วัดเวฬุวัน
วัดเวฬุวันหรือวัดเขาจีนแล
ตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลนิคม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง
อยู่แต่ชื่อ ทั้ง ๆ ที่ห่างจากตัวเมืองลพบุรีไม่กี่ กม. แต่เหมือนอยู่ท่ามกลางป่าดงดิบ
และยิ่งสมัยที่ก่อตั้งวัดขึ้นมานั้น ได้ก่อตั้งในพื้นที่ที่เป็นป่าดงดิบเลยทีเดียว
ผมอยู่ลพบุบรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๑ (บิดาย้ายไปรับราชการอยู่ที่กองบินน้อยที่
๔ โคกกระเทียม อ.เมือง ลพบุรี) ทราบภูมิประเทศของลพบุรีดี ยิ่งออกรับราชการมาอยู่เหล่าทหารปืนใหญ่
ซึ่ง "บ้านของทหารปืนฝใหญ่" นั้นอยู่ที่โคกกะเทียม คือหน่วยศูนย์การทหารปืนใหญ่
หรือหากเป็นบ้านของทหารม้าก็อยู่ที่ อ.เมือง สระบุรี ผมรับราชการอยู่ที่บ้านของทหารปืนใหญ่
รวมกันแล้วนานกว่า ๑๐ ปี คือย้ายเข้าย้ายออกหลายครั้ง ย่อมรู้จักภูมิประเทศของลพบุรีเป็นอย่างดี
แต่ผมกลับไม่รู้จักวัดเวฬุวัน หรือวัดจีนแล จนได้ไปทำบุญเลี้ยงพระเช้าที่วัดนี้
ก็เกิดความศรัทธา และเกิดความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง หากวัดในบ้านเราเป็นอย่างนี้สัก
๗๕% เท่านั้นไม่ต้องไปกังวล เลยว่าจะต้องเรียกร้องให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย
เพราะความเคร่งในพุทธบัญญัติของพระสงฆ์ จะจูงใจให้ชาวพุทธนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ไม่หลุดลอยไปยังศาสนาอื่น เมื่อเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในวัดเขาจีนแล ก็เลยต้องไปค้นคว้าหาประวัติความเป็นมาของวัดนี้มาเล่าสู่กันฟัง
พร้อมกับขอชักชวนให้ชาวพุทธได้มีโอกาสไปเที่ยวชมทุ่งทานตะวัน แล้วเลยเข้าไปที่วัดเขาจีนแล
ที่แสนสงบ สุขตากับธรรมชาติ และฝูงนกยูงที่มีอยู่ในป่ารอบวัด และในบริเวณวัดนับร้อยตัว
สุขใจกับรสพระธรรม และยิ่งมีโอกาสขอพบท่านเจ้าอาวาสได้ยิ่งดี ท่านให้ธรรมะโดยที่เราไม่รู้ตัว
เจ้าอาวาสองค์แรก และยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่คือ พระวุฒิสารโสภณ เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี
- สระบุรี ฝ่ายธรรมยุติ
พลตรีอัมพร สมบูรณ์ยิ่ง อดีตผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ และเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของผมด้วย
ได้รวบรวมประวัติของวัดจีนแลเอาไว้ และท่านผู้นี้เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาวัดจีนแล
เมื่อรวบรวมประวัติไว้แล้ว ก็เขียนถ้อยคำที่ผมคิดว่าเป็น "อมตะ" คือกล่าวไว้ว่าท่านที่มายังวัดเขาจีนแล
"ท่านอาจจะผิดหวังที่มาวัดนี้แล้ว ไม่มีพระแจก ไม่มีการทำนายทายทัก ไม่มีน้ำมนต์
แต่ท่านก็จะมาที่วัดนี้อีกเป็นคำรบสองและต่อ ๆไป" ผมขอรับรองคำกล่าวของนายเก่าของผมว่าเป็นความจริง
แม้ว่าเวลานี้ท่านจะล่วงลับไปนานหลายปีแล้วก็ตาม
เส้นทางไปยังวัดเขาจีนแล จ.ลพบุรี หากเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ก็จะไปผ่าน จ.สระบุรี
(แยกเข้าบายพาส ไม่ต้องผ่านตัวเมือง) ไปผ่านสวนพฤกศาสตร์ พุแค พระพุทธบาท
(เลี้ยวซ้ายแวะเข้าไปนมัสการได้) จากนั้นตรงมาอีกประมาณ ๑๐ กม.จะถึงสามแยกมีไฟสัญญาณ
หากเลี้ยวซ้ายก็จะเข้าถนนบายพาสไปยังสิงห์บุรี และอ่างทอง โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองลพบุรี
ไม่ต้องเลี้ยวให้ตรงต่อไปจะผ่านโรงงานใหญ่ "มินิแบร์" อยู่ทางขวามือ พอสุดเขตโรงงานก็จะถึงสี่แยกนิคม
มีไฟสัญญาณมองเห็นสถานีตำรวจแบบโบราณ เป็นสถานีตำรวจนิคมดั้งเดิม อายุอานามคงชราพอ
ๆ กับผม อยู่ทางขวามือ ภาวนาขออย่าได้คิดรื้อสถานีตำรวจโบราณแห่งนี้เลย ไม่ต้องสร้างใหม่
หาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอก็แล้วกัน เก็บสภาพของอาคารสถานีตำรวจเอาไว้ชมกันต่อไป
หรือกรมศิลปากร จะไปสำรวจขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเอาไว้ยังได้ เพราะผมก็ผ่านมาครบ
๗๖ จังหวัด หลายร้อยแล้วยังไม่เคยเห็นสถานีตำรวจที่ไหนเก่าแก่เหมือนที่แห่งนี้เลย
ให้เลี้ยวขวาตรงสี่แยกนิคมนี้ (ตรงไปเข้าเมืองลพบุรี ผ่านราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
วิ่งไปประมาณ ๑.๖ กม.ทางขวาคือร้านอาหารที่จะพามาชิมมื้อเที่ยงวันนี้ จำเส้นทางไว้ด้วยจะไม่บอกซ้ำอีก
ไปวัดกับผมก่อนแล้วกลับมาชิมอาหารอร่อย ราคาย่อมเยา ผ่านร้านอาหารไปแล้ว วิ่งตรงต่อไปประมาณหลัก
กม.๘ ทางซ้ายจะเห็น "ดอกเห็ด" จำลองปักอยู่ปากทาง มีป้ายบอกว่าไปวัดเวฬุวัน
(เขาจีนแล) ระยะทาง ๓ กม. ให้เลี้ยวซ้ายจะผ่านฟาร์มเห็นขจรวิทย์ (ทำอาหาร
ไม่ว่าประเภทใด หากใช้เห็ด ๓ ชนิดอะไรก็ได้ทำอาหาร จะได้คุณค่าทางอาหารมากอย่างยิ่ง)
วิ่งตรงสู่เชิงเขาจะผ่านไร่ทั้งด้านซ้าย และขวาของถนน มีพื้นที่นับพันไร่
หากเป็นปลายเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม พืชไร่คือทานตะวัน ที่กำลังบานเป็นทุ่งทานตะวันงดงามอย่างยิ่ง
เสาร์ อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะพากันมาแน่นขนัด และถนนสายที่มายังวัดสานนี้
จะมีทุ่งทานตะวันหลายทุ่ง และไปยังอ่างเก็บน้ำซับเหล็กที่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้ต่อท่อนำน้ำเข้าไปยังพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์เรียกว่า ไทยมีระบบน้ำประปามาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนานกว่า
๓๐๐ ปีมาแล้ว และได้มีการขุดพบท่อดินส่งน้ำด้วย และถนนสายนี้จะยาวไปได้จนนถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ซึ่งจะผ่านทุ่งทานตะวันหลายแห่ง
เมื่อผ่านทุ่งทานตะวันไปแล้ว ก็จะตรงเข้าสู่เขตวัดเขาจีนแล โดยจะผ่านเข้าปากหนุมาน
ที่อ้าปากทำเป็นซุ้มประตูรอรับศรัทธาที่จะมายังวัด สมกับที่ได้ชื่อว่าลพบุรีเป็นเมืองหนุมาน
ผ่านเข้าปากหนุมานไปแล้ว ถนนก็ยังคงดิ่งสู่เชิงเขาเรื่อยไป วัดจะตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เชิงเขาหรือบนเขา
เมื่อเข้าไปแล้วทางขวาคือบ้านสวย ๆ หลายหลังได้ความว่าเป็นบ้านของคนมีสตางค์ที่มาขอปลูกเอาไว้แล้วมาปฏิบัติธรรม
โดยเฉพาะระหว่างเทศกาลเข้ารรษา เจ้าของบ้านจะมาอยู่กันมาก เพราะมาปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ได้ธรรมะติดใจกลับไปทุกคน
ตรงต่อมาคือห้องสมุด (มีหนังสือน้อย ใครมีหนังสือแยะขนเอามาบริจาคได้ หลวงพ่อเจ้าอาวาสจะไม่เอ่ยปากขอบิณฑบาตรเรื่องใด
ๆ ทั้งสิ้น) เลยหอสมุดเข้ามาอีกจะเป็นที่หมู่โต๊ะหินเป็นที่นั่ง ใต้สะแลนที่กางเอาไว้คงใช้เวลาศรัทธามาทำบุญพร้อมกันมาก
ๆ เลยมาอีกนิดหากเลี้ยวขวาผ่านอุโบสถไปจนถึงเชิงเขาคือทางขึ้นเขาไปยังวิหาร
ซึ่งเดิมหลวงพ่อตั้งใจจะสร้างเป็นอุโบสถ แต่ท่านเกรงว่าผู้เฒ่าจะขึ้นไปบำเพ็ญศาสนกิจลำบาก
เลยเปลี่ยนเป็นวิหาร สร้างไว้สวย ผมตะกายขึ้นไปแล้วแถมนับขั้นบันไดไปด้วยเผื่อจะมีโชคจะเอาเลขมาซื้อลอตเตอร์รี่
นับได้ ๙๔ ขั้น
อุโบสถ อยู่ริมทางที่รถขึ้นมา สร้างสวย ภายในมีพระประธานปางสดุ้งมารและมีพระพุทธรูปหยกอยู่องค์หนึ่ง
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนแบบใส่กรอบแขวนไว้ และมีภาพที่นอกอุโบสถอยู่ที่ประตูและบานหน้าต่าง
เมื่อปิดประตูแล้วภาพจะต่อกัน เขียนได้สวย ทางซ้ายของถนนกำลังสร้างที่พักผู้มาบำเพ็ญธรรม
กำลังจะแล้วเสร็จ หากวันที่ท่านไปคงจะเสร็จแล้ว มีโรงรถ มีรถยนต์ที่หลวงพ่อออกแบบต่อเอง
วิ่งภายในหมู่บ้านเพื่อนำพระไปบิณฑบาตรยังหมู่บ้าน เยื้องกับอุโบสถคือ หอฉันสัจจธรรม
สร้างใหญ่โตกว้างขวางเลี้ยงพระได้หลายสิบองค์ ทุกเช้าพระจะมาฉันเช้าที่นี่
พระวัดนี้ "ฉันเช้ามื้อเดียว ฉันเวลา ๐๖.๓๐" ตรงข้ามหอฉันสัจจธรรมคือ วิหารหลวงพ่อสมใจนึก
ลึกเข้าไปอีกในราวป่าคือกุฏิหลังเล็ก ๆ แม้จะอยู่ในราวป่า แต่ก็มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม
และเลยหมู่กุฏิไปจะเป็นทางขึ้นเขาไปสู่หลวงพ่อใหญ่บนเขา ซึ่งบจะต้องออกแรงขึ้นบันไดไปอีกประมาณ
๔๐๐ ขั้น หลวงพ่อใหญ่คือพระพุทธธรรมรังสี มุนีนาถศาสดา
ประวัติวัดเขาเวฬุวันที่นามเดิม หรือนามที่ชาวบ้านเรียกขานกันในปัจจุบันคือ
วัดเขาจีนแล วัดนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา เริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ "แม่อินทร์"
อายุประมาณ ๔๕ ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในตัวเมืองลพบุรี มีอาชีพค้าทอง เจ็บป่วยเป็นประจำ
ได้ไปพบ "พ่อท่านลี ธมมธโร" เจ้าอาวาสและองค์ผู้สร้างวัดอโศการาม ที่สมุทรปราการ
พ่อท่านลี รักษาโรคให้ด้วยธรรมมะ และแนะนำให้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิขจัดโรคร้าย
แม่อินทร์ก็ทำตามและหายจากโรคร้ายทั้งหลาย จึงเกิดความศรัทธาในพ่อท่านลีได้ติดตามพ่อท่านลีไปตลอด
คืนหนึ่งได้นิมิตเห็นป่าที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา และมีกรดของพระธุดงค์ปักอยู่เต็มไปหมด
ต่อมาพ่อท่านลีไปทอดผ้าป่าที่วัดบ่อหก ลพบุรี ท่านได้ถามเจ้าอาวาสวัดบ่อหก
ว่ามีสถานที่ใดเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมบ้าง เจ้าอาวาสวัดบ่อหกจึงพาพ่อท่านลี
และผู้ติดตามรวมทั้งแม่อินทร์ด้วยไปยังบริเวณที่เป็นวัดเขาจีนแลทุกวันนี้
เมื่อแม่อินทร์เห็นก็บอกทันทีว่าตรงบริเวณนี้ตรงกับนิมิต และเมื่อพ่อท่านลีปฏิบัติธรรมอยู่
๓ วันก็กลับไปยังวัดอโศการาม แต่แม่อินทร์ที่เป็นชาวลพบุรีอยู่แล้วขออยู่ต่อไม่ติดตามกลับไป
และอยู่คนเดียว อาหารการกินเข้าใจว่าสามีที่ยังค้าทองอยู่ในตัวเมืองลพบุรีจะเอามาส่งไว้
ถนนสายที่เข้ามายังวัดไม่ดี เข้ามาลำบากมาก และเชื่อว่าชาวบ้านคงมีศรัทธาส่งอาหารให้ด้วย
แม่อินทร์นอนบนเขา เช้าลงมาถากถางป่าและสร้างวัดด้วยตัวคนเดียว ต่อมาหลานสาวทราบเข้าตามมาอยู่ด้วย
ต่อมาอีกสามีที่ค้าทองอยู่ในเมืองก็เลิกค้าขายบวชเป็นพระ แม่อินทร์และหลานก็บวชเป็นชีจนได้สมาธิ
แล้วช่วยกันถากถางป่าจะสร้างวัด ต่อมาอีกมีนายทหารราบ (เวลานั้นศูนย์การทหารราบตั้งอยู่ที่ลพบุรี)
พาทหารมาฝึก เห็น ๓ คนถางป่าจะสร้างวัดก็เกิดศรัทธาร่วม นำทหารมาช่วยหาอาหารแห้ง
น้ำดื่ม ข้าวสารมาให้หลายครั้ง และเริ่มมีศรัทธามาช่วยเหลือ แม่อินทร์เริ่มสร้างวิหาร
สร้างแล้วไม่มีพระประธาน ชาวบ้านมีแต่เศียรพระโบราณจึงเอามาถวายแม่ชี แม่ชีได้เศียรพระจึงสร้างองค์พระเป็นพระพุทธไสยาสน์แล้วถวายนามว่า
"หลวงพ่อสมใจนึก"
พ.ศ.๒๕๐๑ แม่ชีปิ่น บวชอยู่ที่วัดอโศการาม ตั้งใจจะบวชแค่พรรษาเดียว มาพบแม่ชีอินทร์
กำลังสร้างวัดเกิดความศรัทธาเลยไม่สึก ขออยู่ด้วย และในปีนี้แม่ชีอินทร์ก็มรณภาพ
ในปีเดียวกันนี้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์สมุทร อธิปญโญ มาจากศรีราชา
ยังไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน ได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาจีนแล ได้พบกับแม่ชีอินทร์
ซึ่งขณะนั้นที่วัดมีเพียงวิหารหลวงพ่อสมใจนึกเพียงองค์เดียว ปฏิบัติธรรมแล้วก็กลับไปยังไม่มาอยู่ประจำ
จน พ.ศ.๒๕๐๗ ได้กลับมาขออยู่กับแม่ชีปิ่น เพื่อปฏิบัติธรรมมะ พอท่านมาอยู่ก็ปฏิบัติธรรม
และเริ่มงานก่อสร้าง ท่านเริ่มบูรณะสิ่งก่อสร้างเท่าที่มีอยู่ และเริ่มการก่อสร้างสะพานคอนกรีต
ข้ามห้วยที่วัดหนองถ้ำ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างถังเก็บน้ำฝน บูรณศาลา สร้างหอฉันสัจจธรรม
และหอฉันเล็ก สร้างวิหารบนเขา สร้างหลวงพ่อใหญ่ ฯ พระสงฆ์ที่วัดนี้จะมีมาก
หรือมีน้อยก็แทบจะไม่เห็นองค์พระ เพราะอยู่อย่างเงียบสงบ ไม่ออกมาเดินเพ่นพ่าน
ไม่จับกลุ่มคุยกัน ตกค่ำก็มักจะพากันขึ้นเขาไปสี่ร้อยขั้น ไปนั่งสมาธิและเลยนอนกันอยู่แถว
ๆ หลวงพ่อใหญ่ พระสมุทรเองเมื่อมาอยู่ใหม่ ๆ ก็นอนบนเขา นอนอยู่ประมาณสามสิบปีจึงลงมาอยู่กุฏิข้างล่าง
ที่ผมประทับใจมากคือการไปเลี้ยงอาหารพระในตอนเช้า เพราะฉันมื้อเดียว หากไปเลี้ยงมื้อเพลหรือนิมนต์ไปที่บ้านก็จะฉันให้เพื่อไม่ให้ขัดศรัทธา
แต่จะฉันได้น้อยเพราะปกติฉันเช้าแล้วไม่ฉันอีก ผมเคยเห็นที่วัดญานสังวรารามฉันมื้อเดียวเช่นกัน
แต่ฉันสายหน่อย ที่วัดเขาจีนแลพระจะตื่นกันตั้งแต่ตี ๓ แล้วทำวัตรเช้า เสร็จแล้วก็ขึ้นรถที่วัดต่อใช้เอง
ไม่ใช่รถอีแต๋น ไปยังหมู่บ้านซึ่งอยู่เชิงเขาไกลออกไปหลายกม. มีปิ่นโตไป หากมีอาหารน้ำชาวบ้านก็จะถ่ายใส่ปิ่นโตให้
บิณฑบาตรแล้วกลับถึงวัดประมาณ ๐๖.๓๐ ก็จะขึ้นมารวมกันยังหอฉันใหญ่ "สัจจธรรม"
นั่งเข้าแถวเป็นระเบียบเงียบ ไม่มีการพูดจาใด ๆ ทั้งสิ้น ในหอฉันนี้มีพระประธานองค์ใหญ่ด้วย
อาหารจะมีแม่ชีและอุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันจัดลงถาดที่มีล้อเลื่อน พระทุกองค์จะมีบาตร
ตั้งอยู่ตรงหน้าถาดอาหาร ถาดแรกจะตั้งหน้าหลวงพ่อเจ้าอาวาส (อายุท่าน ๗๕ ปี
ยังแข็งแรงมาก) หลวงพ่อตักอาหารไว้แล้วก็เลื่อนถาดอาหารไปยังองค์ที่นั่งถัดไป
ถาดอาหารถาดที่ ๒ - ๓ ฯ ก็จะเลื่อนมาหน้าหลวงพ่อ หากท่านยังต้องการอาหารก็จะตักเอาไว้
แล้วเลื่อนถาดอาหารให้องค์ต่อไป ของหวานและผลไม้ก็จะหยิบใส่ฝาบาตรเอาไว้ หากเป็นขนมน้ำต้องตักให้มากเท่าจำนวนองค์พระ
และองค์ใดเช่นพระบวชใหม่ หากกลัวหิวตอนเพลก็อนุญาตให้หยิบอาหารใส่ฝาบาตรกลับไปไว้ฉันเพลที่กุฏิได้
สังเกตุดูหยิบขนมกันไม่มีหยิบอาหารกลับไป ตักอาหารเรียบร้อยแล้ว เอาผ้าขาวปิดบาตร
สวดให้พร แล้วปิดผ้าฉันในบาตร พระกี่องค์ก็ตามจะเงียบสนิท ไม่มีเสียงพูดกัน
แม้แต่เสียงช้อนส้อมกระทบข้างบาตรก็ไม่มี ศรัทธาหากนั่งรอก็ไม่มีใครกล้าพูดจา
ไม่ต้องรอก็ได้เพราะท่านสวดให้พรแล้ว ฉันอิ่มแล้ว ก็นำบาตรไปล้างทำความสะอาดเอง
แล้วกลับกุฏิไม่มาจับกลุ่มคุยกัน ผมดูภาพนี้ด้วยความประทับใจและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
หากท่านอยากเห็นภาพนี้คงจะต้องตื่นกันตั้งแต่เช้า ไปให้ถึงวัดประมาณ ๐๖.๐๐
ผมไม่ได้จดเบอร์โทรศัพท์ของวัดมาลืมจริง ๆ จะได้โทรนิมนต์พระทั้งวัด เตรียมอาหารไปให้เพียงพอ
แต่ใครไม่ไปถวายท่านก็ไม่เดือดร้อน เพราะอาหารจากบิณฑบาตรนั้น ได้มามากพอฉันได้อย่างเต็มที่
หลวงพ่อเตรียมการเรื่องน้ำใช้ไว้อย่างดี ต่อท่อน้ำภูเขาที่ไหลออกจากใต้ฐานหลวงพ่อใหญ่
ลงมาใช้ มีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมา และสร้างถังเก็บน้ำฝนไว้มาก แต่ที่ลำบากก็คงจะเป็นค่าไฟฟ้าที่แต่ละเดือนเกือบสองหมื่นบาท
ทั้งวัดมีตู้รับบริจาคตู้เดียว
ร้านอาหาร กินอาหารร้านนี้นั่งฟังเพลงสากล เพลงคาวบอยกันเพลินเลยทีเดียว บอกเส้นทางอีกที
เลี้ยวเข้ามาจากสี่แยกประมาณ ๑.๖ กม. ร้านจะอยู่ทางขวามือ อาหารจานเด่นที่ผมไปทีไรสั่งทุกที
มี ๓ จาน
ไก่บ้านทอด จานนี้อย่าโดดข้ามไป ต้องสั่งทั้งตัว ไม่แบ่งขายเหลือห่อกลับบ้าน
ไก้ตัวโตสับมาเป็นชิ้น คงจะหมักจนเข้าเนื้อแล้วเอาไปทอด ทอดจนหนังกรอบ เนื้อในนุ่ม
ไก่บ้านเนื้อจะเหนียวแน่น ไม่ต้องเกรงใจใครหยิบมาแทะจะอร่อยที่สุด น้ำจิ้มรสหวาน
อย่าลืมสั่งข้าวนึ่งมาด้วยจึงจะกินเข้ากัน ราคาตัวละ ๑๕๐ บาท
น้ำพริกขี้กา ใส่มาในถ้วยน้อย จัดผักตจ้มมาอีกจานเผ็ดนิด ๆ สั่งไข่ต้มด้วย
แกงเลียงกุ้งสด เสริฟมาในกระทะทองเหลือง ร้อนโฉ่ ซดชื่นใจ น้ำแกงรสเข้มข้น
๓ รายการนี้เป็นจานเด็ด อย่าข้ามไป สั่งมาอีก ตับหวาน ผัดเผ็ดกุ้ง อร่อยทุกอย่าง
ราคาไม่แพง
......................................................
|