อร่อยย่านวิเศษชัยชาญ
อำเภอวิเศษชัยชาญ อาหารอร่อยเมืองนี้เป็นเมืองที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์
โดยชาววิเศษชัยชาญไปสร้างชื่อเสียงในการรบท้องถิ่นอื่นถึง ๒ ครั้ง คือ การรบของชาววิเศษชัยชาญที่ค่ายบางระจัน
จังหวัดสิงห์บุรี และการรบของขุนรองปลัดชูกับกองทหารอาทมาตชาววิเศษชัยชาญ
ที่อ่าวหว้าเหนือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๒ รัชกาลพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
พม่ายกมาตีไทยโดยอ้างสาเหตุว่าไทยช่วยมอญที่หนีพม่าเข้ามา มอญนั้นหนีพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองตะนาวศรีที่ยังเป็นของไทย
พม่าขอตัวหัวหน้ากบฎมอญ แต่ไทยไม่ให้ พระเจ้าอลองพญากษัตริยย์พม่ากำลังฉลองพระเกศธาตุ
อยู่ที่เมืองย่างกุ้ง จึงรับสั่งให้มังระราชบุตร
กับมังฆ้องนรธา
คุมพล ๘,๐๐๐ คน ลงไปตีเมืองทวายที่แข็งเมือง มังระราชบุตรตีเมืองได้แล้วทราบว่ากำปั่นจากทวายหนีมาอาศัยไทยอยู่ที่เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด
(ของไทย) หลายลำ จึงขอยกทัพไปตีเมืองทั้งสองต่อมังระ ยกทัพพล ๘,๐๐๐ ซึ่งคงตายไปบ้าง
ไปตีเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดได้โดยง่าย เป็นผลให้พม่าประมาทฝีมือไทย จึงคิดจะเข้ามาตีหัวเมืองไทย
ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาทราบข่าว ศึกจากตะนาวศรีก่อนที่ตะนาวศรีจะแตก จึงให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพคุมพล
๓,๐๐๐ คน ยกไปรักษาเมืองมะริด
ให้พระยารัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นจตุสดมภ์กรมวัง
(เรียกว่าตั้งแม่ทัพแบบตั้งกันส่งเดช) คุมทัพพล ๒,๐๐๐ ยกหนุนขึ้นไป และยังโปรดให้
"ขุนรองปลัดู"
กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ อันเป็นผู้รู้วิทยาคมพร้อมด้วยพรรคพวกอีก ๔๐๐ คน ทุกคนอยู่ในกองอาทมาต
เรียกว่าจะยิงก็ไม่เข้า จะแทงก็ไม่เข้า หนังเหนียวกันทั้งกองจนเป็นที่เลื่องลือ
ให้กองอาทมาตยกไปในกองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ด้วย
ทัพพระยายมราชยกกองทัพออกไปทางด่านสิงขร
ที่ประจวบคีรีขันธ์ ข้ามเขาบรรทัดไป พอพ้นแดนไทยก็ทราบว่าตะนาวศรีและมะริดเสียแก่พม่าแล้ว
จึงยั้งทัพอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรีหวังรอคำสั่งต่อไป
ทัพพม่ารู้ว่าทัพไทยตั้งอยู่ที่ปลายน้ำตะนาวศรี มังระจึงให้มังฆ้องนรธา ยกมาตีกองทัพพระยายมราชแตกพ่ายไป
(พระยายามราชเดิมคือพระยาราชครองเมือง ไร้ฝีมือในการรบ)
ขณะนั้นทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ตั้งอยู่ที่เมืองกุย
ประจวบคีรีขันธ์ จึงสั่งให้กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู คุมขึ้นไปตั้งสกัดทัพพม่าอยู่ที่อ่าวหว้าขาว
ประจวบคีรีขันธ์ เหนือตัวเมืองประจวบไปหน่อยหนึ่ง
พม่ายกมาแต่เช้าตรู่ ขุนรองปลัดชู คุมกองอาทมาตออกโจมตีพม่าข้าศึก รบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอน
กองอาทมาตไล่ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก ฝ่ายพระยารัตนาธิเบศร์ที่ตั้งทัพอยู่ที่กุยบุรี
พอทราบว่ากองทัพพระยายมราชแตกถอยลงมาแล้ว ก็ให้เกณฑ์พลอีก ๕๐๐ คน ให้ยกไปหนุนกองอาทมาตของขุนรองปลัดชู
ที่มีพลยกไปเพียง ๔๐๐ คน กองหนุนยกไปช่วยไม่ทัน เพราะขุนรองปลัดชูและกองอาทมาตนั้นรบมาตั้งแต่เช้าตรู่จนยันเที่ยง
ถึงจะฟันแทงไม่เข้าก็เถอะแต่ก็สิ้นกำลัง กองอาทมาตจึงตายหมดทั้งกอง ที่ไม่ตายในการถูกทุบตีจนตายก็ถูกไล่ลงน้ำทะเลจนจมน้ำตายหมด
พระยารัตนาธิเบศร์ นั้นพอทราบข่าวว่ากองอาทมาตแตกก็ถอยหนีกลับไปยังเพชรบุรี
พม่าก็ตีตามเข้ามา ฝ่ายพระเจ้าอลองพญาที่มาดูเมืองตะนาวศรีที่ตีได้ พอทราบข่าวว่าได้ชัยชนะอย่างง่ายดายเช่นนั้นจึงคิดมาตีกรุงศรีอยุธยาทันที
แต่การรบในครั้งนี้พระเจ้าอลองพญา (น่าจะไม่ใช่ทหารปืนใหญ่) ตอนมาล้อมกรุงศรีอยุธยา
ทรงบัญชาการยิงปืนใหญ่ด้วยพระองค์เอง จะเอาระยะไกลเข้าว่า จึงบรรจุดินปืนมากจนลำกล้องระเบิด
และการระเบิดของลำกล้องปืน เป็นผลให้พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บสาหัส จึงยกทัพกลับไปทางเมืองตากหมายจะพ้นแดนไทยทางด่านแม่ละเมา
แต่ยังไม่ทันพ้นแดนไทย ก็สิ้นพระชนม์ในป่าที่ปัจจุบันคือ อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช
ที่แม่สอด
ชาววิเศษชัยชาญ เมื่อทราบข่าวการตายยกกองของกองอาทมาตก็เศร้าโศกเสียใจกันมาก
จึงสร้างวัดขึ้นไว้เป็นอนุสาวรีย์แล้วตั้งนามวัดว่า "วัดสี่ร้อย"
ต่อมาในสมัยที่หลวงพ่อบุญเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อปั้นมาจากบางบาลจึงชวนหลวงพ่อบุญสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลย์ไลย์
จำลองมาจากวัดป่าเลไลย์ที่สุพรรณบุรี ก่อสร้างอยู่ ๑๖ ปี ก็แล้วเสร็จ ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง
สร้างหลังคาคลุมเมื่อไรฟ้าจะฝ่าลงมา
วัดสี่ร้อย อยู่ไม่ไกลจากอำเภอวิเศษชัยชาญ ไปกินอาหารกลางวันที่ร้านที่ผมจะพาไปแล้วถามทางดูได้เลย
คือวีระกรรมของชาววิเศษชัยชาญ จ. อ่างทอง ในปี พ.ศ.๒๓๐๒
พ.ศ.๒๓๑๐ สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ทัพพม่าที่ไม่ใช่ทัพกษัตริย์ยกตีเข้ามาเรื่อย
ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะตีกรุงศรีอยุธยามาแบบทัพโจร แต่เมื่อตีเข้ามาได้เรื่อย
ๆ จึงเข้ามาจนถึงกรุงศรีอยุธยา แม่ทัพพม่า แม่ทัพเนเมียวสีหบดี
ยกเข้ามาทางเชียงใหม่ อีกทัพคือแม่ทัพมังมหานรธา
ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทั้งสองทัพที่ยกเข้ามานี้กำลังพลไม่มาก แม่ทัพใหญ่แต่ละเส้นทางยังไม่เข้ามาเอง
ช่วงแรกของการศึกพม่ายังไม่เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ตั้งทัพที่ราชบุรีนานถึง
๖ เดือน ช่วงที่ ๒ แม่ทัพ แต่ละเส้นทางคือเนเมียวสีหบดี จึงยกทัพลงมาจากเชียงใหม่ถือพลสองหมื่นคน
ตีเข้ามาตามลำดับ ส่วนทางมังมหานรธายกทัพสามหมื่นคน เข้ามาทางทวาย มารวมพลกันที่ราชบุรี
แล้วแยกทัพเป็นทัพเรือมาตีธนบุรี นนทบุรี ไปล้อมกรุงศรีอยุธยา อีกทัพของมังมหานรธาที่คุมทัพเอง
แยกไปทางสุพรรณบุรี แล้วมาตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ห่าง ๆ ยังไม่เข้าตี
ทีนี้วีระกรรมของชาววิเศษชัยชาญ จึงเกิดขึ้นเริ่มด้วย นายแท่น
นายโชติ นายอิน นายเมือง ทั้งสี่คนนี้เป็นชาวบ้านสีบัวทอง
แขวงสิงห์บุรี ร่วมกับ นายดอก
บ้านกลับ และนายทองแก้ว
บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเป็นชาว "วิเศษชัยชาญ" ได้ร่วมมือกันฆ่าทหารพม่าที่ออกมาลาดตระเวณตายไป
๒๐ คน แล้วพากันหนีไปยังบ้านบางระจัน
จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีชาวบ้านติดตามไปร่วมสมทบด้วย คนไทยกลุ่มนี้จึงไปนิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ
ที่วัดเขานางบวช
(ปัจจุบันอำเภอเดิมบางนางบวช) จังหวัดสุพรรณบุรี ให้มาคุ้มครองเป็นมิ่งขวัญ
เริ่มซ่องสุมผู้คนมีกำลังพลได้ ๔๐๐ คน ตั้งค่ายล้อมรอบบ้านบางระจัน ๒ ค่าย
มีหัวหน้า ๕ คนคือ ขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันทร์หนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่
รวมกับหัวหน้าที่มาจากวิเศษชัยชาญอีก ๔ คน รวมเป็น ๙ คน ขอสรุปพื้นเพของวีระชนชั้นหัวหน้าของชาวบ้านบางระจัน
คือ
๒ ท่านเป็นชาววิเศษชัยชาญ นายดอก และนายทองแก้ว
๔ ท่านเป็นชาวอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง คือนายแท่น นายโชติ นายอิน นายเมือง
ชาวบ้านสีบัวทอง
๑ ท่าน เป็นชาวอำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท คือขุนสรรค์
๔ ท่าน เป็ชาวสิงห์บุรีคือ พันเรือง นายทองเหม็น
นายจันท่ร์หนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่
ค่ายบางระจันนั้นเมื่อได้ชัยชนะต่อพม่าแล้ว ก็มีคนไทยมาร่วมด้วยจำนวนมากขึ้นทุกที
พม่าต้องล้มตายเป็นอันมาก กว่าจะปราบได้คือ
เริ่มต้นจาก พม่าถูกฆ่าตายไป ๒๐ คน
ครั้งที่หนึ่งพม่ายกไปปราบไปกัน ๑๐๐ คน นายแท่นคุมคนไทยออกมาสู้ ๓๐๐ คน ฆ่าพม่าตายเกือบหมด
ครั้งที่สอง พม่ายกมาปราบ ๕๐๐ คน แพ้กลับมาอีก ให้เยกินหวุ่นยกไปอีกก็แพ้ไทย
ให้ติงจาโบยกไปก็ถูกไทยตีแตกกลับมา
คราวนี้พม่าเห็นว่าไทยแข็งนัก ยกไปเป็นทัพใหญ่มีพลพันเศษ สุรินทร์จอข้อง
เป็นแม่ทัพ ฝ่ายไทยนายแท่นเป็นแม่ทัพ มีนายทองเหม็นกับพันเรืองเป็นปีกขวาและซ้าย
ยกพลไป ๖๐๐ คน (รวมกันได้แค่นั้น) พอยกไปถึงสะตือสี่ต้น
ระดมกำลังเข้าตีพม่าพร้อมกันทั้ง ๓ ด้าน สุรินทร์จอข้อง นายทัพพม่าตายในที่รบ
นายแท่นถูกปืนที่หัวเข่า
แยจออากา
เป็นนายทัพครั้งที่ ๕ จิกแกปลัดเมืองทวาย
เป็นนายทัพครั้งที่ ๖ ก็พ่ายกลับมา พอศึกครั้งที่ ๗ อากาปันคยี
ยกกำลังพันคนเศษ มีทั้งทหารราบและทหารม้า คราวนี้ฝ่ายไทยให้นายจันทร์หนวดเขี้ยวและขุนสรรค์เป็นแม่ทัพ
พม่ายังไม่ทันตั้งค่ายนายจันทร์หนวดเขี้ยวก็ยกทัพไทยเข้าตีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
พม่าแตกพ่าย อาก้าปันคยี นายทัพพม่าตายในที่รบ
ศึกครั้งสุดท้ายของบางระจัน สุกี้มอญอยู่เมืองไทยมาช้านานรู้นิสัยใจคอลู่ทางของเมืองไทยดีอาสายกทัพไปรบด้วยวิธีการตงั้ค่ายที่แข็งแรง
แล้วใช้ปืนใหญ่ยิง ชาวค่ายบางระจันขอปืนใหญ่จากในกรุงมาสู้ ทางกรุง ฯ ไม่ให้ส่งพระยารัตนาธิเบศร์ไปช่วยหล่อปืนให้แต่หล่อไม่สำเร็จ
ปืนร้าวทั้ง ๒ กระบอก ผลที่สุดนายทัพฝ่ายไทยค่อย ๆ ตายไป และฝ่ายสุกี้ใช้วิธีขุดอุโมงค์เข้าไปตั้งค่ายประชิดค่ายบางระจัน
สร้างหอสูงเอาปืนใหญ่ตั้งจังก้ายิงเข้าไปในค่ายบางระจัน จนอ่อนเปลี้ยเหลือทนแล้วก็ยกทัพเข้าจู่โจมค่ายบางระจันจึงเสียแก่พม่า
ทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชายสู้ตายหมดทั้งค่าย
อนุสาวรีย์วีระบุรุษทั้ง ๑๑ ท่าน
อยู่ที่อำเภอค่ายบางระจัน สิงห์บุรี ตรงข้ามกับค่ายโพธิ์สามต้น ที่ยังจำลองไว้
หากไปที่อนุสาวรีย์แห่งนี้แล้ว วิ่งต่อไปตัดเข้ามายังอำเภอแสวงหา มาอำเภอโพธิ์ทองก็จะมายังอำเภอวิเศษชัยชาญได้
ส่วนอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว ประดิษฐานอยู่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ ในวัดวิเศษชัยชาญ
ตำบลไผ่จำศีล หากไปอ่างทองจะมาวิเศษชัยชาญ จะเลี้ยวซ้ายตรงข้ามธนาคาร ธกส.
เข้าไปตามถนนมีชื่อซอยบอกไว้ว่า ซอยปู่ดอก - ปู่ทองแก้ว จนถึงซอย ๑๖ ก็จะถึงวัดวิเศษชัยชาญ
หากไปจากกรุงเทพ ฯ ไปถึงกิโลเมตร ๑๐๑ จะมีทางแยกซ้ายเข้าตัวจังหวัดอ่างทอง
เลี้ยวซ้ายวิ่งตรงไปจนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งต่อไปจนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณให้เลี้ยวขวาวิ่งไปทางโพธิ์ทอง
(ก่อนถึงโพธิ์ทองมีทางแยกขวาเข้าไปยังวัดพระนอน
วัดขุนอินทประมูล) ประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายวิ่งไปประมาณ
๙ กิโลเมตร จะมี ธกส.อยู่ขวาเลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปวัดวิเศษชัยชาญ หากวิ่งต่อมาจะข้ามสะพาน
จะมาถึงถนนหากเลี้ยวซ้ายจะเข้าไปยังตลาดศาลเจ้าโรงทอง ซึ่งตลาดนี้จะอยู่หลังวัดนางใน
ลงสะพานวิ่งต่อมาคือวัดนางใน ให้เลี้ยวรถเข้าไปจอดที่วัดนางในได้ ไปกันจนสุดทางหลังวัดเลยทีเดียว
ออกประตูหลังวัดข้ามถนน หรือหากเป็นยามเช้าก็เลี้ยวขวาไปยังกลุ่มตลาดนัดเช้า
เมื่อเข้ามาในวัดนางใน
ไปจนถึงลานหลังวัด รถแล่นออกประตูหลังไม่ได้แต่จะมีที่จอดรถ หากเป็นยามเช้าคงจะต้องไม่เกิน
๐๙.๐๐ ลานหลังวัดเรื่อยไปจนออกประตูแล้วก็เลี้ยวขวาไป จะเป็นตลาดนัดเช้า ที่สำคัญตรงที่มีอาหารการกินอร่อย
ๆ มากมาย สมมุติว่านอนอยุธยา เช้าวิ่งมาสัก ๔๐ นาที ก็ถึงวิเศษชัยชาญ หาอาหารเช้ากินแล้วไปเที่ยว
ไปวัดม่วง วัดเขียน วัดสี่ร้อย วัดวิเศษชัยชาญ
หรือจะลงเรือล่องลำน้ำที่ท่าน้ำ สำรวจลำน้ำแล้วกลับมากินกลางวันต่อ ของอร่อยที่ตลาดนัดคือ
ขนมครก เลือดหมู โจ๊ก และอีกหลายอย่างขายอยู่ในร้านก็มี ตั้งรถเข็นขายก็มี
รับรองในความอร่อยแทบทุกเจ้า เพราะหากไม่อร่อยมาขายแข่งกันไม่ได้ ลูกค้ามาอุดหนุนกันแน่น
ไม่เฉพาะคนอ่างทอง จากจังหวัดอื่นก็ไปกัน เช่นวิ่งมาจากสิงห์บุรี อยุธยา เป็นต้น
(กรุงเทพ ฯ อย่างผมยังไป)
หากเดินออกประตูหลังวัดนางในแล้ว ข้ามถนนไป (หมายถึงตลาดนัดปิดแล้ว) ก็จะเป็นทางเข้าตลาดวสดศาลเจ้าโรงทอง
ได้สองทาง จำทางให้ดีอร่อยทั้งสองทาง ตรงประตูวัดเป็นทางเข้าทางหนึ่ง มีร้านขายหนังสือพิมพ์อยู่ปากซอยทางเข้า
เดินเข้าไปสัก ๓๐ เมตร จะชนกับทางแยกที่แยกขวาคือตลาดสด แต่หากแยกซ้าย พอเลี้ยวซ้ายทางขวามีรถเข็นตั้งข้าง
ๆ กล้วยปิ้ง รถเข็นคันนี้ขายขนมกงอร่อยนัก ขนมกงหากินยาก แต่ที่วิเศษชัยชาญอร่อย
และมีที่สำรวจแล้ว ๒ เจ้า คือเจ้ารถเข็นกับตรงข้ามรถเข็น เป็นร้านขนมกงวิเศษชัยชาญ
และอีกหลายขนมเช่น ข้าวต้มผัด ขนมชั้น เม็ดขนุน ทองหยิบ ฯ เลยร้านนี้ไปจะมีร้านขายข้าวเหนียวมูล
เลยไปอีกนิดคนละฟากกันฝั่งเดียวกับรถเข็นขนมกง คือร้านสำคัญที่ดังมานานจนมาระเบิดในกรุงเทพ
ฯ หลายสาขาไปแล้ว ร้านนี้มีที่มาเปิดตามสาขาในกรุงเทพ ฯ ร้านใหญ่กว่าที่วิเศษชัยชาญด้วยซ้ำไป
เฉพาะที่ตลาดนี้ก็มีถึง ๒ แห่ง
เลยร้านไปสัก ๑๐ เมตร หากเลี้ยวขวาจะเป็นถนนพุ่งตรงไปท่าน้ำแม่น้ำน้อย หาเรือลงเที่ยวได้ที่นี่
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ สามสิบปีล่วงมาแล้ว ผมเดินมาตามถนนที่ว่าลงท่าน้ำต้องระวังจะตกสะพานเพราะไม่ใช่ถนนคอนกรีตอย่างปัจจุบัน
เป็นสะพานไม้ เดินไม่ดีอาจจะตกเอาง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนเดินกลับมา เพราะเมื่อสามสิบปีก่อน
ปลายสะพานก่อนถึงท่าน้ำมีร้านอาหารอร่อยสุด ๆ อยู่ตรงนี้ ตอนหลังย้ายไปอยู่ข้างนอก
เดี๋ยวผมจะพาไปชิม ตอนนี้ซอยท่าน้ำจึงไม่มีอาหารอร่อยแล้ว แต่มียาอายุวัฒนะแทน
ขอชวนชิมยาเอาไว้ด้วย เพราะยาขนานนี้มารดาผมกินอยู่นานนับสิบปีและมาถึงแก่กรรมเอาเมื่ออายุ
๙๓ ตอนท่านจะถึงแก่กรรมนั้นก็หมดอายุขัยจริง ๆ คือป่วยเพียงวันเดียวเท่านั้นไม่ทรมาน
คนป่วยก็ไปสบาย คนดีก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลคนป่วย อาจเพราะกินยาอายุวัฒนะของร้านจิตต์ไทย
ผมเองก็กินยาขนานนี้มานานเกินกว่าสิบปีเช่นกันและยังกินอยู่ทุกวัน อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่แข็งแรงเป็นพิเศษก็ได้
ยาไทยนั้นหากพบยาดีแล้วจะดีจริง ๆ และจะไม่แพง ร้านจิตต์ไทยขายยาอายุวัฒนะกับยาลม
ขายอยู่สองอย่าง เดิมเป็นร้านถ่ายรูป เดี๋ยวนี้เลิกถ่ายรูปแล้วขายยาอย่างเดียว
มองดูไม่เห็นเป็นร้านขายยา เหมือนห้องพักธรรมดา ตลาดเหนือ ตำบลศาลเจ้าโรงทอง
โทรสั่งซื้อทางไปรษณีย์ก็ได้เขาจัดส่งให้ ลองโทรถามดู
กลับไปหลังวัดใหม่ หากเรายังไม่เข้าตลาดตรงซอยที่มีร้านหนังสือพิมพ์ เลี้ยวซ้ายมาก่อน
เดินมาสัก ๒๐ เมตร จะมีซอยเข้าตลาดอีกซอยหนึ่ง มีร้านกาแฟกับรถเข็นขายขนมปังกรอบ
ส่วนร้านกาแฟนั้นมี ๒ - ๓ โต๊ะ ชงแบบโบราณ เยื้องร้านกาแฟมีรถเข็นขายขนมอีก
หากเดินเลยรถเข็นคันที่ตรงกับร้านกาแฟไปหน่อยเดียวเจอรถเข็นอีกคัน คราวนี้ข้าวเหนียวแดงอร่อยนัก
นอกตลาดยังมีอีกร้านหนึ่ง หากมาจากวิเศษชัยชาญจะวิ่งกลับไปอ่างทอง ก็จะมาข้ามสะพานข้ามแม่น้ำน้อย
เลยไปอีกสัก ๒๐๐ เมตร ทางขวาจะเห็นป้ายริมถนน เลี้ยวขวาตามป้ายไปอีก ๕๐ เมตร
ร้านอยู่ทางซ้ายมือ อย่านั่งห้องแอร์คิดค่าแอร์แพงหน่อย นั่งในศาลาดีกว่า
แกงคั่วหอยขม หมูจุ่ม ปลาเทโพผัดเผ็ด อำหมูน้ำพริกเผา อาหารราคาย่อมเยา เสียตรงค่าห้องแอร์คนละ
๒๕ บาท
ผมก็มีแรงขับรถไปกิน แต่ไปนาน ๆ ที และถือโอกาสตอนยาอายุวัฒนะหมดก็ไปทีเดียวพร้อม
ๆ กัน ซื้อยา กินอาหาร ซื้อขนมกง ข้าวเหนียวแดงกลับมา หาร้านไม่ถูก ถามชาววิเศษชัยชาญได้
หากเรามาจากอ่างทอง พอข้ามสะพานก็จะมาผ่านวัดนางใน เลยวัดนางในก็จะมีร้านขายของโบราณ
(วิเศษชัยชาญมีร้านขายของโบราณหลายร้าน) มีทางแยกซ้ายเข้าไป อยู่ตรงข้ามธนาคารกรุงไทย
แต่จะเลี้ยวซ้ายตรงข้ามธนาคารกรุงไทยไม่ได้ เพราะถนนรถเดินทางเดียว ต้องวิ่งเลยไปอีกหน่อยจะมีทางแยกซ้ายอีกเส้นหนึ่งห่างจากทางแยกแรกสี่เสาไฟฟ้า
พอผ่านเมืองไทยประกันชีวิตให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปได้แล้วเลี้ยวซ้ายอีกทีจะมองเห็นป้ายร้าน
กุ้งทอดเกลือ ฝีมือไม่แพ้สุพรรณบุรี หากเป็นกุ้งแม่น้ำก็ราคาแพงหน่อย ประมาณกิโลกรัมละ
๗๐๐ บาท (ต้องถือว่ายังถูกกว่าแหล่งอื่น) แต่หากเป็นกุ้งก้ามกราม กุ้งเลี้ยงราคาจะลดลงมาประมาณเกือบครึ่ง
ความแน่นเหนียวหนึบ เคี้ยวหนุบหนับก็จะแพ้กันนิดหน่อย สั่งกุ้งเลี้ยงมาชิมก็ดี
เอาน้ำทอดกุ้งคลุกข้าวอร่อยนัก
เป็ดพะโล้ กุ่ยทำเป็ดพะโล้อร่อยมานานแล้ว ฝีมือคงที่
ปลาดุกผัดเผ็ด จะทอดกรอบมาแล้วเอาไปผัดเผ็ดเด็ดอย่าบอกใคร
ปะเต็ง พบแห่งเดียวที่เจอปะเต็งใส่จานมาขาย ที่พบมีแต่เอาปะเต็งใส่มาในข้าวต้มเครื่อง
แต่ร้านกุ่ยกินปะเต็งกันสมใจเลย อิ่มแล้วซื้อปะเต็งกระป๋อง เอากลับมาบ้านได้อีก
ทำขายเป็นแห่งแรก
สลัดเนื้อสัน หรือสลัดหมู น้ำใส สลัดอ่างทอง สิงห์บุรี เขาจะมีเอกลักษณ์ของเขาเอง
น้ำสลัดของกุ่ยจะอร่อยรสดี คนขอซื้อกลับไป กุ่ยเลยพัฒนาใหม่ทำบรรจุขวดขายเสียเลย
ขวดละ ๒๕ บาท
มีอีกลูกชื้นปลากราย กุ่ยทำเองเหนียวหนึบทีเดียว หรือจะให้เอาลูกชื้นมาผัดฉ่าก็ได้
ตีนเป็ดผัดหน่อไม้กระป๋อง ผักโสภณผัดกุ้งสด แกงป่าปลาน้ำเงิน และออส่วนที่เป็นออส่วนที่ไม่ใช่หอยทอดกับแป้งเละ
ๆ นอกจากนี้ กุ่ยยังช่วยชาวบ้านที่มีต้นมะขามบ้านละต้นสองต้นด้วยการรับซื้อ
แล้วเอามาทำน้ำมะขามสรสเยี่ยมบรรจุกระป๋อง ไปถึงเหนื่อย ๆ ละก็สั่งชามะขามใส่น้ำแข็งเย็น
ๆ มาซดเสียก่อนก็ดี ของหวานไม่มี แต่มีขนมเกลียว ข้าวตังหมูหยอง ของแม่ถนอมที่เป็นญาติกันมาฝากขายจนดังไปแล้ว
แม่ถนอมอยู่กรุงเทพ ฯ ไม่มีร้าน โทร. ๐ ๒๓๙๔ ๓๓๖๙ ขนมเกลียวแม่ถนอมกินแล้วหยุดไม่ได้จนกว่าจะหมดถุง
ร้านกุ่ยอาหารไม่แพง บริการเร็ว นั่งห้องแอร์ชั้นบนก็ได้ ไม่คิดสตางค์เพิ่ม
..........................................................
|