|
|
|
|
|
|
|
|
ทะเลกรุงเทพ ฯ
ผมจะพาไปทะเลกรุงเทพ ฯ พาไปดูหลักเขต
กทม.ฯ หลักที่ ๒๘ ที่ปักอยู่ในน้ำทะเล
เป็นหลักแบ่งเขตระหว่าง กทม.ฯ กับจังหวัดสมุทรปราการ ผมเองก็ได้มาเห็นทะเลในเขตกรุงเทพ
ฯ เอาเมื่ออายุใกล้จะถึงร้อยเข้าไปแล้ว เดิมนั้นไปนึกว่าที่เรียกว่าทะเลกรุงเทพ
ฯ นั้น คือพื้นที่ในเขตบางขุนเทียน ชึ่งน้ำทะเลขึ้นสูงมาท่วมแผ่นดิน และผสมกับน้ำจืดจากลำคลอง
ในเขตนี้กลายเป็นน้ำกร่อย พื้นน้ำเว้งว้างแต่สลับด้วยป่าโกงกาง ทำให้พื้นน้ำมีร่มไม้
เป็นป่าชายเลน ผมนึกว่าพื้นที่อย่างนี้ยกย่องให้เป็นทะเลกรุงเทพ
ฯ และเมื่อ ๓ ปีมาแล้วผมไปชมทะเลที่ผมวาดภาพนี้ที่ถนนสายบางขุนเทียน - ชายทะเล
ชมแล้วก็หาร้านอาหารชิม เวลานั้นตลอดถนนสายนี้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีร้านอาหารทะเลอยู่เพียง
๓ ร้าน ร้านไกลสุดริมคลองเชิงตาแพ ร้านคุณน้า ๑ ร้าน ใกล้เข้ามาหน่อยมีทางแยกซ้ายไปวัดลูกวัว
มีร้านคุณลุงร้านหนึ่ง ใกล้าเข้ามาอีกหน่อยมีร้านแสวงซีฟู๊ด เป็นร้านใหญ่โตมโหฬารมากในตอนนั้น
แต่คนไม่แน่น วางผังร้านเป็นสี่ทิศ มีเต็มอยู่สัก ๒ ทิศ ไม่เหมือนทุกวันนี้ ผมไปชิมแล้วก็กลับไปเขียน
พอมาปีนี้มีคนบอกว่าร้านอาหารย่านนั้นเกิดขึ้นมากมายเกิน ๑๕ ร้าน ร้านใหญ่โตกว่าร้านแสวงซีฟู๊ดก็มี
และมีเรือพาเที่ยวทะเลกรุงเทพ ฯ ด้วย เลยต้องไปให้ประจักษ์ว่าทะเลกรุงเทพ
ฯ หน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่ ส่วนร้านอาหารนั้นตระเวนแล้วก็ถูกใจที่ร้านเดิมคือแสวงซีฟู๊ด
ที่ไม่ได้ไปชิมเขามาร่วม ๓ ปีแล้ว ไปชิมแล้วก็ต้องยกนิ้วให้ทั้งมือว่าเก่ง
รักษามาตรฐานดั้งเดิมไว้ได้ดีเยี่ยม ข้อสำคัญตรึงราคาเอาไว้ด้วย
ไปเที่ยวทะเลกันก่อน บ้านผมอยู่ลาดพร้าว ๗๑ ใกล้ทางด่วนเอกมัย - รามอินทรา
ผมก็ขึ้นทางด่วน ๒ ต่อ เสียไป ๓๐ และ ๔๐ บาท ก็จะไปลงที่ดาวคนองเข้าถนนพระราม
๒ เลยทีเดียว หากไม่มาตามทางด่วนก็คงจะต้องมาทางถนนเจริญนครทางฝั่งธนบุรี
มาถึงตรงดาวคนองแล้วเลี้ยวขวาเข้าพระราม ๒ เอาเป็นว่าเข้าพระราม ๒ ให้ได้ก็แล้วกัน
เส้นนี้จะไปเชื่อมกับเพชรเกษมที่ปากท่อ ราชบุรี เพื่อเลี้ยวซ้ายล่องใต้
เมื่อลงมาจากทางด่วนเข้าพระราม ๒ แล้ว ให้เลี้ยวเข้าถนนคู่ขนานทันที วิ่งในถนนคู่ขนานไปจนผ่านบิ๊กซี
(ฝั่งตรงข้ามกำลังจะเปิดเซ็นทรัล พระราม ๒) พอเลยบิ๊กซีไปหน่อยจะมีถนนแยกซ้ายชื่อว่า
ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล
เป็นชื่อถนน ปากทางตรงหัวมุมมีป้ายบอกว่าไปวัดหัวกระบือ และมีป้ายบอกอีกว่า
ร้านแสวงซีฟู๊ด ๙ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายนี้
ซอยเทียนทะเล ๑๙ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยนี้จะไปจบที่วัดหัวกระบือ ที่วัดนี้มีหลวงพ่อโตอยู่ในอุโบสถ
มีรถโบราณจอดเรียงรายอยู่ที่ลานวัด เป็นรถที่ท่านเจ้าอาวาสท่านสะสมเอาไว้ให้ชมกัน
กลับออกมาจากวัดหัวกระบือ วิ่งต่อไปประมาณซอย ๒๑ จะพบเพิงขายปูทะเล ขายปลาทะเล
ขายหอย ฯ ขายผลไม้ก็มี ไม่รับรองในคุณภาพและราคาเพราะไม่เคยลงซื้อสักที
ได้ความรู้มาว่า ถ้าจะกินปูทะเลที่อร่อยที่สุดนั้นจะต้องกินปูทะเลจากเมือง
๓ สมุทร คือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม จึงจะมีรสและเนื้ออร่อยเลิศ แต่เวลานี้ปูของเมือง ๓ สมุทร นี้กำลังจะสูญพันธุ์ไปแล้วเพราะคนจับกินหมด กินจนเกิดหรือเพาะเลี้ยงไม่ทัน เวลานี้เขาซื้อลูกปูมาจากพม่า ตอนพม่าปิดชายแดนก็ยุ่งหน่อย เพราะไทยเพาะลูกปูสู้พม่าไม่ได้ ข้างพม่าก็เลี้ยงลูกปูให้เติบใหญ่สู้ไทยไม่ได้
อาหารทะเลที่มาทำอาหารจำหน่ายกันในย่านทะเลกรุงเทพ ฯ เวลานี้นั้น ปรากฎว่าส่วนใหญ่จะมาจากภาคใต้
เช่น สุราษฎร์ธานี หรือใต้ลงไปถึงทะเลอันดามันคือจากสตูล การเอามาโดยไม่ให้ตายเสียก่อนเขาใช้วิธีลงถังแล้ววอัดออกซิเจนลงไป
หรือพอจับได้ก็น๊อคด้วยน้ำแข็งแห้งให้มาฟื้นเอาเมื่อถึงร้านอาหารแล้ว
พอถึงร้านอาหารเขาก็จัดการนำลงถังให้แหวกว่ายกันอยู่ในนั้นทั้ง ปู กั้ง ปลา
กุ้ง พอได้เวลาที่จะเอาไปทำอาหารก็จัดการจับขึ้นมาทั้งที่ยังเป็น ๆ อยู่ แล้วเอาไปทำอาหาร
ดังนั้นอาหารทะเลย่านนี้ เช่นที่ร้านจะพาไปชิมคือ แสวงซีฟู๊ด อาหารทะเลจะสดจริง
ๆ เรียกว่าตายเมื่อสั่งทำนองนั้น ดังนั้น ราคาอาหารบางอย่างจึงดูเหมือนแพง
แตกต่างกันเพราะความสดนี่เอง เช่นกั้งทะเลผมเคยถามราคาที่จังหวัดตราด เขาบอกว่ากั้งตายแล้ว
กิโลกรัมละไม่เกิน ๓๐๐ บาท แต่หากเป็น ๆ เอามาทำอาหาร กก.ละ ๘๐๐ บาท
ส่วนกั้งที่เอามาจากสตูลนี้ราคาที่ร้านตก กิโลกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท กุ้งแม่น้ำ
หากไปกินที่กุ่ยหมง อำเภอบางปลาม้า ตกกิโลกรัมละ ๘๐๐ บาท แต่กุ้งแม่น้ำย่านนี้ตก
กิโลกรัมละ ๑,๐๐๐ บาท ปูทะเลตัวโต ๆ กิโลกรัมละ ๔๐๐ - ๖๐๐ บาท ปูม้าก็มาจากสตูล
ทั้ง ๆ ที่ปูม้ามหาชัย เมื่อก่อนนี้มีมากมาย ตอนนี้โตไม่ทัน สมัยเมื่อผมยังหนุ่ม ๆ อยู่นั้น
ปูม้าที่มหาชัยขายเข่งละ ๑๐ บาท ไม่มีปัญญาจะซื้อกลับไปเพราะไม่ได้มีรถส่วนตัวมากัน
สมันนั้นมารถไฟสนุกดี
ซอยเทียนทะเล ๒๖ ที่ปากซอยคือศาลา หรือตำหนักของพลเรือเอก
กรมหลวงชุมพร เขตต์อุดมศักดิ์ ของมูลนิธิปทีปพลีผล
สร้างตำหนักไว้บนเรือหลวงพระร่วง ๑๙
สร้างเสียสวยทีเดียว
เลยไปอีกจนเห็นป้ายทะเลกรุงเทพ ฯ ทางซ้าย แล้วต่อไปอีกหน่อยก็คือร้านอาหารชื่อแสวงซีฟู๊ด
ซึ่งไปเที่ยวทะเลแล้วจะย้อนกลับมาชิมอาหารอร่อยที่ร้านนี้ ตอนนี้เลยไปก่อนไปกันจนสุดเส้นทาง
เดิมก็จะมีสะพานที่เพิ่งสร้างข้ามลำคลองเชิงตาแพ เมื่อข้ามไปแล้วก็ลงถนนลูกรังที่กำลังสร้าง ซึ่งป้ายบอกว่าจะสร้างไปจนจรดคลองพิทยาลงกรณ์ เพื่อเป็นทางท่องเที่ยวด้วยการเดินและรถจักรยานด้วยระยะทางที่ก่อสร้างนี้ยาว
๓.๖ กิโลเมตร ไม่ทันได้อ่านว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เมื่อเสร็จแล้วก็คงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จะไปเที่ยวทะเลกรุงเทพ ฯ ได้
เมื่อเลยร้านแสวงซีฟู๊ดมาแล้ว ไม่ไกลนักก็จะถึงทางแยกซ้ายปากซอยบอกว่าไปร้านลุงแถม
(ถ้าจำชื่อไม่ผิด) บอกว่าเป็นร้านอาหารร้านแรกของย่านนี้ เลี้ยวผ่านร้านลุงไปก็จะถึงวัด
"ลูกวัว" หรือประชาบำรุง ให้เลี้ยวเข้าไปในวัด ในอุโบสถมีหลวงพ่อทองดำ
และหลวงพ่อไตรลักษณ์
ที่ศาลาตรงท่าเรีอมีป้ายนำเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ เขียนบอกไว้ มีเรือหางยาวที่จะพาไปเที่ยวทะเลกรุงเทพ
ฯ แต่ลำไม่โตนัก คิดค่าโดยสารคนละ ๖๐ บาท มีเฉพาะเสาร์ - อาทิตย์หรือวันหยุด แต่วันที่ท่านอ่านนี้อาจจะมีทุกวันแล้วก็ได้
ที่ป้ายนำเที่ยวได้เขียนบอกแหล่งท่องเที่ยวไว้คือ.-
วัดหัวกระบือ ที่ซอยเทียนทะเล ๑๙ ศาลกรมหลวงชุมพร ซอย ๒๖
ชุมนุมมอญวัดบางกระดี่
สร้างเมื่อสมัย ร.๔ พ.ศ.๒๔๒๐ ศิลปะมอญ เป็นศูนย์รวมชาวไทยเชื้อสาญมอญ มีพระพุทธรูปยืนซึ่งแกะจากไม้ซุงทั้งต้น
มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องดนตรี คัมภีร์อักษรมอญ
แหล่งลิงแสม บริเวณริมคลองหัวกระบือ คลองสามชัย ล่องเรือชมลิงและให้อาหารลิง
เลยวัดลูกวัวไปจะข้ามสะพานจะเป็นมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน
สร้างเสร็จแล้วแต่คงจะไม่หยุดการก่อสร้างเพียงแค่นี้ เพราะสร้างใหญ่โตมโหฬารเหลือเกิน
เลยมหาวิทยาลัยเข้าไปอีกจะไปตันที่หมู่บ้าน ซึ่งผมไม่ได้เลยเข้าไปถึงหมู่บ้าน
ทีนี้กลับมาลงเรือ ผมได้ติดต่อกับทางร้านแสวงซีฟู๊ดให้เขาช่วยเรียกเรือจากชาวบ้านให้
เพราะเมื่อไปเที่ยวแล้วผมจะมาชิมอาหารที่ร้านของเขา โทรร้านแสวง ฯ ๐ ๒๘๔๙
๓๑๙๑ - ๓ ท่านที่จะไปติดต่อทางร้านตามหมายเลขนี้ ร้านจะบริการเรียกเรือจากชาวบ้านให้
ซึ่งจะลงเรือกันที่ท่าเรือร้านแสวง แต่เราจะต้องไปให้ตรงเวลา เพราะท่าเรือเขาแคบ
เรือจอดได้ทีละลำเท่านั้น เรือที่ทางร้านเรียกให้ลำจะโตกว่าที่หน้าวัดลูกวัว
และมีชูชีพให้ ก็เลยแนะนำทางร้านเขาไว้ว่า ต่อไปก็จัดนักเรียนมาเป็นไกด์เสียเลย
เพราะร้านแสวง ฯ นั้นส่งเสริมเด็กนักเรียนใให้มีอาชีพ มีรายได้ด้วยการให้เด็กนักเรียนมาเสริฟอาหารในวันหยุดหรือตอนปิดเทอม
แต่งเครื่องแบบนักเรียนเสริฟกันเลย เด็กจะได้ทั้งค่าแรงและค่าทิป ประมาณถึงวันละ
๗๐๐ บาท เพียงพอที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่ต้องรบกวนผู้ปกครอง และยังมีพวกสาวโรงงานที่มีวันหยุดอีก
เขาก็จ้างมาทำงานในร้าน คนงานในร้านอาหารนี้ประมาณ ๔๐๐ คนขึ้นไป ดังนั้นหากร้านแสวง
ฯ รวมเรือจากชาวบ้านได้ ฝึกเด็กให้เป็นไกด์นำเที่ยวในคลองและทะเลกรุงเทพ ฯ ได้ เด็กที่มีความรู้ก็จะเป็นไกด์ได้อีกอาชีพหนึ่ง
และอาจจะรับรองชาวต่างประเทศได้ เพราะเด็กนักเรียนที่มีความรู้ดี ๆ อยู่ชั้นสูงพอจะพูดภาษาต่างประเทศได้
ผมลงเรือที่ท่าเรือร้านแสวงซีฟู๊ด เรือพาไปตามร่องน้ำซึ่งอยู่บนบกเราจะดูไม่ออก
เห็นแต่น้ำท่วมเจิ่งไปทั่ว ลงเรือแล้วจึงเห็นว่าเรือแล่นไปตามคันคลอง ที่เป็นเขื่อนคอนกรีตบ้าง
เขื่อนดินบ้าง เหนือคันคลองเป็นบ้าน ก็เพราะมีบ้านบางหลังเขายังออกถนนซอยที่น้ำยังไม่ท่วมได้
บางบ้านก็อยู่กันเป็นเกาะ ไปไหนได้แต่ทางเรือเท่านั้น บ้านที่โชคดีเขามีทั้งอู่เรือและโรงรถ
แต่ก็เป็นเกาะเช่นกัน สองฝั่งคลองร่มรื่นไปด้วยต้นโกงกาง ที่เขาบอกว่าเหลือน้อยลงไปแล้ว
เพราะการโค่นล้มทั้งด้วยลมพายุ และการโค่นเอาไปทำฟืน ไปเผาถ่านขายเสียหมดเป็นการทำลายแหล่งทรัพยากรสำคัญ สัตว์ทะเลนั้นจะอาศัยหาอาหารอยู่ตามป่าชายเลน หรือป่าโกงกางเหล่านี้
อาหารของสัตว์ทะเลจะมีมากและเป็นน้ำกร่อย
เรือวิ่งในคลองโอ่งประทุนประมาณ
๓๐ นาที ก็ไปโผล่คลองที่ใหญ่กว่ามาก คราวนี้คลองไม่คดเคี้ยวเหมือนตอนวิ่งในคลองโอ่งประทุนแล้ว
เป็นคลองใหญ่ขุดตรงลงสู่ทะเล สองฝั่งคลองคงเหมือนกันคือ มีป่าโกงกางบ้าง แต่มีบ้าน
มีแหล่งชุมชนมากกว่าคลองซอย ซึ่งคลองซอยที่จะมาออกคลองใหญ่นี้มีมากกว่า ๓๐
คลอง ที่น่าขำคือบ้านบางหลังเขาไม่ยอมทิ้งถิ่น เขาปลูกอยู่บนดินพอน้ำท่วมดินมากเข้ากลายเป็นคลอง
บ้านก็ตั้งโด่เด่อยู่กลางน้ำไปไหนไปด้วยเรือ และถือโอกาสนั้นโพงพางหาปลาเสียเลย
อาชีพหนึ่งของชาวสองฝั่งคลองรวมทั้งในคลองซอยด้วย คือการกั้นบ่อเลี้ยงกุ้งและเลี้ยงปูทะเล
เขาบอกว่าเลี้ยงปูทะเลที่ซื้อลูกปู ที่เพาะในพม่านั้นเลี้ยงไม่ยากนัก แต่ยากตรงที่จะอาบน้ำ
กินข้าว อะไรต้องผลัดกันเฝ้าบ่อตลอดเวลา เพราะขโมยชุมและฝีมือยยอดเยี่ยมมาก
วิธีขโมยปูเลี้ยงเขาจะแอบเอากรงดักไปโยนไว้ในบ่อ ในกรงดักก็ใส่อาหารของปูเอาไว้ด้วย
พอเจ้าของบ่อเผลอเมื่อไร เขาก็ไปชักลากเอากรงดักปูทะเลขึ้นมา ใช้เวลาไม่นานเลยในการลากกรง
แต่ละกรงก็จะได้ปูรวมแล้ววันหนึ่งสัก ๒ กิโลกรัมก็รวยแล้ว เพราะเอาไปขายตามร้านอาหารได้
กิโลกรัมละประมาณ ๓๐๐ บาท ทางร้านก็ไม่รู้ว่าบ่อเอามาขายเอง หรือหัวขโมยเอามาขาย
ส่วนกุ้งนั้นไม่ขโมยกัน สู้ขโมยปูทะเลไม่ได้
เรือวิ่งในคลองใหญ่อีกประมาณ ๑๐ นาที ก็ถึงปากคลองหรือปากอ่าว
ซึ่งจะเห็นว่าน้ำทะเลคลื่นลมกำลังทำลายปากอ่าวให้กว้างออกไป และกินอาณาเขตลึกเข้าไปในคลองอีก
อาณาจักรทะเลจะขยายเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้น เขตบางขุนเทียนจึงกลายเป็นเขตที่มีชายอาณาเขตที่ติดต่อกับสมุทรปราการเป็น
"ทะเล" ซากของเสาบ้านเรือนยังมีเหลืออยู่ ที่ดินที่จมทะเลไปนี้ล้วนแต่มีเอกสารสิทธิ์
แต่ใครจะไปอยู่ได้ในเมื่อแผ่นดินถูกทำลายเข้าไปเรื่อย ๆ ไม่เหมือนชาวเกาะปันหยี
ที่ จังหวัดพังงา นั่นเขาอยู่ในน้ำ แต่มีเกาะบังคลื่นบังลม มีพื้นดินพอสร้างโรงเรียนได้เกาะคอยบังไว้ไม่ให้น้ำทะเลทำลายแผ่นดิน
ชาวเกาะปันหยีอยู่ในน้ำจึงมีแผ่นดินให้เดินบ้าง แต่ปากคลองบางขุนเทียนนี้หมดสิทธิ์เหยียบแผ่นดิน
ดังนั้นหลักเขตที่ ๒๘ ของกรุงเทพ ฯ ที่เดิมก็ปักอยู่บนแผ่นดินแบ่งเขตกับสมุทรปราการ
เวลานี้หลักเขต ๒๘ ก็ปักเด่อยู่กลางน้ำทะเลที่เป็นสีขุ่น ไกลออกไปจึงจะเป็นสีคราม และมีหลักอีกจำนวนมากเสาบ้านเดิมบ้าง
ชาวประมงมาปักเพิ่มบ้าง ก็จะเป็นหลักดักหอยแมลงภู่ให้มาเกาะตามหลัก และพื้นน้ำแถวนี้ไม่ลึก
คนยืนได้ก็จะมีเรือเล็ก ๆ ของชาวประมงออกมาคราดจับหอยกระพง หอยกระพงนั้นชักจะหากินยากแล้วตัวนิดเดียว
เนื้อน้อยก็จริงแต่หากเอามาผัดกับใบโหระพาหรือที่เรียกว่าตีน้ำมัน ใส่น้ำมากหน่อยซดร้อน
ๆ เวลากินข้าวกับน้ำพริกปลาทูจะวิเศษนัก หรือเอาดองน้ำปลาแล้วไว้กินกับข้าวต้มก็จะอร่อยไปอีกแบบ
พื้นทะเลแถวนี้มีหอยกระพงแยะ
ที่สำคัญคือแถวหลักเขตนี่แหละ เขาบอกว่าหากเป็นฤดูหนาว "ปลาโลมา" หนีหนาวมาว่ายเล่นน้ำอยู่แถวนี้
แต่ต้องมาชมตอนเช้าสักหน่อย เช้ากี่โมงลืมถามนายท้ายไป
เอาเป็นว่าเช้าก็แล้วกัน ดูโลมาแล้วก็ไปฉันเพลได้เลย ลูกค้าที่ร้านอาหารจะได้ไม่แน่น
จบรายการชมทะเลกรุงเทพ ฯ
กลับมาขึ้นจากเรือที่ท่าเรือร้านแสวงซีฟู๊ด ผมไปกันหลายคน เรือที่ไปนั่งได้ประมาณ
๑๒ คน นั่งอย่างสะบายปลอดภัยแน่นอน และได้จองโต๊ะไว้ก่อนแล้ว เขาบอกว่าไม่งั้นเวลาเทศกาลวันหยุดยาวโดยเฉพาะวันแม่หรือวันพ่อ
ถนนที่เข้ามาระยะทาง ๙ กิโลเมตร นั้นบางทีใช้เวลากันถึง ๒ - ๓ ชั่วโมง เพราะรถติดและบางทีเข้ามาแล้วก็ยังผิดหวังไม่ได้ชิม
หรือต้องรอเพราะโต๊ะเต็ม จองไว้จะดีหากมาในรายการสำคัญที่นัดแนะกันมา
ร้านนี้หลังคาจากเย็นสบายมาก หากร้อนมากเขาจะพ่นน้ำขึ้นไปบนหลังคารอบร้านคือ
"น้ำ" และทางร้านยังปลูกไม้เลื้อยคือ จันทร์กระจ่างฟ้า และอมรเบิกฟ้าออกดอกสีเหลืองกับสีแดงไว้รอบ
ๆ สยาบตาดีเลื้อยเต็มที่เมื่อไรคงสวยกว่านี้ ร้านกว้างขวางมาก มีโต๊ะกว่าร้อยโต๊ะ
ห้องสุขาสะอาด ไปดูครัวของเวขา พ่อครัวแม่ครัวแน่นตรึม ถามเขาว่าทำไมแยะนัก
เขาบอกว่าพ่อครัวแม่ครัวของเขาจะทำอาหารที่สำคัญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น รสจะคงที่ไม่ต้องชิม
เช่นคนนี้เก่งปลาเผา คนนี้เก่งต้มยำกุ้ง คนนี้เก่งปูผลัดพริกไทยดำ คนนี้เก่งนึ่งปู
ก็ทำกันเพียงอย่างเดียวนั่นแหละ
ปลากะพงเผา ตัวโตตัวเบ้อเริ่ม ยังกับเด็กเกิดใหม่ ใส่จานแกะหนังออกแล้ว เนื้อขาวจั๊วะ
เนื้อแน่นนุ่ม น้ำจิ้มของเขามีทั้งแบบน้ำส้ม และซีอิ้วญี่ปุ่นใส่กระเทียม พริกชี้ฟ้า
เคี้ยวสนุกดีพิลึก
จานเด็ดอันดับแรกคือ ปูทะเลไข่ผัดพริกไทยดำ มากินอาหารย่านนี้ต้องยอมเสียสตางค์
เพราะเป็นอาหารทะเลสด ๆ และร้านนี้เขาตรึงราคาไว้ ๓ ปี ราคาของเขาไม่เปลี่ยนแปลงเลย
รวมทั้งรสอาหารด้วย ก้ามปูน่ากินนัก
จานเด็ดลำดับที่ ๒ คือ "กั้ง" ทอดกระเทียมพริกไทย กลิ่นหอมฟุ้งมาแต่ไกล
ทอดกระเทียมเก่งมาก หอม มีรส
กุ้งหอดเกลือ ทอดไปคนละแบบกับร้านกุ่ยหมงที่บางปลาม้า แต่ก็อร่อยคนละแบบเช่นกัน
สลัดกุ้งใหญ่ น้ำสลัดสีครีม กุ้งตัวโต ผักสดกรอบ รสหวามของผักชวนชิม
ปลาเก๋าจากปลาเป็น ๆ กลายมาเป็นปลาเก๋านึ่งซีอิ้ว ยกมาร้อน ๆ น้ำนึ่งมีแยะด้วย
ซดได้ชื่นใจนัก
ปูทะเลหลน จัดผักเต็มจาน มะเขือลูกน้อยที่เขาเรียกว่ามะเขือตอแหล กรอบนัก
เอามะเขือทั้งลูกวางบนข้าวแล้วราดด้วยปูหลน ส่งเข้าปากแล้วซดต้มยำตาม
ต้มยำกุ้งกับยอดมะพร้าว หรือเม็งมะพร้าว รสแซ็บ สังเกตอาหารร้านนี้รสแซ็บถึงใจทุกอย่าง
แต่ไม่ได้หมายถึงเผ็ดจัด ไม่เผ็ดหรือเผ็ดนิดเดียว
แต่สวยด้วยพริกที่โรยมาให้เห็น กลัวเผ็ดก็อย่าตักพริกไปเคี้ยว
ปิดท้ายด้วยกาแฟ ซึ่งร้านนี้มีกาแฟ คาปรูซิโน่ ลาเต้ บราซิล เอสเพรสโซ
ฯ ซึ่งก่อนลงเรือซดกาแฟไปรอบหนึ่งแล้ว บางคนสั่งลอดช่องน้ำกะทิรสหวานมัน
หรือบัวลอยน้ำขิง ไอศกรีมของเขาก็มีไม่ค่อยกล้าสั่ง กลัวโดนเสียดสีว่ากินเป็นแต่ไอศกรีมอย่างเดียว
----------------------------------
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|