โลหะปราสาท
เท่าที่ทราบโลหะปราสาทมีในโลกนี้เพียง ๓ หลัง คือในอินเดีย ๒ หลัง (ไม่ทราบรายลละเอียดว่าอยู่ที่เมืองใด)
และในไทยอีก ๑ หลัง โลหะปราสาทที่อยู่ในเมืองไทยนั้น อยู่ในกรุงเทพ ฯ ภายในวัดราชนนัดดา
ซึ่งโลหะปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรเให้สร้างขึ้นแทนการสร้างพระเจดีย์เป็นโลหะปราสาทสามชั้น
มียอดทั้งหมด ๓๗ ยอด
ซึ่งหมายถึงโพธิปักขียธรรม ๓๗
ประการ ผมเองก็ผ่านไปผ่านมา รวมทั้งไปยืนชมอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ขึ้นไปสักทีและก็ไม่ทราบว่าจะอนุญาตให้ขึ้นไปได้หรือไม่
การก่อสร้างโลหะปราสาทของรัชกาลที่ ๓ นั้น สร้างได้เพียงพอเป็นรูปเป็นร่างก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน
พอรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทำบ้างหยุดบ้าง มาสำเร็จเร็จเรียบร้อยงดงามอย่างที่เห็นอยู่นี้ในรัชกาลที่
๙ นี้เอง
การเดินทางไปชมโลหะปราสาท
ถ้าคนอยู่ในกรุง ฯ ก็หาไม่ยาก แค่บอกว่าอยู่ทางซ้ายของสะพายผ่านฟ้าลีลาศก็ไปกันถูกแล้ว
แต่หากมาจากต่างจังหวัดคงต้องบอกว่า หากมาจากพระบรมรูปทรงม้า มุ่งหน้ามาตามถนนราชดำเนินนอก
(ถนนนี้ยาวจากสะพานผ่านฟ้าไปจนถึงพระราชวังดุสิต ๑,๔๗๕ เมตร) พอลงสะพานผ่านฟ้าหากเลี้ยวซ้ายก็จะไปยังสามยอด
หากเลี้ยวขวาก็มาบางลำภู แต่หากตรงมาคือถนนราชดำเนินกลาง ลงสะานทางซ้ายมือคือ
พระบรมรูปของรัชกาลที่ ๓ และหลังพระราชานุสาวรีย์คือวัดราชนัดดา มองเห็นโลหะปราสาทตระหง่านอยู่ติดกับพระอุโบสถงดงามยิ่งนัก
วัดราชนัดดานั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช
(บุนนาค) เสนาบดีกรมพระนครบาล สร้างพระอารามเพื่อพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ในรัชกาลที่ ๔)
เจ้าพระยายมราชเลือกได้ที่สวนผลไม้ริมกำแพงพระนครด้านตะวันออก และใกล้คลองรอบกรุง
การจะไปจะมาก็สะดวกจึงเลือกพื้นที่นี้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี
ไปในพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโลสถ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระองค์หญิง ฯ
วางอิฐก่อศิลาฤกษ์ เมื่อ ๑๗ สิงหาคม ๒๓๘๙ และต่อมาอีก ๓ เดือน ก็ให้พระองค์หญิงไปประกอบพิธียกช่อพระอุโบสถ
เมื่อเจ้าพระยายมราช ทำพื้นพระอุโบสถและก่ออิฐฐานชุกชีเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ฯ ให้ชักลากพระพุทธรูปจากพระมหาราชวังไปประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันที่
๔ ธันวาคม ๒๓๘๙
พระพุทธรูปองค์นี้มีพระนามว่า "พระเสฎฐตตมุนี"
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงจากตำบลจันทึก จังหวัดนครราชสีมา
(จังหวัดนี้พบแร่ทองแดงมาก) มีหน้าตักกว้าง ๗ ศอก ดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
จึงต้องอัญเชิญขึ้นบน "ตะเฆ่" (เป็นเครื่องลากเข็นของหนัก ๆ เป็นรถเตี้ย ๆ
มีล้อ ๔ล้อ) เมื่อประดิษฐานบนตะเฆ่แล้ว ผูกเชือกสำหรับชักลากสี่เส้น แล้วประกาศป่าวร้องให้ราษฎรมาช่วยกันชักลากจะได้รับบุญกุศล
ราษฎรจึงแห่กันมาช่วยชักลากเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยายมราชท่านขึ้นไปบัญชาการการชักลากอยู่บนตะเฆ่ที่องค์พระกับพนักงานตำรวจและทนายด้วยสองคน
ชักพระจากพระบรมมหาราชวังไปทางเสาชิงช้า (ถนนบำรุงเมือง) พอจะเลี้ยวออกถนนใหญ่เพื่อไปยังวัดราชนัดดา
ต้องหยุดเพื่อคัดตะเฆ่ให้เลี้ยวออกให้พ้นคูน้ำ เจ้าพระยายมราชจึงลงมาจากตะเฆ่
เพื่อบัญชาการ พอรถตะเฆ่ออกมาถึงถนนใหญ่ได้แล้ว แต่เจ้าพระยายมราชยังยืนดูผูกเชือกอยู่
พวกราษฎรที่มาช่วยกันชักลากเห็นรถพระยายมราชออกถนนได้แล้วและได้ยินเสียงประโคมม้าล่อ
ก็สำคัญว่าให้ลากจึงลากขึ้นพร้อมกัน ตะเฆ่ก็วิ่งไปโดยเร็ว เจ้าพระยายมราชขณะนั้นท่านมีอายุ
๗๐ เศษ ไม่มีความว่องไวกระโดดกลับขึ้นตะเฆ่ก็ไม่มัน พอได้ยินเสียงราษฎรโห่ร้องก็จะโดดหลบออกข้างถนน
แต่สะดุดล้มลงพอดีตะเฆ่มาถึงตัว ตะเฆ่ทับขาขาดข้างหนึ่งเสียชีวิตในที่นั้น
จึงเรียกกันต่อมาว่า " บุนนาคตะเฆ่ทับ"
สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
เป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุงซึ่งแต่เดิมที่ตรงนี้เป็นสะพานไม้ "ตามาญโญ" (TAMAGNO)
นายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนได้บันทึกถึงสะพานนี้ไว้ว่า "สะพานเก่าพังหมดแล้ว
ต้องเร่งซ่อมให้ทันรับเสด็จกลับจากยุโรป" การเสด็จกลับจากยุโรปหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับจากยุโรป
ซึ่งเสด็จประพาสยุโรปและเสด็จกลับมาถึงท่าราชวรดิษฐเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ ของวันที่
๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๐ รายละเอียดต้องหาอ่านจากจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้านซึ่งได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อรถพระที่นั่ง ถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หยุดประทับรถพระที่นั่งบนสะพาน มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้า
ฯ สั่งให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการเปิดสะพานนั้น (น่าจะมีการเตรียมการมาก่อนแล้ว)
สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทอดข้ามคลองที่ชื่อที่ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง"
คลองนี้เป็นคลองคูเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยาวประมาณ ๘๕ เส้น ๑๓ วา
ปากคลองออกแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง ๒ ด้าน คือ ด้านเหนือที่บริเวณวัดสังเวชดิศติยาราม
ด้านใต้บริเวณวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรด ฯ ให้ขุดคลองนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕
เมื่อครั้งสถาปนากรุงเทพ ฯ เป็นราชพานี ทั้งนี้มีพระประสงค์ทีจะขยายเขตเมืองให้กว้างขวาง
โดยให้แนวคลองที่ขุดใหม่นี้ขนานกับแนวคลองคูเมืองเดิมที่ขุดไว้ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช
ซึ่งตามแนวคูเมืองใหม่นี้โปรดให้สร้างกำแพงเมืองห่างจากตลิ่งประมาณ ๑ เส้น
(๔๐ เมตร) มีป้อมปืนตลอดแนวกำแพงเมืองทั้งด้านคลองคูเมืองและด้านแม่น้ำเจ้าพระยา
จำนวน ๑๔ ป้อม โปรดพระราชทานนามป้อมเพื่อความเป็นสิริมงคลและน่าเกรงขามคือ
ป้อมพระสุเมรุ ป้อมยุคนธร ป้อมหาปราบ ป้อมมหากาฬ ป้อมหมูทลวง ป้อมมหาฤกษ์
ป้อมมหายักษ์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ และป้อมอิสินทร แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง
๒ ป้อมคือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ
ไม่ทราบผู้บริหารจอมโง่เง่าคนใดที่สั่งให้รื้อโบราณสถานเหล่านี้เสีย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยรับสั่งไว้ว่า " แม้แต่อิฐแผ่นเดียว ยังมีค่า..."
แต่นี่ป้อมตั้ง ๑๒ ป้อม รื้อทิ้งหมด อายุของผมก็ใกล้ร้อยเข้าไปแล้วดูเหมือนจะทันเห็น
๒ ป้อมเท่านั้นคือ ป้อมพระสุเมรุ ที่ถนนพระอาทิตย์บางลำภู กับป้อมมหากาฬที่ตรงผ่านฟ้านี่แหละ
คลองคูเมืองนี้เมื่อขุดแล้วทำให้เกิดเป็นทางน้ำรอบกรุง จึงเรียกชื่อคลองตามลักษณะดังกล่าวว่า
"คลองรอบกรุง" แต่ประชาชนเลือกเรียกชื่อคลองหรือตั้งชื่อคลองให้เป็นตอน ๆ
เช่น ตอนต้นคลองใกล้วัดสังเวช เรียกว่า คลองบางลำภู
ตำบลบางลำภู
(ใกล้ตำบลที่ผมเกิดคือตำบลบางขุนพรหม) เมื่อผ่านสะพานหัน เรียกว่า คลองสะพานหัน
พอไปผ่านวัดเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุขวรวิหาร) เรียกว่า คลองวัดเชิงเลน
และช่วงสุดท้ายเรียกว่า คลองโอ่งอ่าง
เพราะเคยเป็นแหล่งขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา
ปั้นด้วยฝีมือชาวมอญ และชาวจีน พึ่งมาเปลี่ยนชื่อกันเป็นทางการในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
สองร้อยปี เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ นี้เอง
เมื่อกล่าวถึงคลองสะพานหันก็เลยขอเล่าถึงสะพานหันเอาไว้ด้วย เพราะเสียดายจริง
ๆ ที่สะพานหัน ในปัจจุบันมีอยุ่ในย่านพาหุรัดหรือเป็นปากทางเข้าสู่สำเพ็งนั้นไม่มีร่องรอยเหลือของเดิมให้เห็นอีกแล้ว
ผมค้นหาภาพเก่า ๆ ก็หาไม่ได้ มีแต่ภาพตามหนังสือหลายเล่ม สะพานหันเป็นสะพานที่มีหลังคาคลุมและข้ามคลองสะพานหันหรือคลองรอบกรุง
มีหลังคาและกั้นให้ขายของได้ ทราบว่าตอนสร้างนั้นรัชกาลที่ ๕ ทรงจำแบบมาจากสะพานริยาลโต
(RIALTO) หรือริอัลโต ของเมืองเวนิส สะพานริยาลโตนั้นเรารู้จักชื่อกันจากบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่
๖ เรื่องเวนิสวานิส ซึ่งอ่านแล้วทำให้เกลียดยิวที่ชื่อ ไชล๊อค จนใครเค็มกระดูกขัดมันเราเลยเรียกอ้ายนี่
"ยิว" ซึ่งมีความเป็นมาจากอิทธิพลของหนังสือบทละครเวนิสวานิส ไม่ทราบว่าเด็กสมัยนี้ยังเรียนอยู่หรือเปล่า
สมัยผมเรียนในชั้นมัธยมปีที่ ๖ หรือ ม.๔ ในสมัยนี้ หนังสือเล่มนี้ทำให้คนไทยรู้จักคำว่า
ยิว ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเมืองเวนิส เพราะเช็คเปียร์นำเมืองเวนิสมาเป็นฉากในละครเรื่องนี้
เมืองเวนิสนั้นเป็นเมืองบนเกาะ ไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่งประกอบไปด้วยเกาะถึง
๑๑๘ เกาะ มีคลอง ๑๖๐ คลอง และมีสะพานข้ามคลองมากถึง ๔๐๐ สะพาน กรุงเทพ ฯ นั้นได้ชื่อว่าเคยเป็นเมืองเวนิสตะวันออกในอดีตแต่มีทั้งเรือ
และรถสัญจรในกรุง แต่ปัจจุบันถมคลองกลายเป็นถนนไปเกือบทั้งเมืองแล้ว และมีถนนให้รถวิ่งแต่เวนิสนั้นไม่มี
ผมเคยขับรถจากกรุงโรมเมืองหลวงของอิตาลี ไปจนถึงเวนิส แล้วเอารถฝากเขาไว้
ลงเรือไปเวนิสสนุกอย่าบอกใคร ได้ผจญหภัยตื่นเต้นเซ่อซ่าไปตลอดทาง และไปกันแค่
๒ คนเท่านั้น เดินข้ามคลองกันสนุกและได้ไปเดินซื้อของ ดูสินค้าบนตลาดที่อยู่บนสะพานริยาลโต
สะพานนี้ในปัจจุบันยังดีอยู่ แต่สะพานหันของไทยหายไปแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพ
ฯ ท่านใหม่ใครไม่ทราบ ไม่ลองคิดหาทางสร้างสะพานหันแบบเดิมเอาไว้ให้ลูกหลานดูบ้างหรือ
ไปเวนิสสมัยนั้นไปนั่งที่ลานกว้างริมคลอง ยามเย็นสั่งเครื่องดื่มมาดื่มแถมยังมีหนุ่มมาสีไวโอลินให้ฟังตามโต๊ะเสียอีก
จะไปไหนก็ลงเรือไปและจะให้เก๋ก็ต้องได้ลงสักครั้งคือ ลงเรือคอนโดลา ให้พ่อหนุ่มแจวเรือแถมร้องเพลงพาเที่ยวไปตามลำคลอง
หากยืนหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓
ซึ่งด้านหลังคือ โลหะปราสาท หากมองไปทางซ้ายจะมองเห็นป้อมมหากาฬ ถ้ามองข้ามป้อมมหากาฬไปอีกฝั่งคลอง
ก็จะเห็นภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ในวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
วัดนี้เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
การสร้างภูเขาทองนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
(ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองสร้าง และพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า "พระเจดีย์ภูเขาทอง"
แต่การก่อสร้างยังทำไม่สำเร็จเพราะฐานไม่แน่นพอ พื้นที่ที่สร้างนั้นอยู่ใกล้ชายคลองเป็นที่ลุ่ม
เมื่อฐานไม่แน่นพอจึงทรุดลงมาเรื่อย ๆ ผลที่สุดทำได้แค่ก่อฐานอิฐ ครั้นนานเข้าเลยกลายเป็นภูเขาหญ้าเพราะขึ้นเต็มจนมองดูแล้วเหมือนภูเขาหญ้ามากกว่าเป็นพระเจดีย์
แต่ชาวบ้านในยุคนั้นก็เรียกว่า ภูเขาทอง
พอถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า
ฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
ซึ่งเคยเป็นแม่กองสร้างมาแล้วเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่กองสร้างภูเขาทองขึ้นใหม่
โดยมีพระยาราชสงครามเป็นนายช่าง
การก่อสร้างครั้งนี้ได้แปลงเจดีย์องค์เดิมให้เป็นภูเขา ครั้นถึงเดือน ๖ ปีฉลู
พ.ศ.๒๔๐๗ รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์ให้เปลี่ยนชื่อภูเขาทองเป็น "บรมบรรพต"
ตามชื่อพระเมรุบรมบรรพตที่ท้องสนามหลวง การก่อสร้างได้ทำมาตลอดรัชสมัยของรัชาลที่
๔
ภูเขาทองที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีฐานโดยรอบ ๘ เส้น ๒๐ วา สูง ๑ เส้น ๑๘
วา ๒ ศอก มีพระเจดีย์อยู่บนยอดเขา มีบีนไดเวียนขึ้นลงรองภูเขา ๒ ทาง บันไดขึ้นทางทิศใต้มี
๓๗๕ ขั้น บันไดลงทางทิศเหนือมี ๓๐๔ ขั้น และยังมีบันไดตรงทางด้านใต้ของภูเขาอีกด้านหนึ่ง
การก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ พอสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้า
ฯ ให้ทำการก่อสร้างภูเขาทองที่ยังค้างอยู่จนสำเร็จ แล้วโปรดเกล้าอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระบรมมหาราชวัง
แห่มาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง และได้เสด็จไปบรรจุด้วยพระองค์เอง
เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐
เมื่อ พ.ศ.๒๒๔๒ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
กรมขุนนครราชสีมา ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจดีย์ภูเขาทองอีกครั้งหนึ่ง
เป็นครั้งที่ ๒ พระบรมสารีริกธาตุที่นำไปบรรจุในครั้งนี้ขุดพบที่เมืองกบิลพัศดุ์
ประเทศอินเดีย ที่ผอบที่บรรจุนั้นมีอักษรโบราณจารึกไว้ว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์
ผู้ชำนาญทางโบราณคดีทั้งหลายไม่ว่าแขกหรือฝรั่งลงความเห็นว่าแท้แน่นอน รัฐบาลอินเดียก็ดีใจหายที่พิจารณาว่า
ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และมีพระมหากษัตริย์นับถือพระพุทธศาสนา
และ "เป็นประเทศเอกราช" รัฐบาลอินเดียจึงได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบในครั้งนี้
มาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑
ส่วนพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ที่ประดิษฐานอยู่นั้น รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า
ฯ ให้ถวายเอาไว้เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา ในคราวมีงานกลางเดือน ๑๒ ซึ่งกลายเป็นประเพณีที่จะมีงานภูเขาทองสืบมาจนทุกวันนี้
หากย้อนไปในสมัยผมเด็ก ๆ นั้น งานภูเขาทองเป็นงานยิ่งใหญ่พอรู้ว่าจะได้ไปเที่ยวเป็นตื่นเต้นกันยกใหญ่
พอ ๆ กับงานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานฤดูหนาว ไปเล่าให้เด็กสมัยนี้ฟังหัวร่อกันตัวงอ
สงสัยว่าเอาเรื่องอะไรมาเล่าไปเที่ยวงานต้องใส่เสื้อหนาว บริเวณงานอยู่แถว
ๆ ลานพระบรมรูปหรือที่จัดงานกาชาดในวันนี้
ภูเขาทองนั้นมีการซ่อมแซมอีกหลายครั้ง และต้องมีการฉาบปูนจนไม่เป็นภูเขาต้นไม้
เพราะไม่เช่นนั้นจะพังลงมา
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ได้ซ่อมแซมแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘
ครั้งสุดท้ายได้ซ่อมแซม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ คราวนี้ได้บุพระเจดีย์บนยอดภูเขาทองด้วยกระเบื้องโมเสสสีทองเหลืองอร่าม
บัดนี้จึงมีพระเจดีย์เอง สมนามว่า ภูเขาทอง และจะยืนมองเห็นความงามสง่าได้จากลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่
๓
ร้านนี้ที่ผมกำลังจะพาไปชิม จะอยู่ที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ควรสั่งอาหารกุ้ง
กระทงทอง กินเล่นสั่งมาเคี้ยวเสียก่อน ไส้เป็นไก่สับผัดกับมันฝรั่ง รสเข้มอร่อยทีเดียว
กุ้งนางสามรส จานนี้อย่าโดดข้ามไป เอากุ้งมาทอด สีแดงสดสวย ราดด้วยน้ำซ๊อส
๓ รส สีแดงเข้ม มีฟักทองสลักเป็นดอกไม้วางประดับกับกล่ำปลีหั่นฝอย และแตงกวา
๓ รสเข้ม เด็ดจริงๆ
ปลากระพงนึ่งซีอิ้ว ปลาตัวโต ใส่มาในกะทะร้อน มีน้ำซุปมาไว้ให้เติม ซดก็ได้
กลิ่นหอมกรุ่น ควันโขมง โต๊ะที่มาทีหลังนั่งข้าง ๆ ขออนุญาตสั่งอย่างโต๊ะนี้
๑ จาน
ห่อหมกเนื้อปู ใส่เนื้อปู จานนี้อร่อยเกินบรรยาย
กุ้งนางยำตะไคร้ กุ้งนางทอด น้ำยำราด ตะไตร้ซอย หัวหอม กุ้งแห้งทอดโรยมาเคี้ยวสนุก
เป็ดอบทรงเครื่อง เป็ดอบสับมาเป็นชิ้น หน้าแฮม มีข้าวโพดอ่อน ไข่นกกะทา เห็ดหอม
กุ้งอีกที กุ้งชุบแป้งทอด หลานอยากกิน จิ้มน้ำบ็วย ปิดท้ายด้วยข้าวผัดปู
ของหวาน โอนีแป๊ก๊วย ข้าวเหนียวนึ่งเหนียวหนึบกับเผือก ใส่แป๊ะก็วย
.................................................................
|