สวนพฤกษศาสตร์
ก่อนที่จะคุยกันเรื่องไปเที่ยวตามสวนพฤกษศาสตร์ ผมอยากแนะนำให้รู้รักกับประโยชน์
ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเสียก่อน
เพราะการไปเที่ยวกับผม ส่วนใหญ่ผมพาไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ
ซึ่งหากจะเรียกให้ตรงคำศัพท์ คงต้องว่าเป็นการท่องเที่ยวในเชิงนิเวศ และก่อนจะอธิบายคำนี้
ผมขอยกพระราชปรารภ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
".....การเรียนรู้ในเรื่องราว และวิชาการสาขาต่าง
ๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคลสามารถสร้างประโยชน์สุข
สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคมและบ้านเมืองอันเป็นที่พึ่งอาศัยได้
ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์ และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน....."
ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ECOTOURISM
หมายถึง การท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และการดำรงชีวิตต่าง
ๆ ทั้งพืชสัตว์และมนุษย์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นคำที่นำคำ ๒ คำ มาประกอบกันคือ
คำว่า "การท่องเที่ยว" และ "เชิงนิเวศ" ซึ่งแต่ละคำมีคำจำกัดความว่า
การท่องเที่ยว (Tourism) หมายถึง การเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่ง
เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น ที่มิใช่การประกอบอาชีพตามปกติของผู้นั้น
เช่น ผมขับรถตระเวนไปทั่วประเทศเรียกว่า ไปท่องเที่ยว แต่คนขับรถสิบล้อ หรือขับแท็กซี่
ขับกันทั้งวันทั้งคืน ขับระยะทางมากกว่าผมหลายเท่า แต่ไม่ได้ขับเพื่อการท่องเที่ยว
เป็นการประกอบอาชีพ การท่องเที่ยวจึงต้องมี ๒ องค์ประกอบคือ การเดินทาง และต้องไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพ
ท่านผู้อ่าน อ่านหนังสือที่ผมเขียน แต่ยังไม่ได้ตามไปกิน ไปเที่ยวด้วยตนเอง
เรียกว่ามีความสนใจในการท่องเที่ยว ยังไม่ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยว จะเป็นต่อเมื่อได้ไปเที่ยวยังสถานที่นั้นเสียก่อน
แต่ของผมจะสมบูรณ์ต้องตามไปเที่ยวไปกิน ณ แหล่งที่ใกล้ ๆ กับที่เราไปเที่ยวด้วย
ส่วนคำว่า เชิงนิเวศ (Eco) เป็นคำวิเศษณ์ มาประกอบคำว่า การท่องเที่ยว
เพื่อให้หมายถึง การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการชม หรือการศึกษาเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
ในสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม อันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งที่มีชีวิต
ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์ คำว่า " นิเวศ" มีความหมายว่า บ้าน หรือที่อยู่อาศัย
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงเป็นท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยว จะได้รับความรู้
ได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
เป็นที่นิยมของผู้ที่เป็นนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ต้องการทราบ ต้องการสัมผัสและใกล้ชิดกับธรรมชาติ
ประโยชน์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กำลังได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมากขึ้น
เพราะเหตุ ๓ ประการคือ
๑. บ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ชีวิตชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน กลายเป็นชีวิตในเมืองมากขึ้น
เพราะการขยายตัวของความเป็นเมือง จึงต้องการออกไปหาธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
๒. มีความสนใจในด้านธรรมชาติวิทยามากขึ้น
๓. การท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็น " อุตสาหกรรมบริการ" คนท้องถิ่นจึงเกิดความตื่นตัว
ต้องการที่จะมีบทบาทร่วมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่นเกิดที่พักแบบโฮมสเตย์
ส่วนการท่องเที่ยวประเภทป่าไม้คือ การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งความหมายแตกต่างกันคือ
อุทยานแห่งชาติ
หมายถึง บริเวณใด บริเวณหนึ่งที่สงวนรักษาไว้ให้คงสภาพเดิม ทั้งภูมิประเทศ
พืชและสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต้องมีพื้นที่กว้างขวาง (ไม่น้อยกว่าสิบตารางกิโลเมตร
) อยู่ในความดูแลของรัฐ มีเจ้าหน้าที่ดูแล เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรก
(ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีอุทยานแล้ว ๑๓๗ แห่ง) เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
ฯ หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลคือ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
"กระทรวงทรัพยากร ฯ
วนอุทยาน
หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนที่มีลักษณะทางธรรมชาติงดงาม เช่น มีน้ำตก ถ้ำ หรือมีลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา
และทางราชการ ได้เข้าไปปรับปรุง ตกแต่งสถานที่นั้น ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
เช่น วนอุทยานแพะเมืองผี ที่ จ.แพร่ วนอุทยานทุ่งบัวตอง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
(บัวตองบาน ในเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม) วนอุทยานเจ็ดสาวน้อย อ.มวกเหล็ก
สระบุรี วนอุทยานน้ำตกธาราสวรรค์ ใน อ.ควนกาหลง จ.สตูล ระดับจังหวัดดูแล
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
หมายถึง พื้นที่ป่าบริเวณใด บริเวณหนึ่งซึ่งรักษาเอาไว้ให้คงสภาพดั้งเดิม
เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งให้สัตว์ป่าขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ
เขตรักษาพันธุ์ป่า ที่เป็นผืนป่าธรรมชาติใหญ่มากที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
และยังมีที่อื่น ๆ อีกมากว่า ๕๐ แห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
สวนพฤกษศาสตร์
หมายถึง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่จัดสร้างขึ้นเป็นสวนรวมพืชพรรณไม้นานาชนิด
ทั้งพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และพันธุ์ไม้ต่างถิ่น นำมาปลูกไว้เป็นหมวดหมู่ ตามหลักวิชาการทางพฤกษศาสตร์
เพื่อประโยชน์ในการศึกษา วิจัย เพื่อให้ประชาชนไปชม ไปหาความรู้
สวนพฤกษศาสตร์ ที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกคือ สวนพฤกษศาสตร์พุแค
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมาจึงได้สร้างขึ้นอีกหลายแห่ง
ทั่วทุกภาคของประเทศ
สวนรุกขชาติ
หมายถึง พื้นที่ที่จัดสร้างขึ้นเป็นที่รวมพรรณไม้ประจำถิ่น โดยเฉพาะไม้ต้น
และไม้พุ่มที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ไม้หายากหรืออยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
นำมารวมปลูกเอาไว้อย่างสวยงาม เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ เพื่อการศึกษาวิจัย
และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
สวนรุกขชาติที่ตั้งขึ้นแห่งแรกคือ สวนรุกขชาติมวกเหล็ก
ในอำเภอมวกเหล็ก สระบุรี ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ปัจจุบัน มีสวนรุกขชาติตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง
ๆ มากกว่า ๕๐ แห่ง
สวนพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย ได้มีการพยายามจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่
๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดสร้างในลักษณะสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในกรุงเทพ
ฯ ที่สวนลุมพินี แต่ไม่สำเร็จดังพระราชประสงค์
สวนพฤกษศาสตร์แบ่งออกเป็นสวนพฤกษศาสตร์ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
มี ๗ แห่ง (รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์และสวนรุกขชาติ) และมีสวนพฤกษศาสตร์ที่สำคัญแห่งอื่น
ๆ อีก ๓ แห่ง และยังมีแยกออกไปอีกเป็นสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สวนพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพร
เช่น ที่มหาวิทยาลัยมหิดล
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ฯ
ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ได้จัดตั้งเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ได้จัดตั้งขึ้นใน
๑๒ จังหวัดคือ นนทบุรี ปัตตานี พังงา ชุมพร กาญจนบุรี พิจิตร เชียงราย สกลนคร
ร้อยเอ็ด พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา แต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ
สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
สวนของเอกชน
สวนที่สวยที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด (ได้เคยเล่าไปแล้ว) คือสวนนงนุช ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนาจอมเทียน
อ.สัตหีบ ชลบุรี สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล ตั้งอยู่ที่ถนนเชียงใหม่ - ดอยสะเก็ด
ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่
ผมขอเล่าถึงสวนพฤกษศาตร์สำคัญ นอกจากความรับผิดชอบของกรมอุทยาน ฯ เสียก่อน
เพราะอยู่ใกล้ ๆ อยู่ในกรุงเทพ ฯ ๒ แห่ง เชียงใหม่ ๑ แห่ง คือ
สวนพฤกษศาตร์ในสวนหลวง ร.๙
สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม
พ.ศ.๒๕๓๐ รัฐบาลต้องการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์เหมือนในต่างประเทศขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
เช่น ที่เนเธอร์แลนด์ (ปลูกปาล์มน้ำมันครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๑)
รัฐบาลได้ร่วมกับมูนิธิสวนหลวง ร. ๙ และปวงชนชาวไทย จัดสร้างสวนหลวง ร. ๙
เพื่อถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช
เนื่องในโอกาสมหามงคล เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชน และให้บ้านเมืองมีสวนสาธารณะ
สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ โดยกรุงเทพ ฯ มหานคร ได้ยกที่ดินที่มีอยู่ และได้แลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มเติมกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง
จนได้พื้นที่ก่อสร้างสวนหลวง ร.๙ ทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ ไร่
สวนพฤกษศาสตร์ในสวนหลวง ร.๙ มีความสมบูรณ์แบบตามหลักของนิเวศวิทยา และรวบรวมพันธุ์ไม้โดยมุ่งเน้นให้วสวยงามด้วย
ส่วนสวนพฤกษศาสตร์มีพื้นที่ ๙๐ ไร่ หากรวมพื้นที่จอดรถ และคูน้ำด้วย จะมี
๑๒๐ ไร่ เนื้อที่ภายในสวนแบ่งออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนมีคูน้ำล้อมรอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชลประทาน
และระบายน้ำ สวน ฯ มีหน้าที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ทั้งไทย และต่างประเทศ อนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์
เช่นเดียวกับสวนพฤกษศาสตร์อื่น ๆ ในปัจจุบันมีหอพันธุ์ไม้เก็บรวบรวมตัวอย่าง
พันธุ์ไม้แห้งอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ ตัวอย่าง มีห้องสมุดขนาดเล็ก มีเรือนเพาะชำ
และเรือนอนุบาลพืช
เส้นทางหากไปตามถนนลาดพร้าว วิ่งไปจนผ่านเดอะมอลบางกะปิ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ตรงเรื่อยไป
จนถึงสี่แยกที่มีไฟสัญญาณ มีป้ายบอกว่าไปสวนหลวง ฯ ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งตรงไปเรื่อย
ๆ ประตูทางเข้าสวนหลวง ฯ จะอยู่ทางซ้ายมือ เข้าไปในบริเวณสวนแล้ว ก็จะพบกับความงดงามของไม้ดอก
ไม้ประดับ ไม้ยืนต้นจัดเป็นหมวด เป็นหมู่ จัดสวนแบบสวนญี่ปุ่น สวนฝรั่งฯ สารพัดสวน
สารพัดความงดงาม และต้องไม่ลืมเข้าไปชมหรือถ่ายภาพที่ "พลับพลายอด" ที่อยู่ท่ามกลางแมกไม้
และหอรัชมงคล "ตั้งอยู่กลางน้ำ ชมกันครึ่งวันไม่พอ จะให้ดีก็ไปเช้า ๆ หน่อย
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์
ซึ่งเดิมหน่วยงานนี้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในปัจจุบันได้โอนมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม มีเนื้อที่ ๓,๕๐๐ ไร่ ตั้งอยู่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ
- ปุย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มาก มีธารน้ำไหลผ่านตลอดปี
ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ และที่สูงสลับกันเป็นระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ความสูง
๔๐๐ เมตร ขึ้นไป เดิมที สวนนี้มีชื่อว่า "สวนพฤกษศาสตร์ภาคเหนือ (แม่สา) "
กรมป่าไม้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ภาคเหนือ (แม่สา) ตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๕๒๖ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.๒๕๓๕ รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์พืช
จึงสนับสนุนให้จัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ และในปี พ.ศ.๒๕๓๕
นี้ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์
ฯ รัฐบาลจึงโอนสวนพฤกษศาสตร์ภาคเหนือ ของกรมป่าไม้มาเป็นองค์การ ฯ และขอพระราชานุญาตจาก
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานชื่อสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ว่า
สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์
เส้นทาง ไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยังอำเภอแม่ริมแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายไป
อ.สะเมิง ประมาณ ๑๒ กม. (ผ่านร้านอาหารชื่อ ครัวสวนรินทร์ ที่ กม.๑๐ ผมเคยชวนชิม)
ทางเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ในสวนแห่งนี้ขับรถเที่ยวได้ มีที่พัก (ยังไม่เคยพัก)
มีร้านอาหาร มีเรือนกระจกปลูกพันธุ์ไม้ มีเรือนจำหน่ายพันธุ์ไม้ และของที่ระลึก
สวยไปทั้งสวน
- สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ฯ จตุจักร
เป็นอีกสวนหนึ่ง ที่เป็นสวนพฤกษศาสตร์ หากยังไม่เคยไปให้รีบไปเสีย และอยู่ในกรุงเทพ
ฯ นี่เอง อยู่ริมถนนกำแพงเพชร หากขับรถผ่านด้านหลังของสวนจตุจักรคือ ถนนกำแพงเพชร
๒ พอเลยสวนจตุจักร ไปแล้วสัก ๕๐๐ เมตร สวนสมเด็จ ฯ จะอยู่ทางขวามือ ต้องวิ่งไปกลับรถมา
หรือหากมาทางด่วนให้ลงที่ช่องกำแพงเพชร ๒ ลงแล้วถนนจะบังคับให้มาวิ่งผ่าน
สวนสมเด็จ ฯ ภายในสวนนอกจากจะร้องว่าสวยเหลือเกินแล้ว ก็ต้องร้องอีกว่าหาที่จอดรถยากเหลือเกิน
(เว้นวันราชการ) เพราะคนไปเที่ยวกันมาก ที่จอดรถมีน้อย ภายในสวนเหมาะสำหรับเดินชมพันธุ์ไม้ต่าง
ๆ ที่แบ่งกันเป็นโซน มีสระน้ำ คูรอบสวน สระน้ำ เหมือนทะเลสาบ มีเกาะ มีแก่ง
ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้ผลที่สำคัญยิ่งคือ ขนุน เพราะเป็นต้นไม้ ที่โปรดพระราชทาน
และโปรดให้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากต้นแม่ที่อยู่เชิงบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณอายุมากกว่า
๑๓๐ ปีแล้ว พระราชทานนามว่า "ไพศาลทักษิณ" มีปลูกไว้ในสวนหลวง อยู่เลยห้องสุขาไปช่วยให้สวนเขียวชอุ่มตลอดปี
สวนนี้ไม่ใช่สวนไปออกกำลัง นอกจากเดินออกกำลังด้วยการชมพันธุ์ไม้ แต่หากจะไปออกกำลัง
ให้ไปที่สวนที่อยู่ไม่ไกลกันคือ สวนจตุจักร และสวนรถไฟ ส่วนที่เที่ยวไม่ไกลกันคือ
หอเกียรติภูมิรถไฟ พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร (อยู่ติดทางด้านตะวันออก)
ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาด อตก. ที่ของกินแยะ อาหารดี ๆ ทั้งนั้น รวมทั้งแผงหนังสือเก่าริมถนนกำแพงเพชร
สวนสมเด็จ ฯ แห่งนี้ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ โดยมติ ครม. ได้น้อมเกล้า
ฯ ถวายพื้นที่ ๒๐๐ ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อยู่ริมถนนกำแพงเพชร ๒
จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะระดับนคร ในโอกาสมหามงคล ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้า
ฯ จุดน่าท่องเที่ยวคือ ลานบัว สวนไม้ดอก สวนป่า สวนกล้วย สวนไผ่ อุทยานไม้หอม
และเตรียมขยายพื้นที่เพื่อปลูกไม้มงคลประจำจังหวัดอีกด้วย ไปสักครั้งแล้วจะติดใจ
หากประเภท "ส.ว." แบบผมวานลูก เขาขับรถให้เอาเราไปปล่อยไว้ในสวน ตอนกลับช่วยตัวเองด้วยการนั่งรถแท็กซี่กลับ
แบบนี้สะดวกดี สวนเปิดตั้งแต่เวลา ๐๕.๓๐ - ๑๘.๐๐ หากไปวันราชการตอนสาย ๆ ลานจอดรถยังว่าง
ผมจะพาไปชิมอาหารที่ทำด้วยผักหวานบ้าน ผักหวานนั้นมี ๒ ชนิดคือ ผักหวานบ้าน
(ปลูกง่ายมา ตัดกิ่งปักชำก็ขึ้นแล้ว) กับผักหวานป่า (ต้องใช้วิธีตอนกิ่งขยายพันธุ์)
เส้นทางไปมี ๒ เส้นทางคือ เส้นทางแรก ผมไปจากบ้านลาดพร้าววิ่งไปจนผ่านเดอะมอล
บางกะปิ ก็เลี้ยวขวาลอดใต้สะพาน เข้าถนนศรีนครินทร์ ข้ามสะพานพอลงสะพานแล้ว
ก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง วิ่งไปจนเลยซอยรามคำแหง ๑๒๙/๓ ก่อนถึง ซอย ๑๓๑
ผ่านปั๊ม ปตท. ร้านจะอยู่ทางซ้ายมือ เป็นศาลาโล่งกว้างขวาง แต่คนจะแน่น ตั้งแต่เวลาก่อนเที่ยง
เวลาที่เหมาะได้ที่นั่งชิมแน่คือ ไปกันตั้งแต่ ๑๑.๐๐ เลย เส้นทางที่ ๒ ไปตามถนนรามคำแหง
ผ่านหน้าราม ๑ วิ่งไปจนผ่านสี่แยกลำสาลี แล้ววิ่งตรงไปซ้ำกับเส้นทางที่ ๑
จนถึง รามคำแหงซอย ๑๒๙/ - ๑๓๑ ร้านอยู่ซ้ายมือเข้า ไปจอดรถในลานข้างร้านได้
หรือปั๊ม ปตท. คงจะอาศัยจอดได้
อาหารที่ทำด้วยผักหวานบ้าน มีหลายอย่าง เช่น ไข่เจียวผักหวานบ้าน ยำผักหวานบ้าน
ข้าวราดผัดผักหวานไฟแดง กุ้งสด, หมูกรอบ "ส้มตำผักหวาน" ผักหวานบ้านลวก แก่งส้มผักหวาน
ผักหวานบ้านชุบแป้งทอด กระเบื้องผักหวานบ้าน
ส้มตำผักหวาน มีหลายชนิด ผมสั่งส้มตำไทย ใช้ผักหวานแทนมะละกอ รสกลมกล่อม ไม่เปรี้ยวจัด
ไม่เผ็ด แนมมาด้วย ถั่วฝักยาว และกล่ำปลี "ต้องสั่งส้มตำ"
ทะเลด่วน มีปลาหมึกสดมากสุกแล้วยังกรอบกรุบ ผัดเครื่องแกง มีกุ้งสด กินกับข้าวร้อน
ๆ ก็กรอบสมชื่อ อาหารจานไม่โตมาก ราคาไม่แพง
แกงส้มผักหวานปลาช่อนทอด น้ำแกงข้น รสเข้มข้น ยกมาร้อนโฉ่ ตักซดเสียก่อน ตอนร้อน
ๆ แล้วเอาราดข้าวทีหลัง แนมด้วยไข่เจียวผักหวาน
ของหวานตั้งโต๊ะขาย ตรงทางเข้าจากลานจอดรถ เป็นขนมหวานใส่น้ำแข็ง น้ำเชื่อม
น้ำกะทิ แต่ต้องไปซื้อเอง จ่ายเงินสด กันที่โต๊ะขนม จ่ายแยกกับค่าอาหาร เช่น
ลอดช่อง เผือก เฉาก๊วย ถั่วแดง ถ้วยละ ๑๒ บาท "มีบัวลอยสมุนไพร " ทำขายเฉพาะวันเสาร์
- อาทิตย์ แต่ไปทีไร ไม่ได้กินสักที
....................................................................
|