาบหอยโข่ง หรือหอยเชอรี่ ที่ตัวโตเป็นอาหารจานโปรดได้ถนัด นกปากห่างจะอพยพเข้ามาประมาณเดือนตุลาคม
และวางไข่เลี้ยงลูกไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จึงเริ่มอพยพกลับ และยังมีนกน้ำอีกหลายชนิดที่ชอบทำรังอยู่กันเป็นกลุ่มและอยู่ปะปนรวมกัน
เช่น นกแขวก นกกระทุง นกยางควาย นกยางเปีย นกยางโทนใหญ่ นกช้อนหอยขา นกกาน้ำเล็ก
เป็นต้น อาหารจานโปรดของนกในบึงคือ ปลา กบ กุ้ง เขียด กุ้ง หอย ปู แมลง หนู
และงู เป็นต้น พืชและสัตว์ที่กล่าวนำมานี้คือ พืช และสัตว์ตามธรรมชาติของบึง
ฯ
เส้นทาง การเดินทางมายังบึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
คงมาในเส้นทางเดียวกับการมาเที่ยว ตลาดร้อยปี ของอำเภอสามชุก จะมาแบบมาเช้า
กลับเย็นก็ทัน แต่ผมมาทั้งทีต้องไปหหลาย ๆ แห่ง ผมเลยพักค้างคืนทั้ง ๒ ครั้ง
ชั่วระยะเวลา ๒ - ๓ เดือนมานี้ ผมมาบึงฉวาก ๒ ครั้ง มาตลาดร้อยปีถึง ๓ ครั้ง
เรียกว่าติดใจตลาดร้อยปีมาก ส่วนบึงฉวากนั้นเคยมาก่อนหน้านี้แล้ว มากันตั้งแต่เริ่มพัฒนาใหม่
ๆ ยังไม่มีผู้คนมาเที่ยวกันมากมายอย่างทุกวันนี้
ผมเดินทางจากบ้านลาดพร้าว มาออกสี่แยกเกษตรศาสตร์ แล้วมาตามถนนงามวงค์วาน
ข้ามทางรถไฟตรงเรื่อยมาจนข้ามสะพานพระนั่งเกล้า วิ่งไปจนชนกับถนนสายบางบัวทอง
- สุพรรณบุรี แล้วเลี้ยวขวา (ความจริงเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพาน) ไปตามถนนสายนี้จนเข้าถนนทางหลวงแผ่นดินสาย
๓๔๐ วิ่งแน่วไปผ่านทางแยกไปลาดหลุมแก้ว แยกไป อ.เสนา จ.อยุธยา แยกซ้ายเข้า
อ.บางปลาม้า เลยต่อไปจวนจะถึงแยกเข้าเมืองสุพรรณบุรีสัก ๒ กม. ทางซ้ายแยกเข้าวัดโพธิ์คอย
ที่มีรูปของพระพี่นางสุพรรณกัลยา แต่วัดเอาไปไว้ในโบสถ์ ส่วนทางขวาจะเห็นชลอมยักษ์
ตั้งอยู่ คือ ศูนย์ของดีเมืองสุพรรณ แวะเที่ยวกลับจ่ายของสนุกดี แต่เดี๋ยวนี้พอเลยจุดของดีเมืองสุพรรณไปหน่อยมีร้านของฝากจากสุพรรณ
ขายดักอยู่หลายร้าย ซื้อสะดวกสบายกว่า เลยจากทางแยกเข้าสุพรรณบุรีไปแล้ว จะแยกเข้าไปไหว้หลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์
เสียก่อนไปเที่ยวต่อ หรือแวะมานมัสการตอนกลับ ชาวพุทธควรแก่การไปนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์
ตรงต่อไปอีกไม่กี่ กม. ก็จะถึงทางแยกเข้า อ.ศรีประจันต์ หากเลี้ยวซ้ายเข้าไป
เมื่อข้ามสะพานแม่น้ำท่าจีนแล้ว เลี้ยวซ้ายอีกทีก็จะถึง วัดบ้านกร่าง
ซึ่งนอกจากจะเป็นอุทยานมัจฉาแล้ว
ที่วัดนี้ยังมีตำนานว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนะศึก ในการกระทำยุทธหัตถี
กับพระมหาอุปราชาที่ดอนเจดีย์แล้ว ได้ยกทัพกลับมาพักทัพที่ริมแม่น้ำท่าจีน
หรือแม่น้ำสุพรรณ ตรงวัดบ้านกร่างและคงจะพักทัพอยู่หลายวัน และโปรดให้สร้างพระเครื่อง
"ขุนแผน" เรียกว่า ขุนแผนบ้านกร่าง
และมีเหลือทิ้งอยู่ตามชายฝั่ง และเกาะกลางน้ำมากมาย เพราะยังไม่ดัง ต่อมาได้มีการนำผง
นำพระที่แตกหักมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกกันใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ (ไม่ขอยืนยันว่า
พ.ศ.อะไรแน่ ) และได้นำบรรจุไว้ในกรุเวลานี้มีเจดีย์สร้างทับอยู่แต่ เมื่อ
พ.ศ.๒๕๒๗ ผมหาเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
ในค่ายทหารที่ทุ่งสง ซึ่งได้นามค่ายพระราชทานว่า ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร น้องชายของผมซึ่งเป็นครูอยู่ที่อำเภอศรีประจันต์
มานานหลายสิบปี ได้พาผมไปหาหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่าง ผมเล่าให้ท่านฟัวว่า
กำลังหาเงินสร้างอนุสาวรีย์ ฯ หลวงพ่อพาผมลงไปในกรุใต้ฐานเจดีย์ แล้วบอกให้ผมยกพระเอาไป
"หนึ่งกล่อง" ฟังแล้วแทบไม่เชื่อหูเลยทีเดียว ผมแบกพระหนึ่งกล่องไปทุ่งสง
แล้วเปิดนับดูได้พระเครื่องขุนแผนพิมพ์ต่าง ๆ รวมแล้ว ๑,๔๐๐ องค์พอดี หลวงพ่อบอกไว้แล้วว่าให้เอาไปหาเงินเอาเอง
ผมนำออกจำหน่ายด้วยการบอกไปตามหน่วยทหาร บอกถึงวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินจำหน่ายได้
เพื่อเอาไปทำอะไร ขายได้เงินมามาก พอที่จะสร้างอนุสาวรีย์ ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร
เป็นผลสำเร็จแต่ผมไม่ทันได้ทำพิธีเปิด ก็ย้ายไปเป็นแม่ทัพภาคที่ ๔ ส่วนหน้าเสียก่อน
ท่านที่มาแทนผมในภายหลัง ก็ปล่อยเวลาเลยไปจนถึง พ.ศ.๒๕๔๔ จึงสามารถจัดงานเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้ได้
โดยสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นประธานในพิธี ผมเล่าเรื่องบึงฉวากอยู่ดี
ๆ แต่มาวกลงอนุสาวรีย์ที่ทุ่งสง ซึ่งก็เป็นงานหนึ่งที่ได้สร้างขึ้นไว้ในชีวิตราชการ
จากอำเภอศรีประจันต์ หากวิ่งผ่านทางแยกเข้าวัดบ้านกร่างไปแล้ว ก็จะไปยังอำเภอดอนเจดีย์
ส่วนผมตอนเที่ยวไปบึงฉวากทั้งสองครั้ง ไม่ได้แวะเข้ามายังวัดบ้านกร่าง และมาดอนเจดีย์แต่จะแวะตอนเที่ยวกลับ
เพื่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร
และไปตำหนักสมเด็จพระนเรศวร
คงตรงต่อไปตามถนนสาย ๓๔๐ พอถึง กม. ๑๒๘ พอดีพอดิบ ทางซ้ายมือคือร้านอาหารริมแม่น้ำท่าจีน
คลีน ฟู๊ด กู๊ดเทสท อาหารสะอาด รสชาติอร่อย และอร่อยจริง เขามีฟาร์มกุ้งเอง
อาหารกุ้งจึงขายถูก กุ้งขนาดใหญ่ ขนาด ๗ - ๘ ตัว ๑ กก. ราคาเพียง กก. ละ ๓๒๐
- ๓๕๐ บาท เรียกว่า กินกุ้งกันจมเขี้ยวไปเลย และที่ต้องสั่งคือ กุ้งทอดเกลือ
แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย หลนกุ้ง อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด ลูกชิ้นปลากรายนั้นเป็นลูกชิ้น
จากนครสวรรค์ที่มีเอกลักษณ์คือ ลูกเล็กขนาดมะเขือพวง และเหนียวหนึบเคี้ยวหนุบหนับ
เลยร้านไปอีก ๒ กม. ก็ถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปจอดรถได้ที่หน้าอำเภอริมแม่น้ำท่าจีน
ทีนี้ก็เดินเที่ยวเดินจ่ายกันให้สนุก หรือกลับมาแวะจ่ายก็ดี
จากอำเภอสามชุก ตลาดร้อยปี
ไปต่ออีก ๑๓ กม.จะถึงทางแยกซ้ายไปยังอำเภอด่านช้างที่มีอ่างเก็บน้ำกระเสียว
จาก อ.เดิมบาง ไปอีกรวม ๑๒ กม.จะถึงบึงฉวาก
โดยจะต้องเลี้ยวออกจากถนนสาย ๓๔๐ ไป จะเลี้ยวตรงไหนไม่ต้องบอก เพราะการไปบึงฉวากเฉลิมพระเกียรตินั้นมีป้ายนำทางมาก
นำทางล่วงหน้ามาไม่น้อยกว่า ๕๐ กม. รับรองไม่นั่งหลับ ไปถูกแน่นอน
เมื่อเข้าถึงบึงฉวากแล้วจะผ่านประตูใหญ่เข้าไป ก็จะเริ่มเห็นผืนน้ำทางซ้ายมือ
เห็นร้านอาหารทางขวามือมีเป็นแถวติด ๆ กันไปเลยทีเดียว ท่องเที่ยวอะไรที่ไหนในบึงฉวาก
สวนสัตว์
มีสัตว์ต่าง ๆ ให้ชมมากมาย โดยเฉพาะกรงนกขนาดใหญ่ ภายในกรงตกแต่งให้ดูคล้ายธรรมชาติ
และปล่อยนกอยู่รวมกันมากกว่า ๓๐ ชนิด เช่น นกยูง นกแว่นสีเทา ไก่ป่า ไก่ฟ้าหน้าเขียว
นกแก้วโม่ง นกกระตั้ว เป็ดก่า เป็ดแดง นกกะเรียน นกกาบบัว เป็นต้น
การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าหายาก มีทั้งกรงเลี้ยงเสือแบบรวมอยู่ในกรงขนาดใหญ่ ภายในกรงตกแต่งเป็นถ้ำ
และเนินหินให้ดูคล้ายธรรมชาติ และยังมีกรงที่นำสิงโตมาเลี้ยงอีกด้วย ยังมีกรงนกน้ำ
กรงไก่ฟ้า และกรงสัตว์ปีก ซึ่งกรงนี้เลี้ยงนกตระกูลไก่ฟ้า และนกที่ใกล้สูญพันธุ์
เช่น นกยูง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าพญาลอ นกเงือกหัวแรด เป็นต้น ยังไม่หมดยังมีคอกกีบ
เช่น กวางป่า เก้ง เนื้อทราย ละอง - ละมั่ง อูฐและม้าลายก็มี
การท่องเที่ยวในบึงฉวากนั้นมีจุดควรชมหลายจุด เราอาจจะจอดรถของเราเอาไว้ที่สวนสัตว์แล้วไปกับรถพ่วงบริการ
เสียค่าบริการครั้งเดียว ๒๐ บาท ไปได้ทุกแห่งเลยทีเดียว สะดวกดีและยังมีไกด์สาวน้อยน่าจะเป็นนักศึกษา
หน้าตาดี ๆ คอยบรรยายรายละเอียดให้ทราบอีกด้วย
อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพ
อยู่ต่อไปจากสวนสัตว์มีป้ายใหญ่โตเลยทีเดียว หากเราไม่ได้มากับรถพ่วงบริการจากสวนสัตว์
ก็มาขึ้นที่อุทยานแห่งนี้เสียคนละ ๕ บาท เรียกว่าดูอุทยานผักอย่าเดินแหละดี
จ่าย ๕ บาทดีกว่า ตอนทางเข้าจะมีผักสดน่ากินเ หลือประมาณโดยเฉพาะพริกยักษ์สีเหลือง
แดง เขียว สลับสีสวย หากกลับบ้านละก็ขนซื้อมาเลย ราคาถูกมาก และทางฝั่งซ้ายที่ขายเครื่องดื่มและหนังสือบึงฉวากก็มีเมล็ดพันธุ์ผักหายากจำหน่ายด้วย
ซองละ ๑๐ บาท เช่น ฟักข้าวและฟักอื่น ๆ ซึ่งฟักนั้นมีถึง ๑๕ ชนิด ที่อุทยานนี้มีเมล็ดพันธุ์และปลูกไว้ให้ชมเพียง
๙ ชนิด ผมขนซื้อมาทุกชนิดเอามาปลูกในกระถางยังไม่ทราบผลว่าจะออกลูกไหม
ส่วนตอนหน้าทางเข้าทางขวามือก็มีศาลาเล็ก ๆ ขายของกินและพันธุ์ไม้ เช่น ต้นฟักข้าว
ต้นผักหวานป่า ต้องเอามาปลูกในที่ร่ม โดนแดดตายหมด ขายถูก ๆ ต้นไม้ขายสิบบาท
ยี่สิบบาทอย่างสูง น่าซื้อจริง ๆ
ภายในอุทยานมีการสาธิตการปลูกผักไร้ดิน ซุ้มไม้เลื้อยจัดเป็นอุโมงค์น้ำเต้ารูปทรงต่าง
ๆ เช่น ดัดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำตกจำลอง ใจกลางอุทยานจัดทำเป็นลานอเนกประสงค์
ประดับด้วยผักพื้นบ้านต่าง ๆ และชื่อแปลก ๆ ก็มีสาวน้อยจะบรรยายประวัติให้ทราบความเป็นมาของชื่อด้วย
เช่น พ่อค้าตีเมีย ผักลืมชู้ นัดกับชู้ไว้ยังลืมได้มัวแต่กินผักชนิดนี้อยู่
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวาก
ดูเหมือนจะเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุด บางคนไม่ทราบมาก่อนด้วยซ้ำไปว่า
บึงฉวากยังมีสวนสัตว์ มีอุทยานผัก มีจักรยานน้ำให้ขี่ นึกว่ามีแต่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำอย่างเดียว
สถานที่แห่งนี้เปิดให้ชมมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ และมีอุโมงค์ลอดใต้ตู้ปลาให้ชม
และหากไปพอดีเวลาก็จะได้ชมการให้อาหารปลาในอุโมงค์ อุโมงค์มีความยาวเพียง
๘.๕ เมตร แต่น่าจะเป็นแห่งแรกที่มีอุโมงค์ ส่วนอุโมงค์ที่สร้างกันในภายหลัง
คงจะเป็นที่พัทยาน่าจะยาวที่สุดแต่เก็บค่าเข้าชม ๑๘๐ บาท ส่วนสถานแสดงของบึงฉวากเก็บเพียง
๓๐ บาท อาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำมี ๒ อาคาร มีทั้งพันธุ์ปลาไทยและปลา
จากต่างประเทศ
มีปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของปลาชนิดไม่มีเกล็ด มีปลากะโห้เป็นปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก
มีปลาม้าที่อยากจะบอกว่าอร่อย - - - โลกเหมือนกัน มีปลาช่อนงูเห่าที่หลอกเอาไว้ว่ากัดคนตาย
ความจริงเป็นปลาไม่มีพิษ แต่ชื่อน่ากลัว ปลาเสือตอ ปลาตาบอด ปลากลับหัว
ปลาไหลไฟซึ่งพบได้ในแถบแม่น้ำอเมซอนในอเมริกาใต้ ปลาน่ารักอย่างปลาการ์ตูนชนิดต่าง
ๆ ก็มี ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ฯลฯ สรุปแล้วมากมายจาระไนไม่หมด ขอให้ไปชมเองก็แล้วกัน
หากเดินอ้อมไปด้านหลังก็จะมีบ่อเลี้ยงจระเข้
มีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย ประมาณ ๗๐ ตัว และจะมีเวลาที่แสดงการจับจระเข้ ผมไปชมรอบบ่าย
๑๔.๐๐ ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม และตอนเดินเข้าไปจะเดินผ่านรถเข็นขายเฉาก๊วยที่เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จัก
พอเอาไปเขียนจนดังเขาก็ยกป้ายว่า "เที่ยวไป กินไป เฉาก๊วยชากังราว" และออกแฟรนชายส์
ไป จ.น่าน ยังเจอเฉาก๊วยชากังราว ไปคราวนี้เขาเอาป้ายออก มีพรรคพวกในคณะไปถามทำไมเอาป้าย
เที่ยวไป กินไป ออกเสียล่ะ เขาบอกว่าหนังสฝือพิมพ์ฉบับหนึ่งจะลงให้อีกเลยเอาออก
ผมไม่เคยมีป้ายชวนชิมให้ใคร เขียนมาเป็นปีที่ ๒๙ แล้วใครจะยกป้ายอย่างไรก็ตามใจ
และไม่เคยไปขอค่าเขียนจากใครด้วย นอกจาก บก.ฯ แต่ก็ชวนชิมทุกครั้งที่พบ เพราะเฉาก๊วยชากังราวนั้นอร่อยเหนียวนุ่ม
ชุมชื่นใจ เดินมาเหนื่อย ๆ ซดชื่นใจดี
ชวนชิม หลายปีมาแล้วผมไปชิมอาหารที่ร้าน อยู่ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
ไปจาก อ.เมือง ต้องวิ่งเลียบริมคลองชลประทานไปจนนนถึง กม. ๙ - ๑๐ จะมีป้ายบอกว่าเลี้ยวซ้ายไปอุทยานแม่ลา
หากเลี้ยวซ้ายไปสัก ๑.๕ กม. จะพบร้านอยู่ติดกับอุทยาน ฯ ต้องสั่งปลาช่อนเผาสะเดาฟาดไฟ
ปลาช่อนแม่ลา ปลาสลิดดอนกำยานล้วนมีชื่อเสียง ปลาช่อนเผาร้านนี้ตัวจะโตและการเปิดหนังปลาของเขามีเทคนิคไม่เหมือนใคร
เห็นเนื้อปลาขาวจั๊วะ ส่วนสะเดาเขาฟาดไฟ จึงมีกลิ่นหอม ไม่ได้เอาไปลวก กินกับปลาเผาน้ำจิ้มมีแบบน้ำปลาหวานกับแบบออกรสเปรี้ยว
นอกจากนี้ก็ยังมีแกงคั่วหอยขมแกะเนื้อมาให้เสร็จพร้อมกิน หมูเด้ง หมูสับปรุงรสปั้นเป็นก้อน
ชุบแป้งทอดจิ้มน้ำบ๊วย หมูเด้ง เหนียวแน่นหนึบ ตกพื้นเด้งดึ๋งเลยทีเดียว
ที่ผมเอาร้านมาเล่า เพราะก่อนที่จะพาคณะพรรคร่วมสามสิบคน ที่ไปเที่ยวกันเป็นประจำและยกให้ผมเป็นทุกตำแหน่ง
ตั้งแต่หัวหน้าทัวร์ไปจนกระทั่งบางทีช่วยพลขับเป็นแอ๊ดรถให้ด้วย ผมได้ไปบึงฉวากล่วงหน้าเพื่อไปสำรวจหาร้านอาหาร
ไปพบร้าน ท่าทางสะอาดดี และก็พบว่ามีใบรับรองของกระทรวงสาธารณสุขคือ คลีนฟู๊ด
กู๊ดเทสท์ อาหารสะอาดรสชาติอร่อย เลขา ฯ ของผมลงไปสั่งอาหาร และบอกว่าผมจะพาพรรคพวกมาชิมอาหาร
เจ้าของร้านพอได้ยินชื่อผมวิ่งจู๊ดออกมากราบ บอกว่าอยากรู้จักมานานแล้ว เพราะผมไปทำให้ร้านของเขาที่ริมแม่ลา
อ.อินทร์บุรี เจริญรุ่งเรืองจนเดี๋ยวนี้เขาออกมาตั้งร้านที่ริมบึงฉวากนี้อีก
๒ ร้าน ร้านเดิมให้พ่อคุมร้านแทน
เส้นทาง ร้านที่ริมบึงฉวาก ผ่านประตูบึงฉวากเข้ามาแล้วประมาณ ๑๐๐ เมตร ร้านแรกจะอยู่ทางขวามือ
แนะนำให้ไปร้านที่ ๒ ที่ได้รับป้ายคลีนฟู๊ด ฯ เช่นเดียวกัน อาหารสะอาด
อร่อย สุขาเป็นสากลถูกใจกันมากอีกประการหนึ่ง ก็ตรงสุขานี่แหละ ร้านที่สองอยู่เลยร้านแรกไปสัก
๑๐๐ เมตร บริเวณร้านกว้างขวาง ลมพัดเย็นสบาย สั่งอาหารจานโปรด มาร้านนี้ต้องสั่งคือ
"ปลาช่อนเผาสะเดาฟาดไฟ และแกงคั่วหอยขม " ๒ รายการนี้ ขาดไม่ได้
ปลาคังลวก เนื้อปลาขาว จิ้มน้ำจิ้มรสแซ๊บ
ห่อหมกรองพื้นด้วยใบยอ ตามด้วยทอดมันปลากรายเหนียวหนึบ แล้วปิดท้ายด้วยแกงป่า
ปลาเนื้ออ่อน ตอนยกมาใหม่ ๆ ยังร้อนโฉ่ ตักซโชื่นใจนัก แล้วค่อยเอาไปราดข้าว
หากอาหารน้อยไปก็สั่งไข่เจียวหมูสับ มาแนมแกงป่าจะเข้ากันดี
อิ่มแล้ว ไปเที่ยวอุทยานผักพื้นบ้าน และสถานแสดงสัตว์น้ำ แล้วออกเดินทางไปนอนรีสอร์ทในป่า
ที่อยู่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แต่ติดกับ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี
......................................
|