เมืองสองแคว
เมืองสองแคว ในอดีตคือ จังหวัดพิษณุโลก ในปัจจุบัน การเดินทางไปพิษณุโลกในทุกวันนี้แสนสะดวก
ไปได้ทั้งทางเครื่องบิน ทางรถไฟ ทางรถยนต์ หรือใครนึกสนุกจะเหมาเรือทวนน้ำไปพิษณุโลกก็ย่อมทำได้
เพราะพิษณุโลกนั้น มีแม่น้ำสำคัญผ่ากลางเมืองคือ แม่น้ำน่าน และยังมีแม่น้ำยม
ไหลผ่านพิษณุโลกที่ อ.บางระกำ ก่อนเข้าสู่จังหวัดพิจิตร มีแม่น้ำแควน้อย ไหลผ่านที่ราบหุบเขาแควน้อยใน
อ.นครไทย ยังมีอีกคือ แม่น้ำวังทอง หรือลำน้ำเข็ก ไหลเลียบขนานไปทางใต้ของพิษณุโลก
- หล่มสัก
เมืองพิษณุโลก มีหลักฐานของการตั้งหลักแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย
เพราะพบโบราณสถานในวัดจุฬามณีคือ พระปรางค์ และพระวิหาร ที่สร้างจากศิลาแลง
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๗๐๐ ในสมัยลพบุรี เชื่อว่าเป็นชุมชนเล็ก
ๆ ของพวกขอมมาก่อน
ในสมัยสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงสร้างเมืองสองแควขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมหัวเมืองลุ่มแม่น้ำน่าน
และป่าสัก ระหว่างที่เสด็จมาประทับที่เมืองนี้ พระองค์ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปสำคัญขึ้นสามองค์คือ
พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
ในสมัยอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทัพเชียงใหม่มารุกราน และยึดเมืองได้หลายเมือง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยามาประทับที่เมืองสองแคว เพื่อบัญชาการศึกรบกับเชียงใหม่
(แผ่นดินพระเจ้าติโลกราช) เป็นเวลานานถึง ๑๘ ปี เมืองสองแควจึงมีฐานะเป็นเสมือนเมืองหลวงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
และประทับอยู่ที่เมืองสองแควนี้ จนสิ้นรัชกาลแม้ว่าจะตีหัวเมืองคืนได้หมดแล้วก็ตาม
พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าหงษาวดีบุเรงนอง ยกทัพพม่าตีเข้ามาทางเหนือ จนยึดได้เมืองสองแควแล้ว
รุกต่อมาจนตีได้กรุงศรีอยุธยา แล้วอภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสองแควขึ้นเป็นกษัตริย์
แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้โปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราชโอรสองค์ใหญ่
ขึ้นครองเมืองสองแควในฐานะเมืองลูกหลวง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก
นับตั้งแต่นั้นมา เป็นหัวเมืองชั้นเอกฝ่ายเหนือ คู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
หัวเมืองชั้นเอกฝ่ายใต้
เส้นทาง การเดินทางไปพิษณุโลก ทรงรถยนต์ไปได้หลายเส้นทางคือ
เส้นทางที่ ๑
เส้นทางนี้ใกล้ที่สุด ตรงไปพิษณุโลกเลยทีเดียวคือ เส้นทางที่ผ่านเข้ากลางเมืองนครสวรรค์
พอถึงสามแยกมีไฟสัญญาณ ก็เลี้ยวขวาเข้าสาย ๑๑๗ ไปอีก ๑๓๑ ม. รวมเป็นระยะทางจากกรุงเทพ
ฯ ประมาณ ๓๗๗ กม. และจะมีทางแยกขวาเข้า จ.พิจิตร ที่ อ.สามง่าม โดยแยกเข้าถนนสาย
๑๑๕
เส้นทางที่ ๒
วิ่งอ้อมไป ผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร พอถึง จ.ตาก เลี้ยวขวาไปผ่านสุโขทัย ได้เที่ยวสุโขทัยเมืองเก่าแล้ว
ต่อไปยังพิษณุโลก รวมระยะทางประมาณ ๕๖๖ กม. ผมเอามาเล่าให้ทราบ เพราะเป็นเส้นทางที่ไปพิษณุโลกเมื่อ
๔๐ ปี ที่แล้วไปเส้นนี้
เส้นทางที่ ๓
เส้นนี้ไม่สะดวก ถนน ๒ เลน รถบรรทุกวิ่งกันมากคือ ไปผ่านสิงห์บุรี เลยมาอีกนิดผ่านอินทร์บุรี
แล้วจะมีถนนแยกขวาไปผ่านตากฟ้า ไพศาลี สากเหล็ก (แยกซ้ายเข้าพิจิตร) วังทอง
บรรจบกับถนนสายจากหล่มสัก เลี้ยวซ้ายไปพิษณุโลก
หรือนึกสนุก ยังมีเส้นทางให้มาได้อีกคือ พอถึงสระบุรี เลยมาถึงพุแค แล้วเลี้ยวขวาวิ่งไปผ่าน
ชัยบาดาล ศรีเทพ วังชมภู เพชรบูรณ์ หล่มสัก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๑๒ ไปพิษณุโลก
จะผ่านแยกแคมป์สน ขึ้นเขาค้อ และแยกเข้านครไทยไปภูหินร่องกล้า
ผมไปคราวนี้ ไปพิจิตรก่อน เที่ยวพิจิตร กินข้าวกลางวันเสียมื้อหนึ่ง แล้วจึงไปต่อยังพิษณุโลก
โดยไปตามถนนที่มาจากนครสวรรค์ พอถึงทางแยกขวาเข้าทางเลี่ยงเมือง คงตรงต่อไป
(หากจะไปอุตรดิตถ์ แยกขวาตรงนี้) จนผ่านมหาวิทยาลัยนเรศวรไปแล้ว พบทางแยกขวา
ให้เลี้ยวขวาตรงไปจนข้ามแม่น้ำ พบสามแยกอีก หากเลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมือง ไปยังโรงแรมน่านเจ้าที่จะพักในคืนนี้
แต่ผมยังไม่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาก่อนเพื่อไปยัง วัดจุฬามณี
ไปตามเส้นทางนี้จะไปทางเดียวกับ ไปยังบางกระทุ่ม อำเภอนี้ดังในการทำกล้วยตาก
ถึงขั้นตากด้วยพลังแสงอาทิตย์กันแล้ว วัดนี้ที่เป็นหลักฐานว่า พิษณุโลกนั้นเกิดก่อนที่จะมีเมืองสุโขทัย
ในวัดยังมีโบราณสถานคือ วิหาร เจดีย์ราย มณฑป พระปรางค์ พระวิหารหลังเก่า
ศาลามีใบเสมา ส่วนพระอุโบสถที่สร้างใหม่นั้น ที่หน้าบันมีตราครุฑ
วัดราชบูรณะ
สันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย อยู่ริมแม่น้ำน่าน ใกล้ ๆ กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรด ฯ ให้บูรณะขึ้นใหม่ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร
มีอุโบสถที่เรียกว่า "แบบทรงโรง" ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง วัดที่อยู่ใกล้กันและเป็นวัดสำคัญอย่างยิ่ง
ที่ชาวพุทธและนักท่องเที่ยวแทบจะทุกศาสนาจะต้องไปที่วัดนี้คือ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
(วัดใหญ่) ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช
พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองของไทย มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย องค์พระพุทธรูปงดงามอย่างยิ่ง
ยากจะหาความงามของพระพุทธรูปองค์ใดเสมอเหมือน หากเป็นชาวพุทธเมื่อเข้าไปในพระอุโบสถแล้ว
จะเกิดความรู้สึกร่มเย็น ทั้ง ๆ ที่ภายในพระอุโบสถมีคนมาก ไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ
ผมเข้าไปทีไรนั่งอยู่ได้นาน ๆ เป็นวัดสมัยสุโขทัยที่เหลืออยู่เพียงวัดเดียว
ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม เรียกว่า อะแซหวุ่นกี้นักเผา ทำลายเมื่อตีได้พิษณุโลก
ก็ไม่ได้เผา ทำลายแต่ประการใด ความงดงามในพระอุโบสถนอกจากพระพุทธรูปแล้วก็คือ
จิตรกรรมฝาผนัง บานประตูประดับมุก มีพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีวิหารพระพุทธชินสีห์จำลอง
(องค์จริง อยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ) มีพระเหลือ
หรือพระเสสันตปฎิมา ในวิหารน้อยด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราช ต้นโพธิ์สามเส้า
อยู่หลังวิหารพระเหลือ เป็นต้นที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด มีกลองอินทเภรี
อยู่ด้านหน้าของพระวิหาร และที่ไม่ควรข้ามไปอีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
พิษณุโลก อยู่ในพระวิหารพระพุทธชินสีห์ แสดงโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้
ที่มีผู้นำมาถวายพระพุทธชินราช พระอัฎฐารส
ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ประทับยืน อยู่ด้านหลังพระปรางค์เป็นพระพุทธรูป ปางห้ามญาติ
สูงถึง ๑๘ ศอก สร้างในสมัยสุโขทัย
เมื่อผ่านเข้าประตูวัดทางด้านหน้า ด้านติดริมแม่น้ำน่านเข้ามาทางซ้ายมือคือ
ศาลาจำหน่ายวัตถุมงคล ทางขวาเดี๋ยวนี้กั้นเชือกไม่ให้รถส่วนบุคคลจอด เป็นที่จอดของรถบัส
และร้านค้าตรงนี้ก็ย้ายไปต่อแถวยาวเลยออกไปทางห้องสุขา สารพัดของกินของฝาก
สินค้าโอท๊อปของพิษณุโลก จะซื้อได้จากร้านค้าด้านติดกับกำแพงวัดแห่งนี้ เช่น
กล้วยตาก บางกระทุ่ม ไส้เมี่ยง เส้นหมี่ เมี่ยงคำ ที่ห่อเสียบไม้เอาไว้ กุนเชียง
ฯ เรียกว่า สารพัดของกิน ที่จะซื้อได้จากที่วัด ไม่ต้องไปตระเวนหาซื้อให้เสียเวลา
วัดนางพญา
หากออกทางประตูข้างของวัดพระศรี ฯ ข้ามถนนไปจะเป็นวัดสำคัญที่พบพระเครื่องที่วัดนี้
เรียกว่า พระนางพญา เป็นพระหนึ่งในเบญจภาคี ยอดนิยม
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน คนละฟากกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อผ่านเข้าไปจะเป็นโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
ซึ่งที่ตั้งของโรงเรียนคือ ที่ตั้งของพระราชวังจันทร์ ซึ่งเป็นวังที่สมเด็จพระนเรศวร
ทรงพระราชสมภพและประทับที่วังแห่งนี้ ได้สร้างโรงเรียนทับลงไปในพื้นที่ ที่เคยเป็นพระราชวังมาก่อน
แล้วสร้างศาลไว้ใกล้ ๆ กัน และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาเปิดศาลนี้
เมื่อ ๒๕ ม.ค.๒๕๐๕ แต่เมื่อ ๒ - ๓ ปี มานี้ได้พบฐานพระราชวัง และเพื่อเทิดทูนพระเกียรติที่ยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จึงทำการขุดค้น ยกพระราชวังจันทร์ขึ้นมาให้ปรากฎ และทางโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
ที่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดยินยอมให้รื้อถอนโรงเรียน และย้ายไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่
ที่รัฐบาลสร้างให้ ไม่ช้าคงได้เห็นภาพของพระราชวังจันทร์ ปรากฎให้เห็นในพื้นที่
๑๒๘ ไร่
อาหารการกินในพิษณุโลกนั้น มีมากมายเหลือเกิน จนคนมาเที่ยวสุโขทัยจะมานอนพักมากินกันที่พิษณุโลก
ย่านหลังสถานีรถไฟก็แยะ ย่านหอนาฬิกาก็มี ย่านริมแม่น้ำก็มาก ผักบุ้งผัดลอยฟ้าก็เกิดที่เมืองนี้คือ
ผัดผักบุ้งพอสุกดี ก็ให้อีกคนถือจานไปยืนรอรับที่ริมถนน คนผัดก็ตักผักบุ้งในกะทะโยนขึ้นไปในอากาศ
กะให้ตกลงจานของคนที่ยืนถือจานรอรับอยู่ เรียกว่า ไม่มีพลาด เดี๋ยวนี้ทำกันได้หลายร้านแล้ว
แต่ผมว่าความอร่อยสู้ผัดแล้วตักใส่จากไม่ได้ เพราะน้ำผัดไม่ได้เหาะตามผักบุ้งมาด้วย
อาหารเย็นวันที่ผมพักค้างที่โรงแรมน่านเจ้า ๐๕๕ ๒๔๔ ๗๐๒ ถนนบรมไตรโลกนาถ
โรงแรมนี้ตั้งมานานแล้ว ผมมาพักแทบทุกครั้งที่มานอนพิษณุโลก ชอบเพราะอาหารดี
ที่จอดรถสะดวก ราคาไม่แพง วันนี้ก็กินอาหารค่ำในโรงแรม แต่ประเภทเบา ๆ
มื้อเช้า ไม่ได้กินของโรงแรม เพราะอยากไปชิมอาหารมุสลิม ร้านที่เคยชิมกันมาก่อนคือ
ร้านฟาเคราห์ บอกเส้นทางค่อนข้างยาก ถามชาวเมืองน่าจะง่ายกว่า แต่ผมจะลองบอกชนิดอ้อมโลกเอาไว้
เส้นทางที่ ๑ หากมาตามถนนสายหล่มสัก ก่อนถึงตัวเมืองจะมีสี่แยกไฟสัญญาณ เลี้ยวขวาจะไปโรงแรมอมรินทร์
ลากูน และเลยต่อไปวัดโบราณอรัญญิกได้ สี่แยกนี้คือ สี่แยกสนามบิน หากเลี้ยวซ้ายตรงเรื่อยไปจะพบสามแยก
แยกซ้ายไปสนามบิน แยกขวาตรงมาสัก ๕๐๐ เมตร ร้านฟาเคราห์ อยู่ทางซ้ายมือ อีกเส้นทางคือ
ไปจากสถานีรถไฟ เลี้ยวขวาไปตามถนนเอกาทศรฐ ผ่านศูนย์อาหารกลางคืน ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาเข้าถนนพระองค์ดำ
ข้ามทางรถไฟ เลยสี่แยกน้อย ๆ ไป ร้านอยู่ทางขวามือ มีรถเข็นทำโรตี ตั้งอยู่หน้าร้าน
เข้าไปในร้านเหมือนเป็นชั้นลอย
ก่อนสั่ง ไปชมอาหารสำเร็จรูปในตู้กับข้าวของเขาเสียก่อน แล้วชี้เอามาชิม
สั่งแกงกะหรี่ไก่ ใส่ชามมา (หรือจะราดข้าวเป็นข้าวแกงก็ดี)
สั่งโรตี เอามาจิ้มแกง กะหรี่ไก่ หรือชอบใจแกงอื่นก็ไปชี้เอา สะอาดน่ากิน
มะตะบะ ทำมาร้อน ๆ มีอาจาดมาให้จิ้ม รสเหมือนแตงกวาดอง อมเปรี้ยว อมหวาน เอาอาจาด
ราดลงบนแผ่นมะตะบะ ให้ชุ่ม ตักเข้าปากจะชุ่มฉ่ำไปทั้งปาก
เนื้อหวาน สั่งมากินกับโรตี อร่อยไปอีกแบบ
จบแล้ว สั่งโรตีโรยนมข้น มากินเป็นของหวาน พร้อมด้วยกาแฟนมสด ร้อนน่าจิบ กลิ่นหอมกรุ่น
ชื่นใจ
...........................................
|