เกาะยอ
ผมพาไปเที่ยวหาดใหญ่ (วันนี้) มาแล้ว ที่ต้องมีคำว่าวันนี้พ่วงท้ายได้ด้วย
เพราะจากเหตุการณ์ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม
๒๕๔๗ และไม่ทราบว่าวันที่ผมเขียนอยู่นี้ (ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๔๗) เหตุการณ์จะสงบเรียบร้อยแล้วหรือยัง
แต่ถึงเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ยังนิยมไปเที่ยวหาดใหญ่
ไปเที่ยวสงขลากันอยู่ นักท่องเที่ยวจากมาเลย์เซียลดลงไปบ้าง รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ด้วย
แต่ก็ลดไม่มากจนถึงทำให้เศรษฐกิจพัง
ไปหาดใหญ่แล้ว ผมอยากให้เลยไปเที่ยวสงขลาและไปเที่ยวเกาะยอด้วย ซึ่งเกาะยอนั้น
ไปสะดวกสบายมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ เส้นทางหลวงแผ่นดินที่มาจากระโนด
คือ สายระโนด
- เขาแดง จนมาข้ามทะเลยังเกาะยอ ข้ามทะเลอีกทีก็มาเชื่อมกับถนนสายสงขลา
- หาดใหญ่ เส้นนี้ยาวรวม ๒,๖๔๐ เมตร เป็นสะพานที่ยาวที่สุดที่ข้ามทะเลสาบ
ทำให้ร่นระยะทางที่จะเดินทางจากนครศรีธรรมราช มายังหาดใหญ่ สงขลา และไม่ต้องข้ามเรือเฟอร์รี่
ซึ่งเมื่อก่อนนี้มีเพียง ๔ ลำ เข้าคิวกันยาวเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ก็ยังมีเรือเฟอร์รี่ให้ข้ามฟาก
ที่ฝั่งเขาแดงเปิดบริการอยู่
ใครนึกสนุกเอารถลงเรือ หรือเที่ยวในตัวเมืองสงขลาแล้ว จะไปต่อยังนครศรีธรรมราช
ก็เอารถลงเรือข้ามไปฝั่งเขาแดงได้เลย ไม่ต้องย้อนมาข้ามสะพานติณสูลานนท์
สะพานข้ามเกาะยอ
ก่อนจะเล่าเรื่องเกาะยอ และชิมอาหารริมฝั่งทะเลสาบที่เกาะยอ ผมอยากจะขอเล่าถึง
"เขาตังกวน" เสียก่อน
เพราะมีสิ่งใหม่ให้ขึ้นไปชม ไปนมัสการ คือ องค์พระเจดีย์หลวง
เขาตังกวน อยู่ในเขตอำเภอเมืองสงขลา หากไปจากหาดใหญ่ ต้องวิ่งเลยทางแยกซ้ายที่จะข้ามไปเกาะยอ
ตรงเข้าเมืองไปก่อน ผมไปเขาตังกวนก่อนแล้วจึงกลับมาเที่ยว มากินที่เกาะยอ
เขาตังกวน อยู่ใกล้เขาน้อย
ใกล้แหลมสมิหรา
ไม่มีถนนขึ้นไปยังยอดเขา มีแต่ทางเดินขึ้นบันได ที่ค่อนข้างสูงชัน แต่ขึ้นไปแล้วจะคุ้มค่าหายเหนื่อย
แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเหนื่อยแล้ว พอไปถึงเชิงเขามีที่จอดรถสะดวก ก็เดินไปขึ้นเคเบิลคาร์
คนละ ๒๐ บาท ตรงห้องทางขึ้นมีร้านขายของที่ระลึก
ราคาไม่แพงนัก ขึ้นไปแล้วไปชมอะไร ขึ้นไปหากเป็นชาวพุทธก็ซื้อธูปเทียนเสียก่อน
แล้วเดินวนไปทางขวา ทักษิณาวัตรเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เริ่มตั้งแต่ พระสยามเทวาธิราช
พระพรหมสี่หน้า หลวงปู่ทวด พระปรมาจารย์ทองเฒ่า และตาหลวงเปรม (ไม่ใช่ พล.อ.เปรม
ฯ ) พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ และที่ตระหง่านบนยอดเขาที่สูง ๑๐๕ เมตร นี้คือ
พระเจดีย์หลวง
ซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่ทรงระฆังแบบลังกา เป็นสถาปัตยกรรมสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ ในเดือนตุลาคม ของทุกปี จะมีงานประเพณี
ห่มผ้าพระเจดีย์ ตักบาตรเทโว และลากพระ
พลับพลาที่ประทับ
หากเดินลงบันไดไปข้างล่างสัก ๕๐ เมตร (สำคัญตอนขึ้น) จะมีพลับพลาที่ประทับของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผมไปขึ้นเขาตังกวนแล้ว ก็ย้อนกลับมายังเกาะยอเลย
ไม่ได้เที่ยวต่อที่ในเมืองสงขลา แต่หากมีเวลาลองไปวนรถแถว ๆ ถนนนางงาม
ถนนนครนอก และถนนนครใน เพื่อชมบ้านเรือนสมัยเก่าแก่
และแวะชิมอาหารอร่อย แต่หากแวะชิมย่านนี้รับรองว่าอิ่มกลับไป ไม่ได้ไปชิมที่เกาะยอตามผมแน่
อร่อย ถูก คือ ย่านถนนนางงาม
ทีนี้กับมาเกาะยอ โดยย้อนมาทางจะมาหาดใหญ่ จนถึงสี่แยกก็เลี้ยวขวา เพื่อจะไปข้ามสะพาน
ถนนปิดไว้ครึ่งหนึ่ง (ตอนนี้ไม่ทราบว่าเปิดแล้วหรือยัง ) เพราะกำลังปรับปรุง
สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ฯ
พอข้ามสะพานไปแล้วก็ขึ้นฝั่งเกาะยอ ซึ่งเกาะนี้มีพื้นที่ทั้งเกาะประมาณ ๑๕
ตารางกิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาขนาดย่อม ๆ กระจายกันอยู่ทั่วไป
ยอดเขาที่สูงที่สุดชื่อ ยอดเขากุฎิ ด้านทิศใต้ของเกาะ เป็นแหล่งเพาะปลูกสวนผลไม้
บนเกาะมีทิวทัศน์งดงามมาก มองเห็นทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
เกาะยอมีอะไรบ้างที่มีค่าควรแก่การไปเที่ยวไปกิน
เมื่อข้ามสะพานจากฝั่งสงขลา พอลงสะพานไปนิดหนึ่ง หากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าไปยัง
วัดพระนอนแหลมพ้อ
มีพระนอนปางปรินิพพาน "พระสมเด็จเจ้าเกาะยอ"
แต่น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างใม่ วัดอยู่ริมทะเลสาบ แต่มีอุโบสถเก่า สร้างไว้นานน่าจะเกินสองร้อยปีมาแล้ว
วัดพระนอนแหลมพ้อ
ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา วัดนี้มีงานประติมากรรมที่มีคุณค่า
เป็นส่วนตกแต่งที่อุโบสถ ใบเสมา หอระฆัง เจดีย์ โดยเฉพาะที่อุโบสถมีประติมากรรมปูนปั้นรูปเทพพนม
อยู่กลางสายพันธุ์พฤกษา เหนือช่องกรอบประตูหน้าต่าง จั่วหน้าบันด้านหน้าเป็นลายปูนปั้น
พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จั่วหน้าบันด้านหน้าเป็นลายปูนปั้น รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
โบสถ์ หอระฆัง และเจดีย์ ของวัดแหลมพ้อ ถือว่าเป็นการสร้างตามพระราชนิยมในรัชกาลที่
๓ ซึ่งจะไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เป็นการสร้างตามแบบแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยช่างพื้นเมืองภาคใต้ในยุคนั้น
จึงมีความงาม ความวิจิตร ที่มีคุณค่าควรแก่การชื่นชม ศึกษา และอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติตลอดไป
วัดท้ายยอ
เป็นวัดเก่าแก่อายุนับร้อยปี ตั้งอยุ่ชายฝั่งทะเลสาบสงขลา มีทิวทัศน์งดงาม
นักท่องเที่ยวมาวัดพระนอนแหลมพ้อแล้ว ก็มักจะเลยมายังวัดท้ายยอด้วย เพราะเข้าเส้นทางเดียวกัน
ตั้งอยู่ฝั่งทะเลสาบสงขลา นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเพื่อชมเรือนปั้นหยาโบราณ
อายุ ๒๐๐ ปี วัดนี้เป็นวัดธรรมยุติ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๑ ในสมัยกรุงธนบุรี
เดิมชื่อ วัดดาวดี
แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดเกาะ
ต่อมากลายเป็นวัดท้ายยอ ที่ตั้งของวัดคือ บ้านท้ายเกาะ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา
ไปเส้นทางเดียวกับจะไปวัดพระนอนแหลมพ้อ ก่อนถึงวัดพระนอน เลี้ยวขวา และถึงท้ายโรงเรียนวัดท้ายยอ
ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก ๕๐๐ เมตร เลี้ยวขวาอีกที
เป็นวัดเก่าแก่ ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่น มีกุฎิเรือนไทยอายุกว่า
๒๐๐ ปี หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาของเกาะยอ ตัวเสาเป็นไม้ตั้งบนฐานปูน
"ไม่ฝังลงดิน" แบบโบราณแท้ ด้านหลังกุฎิมีบ่อน้ำโบราณ รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ใช้เป็นที่เลี้ยงปลา
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร จะเที่ยวทะเลสาบ ชมวิถีชีวิตชาวเกาะยอ ค่าบริการคนละ
๑๓๐ บาท ติดต่อได้ที่สำนักงาน อบต.เกาะยอ โทร ๐ ๗๔๔๕ ๐๔๓๓ ชาวบ้านอาศัยอยู่บนเกาะ
มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการประมงในทะเลสาบ การทำสวนผลไม้ที่เรียกว่า "สวนสมรม"
ซึ่งจะมีผลไม้หลายชนิด และออกผลหมุนเวียนกันตลอดปี เช่น เงาะ ทุเรียน ลางสาด
กระท้อน ละมุด และขนุน ที่เรียกว่า จำปาดะ
เป็นผลไม้ที่ลือชื่อทั้งหอมและหวานจัด สวนสมรมนี้ในฤดูของไม้ผลไม่ว่าชนิดใด
ชาวสวนจะนำผลผลิตออกมาวางจำหน่ายริมทาง
บ้านไม้เก่าแก่ จะเห็นบ้านไม้เก่ยังอยู่ทั่วไป บางหลังทำจากกระเบื้องเกาะยอ
ซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผา ทำจากดินโคลนในทะเลสาบสงขลา ในอดีตกระเบื้องเกาะยอมีชื่อเสียงมาก
ส่งออกจำหน่ายทั่วภาคใต้
กระชังเลี้ยงปลากะพงขาว
เกาะยอได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปลากะพงขาว ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
เพราะระบบนิเวศน์เหมาะแก่การเติบโตของปลา ปลากะพงขาวเป็นปลาสองน้ำ แต่จะวางไข่ในน้ำเค็มแล้ว
มาเติบโตในน้ำจืด ทะเลสาบสงขลานั้นเป็นทะเลสาบสองน้ำ เพราะจะเป็นน้ำเค็ม ๗
เดือน น้ำจืด ๕ เดือน จึงเหมาะกับการเติบโตของปลากะพงขาว ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงถึงขึ้นจับได้ก็ประมาณ
๒ ปี จะได้น้ำหนักตั้งแต่ตัวละ ๒ - ๕ กิโลกรัม
แหล่งทอผ้าเกาะยอ
แหล่งทอผ้าแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งคือ เกาะยอสืบทอดฝีมือกันมาตั้งแต่โบราณ มีทั้งการทออยู่กับบ้านจะเห็นได้ทั่วไป
และรวมตัวกันทอเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มราชวัตรแสงส่องหล้าที่ ๑ ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนวัดแหลมพ้อ
ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาชาวบ้านเกาะยอ จะทอผ้าใช้เอง ทำเองหมด ปลูกฝ้ายเอง
สีที่ใช้ย้อมฝ้ายก็เป็นสีธรรมชาติ มีการทอผ้าเป็นลายยกดอก เรียกว่า ลายก้านแย่ง
ต่อมาเจ้าเมืองสงขลาได้นำผ้าเกาะยอที่ชนะการประกวดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองสงขลา พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมาก และได้พระราชทานนามลวดลายนั้นว่า
ลายราชวัตร ๒๔๗๕
แต่การทอในปัจจุบัน เปลี่ยนวัสดุจากใยฝ้ายมาเป็นโพลีเอสเตอร์ มีลวดลายมากถึง
๘๐ ลาย ลายที่นิยมกันมากมีประมาณ ๓๐ ลาย เช่น ลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ฯ และยังมีการทออย่างประณีต
ราคาก็ประณีตตามไปด้วย เรียกว่า "ตะกอ" มีตั้งแต่การทอแบบสี่ตะกอ หกตะกอ
แปดตะกอ ตะกอยิ่งมาก ลวดลายจะละเอียดซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งราคาก็เพิ่มมากขึ้นตามจำนวน
"ตะกอ"
ล่องเรือเที่ยวทะเลสาบสงขลา อบต.เกาะยอ จัดนำเที่ยว เป็นเรือหางยาวจุได้ ๕
- ๖ คน จะได้ชมสถานที่สำคัญตามริมฝั่งทะเล การเลี้ยงปลาในกระชัง และมีวิทยากรบรรยายให้ความรู้
แหล่งท่องเที่ยวแหล่งสุดท้ายบนเกาะยอ หาเวลาไปให้ได้ และควรจะมีกำลังขาดี
ๆ เพราะสถานที่ปลูกลดหลั่นไปตามไหล่เขา สวยมาก แหล่งนี้คือ สถาบันทักษิณคดีศึกษา
บ้านอ่างทราย ใกล้สะพานติณสูลานนท์ ลงจากสะพานติณสูลานนท์แล้วตรงผ่านทางแยกเข้าวัดแหลมพ้อ
ไปอีกหน่อยจะแยกซ้ายไปนิดหนึ่ง ประตูเข้าอยู่ทางซ้ายมือ อยู่ตรงข้ามสถานที่พักริมทางรัชมังคลาภิเษก
แหล่งพักผ่อนริมทะเล
เปิดทุกวันตั้งแต่ ๐๘.๓๐ - ๑๗.๐๐ ค่าเข้าชม คนละ ๒๐ บาท มีบริการที่พักและห้องประชุมสัมมนา
ติดต่อล่วงหน้า มหาวิทยาลัยทักษิณ ๐ ๗๔๓๓ ๑๑๘๔ - ๙
อาคารตั้งอยู่บนเขาบนเกาะยอ มีพื้นที่กว้างขวางมากอยู่ริมทะเลสาบ อาคารสถาบันสร้างลดหลั่นไปตามไหล่เขา
แต่ละอาคารจะมีการจัดการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ ตลอดจนปรัชญาความคิด
ความเชื่อต่าง ๆ สถาบันแห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงสถาบันทางวิชาการเท่านั้น หากยังเป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้
สถาบันแห่งนี้ได้ย้ายมาอยู่ที่เกาะยอ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐
สิ่งที่น่าสนใจคือ
พิพิธภัณฑ์ถติชนวิทยา
เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน
มีจำนวนนับหมื่นชิ้น จัดแสดงในห้องต่าง ๆ มากกว่า ๓๐ ห้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการชม
ควรได้เข้าไปยังห้องบรรยายสรุปเสียก่อน ที่จะไปชมห้องต่าง ๆ ที่จัดอยู่ในอาคารแบบต่าง
ๆ ได้แก่ กลุ่มอาคารหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคาบลานอ ซึ่งเป็นอาคารที่เป็นเอกลักษณ์
พบเห็นเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น แต่ละกลุ่มอาคารจัดแสดงไว้ ดังนี้
กลุ่มอาคารหลังคาจั่ว
จัดแสดงอุปกรณ์การผลิตและเครื่องปั้นดินเผา จากแหล่งต่าง ๆ ของภาคใต้ เช่น
เตาเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากถ้ำต้นเหรียง จังหวัดกระบี่ สทิงหม้อ เกาะยอ
แผนที่เส้นทางเดินเรือ
ห้องลูกปัด
จัดแสดงลูกปัดโบราณอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี ที่พบในหลายจังหวัดภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช
สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา ระนอง กระบี่ โดยมีแผนที่แสดงบริเวณที่พบลูกปัด
ห้องศิลปกรรมพื้นบ้าน
จัดแสดงหัตถกรรมพื้นบ้านภาคใต้ ทั้งการทำเสื่อกระจูด การจักสาน ข้าวของเครื่องใช้จากลิเภา
ไม้ไผ่ งานเครื่องมุก การแกะหนังตะลุง
ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์
จัดแสดงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสงขลา
กับชนชาติต่าง ๆ เช่น จีน อินเดีย มลายู ชาติตะวันตก อีกทั้งยังบอกเล่าถึงความเป็นมาของอาณาจักรต่าง
ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ ได้แก่ อาณาจักรตามพรลิงค์
อาณาจักรลังกา สุกะ (คือ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
เป็นดินแดนพระพุทธศาสนาเดิม ยังมีหลักฐานปรากฎอยู่) อาณาจักรศรีวิชัย
รวมทั้งกลุ่มชนอื่น ๆ ในภาคใต้ เช่น เงาะป่าซาโก ชาวเล โดยมีภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้มาแสดงให้ชม
ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว คนทางใต้เรียกว่า เหล็กขูด มีเอกลักษณ์พิเศษ
ทำเป็นรูปต่าง ๆ ทางกามรมณ์ก็มี เช่น สัตว์กำลังผสมพันธุ์ หรือเป็นตัวช้าง
และเสือ แปลกดี
ห้องมีดและศัตราวุธ จัดแสดงมีด และอาวธุต่าง ๆ เช่น กริช ขวาน หอก มีดหางไก่
มีดชายธง มีดครก มีดเสือซ่อนเล็บ รวมทั้งขวานหิน และขวานฟ้า
ห้องอาชีพหลัก จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพ ได้แก่
การทำนา ทำสวนยางพารา เหมืองแร่ และทำสวนปาล์ม
ห้องเครื่องประทีป จัดแสดงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องตามไฟ เช่น เหล็กไฟตบ
เหล็กไฟตี ฯ ตะเกียง
ห้องการละเล่นพื้นเมือง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการละเล่นของภาคใต้
หนังตะลุง โนรา กาหลอ และลิเกป่า เครื่องดนตรี ประวัติชาวใต้ที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ชมทิวทัศน์นอกจากชมห้องต่าง ๆ ที่จัดแสดงแล้ว สถานที่นี้ยังสามารถชมทะเลสาบสงขลา
มองเห็นทะเลหลวง เห็นสะพานติณสูลานนท์ ที่เชื่อมเกาะยอกับชายฝั่ง กระชังเลี้ยงปลากะพง
ข้อสำคัญขอให้มีเรี่ยวแรงพอ ที่จะเดินชมให้ทั่วก็แล้วกัน ตรงนี้แหละสำคัญ
ก่อนจะชิมอาหารที่ร้านอาหารอร่อยของเกาะยอ ที่มีมากมายหลายสิบร้าน ล้วนอยู่ริมทะเลสาบสงขลา
ผมขอย้อนกลับเข้าเมืองหาดใหญ่อีกที เพราะตอนเล่าหาดใหญ่วันนี้ไม่ได้บอกไว้
เสียดายร้านเก่าแก่เดี๋ยวจะเลยไปเสีย
ร้านแรก มื้อค่ำคือ ร้านข้าวต้ม ร้านนี้คิดเงินอย่าตกใจ เพราะเขาคิดเป็นสตางค์แต่ไม่บอกหน่วย
เช่น สามร้อยห้าสิบบาท แกจะบอกว่า สามหมื่นห้าพัน เมื่อสมัยก่อนแทบจะต่อยกันเพราะไม่รู้ว่าเป็นสตางค์
ร้านนี้อยู่ถนนที่เชื่อมระหว่างถนนนิพัทธ์อุทิศ ๑ กับ ๒ อยู่ตรงหัวมุมพอดี
มาจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ตรงมา ผ่านสี่แยกที่ ๑ ผ่านสี่แยกที่ ๒ อยู่มุมสี่แยกที่
๓ อาหารดีราคาถูก
ร้านที่สอง มื้อเช้า ขายมานานคงพอ ๆ กับร้านแรก หรือนานกว่าเพราะจากรุ่นปู่มารุ่นหลานแล้ว
อยู่ถนนนิพัทธ์อุทิศหนึ่ง หากมาจากสถานีรถไฟหาดใหญ่ ถึงสี่แยกนิพัทธ์อุทิศหนึ่งเลี้ยวขวา
อยู่ตรงข้ามโรงแรมมณเฑียร ขายข้าวแกงอิสลามที่อร่อยชวนชิม คือ โรตี จะจิ้มนม
หรือจิ้มแกง ก็อร่อย โรตีใส่ใข่จิ้มนม และมะตะบะ ต้องสั่ง "ชาร้อน" ร้อน หอมกรุ่น
น่าซดยิ่งนัก
ทีนี้กลับไปกินข้าวมื้อกลางวัน ที่ผมชิมที่เกาะยอ เขาขายทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็น
อยู่ริมทะเลสาบสงขลา "อาหารทะเลรสเลิศ อาหารพื้นเมือง กับบรรยากาศทะเล
และเนินเขา" ร้านเขาว่าไว้อย่างนี้
เส้นทาง คือ จากหาดใหญ่ เลี้ยวซ้ายเพื่อข้ามสะพานติณสูลานนท์ไปเกาะยอ พอลงสะพานมองทางซ้ายไว้จะผ่านทางเข้าวัดแหลมพ้อไปก่อน
แล้วจะเจอทางแยกซ้าย มีป้ายบอกร้านอาหารหลายร้าน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าไป ๕๐๐
เมตร จะผ่านบ้านทรงไทยหลังงาม เลยต่อไปผ่านร้านอาหารอีก ๑ - ๒ ร้าน จะพบร้านอยู่ทางซ้ายมือ
ริมทะเลสาบเย็นสบาย แถมมีปลามารอกินข้าวสุกอยู่ข้าง ๆ ศาลาที่ปลูกอยู่ในน้ำ
กุ้งผัดสะตอ มาใต้ต้องกินสะตอเป็น จึงจะอร่อยชื่นใจ ผัดใส่กะปิ
ปลากะพงยำมะม่วง อย่าโดดข้ามไปเป็นอันขาด เอาปลาทอดกรอบนอก นุ่มใน แล้วยำมะม่วงราดมาบนตัวปลา
มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์โรยหน้า อมเปรี้ยวนิด ๆ ปลาสดมาก เพราะพึ่งเอาออกมาจากระชัง
หัวปลากะพง เขาเอาไปแกงส้มแบบชาวใต้ คือ แกงเหลือง รสจัด เข้มข้น ไม่เปรี้ยวมากนัก
ค่อนข้างเผ็ดแต่อร่อยเหลือเกินต้องยอมซดไป ร้องไห้ไป เผ็ดแต่อร่อยมาก คนชอบเผ็ดร้องไชโยเลยทีเดียว
ปลาดุกหมักขมิ้น หรือเรียกกันสั้นแบบใต้ว่า "ดุกหมักมิ้น" ทอดมาสีเหลือง
กระเทียมเจียวโรย เนื้อปลากรอบ มีน้ำจิ้ม ๓ รส
แกงพุงปลา หรือแกงไตปลา นั่นเอง ใส่มาในถ้วยเล็ก ราดข้าวหรือคลุกข้าวสวยร้อน
ๆ แล้วตามด้วยผักเหนาะ ที่ให้มา ๑ จาน มีมะเขือ แตงกวา กระถิน ถั่วฝักยาว
ออกรสเผ็ดนิดเดียว ใส่กุ้ง ใส่ขมิ้น พริกไทยอ่อน เมื่อวันประกวดการทำอาหารของครัวคุณหรีด
ชนะเลิศของสงขลาคือ สปาเก็ตตี้ กับแกงไตปลา แต่ตอนชิงแชมป์ภาคใต้ในอีกสองวันต่อมา
สู้ข้าว "นาซิ ตาแฆ" จากปัตตานีไม่ได้ แกงพุงปลา เจ้านี้อร่อยระดับเดียวกับที่เข้ามาประกวดทีเดียว
หากมีขนมจีนก็จะอร่อยเด็ดมากขึ้นไปอีก
ลูกหลาน ไปด้วย เลยสั่งข้าวผัดมาจานโต เป็นข้าวผัดปู ให้ปูมากจริง ๆ หลานกินไม่เท่าไร
ปู่แย่งกินเสียมากกว่า ข้าวผัดปูเหยาะด้วยน้ำปลาพริก ตามด้วยผักเหนาะของแกงพุงปลา
อยากรีบกลับไปกินอีก
...................................................
|